E. Hemingway's "The First Forty-Nine Stories"


ไม่ง่ายเลยจริงๆ ที่จะเขียนเกี่ยวกับหนังสือรวมเรื่องสั้นสักเล่ม โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้นหนาปึกอันประกอบไปด้วยสี่สิบเก้าเรื่องสั้นสมชื่อ โดยเฉพาะถ้าเรื่องสั้นเหล่านั้นมาจากปลายปากกาของป๋าเฮมมิงเวย์ ตำนานนักเขียนชาวอเมริกา

ถ้าให้พยายามจับไต๋ป๋าจริงๆ เราจะบอกว่าเรื่องสั้นป๋าแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกเน้นการบรรยายความ ธีมที่ป๋าชอบมากได้แก่ชีวิตคือการต่อสู้ และการต่อสู้ในที่นี้ถูกสื่อผ่านกีฬา เกม หรือการละเล่นเสี่ยงอันตราย ยกตัวอย่างเช่น Fifty Grand สะท้อนชีวิตนักมวย A Pursuited Race นักขี่จักรยาน Big Two-Hearted Rive การตกปลา และ The Undefeated นักสู้วัวกระทิง หลายเรื่องสั้นของป๋ามีฉากหลังเป็นมาดริด และเกี่ยวข้องกับกีฬาสู้วัว อีกเรื่องที่ดังสุดๆ คือ The Capitol of the World

จากเรื่องสั้นเหล่านี้ เราได้เห็นการต่อสู้ของชีวิตในรูปแบบต่างๆ ประเภทดันทุรังข้าไม่เคยแพ้ การต่อสู้ด้วยเล่ห์เหลี่ยม หรือผู้ที่ถูกบังคับให้ลงสังเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกธีมที่สื่อผ่านเรื่องลักษณะนี้คือความเปราะบางของชีวิต มนุษย์ทุกคนล้วนถูกความตายไล่ติดตามตัว โดยไม่รู้เมื่อไหร่มันจะไล่ทันเรา

งานสไตล์นี้ของป๋าอ่านแล้วนึกถึงอาจารย์มนัส เนื้อความหนักแน่น สัมผัสได้ถึงความกรำแดดกรำชีวิตของผู้เขียน เฮมมิงเวย์ และอาจารย์มนัส ล้วนเป็นนักเขียนที่สร้างผลงานโดยวางพื้นฐานมาจากประสบการณ์ตรง สมัยหนุ่มๆ ป๋าเคยต่อยมวย เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป อเมริกา และแอฟริกา ประสบการณ์ในแอฟริกาของเฮมมิงเวย์ก่อกำเนิดเป็นสองสุดยอดเรื่องสั้นคือ The Short Happy Life of Francis Macomber และ The Snows of Kilimanjaro เฮมิงเวย์เคยแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ว่าสงครามนี่แหละที่ปั้นคนธรรมดาให้เป็นนักเขียนชั้นเลิศรายแล้วรายเล่า เรื่องสั้นของป๋าจึงคุกรุ่นไปด้วยความเป็นเฮมมิงเวย์ชนิดที่แยกกันไม่ออก

เรื่องสั้นประเภทที่สองอาศัยบทสนทนาเป็นตัวดำเนินเรื่อง ลักษณะเด่นคือการพูดคุยของตัวละครที่อ่านเร็วๆ ผ่านๆ เหมือนไร้สาระ แต่จู่ๆ ป๋าจะปล่อยหมัดเด็ดเข้าใส่คนอ่าน ในรูปประโยคชวนอึ้ง ที่ชัดเจนมากคือ A Canary for One แนะนำว่าใครที่คิดจะหยิบ The First Forty-Nine Stories ขึ้นมาอ่านจริงๆ อยากให้เริ่มจากเรื่องนี้ จะได้เข้าใจแนวทางของผู้เขียน ประเด็นซึ่งป๋าชอบใช้กับเรื่องสไตล์นี้คือความขัดแย้งระหว่างคู่สามี ภรรยา เป็นสงครามประเภทคลื่นใต้น้ำ ที่คนอ่านรู้สึกได้ถึงความตึงเครียด แต่ไม่สามารถชี้ชัดเจาะจงได้ว่าอะไรคือต้นตอของมัน Cat in the Rain และ Hills Like White Eleplant เป็นอีกตัวอย่างที่ดี (เข้าใจว่า Raymond Carver คงได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องสไตล์นี้) เรื่องเล่าด้วยบทสนทนาซึ่งโด่งดังสุดของป๋าคือ The Killer สามหน้าแรกตึงเครียดชวนให้นึกถึงฉากเปิดตัวสองฆาตกรโรคจิตในภาพยนตร์เรื่อง Funny Game ของฮาเนเก้

The Killer ยังเป็นหนึ่งในเรื่องสั้นชุดนิค อดัม ซึ่งเป็นชื่อตัวละครที่ปรากฏตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องสั้นของเฮมมิงเวย์ ช่วงแรกๆ มีความต่อเนื่องจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่อง เริ่มตั้งแต่สมัยนิคเป็นเด็ก พ่อซึ่งเป็นหมอพานิคไปช่วยทำคลอดอินเดียแดง (The Indian Camp) เมื่อโตขึ้นนิคพบรักกับอินเดียแดงสาว (Ten Indians) เข้าร่วมในสงคราม (Now I Lay Me, In Another Country) ส่วนใหญ่พูดถึงอิทธิพลคนรอบข้าง ที่มีต่อการเติบโตของชายหนุ่ม และความสับสนของวัยรุ่น

คาลวิโนเคยบอกว่า การอ่านหนังสือคลาสสิคล้วนแล้วแต่เป็นการอ่านซ้ำ กระทั่งเล่มที่เราไม่เคยหยิบจับมาก่อน เพราะหนังสือคลาสสิคคือต้นกำเนิดความคิดของหนังสือเล่มอื่นๆ ซึ่งตามมาในภายหลัง The First Forty-Nine Stories ก็เป็นหนังสือที่ว่า ถึงแม้ไม่เคยอ่านมาก่อน แต่เรารู้สึกประหนึ่งคุ้นเคยกับตัวละครเป็นอย่างดี นี่เอง ความยิ่งใหญ่ในฐานะตำนานของป๋าเฮมมิงเวย์

G. Swift's "Last Orders"


สวิฟท์มีนิยายเข้าชิงบุคเกอร์ไพรซ์สองเล่ม เล่มแรกคือ "Waterland" และอีกเล่มคือ "Last Orders" ถึงแม้จะเป็น "Last Orders" ที่ได้รางวัล แต่ส่วนตัวแล้วชอบ "Waterland" มากกว่า นิยายสองเรื่องนี้มีทั้งความเหมือน และความต่างที่น่าสนใจ ความเหมือนอยู่ตรงประเด็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม หมายถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดกับรุ่นปู่ ย้อนกลับมาเกินกับรุ่นหลานได้อีกคราว ในแง่มุมที่คล้าย หรือกลับหน้าเป็นหลังโดยสิ้นเชิง (จะเรียกว่ากงกำกงเกวียนก็ได้) ประเด็นนี้พบได้ทั้งใน "Waterland" ซึ่งเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีครอบครัวหนึ่งตั้งแต่รุ่นทวด และ "Last Orders" ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ 100 ปีของสี่ครอบครัว

แต่ความแตกต่างน่าตกใจคือ ขณะที่ "Waterland" มีจุดเด่นอยู่ตรงฉาก ดินแดนทุ่งราบเปียกชื้นในอังกฤษ "Last Orders" กลับเป็นนิยายที่แทบไม่มีฉาก ไม่มีการบรรยายความใดๆ ทั้งสิ้น เป็นตัวละครล้วนๆ ผลัดกันมาเล่าเรื่องราวของตัวเอง พูดในแง่ดีคือ "Last Orders" อ่านง่ายมาก ถึงจะยาว 300 หน้า แต่เอาเข้าจริงๆ มีหน้าว่าง หน้าเปลี่ยนบทเสียเยอะ อ่านปรู๊ดเดียวจบแล้ว แต่เพราะมันไม่มีฉาก ไม่มีสถานที่ เลยทำให้อารมณ์กวีของมันด้อยกว่า "Waterland"

"Last Orders" เล่าเรื่องราวเพื่อนรักสี่คน แจค เรย์ วิค และ เลนนี หลังแจคเสียชีวิตด้วยโรคร้าย เพื่อนอีกสามคน และลูกบุญธรรมของแจค ที่ชื่อวินซ์ เดินทางไปโปรยอัฐิตามคำขอสุดท้าย ระหว่างการเดินทาง คนอ่านได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังตัวละครทั้งสี่ ซึ่งโยงไปหาคนใกล้ตัวคนอื่นๆ เอมี่ จูน แซลลี คารอล แคท ฮัสซีน ว่าไปแล้ว "Last Orders" เป็นนิยายที่เปลืองตัวละครที่สุดเล่มหนึ่ง

สวิฟท์ท่าทางจะฝังใจประเด็นโศกนาฏกรรมในครอบครัว แม่ซึ่งสูญเสียลูก พ่อซึ่งทะเลาะกับลูก และลูกที่ไม่อยากสืบทอดกิจการของครอบครัว เป็นอีกประเด็นที่ปรากฏใน "Waterland" เช่นกัน "Last Orders" น่าสนใจตรงตัวละครส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ประชาชนชั้นสองของประเทศอังกฤษ แต่แทนที่สวิฟท์จะตอกย้ำประเด็นความขัดแย้งเดิมๆ ระหว่างชนชั้น ดูเขาเอาใจใส่ และให้เกียรติตัวละครเกินกว่านั้น ทั้งแจค คนขายเนื้อ เรย์ นักพนันม้า วิค สัปเหร่อ และเลนนี คนขายผัก ล้วนแล้วแต่มีชีวิต จิตใจ ต่อสู้ และประสบปัญหาเฉกเช่นคนธรรมดาทั่วไป

ถ้าจะตินิดหนึ่ง ก็อาจเป็นฉากจบที่เรียบๆ ธรรมดา ให้เปรียบ "Last Orders" ก็เหมือนผ้าถักทอซึ่งไม่ได้เย็บขอบ รุดหลุ่ยได้ง่าย แต่บางคนก็มองว่าเป็นเสน่ห์ได้เหมือนกัน

C. Caudwell's "Illusion and Reality"


Illusion and Reality คือหนังทฤษฎีวรรณกรรมที่งดงามที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยอ่าน เป้าหมายของคอดเวลทะเยอทะยานมาก โยงความข้องเกี่ยวระหว่างสภาพสังคม ตั้งแต่ยุคหิน จนถึงปฏิวัติอุตสาหกรรม มายังศิลปะ และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ (ตั้งแต่กวี นิยาย สถาปัตยกรรม หม้อไห ดนตรี ยันฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา) คอดเวลเป็นนักคิดแบบมาร์กซิส ดังนั้นการตีความศิลปะ และบทกวีของเขาจึงอิงอยู่บนพื้นฐานทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ เขายังโจมตีฟรอยด์ และนักจิตวิทยาคนอื่นเช่นจุง และแอดเลอร์ด้วย โทษฐานไม่ยอมอิงจิตวิเคราะห์กับบริบททางสังคมให้มากกว่านี้ โดยยกตัวอย่างว่านี่คือ "ภาพลวงตาแห่งชนชั้นกลาง"

น่าเสียดายที่ชื่อเสียงคอดเวลในแวดวงวิชาการไม่ค่อยดีนัก เพราะหลายความคิดของเขาใกล้เคียงกับมาร์กซิสแบบญาณวิทยา (epistemology) ของเลนิน/สตาลิน ซึ่งถือเป็นมาร์กซิสฉบับสามานย์ (ที่ตลกคือไอ้มาร์กซิสสามานย์นี่แหละกลับมีอิทธิพลต่อการเมืองต้นศตวรรษที่ 20 สุด) คำถามที่ว่าคอดเวลได้รับอิทธิพลมาจากเลนิน/สตาลิน โดยตรงหรือว่าบังเอิญพัฒนาปรัชญาแบบฉบับตัวเองขึ้นมา ทิ้งให้คนอ่านเก็บไปคิดเอง

อะไรคือญาณวิทยา โดยศัพท์หมายถึงวิชาว่าด้วยการศึกษาที่มาของความรู้ ญาณวิทยาแบบมาร์กซิสอธิบายง่ายๆ คือชนชั้นกลาง หรือชนชั้นปกครองในสังคมได้ตัดขาดตัวเองจากโลกความจริง ดังนั้นวิชา ความรู้ หรือปรัชญาใดๆ ที่พวกเขาคิดค้น ย่อมไม่อาจเข้าถึงแก่นแท้ความจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมาได้ก็จากผลผลิตของชนชั้นแรงงานเท่านั้น พูดให้สุดโต่งก็คือ ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง ปรัชญา ศาสนาพุทธ หรือว่าเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม ล้วนแล้วแต่ลวงโลกเพราะเป็นผลผลิตของชนชั้นสูง (ญาณวิทยาแบบมาร์กซิสแกล้งมองข้ามความจริงไปว่าตั้งแต่อดีตแล้ว ชนชั้นแรงงานไม่เคยอยู่ในฐานะ หรือมีศักยภาพที่จะผลิตปรัชญาใดๆ เป็นของตัวเอง)

ในกรณีของคอดเวล เขาพูดถึงวรรณกรรมว่าเป็นผลิตผลจาก "ภาพลวงตาแห่งชนชั้นกลาง" ในที่นี้หมายถึงชนชั้นกลางเข้าใจผิดว่าอิสรภาพมาจากการหลีกหนีความจำเป็น (คอดเวลเปิดหนังสือด้วยประโยคเด็ดของเองเกล หนึ่งในสองบิดาแห่งคอมมิวนิสต์ "อิสรภาพคือการตระหนักรู้ถึงความจำเป็น") ชนชั้นกลางต้องการมอบอิสระให้ตัวเอง และสหายผู้ใช้แรงงานผู้ทุกข์ยากในสังคม หากแต่เพราะเขาคือชนชั้นกลาง ดังนั้นจึงติดอยู่กรอบแห่งชนชั้น และท้ายที่สุด ได้แต่หลงวนเวียนอยู่ในภาพลวงตา (ตามหลักญาณวิทยา) วรรณกรรมตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ล้วนแล้วแต่แสดงออกถึงความขัดแย้งระหว่างภาพลวงตา และความเป็นจริงในสังคม

อะไรคือภาพลวงตาของชนชั้นกลาง แบ่งเป็นสามกรณี อย่างแรกคือเข้าใจผิดคิดว่าอิสรภาพเกิดมาจากการกลับคืนสู่ธรรมชาติ (ตามแนวทางของรุสโซ) คอดเวลบอกว่าคนป่าคนดอยต่างหากที่ไร้ซึ่งอิสรภาพ เพราะกลไกเศรษฐศาสตร์อันปราศจากการแบ่งชนิดแรงงาน (division of labour) ไม่อนุญาตให้พวกเขาตระหนักถึงความเป็นปัจเจกชนได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน แม้ว่าการแบ่งชนิดแรงงาน จะมาพร้อมกับระบบทุนนิยม สังคมซึ่งเต็มไปด้วยชนชั้น และการมองศิลปะว่าเป็นเพียงสินค้า ก็ไม่อาจช่วยให้ชนชั้นกลางได้รับอิสรภาพตามที่เขาต้องการ ภาพลวงตาประการที่สองคือการปฏิวัติ ปลดปล่อย สร้างตลาดเสรีให้เป็นเสรียิ่งขึ้น กระนั้นสุดท้ายแล้วตลาดเสรีก็เป็นเพียงเครื่องมืออีกชิ้นในระบบทุนนิยม

ภาพลวงตาประการสุดท้ายคือหนีจากตลาดซึ่งเปลี่ยนศิลปะให้เป็นสินค้า โดยสร้างผลงานแบบ surreal ขึ้นมา ซึ่งคอดเวลบอกว่านี่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรทั้งสิ้น คอดเวลก็คงคล้ายๆ กับนักคอมมิวนิสต์ทั่วไปที่เชื่อในการปฏิวัติ การลุกขึ้นมาเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นชิ้นเป็นอันโดยนักเขียน ซึ่งท้ายที่สุด Illusion and Reality ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามเลยว่าวรรณกรรมประเภทใดกันแน่ถึงจะหลุดจาก "ภาพลวงตาแห่งชนชั้นกลาง" อย่างแท้จริง (ในทางกลับกัน คอดเวลเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าภาพลวงตาเป็นสิ่งผิดเสียทีเดียวในงานศิลปะ แม้แต่ละครชั้นดีของเชคสเปียร์ก็ยังวนเวียนอยู่กับปมตรงนี้)

Illusion and Reality ยังพูดถึงความแตกต่างระหว่างนิยาย และบทกวี โองอิงอยู่บนคำอธิบายแบบจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ลึกซึ้งและน่าสนใจมากๆ ไว้โอกาสต่อไปถ้าได้อ่านจิตวิเคราะห์มากขึ้น จะโยงกลับมาเรื่องนี้แล้วกัน

N. West's "The Day of the Locust"


สงสัยมานานว่าเหตุใดเราถึงไม่ค่อยชอบนักเขียนอเมริกันเท่าไหร่ การได้อ่าน The Day of the Locust เหมือนจะช่วยตอบคำถามเรา ว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างนิยายสองฟากฝั่งแอตแลนติก ขณะที่วรรณกรรมยุโรปคือนิยายแห่งการค้นหา ไม่ว่าจะเป็นแนวทาง หรือความหมายแห่งชีวิต ไม่ว่าพื้นที่ในการค้นหานั้นจะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม แต่เวลาอ่านนิยายอเมริกัน อดรู้สึกไม่ได้ว่าเหมือนผู้เขียนกำลังบอกเรากลายๆ การค้นหาสมควรสิ้นสุดลงได้แล้ว ชีวิตเต็มไปด้วยความไร้สาระ มาสนุกให้สุดเหวี่ยงกันดีกว่า

พูดสั้นๆ นี่แหละที่เขาเรียกจิตวิญญาณแห่ง post-modernism คงไม่มีประเทศไหนอีกแล้วเหมาะสมจะให้กำเนิดมันมากไปกว่าดินแดนที่ไร้ซึ่งประวัติศาสตร์ และปรัชญา และคงไม่มีเมืองใดเหมาะจะเป็นเมืองแห่ง post-modernism เท่ากับแอลเอ มหานครภาพลวงตาแห่งนี้

เปิดมาแบบนี้ไม่ใช่เตรียมจะสับ The Day of the Locust หรอกนะ ตรงกันข้าม ถ้ามีนิยายสักเล่มที่โอบกอดความเป็น post-modernism ได้อย่างเหมาะสม ก็คงเป็นเล่มนี้แหละ เวสเดินเรื่องด้วยตัวละคร ทอด จิตรกรที่มาทำงานเป็นนักออกแบบฉากในฮอลลีวูด ทอดพยายามจีบเฟย์ ผู้หญิงที่ใฝ่ฝันอยากเป็นดารา ครั้งหนึ่งทอด ผู้มีการศึกษา จบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ วิจารณ์เฟย์ว่าเธอเหมือนละครเด็กประถม ถ้าดูจากภายนอก จะรู้สึกว่ามันช่างตื้นเขิน แต่ถ้าลองได้มีโอกาสไปเดินเล่นหลังฉาก เห็นความปลอมแปลงของมัน จะรู้สึกว่าความตื้นเขินนั้นอภัยให้ได้

เฟย์ และทอดคือตัวแทนความไร้สาระในสังคมยุคใหม่ ทอดไม่ใช่ผู้ชายแสนดี ลึกๆ แล้วเขาดูถูกเฟย์ แต่ยิ่งรังเกียจเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวมากเท่านั้น ฉากที่เราชอบมากๆ คือระหว่างทั้งคู่เต้นรำ ทอดพยายามขอร้องเฟย์ต่างๆ นานาให้นอนกับเขา โดยสัญญาว่าแค่คืนเดียว แล้วเขาจะหนีออกจากเมือง ไม่ยอมโผล่หน้ามาให้เธอเจออีกเป็นหนที่สอง

เฟย์เองก็ร้ายใช่ย่อย เธอพยายามหลอกล่อผู้ชายร่ำรวยให้หลงไหล เพื่อปูหนทางไปสู่ถนนดารา ขณะที่ตัวเองกลับมีแฟนเป็นคาวบอยโง่เง่า เธอทนคบเขาเพียงเพราะหน้าตา ทั้งยังแอบนอกใจไปหาเศษหาเลยกับเพื่อนสนิทแฟน คนเดียวเลยในเรื่องที่เหมือนจะเป็นคนดีคือโฮเมอร์ ผู้ชายที่หลงรักเฟย์อย่างจริงจัง และอดทนกับความเห็นแก่ตัวนานาของหญิงสาวสารพัด และแน่นอนว่าในนิยายขนบแบบนี้ ผู้ชายดีๆ นี่แหละที่จะมีจุดจบแสนเศร้า

เศร้าไหม? จริงๆ ก็ไม่เศร้ามาก เพราะรู้สึกอยู่แล้วว่านี่คือนิยายแห่งความตื้นเขิน และปลอมแปลง ในแอลเอ นครแห่งภาพยนต์ผู้คนใช้ชีวิตประหนึ่งสวมบทบาท ไอ้เรื่องไม่มีความจริงใจต่อกันยังไม่เท่าไหร่ แต่พวกเขาคงลืมวิธีจริงใจกับตัวเองไปแล้วด้วยซ้ำ

ความเป็น post-modernism ไม่จำเป็นต้องอ่านไม่รู้เรื่องเสมอไป เห็นพักหนึ่งที่เมืองไทยเอะอะอะไรก็ post-modern อยากให้ลองมาอ่านนิยายเรื่องนี้ดู แล้วจะเข้าใจกระแสความคิดตัวนี้ชัดขึ้น

S. Freud's "Beyond the Pleasure Principle"


ก่อนอื่นขอบคุณครับพี่จิ๊บที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ และขอต้อนรับซิกมุน ฟรอยด์สู่ laughable loves เราคงได้เจอกันอีกหลายหนเป็นแน่

เกรงนิดๆ ที่จะพูดถึง Beyond the Pleasure Principle เพราะนี่เป็นหนังสือเล่มแรกของฟรอยด์ที่เราอ่าน ตัวเองก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางจิตวิทยาใดๆ แถมฟรอยด์ก็เป็นนักเขียนดัง ที่ถ้าใครศึกษามาทางนี้ อย่างน้อยก็คงเคยอ่านหนังสือเล็กๆ บางๆ เล่มนี้มาบ้าง

ฟรอยด์เป็นนักคิดที่ "ช่างกล้า" จริงๆ แกเสนอคำอธิบายซับซ้อนเพื่อประกอบ สนับสนุนทฤษฎีตัวเอง (ยกตัวอย่าง ความพยายามอธิบายปมออดิปุสในตัวลูกสาว) เทียบกับนักปรัชญาคนอื่นๆ ระบบความคิดของฟรอยด์เละเทะกว่ามาก เช่นนอกจากจะแบ่งจิตใจคนเป็นสามส่วนคือจิตสำนึก (conscious) จิตก่อนสำนึก (pre-conscious) และจิตใต้สำนึก (unconscious) แล้ว ยังผ่าแต่ละส่วนออกเป็นสามเท่า id ego และ superego ซึ่งแต่ละตัวอิงหลักปฏิบัติได้สองประเภทคือ pleasure และ reality principle

ชอบคำอธิบายที่มาที่ไปของจิตสำนึกใน Beyond the Pleasure Principle มาก ซับซ้อน และกล้าหาญ ฟรอยด์บอกว่าจิตสำนึกเกิดจากเซลประสาทของตัวอ่อน ถ้าโดนสิ่งเร้ามาสัมผัสมากๆ เข้า จะ "ถูกอบ" จนกลายมาเป็นจิตสำนึก และ "ส่วนที่อยู่ภายนอก" (ภายนอกของอะไร? สมอง? หรือโครงสร้างความคิด?) เมื่อโดนกระตุ้นหนักเข้า จะตายกลายมาเป็นเกราะป้องกันจิตสำนึกจากสิ่งเร้า อาการป่วยของทหารผ่านศึก เนื่องมาจากพวกเขาผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรงมากเกินไป สิ่งเร้าเจาะเกราะ ทะลวงเข้าไปหาจิตสำนึก

ขณะเดียวกันด้านในของจิตสำนึกคือที่อยู่จิตใต้สำนึก (หมายถึงเซลประสาทส่วนที่ยังไม่ "โดนอบ" หรือเปล่า?) จิตพวกนี้ก็สามารถสัมผัสจิตสำนึกได้ และเนื่องจากไม่มีเกราะใดๆ มาป้องกัน ดังนั้นอิทธิพลของจิตใต้สำนึก จึงรุนแรง รุกเร้าได้ไม่แพ้โลกภายนอก

จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่บอกได้เลยว่าคนที่คิดอะไรเช่นนี้ กล้ามากๆ

ช่วงท้ายเล่มพูดถึงสัญชาตญาณสองแบบในตัวมนุษย์ซึ่งต่อสู้กันอยู่ นั่นคือสัญชาตญาณเพื่อนำมนุษย์ไปสู่จุดจบ ความตายตามธรรมชาติ และสัญชาตญาณในการสืบพันธุ์ ซึ่งนำพามนุษย์ไปสู่ความเป็นอมตะ น่าสนใจเหมือนกัน แต่เนื่องจากไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับทฤษฎีวรรณคดีเท่าไหร่ เลยไม่ได้อ่านละเอียด

ไว้เจอกันใหม่ฟรอยด์

T. Eagleton's "Literature Theory"


ประเด็นหนึ่งซึ่งอีเกิลตันพูดอ้อมๆ มาตลอดตั้งแต่บทแรก ยันบทสุดท้ายของ Literature Theory: an Introduction คือ นิยาย และวรรณกรรมร่วมสมัยเกิดมาเพื่อรับบทบาทหน้าที่แทนศาสนา

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ชาวยุโรปเริ่มตั้งข้อสงสัยในศาสนา วิกฤตการณ์ทางประวัติศาสตร์หลายๆ เรื่องสั่นคลอนศรัทธา ความเชื่อของพวกเขา แต่สังคมใดๆ ไม่อาจอยู่ได้ถ้าปราศจากศาสนา เพราะศาสนาคือเครื่องมืออุดมคติที่ใช้ปกครองคน มีหน้าที่กล่อมเกลาให้ชนชั้นล่างอยู่ภายใต้อำนาจเศรษฐกิจ และการเมืองของชนชั้นปกครอง ถ้าศาสนาไม่อาจคงความศักดิ์สิทธิ์ สังคมย่อมเกิดรอยร้าวฉานได้ง่ายๆ

วรรณกรรมร่วมสมัย และนิยายจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อการนี้ เพราะวรรณกรรมต่างจากงานเขียนเชิงวิเคราะห์ หรือปรัชญา ตรงที่มันเล่นกับอารมณ์ ความรู้สึกผู้อ่าน มีอิทธิพลคล้ายคลึงกับศาสนา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่หลักสูตรวรรณกรรมในประเทศอังกฤษยุคแรกถูกบรรจุอยู่ในโรงเรียนสำหรับผู้ใช้แรงงาน ชนชั้นระดับล่างของสังคม และก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่ช่วงเวลานั้นตรงกับยุคที่มีการเคลื่อนไหว ส่งผู้หญิงไปรับการศึกษาในโรงเรียน ผู้ชายชาวอังกฤษในยุคนั้นพยายามยกเอาวรรณกรรมภาษาตัวเอง เช่นหนังสือของเจน ออสติน ชาร์ล ดิกเกน มาใช้แทนศาสนาในการปกครองชนชั้นล่าง และผู้หญิง (สิ่งที่พวกเขาอ่านจริงๆ กลับเป็นงานเขียนภาษากรีก ลาติน เช่นโอดิสซี หรืออีเลียต)

กระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อหลักสูตรวรรณกรรมแพร่หลายมากขึ้นในมหาวิทยาลัย สถานภาพของมันยังถูกมองว่าด้อยว่าวิชาคลาสสิก หรือปรัชญา รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมยุคแรกๆ แจกนักปรัชญา มากกว่านักเขียนด้วยซ้ำ กระทั่งสงครามโลกนั่นเองที่ลดบทบาทวิชาปรัชญาลง เนื่องจากอิทธิพลใหญ่สุดซึ่งปฏิเสธไม่ได้ของปรัชญา (ในยุคนั้น) มาจากประเทศเยอรมัน ความขัดแย้งของสงครามทำให้คนอังกฤษเริ่มหันมาหาวรรณกรรมซึ่งถูกผลิตด้วยปลายปากกาชาวอังกฤษด้วยกันเอง


วรรณกรรมเหมือนศาสนาตรงไหน แนวทางการศึกษางานเขียนสร้างสรรค์ในยุคต้นๆ เรียกว่า New Criticism ซึ่งสนับสนุนให้การอ่านแบบปิด (close reading) ในที่นี้หมายถึงอ่านนิยายโดยไม่ต้องสนใจสภาพแวดล้อมภายนอก ผู้เขียน หรือสังคมในยุคนั้น สิ่งเดียวที่สำคัญคืออักขระตรงหน้า วิธีการอ่านแบบนี้ก็คล้ายๆ กับการอ่านไบเบิ้ลนั่นเอง คือสมมติในใจว่าคนเขียนไม่มีอยู่จริง แต่อยู่ดีๆ หนังสือหล่นมาจากฟากฟ้า แนวคิดแบบ New Criticism วางรากฐานอยู่บนความเชื่อว่าวรรณกรรมจะช่วยพาผู้อ่านกลับสู่ "ดินแดนแห่งพระเจ้า" ในที่นี้คือยุโรปศตวรรษที่ 17 ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และยุคแห่งเหตุผล

กระทั่งเมื่อกระแส New Criticism ซาลงไปแล้ว แม้แต่การอ่านแบบ Structuralism ก็ยังโยงไปข้องเกี่ยวกับศาสนาได้ คือเป็นการอ่านเพื่อหา "โครงสร้าง" หรือ "พลังศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งชักใยอยู่เบื้องหลังงานเขียน

ตอนนี้ยังไม่ค่อยอยากพูดถึง Structuralism, Post-structualrism, Psychoanalysis สักเท่าไหร่ แม้ว่าหัวข้อเหล่านี้จะบรรจุอยู่ใน Literature Theory ก็ตาม เอาเป็นว่าไว้อ่าน Derridas, Lacan, หรือ Barthes เมื่อไหร่ ค่อยกลับมาพูดถึงอีกทีแล้วกัน

ก่อนจบอยากลองเอากรอบความคิดตรงนี้มาปรับใช้กับประเทศไทยดู แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ไทย ไม่เหมือนยุโรป ถ้าจะดื้อด้านบอกว่าวรรณกรรมไทยเกิดมาจากความเสื่อมศรัทธาในศาสนาพุทธก็ดูจะเป็นการพูดแบบตีหัวเกินไป กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมัยที่ชาวตะวันตกเอาวัฒนธรรม และเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนสยาม คนไทยเองก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอัตลักษณ์ทางศาสนาเหมือนกัน ยุคหนึ่งมิชชันนารีพยายามชักจูงเจ้าขุนมูลนายว่า เห็นไหม ศาสนาคริสต์ช่วยให้พวกเราเจริญได้ถึงขนาดนี้ ทำไมคนไทย ไม่หันมานับถือคริสตศาสนาบ้างเล่า

หรือกระทั่งที่ระบบการศึกษาย้ายจากในวัด มาเป็นโรงเรียน ใช้ตำราซึ่งเขียนขึ้นมาโดยมีรากฐานแบบวรรณกรรม (หรืออย่างน้อยก็การเขียนเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งต่างการกาพย์ กลอนแบบเก่าๆ ) ในแง่หนึ่งจะมองว่าวรรณกรรมไทยเองในยุคหลังก็พยายามเข้ามาแทนที่ (หรือพูดอย่างสุภาพหน่อยก็ ส่งเสริม) ศาสนาก็ได้

จริงๆ อยากวิเคราะห์ต่อถึงการเปรียบเทียบระหว่างวรรณกรรมยุคใหม่ และวรรณคดีไทย ในแง่ของการสั่งสอนศีลธรรม เช่นเรารู้สึกว่าวรรณคดีไทยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสั่งสอนให้คนเป็นคนดี เหมือนกับวรรณกรรม แต่เดี๋ยวจะยาวเกินไป จบแค่นี้แล้วกัน

ตุลาคม (ไพฑูรย์ ธัญญา)


สิ่งซึ่งประทับใจจากรวมเรื่องสั้นตุลาคมของคุณไพฑูรย์คือความเป็นหนึ่งเดียว คุณสมบัติข้อนี้ไม่ใช่ของง่ายๆ เพราะเรื่องสั้นส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมผลงานต่างกาล ต่างวาระ ดังนั้นโดยโจทย์แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาเหมือน หรือกระทั่งคล้ายคลึงกัน ในทางตรงข้ามความเป็นหนึ่งเดียวก็ไม่ได้หมายถึงความซ้ำซาก มีรวมเรื่องสั้นหลายเล่มที่พออ่านเรื่องแรกก็สนุกดีอยู่หรอก แต่พอไปเรื่องที่สอง ที่สามถึงเพิ่งรู้ว่าคนเขียนประพันธ์งานได้แบบเดียวเลยนี่หว่า (คนรักเก่า ของคุณขจรฤทธิ์ก็ประสบปัญหาประเภทนี้)

ความเป็นหนึ่งเดียวช่วยสร้างประเด็นที่ชัดเจนให้หนังสือ แม้ว่าเรื่องสั้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจไม่ดีมาก หรือไม่ถึงขั้น แต่พอกลายเป็นส่วนหนึ่งของตุลาคม กลับดูหนักแน่น ตอกย้ำประเด็นที่คุณไพฑูรย์ต้องการสื่อให้ชัดเจน ประเด็นในที่นี้คือการเมือง หรือพูดให้ตรงจุด การรับรู้การเมืองผ่านสายตาประชาชน ตุลาคมต่างจากรวมเรื่องสั้นการเมืองหลายเล่ม ตรงที่คุณไพฑูรย์ไม่ได้ใส่ร้ายป้ายสีให้นักการเมืองดูเป็นผู้ร้ายทั้งปีทั้งชาติ แต่พูดถึงอิทธิพลสื่อซึ่งผลต่อการรับรู้เรื่องการเมือง ถ้าจะมีใครสักคนเป็นผู้ร้ายก็น่าจะเป็นสื่อที่มอมเมาให้คนไทยมองการเมืองเป็นเรื่องของความรุนแรง

จุดนี้ชัดเจนมากในความตายในเดือนตุลาคม แนวรบด้านตะวันตก: เหตุการณ์ไม่ตื่นเต้น และ ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้เรื่องสุดท้ายจะไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่ก็พอจะคาดเดาคติ และอคติซึ่งผู้เขียนมีต่อแวดวงโทรทัศน์ได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน โต๊ะตัวที่สามไม่ได้ต่อต้านสื่อ แต่ก็น่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านต่างจังหวัดตาดำๆ กับหนังสือพิมพ์ และข่าวสารการเมือง

คนไทยแปลกที่ว่าบทจะบ้าการเมือง ก็บ้าเอามากๆ ชนิดไม่ลืมหูลืมตา ติดยิ่งกว่าละครหลังคราว บทจะเบื่อขึ้นมา ก็หลับหูหลับตาเอาเสียดื้อๆ ปล่อยให้รัฐบาลบริหารประเทศตามใจชอบ

ตุลาคมตีพิมพ์หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในยุคนั้นผู้คนเบื่อรัฐบาลทหารเต็มที มีการต่อต้านนายกคนกลาง ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเอามาอ่านเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันจะยิ่งขับประเด็นให้น่าสนใจขึ้นเท่าทวีคูณ

ตุลาคมมีเรื่องสั้นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองกระจัดกระจายอยู่ตรงนู้นตรงนี้ ซึ่งก็ดีเหมือนกัน เพราะไม่ทำให้หนังสือ monotone เกิดไปนัก ตามขนบนักเขียนเพื่อชีวิต ต้องมีเรื่องสั้นต่างจังหวัดเรื่องสองเรื่องพอเป็นกระสาย ในที่นี้ได้แก่ แผ่นดินของเขา และ ลูกชายคนชวา เรื่องหลังดีกว่าเรื่องแรก ปลาตะเพียน และ คนบ้าบนภูเขา เป็นสองเรื่องสั้นที่แปลก เพราะค่อนข้างแหวกแนวจากเรื่องอื่นๆ เหมือนงานเขียนคุณสรจักรมากกว่า ซึ่งตรงนี้ถ้าให้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาไม่มีใครเขียนเรื่องสั้นต่างจังหวัดได้ดีเท่าอาจารย์มนัส และไม่มีใครเขียนเรื่องสั้นสรจักรได้ดีเท่าคุณสรจักรเอง

ปิดท้ายด้วยหิมพานต์ซึ่งก็หลุดโลกไปอีกทาง ออกแนวกระแสสำนึก ถือเป็นเรื่องสั้นโชว์เหนือของคุณไพฑูรย์ว่าเรื่องแบบนี้ฉันก็เขียนได้นะเฟ้ย ซึ่งก็เขียนได้จริงๆ และออกมาดีมากๆ ด้วย ไม่แน่ใจว่าจัดลำดับเรื่องตามการพิมพ์หรือเปล่า แต่จบด้วยเรื่องนี้ กับอารมณ์ฝันๆ ของมันถือว่าเหมาะสมมาก

2006: The Year in Denial (หลายคนเขียน)


หมายเหตุ: ชื่อจริงๆ ของหนังสือเล่มนี้คือ "รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ได้สื่ออะไร (เฉกเช่นเดียวกับกับชื่อของคณะรัฐประหารซึ่งก็ไม่ได้สื่ออะไรเช่นกัน) เป็นรวมบทความต่อต้านรัฐประหารของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยมีนักวิชาการต่างสาขา ต่างวัยวุฒิ และต่างคุณวุฒิอุทิศบทความ

ก่อนอื่นปกหนังสือเล่มนี้เด็ดโคตร เป็นการเอารูป The Treason of Image ของมากริต ดาวพลูโต และรถถังจับมาวางไว้ด้วยกัน โดยมีข้อความสั้นๆ ใต้แต่ละรูปว่า This is not a pipe. This is not a planet. และ This is not a coup. ก่อนปิดท้ายด้วยคำโปรย 2006: the Year in Denial ใครคิดปกนี้ รีบวิ่งมาเอารางวัลได้เลย

อย่างที่อธิบายนั่นแหละ ถ้าสนใจบทวิเคราะห์การเมือง สังคม และประวัติศาสตร์แบบถึงกึ๋น เล่มนี้ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะงานเขียนของอาจารย์นิธิ อาจารย์ธงชัย อาจารย์ศิโรฒม์ อาจารย์ชัยวัฒน์ อาจารย์ธเนศ และอีกหลายคนซึ่งถ้าใครอ่านหนังสือพิมพ์บ่อยๆ คงคุ้นเคยชื่อ หรือได้เห็นผ่านๆ ตามาบ้าง ถ้าจะติสำนักพิมพ์อย่างหนึ่ง ก็คือท้ายเล่มควรมีสรุปหน่อยว่าใครเป็นใครมาจากไหน เหมือนกับ anthology ฝรั่งที่ขนาดเอานักเขียนรางวัลโนเบลมา ยังต้องบอกท้ายเล่มเลยว่าเขาเป็นใคร

ไม่ขอพูดถึงแต่ละบทความในรายละเอียด แต่จะจับประเด็นสำคัญจากแต่ละบทความมาเล่าสู่ให้ฟังสั้นๆ ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งซึ่งต่อต้านรัฐประหารมาตั้งแต่ day one

ประเด็นแรกที่พูดถึงตั้งแต่ในบทความอาจารย์นิธิคือประชาธิปไตยเป็นระบบซึ่งแก้ไขตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงอำนาจมืด อำนาจกระบอกปืน ตัวอย่างน่าสนใจ ซึ่งเราเคยอ่านมาจากหนังสือพิมพ์มติชนคือคดี privatization บริษัทน้ำมัน และการไฟฟ้าของรัฐบาลทักษิณ สุดท้ายถูกศาลตัดสินว่ากฎหมายตัวนี้ใช้ไม่ได้ ประเด็นนี้ถูกขบวนการสนธิหยิบยกมาโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พอถึงวันประกาศคำตัดสิน ในบรรดาสื่อมวลชน และผู้ให้คนสนใจที่มายืนรอหน้าศาล กลับไม่มีคนจากกลุ่มพันธมิตร

ในหนังสือยังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองสนธิ ซึ่งเรายอมรับว่าหลักฐานส่วนใหญ่ยังเป็นแค่หลักฐานสภาพแวดล้อม (คำซุบซิบนินทา) ถึงจะยังสรุปความจริงไม่ได้ แต่ก็ชวนให้ขบคิดไม่น้อย ว่าอะไรกันแน่เป็นต้นเหตุของ "ภาพลวงตาแห่งทางตัน" ซึ่งเกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร


อีกประเด็นคือการใช้ "ความรุนแรง" มาเป็นเงื่อนไขของรัฐประหาร ตั้งแต่ต้นแล้วคณะรัฐประหารบอกว่าที่ออกมากระทำการเพื่อป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้เข้าชุมนุม และฝ่ายรัฐบาล (ซึ่งน่าฉงนเพราะ ตั้งแต่ต้นอดีตนายกทักษิณซึ่งเป็นพ่อค้าก็ไม่เคยแสดงท่าทีจะใช้กองทัพ) พอกระทำรัฐประหารสำเร็จ ก็เอาข้ออ้างว่าที่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะประชาชนยอมรับรัฐประหาร (ทั้งที่ถ้าขุดในประวัติศาสตร์จริง ตั้งแต่สมัยจอมพลฯ คนนั้นคนนี้ เวลาทำรัฐประหาร ก็แทบไม่เคยมีความรุนแรงมาเกี่ยวข้อง ความรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้นมาจากการต่อต้านรัฐบาลทหารต่างหาก) ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ความรุนแรงกลายมาเป็นมิติทางการเมือง ประหนึ่งว่าถ้าชาวอิรักยอมให้อเมริการุกรานโดยไม่ต่อต้าน นโยบายต่างประเทศของบุชจะกลายเป็นสิ่งถูกต้องขึ้นมาทันที

หนังสือยังพูดถึงคำว่า "ระบอบทักษิณ" (ขอรวมคำว่า "ทักษิโณมิกส์" ไปด้วย) ว่าเป็นกลไกโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทำประหนึ่งว่านายกทักษิณได้เปลี่ยนประชาธิปไตยให้กลายเป็นระบอบอื่น และทางเดียวที่จะล้มอำนาจเก่าลงได้คือต้องโค่นมันทั้งระบบ ทั้งที่จริงๆ ทักษิณก็เป็นเพียงปลาอันธพาลที่ว่ายวนในโถ ถ้าจะตักปลาเหล่านี้ทิ้งทีละตัวสองตัว แน่นอนว่าเราอาจไม่มีวันกำจัดพวกมันได้หมด แต่นี่จะบอกว่าให้ทุบทั้งโถทิ้งเชียวหรือ

ก่อนจะจบดื้อๆ ประเด็นรัฐประหารนี้ชี้ให้เห็นบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ ของนักวิชาการในสังคมไทย คนเหล่านี้คิดดูก็น่าเห็นใจ เพราะเมื่อสถานการณ์การเมืองเป็นสีเทา ผู้คนไม่รู้ควรตัดสินใจเลือกทางไหน ก็ต้องหันหน้าเข้าหาพวกเขา รู้สึกว่านักวิชาการก็เหมือนนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่บางทีพอดูหนังจบใหม่ๆ ไม่รู้กระแสสังคมจะเป็นอย่างไร ก็อาจต้องพูดอะไรที่ทำให้พวกเขาเสียใจในภายหลัง

ไม่เป็นไรนะครับ คนเราผิดก็ยอมรับกันไป อย่างอาจารย์นิธิ ถ้ามานั่งไล่อ่านคำสัมภาษณ์แกดีๆ จะพบว่าช่วงต้นปี 2549 จนถึงตอนนี้ความคิดแกแปรเปลี่ยนไปไม่น้อย (แต่แกเป็นผู้ใหญ่จะให้มายอมรับโต้งๆ ว่า "ผมเปลี่ยนใจแล้ว" ก็คงจะไม่งาม) อย่างน้อยแกก็ยังมีวิญญาณความเป็นนักวิชาการอย่างแท้จริง ว่ากันไปตามหลักฐาน และสภาพแวดล้อม