M. Atwood's "The Handmaid's Tale"
"ฉันต้องกลับถึงบ้านก่อนเที่ยงคืน มิฉะนั้นจะถูกสาปเป็นฟักทอง หรือรถม้ากันแน่นะที่ถูกสาป"
ออฟเฟรดรำพึงรำพันกับตัวเอง เธอพูดถึงนิทานเรื่องซินเดอเรลล่า ในยุคสมัยของหญิงสาวไม่มีนิทานเรื่องนี้หลงเหลืออีกแล้ว ถึงมีรัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงอ่านหนังสือ ออฟเฟรดหลงเหลือเพียงความทรงจำบางๆ
แฮนเมดส์เทลคือนิยายแห่งความทรงจำ ออฟเฟรดอาศัยอยู่ในกิลเลียด ประเทศซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นรัฐเมน แห่งอเมริกา นิยายดิสโทเปียเกี่ยวกับโลกอนาคตที่ประชาชนถูกรัฐบาลกดขี่ข่มเหงไม่ใช่ของใหม่ แต่แฮนเมดส์เทลแตกต่างจาก 1984 หรือเบรฟนิวเวิร์ด ตรงที่ผู้คนในกิลเลียดยังคงความทรงจำเก่าๆ ไว้ สมัยที่ผู้หญิงยังได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือ ไม่มีรถแวนสีดำขับไปทุกหนทุกแห่ง ลากคอประชาชนซึ่งต้องสงสัยว่าผู้ทรยศ ไม่มีซากศพแขวนประจานบนกำแพง ไม่มีแฮนเมด สงคราม มลภาวะ ฝุ่นกัมมันตรังสีแปดเปื้อนอากาศ น้ำ และอาหาร ประชากรกว่าครึ่งโลกเป็นหมัน หญิงสาวซึ่งหลงเหลือเพียงน้อยนิดถูกบังคับให้เป็นแฮนเมดมีหน้าที่สืบพันธุ์ และคลอดบุตร จนกว่าอายุจะสูงเกิน แฮนเมดคนไหนมีลูกไม่ได้ จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาป และถูกส่งไปทำงานหนักในคุก
ออฟเฟรดคือหนึ่งในแฮนเมด เธอยังคงความทรงจำเก่าๆ ไว้ เรื่องของซินเดอเรลล่า เรื่องของสามี ลูกสาว แม่ เพื่อนสมัยเรียน ที่สำคัญออฟเฟรดจดจำชื่อที่แท้จริงของตัวเองได้ ป้าลูซี อาจารย์ควบคุมความประพฤติบอกว่าแฮนเมดรุ่นพวกเธอจะต้องประสบความยากลำบาก แต่ทั้งหมดก็เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อให้ลูกหลานผู้หญิงอยู่กันอย่างสงบสุข แต่ออฟเฟรดรู้ พวกเขาจะอยู่กันอย่างสงบสุขเพียงเพราะไม่มีความทรงจำสมัยสิ่งต่างๆ ยังไม่เหมือนทุกวันนี้ต่างหาก
นิยายดิสโทเปียส่วนใหญ่ เมื่อเปิดฉากมา โลกก็กลายเป็นอย่างที่เห็น แต่แฮนเมดส์เทลแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่น่ากลัวสุดคือช่วงการเปลี่ยนแปลง ฉากที่น่าขนลุกขนพองคือตอนที่รัฐบาลประกาศยึดเงินผู้หญิงในธนาคาร และไล่ทุกคนออกจากงาน
มากาเรต แอดวูดผู้เขียนได้รับรางวัลบุคเกอร์ไพรซ์จากนิยายเรื่องแฮนเมลส์เทล ก่อนจะได้รับเป็นครั้งที่สองจากดิบลายด์แอสแซสซิน ความมหัศจรรย์ในการเขียนของแอดวูดคือ เธอสามารถเล่าเรื่องซึ่งส่วนตัวมากๆ ไปพร้อมๆ กับวิพากษ์วิจารณ์สังคม แฮนเมลส์เทลคือนิยายที่สามารถหาเรื่องมาพูดคุยได้ไม่รู้จบ ครั้งหนึ่งป้าลูซีพูดกับนักเรียนของเธอว่า "เสรีภาพมีสองประเภท เสรีภาพที่จะกระทำ และเสรีภาพจากการโดนกระจำ บัดนี้พวกเธอได้รับอย่างหลัง อย่าดูถูกมันเกินไปนัก" ในโลกอนาคต รัฐบาลให้เหตุผล เพื่อปกป้องผู้หญิงจากอาชญากรรมทางเพศ แต่ละคนถูกบังคับให้สวมเสื้อผ้าซึ่งจัดเตรียมไว้ ปิดซ่อนร่างกายตั้งแต่ผ้าคลุมหัว ยันปลายเท้า หนังสือแฟชั่นถูกเผาทิ้งทำลาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นสื่อชั่วร้ายส่งเสริมให้ผู้หญิงหลงตัวเอง
เมื่อคนเราได้เสรีภาพอย่างหนึ่ง ก็เมื่อจำต้องถูกลดรอนเสรีภาพอีกประการอยู่ร่ำไป
แฮนเมลส์เทลไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายนัก เรื่องราวดำเนินไปอย่างเนิบช้า แต่ไม่ถึงกับไม่มีอะไร เนื้อเรื่องหลักๆ บอกเล่าแก่งแย่งชิงดีในครัวเรือนระหว่างออฟเฟรด แฮนเมล และจอย ภรรยาของคอมมานเดอ นอกจากทั้งสามแล้วยังมีนิค คนขับรถ และคนครัวอีกสอง ออฟเฟรดอาจไม่ใช่นางเอกที่ดีนักในสายตาคนอ่าน ตั้งแต่สมัยก่อนปฏิรูปสังคม ลุค สามีของออฟเฟรดก็เป็นผู้ชายที่เธอแย่งมาจากคนอื่น ถึงตอนจบก็ยังสรุปไม่ได้ง่ายๆ ใครกันแน่ที่ "ร้าย" กว่า จอย หญิงวัยกลางคนผู้มีสถานภาพทางสังคม มีอำนาจเหนือทุกคนในครัวเรือน หรือออฟเฟรด แฮนเมดผู้ไร้อำนาจ แต่ตีโต้ อาศัยความเป็นหญิง
แฮนเมดส์เทลย้ำเตือนให้เห็นความขัดแย้งในกระบวนการเฟมินิส อะไรกันแน่คืออาวุธของสตรีเพศ ความเด็ดเดี่ยว หรือเสน่ห์รัดรึงทางกาย ผู้หญิงที่แต่งตัวสวยงาม ล่อสายตาผู้ชาย คือสัญลักษณ์แห่งอำนาจสตรี หรือความอัปยศอดสู
ทั้งหมดนี้คงหาคำตอบกันไม่ได้ง่ายๆ สิ่งที่สำคัญต่างหากคือการตั้งคำถาม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
you can check here dolabuy gucci news Get More Information discover this info here see this site
Post a Comment