E. Bronte's "Wuthering Heights"


Wuthering Heights เป็นนิยายเล่มแรกของสามพี่น้องบรองเต้ที่เราเคยอ่าน อย่าถามเลยว่านอกจากชาลอต กับเอมิลีแล้วอีกคนชื่ออะไร เคยเขียนอะไรบ้าง ยิ่งกว่านั้นไม่ต้องถามด้วยว่าคนไหนคนโต คนไหนคนกลาง และคนไหนคนเล็ก รู้จัก และสนใจจะอ่าน Wuthering Heights มาตั้งแต่หกปีที่แล้ว สมัยยังเป็นแฟนกับสาวจีนคนหนึ่งที่ชอบนิยายเล่มนี้ที่สุดในโลก ความสนใจกระโดดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อได้อ่าน The Well of Lost Plots ในโลกนิยายซ้อนนิยาย ตัวเอกของฟ์ฟอร์ดต้องมารับบทจิตแพทย์ จัดสัมนาควบคุมความโกรธกริ้วของตัวละครใน Wuthering Heights ที่มีต่อเฮธคลิฟ "ตัวเอก" และศูนย์กลางของเรื่อง

Wuthering Heights ไม่เหมือนเลยแม้แต่น้อยกับอะไรที่เราเคยคาดคิด เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นมาจากบิดาของตระกูลเอิร์นชอว์ เก็บเด็กสกปรกมาเลี้ยง มาให้เป็นเพื่อนเล่นกับลูกสาว และลูกชาย เด็กสกปรกคนนั้นคือเฮธคลิฟ ซึ่งไม่เหมือนกับลูกเลี้ยงทั่วไปในนิยาย เฮธคลิฟทำตัวเป็นปีศาจน้อย สันดานเสียมาตั้งแต่เด็ก ส่วนลูกชาย ลูกสาวตระกูลเอิร์นชอว์ก็ระยำพอกันทั้งคู่

เราอยากเรียกครึ่งแรกของนิยายว่า "the puppet theatre of misantropic" สมกับที่ฟ์ฟอร์ดเขียนแซวไว้จริงๆ เพราะมันไม่มีอะไรเลย นอกจากมนุษย์น่ารังเกียจสี่ห้าคน โกรธกัน เกลียดกัน และตะโกนด่ากัน เราสัมผัสไม่ได้ถึงอารมณ์ฝ่ายดีในตัวละครตัวใดทั้งสิ้น ไม่รู้สึกถึงความรักระหว่างเฮธคลิฟ และแคธเทอรีน (แม่) ไม่รู้สึกว่าเฮธคลิฟน่าสงสาร ไม่รู้สึกว่าแคธเทอรีนน่าเห็นใจ นี่คือละครหุ่นล้วนๆ เทียบได้กับดู Freddy vs. Jason คือเป็นความสนุก สะใจอันเกิดจากการเห็นคนชั่ว คนเลวมาสู้กัน

Wuthering Heights เริ่มจะมีหัวจิตหัวใจ ช่วงกลางๆ เล่ม ซึ่งเป็นเรื่องราวของลูกชาย ลูกสาว ของเฮธคลิฟ และสองพี่น้องเอิร์นชอว์ แคธเทอรีน (ลูก) เป็นตัวเอกตัวแรกที่คนอ่านพอจะเอาใจช่วยได้ ถึงตอนนี้ค่อยเริ่มรู้สึกเหมือนอ่านวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 ขึ้นมาหน่อย ฉากที่แคธเทอรีนเผชิญหน้ากับเฮธคลิฟ โดยอาศัยความรัก การให้อภัย และคุณค่าแบบคริสเตียนเป็นอาวุธ ก็สะท้อนยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

จริงๆ แล้วเราสนุกไปกับ Wuthering Heights มากเลยทีเดียว (โดยเฉพาะครึ่งแรก) รู้สึกเหมือนมันเป็นการรื้อสร้าง (deconstruction) วรรณกรรมคลาสสิค มากกว่าจะเป็นวรรณกรรมคลาสสิคจริงๆ เช่นกลวิธีการเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง "ผม/ฉัน" มีสองคนคือลอกวูด และเนลลี ขณะที่ลอกวูดเป็นคนนอก เนลลีอยู่ตรงกลางระหว่างผู้สังเกต และตัวละคร มีบางครั้งที่คนอ่านจับได้ถึง "ความไม่ซื่อสัตย์" ในฐานะผู้สังเกต/ผู้เล่าเรื่อง และอิทธิพลของเนลลีที่มีต่อตัวละครหลัก ลอกวูดเองก็เป็นตัวแทนผู้อ่าน หรือคนนอกที่มีโอกาสกระโดดเข้าไปเปลี่ยนแปลงเรื่องราวในนิยาย

อยากรู้นักว่าถ้าเอมิลี มีโอกาสเขียนนิยายเล่มสอง จะออกมาเปรี๊ยวจี๊ด เข็ดฟันแบบนี้หรือเปล่า

1 comment:

Finianrainbow said...

พบ blog คุณโดยบังเอิญ แต่เป็นความบังเอิญที่น่าอภิรมย์ยิ่ง เรื่องมันเริ่มจากสมองซีกซ้าย(ทุกอย่างต้องมีเหตุผล)อยากพักร้อน ให้สมองซีกขวา(ทำไมทุกอย่างต้องมีเหตุผล)นำ..ก็เลยดู K-drama เรื่องหนึ่งซะงั้น พระเอกเรียน PhD วรรณกรรมเกาหลี แต่ดันมาเป็น Ghost Writer เขียนนวนิยายที่อ้างอิงถึงวรรณกรรม 29 เล่ม เอ๊ะ!ฉันก็มีอยู่พอควรนี่ จากนั้นการตามล่าฉบับแปลภาษาไทย เพื่อมา match กับฉบับอังกฤษก็เริ่มขึ้นอย่างเข้มข้น เริ่มจาก Wuthering Heights อ่านครั้งแรกนานมากแล้ว แต่ Heathcliff ยังตามหลอนอยู่..จนมาพบ blog คุณ แค่ 3 วินาทีแรกที่อ่าน..อะฮ้า..ใช่เลย จะติดตาม blog คุณนับแต่บัดนี้..นะคะ
Finianrainbow