R. Windor's "The Final Act of Mr Shakespeare"

มีความล้มเหลวบางอย่างที่เราให้ค่ามันเสียยิ่งกว่าความสำเร็จอีก The Final Act of Mr Shakespeare นิยายกึ่งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเบื้องหลังบทละคร Henry VIII ของเชคสเปียร์ คือความล้มเหลวที่ว่า

วินดอร์สมมติเรื่องราว ให้เชคสเปียร์ไปชมละคร Richard III ของตัวเอง แล้วอยู่ดีๆ ก็เกิดจิตสำนึกขึ้นมา เขาอับอายตัวเองที่วาดภาพกษัตริย์ริชาร์ดให้ออกมาเป็นผู้ร้ายสุดโต่ง เพื่อเยินพระเกียรติราชวงศ์ทิวดอร์ เชคสเปียร์ตัดสินใจจะแก้ไขบันทึกประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง นักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่จึงตัดสินใจผลิตบทละครชิ้นสุดท้าย Henry VII เพื่อเปิดเผยความชั่วร้ายของราชวงศ์ทิวดอร์ แต่เบื้องหน้า ให้นักเขียนอีกคนเขียน Henry VIII เพื่อปกปิดโครงการอันตรายนี้

ผิวเผินเหมือนว่านิยาย (ชื่อย้าวยาว) ของวินดอร์เรื่องนี้จะเข้าข่าย cloak-and-dagger นิยายสายลับนักสืบย้อนยุค (เช่น สามทหารเสือ) แต่ The Final Act of Mr Shakespeare มีหลายอย่างมากกว่านั้น วินดอร์สืบค้นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เก็บตกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตของเชคสเปียร์ มาผสมปนเปเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ เอาเข้าจริงแล้วนิยายเรื่องนี้มีอนุภาค (element) ของความเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์เบื้องหลังการเขียนบทละครเสียมากกว่า

แต่ก็นั่นแหละ คือจุดด้อยและความล้มเหลวของมัน เราบอกว่า The Final Act of Mr Shakespeare มีหลายอย่างมากกว่านิยาย cloak-and-dagger แต่ขณะเดียวกัน มันก็มีหลายอย่างน้อยกว่า เราก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหนที่วินดอร์ไปค้นคว้ามาว่า เวลาเชคสเปียร์เขียนบทละคร แทนที่จะขังตัวเองอยู่ในห้องกับปากกาและกระดาษเปล่า เขากลับใช้วิธีเรียกนักแสดง และศิลปินมารวมตัวกัน แล้วค่อยๆ คิดฉาก ให้แต่ละนักแสดงสวมบทบาทแล้วด้นสดเลย มีเสมียนคอยจดคนหนึ่ง จากนั้นค่อยให้เชคสเปียร์ไปเกลาเป็นคนสุดท้ายอีกที ไม่เคยพบเคยเห็น creative process ที่สุมหัวคิดแบบนี้มาก่อน (เราเคยเล่นเป็นตัวประกอบในละครเชคสเปียร์ ยังจำคำพูดของผู้กำกับได้แม่นยำเลย "Theatre is not a f*cking democracy!")

ส่วนใหญ่ของ The Final Act of Mr Shakespeare ก็คือการสุมหัวคิดแบบนี้แหละ นิดๆ หน่อยๆ พอหอมปากหอมคอก็คงสนุกดี แต่นี้เล่นกินเรื่องราวเกือบตลอดทั้งเล่ม แทนที่จะอ่านสนุกแบบนิยาย cloak-and-dagger เลยกลายเป็นหนังสือสุด tedious แทน แถมตอนท้ายวินดอร์ยัง "กล้าดี" พอที่จะนำเสนอบทละคร Henry VII ของตัวเองอีกต่างหาก (เท่ากับว่า คนอ่านอย่างเราต้องอ่าน Henry VII สองครั้ง คือระหว่างสุมหัวคิด กับในรูปบทละครสมบูรณ์แบบ)

อีกจุดอ่อนหนึ่งคือปรัชญาของนิยายเรื่องนี้ เราไม่เชื่อว่าเชคสเปียร์ตัวจริงเป็นพวกคิดเล็กคิดน้อยเรื่องความถูกต้องทางประวัติศาสตร์หรอก และขณะที่เชคสเปียร์ของวินดอร์ พร่ำภาวนาถึงการเขียนประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง แต่บทละคร Henry VII กลับได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องซุบซิบนินทา หรือแม้แต่สิ่งที่วินดอร์กำลังทำอยู่นี้ (เล่นกับเกร็ดประวัติศาสตร์) ในแง่หนึ่งก็คือการปลอมประวัติศาสตร์เพื่อความบันเทิงนั่นเอง

No comments: