H. Melville's "Moby-Dick"


ส่วนหนึ่งคงมาจากความหมั่นไส้ด้วยกระมัง Moby-Dick ถึงได้กลายเป็นนิยายคลาสสิกของชาวอเมริกันที่ถูกนำมาวาดภาพประกอบบ่อยที่สุด เนื่องด้วยเมลวิลชอบโอ่อยู่เสมอว่าไม่มีใครสามารถวาดภาพโมบีดิก วาฬเผือกเพชรฆาตได้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คงเพราะ Moby-Dick เป็นนิยายที่อ่านเฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องจินตภาพตามไปอย่างไม่หยุดหย่อน ขณะที่นิยายส่วนใหญ่จะใช้ส่วนผสมกันระหว่างคำพูดของตัวละครและบรรยายโวหารโดยจะเน้นไปที่ส่วนแรกมากกว่า เนื่องจากมันเป็นช่องทางการสื่อสารที่สะดวกดายระหว่างนักเขียนและคนอ่าน น้ำหนักของ Moby-Dick จะทุ่มไปที่บรรยายโวหารและการสร้างภาพ

ความน่าทึ่งที่สุดของมหากาพย์เล่มนี้จึงอยู่ที่ความสามารถของเมลวิลที่จะทั้งสร้างภาพและไม่สร้างภาพ พูดถึงกรณีแรกก่อนแล้วกัน จริงๆ แล้วเนื้อหาของ Moby-Dick สมควรเป็นนิยายที่คิดภาพตามได้ยากมาก เหตุการณ์แทบทั้งหมดของนิยายเกิดบนสำเภาล่าวาฬ ซึ่งในปัจจุบันจะมีสักกี่คนที่เคยโดยสารหรือเดินทางด้วยเรือ ไม่ต้องพูดถึงสำเภาแห่งศตวรรษที่ 19 เลย ยิ่งเป็นสำเภาล่าวาฬด้วยยิ่งแล้วใหญ่ แล้วไอ้กิจกรรมล่าวาฬนี่มีบรรพบุรุษใครเคยสัมผัสบ้างไหม ถ้าให้อ่านนิยายวิทยาศาสตร์มนุษย์อวกาศสู้กับเอเลี่ยนยังนึกภาพตามได้ไม่ยากขนาดนี้เลยกระมัง

ดังนั้นความป๋าของเมลวิลจึงอยู่ตรง Moby-Dick เป็นนิยายที่นึกภาพตามได้ง่ายมาก ตั้งแต่กิจกรรมการล่าวาฬประกอบไปด้วยขั้นตอนอะไร มีอันตรายที่ตรงไหน วาฬล่ามาได้แล้วต้องแล่อย่างไร สกัดเอาน้ำมันจากอวัยวะส่วนใหญ่ Moby-Dick สอนให้เรารู้ว่ากรรมวิธีลอกหนังวาฬแทบไม่ต่างอะไรจากการฝานเปลือกแอปเปิลเลย อีกฉากที่น่าตื่นเต้นเอามากๆ คือลูกเรือตกบ่อน้ำมันในตัววาฬ เชื่อไหมเล่าว่าคนเราสามารถจมน้ำตายในสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งได้ ฉากเด็ดที่สุดซึ่งน่าจะเป็นฉากเอกของนิยายคือตอนที่ลูกเรือพีควอดหลงเข้าไปอยู่กลางฝูงวาฬคลั่งและพบกับสถานที่เลี้ยงลูกอ่อนวาฬ เมลวิลบรรยายทุกภาพที่ไม่น่าจะปรากฎในหัวคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเราได้เด่นชัด ละเอียด และงดงาม

ส่วนหนึ่งก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเมลวิล Moby-Dick เป็นนิยายที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูล กว่าครึ่งหนึ่งของนิยายไม่มีตัวละครโผล่มาเลย มีแต่ผู้เล่าเรื่องมาอธิบายสารคดีวาฬแบบแฝงอารมณ์ขันหน่อยๆ จำได้ว่าอาจารย์ภาษาอังกฤษสมัยเรียนตรีเคยพูดว่าราวกับเมลวิลเขียนนิยายเล่มนี้ด้วยการ google คำว่า “whale” แล้วเอาข้อมูลกี่ร้อยกี่พันหน้าที่ผุดขึ้นมานั้น มาผสานกันเป็นนิยาย บางบทก็พูดถึงเรื่องที่เบ็ดเตล็ดมากๆ อย่าง กฎหมายการแบ่งสัดส่วนวาฬ หรือเพราะเหตุใดนักล่าวาฬชาวอังกฤษถึงได้ครื้นเครงและมีอารมณ์ขันกว่าชาติอื่นๆ

แต่อีกส่วนหนึ่งที่น่าทึ่งพอๆ กับการสร้างภาพที่ไม่อาจสร้างได้ คือการไม่สร้างภาพเลย ย้อนกลับไปที่คำโอ่ของเมลวิลว่าไม่มีใครสามารถวาดภาพโมบีดิกได้ บางทีเพราะเมลวิลไม่ต้องการให้ภาพของโมบีดิกออกมาเป็นแค่ปลายักษ์ เทคนิกที่เมลวิลใช้ในการนำเสนอ “ภาพ” ของอสูรกายแห่งท้องทะเลตัวนี้ คือวิธีแยกส่วน (segmentation) ซึ่งเป็นเทคนิกที่จะพบได้บ่อยๆ ในทางภาพยนตร์ ผู้เขียนอธิบายแต่ละส่วนอย่างละเอียดตั้งแต่หาง ใบหน้า ลำตัว ขนาด น้ำหนัก ตำนาน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แต่จะไม่เอาส่วนต่างๆ เหล่านี้มารวมกัน

ในฐานะที่เราเป็นผู้คนแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าสมัยนั้นวาฬถือเป็นสัตว์ลึกลับที่ไม่มีใครแน่ใจว่าหน้าตาเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่รู้ว่ามันอาศัยอยู่ในน้ำ ขนาดมหึมา รูปร่างคล้ายๆ ปลาแต่มีหางแนวนอน ในตัวมันมีน้ำมันอันล้ำค่า (สัตว์พิสดารประเภทไหนกันที่แบกบ่อน้ำมันไว้ในตัว) ใครที่มีการศึกษาหน่อยอาจรู้ว่ามันไม่ใช่ปลาแต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกน้อยนมที่หายใจทางปอด ซึ่งก็จะยิ่งสับสนเข้าไปอีก ชาติหนึ่งของพระนารายณ์ก็เคยเกิดเป็นวาฬ แต่ในจารึกของศาสนาพราหมณ์ วาฬดูเหมือนครึ่งปลาครึ่งงูทะเล ดังนั้นในจินตนาการของชาวตะวันตก วาฬอาจเป็นสัตว์ที่ลึกลับพอๆ กับมังกรเลยก็ได้

การนำเสนอของเมลวิลที่เน้นเอาวาฬมาแตกย่อยเป็นส่วนๆ โดยไม่อาจเอาแต่ละส่วนมารวมกันเป็นสัตว์ตัวเดียวได้นั้น จึงเป็นวิธีการนำเสนอที่ตรงเป้าสุดในการสร้างความพิศวงให้กับอสูรกายตัวนี้

หรือบางทีโมบีดิกอาจไม่ใช่แค่วาฬก็ได้ จุดที่แตกต่างจากนิยายผจญภัยส่วนใหญ่คือ คนอ่านไม่ต้องลุ้นเลยว่ากัปตันอาฮับและลูกเรือพิควอดจะเอาชีวิตรอดจากโมบีดิกได้ไหม ถ้าปะทะกับโมบีดิกตรงๆ ก็ตายหยังเขียดสถานเดียว แล้วเหตุใดพวกเขาถึงมุ่งหน้าต่อไป นักวิจารณ์หลายคนยกให้เป็นเพราะความแค้นและความบ้าคลั่งของกัปตันอาฮับ แต่เรารู้สึกว่ามีบางอย่างลึกซึ้งกว่านั้น โมบีดิกอาจเป็นอุปสรรคและอัตตาบางอย่างที่คนเราไม่อาจก้าวพ้นหรือสลัดทิ้งได้

นอกเรื่องคือได้อ่านประวัติ “เจ้าลัทธิ” (spiritual teacher) คนหนึ่ง เขาเล่าว่าหลังจากค้นพบสัจธรรม เป็นเวลาเกือบสองปีเลยที่เขาไม่ทำอะไร เอาแต่นั่งในสวน มีชีวิตอยู่อย่างเปี่ยมสุขและหลุดพ้นไปวันๆ จะว่าน่าอิจฉาก็น่าอิจฉา เขาคือกัปตันอาฮับที่ตัดสินใจไม่เผชิญหน้าวาฬเผือก (สุดท้ายเจ้าลัทธิคนนั้นก็เขียนหนังสือและเผยแพร่คำสอนของตัวเอง ก็ถือว่าเขาได้สร้างจุดมุ่งหมายในชีวิตขึ้นมาแล้วเหมือนกัน) บางทีชีวิตที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับโมบีดิกเลยอาจเป็นชีวิตที่เปี่ยมสุขกว่าก็ได้

แต่มนุษย์เราสมควรใช้ชีวิตแบบนั้นหรือ

No comments: