J. Conrad's "The Secret Agent"


เคยอ่านคู่มือสอนเขียนนิยาย เขาบอกว่า แก่นเรื่องแท้ๆ ของ Hamlet คือผู้ชายที่กลายเป็นบ้าเพราะเชื่อว่าแม่ของตัวแต่งงานใหม่กับคนที่ฆ่าพ่อ ส่วนเรื่องที่ว่าแฮมเลตจะเจอผีพ่อหรือเปล่า ตอนจบฟันดาบกับพี่ชายของคนรักที่ฆ่าตัวตายไหม เป็นเพียงกระพี้เรื่องเท่านั้น จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ หรือจะแตกต่างไปจากนี้ก็ได้เช่นกัน ซึ่งตอนนั้นเรายอมรับว่าอ่านแล้วก็งงๆ แก่นเรื่องกับกระพี้เรื่องนี่มันต่างกันตรงไหน ถ้าเป็นผีพ่อมาบอกแฮตเลตว่าตัวเองถูกน้องชายฆ่า จะถือว่าตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระพี้ แต่ไม่ใช่แก่นเรื่องได้อย่างไร

ได้อ่าน The Secret Agent ก็เหมือนจะเข้าใจขึ้นมานิดหนึ่งแฮะ ว่าแก่นเรื่องมันแตกต่างจากกระพี้เรื่องตรงไหน เราชอบแก่นนิยายเล่มนี้ เวอลอคเป็นสายลับคอมมิวนิสต์ที่อาศัยอยู่ในลอนดอน เขาได้รับมอบหมายให้วางระเบิดหอดูดาวเพื่อก่อความวุ่นวาย เวอลอคสละชีวิตน้องชายของภรรยาที่เขาแต่งงานเพื่อเป็นหน้าฉาก และสุดท้ายก็ต้องรับผลกรรมที่ตัวเองก่อขึ้นมา แก่นเรื่องตรงนี้สนุกมาก แต่ไอ้กระพี้ ไอ้วิธีที่คอนราดใช้ในการเล่านี่สิ The Secret Agent เต็มไปด้วยฉากและตัวละครที่ไม่จำเป็น อยู่ดีๆ ตรงกลางเรื่องเวอลอคก็หายตัวไปเฉยๆ ผู้เขียนมุ่งเป้าไปที่ตัวประกอบย่อยๆ แทน หรือการเล่าเรื่องกลับไปกลับมา พูดถึงไคลแมก ก่อนจะย้อนไปหาส่วนที่ค่อยๆ สร้างไคลแมกนั้น ก็ทำให้เรื่องอ่อนลงอย่างน่าเสียดาย

ใช่ว่าเราจะไม่เข้าใจคอนราดเสียทีเดียว การที่มีตัวประกอบหลากหลาย ก็ช่วยให้เราได้เห็นปรัชญาคอมมิวนิสต์ การปฏิวัติ การก่อการร้าย และอนาธิปไตยในแบบต่างๆ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะคุ้นเคย และเคยได้ยินมาก่อนแล้วก็ตาม คนอ่านต้องตระหนักด้วยว่า The Secret Agent ถูกเขียนขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยนั้นยังไม่มีสหภาพโซเวียตเลยด้วยซ้ำ และถ้าไม่ฮาร์ดคอร์จริงๆ จะสักกี่คนที่เคยได้ยินชื่อมาร์ก ถ้าอ่านตามกาลของมันแล้วก็ต้องยอมรับว่า The Secret Agent มีความล้ำหน้า น่าสนใจอยู่เหมือนกัน อย่างตัวละคร "ศาสตราจารย์" เป็นนักสร้างระเบิด ที่ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน ก็จะเอานิ้วชี้ข้างหนึ่งแปะอยู่บนสลักกลไก เผื่อว่าตำรวจมุ่งเข้ามาจับตัวเขาเมื่อไหร่ จะได้ระเบิดตัวเองตายตามไปด้วย ตัวละครตัวนี้ดูท่าจะเป็น "ป๋า" ของนักวางระเบิดเท่ห์ๆ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายสิบเรื่องที่เราเคยเห็นๆ กัน

จุดหนึ่งซึ่งน่าขบคิดคือ การก่อการร้ายในนิยายเรื่องนี้จะมีเหยื่อโดยตรงแค่คนเดียว คือนักวางระเบิด ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เดินผ่านไปมา อย่างมากก็แค่หวาดผวา หรือตกใจ ซึ่งขี้ๆ เลยเมื่อเทียบกับการก่อการร้ายในปัจจุบัน แสดงให้เห็นเลยว่าโลกทุกวันนี้มันโหดร้ายกว่าเมื่อศตวรรษที่แล้วชนิดคนละขุม

นิยายที่โด่งดังสุดของคอนราด ยังไงเสียก็คือ Heart of Darkness ซึ่งไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี ก็ยังเป็นหนังสือมาตรฐานสำหรับการอ่าน วิเคราะห์ลัทธิล่าอาณานิคม ขนาดตัวลัทธิมันล้าสมัยไปแล้ว นิยายเล่มนี้ก็ยังทันสมัยอยู่เสมอ ด้วยการเอาไปประยุกต์ใช้กับบริบทอื่นๆ กับนักเขียนคนเดียวกัน เปรียบเทียบระหว่างนิยายที่โด่งดัง และผลงานที่แทบไม่มีใครรู้จัก เห็นได้ชัดเลยว่าของดีกว่ามันล้ำสมัย ไม่เคยเก่าเลยจริงๆ

No comments: