Four Major Plays ประกอบด้วยบทละครสี่เรื่องดังของอิบเซนคือ A Doll's House Ghosts Hedda Gabler และ The Master Builder เคยอ่านและชมเรื่องแรกนานแล้ว เลยไม่ได้อ่านซ้ำรอบนี้ ส่วน Ghosts ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ดังนั้นในบลอคนี้ก็ขอพูดถึงแค่สองเรื่องสุดท้ายเท่านั้น
เฮดดาจาก Hedda Gabler และฮิลดาจาก The Master Builder ดูราวกับจะเป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน เหมือนปีศาจและเทพธิดา เฮดดาทำร้าย บดขยี้ชีวิตคนอื่นโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เช่นเดียวกับฮิลดา ที่อยู่ดีๆ ก็โผล่เข้ามากลางชีวิตที่แตกสลาย และค่อยๆ ผสานทุกสิ่งเข้าหากัน ไม่น่าเชื่อว่าอิบเซนจะสามารถสร้างสองตัวละครที่แตกต่างกันได้ถึงเพียงนี้
ในส่วนที่คล้ายคลึงกันคือ ละครทั้งสองเรื่องพูดถึงชีวิตแต่งงานที่ล่มสลาย (เอาเข้าจริง ก็ละครแทบทุกเรื่องของอิบเซนนั่นแล) เฮดดาแต่งงานกับเด็กเนิร์ดไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ใช่เพราะความรัก แต่เพราะความเบื่อหน่ายชีวิตตนเอง แต่เมื่อเธอตระหนักว่าชีวิตแต่งงานนั้น น่าเบื่อเสียยิ่งกว่า เธอเลือกที่จะเล่นเกม และทำลายชีวิตคนใกล้ตัว โซลเนส สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ ตระหนักว่าอาชีพการงานของเขามาถึงทางตันแล้ว หากดำเนินต่อไป ก็แค่รอเวลาให้เด็กรุ่นหลังแซงหน้า และขโมยความสำเร็จจากตัวเขา เฉกเช่นเดียวกับที่เขาเคยทำกับอาจารย์ แต่จู่ๆ ฮิลดา หญิงสาวปริศนาก็โผล่เข้ามาในชีวิตโซลเนสและคนรอบข้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง
ชอบทั้งสองเรื่องมากพอๆ กัน Hedda Gabler ได้ความรู้สึกสะใจของการทำลายล้าง ขณะที่ The Master Builder เป็นความอิ่มเอมใจอันประหลาดของการซ่อมแซม ความกล้าหาญ หนึ่งในคุณธรรมที่สำคัญที่สุดใน The Master Builder ถูกนำมาถากถางอย่างไม่ใยดีใน Hedda Gabler ช่างน่ามหัศจรรย์ที่บทละครสองเรื่องนี้ (ในเวลาเขียนที่ต่างกันเพียงสองปี) สามารถออกมาจากตัวคนคนเดียวกันได้
(เอาเข้าจริง มีนักวิจารณ์กลุ่มใหญ่ที่ตีความ The Master Builder ไปอีกทางหนึ่งเลย ว่านี่คือความโง่เขลาของผู้ชายวัยทอง ที่ถูกยั่วยวนโดยความเยาว์ ซึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่เราชอบวิธีอ่านแบบเรามากกว่า ตัวละครฮิลดานั้น โคตรจะ "การ์ตูนญี่ปุ่น" เลย เหมือนพวกอะนิเมะเกิร์ลนิสัยเพี้ยนๆ ที่ออกมาจากกระจก โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือจอทีวี เพื่อปลอบใจพระเอกหนุ่มคนซื่อ ใครจะไปรู้ว่าต้นกำเนิดของ J-romcom อาจจะมาจากบทละครสแกนดิเนเวียในศตวรรษที่ 19 ก็ได้!)
No comments:
Post a Comment