U. Eco's "The Mysterious Flame of Queen Loana "


เปลวปริศนาฯ เป็นหนังสือที่เจ๋งที่สุดในโลก เจ๋งเสียจนไม่อยากเชื่อว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะสามารถเจ๋งได้ขนาดนี้ ถามว่าเจ๋งตรงไหนน่ะรึ นี่คือนิยายประกอบภาพที่พิมพ์สีทั้งเล่ม เจ๋งขนาดนี้มีอีกไหม! (ยังไม่นับว่าคนเขียนคืออัมเบอโต อีโค ผู้แต่งสมัญญาดอกกุหลาบ หนังสืออีกเล่มที่แม้ไม่มีรูปประกอบ แต่ก็เจ๋งเกือบที่สุดในโลกเช่นกัน)

เปลวปริศนาฯ เป็นเรื่องของยัมโบ คนขายหนังสือเก่าความจำเสื่อม ผู้ไม่มีความทรงจำใดๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวหลงเหลือ เขาเดินทางไปยังบ้านพักวัยเด็ก เพื่อดูหนังสือ บทเพลงที่ตัวเองอ่าน ฟังในอดีต เพื่อค้นหาตัวตน และเรื่องราวในสมัยก่อน รูปสี่สีที่พูดถึงก็ได้แก่ภาพจากการ์ตูน นิยายผจญภัย ใบปลิวโฆษณา และปกแผ่นเสียง อีกนัยหนึ่งก็คือวัฒนธรรมป๊อบอิตาลีสมัยเมื่อหกสิบปีที่แล้วนั่นเอง

พูดถึงตรงนี้ทำให้นึกได้ว่าบ้านเรายังขาดการศึกษาวัฒนธรรมป๊อบอย่างทั่วถึง พอพูดถึงประวัติศาสตร์ ก็มักขุดกันแต่ของเก่าๆ พอพูดถึงวรรณกรรม ก็มีแต่รุ่นโบราณ พวกละครหลังข่าวจบแล้วก็จบกันไป ไม่เคยมีใครสะสมเก็บรักษา ดนตรีสมัยปีเจ็ดศูนย์ แปดศูนย์หาฟังยากยิ่งกว่าดนตรีปีหกศูนย์ซึ่งกลายเป็นของคลาสสิกไปแล้วเสียอีก น่าเสียดาย เพราะเอาเข้าจริงๆ ยอมรับเถอะว่าสังคมไทยน่ะถูกสร้างมาด้วยดาวพระศุกร์ และโกโบริของป้าเบิร์ดเล่น ยิ่งกว่าอิเหนา หรือขุนช้างขุนแผนเป็นไหนๆ

กลับมาพูดถึงเปลวปริศนาฯ ต่อดีกว่า ความเจ๋งอีกประการของหนังสือเล่มนี้คือ แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เข้าเอาจริง นี่คือนิยายตีแผ่วัฒนธรรมป๊อบ แสดงให้เห็นอิทธิพลของสื่อระดับล่างที่มีต่อเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ เมื่อแรกค้นกรุสมบัติตัวเอง ยัมโบพบว่านิยายผจญภัยซึ่งเคยชอบอ่านได้แก่แฟนโตสมา จอมโจรแห่งปาริส และเชอร์ลอค โฮม เขาอดตั้งคำถามตัวเองไม่ได้ เด็กคนหนึ่งจะสามารถสนุกสนานไปกับเรื่องราวเชือดเฉือน ผจญภัย ถึงเลือดถึงเนื้ออย่างแฟนโตสมา ไปพร้อมๆ กับนักสืบผู้ดีจ๋าอย่างเชอร์ลอค โฮมได้ยังไง (แทบทุกรูปประกอบในนิตยสารสแตรนด์ เป็นรูปเชอร์ลอค โฮมกำลังนั่งอยู่แทบทั้งนั้น)

ยิ่งค้น ก็ยิ่งพบความขัดแย้ง เช่นมิคกี้ เมาส์ พอตีพิมพ์ในอิตาลี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นทรอปโปลี (หนูน้อย) ที่เด็ดกว่านั้นคือมีกระทั่งการเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้เข้ากับการเมืองมากยิ่งขึ้น ถึงกับมีตอนที่ทรอปโปลี ฮีโรอเมริกันพบจุดจบในการ์ตูนด้วยซ้ำ! มีการสอนสั่งศาสนาผ่านดนตรี ภาพประกอบ ไปพร้อมๆ กับเผยแพร่ลัทธิฟาสซิสของมุโสลินี ยิ่งค้นยัมโบก็ยิ่งสับสน ที่สุดของที่สุดคือเขาได้รับรู้ว่าในอดีตเคยหลงรักเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซิบิล และตั้งแต่นั้น คนรักของเขาทุกคน รวมไปถึงภรรยาที่ตัวเองแต่งงานด้วยคือภาพสะท้อนของซิบิล ยัมโบพยายามทำทุกอย่างเพื่อจะดึงเอาภาพซิบิลคืนกลับมาในหัว

เปลวปริศนาฯ ตั้งคำถามชวนคิดว่าการ์ตูน หรือหนังสืออ่านเล่น บางครั้งมันแทรกภาพสะท้อนการเมือง และสังคมยิ่งกว่าที่เราคิดๆ กัน ที่สำคัญคือหนังสือพวกนี้ซึ่งกระทบใจเด็ก ส่งอิทธิพลลึกล้ำจนถึงตอนพวกเขาโต พูดก็พูดเถอะ พอมีใครถามคนดัง ดาราว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนแปลงชีวิต คนตอบมักหยิบยกเหตุการณ์ตอนโต ตั้งแต่อายุสิบสี่ สิบห้าปีขึ้นไป เพราะนั่นคือสิ่งที่เราทุกคนจดจำได้ดี ทั้งที่จริงๆ ประสบการณ์วัยเด็กที่เราลืมไปแล้วต่างหากที่ทำเราให้เป็นเราดังทุกวันนี้

No comments: