I. Calvino's "Difficult Loves"


ความแตกต่างระหว่างแวดวงวรรณกรรมไทย และตะวันตกคือ คนไทยชอบเขียนเรื่องสั้นกันมาก นักเขียนไทยแทบทุกคนต้องเคยมีผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มสองเล่มมาแล้วทั้งนั้น ขณะที่นักเขียนฝรั่ง แค่หยิบมือเดียวจริงๆ ที่มีผลงานรวมเรื่องสั้นมากกว่าหนึ่งเล่ม คำว่านักเขียนในภาษาอังกฤษ ถึงใช้คำว่า "novelist" หรือแปลตรงตัวคือนักเขียนนิยาย ส่วนคนที่เป็น "short storyist" จริงๆ แทบจะนับนิ้วมือเดียวได้เลยด้วยซ้ำ ให้ยกตัวอย่างเช่นป๋าเฮมมิงเวย์ เรย์มอน คาร์เวอร์ ฆอเฆส กาย ดีมูปาซัง และอีกคนหนึ่งที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คืออิตาโล คาลวิโน

ที่เกริ่นมายาวเหยียดนี่ไม่ใช่แค่จะแนะนำตัวคาลวิโนหรอก แต่อยากพูดถึงศิลปะการเขียนเรื่องสั้นแบบตะวันตกมากกว่า เนื่องจากว่าฝรั่งไม่ค่อยเขียนเรื่องสั้นกันเท่าไหร่ ดังนั้นรูปแบบเรื่องสั้นจึงมีอิสระสูง หมายถึงนักเขียนแต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นน่าศึกษา

เรื่องสั้นแบบคาลวิโน โดยเฉพาะที่รวมอยู่ใน "รักลำบาก" ชุดนี้ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานเขียนที่น่าจับตามอง เป็นเรื่องสั้นที่สั้นจริงๆ (ทั้งเล่มมีอยู่ยี่สิบกว่าเกือบสามสิบเรื่องได้) แต่ละเรื่องพูดถึงประเด็นเดียว ดูเหมือนจะตั้งใจโชว์ความคิด หรือกระทั่งฉากๆ เดียวเลยด้วยซ้ำ

รักลำบากแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนแรกคือ "เรื่องของริเวียร่า" ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับเด็ก (แต่มีเนื้อหาที่ไม่เด็ก) "เรื่องของสงคราม" ตามชื่อนั่นแหละ แล้วก็ "เรื่องหลังสงคราม" ซึ่งเน้นที่ความยากจน และ "เรื่องของความรัก และความเปล่าเปลี่ยว"

"เรื่องของริเวียร่า" นั้นที่เด่นๆ มีอยู่ประมาณสองสามเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกเป็นความรักระหว่างลูกสาวแม่ครัว และเด็กคนสวน ผู้ชอบเล่นกับสัตว์น่าขยะแขยงเช่น งู หอยทาก อึ่งอ่าง อีกเรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิง เด็กชายที่แอบเข้าไปวิ่งเล่นในสวนของคนแปลกหน้า ได้สัมผัสกับความสุขต้องห้าม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องเพศอันเฉียบแหลม แล้วก็มีอีกเรื่องพูดถึงเด็กชาย และผู้หญิงอ้วนอกหักร้องไห้ริมชายหาด (แทบทุกเรื่องของรักลำบาก มักจะมีฉากอยู่แถวทะเล)

"เรื่องของสงคราม" ตอนแรกนึกว่าจะซ้ำซาก แต่ไปๆ มากลับๆ เป็นชุดที่ชอบที่สุดของเล่ม เรื่องเด่นซึ่งชอบมากคือ "อีกาไว้ท้ายสุด" เป็นเรื่องสั้นพิสดารเพราะสามารถแสดงให้เห็นความโหดร้าย และโรแมนติกของสงครามได้พร้อมๆ กับ เป็นเรื่องของเด็กที่ยิงปืนแม่นราวกับจับวาง ชนิดสอยเสื้อผ้าทหารนาซีขาดได้ทีละชิ้นๆ อีกเรื่องว่าด้วยชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซ่อนสัตว์เลี้ยงไว้ในป่า ไม่ให้พวกทหารที่มาบุกหมู่บ้านขโมยไป อ่านแล้วได้บรรยากาศกึ่งฝังกึ่งจริงดี อีกเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคลานฝ่าทุ่งดอกไม้ซึ่งเป็นดงระเบิด

"เรื่องหลังสงคราม" น่าสนใจน้อยที่สุด ที่เด่นๆ ก็มีขโมยสามคน ย่องเข้าไปในร้านขายขนม เสร็จแล้วขโมยเงินไม่ได้สักแดง เพราะมัวแต่กินของหวานอย่างหิวโหย ขนาดตำรวจที่วิ่งเข้ามาจับยังเพลินไปกับการลองโน้นชิมนี่ มีเรื่องว่าด้วยชายชราจรจัด และสาวลูกจ้างร้านเย็บผ้าเอาเสื้อในร้านมากองๆ เป็นกระท่อม "เงินตรา และยาหยี" ยาวเหยียด และไม่สนุก แต่มีฉากเด็ดคือกะลาสีอเมริกันขี้เมาประมาณยี่สิบสามสิบคนเต้นรำ ร้องเพลงอยู่ในร้านเหล้าแคบๆ

"เรื่องของความรัก และความเปล่าเปลี่ยว" คือชุดเอกของเล่ม แทบทุกเรื่องว่าด้วยเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อผ่านการพิจารณาใคร่ครวญของตัวละคร (และผู้เขียน) เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นกลับกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ น่าสนใจได้ เช่นผู้หญิงคนหนึ่งไปเที่ยวทะเล แล้วเผลอทำชุดว่ายน้ำหล่นหาย เลยขึ้นฝั่งไม่ได้ ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นบทวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเพศ อีกเรื่องคือเสมียนต๊อกต๋อยได้ไปมีสัมพันธ์ข้ามคืนกับหญิงสาวชั้นสูง ทั้งเรื่องเป็นการคิดใคร่ครวญของผู้ชายในเช้าวันรุ่งขึ้น ระหว่างไปทำงาน

แต่ที่เด็ดสุดในเล่มคือ "การผจญภัยของช่างถ่ายภาพ" ว่าด้วยนักปรัชญาคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการถ่ายภาพ เพราะเขาปฏิเสธที่จะเชื่อว่าในโลกนี้มีสิ่งที่สมควร และไม่สมควรถ่าย เขาพยายามถกเถียงประเด็นนี้กับเพื่อนๆ ผู้ชอบพาครอบครัวออกไปถ่ายรูปทุกวันหยุด ทุกคนหาว่าเขาบ้า สุดท้ายนักปรัชญาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลองถ่ายรูปดู เพื่อจะได้เข้าใจกิจกรรมนี้ และไปโต้แย้งกับคนอื่นได้ การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้เขาได้พบรักกับหญิงสาวที่ถูกวานให้มาเป็นนางแบบ ทั้งคู่แต่งงานกัน นักปรัชญา (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นช่างถ่ายภาพ) ยังคงพยายามค้นหาความหมายของการถ่ายรูปอยู่ร่ำไป ท้ายที่สุดนำไปสู่การหย่าร้างกับภรรยา หลังจากนั้นเขาเริ่มหมกมุ่นกับการถ่ายภาพ "สิ่งที่หายไปแทน" เป็นสุดยอดเรื่องสั้นที่ทั้งน่าเศร้า น่าขัน และน่าครุ่นคิด

No comments: