C. Bongie's "Exotic Memories"


พอเขียนถึงเรื่องผีๆ ใน ซอยเดียวกัน ก็เลยได้ตระหนักว่า โห จริงๆ แล้ว แนวคิดแบบถิ่นแดนไกลนิยมนี่โคตรจะมีประโยชน์เลยสำหรับการวิเคราะห์วรรณกรรมไทย ส่วนหนึ่งก็เพราะถึงอย่างไรประเทศโลกที่ 3 ก็ยังหนีไม่พ้นแรงต้านทานระหว่างความทันสมัย และวัฒนธรรมท้องถิ่น Exotic Memories เป็นหนังสือวิเคราะห์วรรณกรรมตามลัทธิดังกล่าว ถึงแม้ว่าตัวเองไม่ใช่คนที่สนใจแนวคิดลักษณะนี้ แต่ก็อยากแนะนำว่าใครที่ตั้งใจศึกษาวรรณกรรมไทยจริงๆ ลองหางานเขียนของ Said, Conrad หรือ Kipling และนักอาณานิยม/ถิ่นแดนไกลนิยมคนอื่นๆ มาลองศึกษาดู

ในที่นี้จะยกตัวอย่างสุ่มๆ โดยวิเคราะห์ผลงานของอาจารย์เทพสิริ ทั้งสองเล่ม (บึงหญ้าป่าใหญ่ และ ร่างพระร่วง) บึงหญ้าป่าใหญ่ เขียนขึ้นมาจะครบสามสิบปีแล้ว เป็นตัวอย่าง "คลาสสิค" ของวรรณกรรมแนวถิ่นแดนไกลนิยม "ผม" ซึ่งเป็นมนุษย์สมัยใหม่ (ชนชั้นกลางในสังคมชนบท) มีศักยภาพที่จะทำตัวเองให้ทันสมัย และถีบตัวเองจากสิ่งแวดล้อมของบ้านป่าเมืองเถื่อน น้ำเสียงที่ผมใช้เล่าเหตุการณ์วัยเด็กนั้น เต็มไปด้วยความโหยหา บ่งบอกได้ว่า ความทรงจำนี้เหลือเพียงแค่ความทรงจำจริงๆ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากมาย และ "บึงหญ้าป่าใหญ่" ก็ไม่เหมือนกับสมัยก่อนแล้ว

ขั้วตรงข้ามของ "ผม" คือโทน โทนถูกใส่เข้าไปในนิยาย เพื่อให้ "ผม" ได้เปรียบเทียบตัวเอง และสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา โทนเป็นเด็กที่กลมเกลียวกับธรรมชาติ และเถื่อนมากกว่า "ผม" แต่เราก็จะรับรู้เสมอถึงความ "ด้อยกว่า" ของโทน โดยเฉพาะได้ในด้านสติปัญญา ถ้าให้เปรียบเทียบกัน "ผม" คล้ายๆ กับโรเบิร์ต ดูวอลใน Apocalypse Now และโทนก็คงเป็นมาลอน แบรนโด ฝ่ายหนึ่งคือตัวแทนของความทันสมัย และอีกฝ่ายคือความเถื่อนที่แม้ว่าจะงดงามขนาดไหน ก็ต้องสูญพันธ์ไป

ที่บอกว่า บึงหญ้าป่าใหญ่ เป็นผลงานคลาสสิค เพราะมัน "ลงกรอบ" ขนบคิดแบบลัทธิอาณานิคม/ถิ่นแดนไกลนิยมแทบทุกประการ ร่างพระร่วง เป็นนิยายที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจกว่า ทฤษฎีถิ่นแดนไกลนิยมสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี การมาถึงของชาวตะวันตก และวิทยาศาสตร์ผลักดันให้ศาสนาพุทธต้องปรับตัวเอง แยกเอาประเด็นไสยศาสตร์ออกจากปรัชญา วิวัฒนาการของศาสนาพุทธจึงเป็นลัทธิอาณานิคมย้อนศร กล่าวคือแทนที่ตะวันตก และตะวันออกจะรวมกันเป็นหนึ่ง ศาสนาพุทธกลับแยกออกเป็นสองวิถี และต่างฝ่ายต่างก็สร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยอิงความแตกต่างจากอีกฝ่ายหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าไสยศาสตตร์ในพุทธมีอยู่จริง และมีอยู่ในดีกรี (ทางวัฒนธรรม) ที่แรงเสียด้วย แม้นักปรัชญาหลายคนจะบอกว่านั่นเป็นเพียงกระพี้ ไม่ใช่แก่นของศาสนา แต่คำพูดดังกล่าวก็คือการสร้างอััตลักษณ์ของพุทธกระแสปรัชญานั่นเอง

ความน่าสนใจของ ร่างพระร่วง คือ นี่เป็นนิยายที่เล่าเรื่องจากมุมมองของพุทธกระแสไสยศาสตร์ แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะโฆษณาตัวเองว่าเป็น "ประวัติท่านพุทธทาส" แต่จริงๆ แล้วก็ไม่เห็นจะค่อยมีอะไรเกี่ยวข้องกับท่านพุทธทาสสักเท่าไหร่ อาจจะมองได้ด้วยซ้ำว่า อาจารย์ดอน ตัวเองของนิยายคือ "เงา" ของท่านพุทธทาส ซึ่งเหมือนกับว่าอาจารย์ดอนเอง ก็ไม่ได้มีความชื่นชม หรือสนใจพระอาจารย์สงฆ์ท่านนี้สักเท่าไหร่ กระทั่งเมื่อถึงตอนจบของเรื่อง เมื่ออาจารย์ดอนเสียชีวิตไปแล้ว และกลายเป็นวิญญาณ ที่พุทธทั้งสองกระแสรวมกันเป็นหนึ่ง แต่นั่นก็หมายถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ และการสิ้นสุดของ "เนื้อเรื่อง" (narrative) ด้วย

เรื่องผีในซอยเดียวกัน


น้องคนหนึ่งถามถึงการวิเคราะห์เรื่องผีสี่เรื่อง ที่อยู่ใน ซอยเดียวกัน ใจหนึ่งอยากช่วยมาก ในฐานะที่เป็นแฟนพันธุ์แท้คุณวาณิช หรือเจาะจงลงไปอีก เป็นแฟนพันธุ์แท้หนังสือเล่มนี้ แต่อีกใจหนึ่ง ทั้งสี่เรื่องนี้ก็อ่านมานานมากแล้ว แถมยังไม่มีหนังสืออยู่กับตัวด้วย กลัวว่าพูดไป เดี๋ยวจะพูดผิดพูดถูก เสียชื่อเปล่าๆ หลังจากชั่งน้ำหนักดู ปรากฎว่าใจแรกชนะ ฉะนั้นขอใช้พื้นที่ตรงนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทั้งสี่เรื่องสั้นผีๆ ได้แก่ เพลงใบไม้ กา ภาพเขียนที่หายไป และ ผาติกรรม

เราสามารถใช้ "แว่นตา" ของนักถิ่นแดนไกลนิยม (exoticism) ส่องดูงานเขียนชุดนี้ ถิ่นแดนไกลนิยมเป็นแนวคิดซึ่งแตกแขนงมากจากลัทธิอาณานิคม (colonialism) ถ้ามองแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง หมายถึงการที่ชาวตะวันตกเดินทางมาเยือนทวีปเอเชีย และใช้ความ "แตกต่าง" และ "ด้อยกว่า" ของ "ถิ่นแดนไกล" นิยามอัตลักษณ์ของตัวเอง ในทางกลับกัน ชาวตะวันออกเองก็สามารถใช้กรอบคิดแบบถิ่นแดนไกลนิยม มองวัฒนธรรมที่แตกต่าง และด้อยกว่าได้ เช่นการที่รัฐไทยมองชนกลุ่มน้อยในล้านนา หรือมุสลิมในภาคใต้ งานเขียนของราชาเรื่องสั้นไทย มนัส จรรยงค์ จะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้

ในกรณีของคุณวาณิช ถิ่นแดนไกลหมายถึง "วัฒนธรรมในอดีต" จาก เพลงใบไม้ โลกของยายคือ "โลกอดีต" และ "ถิ่นแดนไกล" ส่วนโลกของหลานสาว คือโลกที่ผู้อ่านคุ้นเคยกว่า เพลงใบไม้ ถูกเขียน และตีพิมพ์ในยุคหลังอาณานิคม เมื่อวัฒนธรรมของถิ่นแดนไกลถูก "อนุรักษ์/สืบทอด" แต่ขณะเดียวกันก็กำลัง "สูญพันธุ์" ไปด้วย ตอนจบของ เพลงใบไม้ แสดงให้เห็นถึงการสูญพันธุ์ (การตายของยาย) และการอนุรักษ์/สืบทอด (การที่วิญญาณของยายมาสิงสู่หลานสาว) นี่คือความขัดแย้งหรือ paradox ในโลกหลังอาณานิคม เราอนุรักษ์สิ่งที่กำลังจะสูญพันธ์ แต่ขณะเดียวการอนุรักษ์ก็คือการยอมรับว่าสิ่งนั้นกำลังจะสูญพันธุ์ ด้วยเหตุนี้จึงมีแต่การตายของยายเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การสืบทอดวัฒนธรรมจากอดีตไปยังคนรุ่นใหม่ได้

ใน ผาติกรรม บ้านเรือนไทยซึ่งเป็นสิ่งของจากอดีต (ถิ่นแดนไกล) ถูกนำมาปลูกไว้ในเมืองหลวง เพื่อกิจการการค้าที่ตอบสนองโลกยุคปัจจุบัน "ของเถื่อน" ถูกนำมาทำให้ "เชื่อง" ลง ผาติกรรม (ที่เป็นคำศัพท์) จึงมีความหมายสองอย่างซึ่งขัดแย้งกันเอง อย่างแรกคือการอนุรักษ์ นำเอาของที่หมดประโยชน์แล้วมาใช้ใหม่ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่อีกนัยหนึ่งก็คือการทำให้เชื่อง หรือการปฏิเสธธรรมชาติดั้งเดิมของสิ่งนั้น หัวใจของเรื่องสั้น ผาติกรรม คือแม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างบ้านเรือนไทย ก็ยังต้องการรักษาธรรมชาติดั้งเดิม และปฏิเสธที่จะถูกทำให้เชื่อง (ซึ่งก็หมายถึงปฏิเสธการถูกอนุรักษ์ไปด้วย เพราะสุดท้าย มันก็กลายเป็นแค่บ้านไม้ผุๆ โทรมๆ จะพิงมิพังแหล่)

กา และ ภาพเขียนที่หายไป ว่าด้วย ของที่อยู่ในอดีต เช่นความผิดที่ตัวละครก่อขึ้น หรือศพปริศนา นำไปสู่การครอบงำ/สิงสู่ นี่คือลัทธิอาณานิคมย้อนศร เพราะของที่เหนือกว่า (ปัจจุบัน) กลับสูญเสียอัตลักษณ์ให้กับของจากถิ่นแดนไกล (อดีต/โลกหลังความตาย) แต่อดีตไม่อาจมีชัยชนะถาวรได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อปัจจุบันสูญเสียอัตลักษณ์ไป ก็หมายถึงการสิ้นสุดของปัจจุบัน และอดีตซึ่งครอบงำปัจจุบันอยู่นั่นเอง โมทีฟ "ถิ่นแดนไกล" = "อดีต" จะพบเห็นได้อย่างเต็มๆ ในนิยาย แม่เบี้ย ซึ่งว่าด้วยอดีตชาติที่ย้อนกลับคืนมาก่อความวุ่นวาย และทำลายอัตลักษณ์ของคนในปัจจุบัน

ข่าว


ขออนุญาติเอาข่าวนี้มาเผยแพร่ โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น พรุ่งนี้มันอาจจะกลายเป็นข่าวเท็จ (เช่นเดียวกับ "ข่าวเท็จ" เป็นสิบเป็นร้อยที่กำลังหลอกหลอนสังคมไทยในขณะนี้) หรือพรุ่งนี้มันอาจจะถูกตีความในลักษณะซึ่งต่างจากที่เราคาด หรือมันอาจจะเป็นเพียงกรวดก้อนเดียว ในกระแสประวัติศาสตร์ซึ่งซัดเกรี้ยว และไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น

จากเวปไซต์มติชน
กองพิสูจน์หลักฐานสรุปเสื้อยืด-เสื้อชั้นใน"โบว์"เหยื่อพันธมิตรฯ พบสารเคมี"ซีโฟร์" เผยแก๊สน้ำตาไม่มีสารชนิดนี้ ส่วนกางเกงติดสารประกอบวัตถุระเบิดอาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งพบอยู่ในผู้บาดเจ็บรายอื่นด้วย

รายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แจ้งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ว่า กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ได้สรุปผลการตรวจพิสูจน์วัตถุพยานที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้ส่งมาให้ตรวจพิสูจน์ ซึ่งเป็นเสื้อผ้าของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญา หรือน้องโบว์ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ประกอบด้วย เสื้อยืดสีเหลือง 1 ตัว เสื้อชั้นในสีครีมสภาพฉีกขาด 1 ตัว กางเกงยีนส์ขายาวสีน้ำเงิน สภาพฉีกขาด 1 ตัว เพื่อตรวจพิสูจน์ว่ามีสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิดติดอยู่ที่วัตถุของกลางทั้งหมดนี้หรือไม่ ทั้งนี้ พฐ.ตรวจพบวัตถุทรงกลมที่เหลือจากการระเบิดไม่สมบูรณ์บริเวณรอยไหม้สีดำของเสื้อชั้นในและเสื้อยืด ของ น.ส.อังคณา

รายงานข่าวแจ้งว่า วัตถุทรงกลมดังกล่าว พ.ต.ท.สมภพ พุฒศรี นักวิทยาศาสตร์ สบ.3 กลุ่มงานตรวจเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา กองพิสูจน์หลักฐานได้ทำการตรวจพิสูจน์ ด้วยวิธีการตรวจทางกายภาพ ตรวจทางเคมีใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ใช้ไอออนสแกนในการตรวจหากลุ่มวัตถุระเบิดเบื้องต้นโดยใช้เครื่อง FTIR,GC-MS, XRF ได้ผลว่า ตรวจพบสารเคมีที่เป็นวัตถุระเบิดชนิดซีโฟร์ (C-4) ติดอยู่ที่เสื้อยืดสีเหลืองและเสื้อชั้นในสีครีมที่ส่งมาตรวจ และตรวจพบสารเคมีชนิด RDX ซึ่งเป็นสารประกอบวัตถุระเบิดติดอยู่ที่กางเกงยีนส์ขายาวสีน้ำเงิน ส่วนแก๊สน้ำตาทั้งชนิดยิง และชนิดขว้าง ที่ สตช.มีใช้ จะมี RDX เป็นส่วนประกอบเท่านั้น ไม่มีสารซีโฟร์ นอกจากนี้ วัตถุพยานที่ได้จากผู้บาดเจ็บรายอื่น ก็ตรวจพบเฉพาะสาร RDX เท่านั้น

I. Bergman's "The Reduction Trilogy"


หมายเหตุ: จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ชื่อโง่ๆ ว่า Three Films แต่เรารับไม่ได้ ก็เลยขอเอา "ฉายา" ของมันมาเรียกแทนก็แล้วกัน

มีความเชื่ออยู่ชนิดหนึ่งคือ อไญยนิยม ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่าง เทวนิยม (ความเชื่อในพระเจ้า) และ อเทวนิยม (ความไม่เชื่อในพระเจ้า) โดยนักอไญยนิยมไม่ได้บอกว่าพระเจ้าไม่มีจริง แต่เขาเชื่อว่ามนุษย์เราไม่อาจสัมผัส หรือรับรู้ตัวตนของพระองค์ได้ และความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะสัมผัสพระเจ้าย่อมนำมาซึ่งหายนะ อไญยนิยมแปลมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า agonism ซึ่งถ้าเราเข้าใจถูกนี่คือสิ่งที่เบิร์กแมนเรียกว่า "reduction" (การลดทอน) นั่นเอง

ไตรภาคการลดทอนนี้ประกอบด้วยหนังสามเรื่อง Through a Glass Darkly, Winter Light แล้วก็ The Silence ทั้งสามเรื่องนี้วนเวียนอยู่กับแนวคิดของการลดทอน ซึ่งชัดเจนมากในเรื่องแรก คารินเป็นผู้หญิงสติไม่ดีผู้เชื่อว่าตัวเองสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ และสุดท้ายพระเจ้าก็มีปรากฎให้เธอเห็นจริงๆ ในรูปแบบที่น่าสยดสยอง เรื่องที่สองว่าด้วยโทมัส นักบวชซึ่งสูญเสียศรัทธา และพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อจะเรียกมันกลับคืนมา ส่วนเรื่องสุดท้ายพูดถึงความสัมผัสระหว่างแอนนา และเอสธา สองศรีพี่น้อง เอสธาป่วยหนักและกำลังจะตาย ส่วนแอนนาไม่สามารถควบคุมตัณหาของตัวเองได้

การอ่านหนังสือเล่มนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพราะแม้เราจะชอบหนังของเบิร์กแมน แต่ก็ไม่เคยได้ดูสักเรื่องเดียวในไตรภาคการลดทอนนี้ ดังนั้นก็เลยได้แต่จินตนาการเอาว่าฉบับหนังจะเป็นเช่นไร แม้จะอยู่ในไตรภาคเดียวกัน แต่ทั้งสามบทแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เราชอบ Through a Glass Darkly ที่สุด มันมีความสมบูรณ์แบบในแง่ของบทละครเวทีที่สุดด้วย เน้นการเล่าเรื่องด้วยบทสนทนามากกว่าภาพ ใช้ฉากน้อย อยู่ในพื้นที่จำกัด เชื่อว่าถ้าดูเป็นหนังก็คงชอบมากๆ เหมือนที่เราชอบ Cries and Whispers ด้วยฝีมือพระกาฬระดับเบิร์กแมนคงสร้างบรรยากาศ และกำกับการแสดงได้อยู่หมัดอยู่มือ The Silence แตกต่างจากอีกสองเรื่องตรงที่มันเน้นภาพ มากกว่าคำพูด เบิร์กแมนบรรยายกิจกรรมของตัวละครเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างบทลักษณะนี้คงมีแต่ผู้กำกับเท่านั้นถึงจะเขียนออกมาได้ (คือนึกภาพเอง เขียนเอง แล้วก็กำกับเองเสร็จสรรพ) เข้าใจว่าถ้าได้ดูหนังก็น่าจะชอบเหมือนกัน เราชอบ Winter Light น้อยสุด มันเล่าเรื่องด้วยโมโนลอคเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นหนัง น่าจะสั้นมากๆ ยกเว้นว่าเบิร์กแมนจะยืดเรื่องด้วยภาพป่าเขาลำเนาไพร หิมะอะไรก็ว่าไป นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเป็นหนัง เราจะชอบไหม

ตอนนี้อยากดู Through a Glass Darkly มากๆ ถ้าได้ดูแล้วเห็นประเด็นดีๆ ว่ามันแตกต่าง หรือเหมือนกับบทอย่างไร อาจจะเก็บมาเล่าให้ฟังในภายหลัง

R. R. Nelson's "The Moon and the Ghetto"


มีหนังดี๊ดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งหลายคนไม่ค่อยได้ดูคือ The Dish เกี่ยวกับการถ่ายทอดการร่อนลงบนดวงจันทร์ของยานอพอลโล 11 ในเรื่องนี้มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับภารกิจนี้ โดยเธออ้าง (เหมือนนักสังคมนิยมรุ่นกระเต๊าะชอบอ้างกัน) ว่าจะเอาเงินไปถลุงกับภารกิจนี้ทำไม แทนที่จะเอาไปช่วยเหลือคนยากจน มีอยู่ฉากหนึ่ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ซึ่งทำงานอยู่ในศูนย์เรดาห์ไปกินข้าวที่บ้านเธอ เธอถามเขา ในเมื่อเราก็รู้แทบทุกอย่างเกี่ยวกับดวงจันทร์อยู่แล้ว จะดันทุรังไปถึงที่นั่นทำไมกัน นักวิทยาศาสตร์ (ยูจีน โอ นีล) ตอบว่า "มีอีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่รู้ คือเรายังไม่รู้ว่าเราจะไปถึงที่นั่นได้หรือเปล่า"

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้านักสังคมนิยมมาได้ยินคำตอบนี้จริงๆ เขาจะยังทำหน้าปลาบปลื้มเหมือนเด็กหญิงหรือเปล่า แต่ต้องยอมรับฝีมือการแสดงของยูจีน โอ นีล ที่ขายฉากนี้ได้อยู่หมัด

มีอีกเรื่องหนึ่งคือ สมัยที่เกิดภัยทสึนามิ กระทรวงวัฒนธรรมมอบกองทุนให้นักทำหนังสิบคน เป็นเงินจำนวนหลายอยู่ เพื่อมาทำหนังสั้นทสึนามิ (ผู้กำกับก็อยู่ในสิบคนที่ว่า) เรื่องตลกก็คือหนังที่นักทำหนังสิบคนนี้ทำออกมา จะถูกดูโดยสักกี่คนที่ประสบภัยทสึนามิจริงๆ และถ้าให้คนเหล่านั้นมาดูหนังพวกนี้ จะรู้สึกดีขึ้น หรือมีความหวัง มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไปหรือเปล่า คำถามเดียวกับที่เด็กผู้หญิงคนนั้นถามก็คือ "เอาเงินไปช่วยผู้ประสบภัยโดยตรงไม่ดีกว่ารึ"

ของบางอย่างจริงๆ แล้วมันมีคุณค่าแฝงอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การส่งจรวดไปดวงจันทร์ของประเทศอเมริกา ในแง่หนึ่งก็คือการโจมตีโซเวียตทางด้านเศรษฐกิจ โจมตีกันแบบนิ่มๆ ไม่เกิดพิษภัยสงคราม และประเทศอเมริกาเองก็ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วย หรือทำหนังสั้นทสึนามิออกมา คนที่ดูก็จะเข้าใจความเจ็บปวด และความทุกข์ของคนที่ตกระกำลำบาก รวมไปถึงการที่หนังสั้นเหล่านี้ได้ออกไปฉายในต่างประเทศ ก็นำชื่อเสียง และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยออกไป

จริงๆ แล้ว ไม่ว่าการส่งจรวดไปดวงจันทร์ หรือหนังสั้นทสึนามิ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของที่ไม่มีคุณค่าในทางตลาดทั้งนั้น แต่สุดท้าย ก็ยังอุตส่าห์ปรากฎให้เห็นในสังคมได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะการตัดสินใจโดยตรงของรัฐบาล ที่ยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มโครงการซึ่งไม่มีประโยชน์โดยตรงในทางเศรษฐศาสตร์ The Moon and the Ghetto ก็ว่าด้วยเรื่องของการตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ของง่ายเลย เพราะใครจะไปคาดเดาได้ว่า ในระยะยาว รัฐบาลควรจะเอาเงินไปลงทุนกับอะไรดี

เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ดี อ่านแล้วได้ความรู้เอามากๆ เลย

R. Bradbury's "The Golden Apples of the Sun"


แบรดเบอรีเคยมาพูดที่มหาวิทยาลัยเราด้วย แกอายุปาเข้าไป 88 แล้ว ต้องนั่งรถเข็น ใส่เครื่องช่วยฟัง เสียงก็ไม่ค่อยจะมี แต่รับรองได้เลยว่าไม่มีทางที่ใครจะเดาถูก ว่าประโยคแรกของแบรดเบอรีในการพูดวันนั้นคืออะไร

"ผมคือนักรัก และนี่คือเรื่องราวของนักรักผู้ยิ่งใหญ่"

สองสิ่งซึ่งแบรดเบอรีรักที่สุดในโลกได้แก่ชีวิต และงานศิลปะ (เจาะจงไปเลยคือภาพยนตร์ และหนังสือ) สิ่งซึ่งเขาพยายามย้ำตลอดเวลาคือ "จงรักชีวิตของคุณ และจงใช้ชีวิตของคุณทำในสิ่งที่คุณรัก"

แบรดเบอรี เป็นเพื่อนสนิทกับเฟอเดอริโก เฟลินี ผู้กำกับชาวอิตาลีผู้โด่งดัง แบรดเบอรีพูดถึงความรักที่เขามีต่อวงการภาพยนตร์ ซึ่งตอนนั้นเรารู้สึกแปลกใจเพราะไม่คิดว่าแกเกี่ยวข้องอะไรกับวงการขนาดนั้น ในภายหลังได้มาเช็ค imdb ดู เลยรู้ว่า จะว่าเกี่ยวก็เกี่ยว จะว่าไม่เกี่ยวก็ไม่เกี่ยว แบรดเบอรีเขียนบทให้ภาพยนตร์โทรทัศน์ และละครมากมาย แต่นอกจาก Moby Dick ก็ไม่เห็นว่าแบรดเบอรีได้เคยทำงานใหญ่ๆ สักชิ้น (กระทั่ง Fahrenheit 451 ที่ถูกกำกับโดยผู้กำกับในตำนานอีกคน ทรุฟโฟ ก็ถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวเสียมากกว่า)

เอาละ ไม่ว่าแบรดเบอรีจะมีอิทธิพลมากหรือน้อยในวงการภาพยนตร์ ใครละจะไปปฏิเสธความรักของชายชราได้ลงคอ ยิ่งได้อ่านรวมเรื่องสั้น The Golden Apples of the Sun ก็ยิ่งรู้ว่าแกคงรักภาพยนตร์จริงๆ นั่นแหละ มีหลายเรื่องสั้นในนี้ที่เกี่ยวกับการแสดง ความจริง ความลวง และบางเรื่องก็เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์โดยตรงเลย

ถึงจะโด่งดังจากหนังสือ Fahrenheit 451 แต่ The Golden Apples of the Sun มีเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เป็นส่วนน้อย ที่จริง แบรดเบอรีก็ไม่เคยเขียนงานให้ออกมาเป็นไซไฟจ๋า เหมือนอาซิมอฟ หรือ คลาร์กอยู่แล้ว งานของแบรดเบอรีจะมีความเป็นแฟนตาซีสูง บางเรื่องก็เหมือนจะมีเวทมนต์คาถาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ยังยืนพื้นอยู่บนสัจนิยม และมนุษยนิยมเป็นส่วนมาก

รวมเรื่องสั้นชุดนี้ได้โบนัสพอยท์จากภาพประกอบฝีมือของโจเซฟ มูไงนี ซึ่งเรายกตัวอย่างมาให้ดู (อันนี้มาจากนิยาย War of the Worlds) ชอบภาพขาวดำฝีมือมูไงนีมากๆ การตัดกันระหว่างแสง และเงา สีขาว และสีดำ รวมถึงการออกแบบภาพด้วยทรวดทรงเรขาคณิต ช่วยให้ The Golden Apples of the Sun น่าอ่านขึ้นไปอีกโข

ระหว่างปาฐกถาของแบรดเบอรี อีกคำพูดหนึ่งซึ่งเราจำได้ขึ้นใจเลยคือ "ผมไม่ศรัทธาในคุณครูที่เป็นมนุษย์ สิ่งเดียวที่ผมศรัทธาคือหนังสือ โลกนี้ไม่ต้องมีมหาวิทยาลัยก็ได้ ขอให้มีห้องสมุด ก็เพียงพอแล้ว" อาจจะฟังดูเหมือนแบรดเบอรีมองข้ามอาชีพครู แต่ถ้าให้ว่ากันจริงๆ ที่สุดของที่สุดของหน้าที่คนเป็นครูคือช่วยให้เด็กรักการอ่าน ไม่มาก ไม่น้อยไปกว่านั้น จริงไหม

ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 3


เป็นตอนสุดท้ายแล้ว ที่จะพูดถึงนิยาย ความสุขของกะทิ และบทวิจารณ์ ความเลอเลิศของกะทิ (ขอบคุณคนที่เข้ามาเม้นท์มากครับ ไม่อย่างนั้นคงขี้เกียจเขียนไปตั้งแต่ตอนที่หนึ่งแล้ว) ได้สรุปข้อกล่าวหาของคุณคำผกาต่อนิยาย ความสุขของกะทิ ไว้สองข้อ ซึ่งข้อแรกได้พูดถึงไปแล้ว วันนี้จะขอพูดถึงข้อสองบ้าง ซึ่งก็คือ "ความสุขของกะทิ สนับสนุนระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับสังคมแห่งความเท่าเทียม"

ก่อนอื่นต้องชมคุณคำผกาก่อน ว่าตีความตรงนี้ได้เฉียบคมมาก คุณคำผกายกตัวอย่างที่ชัดเจนมาสองข้อ ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณตาของกะทิ และคนในหมู่บ้าน คุณตา แม้จะเป็นทนายความมีการศึกษาสูง แต่ก็ยังกลับมาช่วยเหลือคนในบ้านเกิด โดยผิวเผินแล้วก็เหมือนจะดี แต่ในทางกลับกัน ก็ยิ่งตอกย้ำสภาพความจริงในสังคมอุปถัมภ์ ที่คนจนก็ต้องจนต่อไป ได้แต่อ้าปากรอคอยเมตตาจากคนรวย คนที่เกิดมาแล้วโชคดีกว่า มีโอกาสทางการศึกษาสูงกว่า หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการซักผ้าของยาย ที่ต้องแยกผ้าเป็นแต่ละประเภท ใช้ภาชนะแตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนกรอบคิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และความพยายามของชนชั้นสูง (และชั้นกลาง) ที่ไม่ต้องการให้วัฒนธรรมของคนชั้นล่างเข้ามาแปดเปื้อนตัวเอง

เห็นด้วยกับคุณคำผกาในข้อนี้ และขออนุญาติตอบข้อกล่าวหาของคุณคำผกาอย่างดื้อๆ เหมือนที่เคยตอบไปแล้วว่า สภาพการหยิบยืมใน ความสุขของกะทิ ไม่ใช่จุดด้อยของหนังสือ การที่คุณงามพรรณตั้งใจสะท้อนระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย (ซึ่งไม่ต้องถกเถียงเลยว่ามีจริงหรือเปล่า เพราะมันมีจริงแน่ๆ ) ก็ไม่น่าจะเป็นจุดด้อยของหนังสือเช่นกัน น่าจะเป็นคำถามให้ไปคิดต่อกันเองมากกว่าว่าระบบอุปถัมภ์เป็น "ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้" หรือเป็น "ความเลวร้ายของสังคม" กันแน่

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ีงเคยกล่าวเอาไว้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นตะวันตก และตะวันออก คือเรายังไม่หลุดจากระบบอุปถัมภ์อย่างเต็มตัว แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไปไม่ถึงสังคมแห่งความเท่าเทียมด้วย ถ้าเช่นนั้น เราควรอยู่ตรงไหน แน่นอนว่าการกระโดดกลับไปหาสังคมอุปถัมภ์ ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่ขณะเดียวกัน สังคมแห่งความเท่าเทียม ที่เราใฝ่ฝัน(?) นั้น มันมีอยู่จริงด้วยหรือ ขนาดว่าในโลกตะวันตก ความไม่เท่าเทียมกันก็ยังเป็นสัจนิรันดร์ ทั้งในค่ายสังคมนิยม และทุนนิยม แทนที่จะมองว่า ระบบอุปถัมภ์ คืออุปสรรคซึ่งกั้นกลางระหว่างสังคมไทย และสังคมอุดมคติ เราน่าจะมองมันว่าเป็นส่วนเติมเต็มที่ช่วยให้สังคมดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นมากกว่า

เรากล่าวไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่า ความสุขของกะทิ ถูกโจมตีด้วยกระแส overrated ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ไม่ชอบนิยายเล่มนี้ ต้องไม่ชอบเพราะความหมั่นไส้ อย่างเราเองก็มีเพื่อนสองคนซึ่งอ่านนิยายเล่มนี้ ก่อนที่มันจะได้รางวัลซีไรต์ (แต่หลังจากมันเข้ารอบสุดท้าย) แล้วก็ไม่ชอบด้วยกันทั้งคู่ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทั้งสอง หรือไม่ว่าใครต่อใครคงปฏิเสธได้ยาก ความสุขของกะทิ เป็นหนังสือเด็กที่ดีที่สุด เท่าที่เคยเขียนๆ กันมาในช่วงสิบปีให้หลังนี้ ปัญหาคือ "หนังสือเด็กที่ดี" นั้นควรได้รางวัลซีไรต์หรือเปล่า คำตอบของเราคือ "อาจจะไม่ก็ได้"

บางทีสิ่งที่แวดวงวรรณกรรมไทยต้องการคือคนอย่างคุณยายของกะทิ ที่จะแบ่งแยก จัดระบบ และสร้างภาชนะรางวัลอื่นๆ ให้กับวรรณกรรมแนวต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีใครหมั่นไส้ หรือคัดค้านเมื่อหนังสือเด็กดีๆ สักเล่มจะได้รางวัล

I. Murdoch's "The Nice and the Good"


ท่านผู้อ่านเบื่อไอริช เมอดอชหรือยัง เชื่อหรือไม่ว่าผ่านมายี่สิบกว่าเล่มแล้ว เราก็ยังไม่เบื่อ The Nice and the Good ติดอันดับหนึ่งในห้านิยายที่ดีที่สุดของเมอดอชได้สบายอย่างๆ แต่ถึงยังไม่เบื่ออ่าน แต่ก็แอบเบื่อเขียนถึงมันนิดหน่อยแล้ว ดังนั้นแทนที่เราจะพูดถึงนิยายเรื่องนี้ เราจะขอยกฉากสองฉากออกมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะของเดมแล้วกัน

ดันแคน ได้รับมอบหมายให้สืบสวนการฆ่าตัวตายของราชิช เขาพบว่าราชิชเกี่ยวข้องกับเวทมนต์มืดบางอย่าง และสถานที่ประกอบพิธีกรรมคือห้องใต้ดินลับ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นหลุมหลบภัยระเบิด ดันแคนถือไฟฉายกระบอกเดียว เดินทางเข้าไปสำรวจหลุมหลบภัยซึ่งทั้งมืด แคบ และเหม็นอับ มีหนูตัวอ้วนๆ วิ่งพล่านไม่ต่างอะไรจากสุสานอัศวินในขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า เขาพบสถานที่ประกอบพิธีของราชีช นอกจากศพนกพิราบ อุปกรณ์มนต์ดำต่างๆ เขายังพบประโยคหนึ่ง ถูกเขียนไว้บนผนัง เป็นประโยคคำสั่งสอนโง่ๆ ซึ่งหาอ่านได้ทั่วไปตามหนังสือปรัชญากฎหมาย

ระหว่างที่อ่านฉากนี้ เราก็อ่านไปยิ้มไป เนื่องจากคุ้นเคยกับนิยายของเดมมาเยอะ เรารู้แหละ ว่าไม่มีจริงหรอกเวทมง เวทมนต์อะไร ที่อุตส่าห์บรรยายฉากหลุมหลบภัยเสียน่ากลัว ก็คงเป็นความสนุกฮาๆ ของคนเขียนเสียมากกว่า หารู้ไม่ว่า ในภายหลัง ดันแคนต้องเผชิญหน้ากับ "เฮเลน แห่งทรอย" โสเภณีลึกลับ ซึ่งชอบใช่เรือนกายยั่วยวนชาย และให้สามีถ่ายรูปเก็บไว้เพื่อแบลคเมล์ ขณะที่ดันแคนกำลังจะตกหลุมเฮเลน จู่ๆ คำสั่นสอนโง่ๆ บนผนัง ณ สถานที่ประกอบมนต์ดำ ผุดขึ้นมาในหัวเขา ประโยคนี้ช่วยเตือนสติดันแคน ให้เขาต่อต้านเวทมนต์ของเฮเลนได้

ความสุดยอดของฉากนี้ อยู่ตรงที่ว่า ทันทีที่ประโยคนี้ผุดขึ้นมาในหัวดันแคน และผู้อ่านอ่านมัน สิ่งที่ติดมาด้วยกับประโยคนี้ ไม่ใช่เพียงคำแปดเก้าซึ่งประกอบกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหลุมหลบภัย ความมืด คับแคบ เหม็นอับ หนูตัวอ้วนๆ และศพนกพิราบ เมอดอชได้ใส่เวทมนต์ลงไปในหนังสือของเธอ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ ทั้งสิ้น

อีกฉากหนึ่ง เพียซ เด็กหนุ่มซึ่งถูกบาบาราสลัดรักตัดสินใจฆ่าตัวตาย ก่อนตายเขาต้องการจะรู้ให้ได้ว่า ข้างในถ้ำชายทะเล ซึ่งเป็นที่ซ่อนขุมทรัพย์โจรสลัดในตำนาน เป็นอุโมงค์ตัน หรือมีช่องว่างให้อากาศหายใจ เพียซว่ายน้ำเข้าไปในถ้ำจังหวะที่น้ำกำลังขึ้น เขาตั้งใจให้รู้กันไปเลยว่า ในถ้ำแห่งนี้เป็นช่องโล่ง หรือว่าตัวเขาจะต้องจมน้ำตายอยู่ข้างใน ระหว่างที่ว่าย สำรวจภายในถ้ำ เขาเจอกับทางแยก เมื่อเพียซตระหนักว่า โอกาสที่เขาจะรอด หรือตาย ขึ้นอยู่กับทางเลือก และการตัดสินใจ ทันใดนั้น การเตรียมตัวเตรียมใจ และทุกอย่างที่เด็กหนุ่มอุตส่าห์รวบรวมกำลังใจมา พังทลายโดนสิ้นเชิง

ต้องมีความเข้าใจในมนุษย์อย่างลึกล้ำสักแค่ไหนกัน ถึงสามารถเขียนฉากนี้ออกมาได้!

A. Moravia's "Erotic Tales"


เหมือนเป็นกฎไปแล้วว่า รวมเรื่องสั้น Erotic Tales ไม่ว่าจะเขียนโดยคนๆ เดียว หรือรวมกันเฉพาะกิจ จะต้องอ่านแล้วผิดหวัง อันนี้จริงหมด ไม่ว่าจะของไทย หรือเทศ อีโรติกนั้นเขียนยาก ยากพอๆ กับ หรืออาจจะยากยิ่งกว่าเรื่องตลกเสียอีก ต่อให้เขียนบรรยายชายหญิงเอากันอย่างละเอียด หรือใช้ภาษาห่ามๆ อาจจะมีประโยชน์ในทางปฏิบัติ แต่มันก็จบอยู่เท่านั้น พอปฏิบัติเสร็จ ก็กลายเป็นเรื่องสั้นโง่ๆ ที่หาคุณค่าทางศิลปะไม่เจอ

เท่าที่ค้นๆ ความทรงจำดู ของคนไทยเขียนที่เข้าท่า รู้สึกว่าจะมีแค่เรื่องสั้น ตู้เย็น ใน เคหะวัตถุ ของพี่อนุสรณ์เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นก็ไม่เคยอ่านเรื่องสั้นอีโรติกไทยดีๆ เลย อ้อ...นึกออกแล้ว มีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคงดีอย่างคนเขียนไม่ได้ตั้งใจ เพราะเราดันไปอ่านเจอในเวปรวมเรื่อง "อย่างว่า" ซึ่งคุณภาพของเรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่ก็รู้ๆ กันอยู่

จริงๆ ไม่เกี่ยวหรอกว่าคนไทยขี้อาย เลยเขียนเรื่องเอากันไม่ค่อยเก่ง เรื่องอีโรติกนี่ ขนาดฝรั่งเขียนแล้วล่มกันง่ายๆ เลย อย่างแอน ไรซ์เจ้าแม่นิยายผีดูดเลือด จริงๆ แล้วมีอีกนามปากกาหนึ่ง ซึ่งเอาไว้เขียนนิยายอีโรติกโดยเฉพาะ นิยายสร้างชื่อให้กับเธอคือ นิยายชุดเจ้าหญิงนินทรา ฉบับผู้ใหญ่ ซึ่ง ห่วยมาก น่าจะเรียกว่านิยายต่อต้านอีโรติกมากกว่า ขนาดคุณค่าในทางปฏิบัติยังหาไม่เจอเลย หรือ Laughable Loves ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบลอคนี้ ก็จัดว่าดีมาก แต่ก็ไม่ได้ดีอย่างอีโรติก แต่เป็นการเอาอีโรติกไปใช้เสียดสีความรักมากกว่า

เพราะฉะนั้น พออ่าน Erotic Tales จบ ต้องบอกเลยว่า "ผิดหวัง" ผิดหวังเพราะ "สมหวัง" นี่เป็นรวมเรื่องสั้นอีโรติกที่ดีมากๆ

ถึงชื่อหนังสือคือรวมเรื่องอีโรติก แต่เรารู้สึกว่าเหมือนเป็นหนังสือสองเล่มมารวมกันเสียมากกว่า โดยครึ่งแรกคือรวมเรื่องอีโรติกจริงๆ เป็นเรื่องสั้นขนาดกลาง (ยี่สิบหน้าโดยประมาณ) ห้า ถึงหกเรื่อง ส่วนครึ่งหลังแตกต่างจากครึ่งแรกอย่างเห็นได้ชัด แต่ละเรื่องไม่ค่อยเกี่ยวกับอะไรใต้เข็มขัดแล้วละ แถมยังสั้นเอามากๆ แค่ห้าถึงเจ็ดหน้าเท่านั้น เรื่องสั้นแบบนี้ชวนให้นึกถึง Difficult Loves ของคาลวิโน อาจจะด้วยขนบทางวัฒนธรรมบางอย่าง ทำให้คนอิตาลีชอบเขียนเรื่องสั้นๆ

พูดถึงคนเขียนนิดหนึ่งดีกว่า โมราเวียนั่นโด่งดังจากนิยายเรื่อง The Conformist ซึ่งถูกเอามาสร้างเป็นหนังโดยเบอโตลุกชี เช่นเดียวกับ Contempt ซึ่งถูกดัดแปลงโดยโกดา เรื่องแรกไม่เคยดู แต่เรื่องหลังดูแล้ว เทียบกับ Erotic Tales ก็พอมองออกไม่ยากว่าคนเขียนน่าจะคนเดียวกัน

อัลเบอร์โต โมราเวีย จำชื่อนี้ไว้ให้ดี คิดว่าคงได้เจอกันอีกหลายเล่มแน่ๆ

ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 2


ไม่ว่านักวิจารณ์คนใดก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าสภาพการหยิบยืมใน ความสุขของกะทิ เป็นข้อด้อยของหนังสือเล่มนี้ แต่เพราะสังคมไทยยังยึดติดในมายาคติที่ว่าศิลปะต้องสะท้อนความจริง ศิลปะที่สะท้อนงานศิลปะอีกที เลยถูกมองว่าด้อยกว่า ขาดความดั้งเดิม หรือแย่กว่านั้นคือ ผู้เขียนไปลอกคนอื่นมา มายาคติลักษณะนี้คือการสับสนระหว่าง "เรื่องแต่ง" และ "ข่าว" ข่าวนั้น ต่อให้เขียนดียังไง ไม่สำคัญเท่ากับว่าชิ้นงานสะท้อนสิ่งซึ่งนักข่าวไปพบไปเห็นมาหรือเปล่า ในทางตรงกันข้าม คุณค่าของเรื่องแต่งคือคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าวัตถุดิบจะหยิบยืมมาจากความเป็นจริง หรือเรื่องแต่งอื่นๆ ไม่อาจนำมาใช้ลด หรือเพิ่มคุณค่าของชิ้นงานนั้นๆ ได้ (ซึ่งก็หมายความว่า การที่เราจับ "กะทิ" ไปเทียบกับ "อิคคิวซัง" ก็ไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้หนังสือเล่มนี้เช่นกัน)

ถ้าสภาพการหยิบยืมไม่อาจนำมาใช้เป็นข้อดี ข้อด้อย แล้วอะไรเล่าที่สามารถใช้ได้ คำตอบอยู่ในสิ่งซึ่งนักวิจารณ์หลายคนมักมองข้ามไป หรือไม่ค่อยพูดถึงกัน ความสุขของกะทิ เป็นนิยายที่มีการเล่าเรื่องแปลกใหม่ และแตกต่างจากขนบวรรณกรรมแบบเดิม เป็นการเล่าเรื่องกึ่งสารคดี กึ่งเรื่ิองแต่ง ใกล้เคียงสุดที่เคยปรากฎบนแผงหนังสือบ้านเราคือ ช่างสำราญ ของคุณเดือนวาด โดยส่วนตัว เราว่า ช่างสำราญ ยังมีปัญหาเรื่องการรักษาสมดุลระหว่าง "สารคดี" และ "เรื่องแต่ง" โดยหนักไปทางอย่างแรกเสียมากกว่า ซึ่งตรงกับข้อกล่าวหาของคุณวาณิช ที่วิจารณ์ว่า ช่างสำราญ ไม่ใช่นิยาย แต่เป็นงานเขียนเบ็ดเตล็ดเชิงสารคดี

ความสุขของกะทิ ตีพิมพ์ในปี 2547 หนึ่งปีหลังจาก ช่างสำราญ ได้รางวัลซีไรต์ (ซึ่งก็หมายความว่า มันไม่ได้ถูกเร่งพิมพ์ออกมาเพื่อชิงรางวัลในปี 2549 ลบล้างข้อกล่าวหาของใครต่อใคร ในสิบเล่มที่ผ่านเข้ารอบ ถ้าจะมีสักเล่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ถูกเขียน หรือพิมพ์ขึ้นมาเพื่อชิงซีไรต์ ก็คงเป็น ความสุขของกะทิ นี่เอง...อุ๊บส์) ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคุณงามพรรณได้รับอิทธิพลจากคุณเดือนวาดมามากน้อยแค่ไหน แต่จุดเด่นของ ความสุขของกะทิ คือมันไม่ได้เรื่อยเปื่อย ชนิดว่าพออ่านจบ แล้วเราไม่แน่ใจว่าเพิ่งอ่านอะไรไป เช่นเดียวกับตัวละครกะทิ ซึ่งเป็นผลพวงของโลกชนบท และโลกในเมือง (the best of two worlds) นิยายเล่มนี้จึงเป็นการประสานจุดเด่นกลวิธีการเล่าเรื่องสองแบบเข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม

สำหรับหลายคนที่ชอบ ความสุขของกะทิ คงเห็นตรงกันว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อ่านสนุกที่ประเด็นแม่ หรืออดีตของตัวละคร (ซึ่งแม้จะเรียกน้ำตาสักแค่ไหน แต่ก็เพิ่งมาเปิดประเด็นเอาช่วงกลางๆ เล่มเท่านั้น) ความเป็นสารคดี วิถีชาวบ้าน ชาวกรุงต่างหากคือเสน่ห์ที่แท้จริง โดยผิวเผินงานเขียนลักษณะชมสวม ชมชนบท ไม่ใช่ของแปลกใหม่ในบ้านเรา แต่คุณงามพรรณสามารถเล่าสิ่งเหล่านี้ออกมาได้โดยปราศจากอคติ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า กะทิคือผลพวงของสองวัฒนธรรม สายตาที่กะทิมองโลกภายนอกจึงไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แตกต่างจากงานเขียนแนวเพื่อชีวิต (socialist realism) ที่จะต้องวางของสองสิ่งไว้ตรงข้ามกันเสมอ (ถ้าจะชมชนบทประโยคหนึ่ง ก้ต้องด่าเมืองอีกสักประโยค)

ตรงนี้ก็เลยยิ่งส่งเสริม ความสุขของกะทิ ให้สวยงาม (และน่าหมั่นไส้) เข้าไปอีก เพราะมันไม่มีผู้ร้าย โลกของกะทิอาจจะสวยงามเกินไป และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่อย่างน้อย ก็ยังเป็นสัจจะ (realistic) มากเสียกว่า "หล่มเพื่อชีวิต" ที่พยายามแบ่งโลกเป็นขาวดำ (หรือแดง เหลือง) อย่างชัดเจน

(ติดตามตอนต่อไป ตอนจบแล้ว)

H. Ellison's "I, Robot"


ไม่เคยอ่าน I, Robot ฉบับดั้งเดิมหรอก แต่ได้ยินมาว่าบทภาพยนตร์เรื่อง I, Robot ที่เอลลิสันเขียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรวมเรื่องสั้นของอาซิมอฟ เพียงแต่ในภายหลังเพื่อให้มันน่าสนใจขึ้น เอลลิสันเปลี่ยนชื่อบทภาพยนตร์ของตัวเองเป็น I, Robot ตามชื่อหนังสืออันโด่งดัง

ในทางกลับกันบทภาพยนตร์ของเอลลิสัน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภาพยนตร์ I, Robot อีกนั่นแหละ ภาพยนตร์ที่วิล สมิธแสดงนำเรื่องนั้น เป็นหนังที่ผู้คนไม่ใคร่จะนิยมเท่าไหร่ (ทั้งที่มันคือสุดยอดภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21!) ก็เลยเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าบทของเอลลิสันดีอย่างนู้นดีอย่างนี้ (underrated/overrated อีกแล้ว) เราอ่านจบก็ว่าดีจริงๆ นั่นแหละ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ครั้งหนึ่งผู้ผลิตภาพยนตร์เคยคิดจะเอามันมาดัดแปลงจริงหรือเปล่า (ใน imdb ชื่อของเอลลิสัน ไม่ปรากฎในรายชื่อ writer) แต่เราบอกได้ว่าเขาคิดถูกแล้วล่ะที่ไม่ทำ

I, Robot ฉบับเอลลิสันนั้นเป็นบทภาพยนตร์ที่ไม่สามารถนำมาทำเป็นภาพยนตร์ได้ มันเหมาะจะเป็นละครทีวีขนาดสั้นมากกว่า อาจเพราะต้องการรักษาโครงสร้างของรวมเรื่องสั้น I, Robot ฉบับดั้งเดิม บทภาพยนตร์เรื่องนี้เลยแยกเป็นส่วนๆ อย่างชัดเจน โดยแต่ละส่วน เมื่อรวมกันแล้วพูดถึงประวัติเบื้องลึกเบื้องหลังของซูซาน คาลวิน อัจฉริยะนักจิตวิทยาหุ่นยนต์ และโรเบิร์ด เบรธนาล ประธานาธิบดีแห่งจักรวาลคนแรก (นางเอกเรื่อง I, Robot ก็ใช้ชื่อซูซาน คาลวินเหมือนกัน และก็มีอาชีพอย่างเดียวกันด้วย)

ผู้กำกับหนังปฏิเสธที่จะดูภาพยนตร์เรื่อง I, Robot โดยเหตุผลที่เขาให้คือ กฎข้อที่ 3 ของหุ่นยนต์นั้น ที่กล่าวไว้ว่า หุ่นยนต์มีสิทธิป้องกันตัวเอง ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับกฎข้ออื่น ชัดเจนเกินไปว่า ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น "อุปกรณ์สร้างเรื่อง" (plot device) I, Robot ทั้งฉบับภาพยนตร์ และของเอลลิสันก็เล่นกับปริทรรศน์ของกฎสามข้อนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงข้อ 3 เท่านั้น แม้แต่ข้อหนึ่ง และข้อสองเอง ก็ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งต่างๆ

สาเหตุที่เราชอบภาพยนตร์เรื่อง I, Robot เพราะมันแสดงให้เห็นว่ามีแต่หุ่นยนต์ที่หลุดพ้นจากกฎสามข้อเท่านั้น จึงจะประพฤติตัวถูกต้องอย่างแท้จริง นี่คือสาเหตุว่าทำไมพระเจ้าถึงได้สร้างมนุษย์ให้มีความสามารถในการเลือก เลือกว่าจะทำความดี หรือความชั่ว ทั้งที่จริงๆ แล้ว พระเจ้าก็อยากให้มนุษย์เราทำความดีมากกว่า บทภาพยนตร์ของเอลลิสันไม่ได้เล่นประเด็นนี้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า แค่กฎสามข้อไม่ได้รับประกันเสมอไปว่าหุ่นยนต์จะไม่ทำร้ายมนุษย์

ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 1


เราคุ้ยเคยกับศัพท์ภาษาอังกฤษ "underrated" และ "overrated" มาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว และจนบัดนี้เราก็ยังหาศัพท์ภาษาไทยสั้นๆ กระทัดรัด ที่มีความหมายใกล้เคียงกันไม่ออกเลย นักชมภาพยนตร์ชาวไทยหลายคนก็คงคุ้นเคยกับศัพท์คู่นี้ดี และบ่อยครั้งที่หลุดมันออกมา ระหว่างพูดคุยกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย แต่เราจะไม่ค่อยพบคำคู่นี้เท่าไหร่ในบทวิจารณ์ ไม่ใช่เพราะว่ามันไม่มีคำทับศัพท์ แต่เพราะนักวิจารณ์ถือเป็นหน้าที่ของตัวเองที่ต้องแยกแยะความรู้สึกส่วนตัว ออกจากความดี ความด้อยในงานศิลปะ "overrated" และ "underrated" เป็นคำคุณศัพท์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกส่วนตัวมากกว่า "เนื้อผ้า" ของงานศิลปะ

แต่ถึงอย่างไรนักวิจารณ์ก็ยังเป็นปุถุชน เรื่องจะให้แยกเอาความรู้สึกส่วนตัว ออกจากคุณค่าบริสุทธิ์ของศิลปะนั้นเป็นไปได้ยาก

กับงานศิลปะที่ยิ่งก่อกระแสปั่นป่วนในสังคมเท่าใด ปรากฎการณ์ overrated/underrated ก็ยิ่งส่งผลชัดเจน ความรู้สึกสองขั้วนี้สัมพันธ์กันโดยปฏิภาค ศิลปะชิ้นหนึ่งที่ถูกมองว่า overrated โดยหลายคนเข้า สุดท้ายมันก็จะกลายมาเป็นงาน underrated ไปเอง (หรือในทางตรงกันข้าม) ดังนั้นงานศิลปะที่อยู่ในกระแสสำนึกของสังคมยาวนาน ย่อมก่อให้เกิดคลื่นความคิดเห็นสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างสองขั้ว ชอบ/ไม่ชอบ และบ่อยครั้งที่ความชอบ/ไม่ชอบงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตัดสินสัมผัสงานศิลปะชิ้นนั้นในช่วงเวลาไหน เป็นช่วงสันคลื่น หรือว่าท้องคลื่น

ตอนที่ไททานิกจมลงในปี 1997 (ไม่ได้หมายถึงเรือโดยสารที่ว่ากันว่า "ไม่มีวันจม" หรอกนะ แต่หมายถึงภาพยนตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยทำสถิติ รายได้สูงสุด และกวาดรางวัลไปอีกมากมาย) ก็ก่อให้เกิดกระแสคลื่นดังกล่าว ใครที่ได้ดู Titanic ในโรง จะรู้สึกว่ามันทั้งอลังการ และโรแมนติกปานนั้น ส่วนคนที่ดู หลังจากมันได้รางวัลออสการ์ใหม่ๆ ก็อาจเกิดอาการหมั่นไส้ได้ไม่ยาก

ในบ้านเราเอง ก็มีงานศิลปะที่ก่อกระแสคลื่นเช่น ความสุขของกะทิ หนังสือเล่มนี้ "ดัง" ตั้งแต่ก่อนมันจะได้รางวัลซีไรต์ ผ่านการตีพิมพ์หลายครั้ง ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ และพูดกันปากต่อปากโดยเอามันไปเทียบกับวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิคอย่าง โต๊ะโตะจัง แต่หลังจาก ความสุขของกะทิ ได้รางวัลซีไรต์ในปี 2549 ก็เริ่มมีกระแสต่อต้าน จุดอ่อนของ ความสุขของกะทิ ที่ถูกนำมาตีแตกซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือการที่เด็กหญิงกะทิมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ดังนั้นโลกใสซื่อ และสวยงามของกะทิจึงเป็นโลกอุปโลกของชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงใดๆ ในสังคม นอกจากจิตสำนึกของคนเขียน คุณงามพรรณเอง

ที่เขียนบลอกในวันนี้ เนื่องจากได้อ่านบทความ ความเลอเลิศของกะทิ ในนิตยสาร อ่าน โดยคุณคำผกา แล้วรู้สึกว่ามีประเด็นชวนคุย เลยอยากขออนุญาติใช้พื้นที่ตรงนี้ "โต้" คุณคำผกาด้วยความเคารพอย่างสูง

ขอสรุปข้อกล่าวหาหลักๆ ใน ความเลอเลิศของกะทิ เป็นสองข้อด้วยกัน 1) ความสุขของกะทิ เป็นหนังสือที่หยิบยืมมาจากวรรณกรรม และภาพยนตร์ไทยโบราณที่เรารู้จักกันดี ตั้งแต่ ปริศนา เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ยันอะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ ที่คุณคำผกาอุตส่าห์ยกมาเปรียบเทียบ 2) ความสุขของกะทิ สนับสนุนระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับสังคมแห่งความเท่าเทียม เข้าทำนองว่า คนรวยสามารถเอาเปรียบคนจนเท่าไหร่ก็ได้ ตราบเท่าที่พวกเขาโยนเศษเงินจุนเจือคนจนทีละนิด

สำหรับกรณีแรก คุณคำผกาไม่ได้เจาะจงว่า "การหยิบยืม" นั้นเป็นข้อเสียตรงไหน เราเองคนหนึ่งละที่ไม่รู้สึกว่ามันเป็นข้อเสีย นิยายทุกเล่มมีคุณสมบัติการผสมผสานระหว่างบท (intertexual) กล่าวคือการนึกภาพตัวละครเด่นดังจากนิยายเล่มอื่นเพื่อแทนภาพตัวละครใน ความสุขของกะทิ นั้นเป็นเรื่องปรกติ อย่างแม่ของกะทินั้น สำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน ปริศนา ก็จะมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง แต่สำหรับคนที่คุ้ยเคยกับวรรณกรรมคลาสสิกชิ้นนี้ เราก็จะเห็นแง่มุมอื่น ที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกระดับ

สารภาพอย่างอายๆ นิดหนึ่งว่าไม่เคยอ่าน ปริศนา (เคยแต่ดูละคร) เลยไม่อยากพูดเจาะจงในแง่นี้มาก อย่างไรก็ดี ตอนที่อ่าน ความสุขของกะทิ ตัวละครแม่นั้น กลับชวนให้เรานึกถึงตัวละครคลาสสิกอีกตัว คือท่านหญิงนันโย หรือแม่ของอิคคิวซัง ความสัมพันธ์ของทั้งกะทิ และอิคคิว กับแม่ของตัวเองนั้นมีอะไรหลายอย่างคล้ายคลึงกันอยู่ ระหว่างบวชเณร แม่ของอิคคิวซังยังมีชีวิตอยู่ และอิคคิวเองก็ไปเยี่ยมเยียนท่านบ่อยๆ แต่สองคนนี้ไม่อาจแตะเนื้อต้องตัวกันได้ ขณะแม่ของกะทิป่วยเป็นโรคอะไรบางอย่างที่ทำให้แม้กะทิจะนอนเคียงข้างแม่ได้ ก็ยังต้องมีผ้าขาวบางกั้นสองคนนี้

ตุ๊กตาไล่ฝนคือวัตถุแทนตนที่ท่านหญิงนันโยทำไว้ให้อิคคิวซัง ขณะเดียวกัน ก็เป็นทะเล (หรือน้ำ) ที่ทำให้กะทิ ต้องพลัดพรากจากแม่ โดยทั่วไป "น้ำ" เป็นสัญลักษณ์ของ "ความบ้าคลั่ง" กรณีอิคคิวซัง ความบ้าคลั่งในที่นี้คือความยุ่งเหยิงทางด้านการเมือง ที่ทำให้เณรน้อยต้องออกบวชแต่เล็ก และในกรณีกะทิ ความบ้าคลั่งคืออาการเจ็บป่วยที่กั้นกลางแม่ลูกทั้งสอง

ที่พล่ามมาสองย่อหน้านี้ ไม่ได้หมายความว่าคุณงามพรรณจะต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า "กะทิ = อิคคิวซัง" และก็ไม่ได้หมายความว่า ความสัมพันธ์ตรงนี้จะทำให้ ความสุขของกะทิ ดีขึ้น หรือเลวลง แค่อยากบอกว่า นิยายใดๆ ก็ตาม ถ้าคนอ่าน อ่านเป็น และอ่านถึง จะต้องเชื่อมโยงมันไปหานิยายเล่มอื่นได้ การที่คุณคำผกาโยง ความสุขของกะทิ เข้าหา ปริศนา หรือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก น่าจะมาจากความเป็นคนอ่านมากรู้มากของทั้งคุณคำผกาเอง และคุณงามพรรณา มากกว่าจะหมายถึงข้อด้อยของ ความสุขของกะทิ

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ถึงอย่างไรผลงานชิ้นนี้ก็เป็นวรรณกรรมเยาวชน คนอ่านในอุดมคติของคุณงามพรรณคือเด็กที่น่าจะได้อ่าน ความสุขของกะทิ ก่อน ปริศนา หรือ โต๊ะโตะจัง และเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาสได้ดูการ์ตูนชุดอิคคิวซัง หรืออ่าน เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก สำหรับคนอ่านในอุดมคติแล้ว โลกของกะทิน่าจะเป็นโลกที่สดใหม่ และเต็มไปด้วยตัวละครซึ่งพวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน

(ติดตามตอนต่อไป)

A. Hewitt's "Political Inversions"


การสูญเสียที่ร้ายกาจที่สุดคือการสูญเสีย "การสูญเสีย" เมื่อเราสูญเสียไป โดยไม่รู้ว่าตัวเองสูญเสียอะไร หรือไม่รู้ว่าตัวด้วยซ้ำว่าได้สูญเสีย คนเราสามารถ "คร่ำครวญ" (mourning) ถึงสิ่งที่แตกต่างจากตัวเรา สิ่งที่อยู่ภายนอกอัตลักษณ์ของเรา และเราได้สูญเสียมันไป แต่ที่น่ากลัวกว่าคือคนที่ตกอยู่ในสภาพ "ซึมเศร้า" (melancholia) อันเกิดจากการสูญเสียบางสิ่งซึ่งเราเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา เพราะนั่นหมายถึงว่าเราไม่ได้แค่สูญเสีย "บางสิ่ง" นั้นไป แต่ "บางสิ่ง" นั้นได้สูญหายเข้าไปในตัวเราตั้งแต่แรก

การ "คร่ำครวญ" เกิดจากความรักแบบ "ต่างเพศ" แต่สภาพ "ซึมเศร้า" มาจากความรักแบบ "เพศเดียวกัน"

Political Inversions พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "ลักเพศ" และ "เผด็จการฟาสซิสต์" ชื่อเต็มๆ ของมันคือ Political Inversions: Homosexuality, Fascism, and the Modernist Imaginary ฮิววิจต์เล่าว่าพอบอกใครต่อใครว่ากำลังวิจัยเรื่องนี้ มีแต่คนถามกลับว่า "สองอย่างนี้สัมพันธ์กันด้วยเหรอ" ซึ่งถ้าใครคิดลึกต่อไปอีก ก็จะตอบว่า "อ๋อ...นึกออกแล้วล่ะ พวก s&m ใช่ไหม อืม...น่าสนใจดีนะ" ซึ่งก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ ฮิววิจต์มองว่า s&m คือปรากฏการณ์ที่ชาวรักร่วมเพศดัดแปลง "ภาพ" หรือ "ตัวแทน" ของฟาสซิสต์เพื่อรับใช้วัฒนธรรมของพวกเขา

เป้าหมายของฮิววิจต์คือความสัมพันธ์เชิงปรัชญา และจิตวิทยา มากกว่าในเชิงประวัติศาสตร์ ฮิววิจต์ย้ำตั้งแต่หน้าแรกเลยว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ตำราประวัติศาสตร์ เป็นที่รู้กันว่านอกจากคนยิวแล้ว ฮิตเลอร์ยังมีนโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิปซี และพวกรักร่วมเพศ แต่ขณะเดียวกัน (และไม่ค่อยเป็นที่รู้กันเท่าไหร่) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายซ้ายออกใบปลิว ภาพยนตร์ หรือนิยาย เสียดสีเผด็จการเยอรมัน พวกนาซีจะถูกวาดภาพให้ออกมาเป็นรักร่วมเพศเสมอ (เกย์นาซีที่โด่งดังในโลกภาพยนตร์ได้แก่ใน Cabaret หรือ Raider of the Lost Ark) ดังนั้นในทางประวัติศาสตร์แล้ว จึงไม่อาจสรุปได้อย่างจะแจ้งว่า "ลักเพศ" และ "ฟาสซิสต์" อยู่ตรงข้ามกัน หรือส่งเสริมกัน

ส่วนตัวแล้วเรายังไม่รู้สึกว่าฮิววิจต์ประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงสองประการนี้เข้าด้วยกัน อย่างมากสุดก็แสดงให้เห็นถึงสภาพ "คู่ขนาน" เสียมากกว่า กล่าวโดยสรุป ฟาสซิสต์เกิดมาในสองประเทศซึ่งไม่ใช่แค่แพ้สงคราม แต่ได้สูญเสียความพ่ายแพ้นั้นไปด้วย โดยทั้งเยอรมัน และอิตาลีได้แปรความพ่ายแพ้นั้นมาเป็นอัตลักษณ์ระดับชาติ (ontologization for the loss) และกลายเป็นเบ้าหลอมปรัชญาฟาสซิสต์ในกาลต่อมา ฮิววิจต์มองว่า ระบบความคิดลักษณะนี้คล้ายคลึงกับโครงสร้างทางจิตวิทยาของชาวรักร่วมเพศ

จริงๆ หนังสือเล่มนี้ยังมีอะไรอีกมาก Political Inversions จัดว่าเป็นหนังสือที่ลึก และหนักเล่มหนึ่งเลย ขออุบบางประเด็นไว้ เพื่อพูดถึงในการต่อไป ถ้าจะติหลักๆ ก็คือ การแบ่งบทของมัน ที่ออกมาเป็นก้อนใหญ่ๆ ไม่มีบทย่อยเลย ทำให้หนังสือลึก และหนักเล่มนี้ อ่านยากกว่าที่มันควรจะเป็น

U. Saba's "Ernesto"


Ernesto นิยายแอบอัตชีวประวัติของซาบาเป็นอะไรหลายๆ อย่าง มันเป็นนิยายการเมืองว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ใบหน้าของสังคมนิยมอิตาลีช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มันเป็นนิยาย coming-of-age ว่าด้วยเออเนสโต เด็กชายผู้ไม่อยากโต หรือจะมองว่าเป็นนิยายจิตวิทยาแบบฟรอยด์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างลูกกำพร้าพ่อ และมารดาก็ได้ และแน่นอน Ernesto เป็นนิยายเพศที่สาม ว่าด้วยความรักของเออเนสโต และ "the man" กรรมกรแบกหาม ที่ทำงานอยู่ภายในบริษัทเดียวกัน

มันเป็นนิยายแอบอัตชีวประวัติ เพราะตอนซาบาเขียนนิยายเรื่องนี้ช่วงปี 1950-53 (สี่ปีก่อนเขาเสียชีวิต) เกย์ในประเทศอิตาลียังไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ มิหนำซ้ำซาบาเองก็แต่งงาน มีลูกมีเมียแล้ว Ernesto เลยแอบเป็นอัตชีวประวัติ แม้ไม่มีใครพูดออกมาโต้งๆ แต่ "รู้กันอยู่" ว่าเออเนสโต ตัวเอกในเรื่องก็คือซาบานั่นเอง ซาบาเหมือนจะมีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์กับตัวเอง และการเล่าเรื่องย้อนอดีตจน สุดท้าย Ernesto ก็กลายเป็นนิยายที่เขียนไม่จบ โชคดีที่อย่างน้อยก็จบ "ภาควัยเยาว์" ซาบาเกริ่นเรื่องราวในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างเออเนสโต และอิลลิโอ เด็กหนุ่มอายุเท่ากัน ผู้จะกลายมาเป็นคนรักคนถัดไป

Ernesto เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วย ไม่ได้ดู แต่เท่าที่อ่านๆ เหมือนกับว่าประเด็นระหว่างเออเนสโต และอิลลิโอจะกลายมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง นอกจากนี้ยังเพิ่มตัวละครน้องสาวของอิลลิโอเข้าไป (โดยนักแสดงหญิงที่เล่นเป็นน้องสาว รับบทอิลลิโอควบคู่ไปด้วย) ในฉบับภาพยนตร์ เออเนสโตแต่งงานกับน้องสาวของอิลลิโอ และโดนผนวกโดนเข้าไปยังโลกของชนชั้นกลาง ที่เป็น straight

อยากพูดถึงประเด็นการเมืองใน Ernesto เออเนสโตในวัยเยาว์ เหมือนเด็กทั่วไปที่คลั่งไคล้สังคมนิยม เพราะแนวคิดดังกล่าว เขาเลยกลายเป็นศัตรูกับลุงและป้าซึ่งร่ำรวย และเป็นคนเลี้ยงอุปการะเออเนสโต และแม่ เพราะต้องการแยกตัวเองจากผู้อุปถัมภ์ แม่ของเออเนสโตจึงเอาลูกชายออกจากโรงเรียน และให้ทำงานเป็นเสมียนในบริษัทค้าขาย เจ้านายของเออเนสโตคลั่งไคล้คนเยอรมัน แต่ก็มีเมตตา และเอ็นดูเด็กชายอยู่ไม่น้อย (ซาบาเล่าเรื่องในวงเล็บว่า ท้ายสุด เจ้านายของเออเนสโตก็เสียชีวิตในค่ายสังหารชาวยิว ระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) กลับเป็นเออเนสโตเสียอีกที่หาเรื่องตีรวน หยาบคาย และกลั่นแกล้งเจ้านายด้วยวิธีต่างๆ

ตรงนี้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศักดินา (ลุงและป้า) ชนชั้นกลาง (เออเนสโต และแม่) นายทุน (เจ้านายของเออเนสโต) และกรรมกร (คนรักของเออเนสโต) เออเนสโตผู้เติบโตมาในบ้านของลุงและป้า รังเกียจศักดินา และโยกย้ายความรู้สึกดังกล่าวไปสู่นายทุน (ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย) ขณะเดียวกันกรรมกรก็มองเออเนสโตว่าเป็น "angel" หรือ "เทวดา" (แม้จะในบริบทของการเสพสังวาสก็ตาม) เช่นเดียวกับที่ชนชั้นกลางนักปฏิวัติมักจะทำตัวเป็นมิตรของกรรมกร และชนชั้นล่าง โครงสร้างอำนาจตรงนี้ยังสามารถขยับขยายให้ครอบคลุมโสเภณีซึ่งเออเนสโต "เสียความบริสุทธิ์" ไปด้วยได้ ซาบาประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนทริสเท ชนบทของประเทศอิตาลีให้กลายเป็นโลกใบเล็ก ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจการเมืองต้นศตวรรษที่ 20 อย่างสมบูรณ์

G. P. Cestaro's "Queer Italia"


Queer Italia รวมบทความว่าด้วยประเด็นเพศที่สามในวรรณกรรม และภาพยนตร์อิตาลีตั้งแต่อดีตกาล (ประมาณศตวรรษที่ 13) จนถึงยุคปัจจุบัน แต่ละบทความถูกเขียนโดยแต่ละนักคิด ซึ่งจับหัวข้อที่แตกต่างกันไป (เซสทาโรเป็นเพียงบรรณาธิการเล่มเท่านั้น ไม่ได้เขียนเอง) ดังนั้นขอมุ่งเป้าไปพูดถึงบทความที่เราชอบสุดในเล่มก็แล้วกัน

Reluctantly Queer พูดถึงความยากลำบากในการเขียนนิยายเพศที่สาม โดยสรุปคือสำหรับนิยายที่มีตัวเอก หรือตัวละครเด่นเป็นเพศที่สาม (ข้อเจาะจงเฉพาะเกย์ก็แล้วกันนะ) คนเขียนไม่สามารถบรรจุผลงานของตัวเองเข้าไปยังขนบวรรณกรรมประเภทอื่นๆ แบบที่เคยเขียนกันมาก่อนได้ ศิลปะเพศที่สามจึงมีลักษณะ "แตกกระจาย" และ "แยกย่อย" ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแต่ละเล่มจะไม่ดี แต่เมื่อมองภาพรวมแล้ว เราจะได้ genre ที่อ่อนแอกว่าศิลปะแบบอื่นๆ

ศิลปะเพศที่ 3 มีลักษณะของการหยิบยืม และอิงขนบศิลปะแนวอื่นอยู่มาก อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของภาพยนตร์ หรือนิยายเพศที่ 3 อยู่ตรงมันสามารถอิงตัวเองกับขนบ (เช่น รักแห่งสยาม) หรือฉีกตัวเองออกจากขนบ (เช่น สัตว์ประหลาด) ได้สักแค่ไหน ถ้ามองในแง่ดีคือความแปลกใหม่ การที่มันไม่มีขนบให้เกาะ นิยาย หรือภาพยนตร์เพศที่สามจึงสามารถลื่นไหล และหลุดจากกรอบต่างๆ ได้ง่าย แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถบังเกิดกรณี exploitative art ได้เช่นกัน กล่าวคือการใช้ภาพเพศที่สามในลักษณะดูถูกดูแคลน เพื่อจุดประสงค์ในการขับเคลื่อนเรื่องราว (ไม่ยกตัวอย่างแล้วกัน)