C. Caudwell's "Illusion and Reality"
Illusion and Reality คือหนังทฤษฎีวรรณกรรมที่งดงามที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยอ่าน เป้าหมายของคอดเวลทะเยอทะยานมาก โยงความข้องเกี่ยวระหว่างสภาพสังคม ตั้งแต่ยุคหิน จนถึงปฏิวัติอุตสาหกรรม มายังศิลปะ และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ (ตั้งแต่กวี นิยาย สถาปัตยกรรม หม้อไห ดนตรี ยันฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา) คอดเวลเป็นนักคิดแบบมาร์กซิส ดังนั้นการตีความศิลปะ และบทกวีของเขาจึงอิงอยู่บนพื้นฐานทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ เขายังโจมตีฟรอยด์ และนักจิตวิทยาคนอื่นเช่นจุง และแอดเลอร์ด้วย โทษฐานไม่ยอมอิงจิตวิเคราะห์กับบริบททางสังคมให้มากกว่านี้ โดยยกตัวอย่างว่านี่คือ "ภาพลวงตาแห่งชนชั้นกลาง"
น่าเสียดายที่ชื่อเสียงคอดเวลในแวดวงวิชาการไม่ค่อยดีนัก เพราะหลายความคิดของเขาใกล้เคียงกับมาร์กซิสแบบญาณวิทยา (epistemology) ของเลนิน/สตาลิน ซึ่งถือเป็นมาร์กซิสฉบับสามานย์ (ที่ตลกคือไอ้มาร์กซิสสามานย์นี่แหละกลับมีอิทธิพลต่อการเมืองต้นศตวรรษที่ 20 สุด) คำถามที่ว่าคอดเวลได้รับอิทธิพลมาจากเลนิน/สตาลิน โดยตรงหรือว่าบังเอิญพัฒนาปรัชญาแบบฉบับตัวเองขึ้นมา ทิ้งให้คนอ่านเก็บไปคิดเอง
อะไรคือญาณวิทยา โดยศัพท์หมายถึงวิชาว่าด้วยการศึกษาที่มาของความรู้ ญาณวิทยาแบบมาร์กซิสอธิบายง่ายๆ คือชนชั้นกลาง หรือชนชั้นปกครองในสังคมได้ตัดขาดตัวเองจากโลกความจริง ดังนั้นวิชา ความรู้ หรือปรัชญาใดๆ ที่พวกเขาคิดค้น ย่อมไม่อาจเข้าถึงแก่นแท้ความจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมาได้ก็จากผลผลิตของชนชั้นแรงงานเท่านั้น พูดให้สุดโต่งก็คือ ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง ปรัชญา ศาสนาพุทธ หรือว่าเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม ล้วนแล้วแต่ลวงโลกเพราะเป็นผลผลิตของชนชั้นสูง (ญาณวิทยาแบบมาร์กซิสแกล้งมองข้ามความจริงไปว่าตั้งแต่อดีตแล้ว ชนชั้นแรงงานไม่เคยอยู่ในฐานะ หรือมีศักยภาพที่จะผลิตปรัชญาใดๆ เป็นของตัวเอง)
ในกรณีของคอดเวล เขาพูดถึงวรรณกรรมว่าเป็นผลิตผลจาก "ภาพลวงตาแห่งชนชั้นกลาง" ในที่นี้หมายถึงชนชั้นกลางเข้าใจผิดว่าอิสรภาพมาจากการหลีกหนีความจำเป็น (คอดเวลเปิดหนังสือด้วยประโยคเด็ดของเองเกล หนึ่งในสองบิดาแห่งคอมมิวนิสต์ "อิสรภาพคือการตระหนักรู้ถึงความจำเป็น") ชนชั้นกลางต้องการมอบอิสระให้ตัวเอง และสหายผู้ใช้แรงงานผู้ทุกข์ยากในสังคม หากแต่เพราะเขาคือชนชั้นกลาง ดังนั้นจึงติดอยู่กรอบแห่งชนชั้น และท้ายที่สุด ได้แต่หลงวนเวียนอยู่ในภาพลวงตา (ตามหลักญาณวิทยา) วรรณกรรมตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ล้วนแล้วแต่แสดงออกถึงความขัดแย้งระหว่างภาพลวงตา และความเป็นจริงในสังคม
อะไรคือภาพลวงตาของชนชั้นกลาง แบ่งเป็นสามกรณี อย่างแรกคือเข้าใจผิดคิดว่าอิสรภาพเกิดมาจากการกลับคืนสู่ธรรมชาติ (ตามแนวทางของรุสโซ) คอดเวลบอกว่าคนป่าคนดอยต่างหากที่ไร้ซึ่งอิสรภาพ เพราะกลไกเศรษฐศาสตร์อันปราศจากการแบ่งชนิดแรงงาน (division of labour) ไม่อนุญาตให้พวกเขาตระหนักถึงความเป็นปัจเจกชนได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน แม้ว่าการแบ่งชนิดแรงงาน จะมาพร้อมกับระบบทุนนิยม สังคมซึ่งเต็มไปด้วยชนชั้น และการมองศิลปะว่าเป็นเพียงสินค้า ก็ไม่อาจช่วยให้ชนชั้นกลางได้รับอิสรภาพตามที่เขาต้องการ ภาพลวงตาประการที่สองคือการปฏิวัติ ปลดปล่อย สร้างตลาดเสรีให้เป็นเสรียิ่งขึ้น กระนั้นสุดท้ายแล้วตลาดเสรีก็เป็นเพียงเครื่องมืออีกชิ้นในระบบทุนนิยม
ภาพลวงตาประการสุดท้ายคือหนีจากตลาดซึ่งเปลี่ยนศิลปะให้เป็นสินค้า โดยสร้างผลงานแบบ surreal ขึ้นมา ซึ่งคอดเวลบอกว่านี่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรทั้งสิ้น คอดเวลก็คงคล้ายๆ กับนักคอมมิวนิสต์ทั่วไปที่เชื่อในการปฏิวัติ การลุกขึ้นมาเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นชิ้นเป็นอันโดยนักเขียน ซึ่งท้ายที่สุด Illusion and Reality ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามเลยว่าวรรณกรรมประเภทใดกันแน่ถึงจะหลุดจาก "ภาพลวงตาแห่งชนชั้นกลาง" อย่างแท้จริง (ในทางกลับกัน คอดเวลเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าภาพลวงตาเป็นสิ่งผิดเสียทีเดียวในงานศิลปะ แม้แต่ละครชั้นดีของเชคสเปียร์ก็ยังวนเวียนอยู่กับปมตรงนี้)
Illusion and Reality ยังพูดถึงความแตกต่างระหว่างนิยาย และบทกวี โองอิงอยู่บนคำอธิบายแบบจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ลึกซึ้งและน่าสนใจมากๆ ไว้โอกาสต่อไปถ้าได้อ่านจิตวิเคราะห์มากขึ้น จะโยงกลับมาเรื่องนี้แล้วกัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment