I. Calvino's "The Path To The Spiders' Nests"
"หนทางสู่รังแมงมุม" คือนิยายสองเรื่องในเล่มเดียว ไม่ใช่ว่าแบ่งเป็นสองเรื่องจริงๆ เรื่องเดียวนี่แหละแต่ตีประเด็นคู่ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ประเด็นแรกว่าด้วยเรื่องของกลุ่มต่อต้านในประเทศอิตาลี ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 อธิบายประวัติศาสตร์นิดหนึ่ง ใกล้ๆ สงครามโลกจะสิ้นสุด กลุ่มใต้ดินของอิตาลีได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์รัสเซียประกาศตัวเป็นศัตรูกับผู้นำประเทศ คือมุสโสลินี ต่อต้านทั้งทหารนาซี และทหารอิตาลีด้วยกันเอง อธิบายง่ายๆ ก็คล้ายๆ เสรีไทยนั่นแหละ คือขณะที่รัฐบาลประเทศตัวเองจับมือกับฝ่ายหนึ่ง คนอีกกลุ่มหนึ่งในประเทศหันหน้าเข้าหาอีกฝ่าย
หนทางสู่รังแมงมุมคือนิยายเล่มแรกของคาลวิโน ตีพิมพ์ตอนแกเพิ่งอายุยี่สิบสามเท่านั้น คาลวิโนเล่าไว้ในคำนำว่าช่วงหลังสงครามโลก ใครๆ ก็มีเรื่องเล่าวีรกรรมต่อสู้ทหารนาซีของตัวเอง เนื่องจากกลุ่มใต้ดินอิตาลีล้มล้างมุสโสลินีสำเร็จ และหันหน้าเข้าสนับสนุนสัมพันธมิตรอย่างเต็มตัว คนอิตาลีถึงมองว่าตนไม่ได้พ่ายแพ้สงครามโลก และสามารถคุยเขื่องได้อย่างเต็มที่
บรรยากาศที่ทั้งประเทศเต็มไปด้วยเรื่องเล่า วีรกรรมนี่เองที่เป็นต้นกำเนิดหนทางสู่รังแมงมุม
เป้าหมายของนิยายเล่มนี้คือคาลวิโนต้องการจิกกัดชนชั้นกลาง ซึ่งระหว่างสงครามไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่กลับวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกลุ่มต่อต้านในการบริหารประเทศ แม้ว่าคอมมิวนิสต์จะมีชัยเหนือมุสโสลินี แต่ก็ไม่อาจปกครองอิตาลีได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาลวิโนจำลองสมาชิกกลุ่มต่อต้านขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้แม้จะน่าขบขัน โง่เง่าเพียงใด แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีบทบาทเคลื่อนไหวประวัติศาสตร์อย่างที่ชนชั้นกลางเหล่านั้นไม่อาจแม้แต่คิดฝัน
ถ้านี่เป็นจุดประสงค์ของนิยายเล่มนี้จริง ก็บอกได้เลยว่าคาลวิโนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง! ไม่ได้หมายความว่านิยายเรื่องนี้ไม่ดี แต่มันไม่ตอบโจทย์ที่คนเขียนตั้ง กลุ่มต่อต้านของคาลวิโนประกอบด้วยเดนมนุษย์อันน่าขบขัน โง่เง่าเสียจนเราไม่รู้สึกว่าคนเหล่านี้เป็นวีรบุรุษตรงไหน ดริทโตหัวหน้ากลุ่ม มัวแต่จีบสาวจนเผลอวางเพลิงฐานที่ตั้ง เปเล่ทรยศเพียงเพราะอยากได้อาวุธปืนมาผลาญกระสุนเล่น คัสซินเอะอะอะไรก็บ่นโทษว่าผู้หญิงคือต้นเหตุสงคราม เซน่าขี้เกียจสันหลังยาว พวกเขาไม่ได้มีความคิดอยากกู้ชาติ หรือสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม แต่เข้าร่วมสงครามเพียงเพราะการฆ่าฟันคือสันดานอย่างหนึ่งของมนุษย์
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป้าหมายของคาลวิโนคือเสียดสีกลุ่มใต้ดิน ก็ต้องนับว่าหนทางสู่รังแมงมุมประสบความสำเร็จงดงาม พอจะเห็นเหมือนกันแหละ ว่าคนเขียนมองตัวละครด้วยสายตาเอ็นดู ตอนจบเมื่อทุกคนทิ้งชีวิตออกไปเผชิญหน้ากับทหารนาซี ก็พอมองเห็นความเป็นวีรบุรุษได้บ้าง แต่มันยังไปไม่ถึงจุดนั้น
ในฐานะที่อ่านนิยาย และรวมเรื่องสั้นแกมาเกือบทุกเล่ม อดสงสัยไม่ได้ว่าคนอย่างคาลวิโนเนี่ยนะ จะตั้งเป้าประสงค์ในการเขียนหนังสืออย่างที่แกบอกจริงๆ อีกประเด็นของหนทางสู่รังแมงมุมคือเรื่องแนว coming-of-age การที่เด็กเติบโตสู่โลกของผู้ใหญ่ เออ! ประเด็นนี้สิค่อยฟังดูเหมือนคาลวิโนหน่อย
ตัวเอกของนิยายคือพิน น้องชายโสเภณีในเมือง พินไม่มีเพื่อนสนิทวัยเดียวกัน เด็กชายเข้าๆ ออกๆ ร้านเหล้าเป็นประจำ เขาชอบอยู่ท่ามกลางคนที่โตกว่า แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจ ซ้ำยังดูถูกพวกผู้ใหญ่ในบางครั้งก็ตาม ชื่อนิยายหมายถึงสถานที่ซึ่งพินซ่อนปืนที่เขาขโมยมาจากทหารเยอรมัน ตลอดทั้งเรื่อง จะมองง่ายๆ ก็ได้ว่าเป็นความพยายามของเด็กชายในการหาที่ทางในโลกของผู้ใหญ่ ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือการหาเพื่อน ผู้ใหญ่บางคนที่ยอมรับเขา และเขายอมรับใครคนนั้น
หนทางสู่ใยแมงมุมเป็นนิยายที่มีแต่ชายหนุ่มอายุยี่สิบต้นๆ เท่านั้นที่จะเขียนได้ ถ้าเยาวัยกว่านี้ ย่อมขาดประสบการณ์ด้านภาษา และความคิด แต่ถ้าโตเกินไป ก็คงลืมไปแล้วว่าเด็กๆ รู้สึกเช่นไร มีหลายสถานการณ์ซึ่งคาลวิโนเสนอมุมมองของเด็กแก่แดดอย่างพินได้อย่างน่าคิด เช่นเมื่อเขาติดคุกใหม่ๆ โทษฐานสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มต่อต้าน แม้จะมีโอกาสหนีออกมา พินอดคิดไม่ได้ว่าเขาอยากอยู่ในนี้เพื่อสำรวจคุกต่ออีกสักพัก หรือการที่พินใช้ฝีปากคมกล้า และความเป็นเด็กเพื่อแสวงหาการยอมรับจากนักต้อต้านคนอื่นๆ
โดยรวม หนทางสู่ใยแมงมุมเป็นหนังสือค่อนข้างแปลกสำหรับอิตาโล คาลวิโน แม้จะแอบมีอารมณ์นิทานซึ่งเป็นจุดเด่นของแกแทรกอยู่ก็ตาม คาลวิโนเล่าว่าตัวเองไม่ทันสังเกตอารมณ์ตรงนี้ด้วยซ้ำ เป็นเพื่อนแกที่ชี้ให้เห็น นี่ถ้าไม่มีเพื่อนคนนั้น โลกเราคงขาดโคตรนักเขียนไปอีกคน ขอจบด้วยประโยคเด็ดของคาลวิโนที่ว่านักเขียนทุกคนไม่ควรเขียนหนังสือเล่มแรก เพราะการเขียนหนังสือเล่มแรกคือการที่เรานิยามตัวเองขึ้นมา ในขณะที่เรายังไม่พร้อมจะถูกนิยามเลยด้วยซ้ำ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment