I. Calvino's "If on a Winter's Night a Traveler"


ตอนที่รู้ว่า ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทย และเปิดตัวครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ทั้งดีใจและทั้งตื่นเต้น อิตาโล คาลวิโนเป็นอีกหนึ่งนักเขียนในดวงใจ เท่าที่รู้นี่คือหนังสือเล่มที่สองของเขาซึ่งคนไทยจะได้อ่าน (อีกเล่มคือ มาโควัลโด ที่ตอนนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว)

ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นผลงานที่โด่งดัง ขึ้นชื่อที่สุดของคาลวิโน หลายคนกระทั่งยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอกของนักเขียนด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นผลงานที่ผสมผสานความเป็นคาลวิโนออกมาได้อย่างลงตัวสุด

นอกจากผลิตผลงานชั้นยอด คาลวิโนยังชอบแทรกประเด็นส่งเสริมให้คนรักการอ่านลงในนิยายของเขา นี่คือนิยายเกี่ยวกับการอ่าน การอ่านเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการเขียน หรือแง่มุมอื่นใดในแวดวงวรรณกรรม ขนาดว่าตัวละครยังพูดออกมาเลยว่า เธอไม่เคยสนใจใครเป็นคนเขียนหนังสือ เธอต้องการอ่านหนังสือที่แยกตัวตนนักเขียนออกจากผลงานให้มากที่สุด

ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เปิดตัวได้อย่างแสนเด็ดดวง "คุณกำลังจะอ่านนิยายเล่มใหม่ของอิตาโล คาลวิโน เรื่อง ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ผ่อนคลาย ตั้งสมาธิ หยุดคิดเรื่องอื่น ปล่อยวางโลกภายนอก ปิดประตูเสีย..." (ย่อหน้าเปิดตัวนี้ ถูกโหวตโดยสมาชิกชมรมห้องสมุดแห่งประเทศอเมริกาว่าเป็นหนึ่งในย่อหน้าเปิดตัวที่ยอดเยี่ยมที่สุด) ตัวเอกของเรื่องคือ "คุณ" กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วพบว่าตั้งแต่บทที่สองเป็นต้นไปมีแต่กระดาษเปล่า คุณจึงออกเดินทางเพื่อค้นหาเนื้อเรื่องที่ขาดหาย ระหว่างทางพบรักกับสาวนักอ่าน ถูกลักพาตัวโดยองค์กรสายลับ เข้าไปข้องเกี่ยวกับแผนการชั่วร้ายของนักปลอมแปลงหนังสือ และที่สำคัญคือ เผชิญหน้ากับหนังสือเล่มอื่นที่มีเพียงบทแรกเหมือนกัน

คาลวิโนเขียนนิยายเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายคือสร้าง "ประสบการณ์ตั้งต้นใหม่" ให้กับผู้อ่านตลอดทั้งเล่ม ใครเล่าจะปฏิเสธได้ว่าทันทีที่หยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง อ่านบทแรกจบ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นใคร และเนื้อเรื่องจะดำเนินต่อไปทางใด นี่คือ "ประสบการณ์ตั้งต้นใหม่" อันแสนพิเศษ และไม่มีช่วงเวลาใดๆ ของการอ่านจะเทียบเท่าได้ ในอัตชีวประวัตินักเขียนหลายคน ถึงกับบอกเลยว่า บางครั้งใช้เวลาเป็นเดือน เป็นอาทิตย์ กว่าจะลงมือเสกประโยคแรกออกมา ส่วนที่เหลือลื่นไหลสบายๆ

ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นนิยายที่มีโครงสร้างเหมือนดนตรีคลาสสิค โดยเฉพาะฟูคของบาค ใช้ "โมทีฟ" เดียว ย้อนกลับไปกลับมา สลับเปลี่ยนดัดแปลงตรงนี้นิดหน่อย เป้าหมายไม่ใช่การพัฒนา "โมทีฟ" ไปไหนต่อไหน แต่คือการเล่นซ้ำซากให้คนฟังชินหู เมื่อดัดแปลงการนำเสนอแบบฟูคมาใช้กับนิยาย คาลวิโนทำสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยส่วนตัว รู้สึกว่าเนื้อเรื่องของ "คุณ" ที่เชื่อมต่อ "บทแรกของหนังสือแต่ละเล่ม" มันธรรมดาเกินไปหน่อย ในแง่หนึ่งก็ทำให้ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นหนังสืออ่านง่าย คือแม้จะมีคอนเซปสลับซับซ้อน แต่สำหรับคนทั่วไป อ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย ไม่ถือว่าลำบากยากเย็นอะไร (แต่จะตีความออก เข้าถึงหนังสือแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง) ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะชอบมากกว่านี้หรือเปล่าถ้าคาลวิโนใส่ "มายา" ลงในนิยายอีกหน่อย

นิยายเล่มนี้ค่อนข้างสั้น ฉบับภาษาอังกฤษคือสองร้อยหน้านิดๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าแปลไทยออกมาแล้วจะยาวเท่าไหร่ ซึ่งถือเป็นข้อดี เพราะเนื้อเรื่องแบบนี้ถ้ายาวเกินสามร้อยหน้า น่าเบื่อแน่ๆ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ ไม่ใช่นิยายของคาลวิโนที่ผมชอบที่สุด แต่ก็เป็นนิยายแนะนำนักอ่านชาวไทยให้รู้จักตำนานแห่งอิตาลีผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

เรียงลำดับหนังสือของคาลวิโนที่ชอบ จากมากไปน้อย
1) ขุนนางในผ้าคลุม
2) อัศวินไร้ตัวตน
3) บารอนบนต้นไม้ (ทั้งสามเรื่องนี้ ถูกรวมอยู่ในชุดนิยายขนาดสั้น บรรพบุรุษของเรา)
4) ปราสาทแห่งพรหมลิขิตแทรกซ้อน
5) มาโควัลโด
6) ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง
7) รวมเรื่องสั้น ผู้เฝ้ามอง

1 comment:

Anonymous said...

มีพี่ที่รู้จักผมคนหนึ่ง เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นผมแล้ว
ก็ถามว่าเคยอ่านงานของ คัลวิโน่ มั้ย
ผมบอกว่าไม่เคย
ผมจึงตามหาว่าเขาเขียนอะไร แบบไหน อย่างไร

แต่ผมก็ยังไม่เคยอ่านหนังสือของเขาสักเล่มหนึ่งเลย
ไม่รู้ด้วยว่าเรื่องสั้นของผมกับของเขามันคล้ายหรือเหมือนของคลัวิโน่ยังไง

ผมไม่กล้าเปรียบเทียบหรอกครับ