G. Santayana's "The Sense of Beauty"

ช่างที่ไม่ว่าจะแวะมาบ้านเรากี่ครั้ง แอร์ คอม ทีวี หรือชักโครกก็ยังเสียอยู่นั่นแหละ แท็กซี่ที่ไม่รู้จักถนนหนทาง นักบอลที่เตะลูกโทษแล้วยิงนกตกปลา   คนเหล่านี้ อย่างมากเราก็คงใช้คำว่า "ไม่เอาไหน"​ กับพวกเขา   แต่กับนักเขียนที่เขียนหนังสือ "ไม่เข้าท่า" จิตรกรที่วาดรูป "ไม่เอาอ่าว" หรือนักดนตรีที่ร้องเพลง "ไม่เป็นโล้ ไม่เป็นพาย" รู้สึกไหมว่ามันมีบางอย่างที่เกินกว่า "ไม่เอาไหน"   ศิลปินที่ล้มเหลวในสิ่งที่ตัวเองทำ ความผิดของเขามันช่างใกล้เคียงเหลือเกินกับคำว่า "ชั่วร้าย"

ใช่แล้ว พนักงานรักษาความปลอดภัยจะงีบหลับในเวลางาน อย่างมากก็ "ไม่เป็นมืออาชีพ" แต่พอศิลปินทำตัว "ไม่เป็นมืออาชีพ" บ้าง ความผิดของเขามันร้ายแรงเจียนๆ ผิดศีลธรรมเลยทีเดียว

ซันตายานาวิเคราะห์ไว้ใน The Sense of Beauty ถึงความใกล้เคียงกันอย่างล่อแหลมระหว่าง "ศีลธรรม" และ "ศิลปะ"   พฤติกรรม (ทางศีลธรรม) และผลงาน (ทางศิลปะ) นั้นมีตัวตนอยู่ในโลกภายนอก โลกแห่งความจริง และแม้ว่าเราจะสามารถใช้ทฤษฎีหรือคัมภีร์มาตัดสินคุณค่าของมันได้ แต่ครึ่งหนึ่งของการตีค่าสิ่งเหล่านี้อยู่ที่ตัวผู้เสพเอาพฤติกรรมและผลงานไปแนบไว้กับตัว เพื่อให้ความรู้สึกส่วนบุคคลทำหน้าที่   ด้วยเหตุนี้บาดแผลของการถูกทำร้ายด้วยงานศิลปะ จึงเป็นอีกเวอร์ชั่นย่อๆ ของบาดแผลการถูกทำร้ายด้วยพฤติกรรม (ที่ผิดศีลธรรม)

ประเด็นที่ซันตายานาแวะเวียนกลับมาหาตลอดทั้งเล่มคือ มนุษย์ควรฝึกฝนรสนิยมทางสุทรียะของตัวเองให้หลักแหลมเข้าไว้ เพราะนั่นเท่ากับการฝึกฝนตาชั่งที่ใช้ตัดสินความผิดชอบชั่วดีในตัวเราเฉกเช่นกัน   ช่างดูเป็นความคิดที่แหกคอกไม่น้อย เพราะนั่นเท่ากับการกล่าวอ้างว่าศิลปินระดับโลกทุกคนล้วนเป็นผู้มีศีลธรรมจรรยา   (ซันตายานาเองก็คงตระหนักได้ถึงเรื่องนี้ ถึงไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ แต่เป็นธีมหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ระหว่างบรรทัด)

แปลกพิกลที่เราค่อนข้างเห็นคล้อยตามความคิดแหวกแนวตรงนี้   เราเชื่ออยู่เสมอว่า เราสามารถ "จับได้"​ ถึงตัวตนศิลปินที่ซ่อนอยู่หลังผลงาน   และแม้จะมี cliche ว่าด้วยแฟนๆ ที่ผิดหวังเมื่อเจอศิลปินที่ตัวชื่นชอบ เราพูดได้อย่างเต็มปากว่า ชั่วชีวิตเราผิดหวังกับนักเขียนตัวเป็นๆ น้อยมาก (เราผิดหวังกับตัวนักดนตรีบ่อยกว่า)

W. Shakespeare's "Julius Caesar" / "Anthony and Cleopatra"

ถ้ามีคนถามเราว่า จากบทละคร 37 เรื่องของเชคสเปียร์ ขอเลือกอ่าน เลือกดูแค่เรื่องเดียว ควรเลือกเรื่องไหนดี จึงจะสิริรวมความเป็นเชคสเปียร์ได้ดีที่สุด แน่นอนว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ “เป็นไปไม่ได้” การเลือกผลงานเพียงชิ้นเดียวเพื่อสิริรวมนักเขียนคนหนึ่งนั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะกับนักเขียนคนใดก็ตาม และยิ่งเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะถ้านักเขียนคนนั้นเป็นเชคสเปียร์

แต่ถ้าถูกบังคับให้ตอบจริงๆ เราจะตอบว่า Julius Caesar

ไม่มีบทละครเรื่องใดของเชคสเปียร์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ระหว่างความดีงามและความชั่วร้าย ตัวละครของเชคสเปียร์ล้วนเป็นสีเทา มีแต่ความดีที่ถูกลดหย่อนลงมา และความชั่วที่ถูกขัดถูให้เงางาม และเชคสเปียร์ทำสิ่งนั้นได้ด้วยการเมือง บทละครแทบทุกเรื่องของเชคสเปียร์คือการเขียนเกี่ยวกับการเมือง การเมืองในที่นี้ เกิดจากการแยกออกจากกันระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ

สิ่งนี้ชัดเจน (และจับสังเกต) ง่ายที่สุดใน Julius Caesar ยิ่งวันเวลาผ่านไป บทละครเรื่องนี้ก็สามารถถูกตีความให้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในช่วงที่กระแสชาตินิยมรุนแรง Julius Caesar ถูกอ่านให้เป็นโศกนาฏกรรมของบรูตัส และบรรดาผู้ร่วมก่อการกบฏ แต่ในบางยุคสมัย (น่าจะรวมไปถึงยุคของเชคสเปียร์ด้วย) มันถูกอ่านให้เป็นโศกนาฏกรรมทางการเมือง ที่บางครั้งผู้มีเจตนาดี อาจก่อความพินาศฉิบหายก็เป็นได้ ในพื้นที่สาธารณะบรูตัสและสหายคือผู้ก่อความวุ่นวาย นำพากรุงโรมไปสู่สงครามการเมือง

เชคสเปียร์ contrast ภาพลักษณ์นั้นกับพื้นที่ส่วนตัวของคนเหล่านี้ ขณะที่บรูตัสทรงเกียรติ ไม่ยอมแม้แต่ซื้อขายตำแหน่งเพื่อเงินเพียงเล็กน้อย แอนโธนีและฝ่ายตรงข้ามไม่ละอายใจที่จะไล่ล่าสังหารบรรดาวุฒิสมาชิก เพื่อรวบรวมทุนมาก่อสงคราม (และในท้ายที่สุด ก็เป็นฝ่ายแอนโธนีและซีซาที่มีชัย)

ในความเห็นของเรา พื้นฐานการอ่านเชคสเปียร์ที่สำคัญที่สุดคือการแยกพื้นที่ของบทละคร เพื่อให้เห็นถึงภาวะความดีงามและเลวทรามที่ย้อนแย้งกันอยู่ในแต่ละพื้นที่

ประเด็นนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนใน Anthony and Cleopatra สองพื้นที่ได้แก่กรุงโรมและอเลกซานเดีย พื้นที่แรก เป็นพื้นที่ของทหาร การแย่งชิงอำนาจ และการเมือง ส่วนพื้นที่หลัง เป็นพื้นที่ของการดื่มด่ำ สรวลเส และการเมืองอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน ในโลกของผู้ชายโรมัน หรือผู้หญิงอียิปต์ การเมืองก็คือเฟืองที่ขับเคลื่อนเหตุการณ์

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวแล้วเราไม่ค่อยชอบ Anthony and Cleopatra เท่าไหร่ น่าจะเป็นบทละครของเชคสเปียร์ที่เราชอบน้อยที่สุดเรื่องหนึ่ง มันเต็มไปด้วยการตัดสลับไปมา และเหตุการณ์สำคัญๆ ถูกเล่าย้อนหลังด้วย exposition มากกว่าจะเห็นกับตา กระนั้นก็ตามเฉกเช่นที่นักวิจารณ์หลายคนยอมรับกัน ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าตัวละครคลีโอพัตราน่าจะเป็นตัวละครหญิงที่มีสีสันที่สุดของเชคสเปียร์ (แต่ก็อีกนั่นแหละ ในเมื่อ source material เป็นถึง “พระนางคลีโอพัตรา” ถ้าเชคสเปียร์เขียนบทละครเรื่อง Madonna แล้วตัวเอกจะออกมาจืดจางได้ ก็ให้มันรู้ไป)

F. Dallmayr's "Integral Pluralism: Beyond Culture Wars"

ถึงแม้ดัลเมย์จะเอ่ยอ้างนักคิด นักปรัชญาหลายคนในหนังสือ Integral Pluralism: Beyond Culture Wars (มีทั้งนักปรัชญาตะวันออกจากจีน อินเดีย รวมถึงคานธีเสียด้วยซ้ำ) แต่คนที่เราอยากพูดถึงที่สุดคืออาย แรนด์ ทั้งที่จริงๆ เธอไม่เกี่ยวอะไรกับหนังสือเล่มนี้เลย แต่แก่นของสิ่งที่ดัลเมย์นำเสนอแท้จริงก็คือหัวใจของ objectivism นั่นเอง

แรนด์แบ่งมาตรฐานที่ใช้วัดความดีงามออกเป็นสามประเภท อย่างแรกคือ dogmatism หมายถึงความดีงามถูกกำหนดไว้แล้วในคัมภีร์ มนุษย์ไม่มีสิทธิถกเถียงหรือตั้งคำถาม ของมันดีเพราะศาสดาบอกว่าดี จบ อย่างที่สองคือ subjectivism หรือลางเนื้อชอบลางยา ความดีงามขึ้นอยู่กับการตัดสินของปัจเจก แต่ละคนมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการกำหนดมาตรฐานความดีงามจากอารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว โดยไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นๆ ในสังคมจะคิดเช่นไร

โดยผิวเผินแล้ว dogmatism เหมือนจะตรงข้ามกับ subjectivism อย่างสุดกู่ ความหลักแหลมของแรนด์ (และดัลเมย์) คือการตั้งข้อสังเกตว่าในทางปฏิบัติ ไม่มีอะไรอีกแล้วจะใกล้เคียงกันมากไปกว่าสองความคิดนี้ พอมีคนถามพวก dogmatism ว่ารู้ได้ยังไง จารึกในคัมภีร์นั้นเป็นสิ่งดีงาม พวกเขาก็จะหันมาใช้เหตุผลแบบ subjectivism คือความรู้สึกส่วนตัวของเขามันบอกเช่นนั้น

เราเหมือนเคยพูดถึงพฤติกรรมอันย้อนแย้งของกลุ่ม dogmatism/subjectivism เอาไว้แล้ว เวลาคุยกันเอง คนประเภทนี้มีท่าทีแบบ dogmatism พูดจาใหญ่โต ถากถางความคิดเห็นคนอื่น แต่พอต้องออกมาถกเถียงนอกกลุ่ม (และมักจะเถียงแพ้ด้วย) ก็จะหันมาใช้ท่าทีแบบ subjectivism แทน คือฉันเชื่อของฉันแบบนี้ ฉันมี "อคติ" แบบนี้ พวกเธอไม่มีสิทธิอะไรจะมาเปลี่ยนแปลงความคิดฉัน หรือไม่ก็ ที่พวกเธอคิดแบบนี้ (และฉันเถียงสู้เธอไม่ได้) เพราะ "เธอไม่ใช่คนไทย" "เธอไม่รักชาติ" "เธออ่านหนังสือมากเกินไป" กล่าวโดยสรุป สถานะความเป็นมนุษย์ของเธอสู้ฉันไม่ได้ ("เธอไม่ใช่คนดีเหมือนฉัน") ดังนั้น subjectivism ของเธอก็เลยสู้ฉันไม่ได้ด้วย (แม้ว่าฉันจะเถียงแพ้เธอก็ตาม) ด้วยประการฉะนี้ dogmatism กับ subjectivism ก็เลยไปกันได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ทางเลือกที่สามที่แรนด์เสนอคือ objectivism แต่ละปัจเจกมีสิทธิเชื่ออะไรก็ได้ แต่เมื่อไหร่ที่มาถกเถียงกันด้วยเหตุผล หลักฐาน จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูก และอีกฝ่ายหนึ่งผิด ***คนที่เถียงแพ้คนอื่น ไม่มีสิทธิถือครองความคิดของตัวเองอีกต่อไป*** objectivism ของแรนด์คือการเชิดชูเหตุผล ว่าเป็นไม้บรรทัดหนึ่งเดียวที่ใช้วัดความถูกผิด ในขณะที่ดัลเมย์ใจกว้างกว่านั้น เขาอ้างคำพูดของคาร์ล ชมิตต์ โดยบอกว่าพื้นที่หรือกิจกรรมการถกเถียงนั่นแหละคือที่มาของ "การเมือง"

แม้ว่าแนวคิดของแรนด์จะคงแข็ง ตายตัวเกินไปในโลกยุคหลังสมัยใหม่ (และอย่างที่เคยบอกไปแล้ว ปัจจุบัน objectivism ดูจะกลายสถานะไปเป็นลัทธิเพี้ยนๆ ที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ซะงั้น) แต่คบเพลิงที่ส่งต่อจากแรนด์ มาถึงดัลเมย์ (โดยไม่ตั้งใจ) ดูจะเป็นทางเดินแคบๆ ท่ามกลางสองฝั่งหุบเหวระหว่าง dogmatism และ subjectivism

A. Schopenhauer's "The Art of Literature"

หมายเหตุ: ไม่เคยอ่านงานชิ้นอื่นของโชเปนฮาวเวอร์เลย การตัดสินความคิดของนักเขียนคนหนึ่ง จากผลงานชิ้นเดียวดูเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ดี โชเปนฮาวเวอร์เองนั่นแหละที่บอกว่า ถ้าเราอยากรู้ความคิดอ่านของนักเขียนคนหนึ่ง เราจำเป็นต้องอ่าน "เนื้อหา" ผลงานทุกชิ้นของเขา แต่ถ้าเราจับสังเกต "รูปแบบ" (style) ในผลงานเพียงชิ้นเดียว เราจะรู้กลวิธีการใช้ความคิดของนักเขียนคนนั้น และสามารถคาดการณ์เนื้อหาในผลงานชิ้นอื่นๆ ได้

ออกตัวก่อนว่าเราไม่ชอบโชเปนฮาวเวอร์ ในโลกแห่งนักปรัชญาตะวันตก (โดยเฉพาะสาย "แข็ง" อย่างในเยอรมัน) โชเปนฮาวเวอร์ดูเป็นสีสันที่พิสดารไม่เหมือนใครดี แกมีอะไรบางอย่างคล้ายคลึงกับพวก "ปัญญาชนสยาม" มากกว่า "นักปรัชญา" กล่าวคือ ดูไม่ใช่คนที่ลึกซึ้งหรือแม่นยำในทฤษฎีอะไร แกแค่ "เฉลียวฉลาด" ในที่นี้คือ มีความชัดเจนในสาระ เรื่องราวที่ตนสนใจ (และคนประเภทนี้ก็มักจะสนใจไปเสียทุกเรื่อง) และสามารถถ่ายทอดความคิดของตัวเองผ่านข้อเขียนได้อย่างตรงประเด็น

โชเปนฮาวเวอร์รังเกียจ และไม่สามารถรับมือกับความคลุมเครือได้ทุกประเภท ดังนั้นในความเชื่อของแก "วรรณกรรม" (ในที่นี้หมายรวมงานเขียนทุกประเภท) คือการสื่อสารทางตรงระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน ความคิดอะไรที่บังเกิดแก่ผู้เขียนระหว่างเขียนข้อความใดๆ ต้องชัดเจน หนึ่ง สอง สาม สี่ และเมื่อผู้อ่านมาอ่านข้อความเดียวกัน ก็ต้องเกิด หนึ่ง สอง สาม สี่ แบบเดียวกันเป๊ะ (เปล่าดายแล้วกระมัง ที่จะบอกว่าความเชื่อแบบนี้ "ล้าหลัง" แค่ไหน)

ที่น่าสนใจคือใครที่มาสายนี้ ก็มักจะลงเอยในชุดความคิดแบบคล้ายๆ กัน เช่น ปฏิเสธการอ่านหนังสือ (โชเปนฮาวเวอร์เป็น "ปัญญาชนตะวันตก" คนแรก -- และอาจจะเป็นคนเดียวเลยด้วยซ้ำ -- ที่เหยียดหยามการอ่าน) ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และความเป็นต้นตำรับ ดั้งเดิม (original)

เราสนุกกับการอ่าน The Art of Literature ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแก แต่ก็ต้องยอมรับว่าโชเปนฮาวเวอร์เป็นนักเขียน "เรียงความ" ที่น่าอ่านที่สุดคนหนึ่ง บางความคิดของแก ถูกหรือผิดไม่รู้ แต่ก็น่าเก็บมาขบเคี้ยวต่อ เช่น โชเปนฮาวเวอร์บอกว่า แวดวงวรรณกรรมจะพัฒนาหรือไม่ สำคัญที่สุดคือ หนังสือ และนักเขียนห่วยๆ ต้องถูกก่นด่า ประณาม แกให้ความสำคัญกับการต่อต้านหนังสือที่ไม่ดี มากกว่าการยกย่องหนังสือที่ดีอีก โดยจะย้ำ (แบบจับน้ำเสียงขมขื่นได้) ว่าเราต้องไม่ปล่อยให้พวกตัวปลอมทั้งหลายมีชื่อเสียงขึ้นมา

ส่วน "พวกตัวปลอมทั้งหลาย" นี่มีใครบ้างเหรอคุณ หนึ่งในนั้นคือเฮเกล!

D. Lodge's "Changing Places"

เครื่องจักรที่เห็นในรูปข้างบนนี้ เขาเรียกว่าปาเตอร์นอสเตอร์ เป็นลิฟต์แบบพิเศษ เคลื่อนที่ขึ้นอย่างช้าๆ และวนลงมาเมื่อถึงยอดตึก ปาเตอร์นอสเตอร์จะไม่หยุดรับผู้โดยสารเหมือนลิฟต์ทั่วไป คุณต้องใช้ทักษะในการกระโดดเข้าไปเอง ท่าทางจะอันตรายอยู่เหมือนกัน แต่เห็นในรูปแล้ว ก็น่าสนุกดีพิลึก

เดวิด ลอดจ์ใช้ปาเตอร์นอสเตอร์เป็นอุปมาอุปมัยแทนเหตุการณ์ใน Changing Places เรื่องของอาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษสองคน ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษ ที่เข้าโครงการแลกเปลี่ยน และไปสอนยังมหาวิทยาลัยของอีกฝ่ายหนึ่ง ช่วงแรกแต่ละคนต้องเผชิญหน้ากับ culture shock อย่างรุนแรง (culture shock ในแบบที่ไม่เกี่ยวอะไรกับภาษาเลย เป็นบางสิ่งที่ยากแท้ให้คนไทยจินตนาการออก เนื่องจากไม่ได้มีประเทศอื่น แผ่นดินอื่นที่พูดภาษาเดียวกับเรา ใกล้เคียงสุดก็คือ การต้องไปอยู่คนเดียวในประเทศลาว ทั้งที่คนรอบข้างพูดภาษาเดียวกับเรา สื่อสารกันรู้เรื่อง แต่กลับเหมือนมีกำแพงทางวัฒนธรรมกั้นกลาง แบ่งแยกตัวเราออกมา) เมื่อปรับตัวได้แล้ว ต่างฝ่ายต่างประสบความสำเร็จในชีวิตใหม่ชั่วคราวของตัวเอง และพบว่าบางทีชีวิตชั่วคราวนี้อาจมีเสน่ห์เย้ายวนใจบางอย่าง ให้น่าลงหลักปักฐานถาวรไปเลยก็ได้

พลอตแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่อะไร ภาพยนตร์ฮอลลีวูดชวนหัวหลายเรื่องก็ใช้พลอต "ปลาหนีน้ำ" (fish out of water) แบบนี้ แต่ที่หลักแหลมเป็นพิเศษ คือลอดจ์เล่าเรื่องราว "ปลาหนีน้ำ" แบบคูณสอง ทั้งเรื่องของชาวอังกฤษในอเมริกา และเรื่องของชาวอเมริกาในอังกฤษด้วย นอกจากนี้ยังผนวกบรรยากาศยุค 60 สงครามเวียดนาม สิทธิสตรี และการปฏิวัติฮิปปี้เข้ามาได้แบบเนียนๆ

ลอดจ์นอกจากจะเป็นนักเขียนนิยายแล้ว ยังเป็นนักทฤษฎีด้านวรรณกรรมวิจารณ์ด้วย ในตอนจบของ Changing Places ลอดจ์ใช้ลูกเล่นกับรูปแบบการเล่าเรื่องอย่างแพรวพราว และถือเป็นการทดลองทางวรรณกรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุดชิ้นหนึ่ง

A. Rand's "Capitalism: The Unknown Ideal"

เกิดเป็นศิษย์อาย แรนด์นั้นแสนยาก อันที่จริงในปัจจุบัน ความคิดของเธอก็ไม่เห็นจะผิดเพี้ยนหลุดโลกไปกว่ามาร์กซ์สักเท่าไหร่ แต่ทำไมการบอกคนอืี่นว่าตัวเองเป็น objectivist มันถึงดูน่าอายกว่าเป็น marxist วะ

อย่างหนึ่งก็คือแรนด์เองแทบไม่เคยเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับ objectivism เลย นอกจากนิยายมหากาพย์สองเล่ม เธอก่อตั้งสมาคม objectivist และเผยแพร่บทความปกิณกะของตัวเองผ่านจดหมายเหตุของสมาคม พอมันไม่มี magnum opus มาอธิบายปรัชญาแบบตรงไปตรงมา จะให้คนเสพมันจาก The Fountainhead หรือ Atlus Shrugged ก็ขึ้นอยู่อีกว่า เขาจะตอบรับคุณค่าความเป็นวรรณศิลป์ของมันแค่ไหน

ส่วนจดหมายเหตุปกิณกะก็ล้าสมัยไปตามวันเวลา แรนด์เขียนบทความเหล่านี้ในยุคที่ฝ่ายซ้ายในอเมริกามีชัยเหนือฝ่ายขวา กำแพงเบอร์ลินยังตั้งตระหง่าน นีโอคอนยังไม่เกิด และชาวโลกยังไม่รู้จักปัญหาที่ทุนนิยมแก้ไขไม่ได้อย่างภาวะโลกร้อน

ในฐานะสาวก เรายืนยันหัวชนฝาว่ามีบางอย่างสวยงามซ่อนอยู่ใน objectivism เช่น คนเราไม่ควรให้ค่ากับการเสียสละจนเกินไป เพราะถ้าเราเห็นดีเห็นงามกับการที่ใครคนใดคนหนึ่งเสียสละตัวเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ท้ายที่สุด เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสังคมจะเริ่มไม่บังคับให้คนอื่น "เสียสละ" ตัวเองเพื่อส่วนรวมบ้าง นี่ต่างหากต้นกำเนิดของทรราชและเผด็จการ ถ้าเราไม่สามารถเริ่มต้นพูดกันเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของแต่ละสมาชิกในสังคม บทสนทนาใดๆ ก็เปล่าประโยชน์

ความคิดนี้ทรงพลังมากๆ (และมีบางอย่างสอดคล้องกับเสด็จพ่อกุนเดระของเราอย่างน่าประหลาด) น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน objectivism เหมือนจะกลายเป็นกลุ่มศาสนา ปิดตัวเองจากโลกภายนอก และไม่ได้พัฒนาความคิดอะไรใหม่อย่างเข้มแข็ง จึงไม่น่าแปลก ทำไมปัจจุบัน หลายคนจะหัวเราะเยาะ หรือมอง "พวกเรา"​ด้วยสายตาหยาบหยามนิดๆ

V. Buckley's "Christina Queen of Sweden"

อ่านหนังสือมาก็มากมาย เคยได้ยินแต่ตำนานของ unsympathetic biographer เพิ่งประสบพบตัวจริงก็วันนี้เอง unsympathetic biographer หมายถึงผู้เขียนชีวประวัติที่ไม่ได้เห็นอกเห็นใจ หรือชื่นชมบุคคลที่ตัวเองเขียนถึงสักเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก พยายามจินตนาการว่าถ้าตัวเองต้องเขียนหนังสือ ทำวิจัย อุทิศชีวิตสามสี่ปีให้กับใครคนหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องเป็นคนที่เราชื่นชมด้วยเหตุผลบางอย่าง (กรณีชีวประวัติบุคคลชั่วร้ายอย่างอดอฟ ฮิตเลอร์ ถึงผู้เขียนไม่ได้ "เห็นอกเห็นใจ" แต่ก็จะออกแนวทึ่ง เหมือนที่ทึ่งพายุ สึนามิ และภัยธรรมชาติอื่นๆ )

ในท้ายเล่ม บักลีให้เหตุผลว่า เมื่อเราพูดถึงราชินีคริสตินาแห่งสวิเดน เราก็จะนึกถึงภาพนางเอ๊ก นางเอกของเกรตา กาโบ เป้าหมายของบักลี ในการเขียนชีวประวัติราชินีคริสตินา คือการทำลายภาพนั้น จะพูดว่าเธอทำวิจัย เขียนหนังสือทั้งเล่มเพื่อ "ป้ายสี" ราชินีคริสตินา ก็อาจจะพอได้

หรือไม่ก็เป็นเราเองที่อคติ เรารู้จัก ได้ยินชื่อราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนครั้งแรกจากหนังสือประวัติศาสตร์ของวอลแตร์ วอลแตร์ชื่นชอบราชินีผู้นี้มาก ชีวิตของเธอช่างมีสีสัน เป็นเลสเบี้ยน ได้รับฉายาว่าเป็นราชินีนักปราชญ์ เพราะให้การสนับสนุนชุบเลี้ยงนักปราชญ์ฝรั่งเศส ช่วงที่พวกเขาหลบหนีภัยสงครามต้นรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และที่สุดของที่สุดคือ คริสตินาสละราชบัลลังก์ด้วยความตั้งใจของตัวเอง เปลี่ยนศาสนา และไปใช้ชีวิตอย่างสามัญชน เพื่อศึกษาปรัชญา ประวัติศาสตร์ และความรู้แขนงอื่นๆ

แต่นั่นไม่ใช่ภาพของคริสตินาที่บักลีนำเสนอแม้แต่น้อย จากหนังสือเล่มนี้ เราได้ทราบว่าคริสตินาเป็นผู้ปกครองที่ย่ำแย่ เพราะมัวแต่งัดข้อกับที่ปรึกษา ออกเซนสเตียนา ก็เลยนำไปสู่ความล้มเหลวเชิงนโยบายหลายประการ (แต่ก็อีกนั่นแหละ ขึ้นอยู่กับนักประวัติจะวาดภาพออกเซนสเตียนาให้ออกมาอย่างไร ตอนที่เราอ่านหนังสือเกี่ยวกับสงครามสามสิบปี ภาพของออกเซนสเตียนา ไม่ได้แลดูเลอเลิศเหมือนที่บักลีพยายามสร้าง) คริสตินาเป็นราชินีหยิบโหย่งที่มีความสนใจหลายประการ แต่ทำอะไรไม่สำเร็จเลยสักอย่าง เธอชุบเลี้ยงนักปรัชญาฝรั่งเศสเอาไว้มากมาย แต่ก็เหมือนเพื่อเสริมสร้างบารมี มากกว่าจะศึกษาวิชาความรู้จริงจัง และที่วอลแตร์บอกว่าเดสการ์ดใช้ชีวิตบั้นปลายที่ราชสำนักสวีเดน ภายใต้การดูแลของคริสตินา บักลีเขียนเหมือนกับว่า เดสการ์ดถูกล่อให้มาตายอย่างหนาวเหน็บในดินแดนทางเหนือมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นคำบอกเล่าของวอลแตร์ ภาพยนตร์ของกาโบ หรือหนังสือของบักลี สุดท้ายเราก็ได้แต่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับภาพอันขัดแย้งของราชินีคริสตินาที่แต่ละคนนำเสนอ อย่างว่า ใครเล่าจะผูกขาดเรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองได้แต่เพียงผู้เดียว