H. James's "The Bostonians"

ชอบนิยาย เกลียดตัวละคร

เหตุเกิดช่วงเปลี่ยนศตวรรษ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โอลิเวอร์ แชนเซลเลอร์เป็นผู้หญิง “หัวก้าวหน้า” ที่ต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี แต่นอกจากเงินถุงเงินถัง และความปรารถนาอันแรงกล้า หล่อนไม่มีความสามารถพิเศษอะไรเลยสักอย่าง กระทั่งได้พบ เวอเรอนา หญิงสาวผู้เป็นอัจฉริยะด้านการปาฐกถา ทั้งสองร่วมมือกันเปิดการบรรยายพิเศษ สนับสนุนสิทธิสตรี ทุกอย่างเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี จนแบซิล แรนซัมก้าวเข้ามาในชีวิตของพวกหล่อน แบซิลเป็นชาวใต้ ผู้ นอกจากจะไม่หัวก้าวหน้าแล้ว ยังมีความคิดล้าหลังเป็นพิเศษ แบซิลตกหลุมรักเวอรานา และเหมือนเธอเองก็มีใจให้ชายหนุ่มเช่นกัน ถ้าสองคนนี้ลงเอยกัน ก็หมายถึงจุดจบของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของโอลิเวอร์

ที่บอกว่าเกลียดตัวละคร ก็ด้วยเหตุผลส่วนตัวจริงๆ เรารู้จากประสบการณ์ว่าผู้หญิงขึ้นคาน ที่อยู่ดีๆ เอาตัวเองเข้าไปผูกติดกับหญิงสาวอีกคน เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจ และทรงพลังขนาดไหน ขณะเดียวกัน ถามว่าเราเอาใจช่วยแบซิลได้หรือเปล่า ก็ยากอีกนั่นแหละ ในเมื่อความคิดหมอนี่ไดโนเสาร์เต่าล้านปีเอามากๆ เขาเชื่ออย่างเต็มอกเต็มใจว่าความสุขเดียวของผู้หญิงคือการรับใช้ชายคนรัก เขาหลงใหลสุ้มเสียงของเวอรานา แต่เขาต่อต้านเนื้อหาที่อยู่ในคำปราศรัย แล้วเวอรานาเล่า? จากประสบการณ์ ผู้หญิงโลเลเหลาะแหละ ที่ปล่อยให้สาวแก่อย่างโอลิเวอร์ปั่นหัวเล่น ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่น่าชื่นชมนัก (เจมส์ปล่อยพื้นที่ให้คนอ่านคิดเอาเองว่าโอลิเวอร์อาจเป็นเลสเบี้ยน อย่างไรก็ดี “การแต่งงานแบบบอสตัน” กลายเป็นสำนวนฝรั่ง หมายความถึงผู้หญิงสองคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างน่าสงสัย)

ด้วยเหตุนี้ ตอนจบของนิยายถึงได้สาแก่ใจเรายิ่ง ไม่มีใครหัวเราะทีหลัง ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ แต่ละตัวละครแตกสลายด้วยเหตุผลที่ต่างกัน

สมัยตีพิมพ์ใหม่ๆ The Bostonians ไม่ได้เสียงตอบรับที่ดีนัก เหตุผลคือนักอ่านในยุคนั้นรับไม่ได้กับภาพลักษณ์ของนักสตรีนิยมที่เจมส์นำเสนอ น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า จริงๆ แล้วเจมส์รู้สึกยังไงการกระแสสตรีนิยม ผู้เขียน (และแบซิล ตัวละครชายหลักตัวเดียวในเรื่อง) ชื่นชมคุณหมอแพรนซ์ ผู้หญิงเก่งซึ่งปฏิเสธที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการเคลื่อนไหวดังกล่าว และมิสซิสเบิร์ดอาย นักสตรีนิยมยุคเก่า ที่ในสมัยสงครามกลางเมือง เคยเดินท่องไปในรัฐทางใต้ เอาคัมภีร์ไบเบิลไปจ่ายแจกให้เหล่าทาสผิวดำ แต่ความชื่นชมมิสซิสเบิร์ดอาย ก็แฝงนัยความชื่นชมในสิ่งโบราณ ที่ล้าสมัย และไม่อาจหาพบได้ในปัจจุบัน

แต่ในทางตรงข้าม เจมส์เองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแบซิล แบซิลมีจุดยืนที่แน่นอน แต่กลับไม่เคยกล้าไปถกเถียงกับใคร ลงเอยจึงกลายเป็นแค่ผู้ชายหัวแข็งไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นเพศตรงข้าม ส่วนมิสซิสลูนา น้องสาวของโอลิเวอร์ ผู้หญิงหัวโบราณ ที่เหมาะเจาะยิ่งนักกับโลกของแบซิล ก็ถูกนำเสนอในแง่ลบอย่างชัดเจน (ข้อขัดแย้งน่ารักๆ คือ แบซิลถูกดึงดูดโดยเวอรานา ผู้หญิงที่เขาไม่เคยเห็นด้วย แต่กลับรังเกียจ มิสซิสลูนา ทั้งที่ลึกๆ สองคนนี้มีหลายอย่างเหมือนกัน)

ให้เราเดาใจคนเขียน เราคงสรุปว่า เจมส์น่าจะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวสตรีนิยมนั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในโลก เพียงแต่นักสตรีนิยมบางคน น่าคบหา และน่าเชื่อถือกว่าอีกคนหนึ่งก็เท่านั่น

ที่แน่ๆ คงไม่ใช่ นักสตรีนิยมแบบเวอรานา ที่เป็นเพียงเปลือกอันกลวงโบ๋ แต่ไม่มีอะไรอยู่ข้างในเลย

No comments: