คืนที่ดอกโบตั๋นบาน (r.o.d.)


นี่คือรวมบทวิจารณ์ห้าเรื่องสั้นที่ส่งมาหาเราในโครงการ r.o.d. เอาเรื่องนี้มาเป็นชื่อเรื่องเพราะเป็นเรื่องที่เราชอบที่สุด และในแง่หนึ่ง มันเป็นเรื่องที่แสดงจุดแข็งสุดของผู้เขียนเองด้วย แค่ชื่อเรื่อง คืนที่ดอกโบตั๋นบาน ก็น่าสนใจแล้วในความคลุมเครือ ตัวเรื่องว่าด้วยความไ่ม่แน่นอนของชีวิต ที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ตอนจบมีลูกหยอกลูกล้อกับคนดูว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เมียปลัดเกี่ยวข้องกันแค่ไหนกับ "อุบัติเหตุ" ที่เกิดขึ้น

ข้อติหลักข้อเดียวเลยของเรื่องนี้ คือฉากที่เมียปลัดยอมรับกับนายหน้าค้าประกันว่าตัวเองปลอมลายเซ็นต์ ออกจะดูงี่เง่าผิดวิสัยตัวละคร (หรือมนุษย์มนา) ไปหน่อย ทำให้ความคลุมเครือในตอนจบลดลงไป

อีกเรื่องที่เราชอบคือ เจ้าหมู คนเขียนสามารถเล่าถึงความไม่มีอะไร จับเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ของชีวิต ที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคย มาใส่รายละเอียดอย่างน่าติดตาม

ชอบอันดับสามคือ ในวันที่ฟ้าเปียก สนุกดี แต่ก็เริ่มแสดงให้เห็นปัญหาข้อใหญ่ของผู้เขียน นั่นก็คือการเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องหมายถึง การเลือกนำเสนอ ว่าแต่ละฉากควรนำเสนอยังไง ผ่านมุมมองตัวละครใด การจับจังหวะว่าฉากไหนสำคัญ ฉากไหนไม่สำคัญ และควรจะสั้นยาวแค่ไหน ความผิดพลาดเช่นการที่อยู่ๆ มีตัวละครอย่าง "บักวี" โผล่ออกมาในเรื่องสั้น (ซึ่งสมควรประหยัดฉากและตัวละครที่สุด) นอกจากนี้ ประโยคสุดท้ายจะเวิร์ค หรือไม่เวิร์ค อยู่ที่ความวุ่นวายในบ้านของตัวเอก ซึ่งก็ยังใส่มาไม่พอ

ความล้มเหลวของการเล่าเรื่องแสดงออกอย่างชัดเจนสุดผ่าน เด็กหญิงชบา ไข่ต้ม ขนมผิง ตอนความลับของพี่บอย รายละเอียดมากมายใส่มาอย่างไม่บรรยะบรรยัง (ทำไมบีต้องเป็นโรคปากแหว่ง) มุมมองของเรื่องเล่าที่เปลี่ยนกลับไปกลับมาโดยไม่จำเป็น สุดท้ายแล้ว ถ้าจะบอกว่าประเด็นของเรื่องสั้นคือบอย "สูญเสียความใสซื่อ" ก็ยังไม่ชัดเจนขนาดนั้นว่าตัวละครตัวนี้เคยซื่อมาก่อน และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ "บีผีบ้า" ก็ไม่น่าจะถึงขนาดนำไปสู่ตอนจบของเรื่องสั้นได้

ดูจากชื่อเรื่องที่มีคำว่า "ตอน" เลยไม่แน่ใจว่าผู้เขียนตั้งใจให้เป็นนิยายหรือเปล่า วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้อาจจะเหมาะกับนิยายที่มีตัวละครเยอะๆ และเปลี่ยนมุมมองได้เรื่อยๆ มากกว่าเรื่องสั้น

ความตายของจิตรกร เป็นเรื่องสั้นที่เราเฉยๆ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี แต่มันไปตรงกับ genre หนึ่งซึ่งฮิตมากในเมืองไทย คือ "เรื่องสั้นที่พระเอกเป็นศิลปิน" พูดถึงความฟุ้งซ่านของคนทำงานศิลปะ ส่วนตัวเราไม่ชอบเรื่องที่ส่งสาส์นประมาณนี้ การเทิดทูนความเป็นศิลปินว่ามีอารมณ์ซับซ้อนลึกซึ้ง คนธรรมดาเข้าไม่ถึง น่าสนใจว่าเรื่องสั้นทำนองนี้ปรากฏเยอะมากในสังคมไทย และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เรื่องพวกนี้ดูเหมือนจะสะท้อน ตอบสนองรสนิยมคนเขียน มากกว่ารสนิยมคนอ่าน

อ่านจบทั้งห้าเรื่องสั้น สรุปได้ว่าผู้เขียนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ชัดเจนมาก น่าจับตามองต่อไปผู้เขียนจะรับมือกับคุณสมบัติของตัวเองตรงนี้อย่างไร

1 comment:

Tpong Spirak said...

โอ.. ขอบคุณมาก ๆ ครับ
ดีใจและเป็นเกียรติมากที่ช่วยให้คำวิจารณ์ทั้ง ๕ เรื่องเลย
มุมมองของคุณช่วยผมได้เยอะครับ *: )