I. Calvino's "The Road to San Giovanni"
The Road to San Giovanni รวมห้าบทความว่าด้วยความทรงจำของคาลวิโน ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยผู้ใหญ่ และวัยแห่งความตาย วัยเด็กของคาลวิโน ประกอบด้วยตัวเขา บิดา และการเดินเท้าจากบ้านไปยังสวนในซานกิโอวานนี เป็นบทความที่ "ชมสวน" มากๆ (อ่านแล้วนึกถึงกามูส์ ซึ่งเป็นอีกคนที่ชอบเขียนในลักษณะนี้) ภายใต้ทิวทัศน์ความงามในวัยเด็ก ก็แฝงความแปลกแยกระหว่างคาลวิโน และบิดาเอาไว้ พ่อของคาลวิโนเป็นเกษตรกร เพื่อนบ้านเรียกเขาว่า "ศาสตราจารย์" ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะเขามีอาชีพเป็นอาจารย์จริงๆ หรือเพราะเขามักจะหาวิธีการใหม่ๆ มาปรับปรุงพืชผลการเกษตรของตัวเอง คาลวิโนตั้งฉายาพ่อว่า "โรบินสัน ครูโซ" เพราะแกตั้งใจปลูก และเลี้ยงทุกอย่าง ซึ่งสวนทางกับระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่เน้นให้แต่ละพื้นที่ปลูกพืชเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยน
คาลวิโนเล่าว่าพ่อเดินเร็วมาก ต่อให้เขา และน้องชายวิ่งตามไปเท่าใด ก็ไม่เคยทัน คาลวิโนมองตัวเองว่าเป็น "เด็กเมือง" ที่ทางของเขาอยู่ในโรงภาพยนตร์ ซึ่งสะท้อนออกมาในบทความช่วงวัยรุ่น ว่าด้วยคาลวิโน และภาพยนตร์ฮอลลีวูด โมทีฟเรื่องความแปลกแยก ถูกนำมาเล่นซ้ำใหม่ในบทความที่สอง โดยหนนี้เป็นความแปลกแยกระหว่างโลกแห่งความจริง (ชนบทอิตาลีภายใต้การปกครองของระบบเผด็จการ) และโลกแห่งภาพยนตร์ (ฮอลลีวูด อเมริกา ประเทศเสรีนิยม) บทความนี้ปิดท้ายด้วยการวิเคราะห์ภาพยนตร์ของเฟลลินี คาลวิโนอายุเท่าๆ กับผู้กำกับในตำนาน ทั้งคู่เติบโตมาในยุคเดียวกัน ดูภาพยนตร์ประเภทเดียวกัน มาจากเมืองชนบทชายทะเลเหมือนกัน (เฟลลินีชอบเล่นกับโมทีฟทะเล) และต่างรับรู้ถึงความแปลกแยกในโลกภาพยนตร์ ผลงานของเฟลลินีวนเวียนอยู่กับความแปลกแยก ระหว่างโลกแห่งความจริง และโลกภาพยนตร์ หรือโลกในละครสัตว์ คาลวิโนสรุปได้อย่างน่าคิดมากๆ ว่า สิ่งที่รบกวนจิตใจผู้ชมสุดคือ ของที่เราต้องการให้มันแปลกแยกออกไป กลับเป็นสันดาน เป็นพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งไม่อาจแยกออกจากตัวเราได้
บทความวัยหนุ่มว่าด้วยการร่วมรบในขบวนการใต้ดินช่วงสงครามโลก เป็นบทความสั้นๆ และไม่น่าสนใจสุดในเล่ม อาจเพราะคาลวิโนเคยเขียนนิยายทั้งเล่ม (The Path to the Spiders' Nests) เกี่ยวกับประสบการณ์ช่วงนี้มาแล้ว ส่วนบทความวัยผู้ใหญ่พูดถึงหน้าที่ในครัวเรือนประการเดียวของคาลวิโนคือการเอาขยะไปทิ้ง หัวข้อน่ารักน่าชังแบบนี้ แต่ในบทความ อัดแน่นไปด้วยปรัชญาร้อยแปดตั้งแต่บรรทัดแรกยันบรรทัดสุดท้าย มีทั้งการตกผลึกของความเป็นปัจเจก โครงสร้างชนชั้นในสังคม จนถึงแอบจิกกัดทุนนิยม ทั้งหมดผ่านมุมมองของการเอาขยะไปทิ้ง
บทความสุดท้ายพูดถึงความตาย The Road to San Giovanni ตีพิมพ์ในปี 1990 ห้าปีภายหลังจากที่คาลวิโนเสียชีวิต ไม่รู้เหมือนกันว่ามันถูกเขียนขึ้นจริงๆ ตอนไหน ในย่อหน้าสุดท้าย คาลวิโนเขียนว่า "การเป็นอยู่ของมนุษย์คือการที่เรามองเห็นแสงสว่างเบื้องหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ก้าวเท้าถอยหลัง หายเข้าไปสู่ความมืดมิด"
ใคร่รู้ยิ่งนักว่าคนที่เขียนประโยคนี้ช่วงบั้นท้ายปลายชีวิต เขาเขียนมันด้วยความรู้สึกเช่นไร
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ
You could certainly see your skills in the work you write.
The world hopes for more passionate writers like you who are not afraid to mention
how they believe. All the time follow your heart.
my site X-Rays Technician
Post a Comment