สายป่านผู้หลงลืมอะไรบางอย่าง


เอ...อะไรน้า นึกไม่ออก อ้อ! ใช่แล้วคะ ตอนนี้รวมเรื่องสั้น เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ของพี่วัชระก็ได้รางวัลซีไรต์เป็นที่เรียบร้อย เชื่อว่าหลายคนถ้ายังไม่ได้อ่าน ก็คงกำลังจะอ่าน หรืออย่างน้อยก็หาซื้อมาเตรียมอ่าน อ่านจบแล้ว คันไม้คันมือ เขียนวิจารณ์ส่งมาที่รักชวนหัวได้นะคะ ที่ laughable-loves@hotmail.com รักชวนหัวจะรวบรวมไปลงบลอก "ปัญญาประสาน" ค่ะ

ส่วนใครที่ยังอยากเขียนวิจารณ์ "ที่อื่น" ของคุณกิตติพล ยังส่งเข้ามาได้เรื่อยๆ นะคะ

ปัจฉิมลิขิตค่ะ รักชวนหัวบอกให้สายป่านเฝ้าหน้าแรกอีกพักใหญ่ ดังนั้นใครที่อยากอ่านบลอคใหม่ ให้เลื่อนลงไปข้างล่างนะคะ เพื่อนๆ อย่าเพิ่งเบื่อหน้าสายป่านละ แล้วอย่าลืมไปดูบุญชูกันน้า

ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ / เรื่องสั้นฉบับร่าง (r.o.d.)


"เกือบแล้วแต่ยัง" เป็นนิยามสั้นๆ สี่คำอันเหมาะเจาะสุดสำหรับสองเรื่องสั้นของคุณจิรัฎฐ์ ต้องออกตัวก่อน ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนสมควรโยนต้นฉบับสองเรื่องนี้ทิ้ง ส่งไปเถอะครับ ตามนิตยสารน่ะ เรื่องที่เขาตีพิมพ์กัน หรือรวมออกมาเป็นเล่ม ก็ไม่ได้วิเศษไปกว่าสองเรื่องนี้สักเท่าไหร่หรอก

ต้องถือว่า ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คุณจิรัฎฐ์สร้างบรรยากาศได้ดี และปล่อยหมัดฮุคด้วยจังหวะ และความแรงที่ลงตัว ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ จับเอาขนบเรื่องเดิมๆ มาแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ เรื่องสั้นลักษณะนี้จะอยู่หรือไป ขึ้นกับว่าองค์ทรงเครื่อง ที่ผู้เขียนเอามาแต่งให้ใหม่นั้น มันเพียงพอที่ผู้อ่านจะอภัยให้กับความเดิมๆ ของตัวเรื่องหรือเปล่า

ข้อเสียของเรื่องสั้นนี้ คือมันดู "ไม่ค่อยเป็นสมบัติของผู้เขียน" เท่าไหร่ แม้จะมีการบรรยายฉากที่ดี แต่ไม่อาจรู้สึกถึง "ลายมือ" เหมือนผู้เขียนจับเอาตรงนู้นตรงนี้จากเรื่องสั้นอื่นๆ ที่มีฉากคล้ายๆ กัน มาแปะไว้มากกว่า ซึ่งบวกกับความเดิมๆ ของเนื้อเรื่องแล้ว ทำให้ ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ มีข้อด้อยสุดตรงอ่านแล้วไม่สัมผัสถึงความแปลกใหม่ (ไม่ใช่ว่าไม่มีนะครับ แต่มันถูกซุกซ่อนอยู่ใต้องค์ประกอบอื่นๆ ที่ไปทางขนบเสียมาก)

เรื่องสั้นฉบับร่าง แม้จะ "ยัง" เหมือนกัน แต่เป็นความ "ยัง" ที่น่าตื่นเต้นกว่ามาก ที่จริงสมัยนี้ metafiction ด้วยตัวมันเองก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นนักหนาหรอก ขึ้นกับฝีมือผู้เขียนที่จะเข็นเรื่องให้ไปไกลเกินกว่าคำว่า "เรื่องสั้นแนวทดลอง" ได้หรือเปล่า สำหรับเรื่องนี้ "ยัง" ครับแต่ว่า "เกือบ" แล้ว

ไม่ทราบว่าคุณจิรัฎฐ์คุ้นเคยกับงานเขียนของอิตาโล คาลวิโนหรือไม่ สมควรอย่างยิ่งที่จะไปหามาอ่าน ถ้ารักจะเขียนแนวนี้จริง เพราะขานั้นเป็นเจ้าพ่อแห่ง metafiction หนังสือของคาลวิโนเหมือนเขาวงกตที่ล่อให้นักอ่านเดินไปทางนู้นที ทางนี้ที ก่อนจะตระหนักว่า ระหว่างที่หลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกต จิตวิญญาณของเขาได้ถูกพามายังสถานที่อีกแห่งหนึ่งโดยไม่รู้ตัว เรื่องสั้นฉบับร่าง ประสบความสำเร็จในครึ่งแรก คือเขาวงกตน่ะมีแล้ว แต่อ่านไปจนจบ จิตวิญญาณก็ยังไม่ได้หลุดลอยไปไหน ยังค้างเติ่งอยู่ระหว่างตู้จดหมาย และสำนักพิมพ์นั่นแหละ

ข้อแนะนำคือ ถ้ามอง metafiction ว่าเหมือนหัวหอมที่แบ่งเป็นชั้นๆ เรื่องจะสนุกกว่านี้เยอะ ถ้าตัวละครหลักของแต่ละชั้นเป็นคนละคนกันหมด คุณจิรัฎฐ์ใช้แค่ตัวละครบรรณาธิการ และนักเขียน ทำไมไม่ลองสลับฉากให้เลขา หรือขอทานมาเป็นตัวเอกบ้างล่ะ นอกจากจะช่วยให้เรื่องนี้อ่านสนุกขึ้น (และยิ่งตอกย้ำความเป็นเขาวงกต) ยังน่าจะจุดประกายความคิดบางอย่างได้

ฉากที่อยากจะติเป็นการส่วนตัวคือ การเผชิญหน้ากันระหว่างนักเขียน และบรรณาธิการ โดยตัวมันเองแล้วไม่ได้เสียหายตรงไหนหรอก แต่ในฐานะที่เป็นคนในวงการ ขอบอกว่าฉากนี้ไม่สมจริงสมจัง ไม่เคยเห็นบรรณาธิการคนไหนทำตัวแบบนี้ พูดจาแบบนี้ อาศัยอยู่ในห้องลักษณะนี้ หรือจะมีบทสนทนาเช่นนี้กับนักเขียนได้ แต่ตรงนี้ไม่ซีเรียสแล้วกัน ถือว่าแซวขำๆ

J. Fowles's "The French Lieutenant's Woman"


ตอนที่วิจารณ์ Wild Sargasso Sea ได้พูดไปแล้วว่าเราไม่ใช่แฟนของวรรณกรรมคลาสสิค กี่เล่มๆ ที่เคยอ่านก็แทบจะนับนิ้วได้ และส่วนใหญ่ อ่านเพราะถูกบังคับในวิชาเรียน กระนั้นถ้าถามว่าเกลียด หรือต่อต้านไหม ก็คงไม่ใช่อีกนั่นแหละ เพราะพอฝืนใจหยิบมันขึ้นมาอ่านทีไร ก็มักจบลงด้วยความรู้สึกชื่นชมเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นความไม่ชอบวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 น่าจะมาจากบรรยากาศ หรือกลิ่นบางอย่างที่มันช่างไม่ดึงดูดเราเอาเสียเลย

The French Lieutenant's Woman เหมือนแขกบางคนในงานเลี้ยงที่กลิ่นตัวสุดจะทนทาน แต่กลับแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า หน้า ผมที่ต้องตาต้องใจเราเหลือเกิน นิยายเล่มนี้คือวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 ซึ่งถูกเขียนและตีพิมพ์ในปี 1969 ผู้หญิงของทหารฝรั่งเศสในชื่อเรื่องคือซาราห์ ในอดีตเธอหลงรักทหารฝรั่งเศสที่มาเรือแตกบนชายฝั่งประเทศอังกฤษช่วงสมัยวิคตอเรียน ซาราห์หนีตามผู้ชายคนนั้น ก่อนถูกทิ้งอย่างไม่ใยดี ความปวดร้าวในหนนั้นทำให้หญิงสาวเป็นโรคซึมเศร้า เธอมาเป็นคนรับใช้ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อว่าไลม์ หลายคนในเมืองรังเกียจเธอเพราะบาปในอดีต เจ้านายของเธอเองก็เป็นแม่ม่ายจอมเผด็จการ คลั่งศาสนา แต่พยายามทุกวิถีทางเพื่อจะเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น พระเอกของเรื่องคือชาร์ลส์ ขุนนางนักชีววิทยา ผู้หมั้นหมายกับเออเนสตินา ลูกสาวพ่อค้ามหาเศรษฐี ทั้งคู่มาพักตากอากาศที่เมืองไลม์ ได้เจอกับ "โศกนาฏกรรม" อันเป็นชื่อเล่นที่ชาวเมืองใช้เรียกซาราห์

ขนาดเล่ามาแค่นี้ ยังได้กลิ่นวรรณกรรมวิคตอเรียนโชยหึ่งเลย จุดหนึ่งที่เราไม่ชอบในนิยายจำพวกนี้คือเนื้อเรื่องที่คาดเดาได้ง่าย จนอ่านแค่เรื่องย่อ ก็บอกได้เลยว่ามันจะจบอย่างไร

แต่ความมหัศจรรย์ของนิยายเล่มนี้คือ น้ำเสียงที่ใช้เล่าเรื่องในศตวรรษที่ 19 กลับเป็นน้ำเสียงที่ทันสมัย แบบศตวรรษที่ 20 ล้วนๆ ฟาวเลสงัดเทคนิควรรณกรรมแบบหลังสมัยใหม่ ตั้งแต่การแทรก "ผม" ตัวตนของคนเขียนเข้าไปในนิยาย การหยุดดำเนินเนื้อเรื่อง เพื่อมาวิเคราะห์เชิงปรัชญา และจิตวิทยา (ชอบมากเวลาฟาวเลสพูดว่าคนปัจจุบันเช่นเราไม่อาจเข้าใจการกระทำของตัวละครด้วยความแตกต่างของยุคสมัย ซึ่งจำได้ว่าคำพูดลักษณะนี้แหละที่ได้ยินบ่อยๆ ระหว่างวิเคราะห์ถกวรรณกรรมคลาสสิคกับเพื่อน กับอาจารย์ในชั้นเรียน) การเตือนผู้อ่านว่านี่คือนิยายไม่ใช่เรื่องจริง การใส่ตัวเองเข้าไปในนิยาย (ฉากที่โดดเด่นสุดคือการพบกันระหว่างชาร์ลส์และฟาวเลสบนรถไฟ) กระทั่งการแต่งตอนจบขึ้นมาสองแบบ

โดยเนื้อแท้แล้ว ฟาวเลสรักษาขนบวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 ได้เป็นอย่างดี แก่นแท้ของ The French Lieutenant's Woman คือข้อขัดแย้งระหว่างหัวใจ และสมอง (sense and sensibility) ซึ่งใครจะตีความอย่างไร ขึ้นกับเชื่อว่าตอบจบแบบไหนของนิยายที่เป็นตอนจบ "จริงๆ " (ไม่ต้องพูดว่าอะไรคือ "จริงๆ " ในเรื่อง "ปลอมๆ " อย่างนิยายกันแน่) ส่วนตัวเราชอบตอบจบแบบที่สองมากกว่า บทเรียนที่เราเลือกจะสรุปจากนิยายเล่มนี้คือ ความสุขเป็นหน้าที่ส่วนบุคคล และมนุษย์เราไม่มีหน้าที่ต้องไปรับผิดชอบความสุขของใคร หรือมีสิทธิเรียกร้องมันจากใคร

สั้นๆ ก็คือ "สมองเหนือหัวใจ" ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่วิคตอเรียนเอาเสียเลย

ระหว่างเล่มนี้กับ Wild Sargasso Sea มีส่วนคล้ายคลึงกันไม่น้อย เราชอบมันทั้งคู่ แต่ขณะที่ Wild Sargasso Sea ทำให้เราอยากอ่าน Jane Eyre ในทางตรงกันข้าม The French Lieutenant's Woman เตือนให้รู้ว่าทำไมเราถึงเลือกจะไม่อ่านวรรณกรรมคลาสสิค

เพราะเราเองก็เป็นคนจากศตวรรษที่ 20 ซึ่งเสพติดน้ำเสียงแบบศตวรรษที่ 20 ไปเรียบร้อยแล้ว

M. Heidegger's "Poetry, Language, Thought"


ใน The Sovereignty of Good มีประโยคตลกๆ ประโยคหนึ่ง เมอดอชเชื่อว่านักปรัชญาส่วนใหญ่ทำงานเป็นกระบอกเสียงให้กับปีศาจ ส่วนไฮเดกเกอร์คือปีศาจตัวเป็นๆ (ที่จริงเราเริ่มสนใจอ่านงานของไฮเดกเกอร์ และนักปรัชญาคนอื่นๆ ก็จากนิยายสักเรื่องหนึ่งของเมอดอชนี่แหละ)

กระปู้นนู้น ร้อยปีที่แล้ว สมัยรางวัลโนเบลก่อตั้งใหม่ๆ สาขาวรรณกรรมนอกจากจะมอบให้นักเขียนแล้วยังมอบให้นักปรัชญาด้วย สำหรับคนยุคท้ายๆ ศตวรรตที่ 20 อย่างเรา ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมงานเขียนทางด้านปรัชญา ถึงถูกจัดอยู่ในหมวดวรรณกรรมได้ แต่ท่าจะไม่ใช่เราคนเดียวที่ไม่เข้าใจ เพราะยุคหลังๆ ก็เหมือนไม่มีนักปรัชญาได้รางวัลนี้อีกแล้ว อาจแสดงให้เห็นถึงญาณวิทยาที่แตกต่างกันไปในแต่ละสมัย

กระนั้นจะอ่านงานเขียนของปีศาจให้รู้เรื่อง แทนที่จะมองว่ามันเป็นหนังสือปรัชญา ให้มองว่าเป็นนิยายสักเล่มหนึ่ง น่าจะดีที่สุด

ซึ่งว่ากันตรงๆ เรารู้สึกว่า Poetry, Language, Thought และงานเขียนของไฮเดกเกอร์ที่เราเคยอ่าน ใกล้เคียงกับนิยาย มากกว่าบทความทางปรัชญา ไฮเดกเกอร์ตั้งคำถามว่าอะไรคือต้นกำเนิดของงานศิลปะ ก่อนจะโยกย้ายไปพูดถึงแจกัน รองเท้าของแวนโก๊ะ วิหารพาเทนอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โทรทัศน์ วิทยาศาสตร์ สุญญากาศ หลังๆ มีกระทั่งระเบิดปรมาณู ถ้าธรรมชาติของนิยาย หรือเรื่องแต่งคือการนำพาผู้อ่านจากจุดตั้งต้น ไปยังจุดหมายอีกแห่งหนึ่ง บทความของไฮเดกเกอร์น่าจะเข้าข่ายนี้ได้

ให้สมุนปีศาจอย่างเรา สรุปความคิดลูกพี่สั้นๆ ได้ดังนี้ ศิลปะคือสิ่งที่ช่วยให้ผู้เสพตระหนักถึงความจริง ผ่านสองกระบวนการ หนึ่งคือการเปิดพิภพสู่โลกา โดยไฮเดกเกอร์นิยามพิภพว่าคือสิ่งที่ปกปิดซ่อนเร้น ส่วนโลกาคือสิ่งที่เปิดเผย ความจริงจะปรากฎก็ต่อเมื่อพิภพถูกเปิดไปหาโลกา โดยช่องว่างที่เชื่อมต่อสองส่วนนี้เกิดจากแรงผลักดันกันระหว่างความต้องการจะปกปิดของพิภพ และความต้องการจะเปิดเผยของโลกา (ไฮเดกเกอร์อธิบายธรรมชาติของช่องว่างไว้อย่างน่าพิศวง แต่เก็บไว้อ่านเองแล้วกัน) และบนช่องว่างดังกล่าง ก็คืองานศิลปะที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงผลักดัน

ตัวอย่างที่ไฮเดกเกอร์ให้มาในบทความคือวิหารเทพเจ้า แกบรรยายไว้อย่างสวยงามถึงอิทธิพลของวิหาร อันมีต่อผืนดินที่มันตั้งอยู่ ป่าไม้ซึ่งล้อมรอบ ทะเลที่หันหน้าเข้าใส่ ท้องฟ้าที่โอบกอด และส่งต่อไปยังโลกทั้งใบ จนกลายเป็นว่าวิหารไม่ได้ตั้งอยู่ในโลก แต่โลกถูกทำให้เป็นโลกก็ด้วยการที่มีวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่นั่นเอง

ส่วนกระบวนการที่สองให้ผู้เสพตระหนักถึงความจริง ผ่านการรวบรวมองค์แห่งภววิสัยทั้งสี่ ได้แก่โลกา นภา เทวา และชีวา (ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ทั้งสองกระบวนการนี้เป็นกระบวนการเดียวกัน หากแต่มองจากต่างมุม) ที่ไหนมีศิลปะ ที่นั้นก่อเกิดการสะท้อนกลับไปกลับมาขององค์ทั้งสี่นี้ ภายในแจกัน แจกันที่ที่เป็นมากกว่าวัตถุ แต่ยังเป็น งานศิลปะ มีโลกาประทับอยู่ ในโลภานั้น ได้สะท้อนนภา เทวา และชีวาไว้ด้วย ภายในแจกัน มีนภาประทับอยู่ ในนภานั้น ได้สะท้อนโลกา เทวา และชีวาไว้ด้วย ภายในแจกัน มีเทวาประทับอยู่ ในเทวานั้น ได้สะท้อนนภา โลกา และชีวาไว้ด้วย และภายในแจกัน มีชีวาประทับอยู่ ในชีวานั้น ได้สะท้อนโลกา นภา และเทวาไว้ด้วย

เอาแค่นี้แล้วกัน พอหอมปากหอมคอกับเวทมนต์ของปีศาจ!

ทะเลของที่นี่/ความรัก (r.o.d.)


r.o.d. สองเรื่องควบเลยนะครับกับ ทะเลของที่นี่ และ ความรัก โดยคุณวยากร พึ่งเงิน

ทะเลของที่นี่ เป็นเรื่องสั้นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเราชอบเรื่องลักษณะนี้มาก เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ชอบวิธีเล่นกับภาพพจน์ จังหวะคำ และอารมณ์ฝัน ด้วยธรรมชาติของเรื่องแบบนี้ คงไม่อาจหยิบยกอะไรมาติได้ เว้นแต่เราอยากจะเรียกมันว่ากลอนเปล่า มากกว่าเรื่องสั้น อาจเป็นด้วยในวัฒนธรรมไทย แนวคิดกลอนเปล่ายังไม่ค่อยแพร่หลาย หรือเป็นที่นิยมนัก เราก็เลยเหมารวมงานเขียนที่ตัวอักษรเยอะๆ ต่อกันเป็นพรืดแบบนี้ว่าเรื่องสั้นไปหมด

แต่ท้ายที่สุด แน่นอนว่าคุณวยากรอยากเรียกมันว่าอะไรก็คงเป็นสิทธิของผู้เขียน

ถ้าให้คะแนนจริงๆ ความรัก ยังเป็นรอง ทะเลของที่นี่ อยู่หลายแต้ม ความรัก เหมือนเรื่องสั้นสองเรื่องเอามาแปะหน้าแปะหลังกัน ซึ่งดี และน่าสนใจทั้งสองเรื่อง แต่มันขัดๆ เกินๆ กันเอง เรื่องแรกเป็นเรื่องของแม่ และลูกสาว ในร้านขายสัตว์เลี้ยง ชอบวิธีนำเสนออากัปกริยาใสซื่อ บริสุทธิ์อย่างการเต้นรำ หัวเราะครื้นเครงของเด็กๆ ในรูปแบบแฝงนัยน่าสะอิดสะเอียน อ่านแล้วชวนให้นึกถึง The Book of Laughter and Forgetting ของกุนเดระ

เรื่องของแม่ทำท่าจะน่าสนใจแล้ว แต่อยู่ดีๆ ตัวละครพ่อก็แทรกเข้ามา โดยครึ่งหลังของ ความรัก ว่าด้วยบทสนทนาระหว่างพ่อ และลูกสาว เรื่องนี้ก็ดีเหมือนกัน โดยเฉพาะตอนจบ แต่เพราะเหมือนเรื่องของแม่ยังค้างคาอยู่ในใจคนอ่าน เราเลยไม่อาจชื่นชมมันได้อย่างเต็มที่

ความรัก เหมือนผลงานที่ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง และพัฒนา ข้อแนะนำคือให้แตกมันออกเป็นสองเรื่องไปเลย แล้วใช้ตัวละครชุดเดียวกัน หาตอนจบให้เรื่องของแม่ แล้วขยับขยายบทสนทนาในรถให้ยาวกว่านี้อีกนิด จะได้ทั้งความเท่ห์ และความลงตัว

J. Rhys's "Wide Sargasso Sea"


ชอบนิยายเรื่องนี้จัง แต่นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะเขียนถึงมันในแง่ไหนดี

Wide Sargasso Sea เป็น "spin off" ของ Jane Eyre ไรส์จับตัวประกอบตัวหนึ่งในนิยายของบรองเต้ ผู้หญิงจาไมกาสติไม่ดี ถูกล่ามโซ่อยู่ในห้องใต้หลังคา มาเป็นตัวเอกในนิยายของเธอ ไรส์ ซึ่งเป็นชาวโดมินิแกน (เกาะอีกเกาะหนึ่งในทะเลแคริบเบียน) พูดถึงที่มาที่ไปของตัวละครตัวนี้ ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก ชีวิตแต่งงานของเธอ และโรเชสเตอร์ (พระเอกเรื่อง Jane Eyre) ก่อนจะจบลงที่ประเทศอังกฤษ เหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่จุดไคลแมกซ์ในนิยายของบรองเต้

แค่พูดถึงประเด็น colonialism ก็วิเคราะห์กันได้ไม่รู้จบแล้ว ยอมรับว่าตัวเองไม่เคยอ่าน Jane Eyre แต่รู้เรื่องคร่าวๆ เพราะอ่าน The Eyre Affair (นิยายนักสืบไซไฟที่ยั่วล้อนิยายคลาสสิคเล่มนั้น) ถ้าให้เดา บรองเต้คงไม่ค่อยรู้จักทะเลแคริบเบียนเท่าไหร่ เพียงแต่สร้างตัวละคร "ผู้หญิงจาไมกาสติไม่ดี" เพราะต้องการกลิ่นความแปลกแยก คนอังกฤษในยุคนั้นเข้าใจว่าแคริบเบียนเป็นดินแดนแห่งเวทมนต์คาถา และภูตผีปีศาจ Wide Sargasso Sea คือ "หมัดสวน" ของผู้หญิงแคริบเบียน ที่อยากเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของตัวเองบ้าง

ประเด็นถัดมาคือ intertexuality ตัวละครซึ่งมีบทบาทเด่นและเชื่อมโยงนิยายสองเล่มนี้เข้าด้วยกันคือ "ผม" ในบทที่สอง ที่แม้ไรส์จะไม่ได้เอ่ยออกมาตรงๆ แต่ก็คงหนีโรเชสเตอร์ไปไม่พ้น ไม่รู้เหมือนกันว่าโรเชสเตอร์ใน Jane Eyre เป็นผู้ชายประเภทไหน แต่นักวิจารณ์ชอบพูดกันว่าบรองเต้ถอดแบบตัวละครตัวนี้มาจากลอร์ดไบรอน บ้าคลั่ง อันตราย แต่ก็ชวนให้หลงใหล ตัวละครแบบโรเชสเตอร์กุมใจนักเขียน และนักอ่านหญิงมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 (ที่จริงพระเอกของโสภาค สุวรรณ หรือทมยันตี ก็เข้าข่ายลอร์ดไบรอนเช่นเดียวกัน) และโรเชสเตอร์ใน Wide Sargasso Sea ก็ยังคงเป็นโรเชสเตอร์คนเดิม แต่ไรส์นำเสนอด้านมืดของผู้ชายจำพวกนี้ ขี้ขลาด เห็นแก่ตัว และขาดเสถียรภาพ

เพราะเหตุนี้กระมัง เราถึงได้ชอบนิยายของไรส์เล่มนี้นัก เราเป็นคนไม่โดนกับวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว Wide Sargasso Sea ซึ่งเป็น "หมัดสวน" ของนิยายจำพวกนั้น ถึงได้ถูกอกถูกใจคนอย่างเรานัก ซึ่งนอกจากจะเป็น "หมัดสวน" Wide Sargasso Sea ยังรักษาขนบของวรรณกรรมในยุคบรองเต้เอาไว้ได้อย่างสวยงาม นี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่บรรยายความได้สละสลวยสุดเท่าที่เราเคยอ่าน ชนิดที่ว่าแทบได้กลิ่นอากาศของเกาะแคริบเบียน และสัมผัสเม็ดทรายบนชายหาดเลยทีเดียว

เขียนมาเสียยาวเหยียด ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นเหยียดเพศ และความเป็นนิยายประวัติศาสตร์ของมันเลย สรุปเลยดีกว่าว่า Wide Sargasso Sea เป็นหนังสือสั้นๆ (112 หน้า) ที่ลึกมากๆ ขนาดคนไม่ชอบวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 อ่านเล่มนี้จบแล้วยังร่ำๆ จะไปหา Jane Eyre มาอ่านเลย

This Piece Of Poetry Is Meant To Do Harm

เพลงนี้จากภาพยนตร์เรื่อง Short Bus ครับ ขอมอบให้แก่นักประชาธิปไตยจอมปลอมทุกคนที่ทำเนียบรัฐบาล คำว่า "อหิงสา" "สันติ" และ "ศีลธรรม" ของพวกท่าน มันแปลว่า "สงคราม" ดีๆ นี่เองในพจนานุกรมของผม

You've been watching over me
Saying you're keeping me company
I should be grateful, I suppose
And compare you to a summer's rose

You've been talking sweet to me
about peace and loving harmony
But I know what you say about me
So now I tell you cause I gotta break free

That I can't give you no false affection
I can do without your phony charm
This train ain't moving in your direction
This piece of poetry is meant to do harm

Please don't give me no warm reception
What you call peace to me is a call to arms
Some are singing to raise affection
But this piece poetry is meant to do harm

So with what shall I compare thee?
Summer's clay or winter's sleet?
You made a non-believer out of me,
Now you ask for my sympathy?

No, take your words and take your vows
Take your flake-fuelled buddhist bows
Let the cool winds roughly shake
Out all darling buds of fake

I can't give you no false affection
I can do without your phony charm
This train ain't moving in your direction
This piece of poetry is meant to do harm

And don't you give me no warm reception
What you call peace to me is a call to arms
I'm not singing to raise affection
This piece of poetry is meant to do harm

"กฎการเคลื่อนที่: การเดินทางกลับบ้านของผมกับปู่" (r.o.d.)


ใครที่ตามอ่านบลอคนี้เป็นประจำ คงคุ้นๆ ว่า r.o.d. ย่อมาจาก read on demand เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการณ์ของรักชวนหัว ถ้าใครมีเรื่องสั้นอยากให้เราอ่าน ส่งมาที่ laughable-loves@hotmail.com แล้วถ้ามีเวลา จะอ่าน และนำมาวิจารณ์ให้ ตอนแรกนึกว่าจะด๋อยไปเสียแล้ว ต้องขอบคุณคุณภาคภูมิมากๆ ที่ยังส่งเรื่องสั้นมาร่วมสนุกในโครงการณ์นี้ เป็นเกียรติอย่างมากเพราะ กฎการเคลื่อนที่ฯ คือหนึ่งในเรื่องสั้นที่ผ่านการประกวดนายอินทร์ปีล่าสุด และรวมอยู่ในรวมเรื่องสั้นชุด ดอยรวก

กฎการเคลื่อนที่ฯ เล่าถึงการเดินกลับบ้านของปู่ และหลาน โดยอิงอยู่บนกฎการเคลื่อนที่สามข้อของนิวตัน สารภาพเลยว่าตอนที่เห็นเรื่องสั้นนี้ในหนังสือ ดอยรวก แค่เปิดผ่านเท่านั้น ความรู้สึกในตอนนั้นคือ "เดาเรื่องได้" เสร็จแล้วก็เปิดไปดูย่อหน้าสุดท้าย เมื่อเห็นว่าเรื่องลงเอยแบบที่เราคิดว่ามันเป็นจริง ก็เลยข้ามไป ถ้าคุณภาคภูมิไม่ได้ติดต่อมาโดยตรง คงไม่ได้อ่านซ้ำ

ซึ่งนี่เป็นนิสัยในการอ่านที่ไม่ดีครับ

พอได้มาอ่าน กฎการเคลื่อนที่ฯ อย่างละเอียดจริงๆ ถึงพบว่า "เราเดาผิด" ชอบตอนจบของเรื่องนี้ มันมีความ "กำกวม" เป็นเสน่ห์ทำให้เรื่องนี้ไม่ได้คาดเดาง่ายเกินไปนัก ถึงเหตุการณ์คร่าวๆ จะเหมือนกับที่เราเดาไว้ แต่รายละเอียดที่ต่างออกไปช่วยให้ กฎการเคลื่อนที่ฯ ไปไกลเกินเรื่องสั้นเรียกน้ำตาธรรมดา

ข้อเสียหนักสุดของเรื่องนี้ก็คือการเล่าเรื่องผ่านกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็น gadget หลักเสียด้วย สำหรับคนที่คุ้นเคยกับวิชาฟิสิกส์ และรู้ว่ากฎข้อสามคืออะไร จะเดาเรื่องได้คร่าวๆ ทันที นอกจากนี้เหมือนกับว่าผู้เขียนยังนำเอากฎข้อหนึ่ง และข้อสองมาผสานกับเหตุการณ์เดินกลับบ้านได้อย่างไม่ค่อยลงตัวนัก ถ้าตัดโครงสร้างตรงนี้ออก แค่ปูว่าปู่เป็นนักฟิสิกส์ และพูดถึงเฉพาะกฎข้อสาม น่าจะช่วยให้เรื่องนี้กลมกล่อมขึ้นได้

เรื่องนี้มีการบรรยายฉากที่ดีครับ คนเขียนเก็บรายละเอียดเก่ง แต่ยังขาดความน่าสนใจอยู่บ้าง ช่วงแรกเหมือนกับผู้เขียนปูเรื่องไปเรื่อยๆ เพื่อรอปล่อยไคลแมกซ์ในตอนจบมากกว่า เวลาที่ไม่มีอะไรเล่า ทางออกหนึ่งคือการใช้น้ำเสียงที่น่าสนใจ ชอบน้ำเสียงของ "ผม" ในปัจจุบัน มากกว่า "ผม" ตอนเป็นเด็ก (อาจเป็นเพราะใน ดอกรวก มีแต่เรื่องสั้นย้อนอดีต เรื่องสั้นที่ตัวเอกเป็นเด็กจนผู้อ่านอย่างเราค่อนข้างเอียน) น่าจะพัฒนาเรื่องจากมุมมองนั้นควบคู่กันไปด้วยครับ

D. Lodge's "The Art of Fiction"


ความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน The Art of Fiction คือเหมือนเราเป็นช่างตีเหล็ก แล้วอยู่ดีๆ มีคนเดินเข้ามาในร้านเรา บอกว่าเครื่องมือชิ้นนู้นชิ้นนี้มันเรียกว่าอะไร บางชิ้นเรารู้ชื่ออยู่แล้ว แต่ก็มีบางชิ้นที่ใช้จนเคยมือ แต่เพิ่งรู้ว่ามันเรียกว่าอะไรเหมือนกัน

The Art of Fiction พูดถึงเทกนิคทางวรรณกรรมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของมุมมอง การแบ่งบท การตั้งชื่อตัวละคร ไปจนถึงของยากๆ เช่น กระแสสำนึก เหนือจริง สัจนิยมมายา โดยในแต่ละบท ลอดจ์จะยกตัวอย่างสั้นๆ จากวรรณกรรมคลาสสิค แล้ววิเคราะห์แตกยอดจากตัวอย่างนั้นๆ โดยบางครั้งก็แอบแทรกผลงานของตัวเองเข้าไปด้วย ซึ่งเราจะอ่านข้ามๆ ไปเพราะไอ้เดวิด ลอดจ์นี่มันเป็นใครวะ ไม่เคยรู้จัก (ฮา)

The Art of Fiction ทำให้เรานึกถึงบทโต้เถียงคลาสสิค ว่าอะไรสำคัญกว่ากันในการเขียนหนังสือ ระหว่างภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ถ้าถามเราในตอนนี้ ก็ขอตอบกลางๆ politically correct ไปก่อนว่าสำคัญทั้งคู่ เราเป็นนักเขียนหนังสือภาคปฏิบัติ คือเคยร่ำเรียนวิชาในห้องเรียนมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่เน้นการอ่านเอง เขียนเองมากกว่า พวกศัพท์แสงทางวรรณกรรมไม่ค่อยรู้อะไรกับเขาหรอก การอ่าน The Art of Fiction เหมือนมีคนมาปรับระดับพื้นฐาน ให้ระบบความคิดเราเป็นระเบียบมากขึ้น ตั้งแต่นี้อารามจะหยิบจับเครื่องมือทางวรรณกรรมตัวไหน พอรู้ว่ามันเรียกชื่ออย่างไร คงหาเจอบนชั้นได้ง่ายขึ้น (ลักษณะนี้เขาเรียกว่า appellation ซึ่งเป็นคอนเซปที่อัลทาซาร์ และลาคานพัฒนาขึ้นมาในทฤษฎีมาร์คซิส และจิตวิทยาวิเคราะห์ตามลำดับ...แต่ไว้คุยวันหลังดีกว่า)

ในทางตรงกันข้าม เราก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีพื้นฐานภาคปฏิบัติเลย แล้วมาอ่านหนังสือเล่มนี้ จะได้อะไรหรือเปล่า เช่นพอถึงบท "ผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้" ถ้าไม่เคยลองใช้ แต่รู้ว่าในทางทฤษฎีมันคืออะไร จะสามารถเข้าใจมันได้สักแค่ไหน

เราคิดว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ (ซึ่งมาจากการฝึกฝน ฝึกเขียน ฝึกอ่าน) คงไม่สามารถเปิดตำราทุกย่างก้าว ทฤษฎีทางวรรณกรรมไม่ใช่แผ่นที่ที่บอกว่าเราควรเดินไปทางไหน เราคิดว่ามันเหมือนรองเท้ามากกว่า คือถ้ามีทฤษฎีอยู่กับตัว ก็สามารถก้าวเดินไปตามทางที่เราเลือกได้อย่างมั่นอกมั่นใจขึ้น

สำหรับคนท้อแท้



ของฝากจาก dustinland ครับ เป็นเวปคอมมิกที่เราตามอ่านเป็นประจำ ดูอย่างนี้ค่อนข้างเล็ก คลิกเข้าไปได้นะครับ หรือไปดูที่เวปของเขาเลยก็ได้ที่

http://dustinland.com/archives/archives345.html

เรื่องตลกคือเราเป็นคนไม่ชอบการ์ตูนอเมริกัน (แทบจะทุกประเภทเลยด้วยซ้ำ) แต่กลับชอบเวปคอมมิกของฝรั่ง (ซึ่งบางทีก็เขียนโดยคนออสเตรเลีย อังกฤษ อินโดนีเซียก็มี) อย่าง dustinland ก็เป็นหนึ่งในการ์ตูนออนไลน์ที่อ่านประจำ อัพเดททุกวันจันทร์ โดยแต่ละอาทิตย์จะมีอีตาคนเขียน หรือดัสตินออกมาพูดถึงประเด็นต่างๆ เขาเป็นคนนิวยอร์ก นิสัยฮาร์ดคอร์ และก็ค่อนข้างปากร้าย ด้วยเหตุนี้ dustinland ฉบับที่ยกมานี้จึงค่อนข้างพิเศษ

ใครที่กำลังเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ ผิดหวังในเรื่องงาน ความรัก หรืออะไรก็ตาม ขอให้เข้มแข็ง และสู้ต่อไปนะครับ อย่างที่ดัสตินของบอกในช่องสุดท้าย "ชีวิตผ่านไปเร็วกว่าที่เราคิดนัก"

I. Murdoch's "The Sovereignty of Good"


เมื่อสิบปีก่อน ครั้งแรกที่เราเรียนวิชาปรัชญา จำได้ว่าเรียนเรื่อง "ศีลธรรม" ซึ่งเป็นสาขาใหญ่ในปรัชญาตะวันตก ศึกษาว่าความดีคืออะไร เหตุใดคนเราถึงทำความดี และจะให้การศึกษาคนอย่างไรถึงจะหันไปทำความดี ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะคนไทยชอบละเลยเรื่องแบบนี้ จับเอา "ศีลธรรม" ไปเท่ากับ "ศาสนา" แล้วปล่อยให้เป็นธุระของศาสนาที่จะเสริมสร้างสรรค์ศีลธรรมในสังคม ซึ่งถ้าว่ากันตามตรง "ศาสนา" ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ "ศีลธรรม" เท่านั้น (แม้จะเป็นส่วนใหญ่สุดก็ตาม) หลักศีลธรรมที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเช่นประจักษ์นิยม (Empiricism) ของคานท์ กล่าวว่าการทำความดีคือทำอะไรก็ตามซึ่งนำไปสู่ผลประโยชน์สูงสุดของสังคม

ตัวอย่างคลาสสิคของ "ปัญหาทางศีลธรรม" (dilemma) ที่นักเรียนวิชานี้จะต้องเจอคือ คนสองคนถูกมัดติดกับรางรถไฟตรงทางแยก รถไฟกำลังจะมา เรามีโอกาสสลับรางให้รถไฟไปทับใครก็ได้ เราควรสลับรางไปทางไหน ปัญหาตัวนี้แปรเป็นข้อย่อยได้ร้อยแปด เช่นถ้าฝั่งหนึ่งมีคนสองคน กับอีกฝั่งมีแค่คนเดียว นักประจักษ์นิยมก็คงสลับรถไฟไปหาคนคนเดียวได้อย่างไม่ต้องลังเล หรือถ้าฝั่งหนึ่งเป็นคนแปลกหน้า กับอีกฝั่งหนึ่งเป็นคนที่เรารู้จัก ตามหลักศาสนาคริสต์ เราอาจต้องเสียสละคนใกล้ตัว ตามหลักพุทธ ญาติสนิทน่าจะสำคัญเหนือคนแปลกหน้า และตามหลักประจักษ์นิยม ถ้าคนที่เรารู้จักเป็นคนดีเกินมาตรฐาน ก็รักษาเขาไว้ แต่ถ้ามันเลวกว่ามาตรฐาน ก็ปล่อยให้ถูกรถไฟทับเสีย

ที่จริงแล้ว ต่อให้ไม่ได้ศึกษาปรัชญา หรือศาสนามาเลย แต่ละสังคมก็มักจะมีวิถีประชาซึ่งใช้ตัดสินปัญหาทางศีลธรรมเหล่านี้ เช่นในสังคมที่บ้าประชาธิปไตยจัดอย่างอเมริกา ก็อาจให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนทั้งประเทศมาลงคะแนนเสียงว่าใครสมควรถูกรถไฟทับ ในสังคมไทยที่ "บ้าคนดี" ก็ดูว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าคนคนนั้นเป็นคนที่มี "ทุนทางสังคม" สูง ไม่ว่าทำอะไรก็ออกมาถูกทั้งนั้น แล้วค่อยมีนักวิชาการออกมาเขียนบทความสนับสนุนทางเลือกนั้นๆ (ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายดาย เพราะโดยนิยาม ปัญหาทางศีลธรรมก็คือแต่ละทางเลือกล้วนมีทฤษฎีมาสนับสนุนได้ทั้งนั้น)

ยกตัวอย่างเช่น สังคมมองรัฐประหารที่ผ่านมาว่าเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะ "คนดี" เข้ามาขับไล่ "คนเลว" ออกไป ซึ่งหลังจากรัฐประหาร ก็ปรากฎปัญญาชนสยามออกมาให้เหตุผลสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการจริงๆ

อย่างไรก็ตามเล่ามายาวเหยียดเพราะอยากชี้ให้เห็นว่า "ปัญหาทางศีลธรรม" นั้นมีอยู่จริง และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถรู้คำตอบ หรือมีแค่คำตอบเดียว The Sovereignty of Good คือหนึ่งในหนังสือที่พิจารณาปรัชญาทางศีลธรรม เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือความดี จริงๆ ไม่ค่อยอยากพูดถึงหนังสือโดยตรงเท่าไหร่ เพราะ 1) ไม่รู้จะพูดอะไร 2) อยากเก็บองค์ความรู้นี้ไว้ใช้วิเคราะห์นิยายเล่มถัดไปของเมอดอชมากกว่า

เล่านิทานแล้วกัน เราฟังปัญหารถไฟตอนมาเมืองนอกปีแรก ถัดจากนั้นสามสี่ปี เรียนวิชา "จิตวิทยา และปรัชญาของอารมณ์" อาจารย์เป็นชายหนุ่มชื่อเจสซี่ ย้อมผมสีน้ำเงิน สวมเสื้อยืดแนบเนื้อเห็นหัวนม วาดการ์ตูนเก่ง แกวาดรูปคนสองคนถูกผูกตัดกับรางรถไฟ แล้วก็ให้นักเรียนถกปัญหาข้อนี้ พอถึงตอนจบแกอธิบายว่า สำหรับแกแล้ว ความดีงามไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเลือกทางไหน แต่อยู่ที่ว่าเลือกเสร็จแล้ว ผู้เลือกแสดงอารมณ์เช่นไร ยะโสโอหัง มั่นอกมั่นใจเหลือเกินว่าข้าเลือกถูก หรือร้องห่มร้องไห้ที่ต้องทำการตัดสินใจดังกล่าว เจสซี่บอกว่านี่ต่างหากมาตรที่ใช้ตัดสินว่าอะไรคือความดีงาม

ลองเก็บไปคิดดูนะว่า "อารมณ์" กับ "ศีลธรรม" มันเกี่ยวข้องกันยังไง

โอ้ แม่เทพธิดา และพวกเขาเหล่านั้นที่ทำเนียบ


รู้จักเธอคนนี้ไหมครับ เธอชื่อ "อูล์ด" เป็นหนึ่งในสามพี่น้องเทพธิดาจากการ์ตูนเรื่อง Oh! My Goddess ตอนที่อาจารย์ฟูจิชิมาเปิดตัวตัวละครตัวนี้ มีคำพูดติดตลก ซึ่งใช้บรรยายนิสัยของเธอคือ "อูล์ดเป็นคนที่ยึดติดกับเป้าหมาย จนไม่เลือกวิธีการ แต่ก็สามารถยึดติดกับวิธีการ จนลืมเป้าหมายได้เช่นกัน" เคอิจิ ตัวเอกของเรื่อง และเราเชื่อว่าผู้อ่านหลายคน รวมไปถึงตัวเราด้วยนั้น ฟังคำพูดนี้อย่างงงๆ ประมาณว่ามันเป็นไปได้ด้วยหรือ มีคนแบบนี้ในโลกแห่งความจริง หรือมีเฉพาะในการ์ตูน

ปรากฎว่ามีครับ หลายคนด้วย ตอนนี้พวกเขาออกันอยู่ในทำเนียบรัฐบาล

ย้อนไปเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว สมัยรัฐบาลทักษิณ ความน่าหงุดหงิดของรัฐบาลยุคนั้นคือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของนายก ไม่อาจลุกขึ้นมาทำอะไรได้สักอย่าง สื่อถูกปิดปาก กลไกสภาง่อยเปลี้ยเสียแข้งขา คนที่คลั่งไคล้ในตัวทักษิณก็ยังมีอยู่เหนียวแน่น ด้วยเหตุนี้ขบวนการหนึ่งจึงเกิดขึ้นมา เพื่อต่อต้านด้วยวิธี "นอกระบบ" แต่ยังถูกกฎหมาย และอยู่ภายใต้หลักอหิงสา และสันติ

ข้อดีของระบบประชาธิปไตยคือสมดุลทางอำนาจ หมายถึงสามพลังสูงสุดได้แก่ รัฐบาล ศาล และ รัฐสภา คอยถ่วงดุล ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ยิ่งในสังคมไทยมีอำนาจที่สี่ ซึ่งแม้ไม่อาจขยับเขยื้อนตัวได้ตามปรารถนา เพราะตามหลักการแล้วอำนาจนี้อยู่เหนือการเมือง แต่ก็คอยเข้ามาโอบอุ้ม แก้ไขสถานการณ์วิกฤติบ่อยครั้ง

กรณีที่สภาพถ่วงดุลตรงนี้พิการ อาจจำเป็นต้องมีการเมืองภาคประชาชนเข้ามาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบรัฐบาล ถือเป็นสิ่งที่ดี และรับได้ครับ แต่ต้องไม่ลืมว่ามันเกิดมาจาก "เงื่อนไขเฉพาะกิจ" เท่านั้น เมื่อความ "เฉพาะกิจ" หมดไป สิ่งนี้ก็สมควรอ่อนแรงลง หรือหายไปจากสังคมด้วยซ้ำ

ลองหันมามองสังคมไทยตอนนี้อย่างเป็นกลางนะครับ ว่ามันเหมือนหรือแตกต่างไปจากเมื่อสามปีก่อนอย่างไร อำนาจที่สี่ได้ออกมาชี้นำตั้งแต่สมัยครั้งกระนู้นว่า เราควรหันมาพึ่งศาล หรือกระบวนการทางกฎหมายบ้าง ซึ่งศาลก็ได้พิสูจน์แล้วในความบริสุทธิ์ยุติธรรมตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เรื่องการปิดปากสื่อ คงไม่ต้องพูดถึง ส่วนรัฐสภา ความแตกแยกของพรรคใหญ่น่าจะนำมาซึ่งกลไกการตรวจสอบที่ใช้การได้ดังเดิม

เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไปแล้ว สมควรหรือไม่ครับที่เราจะเปลี่ยนวิธีการเพื่อจุดหมาย แต่น่าสังเกตว่าช่วงสาม สี่เดือนที่ผ่านมา "วิธีการ" เริ่มทวีความเข้มข้น และรุนแรงขึ้น "อหิงสา" และ "สันติ" ถูกโยนทิ้งคลองไปนานแล้ว ขณะที่ "ความจำเป็น" กลับลดน้อยถอยลง

ในหนังสือ The Anatomy of Fascism ผู้เขียนพูดถึงปรากฎการณ์น่าสนใจในยุคนาซี เมื่อผู้นำใช้กลไกโฆษณาชวนเชื่อ ชี้ชักให้ชาวเยอรมันรังเกียจชาวยิว แต่น่าแปลกว่ายิ่งข้อกล่าวหาเกินจริง หรือเชื่อได้ยากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนผู้คนเต็มใจจะเชื่อขึ้นเท่านั้น เสียดายที่แพคตันไม่ได้วิเคราะห์ปรากฎการณ์ตรงนี้ ในความเห็นเรา มันเกิดจากการที่คนหมู่มากยึดติดกับ "ความต้องการจะเชื่อ" ดังนั้นยิ่งมูลอ่อนเท่าไหร่ คนก็ยิ่งใส่พลังงานที่จะเชื่อทดแทนกัน

กรณีคล้ายๆ กันในบ้านเรา ยิ่งสภาพติดตายทางการเมืองคลี่คลายลงเท่าใด พวกเขาเหล่านั้นที่ทำเนียบก็ยิ่งมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้น ถ้าเหตุการณ์ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา (บุกยึดสถานีโทรทัศน์ สองฝ่ายปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต ระเบิดน้ำตาซึ่งนับวันจะกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ) เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว ยังพอเข้าใจได้ แต่สำหรับทุกวันนี้ ขอถามพวกเขาจากจริงใจ

...ต้องทำกันถึงขนาดนี้เชียวหรือ

ทางออกธรรมดาๆ ที่ตรงไปตรงมา (ธงชัย วินิจจะกูล)


ขออนุญาตยกคำอาจารย์ขึ้นมาดื้อๆ เลย แล้วก็ขอบคุณ filmsick ด้วยครับที่ช่วยเผยแพร่บทความนี้ และทำให้ผมได้มีโอกาสอ่าน

อ้างอิงจากประชาไทครับ

ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2551 มีแถลงการณ์จากกลุ่มบุคคลใหญ่น้อยสารพัดพยายามเสนอทางออกต่อสถานการณ์ขณะนี้รวม 17 ฉบับ ผมได้รับร่างที่ส่งผ่านกันมาให้พิจารณาอีก 2 ฉบับ รวมเป็น 19 ฉบับ

ในจำนวนนี้ 11 ฉบับเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก อีก 3 ฉบับเสนอให้ยุบสภา อีก 2 ฉบับเสนอว่ายุบสภาก็ได้ นายกฯ ลาออกก็ได้ อีก 3 ฉบับไม่เสนออะไรเลย ข้อเสนอเหล่านี้ให้เหตุผลไปต่างๆกัน ผู้สนใจการเมืองคงคิดคำนวณข้อดีข้อเสียของแต่ละทางออกด้วยความลำเอียงเลือกข้างตามจริตของตน

น่าดีใจที่ไม่มีใครเสนอทางออกซึ่งอาจอยู่ในใจบางคนแต่ไม่กล้าพูดออกมา นั่นคือรัฐประหาร อย่างน้อยก็ยังมีความละอายใจกันอยู่บ้าง

น่าดีใจที่ไม่มีใครเสนอทางออกอีกอย่างซึ่งอาจอยู่ในใจหลายคน แต่มิอาจเอื้อมเสนอ อย่างน้อยก็ยังมีความยับยั้งชั่งใจกันอยู่บ้าง

แต่น่าตกใจที่มีไม่กี่คนที่เสนอทางออกอีกอย่างซึ่งอาจจะง่ายที่สุดและถูกต้องชอบธรรมที่สุด (เกษียร เตชะพีระเสนอความคิดนี้ในบทความของเขาแต่โดนปัญญาชนพันธมิตรฯ โจมตีราวเป็นศัตรู นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เสนอในการประชุมเร็วๆนี้ที่จุฬาฯ ก่อนการปะทะกัน) นั่นคือ

ผู้นำพันธมิตรฯ ควรมอบตัวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายศาล เพื่อให้เผชิญกับกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ส่วนการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไปได้ในที่อื่นที่เหมาะสมกับการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย (ที่ไม่ใช่เพื่อยึดอำนาจรัฐ)

ทางออกนี้ต้องการความกล้าหาญและความรับผิดชอบของผู้นำพันธมิตรฯ เมื่อกล้าก่อปัญหา กล้าขัดขืน ก็สมควรกล้าเผชิญหน้ากับกฎหมายอย่างมีอารยะ ต้องทำเช่นนี้ต่างหาก การประท้วงของพันธมิตรฯ จึงจะนับเป็นอารยะขัดขืน

หากไม่ทำเช่นนี้การกระทำของพันธมิตรฯ ย่อมนับเป็นการกระทำของอันธพาลการเมืองที่วางอำนาจบาตรใหญ่อยู่เหนือกฎหมาย ถึงจะใหญ่โตแค่ไหนก็เป็นแค่กุ๊ยการเมืองระดับชาติที่น่ารังเกียจ

ในสังคมไทย แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังอยู่ใต้กฎหมาย ผู้นำพันธมิตรฯเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหนกันจึงวางอำนาจบาตรใหญ่เหนือกฎหมายได้

เกลียดทักษิณ ก็อย่าทำตัวอย่างเดียวกับที่ตนกล่าวหาทักษิณ

ผมอยากเห็นท่าน ผบ.ทบ. หรือคนระดับนั้นไปเชิญตัวผู้นำพันธมิตรฯถึงที่ชุมนุม ไปมือเปล่าๆ ขอให้ผู้ชุมนุมเปิดทางให้มีการมอบตัวกันแต่โดยดี จากนั้นเป็นเรื่องของศาล

ผู้นำพันธมิตรฯ ควรกล้าหาญรับผิดชอบความบกพร่องของตน (หรือใครคิดว่าพวกเขาไม่มีความบกพร่อง?) อย่าเอาชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนผู้สนับสนุนตน เข้าเสี่ยงตายแทนตัวเองเลย

ความกล้าหาญอาจช่วยให้ผู้นำพันธมิตรฯ กลายเป็นวีรบุรุษในฉับพลันอีกด้วย

อาจมีข้อโต้แย้งว่าเป็นไปได้ยาก เพราะผู้นำพันธมิตรฯ คงไม่ยอม เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะทางออกอื่นก็ไม่ง่ายสักข้อ และก็คงมีคนอื่นไม่ยอมเช่นกัน ผู้นำพันธมิตรฯเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหนกันที่เราต้องคอยเอาใจ

อาจมีข้อโต้แย้งว่าทางออกนี้ไม่ยุติความขัดแย้งในปัจจุบันอย่างถึงราก เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะทางออกอื่น ไม่ว่ายุบสภาหรือลาออก ก็ไม่ยุติความขัดแย้งพื้นฐานแต่อย่างใด เรากำลังหาทางเพียงแค่ลดการประจันหน้าและลดอุณหภูมิทางการเมืองลง ทุกทางออกหวังผลแค่ต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยกันทั้งนั้น

อาจมีข้อโต้แย้งว่า มวลชนของพันธมิตรฯ คงยอมไม่ได้ เหตุผลข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะขึ้นอยู่กับผู้นำพันธมิตรฯ จะกล้าหาญทำความเข้าใจกับคนของตนหรือไม่ต่างหาก มวลชนของพันธมิตรฯ เป็นคนมีการศึกษาและโตๆกันแล้วทั้งนั้น

ทั้งทางออกอื่นก็คงมีมวลชนของฝ่ายตรงข้ามพันธมิตรไม่ยอมรับเช่นกัน ไม่เห็นมีปัญญาชนนักวิชาการคิดถึงเขาบ้างเลย

ทางออกที่เสนอนี้ยังเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตย และไม่ทำลายความน่าเชื่อถือของศาลอีกด้วย ในทางกลับกันการทำตัวอยู่เหนือกฎหมายของพันธมิตรฯ เป็นการทำร้ายอำนาจตุลาการที่ตนยกย่องเชิดชู

อยากจะสร้างการเมืองใหม่ ก็กรุณาอดทนจนกว่าประชาชนจะเห็นด้วย มิใช่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ บังคับขู่เข็ญ ยัดเยียดให้คนครึ่งค่อนประเทศจำต้องยอมรับ

ทางออกง่ายๆ ตรงๆ และถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายข้อนี้ถูกมองข้ามเสียสิ้นเพราะความลำเอียงที่แผ่ซ่านจนน่ากลัว จนไม่ฟังกันอีกต่อไป

น่าตกใจที่ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกฎหมายทนายความและนักสิทธิมนุษยชนทิ้งหลักการ หลักวิชาชีพ กลายเป็นนักเคลื่อนไหวมวลชนที่มุ่งเอาชนะกันไปหมด ต่างลำเอียงกระเท่เร่ให้ท้ายการวางอำนาจบาตรใหญ่อยู่เหนือกฎหมาย ลำเอียงจนขาดความยั้งคิด เอาแต่ได้ เลือกปฏิบัติ ขาดหลักการ เกลียดชังทักษิณจนขาดสติ ทำลายทุกอย่างและใครก็ตามที่ขวางหน้า

พวกตนข่มขู่คุกคามคนอื่นก็ถือเป็นความรักชาติ ใช้ความรุนแรงก็ถือเป็นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ พกอาวุธก็ถือเป็นสันติวิธี รวมกันแล้วก็ถือเป็น “ข้ออ่อนที่มีอยู่บ้าง”พอรับได้ หากฝ่ายตรงข้ามตนทำผิดก็เรียกร้องเอาผิดราวจะกินเลือดกินเนื้อ

คนมากมายไม่กล้าทักท้วงทัดทานเพราะไม่อยากโดนก่นด่าทำลาย เสียเพื่อนเปลืองตัว

ประชาชนหลายสิบล้านที่กำลังเฝ้าดูพันธมิตรฯ และปัญญาชนชาวกรุง จะให้พวกเขาเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไรกัน พวกเขาย่อมคิดว่าประเทศชาติไม่ใช่ของเขาแต่เป็นของเทวดาชาวกรุงที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง แถมยังมีนิสัยเด็กๆ คือ เอาแต่ได้แต่ไม่กล้ารับผิดชอบ

พวกเขากำลังอัดอั้นตันใจจนกำลังจะระเบิดสักวันว่า พวกเขาเป็นแค่ไพร่ทาส เป็นพลเมืองชั้นต่ำกว่าพันธมิตรฯ และปัญญาชนชาวกรุงหรืออย่างไร

ทางออกที่ถูกมองข้ามนี้ เป็นวิถีปฏิบัติปกติที่ใช้กันอยู่เป็นประจำในนานาอารยะประเทศที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ เพื่อไม่ให้การประท้วงลามปามกลายเป็นการนองเลือด เป็นทางออกอย่างแรกๆที่ใครๆก็นึกได้จนเป็นสามัญสำนึก

ประเทศไทยประหลาดกว่าใครอื่นขนาดไหนกัน จึงมองข้ามทางออกธรรมดาๆและตรงไปตรงมาข้อนี้กันหมด หรือประเทศไทยมีระดับอารยะธรรมสูงต่ำผิดปกติกว่าคนอื่น จึงถือกฎหมายเป็นของเล่นที่จะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ

หรือปัญญาชนประเทศไทยมีระดับสติปัญญา ความเที่ยงตรงและความยึดมั่นในหลักการ อยู่ในระดับสูงต่ำผิดปกติต่างจากที่อื่นๆในโลก จึงนึกไม่ถึงทางออกอย่างแรกๆที่น่าจะเป็นสามัญสำนึก

ผมพบว่า มีหลายคนยอมรับว่าตนลำเอียง และเห็นว่าการเลือกปฎิบัติและเลือกใช้กฎหมายตามแต่ประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเขาเห็นว่ามีภารกิจที่สำคัญกว่ากฎหมายซึ่งต้องเอาชนะให้ได้

พวกเขาจึงจงใจมองข้ามทางออกธรรมดาๆและตรงไปตรงมาข้อนี้ เพราะเขาหวังบรรลุชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าการเคารพกฎหมาย

ความขัดแย้งทางการเมือง 2-3 ปีที่ผ่านมาวนเวียนอยู่กับหายนะก็เพราะความคิดสั้นพรรค์นี้แหละ

สรุป ยุบสภา? ลาออก? หรือมอบตัวแล้วเชิญชุมนุมกันต่อไปในสถานที่อื่นที่เหมาะสม?

ขอความกรุณาพิจารณาอย่างมีสติ อย่าเอาแต่ได้ อย่าคิดแต่จะเอาชนะกันจนทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า อย่าเกลียดกลัวจนถูกอวิชชาครอบงำ

ขณะนี้สายไปแล้วที่สำหรับทางออกที่สมบูรณ์ มีแต่ทางออกที่ก่อความเสียหายมากกว่ากับน้อยกว่า รักษาระบบสถาบันหลักต่างๆ มากกว่ากับน้อยกว่า และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน

ผมเบื่อแถลงการณ์ทั้งหลายเต็มทน แต่หากมีใครเสนอทางออกนี้ ผมจะขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง และขอจองลงชื่อล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ทันร่างไว้เลย

หน่อไม้ (ทรงกลด, นิ้วกลม, และทรงศีล)


เราเป็นคงไม่ชอบท่องเที่ยว หรือเดินทาง ไม่ใช่เพราะเลือดโบฮีเมี่ยนแรงเหมือนน้องอั๊พหรอกนะ แต่สำหรับเรา การเดินทางมันชวนให้นึกถึงการนั่งอยู่ในสนามบินคนเดียว นั่งเครื่องบินคนเดียวเป็นเวลาสิบแปดชั่วโมง (หรือยาวนานกว่านั้น) และที่ร้ายยิ่งกว่า การเดินทางบ่อยครั้งหมายถึงการจากบ้าน จากเพื่อนฝูง จากสิ่งแวดล้อมที่เรารัก และคุ้นเคยไป "ทำงาน" และ "ตกระกำลำบาก" ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะเป็นทริปสนุกสนาน หรือเพื่อนชวนไปเที่ยวไหน เราก็มักปฏิเสธ เพราะการเดินทางดึงเอาภาพเก่าๆ ที่ไม่ค่อยสวยสดงดงามออกจากสมองเราได้ร่ำไป

หรืออาจจะเป็นดังที่นิ้วกลมบอกก็ได้ เนื่องจากเราเป็นคนยึดติดอดีต ก็เลยชอบบ้าน และสิ่งแวดล้อมอันคุ้ยเคย เพราะสถานที่เหล่านั้นคืออดีต ขณะที่อนาคต คือจุดมุ่งหมายของการเดินทาง หมายถึงสิ่งที่เรายังไม่รู้

ระหว่างที่กำลังอ่าน หน่อไม้ หนังสือร่วมกันเขียนของ 3 ชีวิต 47 ตัวละคร เราก็กำลังเดินทาง เป็นการเดินทางแบบคุ้นเคย จากเมืองที่เรารัก สู่ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่นั้น ต้องบอกว่าเป็น "จุดสุดยอด" ของความรับผิดชอบ สี่เดือนถัดจากนี้ จะเป็นช่วงที่ความยากลำบากตลอดสิบปีที่ผ่านมากลั่นออกเป็นดอกเป็นผล เรียกว่าจะหมู่หรือจ่าก็ดูกันตอนนี้แหละ

กังวลไหม กังวลนะ กังวลมากๆ ด้วย แต่ก็พยายามมองโลกแบบนิ้วกลม คือมองอนาคต สิ่งที่ยังมาไม่ถึงว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแทน ชีวิตเราต้องประกอบไปด้วยความคุ้นเคย และความตื่นเต้นอยู่แล้ว ไว้ผ่านความตื่นเต้นช่วงนี้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยขอเวลากอบโกยความคุ้ยเคยในภายหลังจะเป็นไรไป

สืบเนื่องจากเราไม่ค่อยเดินทาง ชั้นหนังสือท่องเที่ยว หรือเดินทางก็เลยเป็นชั้นหนังสือที่เราแวะเวียนมาหยิบอ่านน้อยสุด เชื่อไหมถ้าบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราอ่านผลงานของพี่ก้อง น้องเอ๋ น้องอั๊พ อ่านแล้วก็ประทับใจมากๆ กับ หน่อไม้ เล่มนี้ เป็นเครื่องปลอบประโลมชั้นดี สำหรับคนที่ต้องจากบ้านมาไกล น้องเอ๋ครับ วัยพี่มันอาจจะผ่านช่วงชีวิตที่ทำสายตาปิ๊งๆ กับเรื่องความฝันไปแล้ว แต่ตัวหนังสือของน้องก็ช่วยดึงเอาช่วงเวลาดีๆ ความรู้สึกดีๆ บางอย่างกลับคืนมา น้องอั๊พขอให้สมหวังให้สิ่งที่ต้องการนะครับ จะขอเป็นกำลังใจอยู่ห่างๆ (ห่างมากๆ เพราะเราไม่รู้จักกัน) ส่วนพี่ก้อง ขอให้เป็นพี่ที่อบอุ่นของน้องๆ ต่อไปนะครับ