เมื่อศรัทธาเขยื้อนภูผา


ผลงานของเอลิส จิตรกรภาพเคลื่อนไหว ที่ติดตรึงใจเราสุดคือ When Faithes move Mountains เอลิสหาอาสาสมัครชาวเมกซิโกห้าร้อยคน พร้อมจอบเสียมห้าร้อยด้ามมาช่วยกันขนย้ายภูเขาทราย ภาพกระบวนการทำงานทั้งหมดถูกบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังรับชม น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยกับกองทัพห้าร้อยคนเรียงแถวหน้ากระดาน ทำงาน ขุด โยน

แต่สิ่งที่น่าติดตรึงตากว่า คือวันรุ่งขึ้น เอลิสถ่ายภาพทิวทัศน์นอกเมือง เปรียบเทียบกับเช้าวันก่อน แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง แค่กองทรายมหึมาหนึ่งกองขยับเขยื้อนท่ามกลางกองทรายอีกนับร้อย คุณค่าอย่างเดียวซึ่งหลงเหลืออยู่คือภาพที่เอลิสบันทึกเอาไว้

เอลิสทำให้เราคิด

เราคิดถึงผลการเลือกตั้ง คืนวันที่ 23 ไปกินข้าวบ้านรุ่นพี่ พอพูดถึงเรื่องนี้ คำพูดแรกที่อีกฝ่ายเอ่ยออกมาคือ "สุดท้ายก็กลับเป็นเหมือนเมื่อสองปีก่อน"

เราคิดถึงวรรณกรรมตุลา ทั้งที่เขียนสมัยนั้น และจำลองขึ้นในภายหลัง เหตุการณ์เมโลดรามาเรียกน้ำตาว่าด้วยความผูกพันระหว่างคนรัก พ่อแม่ พี่น้องถูกสะบั้นหั่นกลางด้วยกระสุนปืน แต่นับวันยิ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่าเหตุใด ทำไม และเพื่อใครพวกเขาถึงลุกขึ้นมาต่อสู้กับคนถืออาวุธ (และในทางตรงข้าม เหตุใดกองทัพจับปืนขึ้นมาเข่นฆ่าพวกเขา)

แท้ที่สุดแล้วสิ่งซึ่งหลงเหลืออยู่คือการกระทำ ถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์ไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะพบว่ามันเต็มไปด้วยรัฐประหาร และเดินขบวนประท้วงผู้มีอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ๆ กระทั่งเรียบเรียง จดจำกันไม่ถูกว่าแต่ละครั้งใครขับไล่ใคร

เหลือแต่ "รัฐประหาร" เหลือแต่ "การประท้วง" นั่นแหละคือคุณค่าสุดท้ายของสิ่งที่พวกเราทำ

หมายเหตุ: ผลงานสร้างชื่อของเอลิสคือการจับมือกับอินาริทูในภาพยนตร์เรื่อง Amore Perros

S. Freud's "The joke and its relation to the unconscious"


หยัย! อุตส่าห์เขียนมายาวเหยียด แต่กดผิดนิดเดียว หายเกลี้ยงเลย ขี้เกียจเขียนใหม่แล้ว เอาเป็นว่าขอสรุปสั้นๆ แล้วกัน ใน The joke and its relation to the unconscious ฟรอยด์ปรับเอาแนวคิดเรื่องจิตใต้สำนึกใน The interpretation of dreams มาใช้อธิบายเรื่องตลก เหตุใดคนเราถึงหัวเราะ เหตุใดคนเราถึงชอบฟัง และเล่าเรื่องตลก ซึ่งแม้เราจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อสรุปสุดท้าย (หรือถ้าเห็นด้วย ก็รู้สึกว่าการที่ฟรอยด์เอาจิตใต้สำนึกมาครอบคลุมทุกหัวข้อออกจะเกินเหตุไปบ้าง) แต่กว่าจะถึงตรงนั้นนักปรัชญา/จิตวิทยาผู้นี้พูดถึงหลายประเด็นน่าขบคิด ที่ชอบสุดคือ "หลักเศรษฐศาสตร์ของพลังงานความคิด" โดยฟรอยด์ตีว่าจุดร่วมกันของเรื่องชวนหัวคือ เรื่องที่ทำให้เกิดทางลัดในสมอง ช่วยให้เราไปสู่ความคิดหนึ่งจากอีกความคิดหนึ่งโดยใช้พลังงาน และประหยัดเวลาสุด ชอบคำอธิบายตรงนี้

S. Zizek's "The Metastases of Enjoyment"


สารภาพเลย สาเหตุประการหนึ่งที่หยิบ The Metastases of Enjoyment ของซีเซคขึ้นมา เพราะเวลาทำสารบัญอยากใส่หนังสือลงดัชนีตัว "Z" เต็มแก่แล้ว

The Metastases of Enjoyment คือบทวิเคราะห์การเมือง และเพศศาสตร์อ้างอิงทฤษฏีของลาคาน ภายหลังฟรอยด์ ลาคานถูกจัดให้เป็นปราชญ์ทางจิตวิทยาที่ทรงอิทธิพลอย่างมากช่วงหลังศตวรรษที่ 20 หากชื่อลาคานจะไม่เป็นที่รู้จักบนท้องถนนก็ด้วยสาเหตุเดียวคืองานแกเข้าใจยาก จนบัดนี้ก็ยังไม่มีคู่มือสรุปง่ายๆ ให้คนทั่วไปอ่านได้ The Metastases of Enjoyment น่าจะใกล้เคียงสุดแล้วกับการเป็น Lacan for a perplexed สำหรับผู้สนใจแต่ไม่กล้าแตะต้อง Ecrits (ซึ่งหนา และเท่าที่ได้ยินมาอ่านยากมหา)

ถ้าให้แถลาคานในย่อหน้าเดียว ต้องอธิบายก่อนว่าลาคานเป็นนักโครงสร้างนิยม (อ่านเกี่ยวกับ structuralism ได้ในบลอคเก่า) ซึ่งนิยามวัตถุด้วยสภาพ "อวัตถุ" หรือ "สุญญากาศ" อันเกิดจากการหายไปของวัตถุนั้น ยกตัวอย่างเช่นเวลาเรานึกถึงสุนัข จริงๆ แล้วแก่นของความเป็นสุนัขไม่ได้อยู่ที่ตัวสุนัขแต่อยู่ที่สภาพแวดล้อมซึ่งปราศจากสุนัข หรือสิ่งที่อยู่รอบ "สุญญากาศ" (ตรงนี้ถ้าใครเข้าใจสัมพันธภาพทั่วไปจะง่ายขึ้นเยอะ เพราะไอนสไตน์ก็บอกว่ามวลสารคือ "กาลอวกาศ" ที่ถูกบิดเบี้ยว เป็นการนิยามวัตถุในเชิงผลกระทบที่มันมีต่อสสารภายนอก) ด้วยเหตุนี้เราไม่อาจเข้าถึงสุนัขได้อย่างแท้จริง เพราะทันทีที่เราแตะต้อง หรือเห็นมัน สุนัขตัวนั้นจะกลายเป็น "สัญลักษณ์" ไปทันที (เพราะตัวตนที่แท้จริงของสุนัขคือความว่างเปล่านั่นเอง)

ไม่ซับซ้อนเกินไปนักถ้าเอาไปปรับใช้กับความรัก ยกตัวอย่างผู้ชายคนหนึ่งหลงรักผู้หญิง และเมื่อได้เธอคนนั้นไปครอบครอง สิ่งที่เข้ามาอยู่ในมือเขาย่อมแตกต่างจากสิ่งที่เฝ้าฝันหา (เพราะสิ่งซึ่งเขาหลงรักที่แท้คือความว่างเปล่า และแต่ละอันพันน้อยที่รายล้อมความว่างเปล่านั้น) เป็นสาเหตุว่าทำไมความรักทำให้คนตาบอด และคนเรามักรู้สึกเสมอว่าอีกฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมหลังจากได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกัน

ตัวอย่างสนุกๆ แบบนี้ยังมีอีกมากมายใน The Metastases of Enjoyment มีบทวิเคราะห์อำนาจเผด็จการ และคอมมิวนิสต์ที่เรารู้สึกว่าสั้นไปหน่อย สืบเนื่องจากซีเซคเป็นนักทฤษฎีภาพยนตร์ เราจึงได้เห็นตัวอย่างที่พอคุ้นหูคุ้นตาบ้างตั้งแต่ A Few Good Man, M. Butterfly, หนังของเดวิด ลินช์ ฮิชคอก ฯลฯ

C. Mouffe's "The return of the political"


อะไรคือนิยามของ "สมัยใหม่" และ "หลังสมัยใหม่" คำเหล่านี้ปรากฏในสังคมไทยมาจะครบสิบปีแล้ว ควรถึงเวลาที่เรารู้ความหมายของมันเสียที ถ้าเช่นนั้นก็สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามาเลย บอกก่อนว่า "สมัยใหม่" และ "หลังสมัยใหม่" มีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งจากที่ได้อ่านและรู้มา ความหมายในทางการเมืองน่าจะครอบคลุมสุด

"สมัยใหม่" เริ่มต้นพร้อมกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งในเวลาใกล้เคียงกัน อเมริกาแยกตัวเป็นเอกเทศจากอังกฤษ กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน (ไม่นับกรีก โรมันในอดีตกาล) จะมองแบบเหมารวมก็ได้ว่า "สมัยใหม่" คือยุคกำเนิดของประชาธิปไตย ซึ่งมีใจความสำคัญคือ 1) การแยกตัวอย่างเด็ดขาดระหว่างอาณาจักร และศาสนาจักร (จะมองการโค่นล้มกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของข้อนี้ก็ได้ เพราะฐานอำนาจราชวงศ์มาจากศาสนาจักร) 2) การแบ่งพื้นที่ส่วนตัว และสาธารณะ มนุษย์สมัยใหม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขากระทำต่อหน้า และลับหลังผู้อื่นส่งผลกระทบ และมีน้ำหนักที่แตกต่างกัน ฉะนั้นจึงสรุปว่า "สมัยใหม่" คือยุคของช่องว่างแห่งอำนาจที่นักคิด นักปรัชญาพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็ม (ความหมายในทางสถาปัตยกรรม วรรณคดี และศิลปะก็ไม่ต่างจากนี้เท่าไหร่นัก)

ถ้ายอมรับความหมายตรงนี้ของ "สมัยใหม่" เสีย "หลังสมัยใหม่" ก็ง่ายนิดเดียว นั่นคือภายหลังการค้นหาอันสูญเปล่า ปราชญ์พบว่าช่องว่างดังกล่าวไม่อาจเอาสิ่งใดเข้ามาทดแทนหากต้องยอมรับสภาพพหุนิยม (pluralism) คือความซับซ้อน หลากหลายในสังคม

ข้อขัดแย้งทางการเมืองในโลกตะวันตกคือระหว่างระบบการปกครองซึ่งให้ความสำคัญกับปัจเจก สิทธิส่วนบุคคล และแบบให้น้ำหนักกับสัมมาร่วม (common good) หรือเป้าหมายที่ ในทางทฤษฎี ทั้งสังคมตกลงกันว่าเราจะมุ่งไปทางนั้น นักคิดประเภทแรกเช่นราวล์ส เจ้าของวาทะอมตะ "สิทธิเหนือสัมมา" (the right over the good) เน้นความสำคัญของกฎหมาย เพราะเขาเชื่อว่ารัฐบาลมีหน้าที่เพียงจำกัดพื้นที่สาธารณะ และกำหนดโครงสร้างของสังคม นักคิดประเภทหลังเช่นชมิท ปฏิเสธกฎหมาย และสนับสนุนให้รัฐบาลกำหนดทั้งข้อห้าม และแนวทางการดำเนินชีวิต มูฟฟ์จับเอาข้อขัดแย้งตรงนี้มาเป็นประเด็นหลักใน The return of the political

มูฟฟ์ไม่ได้เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แนวคิดแบบแรกมีปัญหาเพราะท้ายสุดสิทธิของปัจเจกย่อมมีรากฐานมาจากสัมมาร่วม แนวคิดแบบหลังใช้ไม่ได้ หรือ ไม่ยืนพื้นอยู่บนความเป็นจริงเพราะได้ปฏิเสธสภาพ "หลังสมัยใหม่" และ "พหุนิยม" มนุษย์ในยุคปัจจุบันไม่อาจย้อนกลับไปหาศูนย์อำนาจเช่นกษัตริย์ หรือพระเจ้าได้อีก รวมถึงไม่อาจเอาโลกส่วนตัวมาปนเปกับโลกสาธารณะ (จากนิยามตรงนี้จะมอง คำพิพากษา ว่าเป็นนิยายที่ชี้ให้เห็นผลกระทบของความไม่ "สมัยใหม่" ในสังคมชนบทก็ได้ น่าขบคิดเหมือนกันที่มนุษย์ "สมัยใหม่" คนเดียวในนิยายเล่มนี้คือ "ผู้ร้าย" เช่นครูใหญ่ที่สามารถแยกแยะอัตลักษณ์ภายนอก และภายในได้อย่างดี)

สรุปลงท้ายซึ่งอยากให้เก็บไปคิดกันคือ ก่อนจะเอ่ยอ้างคำว่า "ธรรมธิปไตย" (ระบบการปกครองที่ผสานระหว่างธรรม และประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน) ลองหาหนังสือปรัชญาการเมืองจริงๆ มาอ่านประดับความรู้กันหน่อยดีไหม

J. Derrida's "The politics of friendship"


หมดแรงครับ ทีหน้าทีหลังจะหยิบจับตำราปรัชญา คงต้องคิดแล้วคิดอีก ถ้าเป็นนิยาย ขึ้นอยู่กับความอึดเท่านั้นว่าเราจะอ่านจบเมื่อไหร่ จะเบื่อไปก่อนไหม ส่วนหนังสือปรัชญานี่ ถ้ายังไม่พร้อม มีสิทธิหัวระเบิดได้ง่ายๆ พร้อม หรือไม่พร้อมหมายถึงผู้อ่านมีพื้นในเรื่องที่ผู้เขียนนำเสนอแค่ไหน ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ และการเมือง ธรรมดาเราสู้ตายถวายหัว ขนาดนั้น ยังต้องยอมรับเลยว่า The politics of friendship เป็นหนังสือที่อ่านยากสุดในรอบปี ครั้งสุดท้ายที่หัวแทบแตกแบบนี้คือตอนอ่านไฮเดกเกอร์เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งก็อ่านไม่จบเสียด้วยสิ กับ The politics of friendship ตั้งมั่นมากๆ ว่าต้องพิชิตมันให้ได้ ถึงขนาดพัก หยุดอ่านกลางคัน ไปหาชมิตมานั่งอ่านปูพื้นความรู้ตัวเอง

นักปรัชญาก็เหมือนไอติม มีหลายรส หลายแนว เวลาอ่านงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา หรือสังคมศึกษาอื่นๆ พอจับเค้าได้ว่า คนแขนงนี้เขามองปัญหากันอย่างไร คนที่ศึกษาวิชาเดียวกันมักมีวิธีคิดจำเพาะทาง แต่สำหรับนักปรัชญา ขณะที่ถ้าฟูโกต์เป็นนักปรัชญา-ประวัติศาสตร์ คือใช้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาอธิบายแนวคิดของตัวเอง เพื่อนร่วมชาติชาวฝรั่งเศสอย่างเดริดาก็คงเป็นเป็นนักปรัชญา-ปรัชญา The politics of friendship ดึงเอาองค์ความรู้ตั้งแต่สมัยอริสโตเติล นิทเช่ (ถ้าไม่เคยอ่าน Beyond good and evil มาก่อน คงต้องเสียเวลาไปอีกเป็นอาทิตย์) ชมิท และพอถึงช่วงท้ายๆ มีไฮเดกเกอร์ กับคานด้วย อ่านจนจบแล้วยังไม่แน่ใจเลยว่าส่วนไหนกันแน่ที่เป็นแนวคิดเดริดาจริงๆ

ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย การอ่านเดริดาก็เหมือนได้ศึกษาโครงสร้างวิชาปรัชญา (เรียกคูลๆ ว่า meta-philosophy แล้วกัน) ได้เห็นการเดินทางขององค์ความรู้ วิธีรับส่งลูกระหว่างนักคิิด นักเขียนต่างยุคสมัย ซึ่งจริงๆ นี่อาจเป็นประสงค์แต่แรกของผู้เขียนก็ได้ ให้สรุปแก่น The politics of friendship ก็คือเดริดาติดตามการตีความประโยคสั้นๆ ของอริสโตเติล "O my friends, there is no friend." ซึ่งแปลไทยออกมาพิกลๆ ว่า "เพื่อนเอ่ย ไม่มีเพื่อน" จริงๆ เป้าหมายของแกรวมก็ไปถึงการศึกษาวิธีแปลประโยคนี้จากกรีกดั้งเดิมเป็นเยอรมัน (ผ่านชมิท) และฝรั่งเศส (ผ่านมอนเทจน์ นักเขียนยุคเรอเนซองค์) ขณะที่บางคนก็รับมาเฉยๆ แต่นิทเช่เท่กว่านั้น เพราะแกดัดแปลงใหม่เป็น "Perhaps to each of us there will come the more joyful hour when we exclaim: 'friends, there are no friends!' thus said the dying sage; 'Foes, there are no foes!' say I, the living fool." เชื่อไหมถ้าเราบอกว่าบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้อุทิศให้กับคำว่า "perhaps" ของนิทเช่ ไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดเดริดาถึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง linguistic deconstructionist

ใครที่อยากอ่านจริงๆ เตรียมใจไว้เลยว่างานเขียนชิ้นนี้กระโดดข้ามไปข้ามมา ไม่รู้จะแบ่งบท แบ่ง chapter ไปทำไมในเมื่อความคิดเดียวกันกระจัดกระจายปะปนตลอดทั้งเล่ม ใน The politics of friendship ธีมซึ่งย้อนกลับมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ "perhaps" ของนิทเช่ ทฤษฎีมิตร/ศัตรูของชมิท การใส่ความเป็นผู้หญิงเข้าไปในปรัชญาโบราณ อสมมาตรของความรัก (อริสโตเติลกล่าวไว้อย่างชวนหัวว่า "รักเขา ดีกว่าให้เขามารักเรา") มิตรภาพผ่านมุมมองเลขคณิต จนถึงกลศาสตร์ระหว่างความรัก และความเคารพของคานท์ (ประเด็นหลังน่าสนใจสุด เสียดายที่เดริดาพูดถึงแค่นิดเดียว)

รับไม่ไหวเหมือนกันกับหนังสือสามร้อยหน้า สาระเต็มเหยียดนี้ เตือนตัวเองไว้แล้ว ตั้งแต่นี้ถ้าเป็นหนังสือปรัชญาขอสั้นๆ สองร้อยหน้ากำลังดี

C. Schmitt's "Political Theology" & "The Concept of the Political"


ควบสองเล่มเลยครับ กับหนังสือปรัชญาการเมืองของคาร์ล ชมิต

ชมิตเป็นนักกฎหมายปรัชญาชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมัยที่ประเทศเยอรมันตกต่ำสุดขีด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ชมิตคิดค้น เผยแพร่ปรัชญากฎหมาย การเมืองผ่านชุดหนังสือเล่มบางๆ ซึ่ง Political Theology และ The Concept of the Political ก็รวมอยู่ในนั้น โดยเฉพาะเล่มหลังสร้างชื่อให้กับแกที่สุด เช่นเดียวกับไฮเดกเกอร์ ชมิตคือหนึ่งในปัญญาชนซึ่งสนับสนุนนาซี และการขึ้นเถลิงอำนาจของฮิตเลอร์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่เราจะถามตัวเองว่าตรงไหนกันแน่ในหนังสือสองเล่ม อันนำมาซึ่งข้อสรุปผิดพลาดได้ขนาดนี้

ถึงจะผิดพลาด แต่ก็ใช่ว่าจะไร้คุณค่า นี่กระมังข้อแตกต่างในวิธีการมององค์ความรู้ของฝรั่ง และไทย คนไทยต้องการคำตอบ ซึ่งคำตอบจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันถูกเท่านั้น เราถึงได้ยกย่องปรัชญาที่ (อ้างกันเองว่า) "ไม่มีวันผิด" อย่างพุทธศาสนา ขณะที่ปรัชญาในสายตาชาวตะวันตก เป็นเพียงวิธีตั้งคำถาม ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่คำตอบ และคำถามซึ่งมี หรือไม่มีคำตอบเหล่านี้อาจมีคุณประโยชน์ไม่แพ้ปรัชญาซึ่ง "ไม่มีวันผิด" ก็ได้

Political Theology พูดถึงข้อขัดแย้งระหว่างกฎหมาย และองค์อธิปไตย (sovereignty) ชมิตชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์คับขันจริงๆ มีแต่องค์อธิปไตย หรือผู้กุมอำนาจสูงสุดในสังคมเท่านั้น (ซึ่งอาจเป็นประชาชน ทหาร กษัตริย์ หรือนายก) จะนำพาประเทศผ่านสภาวะนี้ ชมิตเปรียบเทียบข้อขัดแย้งตรงนี้กับข้อขัดแย้งคลาสสิกของคานท์ ว่าด้วย form vs. matter โดย form หรือกฎหมาย เป็นบรรทัดฐานสำหรับครอบคลุมทุกสถานการณ์เท่าที่คนออกกฎหมายจะคิดขึ้นมา ขณะที่ matter หรือตัวสถานการณ์จริงๆ อาจหลุดกรอบความคิดตรงนั้นไป

ลองเอาวิธีคิดแบบนี้มาใช้มองการเมืองไทยในช่วงปี สองปีที่ผ่านมาดู คุณจะเห็นโลกชัดเจนอีกระดับหนึ่งเลย

The Concept of the Political เป็นนามธรรมขึ้นไปอีกขั้น ชมิตตีความหมายของ "การเมือง" โดยสรุปง่ายๆ คือการแบ่งโลกเป็นสองขั้ว มิตร/ศัตรู ไม่ว่าบรรทัดฐานที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้แยกแยะจะมาจากศาสนา เศรษฐศาสตร์ หรือเชื้อชาติก็แล้วแต่ ไม่สำคัญทั้งนั้น ทันทีที่โลกในสายตาพวกเขาถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย การเมืองได้เกิดขึ้นแล้ว สงครามศาสนาจึงไม่มีจริงในนิยามของชมิต มีแต่ สงครามการเมือง

การเมืองเป็นส่วนประกอบของทุกสถาบัน ทุกประเด็นในสังคม โลกนี้ไม่อาจอยู่ได้โดยไร้การเมือง ไม่อาจอยู่ได้โดยไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก การแยก มิตร/ศัตรู ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การสู้รบ และฆ่าฟันเสมอไป สงครามเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของข้อขัดแย้งที่เลยเถิดไปอย่างสุดโต่ง ชมิตเชื่อว่าสันติภาพ ไม่ใช่การทำให้ทุกคนยืนอยู่ฝั่งเดียวกันหมด หากเป็นการคานอำนาจกันระหว่างกลุ่ม และการแยกแยะมิตร/ศัตรูจะช่วยป้องการสภาพการก่อการร้าย หรือข้าศึกที่มองไม่เห็นเช่นในปัจจุบัน

ตอนท้ายเล่มชมิตยังทำนายอีกเหตุการณ์ ในปีที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างทางการเมือง ชมิตทำนายว่าอีกไม่นานเศรษฐกิจ (ซึ่งในยุคนั้นหมายถึงสันติภาพ) จะกลายเป็นอีกมิติหนึ่งของความขัดแย้ง ลองใครคนหนึ่งทำนายอะไรแบบนี้ออกมาได้ตรง ทฤษฎีของเขาก็ต้องมีคุณค่าให้เราเรียนรู้ และพยายามทำความเข้าใจบ้างแหละ

V. Woolf's "A Room of One's Own"


พออ่าน A Room of One's Own จบ รู้สึกว่าตัวเองน่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่เมื่อห้าหกปีที่แล้ว ถ้าได้อ่านตอนนั้น คงไม่ต้องเสียเวลาเทคปรัชญาเฟมินิสต์ทั้งหลายแหล่ที่เราเคยลง ประหนึ่งตัวเองเป็นนักศึกษาวิชาคริสตศาสนา แล้ววันหนึ่งได้อ่านไบเบิ้ลเป็นครั้งแรก ให้เปรียบเทียบ A Room of One's Own ว่าเป็นไบเบิ้ลของเฟมินิสต์ไม่เกินไปเลยแม้แต่น้อย หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อเขียน ความคิดอันคุ้นเคย วิธีการเหยียดเพศแบบต่างๆ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ รวมไปถึงผลกระทบ

A Room of One's Own มาจากเลคเชอร์ของวูลฟ์ ซึ่งก็หมายถึงเธอเตรียมเนื้อหา และก็บรรยายสดๆ ให้นักเรียนฟัง หลังจากนั้นค่อยมาดัดแปลงเป็นรูปแบบหนังสืออีกที ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าปี 1929 เขาใช้เทปบันทึกเสียง หรือว่าวูลฟ์เขียนขึ้นใหม่จากเลคเชอร์โน้ตกันแน่ แต่รู้สึกว่าถ้าได้อยู่ในห้องนั้น ฟังเธอพูดคงมันส์ ฮาดีพิลึก (ซึ่งต่อให้ย้อนเวลาก็ยังยาก เพราะเข้าใจว่าเขาอนุญาตเฉพาะนักศึกษาหญิงเท่านั้น) ขนาดบรรยายสดๆ ต่อหน้าผู้ชม วูลฟ์ยังสามารถพูดออกมาเป็นกระแสสำนึกได้เลย ไม่แปลกใจแล้วล่ะทำไมเธอเขียนนิยายอย่าง Mrs. Dalloway ออกมาได้

เลคเชอร์ที่ว่าคือหัวข้อ "ผู้หญิง และวรรณกรรม" สรุปสั้นๆ ผู้หญิงจะผลิตศิลปะดีๆ ออกมาได้ต้องมีห้องเป็นของตัวเอง และรายได้พออยู่พอกิน เฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย วูลฟ์สรุปว่านี่คือสาเหตุทำไมในประวัติศาสตร์ถึงไม่เคยมีกวี หรือคนเขียนบทละครที่เป็นผู้หญิง สาเหตุตรงนี้เจาะลึกลงไปอีก บางครั้งความผิดก็ตกเป็นของตัวผู้หญิงเองด้วย เช่นว่าบางคนพอมีโอกาสถ่ายทอดความรู้สึกตัวเอง กลับเต็มไปด้วยความขมขื่น และกล่าวโทษอีกเพศหนึ่ง หรือไม่ก็พยายามเขียนเลียนแบบผู้ชาย

อย่างที่บอกแหละ ไม่ใช่ความคิดใหม่ ถึงได้อยากย้ำอีกครั้งว่า A Room of One's Own สมควรเป็นหนังสือที่ทุกคนอ่านแต่เนิ่นๆ

มีใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน ชอบมากเลยที่วูลฟ์เปรียบเทียบว่านิยายไม่ใช่ประโยควางต่อๆ กันบนหน้ากระดาษ หากเป็นสถาปัตยกรรมอันมีประโยคเป็นโครงสร้าง เสา ปูน รากฐาน หรืออีกตอนที่วูลฟ์เปรียบเทียบการเขียนถึงสิ่งที่ไม่เคยมีคนเขียนมาก่อน ประหนึ่งจุดเทียนไขในห้องมืดอับแสง คงมีแต่นักกระแสสำนึกเท่านั้นจะใส่อุปมาโรแมนติกๆ แบบนี้ลงในเลคเชอร์ได้

W. M. Miller Jr.'s "A Canticle for Leibowitz"


มิลเลอร์ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์ซึ่งกระทบใจเขาอย่างรุนแรงคือการระเบิดโบสถ์แห่งหนึ่ง อันเป็นโบราณสถานเก่าแก่สุดในทวีปยุโรป หลังสิ้นสงครามมิลเลอร์เขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารวิทยาศาสตร์ แต่ละเรื่องมีตัวละครต่างชุด แต่ยืนพื้นอยู่บนโลกสมมติเดียวกัน กระทั่งเมื่อเสร็จเรื่องสุดท้าย เขาถึงได้ตระหนักว่าตัวเองเพิ่งเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จบเล่มหนึ่ง

A Canticle for Leibowitz เป็นนิยายซึ่งมีตัวเอกเป็นโบสถ์ อาจฟังดูตลก แต่ให้ตีความจริงๆ ก็คงได้ข้อสรุปว่าพระเอกของนิยายไม่ใช่หลวงพ่อ หรือพระคุณเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง หากเป็นทั้งนิกายไลโบวิทซ์ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอันมีส่วนในการเก็บรวบรวม รักษาวิชาความรู้สำหรับมวลมนุษย์ ในโลกสมมติของมิลเลอร์ ภายหลังสงครามปรมาณูล้างโลก ผู้คนเข้าสู่ยุคโง่เขลา ใส่ความวิทยาศาสตร์ว่าเป็นต้นเหตุแห่งการทำลายล้าง หนังสือถูกเผาทิ้ง นักวิชาการถูกเข่นฆ่า ไลโบวิทซ์ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นวิศวกร ออกบวชเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ก่อตั้งนิกายโดยมีเป้าหมายเพื่อซ่อนเก็บ คัดลอก และจดจำหนังสือ โดยหวังว่าสักวันเมื่อผ่านพ้นยุคโง่เขลา วิชาความรู้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน

A Canticle for Leibowitz ดำเนินเหตุการณ์ยาวนานเกือบสองพันปี ผ่านเรื่องสั้นขนาดยาวสามเรื่อง ตั้งแต่หนึ่งในแผนภาพโบราณถูกค้นพบ ส่งผลให้สำนักวาติกันยอมรับชื่อไลโบวิทซ์เป็นนักบุญ อีกสี่ร้อยปีถัดมา ไฟฟ้าถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ หนึ่งพันปีผ่านไป มนุษย์เจริญถึงขั้นครอบครองดวงดาวเป็นอาณานิคม แต่ขณะเดียวกันสงครามปรมาณูล้างโลกครั้งที่สองกำลังจะเกิดขึ้น

ประเด็นซึ่งผู้เขียนพยายามพูดถึงคือมนุษย์เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ และสามารถกระทำความผิดซ้ำซาก ไม่ว่าความผิดนั้นจะร้ายแรงสักแค่ไหน สังฆราชผู้หนึ่งเปรียบเทียบมนุษยชาติว่าเหมือนนกไฟ ต้องแผดเผาตัวเองแล้วเกิดใหม่ซ้ำซาก เป็นอุปมาที่น่าคิดเพราะใน Fahrenheit 451 ก็มีตัวละครพูดทำนองนี้ เพียงแต่แบรดเบอรี่ต้องการเน้นความสามารถในการเกิดใหม่ มากกว่าแง่มุมการทำลายตัวเอง

A Canticle for Leibowitz เป็นนิยายที่เกือบดีแล้ว โดยเฉพาะช่วงสอง ดีมากๆ มิลเลอร์ประสบความสำเร็จในการสร้างโลกกึ่งอดีต กึ่งอนาคต สภาพการเมืองแบบชนเผ่าแบ่งแยกดินแดน อ่านผิวเผินจะนึกว่าเป็นยุโรปยุคกลาง ผู้เขียนไปตกม้าตายตรงช่วงสามที่อยู่ดีๆ กลายเป็นนิยายโลกอนาคตเฉย พอเริ่มมีหุ่นยนต์ ยานอวกาศ เทคโนโลยีพิสดาร ทำลายบรรยากาศที่อุตส่าห์สร้างมาตลอดทั้งเล่ม

เสียดายหนังสือ แต่ไม่เสียดายเวลาที่อ่านครับ

R. Davies's "The Rebel Angels"


เช็คดูว่าครั้งสุดท้ายที่อัพเดทบลอคคือวันที่ 22 พฤศจิกายน อะไรกันเนี่ย เกือบสองอาทิตย์เชียวหรือกว่าเราจะอ่านหนังสือจบอีกเล่มหนึ่ง ช่วงนี้ยุ่งมากๆ ครับ พอย้อนกลับไปดูบันทึกของปีที่แล้ว ก็พบว่าเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็อ่านได้แค่สี่เล่ม คงเป็นอะไรสักอย่างเกี่ยวกับช่วงฤดูใบไม้ผลิ เปลี่ยนเป็นฤดูหนาว

มาคุยเรื่อง The Rebel Angels กันดีกว่า ชื่อหนังสือหมายถึงเทวดาตกสวรรค์ผู้ขัดบัญชาพระเป็นเจ้า ถูกขับลงมายังโลกมนุษย์ และมอบวิชาความรู้ให้แก่พวกเรา เข้าใจว่าเป็นตำนานคริสเตียน แต่คงได้อิทธิพลโพรเมเทียสของกรีกมาไม่น้อย เทวดาตกสวรรค์ดังๆ ก็ได้แก่ซามาฮาไซ อะซาเซล แล้วก็ลูซิเฟอร์ ในที่นี้เดวีส์เปรียบเทียบพวกเขากับเหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ และนักวิชาการ ผู้ค้นคว้า ไขความลับของจักรวาล The Rebel Angels คือนิยายที่มีฉากตลอดทั้งเรื่องเป็นโรงเรียนเก่าแก่ชื่อว่าสปู๊ค

กับผลงานชิ้นก่อนๆ ของเดวีส์เราตัดสินใจไม่ถูกว่าผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไรกับการศึกษา เขาเป็นแบบมาร์ค ทเวนเจ้าของคำคม "I have never let my schooling interfere with my education." หรือเชื่อมั่นในระบบโรงเรียนกันแน่ The Rebel Angels เหมือนจะพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ มีตัวละครหลายตัวต่อต้านการศึกษา แต่ผู้เล่าเรื่องสองคนกลับเป็นตัวแทนของผู้หลงใหลการใฝ่วิชาในสถานศึกษา

ยังไม่ได้เล่าเรื่องเลย จริงๆ แล้วเล่ายากอยู่เหมือนกัน The Rebel Angels มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับนิยายของไอริช เมอร์ดอคตรงที่มีตัวละครหลายตัวดำเนินเรื่องจากหลายทิศทาง มาเรียเป็นลูกสาวยิปซี ชีวิตเธอต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างโลกสมัยใหม่ และครอบครัวซึ่งยังเชื่อเรื่องลี้ลับ เปิดเรื่องมา เธอเล่าให้เราฟังว่าเธอมีอะไรกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งหญิงสาวแอบหลงรัก ขณะเดียวกันมหาเศรษฐี คอร์นิชเพิ่งเสียชีวิต และหนึ่งในผู้จัดการมรดกอันประกอบด้วยสมบัติ โบราณวัตถุล้ำค้าก็คืออาจารย์ของมาเรียนั่นเอง โฮลิเออร์ต้องการหนังสือเล่มหนึ่งในของสะสมของคอร์นิช ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นกุญแจสู่งานวิจัย

ผู้เล่าเรื่องอีกคนคือดาร์คอร์ท เป็นนักบวช และอาจารย์ซึ่งก็แอบหลงรักมาเรียเช่นกัน ตัวละครดาร์คอร์ทนี้ ถ้าใช้ศัพท์ของเดวีส์อธิบายก็ต้องเรียกว่าเป็น "the Fifth Business" หรือตัวประก๊อบตัวประกอบดีๆ นี่เอง แกแทบไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับประเด็นหลัก ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมเดวีส์ถึงได้หลงไหลตัวละครจำพวกนี้นัก

ตัวละครสำคัญอีกตัวคือพาราเบน ซึ่งหลุดมาจากนิยายของไอริช เมอดอกเป๊ะๆ อดีตพระ นักปรัชญา อัจฉริยะปีศาจผู้ชอบเล่นกับจิตใจ และหลอกใช้ผู้อื่น พาราเบนพยายามเขียนนิยายเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่ามันจะกลายเป็นหนังสือคลาสสิคให้ผู้คนตามอ่าน ตีความทุกยุคสมัย และเพื่อการนั้น เขายอมทำได้ทุกอย่าง ถึงจะเหมือนตัวละครเมอดอก แต่พาราเบนมีจุดจบที่ต่างออกไป ทำให้พอจับได้ถึงความรู้สึกที่นักเขียนสองคนนี้มีต่อตัวละครจำพวกซาตาน เมมฟิสโตฟีเลีย

ให้เทียบกับไตรภาคเดปฟอร์ด ไตรภาคคอร์นิชดูมีความเกี่ยวพันกันระหว่างเล่มกว่า พออ่าน The Rebel Angels จบ รู้สึกว่าหลายส่วนยังไม่สมบูรณ์ ถ้าได้อ่านเรื่องจากมุมมองของตัวละครอื่นๆ บ้างเช่นพาราเบน หรืออาร์เธอ คอร์นิช หลานชายมหาเศรษฐี (ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว) คงเห็นภาพครบกว่านี้ หรืออย่างโฮลิเออร์ จริงๆ แล้วเป็นตัวละครตัวนี้น่าค้นหา แต่เหมือนเราแค่เห็นบทบาทของเขาเป็นท่อนๆ

ก็ต้องดูกันต่อไปว่า What's Bred in the Bone กับ The Lyre of Orpheus จะตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่

หมายเหตุ: เพิ่งไปอ่านเนื้อเรื่องย่อสองเล่มนี้ รู้สึกว่าจะไม่แฮะ :P

อุบัติการณ์ (วรภ วรภา)


ในทางทฤษฎีวรรณกรรม เข้าใจว่าการศึกษาอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเพศมักใช้คำว่า Feminist Theory ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง หรือชาย สาเหตุคงเป็นเพราะนักคิดตะวันตกนิยามเพศหญิงขึ้นมา แล้วใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ สร้างอัตลักษณ์ความเป็นชายอีกที ถ้าสังเกตจะพบว่าทางตะวันตกไม่ค่อยมีค่านิยม "ลูกผู้ชาย" หรือแนวคิดแบบ "ผู้ช๊าย ผู้ชาย" นอกจากว่า "ไม่เป็นผู้หญิง" เท่านั้น จริงๆ มีเหมือนกันคือพวกคาวบอย กับอัศวิน ซึ่งถือเป็นของตกสมัยไปนานแล้ว

ในทางตรงข้ามชาวตะวันออกมักจะมีแนวคิดเรื่อง "ลูกผู้ชาย" หรือความเป็น "ผู้ชาย" สูงมาก ถ้าเอาเฉพาะคนไทย เผลอๆ มากกว่า "ความเป็นหญิง" เสียอีก แม้จะมีสุภาษิตสอนหญิง หรือพวกนางในวรรณคดีมาเป็นตัวบ่งชี้ว่าหญิงไท๊ยหญิงไทยควรประพฤติ ปฏิบัติยังไง แต่โดยรวมแล้ว คนไทยยังไงก็ให้ความสำคัญกับความเป็น "ลูกผู้ชาย" มากกว่า

เกริ่นมาแบบนี้เพราะรู้สึกว่าธีมหลักซึ่งครอบคลุมแต่ละเรื่องสั้นใน อุบัติการณ์ ก็คือแนวคิดลูกผู้ชายนี่เอง เรื่องสั้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการที่ตัวเอกผู้ชายตัดสินใจทำบางอย่าง โดยมีฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น "คนร้าย" เสมอไป) มาสร้าง threat อันยิ่งใหญ่คือเหยียดหยามศักดิ์ศรี ในโลกของคุณวรภ ความยากจน หิวโหย สูญเสียชีวิต หรือขาดทุน ไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าการโดนหมิ่นประมาท เป็นนิยายจีนกำลังภายในในรูปลักษณ์เรื่องสั้นเพื่อชีวิต

งานเขียนเพื่อชีวิต แต่ไหนแต่ไรมา ก็มีกลิ่นตัวผู้สูงอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนคุณวรภเข้าใจจุดอ่อน และข้อเสียของความเป็นชาย เนื้อความระหว่างบรรทัดคล้ายจะตั้งคำถามว่า "ฆ่าได้ หยามไม่ได้" มันยังใช้กันได้หรือไม่กับสังคมสมัยนี้ โดยรวมน่าสนใจ ยังไม่ถึงกับชอบมาก แต่รู้สึกว่าถ้าผู้เขียนจับประเด็นเรื่องเพศ และพยายามล้วงลึกตรงนี้ ในที่สุดน่าจะผลิตผลงานชั้นเลิศ (ไม่ว่าจะเป็นนิยาย กลอน หรือเรื่องสั้น) ออกมาได้

J.M. Coetzee's "Foe"


Foe คือนิยายเล่มที่สองของโคเอทซีที่เราอ่าน แน่นอนว่าเล่มแรกต้องเป็น Disgrace ซึ่งไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ Foe น่าสนใจกว่า มีทั้งความเหมือนและความต่างเมื่อเทียบกับอีกเล่มหนึ่ง ทั้งคู่จับประเด็นความเถื่อน ข้อขัดแย้งระหว่างคนขาวในโลกศิวิไลซ์ และคนผิวสีในโลกใหม่ วิธีการที่ฝ่ายแรกปกครอง กดขี่ฝ่ายหลัง และวิธีการตอบโต้ของคนเถื่อน ถ้าพูดตามภาษาทฤษฎีวรรณกรรมก็เรียกว่า postcolonialism ส่วนจุดต่างคือขณะที่ Disgrace ตรงไปตรงมา Foe เล่นกับประเด็น meta-literature

เนื้อเรื่องคร่าวๆ คือเหตุการณ์หลัง The Adventure of Robinson Crusoe ซูซาน บาร์ตันเป็นผู้ติดเกาะอีกราย (ซึ่งไม่ปรากฏในนิยายเล่มนั้น) พอหนีรอดมาได้ และครูโซเสียชีวิต เธอกับฟรายเดย์เดินทางไปหาโฟซึ่งเป็นนักเขียนดัง บาร์ตันขอร้องให้โฟเปลี่ยนประสบการณ์ของเธอให้กลายเป็นนิยาย สาเหตุหนึ่งก็เพื่อรายได้ ค่าลิขสิทธิ์ บาร์ตันตั้งใจจะส่งฟรายเดย์กลับทวีปแอฟริกา นอกเหนือจากนี้เธอยังมีเหตุผลลึกๆ ซึ่งต้องไปอ่านกันเอาเอง

ช่วงแรกของนิยายพูดถึงเหตุการณ์บนเกาะร้าง เรื่องราวระหว่างครูโซ บาร์ตัน และฟรายเดย์ เป็นอีกมุมมองซึ่งแตกต่างจากที่เราๆ ท่านๆ เคยอ่านกัน ครูโซของบาร์ตันขี้เกียจ วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากเพ้อฝันสักวันคนแปลกหน้าจะมาเยือนเกาะ พร้อมทั้งเมล็ดพันธ์พืชสำหรับหว่านไถบนแปลงซึ่งเขาเตรียมไว้ ครูโซไม่มีความปรารถนาจะกลับสู่สังคมเมือง ชีวิตสิบห้าปีเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นพระราชาแห่งแดนรกร้าง เมื่อมีสำเภาผ่านมาช่วยเหลือคนทั้งสาม นั่นคือจุดเริ่มต้นอาการป่วยที่คร่าชีวิตกะลาสี

ช่วงที่สองคือ "การติดเกาะ" ของบาร์ตันใจกลางเมือง โฟมีปัญหาเรื่องเงิน ต้องหลบหนีเจ้าหนี้ บาร์ตันใช้ชีวิตอยู่ในบ้านร้างของนักเขียน พยายามต่อเรื่องราวการผจญภัยบนเกาะร้างด้วยตัวเธอเอง ช่วงนี้ยังตรงไปตรงมา และในความเห็นเรา เป็นช่วงที่ดีที่สุดของนิยาย เราได้เห็นความขัดแย้งระหว่างหญิงชาวอังกฤษ และหนุ่มนิโกร ที่เธอเพิ่งมารู้ภายหลังว่าพูดไม่ได้เพราะถูกตัดลิ้น ความพิการของฟรายเดย์กลายเป็นปมปริศนา ถึงแม้ครูโซบอกว่าพ่อค้าทาสตัดลิ้นชายหนุ่มตั้งแต่เขายังเด็ก ในความเห็นเธอ บางทีครูโซเองนั่นแหละที่กระทำการทารุณนั้น โคเทอซีแสดงให้เห็นความสำคัญของภาษา การสื่อสาร และคุณค่าในแง่บันทึกความทรงจำ

พอถึงช่วงสุดท้าย บาร์ตันพบกับโฟ ทั้งคู่ถกปรัชญา ไล่มาตั้งแต่ postcolonialism, meta-physics, feminist theory, existentialism และทฤษฎีอื่นๆ เท่าที่โลกตะวันตกเคยค้นพบ โดยมีตัวละครอื่นๆ เช่นฟรายเดย์ เด็กหญิงซึ่งอาจจะเป็น หรือไม่เป็นลูกสาวของบาร์ตันเป็นน้ำจิ้มประกอบบทสนทนา อ่านทีแรกตกใจมาก เพราะสไตล์มันช่างต่างจากช่วงก่อนโดยสิ้นเชิง กำแพงที่สี่พังพินาศ ตัวละครยอมรับออกมาเลยว่าพวกเขาเป็นสิ่งประดิษฐ์ ถูกสร้างมาโดยน้ำมือ "เทพเจ้าแห่งความมืด" บางคน (ซึ่งจะใช่ใครอื่นนอกจากตัวโคเอทซี) ไม่ใช่ตอนจบที่คาดหวังไว้ หรืออยากให้เป็น แต่ความ absurd ของมันเกินอัตราจนกลายเป็นถูกใจเรา

เกร็ด: Robinson Crusoe ถือเป็นนิยายภาษาอังกฤษเล่มแรก เขียนช่วงประมาณต้นศตวรรษที่ 18 โฟแต่งนิยายเล่มนี้โดยสมมุติว่าเป็นเหตุการณ์จริงซึ่งเกิดกับกะลาสีคนหนึ่ง สมัยนั้นชาวตะวันตกยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือนิยาย อะไรคือ "ศิลปะแห่งการโกหก" และเหตุใดถึงต้องมานั่งอ่าน "เรื่องแต่ง" นี่คงเป็นสาเหตุที่โคเอทซีหยิบยกนิยายเล่มนี้มาใช้เป็นหัวข้อปาฐกถา meta-literature

M. Moorcock's "Behold the Man"


Behold the Man เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างจากนิยายวิทยาศาสตร์ในความหมายคนทั่วไป ถึงจะมียานย้อนเวลา แต่เทคโนโลยีตัวนั้นเป็นแค่ส่วนประกอบของบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า และน่าสนใจกว่านั้น ถ้าให้จำกัดความจะบอกว่า Behold the Man ออกแนวปรัชญาศาสนาที่มีประเด็นเรื่องการย้อนเวลาเป็นส่วนประกอบ

คาร์ลผ่านมรสุมชีวิตมากมาย ทั้งภายนอก และที่สำคัญกว่าคือภายใน ทันทีที่ชีวิตตกต่ำลงสุดขีด เขาโทรศัพท์ไปหาเพื่อนซึ่งกำลังสร้างยานย้อนเวลา เพื่อนผู้นี้หาอาสาสมัครทดลองใช้ยาน คาร์ลยื่นเงื่อนไขเป็นอาสาสมัครคนนั้น แต่มีข้อแม้ว่าเขาจะต้องเลือกวันเวลาในอดีตเอง คาร์ลตัดสินใจย้อนกลับไป A.D. 29 โดยมีเป้าหมายคือต้องการเป็นประจักษ์พยานการถูกตรึงไม้กางเขนของพระเยซู

อ่านแล้วนึกถึง The Power and the Glory คงเป็นด้วยธีมหลักของสองเล่มนี้กระมัง ซึ่งก็คือการเสียสละ ในทางคริสตศาสนาแล้ว คงจะถือว่าเป็นความดีระดับสูงสุด

จุดสำคัญของเรื่องนี้คือเหตุการณ์ใน New Testament เป็นแค่ตำนานที่คนปรุงแต่งเอง หรือว่าเกิดขึ้นจริง ถ้าเกิดขึ้นจริง เกิดในลักษณะไหน และที่สำคัญกว่านั้น จำเป็นหรือไม่ว่าพระเยซูต้องมีตัวตนจริงๆ คนรักของคาร์ล โมนิกา ไม่เชื่อเรื่องศาสนา เธอคิดว่าพระเจ้าตายไปตั้งแต่ปี 1945 (ปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง) และปัจจุบันวิทยาศาสตร์ได้มาแทนที่ทุกศรัทธา ความเชื่อ คาร์ลพยายามถกเถียงในเรื่องนี้ และเมื่อโมนิกาเดินออกจากชีวิตเขา ชายหนุ่มตัดสินใจหาข้อพิสูจน์บางอย่าง

Behold the Man ไม่ใช่นิยายที่คาดไม่ถึงขนาดนั้น ใครคุ้นเคยการ์ตูน หรือนิยายวิทยาศาสตร์มาบ้าง คงพอเดาตอนจบได้ตั้งแต่ต้น ช่วงแรกๆ ค่อนข้างน่าเบื่อด้วยซ้ำ ไม่ค่อยชอบวิธีที่มัวคอคเอาบทสนทนาโดดๆ มาใช้แสดงภาวะจิตใจตัวละคร ดูเหมือนสุ่มๆ ให้หนังสือมันหนาขึ้นมายังไงชอบกล เพิ่งมาช่วงสองนี่แหละ ที่ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง โดยเฉพาะพอถึงช่วงสุดท้ายแล้ว ธีมหนังสือชัดเจน ลงตัวมากๆ เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นดีซึ่งอ่านแล้วชวนให้ขบคิดตั้งคำถาม

ช่อการะเกด 42 (หลายคนเขียน)


มาแรงมากๆ กับช่อการะเกด reloaded ชนิดที่ว่าในเวปไซต์วรรณกรรมถึงกับโหวตหาเรื่องสั้นดีเด่นประจำเล่มเลยทีเดียว จริงๆ เห็นคนอ่านหนังสือเราก็ชื่นใจ แต่อย่าให้กระแสนี้มันตายไปกับช่อการะเกด 43 44 ก็แล้วกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงขึ้นกับทีมงาน และที่สำคัญตัวผู้เขียนเองจะผลิตผลงานดีๆ ส่งไปให้ช่อฯ ส่วนผู้เขียนคงช่วยอะไรไม่ได้ แต่ส่วนทีมงาน ยอมรับเลยว่าสอบผ่านในระดับหนึ่ง แง่รูปเล่ม ปก เนื้อหา แล้วก็โลกหนังสือ ซึ่งเป็นสรุปข่าวแวดวงวรรณกรรมไทย เทศท้ายเล่ม ทำออกมาได้ดี จุดเดียวที่อยากเตะ เอ้ย! อยากติคือรูปประกอบ ให้เดานะ บางรูปไม่ได้วาดจำเพาะเรื่องใช่ไหม เพราะไม่เห็นมันจะเข้ากันกับเนื้อหาตรงไหน (นอกจากจะแถๆ ถูๆ ไถๆ กันจริงๆ )

เรื่องที่ชอบสุดในเล่มคือ ข้อได้เปรียบของการเป็นดาราอาวุโส เขียนดี เรื่องสั้นที่เอาความตายมาเป็นธีมแบบนี้หายากในเมืองไทย เรื่องนี้นอกจากจะพูดถึงความตายแล้ว ยังใช้ตัวละครเป็นนักแสดง คือผู้สวมบทบาทจริงๆ (ซึ่งต่างจากดารา หรือคนดัง) ไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวของอาชีพนี้เท่าไหร่ สงสัยมากว่าคุณวยากรเป็นใคร ทำอาชีพอะไร และอายุเท่าไหร่ ทำไมถึงได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ และถ่ายทอดมาได้ดี รองลงมา ใช่เพียงชื่อตัวละคร เป็นเรื่องสั้นชวนหัวที่ขำแตกใช้ได้ ภาษาผู้เขียนเรียบๆ แต่บทจะปล่อยหมัดฮา ก็กระทุ้งยอดอกคนอ่าน เรื่องสั้นขำขันที่มีบรรยากาศจริงจังเช่นนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นในแวดวงวรรณกรรมไทย อีกเรื่องที่อาจจะไม่ถึงกับชอบมาก แต่น่าพูดถึงคือ ข่าว ชัด รัฐ นิวส์ ซึ่งด้วยวิธีนำเสนอเก๋ไก๋ (แม้จะไม่แปลกใหม่นัก) ก็ช่วยให้เรื่องนี้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่เข้าขั้นชอบ และเกือบดีมากๆ คือ อิสตรี เป็นเรื่องสั้นสไตล์คุณเดือนวาด ทั้งวิธีเขียน และสาร ในเรื่องนี้มีสองเหตุการณ์เกิดพร้อมๆ กัน ซึ่งแม้แต่ละส่วนจะไม่แข็งนัก แต่พออยู่รวมกันแล้วช่วยส่งเสริมกันได้ดี ปัญหาคือยาวไป แทนที่จะได้เห็นธีม เป็นปมชัดๆ อาการเลยเหมือนอ่านไปต้องมานั่งตั้งคำถามไปว่าจะเล่าให้ฉันฟังทำไมเนี่ย อีกเรื่องที่ปัญหาคล้ายๆ กันคือ มือสังหาร ด้วยภาษาเข้มข้นถึงใจ ติดที่ตรงลำดับการเล่าเรื่อง อ่านแล้วยังไม่ถึงอารมณ์เท่าที่ควร

ที่สงสัยกว่าเพื่อนคือ ตับ รู้สึกว่าถ้าผู้อ่านตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละคร คงไม่มีใครยอมฝืนกล้ำกลืนเช่นนั้น ยิ่งถ้าวิธีแก้ไขง่ายนิดเดียว หากผู้เขียนวางหมากใหม่ ให้ "ผม" ในเรื่องได้มีโอกาสเปิดอกกับพ่อตาสักครั้ง คงช่วยให้การตัดสินใจตัวละครสมจริงสมจังกว่านี้ อีกเรื่องที่อ่อนกว่าเพื่อนคือ ปาฏิหาริย์แห่งประเทศโลกที่สาม แม้จะดีใจที่ได้เห็นพี่ประชาคมลองเรื่องสั้นแบบใหม่ๆ แต่เรื่องยังไม่ถึงในแง่เสียดสีสังคม นึกอยู่นานก็นึกไม่ออกว่าเสียดสีแง่ไหนกัน จะเล่นประเด็นจตุคาม หรือประเด็นหวย หรือจะเป็นเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งก็ดูจะไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนเป็นเรื่องสั้นพยายามเสียดสีสังคมที่ยังตอบโจทย์ไม่แตกมากกว่า

นอกนั้นแม้จะธรรมดา แต่พูดได้เต็มปากว่าช่อการะเกด 42 ไม่มีเรื่องไหนแย่

M. Puig's "Kiss of the Spider Woman and two other plays"


ไม่ใช่ครั้งแรกนะที่ได้อ่าน Kiss of the Spider Woman นี่คือหนังสือโปรดเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจไม่ค่อยพูดถึงบ่อยนัก เพราะไม่ได้อ่านเรื่องอื่นของผู้เขียน (เคยค้นๆ ดู ที่แปลมาเป็นภาษาอังกฤษก็มีอยู่ไม่กี่เล่ม) ยังจำความรู้สึกได้ดี เหมือนโดนฉุดกระชากลงห้วงเหวอารมณ์ ระหว่างอ่านแน่นหน้าอก ตีบตันไปหมด ร้องไห้ยังร้องไม่ออก ความรู้สึกคล้ายๆ ตอนอ่าน Lolita หรือ The Sea, the Sea หนังสือเหล่านี้สร้างความกดดันบางอย่าง ทั้งที่ถามว่าเศร้าไหม อย่างน้อยๆ กว่าจะถึงตอนจบก็ไม่ได้โศกาอะไรนักหนา ยิ่งในกรณี Kiss of the Spider Woman น่าจะเรียกว่าเป็นความเศร้าที่มาพร้อมกับความสวยงามมากกว่า

จุมพิตนางแมงมุมฉบับที่เพิ่งอ่านไปไม่ใช่นิยาย แต่เป็นละครเวที ดัดแปลงโดยตัวพูอิกเอง เข้าใจว่าเพิ่งมาทำเป็นละครเพลงทีหลัง โดยคู่หูในตำนาน เอบ และแคนเดอร์เป็นผู้ประพันธ์ดนตรี นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เคยเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยด้วย มีคุณรัดเกล้าแสดง แต่ถามว่าแสดงเป็นอะไร ไม่รู้เหมือนกัน แต่คงไม่ใช่นางแมงมุม เพราะสำหรับคนที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ คงทราบว่านางแมงมุมเป็นนักโทษชายใจหญิง โมลินาถูกจับขังร่วมกับวาเลนติน นักโทษการเมือง ในคุกแห่งหนึ่งของประเทศอเมริกาใต้ ทั้งเรื่องมีคนเล่นอยู่แค่สองคนเท่านั้น

ถึงจะบอกว่าพูอิกดัดแปลงนิยายตัวเองให้เป็นบทละคร แต่เอาเข้าจริงๆ Kiss of the Spider Woman ฉบับดั้งเดิมมันก็แทบจะเป็นละครอยู่แล้ว เพราะทั้งเล่มไม่มีการบรรยายฉาก มีแต่บทสนทนาระหว่างตัวละครสลับไปมา ด้วยเหตุนี้กระมังมันถึงได้เป็นหนังสือสุดแสนงดงาม เพราะไม่มีการบรรยายความ คนดูถึงต้องจินตนาการทุกสิ่งล้วนๆ พูดแบบนี้อาจฟังดูแปลกๆ เนื่องจากขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือ มันก็ต้องใช้จินตนาการวันยังค่ำ อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน เพียงแต่เทียบกับนิยายเรื่องอื่น ราวกับว่า Kiss of the Spider Woman เป็นนิยายที่ถูกเล่าด้วยเสียงกระซิบ ต้องค่อยๆ วาดภาพ จับความเอาเอง ประกอบกับธีมหนังสืออิงอยู่บนความฝัน และภาพลวงตา เลยกลายเป็นวิธีเล่าเรื่องที่ส่งเสริมเนื้อความอย่างสวยงาม

พอดัดแปลงเป็นบทละคร อ่านแล้วคิดภาพตาม กลับไม่ได้อารมณ์เท่าที่ควร ซึ่งคงช่วยอะไรไม่ได้ จริงๆ ฉากและเหตุการณ์สำคัญในนิยายบรรจุอยู่ในบทละครได้อย่างไม่มีตกหล่น ต่อให้ไม่นับอารมณ์ฝันๆ ของมันนี่ก็เป็นนิยายที่มีประเด็นพูดถึงได้ไม่รู้จบ การถ่ายทอดบทสนทนา ไดนามิกระหว่างโมลินา และวาเลนติน ตัวละครซึ่งต่างกันในทุกๆ ด้าน สื่อให้เห็นความขัดแย้งระหว่างเพศ การต่อสู้ทางการเมือง (เท่าที่อ่านดูพูอิกค่อนข้างเป็นกลาง ไม่เอียงซ้าย เอียงขวาไปทางใด) การใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิใจ และไม่ยอมให้ใครดูถูก (ซึ่งถูกย้ำอีกครั้งใน Mystery of the Rose Bouquet) การที่คนสองคนช่วยเหลือและเติมเต็มซึ่งกันและกัน

นอกจาก Kiss of the Spider Woman เล่มนี้ยังมีบทละครอีกสองเรื่องคือ Under a Mantle of Stars และ Mystery of the Rose Bouquet ซึ่งก็เพิ่งเคยอ่านเหมือนกัน Under a Mantle of Stars เป็นบทละครเรื่องแรกของผู้เขียน เล่นประเด็นความฝัน และภาพลวงตาเต็มๆ สนุกดี อ่านแล้วเหมือนเดินท่องอยู่ในเขาวงกต ส่วน Mystery of the Rose Bouquet ค่อนข้างยาว และน่าเบื่อบางจังหวะ แต่มีตอนจบที่โดนใจพออภัยให้ทุกสิ่ง มีหลายส่วนคล้ายจุมพิตนางแมงมุม เปลี่ยนสองนักโทษชาย เป็นนางพยาบาล และคนไข้ พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคู่คนขาดๆ หายๆ และท้ายที่สุด หนึ่งในบทเรียนที่พูอิกอยากฝากไว้คือการมีชีวิตอย่างไม่ยอมให้ผู้ใดดูถูก

happening vs modern dance


แฮะ แฮะ อาทิตย์ที่ผ่านมาอ่านหนังสือไม่จบเลยสักเล่ม พยายามอ่านเรื่องสั้นคนไทยเขียน ซึ่งก็ฮาๆ ดีเหมือนกัน แต่รู้สึกเหมือนเหมาะเอาไว้วางในห้องน้ำอ่านสนุกๆ มากกว่า ส่วนหนังสือรวมเรื่องสั้นฝรั่งอีกเล่ม ดีพอตัว แต่มันหนืดๆ ยังไงไม่ทราบ ก็เลยว่าจะดองเอาไว้สักพัก ตอนนี้กำลังอ่านรวมบทละครอยู่ คาดว่าเล่มนี้น่าจะจบในไม่ช้า ครั้นจะไม่อัพเดทบลอคเลย ก็ดูขี้เกียจไปหน่อย บังเอิญพอดีเมื่อวานไปดูงาน modern dance มา โดยคณะจากเยอรมัน ซึ่งบังเอิญมันตรงกับเรื่องที่เราอยากพูดถึงมานานแล้ว

หนึ่งในแดนซ์ที่ได้ดูเมื่อวานคือผู้หญิงมาเลียนแบบการดำน้ำ โดยผู้ชายคนหนึ่งคอยแบกเธอ เหวี่ยงไปเหวี่ยงมารอบๆ เวที ส่วนตัวผู้หญิงก็ตีขา เหวี่ยงแขน งดงามชวนฝันชนิดแทบลืมแรงโน้มถ่วงไปเลย นึกถึงว่าอาทิตย์ก่อน เห็นคลิปยูทูป happening ของคนไทย มีผู้ชายมาเลียนแบบการดำน้ำโดยสวมกู๊กเกิ้ลเดินไปเดินมา ก้มศีรษะ ทำท่าเหมือนแหวกน้ำ

บอกได้คำเดียวครับว่าอาย

ระยะหลังได้ยินคำว่า happening เยอะมากในเมืองไทย จริงๆ ศัพท์คำนี้ก็มีที่มาจากประเทศอเมริกา แต่เรากลับไม่ค่อยได้ยินฝรั่งเท่าไหร่ เหมือนกับว่าพอ happening ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงรูปกึ่งเต้น กึ่งบทพูด กึ่งอะไรก็ได้ เกิดขึ้นมา ไม่นานก็ถูกเอาไปรวมกับ modern dance ซึ่งก็เป็นการเต้นที่ "อะไรก็ได้" (จริงๆ งาน modern dance ที่ชมไปเมื่อวานก็มีโชว์ซึ่งเข้าข่าย happening อยู่เยอะเหมือนกัน)

ความ "อะไรก็ได้" ของ modern dance นี่จริงๆ แล้วยากโคตรๆ คนที่จะมาทำอะไรแบบนี้ต้องแข็งแรง เคยเต้นบัลเล่ห์ แจ๊ส ฮิปฮอบ หรือแอฟริกันแดนซ์ มากพอให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดังใจ หรือถ้าเป็นงานอิงบทสนทนา อย่างน้อยก็ต้องเข้าใจศาสตร์ ศิลป์การเขียน และแสดงละคร ถึงจะ "อะไรก็ได้" แต่ไม่ใช่ "ใครก็ได้" จะทำแล้วดูงาม

รู้สึกว่าคนไทยชอบคำว่า happening เพราะมันสื่อถึง "อะไรก็ได้" และ "ใครก็ได้" เรารู้สึกว่าเป็นค่านิยมที่ผิด ชนิดว่าอยากดำน้ำ ก็เอาแว่นมาสวม แล้วแหวกๆ ว่ายๆ หรือเคยดูคนพยายามเลียนแบบนก ก็เข้าทำนองเดียวกัน ที่น่าอายมากๆ คือแค่ให้นักแสดงไม่พูดอะไรบนเวที แล้วเรียกมันว่า "ละครใบ้" จริงๆ ไอ้เรื่องการแสดงท่าทางต้านแรงโน้มถ่วงก็เป็นเทคนิคที่นัก modern dance ถ่ายทอดกันมายาวนาน รวมไปถึง mime หรือละครใบ้ด้วย ถ้าขี้เกียจศึกษา ขี้เกียจฝึกซ้อม อย่าทำเลยดีกว่า

ไม่อย่างนั้น happening ของพี่ไทยก็ได้แค่ "ทำท่าทำทาง" แต่ไม่ถึงขั้น "การเต้น" ซึ่งเป็นงานศิลปะหรอก

K. Johnson's "The Magician and the Cardsharp"


ได้เวลาเปิดเผยความจริงอีกประการเกี่ยวกับตัวเราที่หลายคนอาจยังไม่รู้ นอกจากหนังสือ และลีลาศ มายากลคืออีกหนึ่งงานอดิเรกที่เราหลงใหล แต่ถ้าพูดถึงดีกรีความทุ่มเท ยังห่างชั้นกับสองอย่างนั้นอีกไกล ความสนใจมายากลเริ่มมาจากชอบเล่นไพ่ จำได้ว่าไปเข้าค่ายกับเพื่อน เล่นรัมมี่กันอยู่ดีๆ เพื่อนก็โชว์กลไพ่ให้ดูอย่างหนึ่ง ตั้งแต่นั้นก็สนใจ ศึกษา ฝึกฝน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ทิ้งไปนานหลายปี เพิ่งมาเก็บตกช่วงปี สองปีให้หลังนี้เอง

วันหนึ่งพอเดินผ่านร้านหนังสือ เห็นกะบะลดราคามี The Magician and the Cardsharp ซื้อมาทันที หนังสือเล่มนี้คือชีวประวัติได เวอร์นอน ซึ่งถ้าฮูดินีคือไอนสไตน์แห่งโลกมายากล เวอร์นอนก็คือริชาร์ด ไฟยน์แมนนั่นเอง (อุปมาอุปมัยได้แย่มาก สรุปสั้นๆ ฮูดินีคือนักมายากลคลาสสิก ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ถ้าพูดถึงพ่อมดแห่งศตวรรษที่ยี่สิบจริงๆ ต้องเป็นเวอร์นอนเท่านั้น) เวอร์นอนได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการมายากล จากอดีตมายากลคือการแสดงอลังการ หลบหนีจากสถานที่อันตราย เสกนู้นเสกนี่ให้หายไปด้วยเครื่องกลไกซับซ้อน เวอร์นอนคือผู้บุกเบิกศิลปะการใช้มือ (slight of hand) เล่นกลระยะใกล้ (เพิ่งมาสิบ ยี่สิบปีให้หลังกับเดวิด คอปเปอฟิลนี่แหละ ที่การแสดงอลังการบนเวทีกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง)

ให้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า The Magician and the Cardsharp เป็นหนังสือที่ดีไหม ตอบเลยว่า "เกือบ" จอห์นสันพยายามผูกเรื่องราวชีวิตเวอร์นอนให้น่าสนใจขึ้น โดยใช้การไล่ตามหา "กลไพ่ในตำนาน" ซึ่งก็คือการแจกไพ่จากกลางกอง เป็นพลอตหลักของหนังสือ ทั้งนี้ทั้งนั้นยังผสาน และเปรียบเทียบชีวิตคนสองคน คนแรกคือเวอร์นอน อีกคนคืออลัน เคเนดี้ซึ่งเป็น cardshape หรือนักโก่งไพ่ เจ้าของเทคนิกนี้ ชีวิตของเคเนดี้วนเวียนอยู่กับโลกใต้ดิน มาเฟีย โสเพณี เหล้า และการพนัน แต่เอาเข้าจริงๆ ทั้งคู่กับมีส่วนเหมือนมากกว่าส่วนต่าง นั่นก็คือความหลงใหลในศิลปะแห่งไพ่

คิดออกเลยว่าถ้าเปลี่ยนจอห์นสันเป็นนักเขียนดังๆ อย่างพอล ออสเตอร์แล้วแต่งนิยายโดยยืนพื้นประเด็นนี้ The Magician and the Cardsharp จะเป็นหนังสือที่น่าอ่านมากๆ จอห์นสันเล่าเรื่องราวตรงไปตรงมา หนึ่งไปสอง ไปสาม ไปสี่ ทั้งที่จริงๆ มันมีอะไรหลายอย่างซุกซ่อนอยู่ ตั้งแต่การต่อสู้กับภาวะข้าวยากหมากแพงของเหล่านักมายากลในอเมริกายุค great depression ความขัดแย้งระหว่างเวอร์นอนและนักมายากลรุ่นเก่าเช่นฮูดินี หรือที่กล่าวไปแล้ว ความเหมือน และต่างระหว่างนักแสดง และโจรโกงไพ่ ทั้งหมดนี่คงเจ๋งมากๆ ถ้าได้มือชั้นดีมาจับ สำหรับเท่านี้ The Magician and the Cardsharp ก็พอใช้ได้ในแบบที่มันเป็น

M. Foucault's "The History of Sexuality: an Introduction"


The History of Sexuality คือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเซ็ก ที่ไม่ได้พูดถึงเซ็ก แต่พูดถึง "การพูดถึงเรื่องเซ็ก" ซึ่งถ้าว่ากันตามนิยามของฟูโกต์แล้ว นั่นแหละคือเรื่องเซ็ก งงไหม

อ่านแล้วนึกถึงสมัยเรียนทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษ ไอนสไตน์กล่าว (ย่อๆ ) ว่าภาพวัตถุคือตัวตนที่แท้จริงของวัตถุ ในทำนองเดียวกัน กิจกรรมเพศสัมพันธ์ในสายตาฟูโกต์เป็นแค่เรื่องหยิบย่อยในทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ฟูโกต์สมเป็นนักปรัชญา-ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ มองเพศสัมพันธ์เป็นเครือข่ายอำนาจชนิดหนึ่ง โดยหัวใจของการหยิบยื่น และใช้อำนาจอยู่ที่ "ความจริง" หรือ "การเรียนรู้ความจริง" เกี่ยวกับเรื่องเซ็ก

ใครที่อ่าน Discipline & Punish มาก่อนจะเข้าใจ The History of Sexuality ได้ง่ายขึ้น เพราะปรัชญาหลายอย่างคล้ายคลึงกัน ฟูโกต์สนใจความเกี่ยวพันระหว่างอำนาจ และความรู้ กรณีเซ็กซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกสังคมปกปิดย่อมกลายเป็นฐานแห่งอำนาจ ระหว่างผู้รู้ และผู้อยากรู้ ความคิดซึ่งน่าหยิกมากๆ คือฟูโกต์แบ่งวัฒนธรรมออกเป็นสองประเภท วัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งเซ็ก หรือความจริงเกี่ยวกับเซ็กสัมพันธ์กับศิลปะ (นึกถึงอีโรติกอาร์ตของญี่ปุ่น อินเดีย) ศิลปินหรือผู้รู้จะมีอำนาจเหนือกว่า ส่วนวัฒนธรรมตะวันตก จะตรงกันข้าม เพราะเซ็กสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผู้รู้จึงตกอยู่ในสภาพ "สิ่งที่ถูกศึกษา" และนักวิทยาศาสตร์ นักศาสนา หรือผู้อยากรู้ เป็นฝ่ายกุมอำนาจ

จริงๆ หนังสือเล่มนี้มีประเด็นน่าขบคิดเยอะ แต่ประเด็นหลักซึ่งฟูโกต์ย้ำเสมอคือ พัฒนาการของสังคมยุคใหม่ ตั้งแต่ยุควิคตอเรียไม่ได้นำไปสู่การปกปิดทางเพศอย่างที่หลายคนเข้าใจ ในทางตรงกันข้าม ฟูโกต์กลับบอกว่าเรื่องเพศถูกเปิดเผยมากขึ้น ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นำไปสู่ทุนนิยม ผู้คนตระหนักความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ จากเดิมอำนาจถูกจำกัดแค่หยิบยื่นความตายให้แก่ผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบ แต่ภายหลังศตวรรษที่ 18 อำนาจคือการจัดการชีวิตผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อการผลิต เพศสัมพันธ์กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งในระบบเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นมนุษย์ยุคใหม่จึงหันมา "คุย" เรื่องเพศมากขึ้น "คุย" ในที่นี้ไม่ใช่สนทนาวิสาสะกลางตลาด แต่เป็นการ "คุย" เพื่อบังคับ ควบคุม ค้นหาความรู้ สรุปสั้นๆ คือ การ "คุย" ในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจนั่นเอง

ใช้เวลาอ่าน The History of Sexuality น้อยมาก ทั้งที่มันเป็นหนังสือยาก ไม่รู้เหมือนกันที่ลุยอ่าน เพราะกลัวลืมเนื้อหา แล้วจะอ่านต่อไม่รู้เรื่องหรือเปล่า (เอาเข้าจริงๆ พออ่านจบบทหนึ่ง ให้เวลากับมันสักพัก จะเข้าใจได้ดีกว่า) แต่ที่แน่ๆ ถึงจะยาก แต่นี่เป็นหนังสือซึ่งอ่านสนุก ความรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าช็อตกระตุ้นสมองตลอดเวลา ยอมรับว่าอ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ The History of Sexuality พิสูจน์ว่าฟูโกต์ยังคงเป็นนักปรัชญาในดวงใจเราเสมอ

A. Bechdel's "Fun Home: A Family Tragicomic"


Fun Home คือความผิดหวังที่คาดเดาไว้ตั้งแต่ต้น เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้แต่เราเป็นแฟนการ์ตูนญี่ปุ่นเหนียวแน่น อ่านมาตั้งแต่เด็ก จนบัดนี้ก็ยังรู้สึกว่าถ้าให้จัดอันดับหนังสือที่ชอบที่สุดในโลก ในสิบเล่มแรก คงมีนิยายหลุดมาไม่ถึงครึ่ง ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ประเทศอเมริกา ความตั้งใจอย่างหนึ่งคือค้นหา และทดลองอ่านการ์ตูนอเมริกัน ซึ่งแฟนๆ เรียกอย่างเท่ๆ ว่า graphic novel ตั้งแต่ Watchmen ซึ่งติดอันดับหนังสือภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดร้อยเล่มของนิตยสาร Times จนมา Fun Home ล้วนแล้วแต่เป็นความผิดหวัง

จะเรียก Fun Home ว่าความผิดหวังก็ออกจะเกินไป เช่นเดียวกับให้เปรียบเทียบมันกับ Watchmen ก็ดูเหมือนไม่เข้าพวก ผลงานของเบชเดลมีความใกล้เคียงกับนิยายอย่าง Catcher in the Rye มากกว่า Fun Home นี่แหละ สมราคาแล้วจะถูกเรียกว่า "a truely graphic novel" ("นิยายภาพอย่างแท้จริง")

เบชเดลเป็นเลสเบี้ยน และ Fun Home คืออัตชีวประวัติเธอ ว่าด้วยความสัมพันธ์กับพ่อ ซึ่งผู้เขียนมารู้ภายหลังว่าเป็นเกย์ ครอบครัวเบชเดลทำธุรกิจงานศพ นอกเหนือจากเรื่องเพศที่สาม Fun Home ยังเป็นนิยายที่พูดถึงเรื่องความตาย ส่วนตัวแล้วชอบประเด็นหลังมากกว่าประเด็นแรก

ปัญหาหลักคือการเล่าเรื่อง แต่ละบทจบในตัวเอง เป็นการมองชีวิตวัยเด็กจากแง่มุมต่างๆ แค่อ่านไปสองบทแรก ก็รู้เรื่องราวทั้งหมด ที่เหลือก็แค่ติดตามรายละเอียด ซึ่งใช่ว่าไม่น่าอ่าน แต่เรารู้สึกว่ามันไม่น่าสนใจขนาดนั้น คงอ่านสนุกกว่านี้เยอะ ถ้าแต่ละบทได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และ narrative มุ่งไปที่ไหนสักแห่ง แทนที่จะย้ำอยู่กับเหตุการณ์เดิม ปัญหาของหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนงานเขียนแนวอัตชีวประวัติทั่วไป อันที่จริง ต้องยอมรับด้วยซ้ำว่าการนำเสนอในรูปแบบ graphic novel ถือว่าเหมาะสมสุดแล้ว คิดเล่นๆ ว่าถ้าเป็นนิยาย คงอ่านไปด่าไป เผลอๆ ไม่จบด้วยซ้ำ

จุดเด่น (ซึ่งกลายเป็นจุดด้อย) ที่สุดของ Fun Home คือการที่เบชเดลอิงแต่บทบนมุมมอง และแนวคิดจากนักเขียนคลาสสิคตั้งแต่กามู เพราว์ส ฟิซเจอรัล จนถึง ไวล์ด รู้สึกว่า "พยายาม" มากๆ แทบกลายเป็น "อวดฉลาด" อยู่แล้ว เหมือนกับคนเขียนตะโกนบอกว่า "เห็นไหม การ์ตูนเรื่องนี้มีพูดถึงเจมส์ จอยซ์ด้วย ไม่ใช่ขี้ๆ นะเฟ้ย!"

ตั้งแต่วัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในโลกตะวันตก เหมือนๆ การ์ตูนฝรั่งกำลังเดินผิดทางยังไงไม่รู้ ยิ่งพยายามทำ "การ์ตูน" ให้กลายเป็น "นิยายภาพ" เท่าใด ก็ยิ่งห่างไกลจากหัวใจของสื่อชนิดนี้ไปเท่านั้น

C. Dicken's "The Tale of Two Cities"


ตอนที่เขียนไปว่าไม่เคยอ่านนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกน ก็มีเพื่อนประสงค์ดีหลายคนแนะนำเล่มนู้นเล่มนี้มาให้ ที่ลงเอยกับ The Tale of Two Cities ก็เรียกว่าบังเอิญหน่อยๆ คือไปเดินห้างของโหล แล้วเห็นวางกองๆ อยู่ในกะบะเล่มละสามเหรียญ ตะครุบทันที พอบอกรุ่นพี่ว่าจะเริ่มอ่านสองนคร แกทำหน้างงนิดๆ แล้วก็เตือนว่ามันไม่ใช่นิยายดิกเกนเซียนเสียทีเดียวนะ ซึ่งก็จริง เพราะเท่าที่รู้เนื้อเรื่องคร่าวๆ สองนครไม่เหมือนกับเล่มอื่นๆ

สาเหตุที่สนใจ The Tale of Two Cities มาจากว่าเราเป็นคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการปฏิวัติฝรั่งเศส โอกาสที่จะเรียนรู้มันจากปากคำคน(เกือบ)ร่วมสมัยอย่างดิกเกนถือว่าพลาดไม่ได้ (นิยายเล่มนี้เขียนประมาณครึ่งศตวรรษหลังการโค่งบัลลังก์หลุยส์ที่ 16) ซึ่งมุมมองที่ผู้เขียนมีต่อเหตุการณ์นี้ค่อนข้างแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันจริงๆ นั่นแหละ แทนที่จะพูดถึงการเคลื่อนไหวด้านการเมือง อำนาจอธิปไตยโยกย้ายกระจายตัว ชนชั้นกลางไม่พอใจระบบกษัตริย์ หรือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจสร้างภาวะข้าวยากหมากแพง การปฏิวัติฝรั่งเศสในสายตาดิกเกนดูเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เกิดจากความแค้นของชนชั้นแรงงานที่มีต่อขุนนางเท่านั้น

ถึงจะเป็นการมองแบบง่ายๆ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเรื่องง่ายๆ ต้องผิดพลาดเสมอไป บางครั้งคำตอบง่ายๆ อาจใช้ได้ และเป็นจริงยิ่งกว่าคำตอบซับซ้อนด้วยซ้ำ จะว่าไป คงมีแต่คำตอบทางอารมณ์อย่าง "ความแค้น" ถึงจะอธิบายปรากฎการณ์ทางอารมณ์ ที่เรียกว่าปฏิวัติฝรั่งเศสได้ ในสายตาของดิกเกน การปฏิวัติฝรั่งเศสเสมือนเครื่องจักรสังคมซึ่งดำเนินไปตามวิถี ไม่มีใครหยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลง เมื่อขุนนางมีอำนาจ ก็ง่ายดายที่ชนชั้นสูงจะใช้อำนาจในทางที่ผิด ข่มเหงรังแกผู้อ่อนแอกว่า และเมื่อความแค้นของชนชั้นแรงงานระอุถึงที่สุด ก็กลายเป็นการโต้ตอบชนิดเลือดล้างเลือด

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกว่าความเจ๋งของ The Tale of Two Cities รวมอยู่ในตัวนางร้ายมาดามดีฟาร์ก ที่นอกจากเลือดเย็น อำมหิตถึงแก่นแล้ว เธอยังเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องจักรนรกนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร มาดามดีฟาร์กไม่เคยหยุดถักไหมพรม ไม่ว่าจะเป็นตอนรถม้าขุนนางขับชนเด็กยากจน ขณะวางแผนกับสามีถล่มคุกบาสติล หรือใส่ร้ายคนบริสุทธิ์เพื่อตอบสนองความแค้นส่วนตัว แต่ที่เด็ดสุดคือ ยามเมื่อศีรษะแล้วศรีษะเล่าสังเวยคมเคียวกิโยติน มาดามดีฟาร์กยังถักทอไหมพรมบนเก้าอี้ประจำตัวข้างลานประหารอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นภาพที่ชวนให้นึกถึงมอยรา สามพี่น้องเทพแห่งชะตากรรมในตำนานกรีก นอกจากจะร้ายได้ใจ มาดามดีฟาร์กยังมีจุดจบที่...ต้องถือว่าดิกเกน "สร้างสรรค์" และ "กล้า" มากๆ ที่ให้จุดจบเช่นนี้กับตัวละคร เป็นยังไง ไว้ไปอ่านกันเอาเอง

ถ้าถามคนที่ไม่เคยอ่านดิกเกนเลย สำหรับดิกเกนเล่มแรก รู้สึกอย่างไร ตอบได้เลยว่าประทับใจ ผู้เขียนมีวิธีการแต่งเรื่องที่ซ่อนปม ซุกความลับให้น่าติดตามตลอดเวลา แถมยังต้องยกนิ้วกับการสร้างฉาก สร้างอิมเมจ จนอุปมาอุปมัยเล็กๆ น้อยๆ เช่นเสียงฝีเท้ากลายเป็นจุดเด่นของเรื่อง ท่าจะติ ก็คงเป็นตัวเอกที่อ่อนเกินไป โดยเฉพาะคาร์สัน ผู้ต้องทำการตัดสินใจครั้งใหญ่อันมีผลต่อชีวิตทุกคน พอถึงวินาทีนั้น เรา คนอ่านกลับเข้าไม่ถึงตัวละครอย่างที่ควรจะเป็น

แต่ก็เอาเถอะ ถ้ามีตัวร้ายที่แข็งขนาดมาดามดีฟาร์ก หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ต้องการพระเอก นางเอกแล้วล่ะ

Sir Ian McKellen


อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสดูละครสองเรื่อง คือ King Lear และ The Seagull จริงๆ แค่ได้ดูละครสองเรื่องนี้ก็ถือว่าโคตรปลื้มแล้ว แต่นี่ยังเป็นของคณะ Royal Shakespeare Company คณะละครระดับโลก และที่สำคัญคือเซอร์เอียน แมคคัลเลนเล่นในทั้งสองเรื่องด้วย!

The Seagull เป็นละครที่มีความหมายกับเรามาก เพราะถือเป็นละครเปลี่ยนชีวิตก็ว่าได้ The Seagull เป็นละครเรื่องสุดท้ายที่เรา "เล่น" หลังจากนั้นเริ่มเบื่อหน่ายกับการเป็นตัวประกอบ ต้นไม้ ก้อนหิน ก็เลยหันมาเขียนละครเอง และ "ส____" ก็เกิดขึ้นมา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเจ้านางนวลไปเต็มๆ

เจ้านางนวลเขียนโดยเชคอฟ แต่ฉบับที่เราอ่านครั้งแรกเป็นเวอร์ชั่นเทนเนสซี วิลเลียม ไม่เคยได้ดูหรืออ่านเวอร์ชั่นดั้งเดิมกระทั่งวันนี้ ดูไปก็ปลื้มไป แล้วก็ตื่นเต้นจนใจสั่น ให้พูดถึงละครจริงๆ ก็ดีมากอยู่แล้ว แต่นี่ยังรู้สึกถึงอิทธิพลที่มันมีต่อความคิด ความอ่านเรา กี่ครั้งแล้วที่เรานั่งหน้าแป้นพิมพ์ พยายามเขียนอะไรบางอย่างออกมา โดยที่มีภาพเงาของนีนา คอนสแตนดิน อาคาดินา และตริกอรินทาทับอยู่เสมอ

ทั้งที่เคยอ่านแค่รอบเดียว แต่จนบัดนี้ก็ยังจำหลายฉากได้ขึ้นใจ ตั้งแต่ประโยค (เกือบ) เปิดเรื่อง "ฉันแต่งดำไว้ทุกข์ให้กับชีวิตตัวเอง" จนถึงตอนจบ ที่ไม่เหมือนกันระหว่างสองเวอร์ชั่น ฉบับเชคอฟจะสมจริงสมจังกว่า ส่วนวิลเลียมปิดเรื่องได้ละค๊รละครแต่ก็ตราตรึงใจผู้ชมได้มากกว่าเช่นกัน

ส่วน King Lear คือหนึ่งในสองละครของเชคสเปียร์ที่เราชอบสุด ความชอบสลับไปมาระหว่าง Macbeth กับเรื่องนี้ ขณะที่เซอร์เอียนเล่นเป็นตัวประกอบใน The Seagull แกรับบทราชาเลียร์ไปเลยเต็มๆ เคยเขียนถึงบทละครเรื่องนี้ไปแล้ว สำหรับการแสดงของ Royal Shakespeare Company ต้องยอมรับว่าสมคำร่ำลือ แอบผิดหวังนิดๆ กับเซอร์เอียนในบทราชาสติแตก อาจเพราะคุ้นชินกับแกเวลาเป็นตัวละครเท่ๆ อย่างกันดาฟ แมคนิโต หรือว่าทิปปิง (The Da Vinci Code) กระมัง ส่วนตัวก็เลยชอบการแสดงช่วงเปิดเรื่องมากกว่า กระนั้นฉากมงกุฎดอกไม้ (act 4 scene 6) ซึ่งเป็นฉากเอกของละครก็ทำออกมาได้งดงามชวนฝันสมที่รอคอย

P. Roth's "American Pastoral"


จะว่าบังเอิญก็บังเอิญ ระหว่างที่อ่าน American Postoral ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ Across the Universe ของจูเลียน เทมอร์ ซึ่งทั้งสองเรื่องพูดถึงสิ่งเดียวกัน นั่นคือการเคลื่อนไหวของฮิปปี้ยุคปีหกศูนย์ เจ็ดศูนย์เพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม เพียงแต่เป็นการมองจากสองมุมตรงข้ามกันสุดขั้ว Across the Universe วางบทบาทฮิปปี้ให้เป็นหนุ่มสาวผู้แสวงหา ล้มล้างระบบความเชื่อเก่า เพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ขณะที่ American Postoral มองคนกลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย นักวางระเบิด

ถอยหลังดีกว่า ให้พูดว่าฮิปปี้ของฟิลิบ รอธเป็นผู้ก่อการร้ายก็ดูเป็นการกล่าวเกินจริงไปบ้าง เพราะประเด็นของ American Postoral ไม่ได้อยู่ตรงฮิปปี้ แต่อยู่ที่จุดจบความฝันสไตล์อเมริกัน หรือที่รู้จักกันในนาม American Dream สวีดคือ American Dream ตัวเป็นๆ คุณปู่ของเขาคือชาวต่างชาติซึ่งย้ายมาอยู่ทวีปอเมริกา และทำธุรกิจถุงมือจนร่ำรวย เปิดโรงงาน และสร้างครอบครัว อาณาจักรเล็กๆ อันอบอุ่น สวีดเอง ตอนเด็กเป็นนักเบสบอลมือหนึ่ง ซึ่งในยุคนั้นเบสบอลคือกีฬาแห่งความฝันแบบอเมริกัน

แต่ความฝันของสวีดจบสิ้นลงในเงื้อมมือเมอรี่ ลูกสาวสุดที่รัก ตั้งแต่เด็กเธอมีอาการพูดติดอ่าง ซึ่งทั้งสวีด และภรรยาหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ ท้ายที่สุดนอกจากจะไม่อาจรักษาความผิดปกตินี้ ความรัก และความอบอุ่นในครอบครัวกลับสร้างปมบางอย่างในตัวเด็กหญิง ท้ายสุดเธอหนีออกจากบ้าน เข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย วางระเบิดเพื่อสั่งสอนชาวอเมริกันให้รู้จักคำว่าสงคราม

อย่างที่บอก ประเด็นของรอธไม่ใช่เพียงสร้างภาพลักษณ์ติดลบให้กับกลุ่มฮิปปี้ หรือพวกนักปฏิวัติที่มีใจฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ (ถึงแม้รอธจะสร้างตัวละครริต้า โคเฮนขึ้นมา ซึ่งคงไม่มีคำไหนนิยามเธอได้ดีไปกว่า "กะหรี่สวะหัวเอียงซ้าย") แต่อยู่ที่ความไม่เข้าใจโลกยุคใหม่ของสวีด เหตุใดทุกสิ่งที่ตัวเขา พ่อ และปู่เชื่อ ถึงกลายเป็นค่านิยมอันน่าเหยียดหยามในสายตาคนรุ่นใหม่ วัยเด็กของสวีดอยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งชาวอเมริกันสัมผัสลัทธิชาตินิยมอย่างเต็มเปี่ยม ตั้งแต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชัยชนะเหนือขบวนการฟาสซิสต์ และผู้นำทางเทคโนโลยี พอถึงปีหกศูนย์ เจ็ดศูนย์ หลังการสังหารเคนเนดี้ และจอห์นสันนำชาวอเมริกาเข้าสู่สงครามเวียดนาม จนกลายเป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ (จนถึงทุกวันนี้ผู้คนยังกล่าวขานกันว่าเคนเนดี้คือประธานาธิบดีที่เข้าท่าเข้าทางคนสุดท้ายของอเมริกา)

เนื้อหาน่าสนใจ แต่นี่คือหนังสือเยิ่นเย้อที่สุดเท่าที่เคยอ่านเล่มหนึ่ง ชนิดที่ว่าหลังๆ อ่านข้ามหน้า ข้ามเป็นบทๆ ยังรู้เรื่องไม่ตกหล่น สำหรับหนังสือยาวสี่ร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ ตัดให้เลือสองร้อยนิดๆ เนื้อความก็คงไม่สูญหายไปไหน นี่คือผลงานเล่มที่สองของรอธที่เราเคยอ่าน และคงเป็นเล่มสุดท้าย ขนาดได้รางวัลพูลลิตเซอร์ยังขนาดนี้ แล้วถ้าไม่ได้จะขนาดไหนหนอ

S. Plath's "The Bell Jar"


หายไปนาน ไม่มีข้อแก้ตัวนอกจากอ่านนิยายอิตาลีเล่มหนึ่ง ซึ่งไม่ชอบและเลิกอ่านกลางคัน ดังนั้นไม่ใช่ว่า The Bell Jar มีอะไรไม่ดี หรือหนาปึกถึงขนาดต้องอ่านเป็นอาทิตย์หรอกนะ

เล่มนี้ชวนให้นึกถึง Surface Up หนังสือของแอดวู้ดที่เคยเขียนถึงไปแล้ว The Bell Jar เป็นอีกนิยายคนบ้า ที่พูดถึงตัวละครผู้มีสภาพจิตใจผิดธรรมดาและตลอดทั้งเล่มคือพัฒนาการของเธอ ตั้งแต่ตอนที่ยังปกติ จนไปจบลงในโรงพยาบาล (หรือในกรณี Surface Up คือหนีเข้าสู่ธรรมชาติ) ที่นิยายของแพลทต่างจากเล่มอื่น คงเป็นเพราะ attitude ที่มีต่อคนบ้า ไม่ใช่ออกมาในเชิงหลงใหล romanticize เหมือนแอดวู้ด หรือเวอจิเนียร์ วูลฟ์ เอสเธอร์ ตัวเอกของ The Bell Jar ลึกๆ ดูโหยหาความเป็นคนปกติไม่ใช่น้อย และในครึ่งหลังของนิยาย พูดถึงการเดินทางย้อนกลับจากความบ้า ไปสู่ความหายบ้า

ตอนเริ่มเรื่อง เอสเธอร์เป็นผู้หญิงที่นอกจากจะไม่บ้าแล้ว ยังฉลาดกว่าคนปกติด้วยซ้ำ เธอได้ทุนการศึกษา และรางวัลเรียนดีจากสถาบันต่างๆ เปิดนิยายมา เธอคือหนึ่งในผู้หญิงสิบสองคนผู้ถูกคัดเลือกไปโชว์ตัว และทำงานพิเศษในนิวยอร์ก คนที่จะได้รับอภิสิทธินี้นอกจากจะเป็นผู้หญิงเก่ง ยังต้องสวยเชิดหน้าชูตา (สมัยเรียนตรี เพื่อนสนิทเราคนหนึ่งก็ได้รางวัลนี้เช่นกัน ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าเธอแจ่มมาก) คำถามชวนสงสัยคือสิ่งไหนกันผลักไสผู้หญิงคนนี้ให้หลุดโลกแห่งความจริงไป ใช่เรื่องที่แฟนหนุ่มสารภาพ ยาพิษที่ผู้ไม่ประสงค์ดีใส่ลงในอาหาร การที่เธอเป็นสาวบริสุทธิ์ ข่าวความล้มเหลวครั้งแรกในชีวิต หรือสภาพครอบครัวอันปราศจากพ่อ และสัมพันธภาพกับแม่ที่ไม่ราบรื่น

ถ้าจะตอบแบบตีขลุม ก็คงเป็นสภาพสังคมซึ่งกำหนดบทบาททางเพศมาให้เธอเล่น โดยเอสเธอร์รู้สึกว่าตัวเองไม่อาจเข้าถึงบทบาทนี้ได้ แม่พร่ำสอนเธอให้อยู่ใต้อำนาจผู้ชาย ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงซึ่งเธอชื่นชมอย่างหัวหน้าบรรณาธิการก็มีลักษณะไร้เพศบางประการ ซึ่งเธอไม่อยากเลียนแบบ ส่วนเพื่อนรุ่นเดียวกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างผู้หญิงที่เคยมีเซ็กแล้ว และยังไม่มี

อุปมาอุปมัยตัวหนึ่งซึ่งเราชอบมาก คือเอสเธอร์เปรียบชีวิตตัวเองเหมือนยืนอยู่ใต้ต้นไม้ โดยแต่ละกิ่งแทนอนาคตอันสดใสซึ่งเธอเลือกได้ แต่เมื่อไม่อาจเลือกอะไรเลย ก็เพียงแค่รอให้แต่ละกิ่งค่อยๆ ร่วงโรย ส่วนชื่อหนังสือ "ขวดโหล" อ้างถึงตอนแฟนหนุ่มนักเรียนแพทย์พาเธอไปดูเด็กดอง เอสเธอร์รู้สึกเหมือนโลกนี้มีคนบางประเภท ซึ่งเธอคือหนึ่งในนั้น ที่ถูกสาปให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโหลแก้ว และของเหลวกลิ่นเหม็นหืนตลอดกาล

เรารู้สึกว่าแพลทประสบความสำเร็จในครึ่งแรกของนิยาย มากกว่าครึ่งหลัง ที่ผู้เขียนบรรยายตัวเอกออกมาดูมีเหตุมีผลเกินกว่าจะเป็นคนบ้า รวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเกิดมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เพื่อสร้างผลกระทบทางอารมณ์ให้คนเขียนปิดนิยายได้เท่านั้น อย่างไรก็ดีนี่อาจจะเป็นนิยายคนบ้าที่เราชอบที่สุดก็ว่าได้

ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)


ก็แปลกดีเหมือนกัน คิดเล่นๆ ว่าถ้าได้เจอตัว หรืออ่านงานเขียนของอาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ช่วงสาม สี่ปีก่อน คงได้มีการประหมัดทางความคิด (ด้วยอาวุโสแตกต่าง เราก็คงผงกศีรษะหงึกๆ รับฟังสิ่งที่แกพูดถ่ายเดียว) พอเวลาผ่านเลย เกิดปรากฏการณ์ทักษิณ vs สนธิ ล่วงมาถึงรัฐประหาร ไปๆ มาๆ ทั้งเรา และแกกลับมาเห็นพ้องต้องกันได้

ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา รวมบทความช่วงสาม สี่ปีของอาจารย์ศิโรตม์ โดยหนังสือแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงแรกคือบทความล่าสุดซึ่งเขียนตอบโต้กรณีรัฐประหาร บทที่สองว่าด้วยปัญหาภาคใต้ และบทที่สามพูดถึงการเมืองซึ่งสะท้อนในวัฒนธรรมอื่นๆ นอกเหนือบริบทของมัน ตั้งแต่ 30 ปี 14 ตุลา จนถึงภาพยนตร์ แฟนฉัน และ องค์บาก (พูดกันขำๆ คือเป็นบทความจับฉ่ายที่ไม่เข้าพวกกับสองบทแรกก็พอได้) ซึ่งจริงๆ แล้วบทที่สอง และสามมีอายุเก่าแก่ว่าบทแรก

เรื่องที่เห็นด้วยกับอาจารย์ ไม่ขอพูดเพิ่มเติมแล้วกัน เพราะคนที่อ่านบลอคนี้ประจำ ก็คงพอรับทราบองศาการเมืองของเรา พูดถึงที่แตกต่างดีกว่า อย่างกรณีปัญหาภาคใต้ ดูเหมือนอาจารย์จะโทษรัฐบาลฝ่ายเดียว มองข้ามปัจจัยภายนอก (หมายถึงการลุกฮือของมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลกอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ 9/11 สงครามในอัฟกานิสถาน และอิรัก) ซึ่งยังไงเราว่ามันก็ต้องเกี่ยวบ้างแหละ เผลอๆ เกี่ยวเยอะเลยด้วย เคยคุยกับเพื่อนคนจีน และเนเธอแลนด์ บ้านเมืองเขาก็ประสบปัญหาผู้ก่อการร้ายในลักษณะคล้ายๆ บ้านเราในช่วงห้า หกปีให้หลังนี้ รวมถึงอีกหลายความเห็นที่น่าจะพิสูจน์เชิงสถิติได้โดยง่าย แต่เท่าที่เห็น เหมือนอาจารย์จะพอใจแค่เอ่ยอ้างลอยๆ (หรือเพราะเป็นบทความลง Aday Weekly ก็เลยใช่ที่ ถ้าจะต้องค้นตัวเลขให้วุ่นวาย)

อีกประเด็นก็คือกรณี 14 ตุลา อาจารย์ศิโรตม์บอกว่าคนไทยมองอะไรวีรบุรุษนิยมเกินไป ควรกระจายเครดิตไปสู่ประชาชน คนธรรมดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สนับสนุนนักศึกษาด้วย พูดอีกอย่าง 14 ตุลา ไม่ใช่เป็นของ "ปัญญาชน" เท่านั้น ถ้าทำเช่นนั้น 14 ตุลา จะมีภูมิคุ้มกันทางประวัติศาสตร์สูงกว่า คือเมื่อเวลาผ่านไป คนตุลาชราภาพลง คนรุ่นหลังจะมองเหตุการณ์นี้เฉกเช่นที่ทุกวันนี้เรารู้จักมัน

แต่ถ้าตัดปัจจัยวีรชนออก และรวมบริบททางสังคมอย่างเป็นกลางจริงๆ แน่ใจหรือว่าจะไม่มีกระแสต่อต้านของคนธรรมดาในยุคนั้น (เฉกเช่นเดียวกับที่การเคลื่อนไหวบุบผาชนในอเมริกา ทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด และกลายเป็นเรื่องไร้สาระขึ้นทุกที) เพราะเอาเข้าจริงๆ 14 ตุลา เป็น 14 ตุลาเพราะคนไทยต้องการวีรบุรุษ

สนใจมากว่าทุกวันนี้อาจารย์ศิโรตม์ยังเชื่อแบบเดิมอยู่หรือเปล่า สำหรับคนที่ต่อต้านปรากฏการณ์สนธิแบบ "เรา" อาจารย์ไม่รู้สึกหรอกหรือว่า 14 ตุลานี่เหละ "ตัวแสบ" สุดๆ แล้วในวัฒนธรรมทางปัญญาบ้านเรา จะพูดว่าเป็นจุดกำเนิดรัฐประหาร 2549 ที่อาจารย์ไม่เห็นด้วยก็คงไม่ผิดนัก

จะเป็นฉัน...


บางครั้งฉันได้ฟังเสียงของใจเธอ หัวใจฉันกลับมีคำถามขึ้นมากมาย...


...คนที่เธอวาดไว้ อยากให้เขาเข้าใจ อยากให้เขามีรักที่แท้จริง


...อยากให้เขามีเธอเป็นเหมือนทุกสิ่ง คนๆนั้นฉันอยากรู้ว่าใคร


จะใช่ฉัน...หรือเปล่า หากเธอรู้ใจฉันมีแต่เธอ...ตลอดมา


จะเป็นฉัน...ได้หรือเปล่า เมื่อใจฉันจะขอมีแต่รัก ให้กับเธอ...ตลอดไป

ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน (รอมแพง อริยมาศ, ชัยวุฒิ ประเสริฐศรี)


ถึงจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่ก็ยอมรับว่ามีบางแนวเหมือนกันที่ไม่ได้เข้าไปสัมผัสจริงจัง อย่างหนังสือ how to ก็หนึ่ง หรือหนังสือท่องเที่ยวก็อีก ทั้งที่จริงๆ การได้ออกไปต่างบ้านต่างเมืองเป็นเรื่องแสนโรแมนติก

ไม่รู้เหมือนกันจะจัด ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน เป็นหนังสือประเภทไหนดี มันคล้ายๆ สารคดีท่องเที่ยว เพียงแต่ว่าไม่ได้จับจุดอยู่ตรงสถานที่ แต่เป็นดอกไม้ จริงๆ ถ้าเป็นเวลาปกติ หนังสือแบบนี้คงหยิบขึ้นมาเพราะปกสวย พลิกฉับๆ ผ่านๆ แล้วก็วางลง

เราอ่าน ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน จบ ณ สนามบินไต้หวัน ระหว่างรอต่อเครื่องไปอเมริกา อารมณ์ขณะนั้นคืออยากอ่านอะไรสบายๆ เพราะจิตใจของคนที่ต้องจากบ้าน จากครอบครัว และเพื่อนรักไปทำภารกิจสาหัสในต่างแดน ต้องการภาพสวยๆ ข้อเขียนงามๆ มาช่วยประโลมใจ และ ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน ตอบโจทย์สองข้อนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ไม่ถึงขนาดค้นพบสัจธรรมอะไรใหม่ แต่ช่วงชั่วโมงครึ่ง สองชั่วโมงในสนามบินไต้หวันผ่านไปอย่างน่ารื่นรมย์ ด้วยภาษาของคุณรอมแพง และภาพถ่ายของคุณชัยวุฒิ

พูดถึงการพิมพ์ภาพสีหน่อย ในเล่มนี้ใช้วิธีพิมพ์ลงกระดาษทั่วไป ทำให้ภาพออกมาเกรนแตกๆ ถ้าเป็นภาพถ่ายมุมกว้างก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่กับภาพซูมดอกไม้ออกขัดเขินไปบ้าง ไม่อาจชื่นชมความงามตามภาษาสละสลวยบรรยายไว้ น่าเสียดาย จริงๆ การพิมพ์สีลงกระดาษแบบนี้ ทำให้นึกถึงนิยายภาพของอีโก The Mystic Flame of Queen Llorona ซึ่งพิมพ์ออกมาได้ชัดเจนกว่า ก็คงต้องโทษความแตกต่างของเทคนิคการพิมพ์ฝรั่ง และบ้านเรา

กาลมรณะ (จัตวาลักษณ์)


จำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เราอ่านเชอลอคโฮมมันเมื่อไหร่กัน ถึงเรียกตัวเองว่าเป็นแฟนนิยายสืบสวน แต่ก็เอนเอียงไปทางคริสตี้มากกว่าดอยล์ แตกต่างตรงไหนน่ะรึ นิยายสืบสวนสไตล์โฮมจริงๆ แล้วไม่ใช่นิยายสืบสวนเสียทีเดียว น่าจะเป็นนิยายผจญภัยซึ่งบังเอิญมีตัวเอกเป็นนักสืบมากกว่า ถึงจะสนุกสนานกับเรื่องราวของโฮมและวัตสัน แต่ก็เหมือนเราอ่านเพลินๆ มากกว่ามานั่งพินิจ พิเคราะห์สืบฆาตกรแข่งกับตัวเอกเช่นปัวโร พอถึงตอนเฉลย ไม่ได้ตื่นเต้นขนาดอุทานออกมาว่า “คนเขียนคิดได้ไงเนี่ย!”

ที่เกริ่นมาแบบนี้เพราะพยายามมองว่าถ้าเอากรอบวิธีคิด และเขียนแบบดอยล์ (แทนที่จะเป็นคริสตี้) มาใช้กับ กาลมรณะ จะช่วยให้ชอบมันขึ้นไหม ถ้าให้เปรียบกับ หนี้เลือด ซึ่งเป็นนิยายในชุดเดียวกับ กาลมรณะ ดูมีชั้นเชิงกว่ามาก ขณะที่ หนี้เลือด สัมผัสได้ว่าผู้เขียนปลุกปล้ำกับจำนวนหน้า จัตวาลักษณ์รับมือกับปัญหาเรื่องความยาวได้อย่างแนบเนียน ชนิดว่าสามร้อยหน้าแรกอ่านเพลิน แวบเดียวจบ นี่สิ นิยายนักสืบมักต้องอ่านแล้ววางไม่ลงแบบนี้

แต่จัตวาลักษณ์ก็มาเสียเชิงในตอนใกล้ๆ จบ พอถึงช่วงไคลแมก แทนที่จะทึ่ง เราเปรยกับตัวเองว่า “อ้าวเหรอ…เออ…เนอะ…อ้า….อืม….ยังไงหว่า” ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังงงๆ ว่าข้อผิดพลาดของคนเขียนอยู่ตรงไหน หรือว่าปริศนามันไม่ชัดเจนพอ เหมือนจัตวาลักษณ์ไม่กล้าเผยไต๋ให้คนดู ก็เลยปิดๆ บังๆ มาทั้งเรื่อง พอถึงตอนเฉลย แทนที่จะทึ่ง คนอ่านกลับต้องมานั่งลูบๆ คลำๆ ทำความเข้าใจลำดับเวลา และเหตุการณ์ทั้งหมด บทเรียนคือนิยายนักสืบที่ดีไม่ใช่แค่ตื่นเต้น อ่านสนุก (ซึ่งตรงนี้จัตวาลักษณ์สอบผ่าน) แต่ยังต้องค่อยๆ เผยอะไรออกมาทีละนิด ถ้าทำแบบนี้แล้ว ก่อนคนเขียนเฉลย คนดูจะเห็นแก่นของปริศนา และน่าจะประทับใจมากกว่านี้

จัตวาลักษณ์เขียนนิยายเล่มนี้ออกมาในแนวย้อนยุค ซึ่งก็ทำสำเร็จน่าปรบมือเลย การบรรยายมีน้อย ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะฉากเกิดเรื่องคงไม่ใช่คนเขียนไปเห็นมากับตา แต่การค้นคว้าข้อมูล ใส่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และสถานที่จริงตรงนั้นตรงนี้ลงไปก็ช่วยสร้าง “ภาพลวงตา” ของอดีตขึ้นได้

เกือบแล้วครับ กับนิยายสืบสวนสอบสวนไทยเล่มนี้

บ้านของคนรัก (นอม วิเศษสิงห์)


พูดตรงๆ เราเห็นความเลือดใหม่อันน่าชื่นชมจากรวมเรื่องสั้น บ้านของคนรัก แต่โดยรวมนี่คือผลงานที่ยัง “เร็วเกินไป” สำหรับนอม วิเศษสิงห์ (แต่จะเร็วเกินไปสำหรับอภิชาติ เพชรลีลาหรือเปล่า ไม่ขอแสดงความเห็นแล้วกัน) ถ้าเราเป็นบรรณาธิการแล้วมีต้นฉบับอยู่ในมือ เราจะขอให้นอมรออีกสักครึ่งปี และให้มีเรื่องสั้นมากกว่านี้สักสองเรื่อง

คำนำเรื่องสั้นถ่ายโดยคริสโตเฟอร์ ดอยล์ แสดงให้เห็นฝีมือผู้เขียน และชัดเจนว่าผู้เขียนเป็นนักดูภาพยนตร์ ตอนแรกนึกว่านอมจะเขียนสไตล์นี้ เอาเข้าจริงๆ มีแค่ You have unread messages. เท่านั้นที่เป็นเรื่องแบบเดียวกัน ส่วนเรื่องที่ชอบที่สุดในเล่ม เดอะการ์เด้นออฟอีเดน แม้จะออกแนวสมจริง แต่ก็มีกลิ่นอายหวังเจียเว่ย ตินิดคือตอนจบถ้าตัวละครหญิงจะไม่พูด “กูมึง” น่าจะเป็นการจบที่หลอน และแรงกว่านี้

ใจจริงคิดว่านอมน่าจะเล่นกับสไตล์ฝันๆ เหงาๆ มากกว่าแนวสัจนิยมอย่าง บ้านของคนรัก ปัญหาคือแนวคิดเชิงการเมืองของผู้เขียนค่อนข้างตื้น นี่คือเรื่องที่แกว่งไปมาระหว่างสุดโต่งสองด้าน ผู้ก่อการร้ายเป็นฝ่ายผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลเป็นฝ่ายผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ พระเอกของเรื่องทำตัวเหมือนจะน่าเห็นใจ แต่เอาเข้าจริงๆ ลองมีความคิดแบบเขา ก็สมควรอยู่หรอกที่ผู้หญิงจะทิ้ง

นักข่าวสาว (สวย) ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้เราชอบ 26 ผู้เล่นในทีมชาติชุดใหญ่ของริธ เธอร์ราลี เรายอมรับว่าเป็นเรื่องที่อ่านสนุก แต่เหมือนจะมีคุณค่าเชิงบทความฮาๆ จิกกัดแวดวงวรรณกรรม มากกว่าจะเรียกว่าเรื่องสั้นได้อย่างเต็มปาก ชอบอยู่อย่างคือยังไม่ค่อยมีนักเขียนไทยจับประเด็นฟุตบอล ทั้งที่จริงๆ นี่ก็เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ นอมน่าจะเล่นกับจุดนี้ได้อีกมาก ส่วนสองเรื่องสุดท้ายคือ สมิหลา และ ข้าพเจ้าไปงานศพ เบาไป โดยเฉพาะเรื่องหลังขาดจุดเด่น จนใครๆ ก็เขียนเรื่องนี้ออกมาได้ทั้งนั้น

มีที่น่าชื่นชมอยู่เยอะ แต่ก็อย่างที่บอกคือ ถ้านอม วิเศษสิงห์เป็นต้มยำ รู้สึกว่าพ่อครัวปิดไฟเร็วไปนิด

เรื่องสั้นศตวรรษ (มนัส จรรยงค์)


วันก่อนเพิ่งได้คุยกับอาจารย์ที่เคารพถึงอิทธิพลเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อันมีต่อวัฒนธรรมวรรณกรรมบ้านเรา หรือท้ายที่สุดแล้วมันกลายเป็นจุกอุดตัน เป็นเหตุและผลที่ทำไมศตวรรษหนึ่งผ่านไป นักเขียน (ผู้มีรสนิยม) ได้แต่อ่านเรื่องสั้นอาจรรย์มนัส แล้วกระพริบตาปริบๆ ถามตัวเอง “ทำไมกูเขียนไม่ได้แบบนี้วะ!”

หรือจะตอบกันง่ายๆ ก็ได้ว่าอาจารย์เป็นอัจฉริยะที่ฟ้าส่งมาเกิดเมืองไทย

ไม่รู้จะวิจารณ์อย่างไรกับ เรื่องสั้นศตวรรษ ปกสวย รูปเล่มกระชับมือ กระดาษอ่านง่าย เรียงพิมพ์สะอาด แต่เวลาอ่านเรื่องสั้นไทยเก่าๆ แล้วอดคิดไม่ได้ว่า ถ้ามีรูปประกอบเท่ๆ คงได้อรรถรสกว่านี้ (ท่าจะเป็นนิสัยเสียที่ติดมาจากหนังสือครูเหม)

ส่วนเนื้อในนะรึ สำหรับอาจารย์มนัส และนักอ่านคนนี้ บอกได้คำเดียวว่ามันอยู่เหนือบทวิจารณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรต้องติ ถ้าจะชมก็เป็นเรื่องเดิมๆ เช่น อาจารย์เขียนเรื่องมนุษย์ เรื่องของคนจริงๆ ไม่ได้อิงกรอบศีลธรรมโจ่งแจ้งแบบนักเขียนรุ่นหลัง 14 ตุลาฯ (ใครที่เคยอ่าน ฟ้าบ่กั้น ของคุณลาว คำหอม ลองหา พลายทอง ของอาจารย์มนัสมาอ่านเปรียบเทียบดู)

พูดถึงการคัดเลือกดีกว่า ภายใต้กรอบลิขสิทธิ์ และวันเวลาซึ่งดูดกลืนหลายเรื่องสั้นให้สาบสูญ (ว่ากันว่าอาจารย์เขียนมาพันกว่าเรื่อง ที่เราเคยอ่านยังไม่ถึงร้อยเลยกระมัง) สำนักพิมพ์มติชนทำได้น่าปรบมือ เรื่องหลักๆ อย่าง ซาเก๊าะ จับตาย ติดขวาก ท่อนแขนนางรำ แม่ยังไม่กลับมา มีหมด จริงๆ พวกนี้ก็อ่านมาเกือบหมดแล้ว แต่พออ่านอีกรอบ รู้สึกเหมือนกับวัวชนใน ซาเก๊าะ คือประหนึ่งว่ามีใครเอาลูกตาลมาฉาบไว้บนใบหน้า ยิ่งอ่านเท่าไหร่ ความหวานก็ยิ่งซาบซึมเข้าปาก ยิ่งได้อรรถรสเท่านั้น ส่วนเรื่องรองๆ แม้ไม่ถึงกับชอบเท่า แต่ด้วยความเป็นอาจารย์มนัส ให้หอก หักยังไงก็น่าอ่าน ในแง่หนึ่ง รู้สึกว่ามติชนไม่ได้เลือกเรื่องที่ดีที่สุดมาจริงๆ (เพราะเคยอ่านที่ดีกว่านี้มาแล้ว) แต่ก็อย่างที่บอก คงเป็นปัญหารายละเอียดยิบย่อยมากกว่า

สำหรับเรื่องที่ยังไม่เคยอ่าน ที่น่าพูดถึงคือ คู่ทุกข์-คู่ยาก เรื่องสั้นตีพิมพ์เรื่องแรก ซึ่งไม่ดี (แฮะๆ ) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสั้นที่ไม่ดีที่สุด ได้อารมณ์ผลงานอาจารย์ยาขอบมากกว่า ล่องนา เป็นเรื่องสั้นคอมมิดี้พลิกแพลง และหลุดโลก ชนิดคาดไม่ถึงสมัยนั้นเขียนอะไรแบบนี้ก็ได้ ค่อนข้างหลุดสไตล์อาจารย์มนัสที่เราคุ้นเคย ปู่ทะเล มีประเด็นน่าสนใจ เล่าเรื่องได้กระชับตอบโจทย์ดี

อ่านเรื่องสั้นอาจารย์ทีไร ได้กลิ่นลูกทุ่งแปลกๆ เหมือนไม่ใช่ประเทศไทยที่เราคุ้นเคยตามหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ เห็นการฉุดคร่าสาว (อย่างถูกธรรมเนียม) ดงเสือ สาบผีสาง ปืนลูกซอง เป็นกลิ่นอายชนบทขนานแท้ปราศจากอุดมการณ์ ศีลธรรมปรุงแต่ง แค่มนุษย์อุจจาระเหม็นรัก โลภ โกรธ หลง แค้น

คุณวานิชเคยบอกว่าเพลงลูกทุ่งตายไปพร้อมกับพุ่มพวง เป็นอีกหนึ่งประโยคของแกซึ่งถูกใครหลายคนด่า ซึ่งเราขอยอมรับคำด่าแต่โดยดี และประกาศให้โลกรู้เลยว่า เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ วรรณกรรมไทยได้ตาย (หรืออย่างน้อยก็ถดถอยลงอย่างช้าๆ ) ไปพร้อมกับอาจารย์มนัสแล้ว

ส่วนสาเหตุการตาย ไว้ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พูดแล้วกัน

ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว


ไมเคิล คอลิโอเนประกาศกร้าวใน The Godfather ว่า “ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว” ขณะที่พวกมาเฟียอิตาลีจะมีคำพูดติดปากคือ “นี่คือธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” ดังนั้นถ้าจะรุนแรงไปบ้าง ก็อย่าถือโทษโกรธกัน ไมเคิล ซึ่งเป็นไก่อ่อนในวงการ หลังรับภารกิจล่าสังหารชิ้นแรก เพื่อแก้แค้นให้พ่อ และปกป้องวงศ์ตระกูล โต้พี่ชายว่า “ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว”

ใช่ครับ สุดท้ายมันก็เรื่องส่วนตัวจริงๆ นั่นแหละ

ในที่สุดเราก็รู้แล้วว่า ประสานงา คือใคร (หมายเหตุ: นี่คือนามแปลงของนามแฝงคอลัมนิสต์คนหนึ่ง) หลัง (แส่หาเรื่อง/จำใจ) ติดตามบทความของหมอมานาน ประสานงาสนับสนุนรัฐประหาร เสนอแนวคิดการเมืองประเภท ให้ผู้คนเลิกยึดติดระบบ แล้วหันมองตัวบุคคล กล่าวคือถ้าได้คนดีมาเสียอย่าง วิธีการจะเฮงซวยขนาดไหนก็มองๆ ข้ามมันไปเสีย

ขี้เกียจเถียงกับความคิดนี้ เอาเป็นว่าหลังจากสืบๆ ถามๆ คนในแวดวง เราก็รู้แล้วว่าประสานงาคือใคร แทบจะหัวเราะออกมาเลย สุดท้ายก็อีกหนึ่งโจทก์เก่าคุณทักษิณ โดยทางสถานภาพแทบไม่ต่างจาก “นักโฆษณาชวนเชื่อ” (แต่ไม่น่าเกลียดเท่า เพราะอย่างน้อยประสานงาก็ไม่เคยแสดงท่าทีกลับหลังหันร้อยแปดสิบองศา)

พอรู้แบบนี้ก็ “เห็นใจ” และ “เข้าใจ” ประสานงาขึ้น อยากที่ไมเคิลบอกนั่นแหละสุดท้าย “ทุกอย่างคือเรื่องส่วนตัว” จะโกรธจะเกลียดใคร ไม่ว่า จะเขียนบทความตีโต้อย่างไรก็เป็นสิทธิของเขา แต่อย่างน้อยด้วยจรรยาบรรณสื่อ เพลาๆ มือบ้าง อย่าให้มันเลยเถิดจนกลายเป็นผลเสียต่อค่านิยม และจิตสำนึกคนในชาติก็แล้วกัน

พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)


วันนี้รู้สึกเหมือนมีเรื่องให้อัพเดทบลอคเยอะ ต้องขออภัยอาจารย์ปิยบุตรล่วงหน้าว่าคงได้แต่กล่าวถึง พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ แต่เพียงสั้นๆ ในทางกลับกัน สำหรับหนังสือเล่มนี้คงไม่มีประเด็นให้ต้องพูดเยิ่นเย้อ สำหรับผู้ที่ติดตามรักชวนหัวมาตลอดคงพอเดาองศาการทางเมืองของเราถูก และ พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ก็คือหนึ่งในบทวิเคราะห์การเมืองที่ถูกอกถูกใจเรายิ่งนัก

อาจารย์ปิยบุตรเป็นนักกฎหมาย ดังนั้นมุมต่อกรณีรัฐประหารโพสโมเดิร์นจึงยืนพื้นอยู่บนแง่มุมทางกฎหมาย ซึ่งสำหรับเราแล้วถือว่าน่าสนใจมาก เพราะที่ผ่านมานี่คือประเด็นที่เราเข้าใจน้อยสุด (ถ้าพูดถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ยังพอเข้าถึงได้มากกว่านี้) หลักๆ ของเล่มนี้คือกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมายถึงอะไร มีมูลความจริงแค่ไหนในคำกล่าวหาที่แพร่สะพัดไปทั่วบ้านทั่วเมือง รวมไปถึงบทบาทอันชัดเจนของพระมหากษัตริย์ในระบบประชาธิปไตยแบบไทย

อีกครั้งหนึ่งที่อยากให้คนไทยทบทวนว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรลงไป สะใจมากกับประโยคหนึ่งของอาจารย์ปิยบุตรนับแต่นี้ชาวเมืองหลวงไม่มีสิทธิด่าว่าคนต่างจังหวัดข้อหาซื้อเสียงอีกแล้ว เพราะสิ่งที่พวกเราทำก็คือการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยทางอ้อม ไม่ผิดเพี้ยน และรักชวนหัวขอเพิ่มเติมด้วยว่า อย่างน้อยๆ การซื้อเสียงก็ยังมีประโยชน์โภคผลในรูปเงินตราตอบแทน แต่การเห็นดีเห็นงามไปกับ “นักโฆษณาชวนเชื่อ” ลองถามตัวเองสิว่าเพื่อความมันส์ หรือตกเป็นเบี้ย หมากเกมการเมืองใคร

อาจารย์ปิยบุตรไม่ใช่พวกคลั่งทักษิณอย่างไม่ลืมหูลืมตา ถึงแกจะไม่เริ่มต้นประกาศตัวเองแบบนักต่อต้านรัฐประหารหลายคนว่า “ผมเองก็ไม่ชอบทักษิณแต่…” ใน พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ก็มีบทความจู่โจมทักษิณอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็ช่วยเพิ่มความเป็นกลาง และน่าเชื่อถือให้กับรวมบทความชิ้นนี้

มีไว้เพื่อซาบ (อุรุดา โควินท์)


สมัยเรียนมัธยมปลาย เคยอ่านเรื่องสั้น เราคือลูกพระแม่ธรณี ของคุณอิศรา ซึ่งแกคงเขียนหนังสือดีๆ ไว้เยอะ แต่กับเรื่องนี้เราเกลียดมันเข้ากระดูกเลย เป็นเรื่องสั้นตอแหลๆ จากผู้ชายที่ไม่ยอมเข้าใจอะไรทั้งนั้นนอกจากตัวเอง และอุดมคติ มีอย่างที่ไหนผู้หญิงซึ่งสูญเสียลูกไปทั้งคนจะยอมอภัยให้กับผืนแผ่นดินอันโหดร้าย เพียงเพราะต้นหญ้าสองสามต้น เราคือลูกพระแม่ธรณี ไม่ใช่เรื่องสั้นลักษณะนี้เรื่องเดียวในสังคมไทย ผลพวงจากพลังนักศึกษา และ 16 ตุลาฯ ทำให้แวดวงวรรณกรรมบ้านเราเต็มไปด้วยเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของผู้ชายวนขวา

ตรงนี้เองทำให้เราถูกอดถูกใจ มีไว้เพื่อซาบ แทบไม่เคยเลยจะได้อ่านวรรณกรรม ที่ไม่ใช่แนวโรมานซ์ ซึ่งเขียนได้ผู้หญิงวนซ้ายขนาดนี้ กระทั่งคุณเดือนวาด ซึ่งชอบเล่นประเด็นความแตกต่างทางเพศก็ยังถูกแวดวงหล่อหลอมจนเขียนหนังสือเหมือนผู้ชาย หรืออย่างเก่งก็ไร้เพศไปเลย สำหรับผลงานของพี่อุรุดา บอกตรงๆ ชีวิตนี้ไม่คาดคิดว่าจะได้อ่านเรื่องสั้นอย่าง ช่างทำผม ซึ่งพูดถึงการเสริมสวยล้วนๆ

มีไว้เพื่อซาบ คือเรื่องสั้นเพื่อชีวิตจากมุมมองผู้หญิง เกิดอะไรขึ้น เมื่อชายหนุ่มลูกทุ่งพรากสาวเมืองกรุงไปตกระกำลำบากในบ้านนา ถ้าเป็นงานเขียนทั่วไป ผู้หญิงคงเอะอะรักความสบายในช่วงแรกๆ ก่อนจะหลงใหลเสน่ห์บ้านนอก แต่ มีไว้เพื่อซาบ บอกเล่าการต่อสู้ และปรับตัวของหญิงสาวในบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมซึ่งเธอเป็นคนนอก ตัวละครหญิงในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ถ้าไม่ฝันถึง ก็อย่างน้อยสักนิดหนึ่งโหยหาชีวิตสะดวกฉับไวในเมืองหลวง แต่เพราะความรักสามีเท่านั้น เธอถึงทนตกระกำลำบาก แต่บางครั้งยังอดไม่ได้จะรู้สึกเปราะบาง ไม่มั่นคง ไม่แน่ใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่

ชอบประเด็นคนนอก โดยเฉพาะจากเรื่องเอก มีไว้เพื่อซาบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชนบท เมือง และหญิง ชาย ไม่อาจเวียนมาบรรจบกันอย่างแท้จริง จากทุกเรื่องในเล่ม เสียดายมือ น่าจะเป็นเรื่องสั้นซึ่งตรงขนบสุด แม้ตัวละครหญิงในเรื่องจะยอมรับบทบาทตัวเอง แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นหญิง รักสวยรักงาม และแอบเสียดายโอกาสบางอย่าง อีกเรื่องที่น่ารักน่าชังคือ เงาะเพื่อชีวิต ที่แม้จะได้อารมณ์เบาๆ สบายๆ แต่ก็พูดถึงการปรับตัวสาวเมืองหลวงในบ้านนอกแปลกถิ่น

ระยะหลังนี้ชอบพูดถึงเอกลักษณ์ และปัจเจก เลยอดไม่ได้จะบอกว่านี่คือหนังสือซึ่งแต่ละเรื่องสั้นค่อนข้างเหมือนกัน เราไม่รู้สึกว่านี่เป็นจุดด้อย แต่ก็มีหลายคนทนงานเขียนลักษณะนี้ไม่ได้ จุดด้อยจริงๆ คือสองเรื่องสุดท้ายที่เขียนล่าสุดค่อนข้างอ่อนอย่างเห็นได้ชัด หวังว่าคงเป็นแค่การค้นหาแนวทางชั่วคราวของพี่อุรุดานะครับ

หนี้เลือด (ปราชญา ปารมี)


ก็เป็นไปตามคาดสำหรับหนังสือรางวัลชมเชยการประกวดนิยายสืบสวนสอบสวนของนานมีบุ๊ค ชนิดว่าตั้งแต่เห็นประกาศรับสมัครผลงาน เราก็คาดเดาได้เลยว่านิยายที่ผ่านการประกวดจะต้องมีปัญหาตรงนี้แน่ๆ ปัญหาที่ว่าก็คือความยาว ไม่รู้เหมือนกันว่าผีสางตนใดดลบันดาลทีมงานจัดประกวดให้ตั้งกติกาสติเฟื่องว่า “ความยาวอย่างน้อย 300 หน้ากระดาษเอสี่”

นิยายนักสืบสำคัญสุดคือโมเมนตัมครับ สังเกตว่าไม่มีอกาธาคริสตี้เล่มไหนเลยที่หนาเกิน 400 หน้ากระดาษพิมพ์ (ซึ่งก็ประมาณ 200 หน้าเอสี่) หนังสือพวกนี้จะสนุกไม่สนุกอยู่ที่การตบเท้ากันเข้ามาของข้อมูล ถ้าอ่านแล้วเยิ่นเย้อก็จบกัน ช่วงแรกของ หนี้เลือด น้ำท่วมทุ่งมากๆ มิหนำซ้ำนางเอก ซึ่งเป็นนักสืบ ยังดูโง่ๆ อีกต่างหาก เพราะต้องปล่อยให้ฆาตกรสำแดงเดชไปสามรายแล้วถึงค่อยสรุปว่านี่คือฆาตกรรม ไม่ใช่อุบัติเหตุ หรือฆ่าตัวตาย พอเข้าใจคนเขียนอยู่เหมือนกันที่ต้องยืดเรื่องให้เป็นไปตามกติกา ดังนั้นความผิดตรงนี้แบ่งรับกันไปทั้งทางผู้จัดพิมพ์ และคนเขียนแล้วกัน

อันที่จริงข้างในหนังสือเล่มนี้ก็พอมีนิยายสืบสวนสอบสวนชั้นดีซ่อนอยู่ ตั้งแต่ภาษาของคุณปราชญาที่ลื่นไหล สมกับเคยมีผลงานเรื่องยาวตีพิมพ์ หรือพอถึงครึ่งหลัง นิยายเล่มนี้ก็พอจะกลายเป็น page turner หรือ “อ่านแล้ววางไม่ลง” ได้อยู่เหมือนกัน

ติหยิบติย่อยก็เช่นในแง่ genre ของมันแล้ว นิยายเรื่องนี้เดาฆาตกรได้ค่อนข้างง่ายครับ เพราะตัวละครน้อย ถ้าตัดตัวเลือก และตามอ่านดีๆ ยังไง๊ยังไงก็น่าจะเก็ตผู้ร้ายได้ก่อนคนเขียนจะเฉลย อีกปัญหาหนึ่งคือความซ้ำซาก ถ้าให้นับฉากที่นางเอกเรียกตัวละครพิริยะมาสอบปากคำ ก็น่าจะได้เป็นโหล หนี้เลือดจัดเป็นนิยายสืบสวนซึ่งดำเนินรอยตามนิยายนัวร์แบบอเมริกัน มากกว่า who dun ‘it หรือ “ใครฆ่า” ของอังกฤษ ซึ่งตามแบบนิยายนัวร์แล้วน่าจะเน้นปมมืด และความชั่วร้ายในใจมนุษย์มากกว่านี้ ทั้งที่จริงๆ แก่นของมันก็วนเวียนอยู่กับปัญหาครอบครัว ความแตกแยก สันดานเจ้าชู้ของผู้ชาย แต่คุณปราชญาดูจะเล่าเรื่องนี้แค่พอผ่านๆ

ถ้าพูดว่านี่คือก้าวแรกของนิยายสืบสวนสอบสวนไทย ก็ถือว่าน่าจับตามองครับ คิดว่าในปีหน้าทางนานมีเองก็คงจะรัดกุมกับกติกามากกว่านี้

เก๊าะซารี มิตรภาพ และความตาย (หลายคนเขียน)


ส่งคอมพิวเตอร์เข้าอู่มาอาทิตย์หนึ่งครับ ช่วงนี้เลยไม่ได้อัพเดทบลอค และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้อ่านหนังสือเพิ่มเติมนักหนา ติดอยู่กับนิยายสืบสวนสอบสวนคนไทยเขียนเล่มหนึ่ง ซึ่งคงไม่เวิร์คแล้วล่ะ เพราะอ่านมาจะครึ่งเล่มแล้วตึ๋งหนืดเหลือเกิน ไม่ชวนติดตาม เนื้อเรื่องไม่ดำเนินไปไหนเลย

มาพูดถึงหนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลนายอินทร์ปี 2549 เล่มนี้ดีกว่า จริงๆ หนังสือรางวัลนายอินทร์นี่ถ้าใครอยู่ในวงการจริงๆ ควรซื้อหามาเก็บไว้ เพราะในอนาคตอาจกลายเป็นของมีค่าได้ เนื่องจากมันเป็นสนามเปิดตัวนักเขียนรุ่นใหม่ ถ้าใครอยากรู้ว่าไผเป็นไผในแวดวง young blood ก็ต้องเล่มนี้แหละ

ขี้เกียจพูดถึงรวมๆ เอาเป็นว่าหยิบยกมาแต่ละเรื่องที่น่าสนใจแล้วกัน

สายใยวันวานฯ ของน้องหมีฟู น่ารักโคตร น้องจ๋า พี่อยากเจอตัวจริงน้องมากเลย เขียนหนังสือต่อไปนะ มั่นใจว่าน้องเอาดีทางนี้ได้แน่ๆ อ่านหนังสือเพิ่มเติมเยอะๆ แล้วหมั่นฝึกฝนฝีมือ อนาคตน้องแซงหน้ารุ่นพี่ได้แน่ๆ

ความฝันที่มากับบุรุษไปรษณีย์ เรื่อง(ไม่)สั้นอารมณ์ชวนฝัน ซึ่งคงได้เค้าโครงมาจากชีวิตจริงของคุณสร้อยแก้วอยู่ไม่น้อย อ่านจบแล้วอยากแอบแซวผู้เขียนว่าส่งเรื่องสั้นไปสำนักพิมพ์ไหน ทำไมเขาใจดีตอบปฏิเสธกลับมาด้วย สมัยนี้ไม่ลง ก็คงดองเอาไว้แบบนั้นแหละ

Passion of Love จริงๆ ไม่ค่อยชอบงานเขียนชื่อปะกิตเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้เหงาได้ใจ เท่าที่อ่านประวัติ คนเขียนเป็นสถาปนิก แต่กลับมีฝีไม้ลายมือเชิงอักษรไม่เลวเลย

เกมของฉันกับเธอ เรื่องซื่อๆ หวานๆ คล้ายๆ เรื่องข้างบน คนเขียนหน้าใหม่เหมือนกัน แต่จับอารมณ์คนดูอยู่หมัดดี

ในอาณาแห่งอารม ไม่ถึงกับชอบๆ ๆ แต่เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของชิด ชยากรที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจ

เก๊าะซารีฯ ไม่ชอบเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ต้องเอ่ยถึงมันเพราะเป็นเรื่องสั้นรางวัลชนะเลิศ เฉยมากๆ สำหรับเรื่องสั้นปัญหาภาคใต้เรื่องนี้ ถูกใจอยู่อย่างเดียวคือเป็นไม่กี่เรื่องที่โทษ “ผู้ก่อปัญหา” อย่างแท้จริง แทนที่จะประนาม “ผู้มีอำนาจในสังคม” แบบที่ขนบมักทำกัน

พรายทะเล ดีที่สุดในเล่มแล้วล่ะ เห็นความเจ๋งจริง เหนือชั้นของผู้เขียน แต่พี่วรภครับ พี่ไม่หน้าใหม่แล้วเน๊อะ เปิดเวทีนี้ให้น้องๆ ดีกว่าไหม

สำหรับหนังสือ เก๊าะซารี มิตรภาพ และความตาย ตินิดก็คือมันเฮฮาปาร์ตี้รวมหลายเรื่องเกินไปหน่อย แต่โดยรวมถือว่าเลือกเรื่องได้ดีเลยล่ะครับ สำหรับหนังสือรวมเรื่องสั้นคลื่นลูกใหม่แบบนี้

ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร (ทินกร หุตางกูร)


ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ แต่การเมืองเป็นเรื่องเหตุและผล ไม่ควรอย่างยิ่งจะจับสองสิ่งนี้มาปะปนกัน ไม่ว่าจะในชีวิตจริง หรือบนหน้ากระดาษ

ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร คือหนังสือที่ทำให้เราหลงใหล และฉุนเฉียวคุณทินกรไปพร้อมๆ กัน เราหลงใหลอารมณ์รักอันละมุนละไม แต่เมื่อใดที่คุณทินกรพยายามเอาอารมณ์ดังกล่าวไปใช้กับการเมือง อ่านแล้วแทบอาเจียน

ขึ้นชื่อว่าอารมณ์ก็บอกอยู่แล้วเป็นการมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เพียงด้านใด เพราะเหตุนี้มันถึงได้เหมาะกับความรัก ไม่มีรักใดงดงามอย่างแท้จริง หากเรามองมันอย่างลึกซึ้ง ละเอียดทุกแง่ทุกมุม ทัชมาฮาล ลมและทราย และ แมวกับหุ่นยนต์ เล่าเรื่องราวสัมพันธ์แสนอ่อนหวานระหว่างเด็กหนุ่ม และเด็กหญิง รักที่เป็นไปไม่ได้ รักที่ผ่านพ้น รักที่สมหวัง ไม่ต้องมาคิดเล็กคิดน้อย ตั้งคำถามเลยว่าเหมาะสมไหม แก่แดดเกินวัยไปหรือเปล่า (คู่พระคู่นางแทบทุกคู่ในหนังสือเล่มนี้อายุไม่เกินยี่สิบ) ไม่อย่างนั้นก็ “เสียมู้ด” กันพอดี

ขณะเดียวกัน จะเอาวิธีนี้มาใช้กับการเมืองไม่ได้ การเมืองคือเหตุและผล คือการมองสองด้าน หลักการประชาธิปไตยถึงบอกให้เรารับฟังเสียงข้างน้อยด้วย ขณะที่อ่าน ฟ้าไร้ดาว และ หิมะกลางแดด รู้สึกเหมือนถูกมัดมือชก ถ้าผู้เขียนตัดสินไปเรียบร้อยแล้วว่าไม่ชอบคุณทักษิณ อเมริกา ทุนนิยม แล้วก็เอาอารมณ์มาใส่ความไม่ชอบตรงนั้น สิ่งที่ได้ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นการปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ ไม่ต่างอะไรจากผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติกระทำไว้เมื่อปี สองปีที่แล้ว

ประธานาธิบดีอเมริกาคนหนึ่งเคยกล่าวว่า เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่การค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วกระทำสิ่งนั้น ถ้าเทียบกับ คนไต่ลวดบนดาวสีฟ้า ส่วนหนึ่งของ ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร คือผลลัพธ์จากคำกล่าวที่ว่า คุณทินกรค้นพบความถนัดของตัวเองในการเล่าเรื่องรักระหว่างหนุ่มสาว อย่างน้อยองค์ประกอบนี้ผู้เขียนทำออกมาได้งดงามในแทบทุกเรื่อง ขณะเดียวกันมันก็มีความไม่ถนัดตามมาด้วย ในรูปแบบของการเมือง

เฝ้ารอวันที่คุณทินกรจะค้นพบตัวเอง (อีกครั้ง) ครับ

คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร (ประชาคม ลุนาชัย)


พี่ประชาคมครับ อ่าน คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร ของพี่จบ สิ่งแรกที่เราอยากทำคือจุดธูปขอขมา ขอโทษพี่ประชาคมจริงๆ ที่ตั้งแต่เห็นหนังสือเล่มนี้วางแผงก็นึกดูถูกมันในใจมาตลอด ตั้งแต่ชื่อเล่มที่ยังกะหนังโจวชิงซือ จนถึงว่านี่คือผลงานลำดับที่สิบสาม สิบสี่ของพี่ในรอบสิบปีเศษ พี่ “ขยัน” น้องๆ คุณปราบดา กับคุณวินทร์เลย แต่พออ่านจบ ก็ยอมรับเลยว่า พี่รู้แจ้งเห็นจริงแล้วซึ่งความเป็นนักเขียน มีมือทองคำที่หยิบจับอะไรก็เอามาเล่าได้อย่างน่าฟัง และมีชั้นเชิง

คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร คือผลงานเรือหาปลาลำดับที่เท่าไหร่แล้วไม่ทราบได้ แต่เป็นลำดับที่สามที่เราอ่าน ทึ่งแรกเลยคือทึ่งที่ป่านนี้แล้วคุณประชาคมยังหามุกใหม่ๆ มาเล่าให้เราตื่นตาตื่นใจ ไม่เหมือนกับผลงานชิ้นก่อนๆ ภยันตรายยิ่งยวดของเรือหาปลาไม่ใช่ท้องทะเล แต่เป็นเรือตรวจน่านน้ำยามฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าชาวประมงคนไหนถูกจับ ติดคุกที่เวียดนาม พม่า หรือเขมร อย่างแย่คือตายในนั้น อย่างดีก็กลับมาในสภาพไม่ครบสามสิบสอง ทึ่งสองเลยคือทั้งที่ทุกเรื่องใช้ฉาก และตัวละครคล้ายคลึงกัน แต่มันกลับมีความต่างพอให้อ่านไม่รู้เบื่อ เป็นหนังสือที่รักษาสมดุลระหว่างเอกภาพ และปัจเจกของแต่ละเรื่องได้อย่างงดงาม

เพิ่งบ่นไปหยกๆ ว่าเบื่อเรื่องสั้นวิถีชนบท คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร จึงเป็นผลงานน่าศึกษา ว่าทำไมคนอื่นเขียนแล้วเราเบื่อ แต่พอคุณประชาคมเขียน เรารู้สึกว่ามีเสน่ห์ หลังจากขบคิดโจทย์ตรงนี้ คำตอบประการแรกคือคุณประชาคมไม่ได้มองทะเลด้วยสายตาแจ๋วแหว๋วเปล่งประกาย ไม่ได้ยกยอปอปั้นวิถีชีวิตชนบทซ้ำซาก ตัวละครออกเรือด้วยจำเป็น ถ้าเลือกให้ขี่เบนซ์ได้ พวกนี้ก็คงไปนานแล้ว ท้องทะเลในเรื่องจึงมีทั้งความโหดร้าย ปลอบประโลม ดุดัน เป็นเบ้าหลอมที่เปลี่ยนเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่ และเป็นที่ซึ่งมนุษย์ขับสันดานดี และเลวอย่างสุดขั้ว ไม่กล่าวโทษทุนนิยม บริโภคนิยมเลอะเทอะ แค่คนตัวเล็กพยายามยืนหยัด

ซึ่งก็นำไปสู่เหตุผลประการที่สอง ก็เพราะคนนั่นแหละ สังเกตว่าเรื่องสั้นชนบทชอบเน้นฉาก แต่ยิ่งพยายามวาดทิวทัศน์เท่าไหร่ ก็ยิ่งดูน่าเบื่อ เพราะคนคือปัจจัยสำคัญสุด พออ่านเรื่องสั้นคนอื่นแล้วมันดูลอยๆ สะเปะสะปะ อย่างเรื่องสั้นหนึ่งใน ราหูอมจันทร์ ก็ไม่รู้จะเสียเวลาไปทำไมตั้งเกือบสิบหน้ากับอาแป๊ะอาซิ้มขายของชำ ที่สุดท้ายไม่ได้มีบทบาทใดๆ แต่กับเรื่องสั้นคุณประชาคม แค่ย่อหน้าแรกก็แทบจะรู้ว่าผู้เขียนต้องการกล่าวถึงใคร

ถ้าถามว่าตัวละครลึกไหม หรือมีความเป็นคนไหม เราก็จะตอบว่าเปล่า เป็นตัวละครดำขาวง่ายๆ ซึ่งหลายเรื่องก็ดี เลวเสมอต้นเสมอปลาย กระนั้นพอจับหลายชีวิตมาอยู่ในเล่มเดียว แต่ละตัวช่วยเสริมช่วยสร้างจนเราได้เห็นความเป็นคนสามมิติขึ้นมาจากหลายตัวละครซึ่งซ้อนทับกัน ไม่แน่ใจว่าให้อ่านแยกเดี่ยวๆ จะชอบไหม แต่สำหรับรวมเรื่องสั้น คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร เอาไปเลยห้าปลาดาว

ราหูอมจันทร์ พระพุทธเจ้า...มีไหม? (หลายคนเขียน)


เพิ่งบ่นเรื่อง ราหูอมจันทร์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ มาหยกๆ พอได้อ่าน ราหูอมจันทร์ พระพุทธเจ้า…มีไหม? ถึงค่อยรู้สึกว่า “นี่ มันต้องอย่างนี้” ขนาดภาพประกอบ และปกในเล่มนี้ยังลงตัวกว่าเลย

ส่วนเนื้อใน ผลประโยชน์ยกให้คุณแดนอรัญ กับเรื่องสั้น แมวผี่ ที่ดึงคนอ่านได้อยู่หมัด แม้จะใช้ภาษาเหน่อสุ่พรรณ เล่าความทรงจำหนังกลางแปลง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ “แมวผี่” มาเกือบยี่สิบหน้า ตอนท้ายค่อยตัดมาเป็นเรื่องน่ากลัว ถือเป็นความสร้างสรรค์ใน genre ที่เฝือสุด (รองลงมาคือเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์) ส่วน ทำไมต้องมาลงที่หล่อน ก็เป็นเรื่องสั้นชีวิตคนเมืองน่าสนใจตามแบบคุณจำลอง

ผลงานหน้าใหม่ที่น่าจับตามองคือ เซ็กส์ในสวยเซ็น ของนก ปักษนาวิน เหนือชั้นตรงผู้เขียนจับอารมณ์หวิวๆ ลอยตัวแบบไฮคุแล้วนำมาใช้กับเรื่องสั้นได้ อีกเรื่องคือ เทพบุตรคืนลวง ของปั้นคำ ซึ่งเราสนใจนักเขียนคนนี้มาตั้งแต่อ่านรวมเรื่องสั้น บางหลืบสมรภูมิ ปั้นคำไม่ได้มีตัวหนังสือที่แข็งกร้าวแต่กลับสามารถบอกเล่าเรื่องราวอันเฉือดเชือน

มีเรื่องสั้นประเภท “ความล้มเหลวที่ยังน่าติดตาม” เช่น ลิงลพบุรี เหมือนคนเขียนแบ่งย่อหน้า ใช้ภาษาไทยแผลงๆ ยังไงไม่ทราบ ซึ่งกลายเป็นน่าสนใจเพราะอ่านจบแล้วอยากอ่านเรื่องสั้นอื่นๆ ของคุณปานศักดิ์ เพื่อจะได้รู้กันไปเลยว่านี่จงใจ หรือผิดพลาด พระพุทธเจ้า…มีไหม? อ่อนยอบแยบแป้งเปียก แต่ก็มีหลายอย่างคล้าย ขอบคุณแรมโบ้ ใน วันปลดปล่อยผีเสื้อ บางทีถ้าได้อ่านผลงานคุณชิด ชยากรเยอะๆ อาจจับสไตล์แกออก แล้วเริ่มชอบมันขึ้น ที่นี่มีบุหรี่จำหน่าย โดยนักเขียนหน้าใหม่เอี่ยมถอดด้าน ถือว่ายังต้องเดินเส้นทางนี้อีกไกล แต่ก็เป็นก้าวแรกที่น่าจับตามอง น่าคิดด้วยว่ากองบรรณาธิการพบเห็นศักยภาพอันใดในตัวนักเขียนท่านนี้

เล่มนี้มีเรื่องสั้นวิถีชนบทเยอะ เรื่องหนึ่งดี แต่อีกสองเรื่องอ่อน และยาวเกินเหตุ รู้สึกเสียดาย แกมแปลกใจว่าแนวนี้คนไทยเขียนกันมาเกือบๆ จะห้าสิบ หกสิบปีแล้ว ทำไมถึงยังย่ำอยู่กับที่ นักเขียนที่อยากเขียนแนวนี้จริงๆ ลองกลับไปอ่านผลงานอาจารย์มนัส แล้วถามตัวเองก่อนดีไหมว่า “มีอะไรนำเสนอมากไปกว่านี้หรือเปล่า” ถ้าไม่มีหาให้เจอก่อน แล้วค่อยเริ่มลงมือเขียนดีไหม