T. Cohen's "Jokes"


พูดแบบหลงตัวเองหน่อยๆ สำหรับคนที่ "ศึกษา" เรื่องตลกอย่างเรา หนังสือ Jokes: Philosophical Thoughts on Joking Matters ของโคเฮนก็ไม่ได้มีอะไรใหม่นักหรอก ถ้าจะมีอะไรบางอย่างที่หนังสือบางๆ เล่่มนี้ช่วยเปิดหูเปิดตาเราก็คือ โคเฮนเป็นคนแรกที่พูดถึง "อันตราย" ของเรื่องตลก มาร์ค ทเวนเคยกล่าวไว้ว่า "ไม่มีอะไรจะยืนหยัดการจู่โจมของอารมณ์ขันได้" ทั้งเราและโคเฮนเห็นด้วย และเราสองคนก็เห็นพ้องตรงกันอีกว่า มีบางอย่างที่สมควรจะยืนหยัดอยู่ในโลกนี้

เราเคยพูดเรื่องนี้บ่อยแล้ว เลยขี้เกียจเล่าอย่างละเอียด แต่เราคิดว่าในช่วงแรกๆ ของความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย "อารมณ์ขัน" ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม และเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่ทรงประสิทธิภาพมากๆ เรื่องตลกจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อผู้เล่าและผู้ฟังมีประสบการณ์ ความคิดเห็นร่วมกันบางอย่าง และในทางกลับกัน บางครั้งผู้ฟังก็พร้อมจะรับความคิดเห็นเหล่านั้นมา เพียงเพื่อจะได้หัวเราะไปกับเรื่องตลก การที่คุณได้ยินเรื่องตลกซ้ำไปซ้ำมา โดยเรื่องตลกนั้นได้แทรกมุมมองทางการเมืองเอาไว้ สุดท้ายคุณก็จะรับเอามุมมองดังกล่าวมาโดยไม่รู้ตัว เพียงเพราะคุณอยากหัวเราะไปกับมันเท่านั้น (มิลาน กุนเดระถึงได้เคยพูดถึง "เสียงหัวเราะของเทวดา" ว่าเป็นเสียงที่น่ารังเกียจและน่าขยะแขยงที่สุด)

ใน Jokes โคเฮนทำในสิ่งที่เราสงสัยมาตั้งนานแล้วว่าทำไมไม่เคยมีนักปรัชญาคนไหนทำมาก่อน นั่นก็คือการพูดถึง "ตลกไร้รสนิยม" (bad taste) เช่นเรื่องตลกที่อิงอยู่บน stereotype ทางเพศหรือเชื้อชาติ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าเรื่องตลกส่วนใหญ่มันก็อิง stereotype ทั้้งนั้น (อาจจะเรียกว่าโดยนิยามเลย) แต่อะไรที่แบ่งเรื่องตลกดีๆ กับเรื่องตลกที่ไร้รสนิยมออกจากกัน ใช่เส้นแบ่งทางศีลธรรมหรือเปล่า (ตัวอย่างเรื่องตลกไร้รสนิยมที่โคเฮนยกขึ้นมาคือ "ถาม: ทำอย่างไรถึงจะหยุดยั้งคนผิวดำกลุ่มหนึ่งไม่ให้ข่มขืนผู้หญิง ตอบ: โยนลูกบาสเกตบอลเข้าไปกลางวง)

ถึงเราจะพูดเสมอๆ ว่าหนังสือที่ดีมันต้องตั้งคำถามให้คนอ่านฉุกคิด แต่โคเฮนตั้งคำถามลูกเดียว โดยไม่ให้เสนอคำตอบอะไรเลย (ว่ะ) ซึ่งก็น่าผิดหวังชะมัด ไม่เป็นไร เอาไว้ถ้ามีโอกาส จะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเอง

No comments: