R. Graves's "I, Claudius"


อาเธอร์ ซี คล้ากเคยตั้งคำถามน่าสนใจว่าถ้าไม่มียุคกลาง ปัจจุบันนี้โลกเราจะก้าวหน้าไปไกลแค่ไหน ที่คล้ากพูดแบบนี้ เพราะจริงๆ ความรู้เมื่อสองร้อยปีที่แล้ว แทบไม่พัฒนาไปจากเมื่อพันปีก่อนหน้านั้นสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญา คณิตศาสตร์ กฎหมาย หรือการปกครอง ตั้งแต่สิ้นสุดโรมัน ก็เหมือนเวลาหยุดนิ่งหนึ่งพันปี จนมายุคปฏิรูปวัฒนธรรมนั่นแหละ นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาถึงเพิ่งตื่นจากการหลับไหล

เกริ่นมาแบบนี้ ไม่ใช่จะพูดถึงยุคกลางหรอกนะ แต่อยากบอกว่าโรมนั้นเจริญสุดๆ ชนิดที่ว่าถ้าหยิบจับนักปราชญ์มาหัดใช้เครื่องคิดเลขนิด คอมพิวเตอร์หน่อย รับรองว่าสู้กับนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ได้สบายๆ จะเอาสส.โรมันมาบริหารประเทศ ก็มั่นใจได้ว่าหาเสียง หลอกลวงประชาชนเก่งกาจไม่แพ้นักการเมืองสมัยนี้แน่ๆ

เพราะโรมรุ่งเรืองขนาดนี้กระมัง โคตรคำถามที่ครุ่นคิดกันมาทุกยุคทุกสมัยคือ มันปล่อยให้พวกแฟรงค์ คนป่า คนดอยมาบุกยึด เผาเมือง ทำลายประเทศได้ยังไง จนป่านนี้นักประวัติศาสตร์ก็ยังถกเถียงถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่คำตอบลวกๆ ซึ่งมักหยิบยกมาอ้างเอ่ยคือ โรมเป็นแอปเปิลเน่าจากภายใน เพราะผู้ปกครองโกงกินสิ้นชาติ บ้านเมืองถึงได้พินาศวอดวาย

"ผมชื่อคลอดิอุส" ในทางหนึ่งก็คือประวัติศาสตร์ความเสื่อมโทรมของกรุงโรมนั่นเอง คลอดิอุสซึ่งเป็นคนเล่าเรื่อง คือแม่พลอยโรมัน เพราะมีชีวิตสีแผ่นดิน ตั้งแต่จักรพรรดิออกัสตัส ทิเบอเรียส คาลิกูล่า จนมาถึงยุคที่คลอดิอุสขึ้นเป็นจักรพรรดิเสียเอง ที่น่าสนใจคือไม่มีใครในกรุงโรมคาดคิดว่าคลอดิอุสจะได้เป็นจักรพรรดิ คลอดิอุสคือหลานของออกัสตัส ตั้งแต่เกิดสูญเสียบิดา ตัวเองก็ติดโรคร้ายจนขาเสียไปข้าง หน้าตาอัปลักษณ์ไร้สง่าราศี แถมยังพูดติดอ่าง หลายคนคิดว่าเขาไม่เต็มบาท จริงๆ ถ้าไม่นับความพิการภายนอกแล้ว คลอดิอุสก็เหมือนคนปกติทุกอย่าง เจียมเนื้อเจียมตัวมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากแม่ ปู่ ย่า พี่สาว และญาติไม่รัก คลอดิอุสอุทิศชีวิตศึกษา และบันทึกประวัติศาสตร์ หนอนตำรา อย่างเขาถึงยิ่งกลายเป็นตัวตลกในสายตาคนอื่น


แต่เชื่อหรือไม่ เพราะความที่หลายคนชอบสบประมาทเขานั่นแหละ คลอดิอุสถึงได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งกรุงโรม ครั้งหนึ่งแม่นมเล่าความฝันให้ชายหนุ่มฟัง นางฝันว่าคลอดิอุสเป็นเด็กที่มีโจรบุกขึ้นบ้าน ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ และชิงทรัพย์สินไปทั้งหมด แต่เด็กน้อยหลบหนีมาอยู่บนต้นไม้ ต่อมาโจรกลุ่มนั้นรวมตัวกันใต้ต้นไม้เพื่อแบ่งสินค้า สุดท้ายก็ลงมีด ลงดาบ วางยาพิษฆ่ากันเองหมดสิ้น พอเด็กน้อยปีนลงมา ก็พบข้าวของในบ้าน รวมถึงแก้วแหวนเงินทองซึ่งโจรลักขโมยมาจากบ้านหลังอื่น

เพราะความที่คลอดิอุสเชื่อในความฝันของแม่นม ตลอดทั้งเล่มเขารู้รักษาตัวรอด ถึงแม้จะเป็นผู้เล่าเรื่อง เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับตัวเองน้อยมาก จะมีก็แต่สมัยคาลิกูล่า ที่เขาต้องปีนลงมาจากต้นไม้ แสดงฝีไม้ลายปาก ความสยอง โหด มันส์ ฮาของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การได้ชมฝูงโจรฆ่ากันเองนั่นแหละ

ขอย้ำว่าหนังสือเล่มนี้ทั้งสยอง โหด มันส์ และฮา จักรพรรดิพระองค์แรก ออกัสตัสหูเบา เชื่อฟังแต่พระชายา พระนางใส่ร้ายป้ายสี วางยาพิษ สังหารศัตรูทางการเมือง ส่งผลให้คนดีๆ ถูกเนรเทศ ฆ่าทิ้ง หรือจองจำ สมัยออกัสตัสว่าแย่แล้ว แต่มาเจอทิเบอเรียส ยังต้องชิดซ้าย ทิเบอเรียสหวาดระแวง เพราะรู้ตัวหลายคนไม่ชอบหน้า จึงออกกฎหมาย ใครก็ตามใส่ร้ายคนอื่นโทษฐานก่อกบฏ ถ้าความผิดถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริง จำเลยจะถูกประหาร และทรัพย์สินครึ่งหนึ่งยึดมามอบให้แก่โจทก์ และเนื่องจากออกัสตัสพร้อมจะเชื่อเสมอว่ามีคนคิดคดกับตัวเอง นักการเมืองถึงได้ใส่ร้ายกันเป็นว่าเล่น หัวขาด เลือดสาดกระจายไม่เว้นวัน

แต่ทิเบอเรียสกระจอกไปเลย พอเจอคาลิกูล่า สมัยเด็กๆ คาลิกูล่าเคยปราบปรามกบฏในค่ายทหาร อาศัยความซื่อบริสุทธิ์ของทารก แต่เพราะพ่อแม่ตามใจจนเสียเด็ก พอโตขึ้น คาลิกูล่าเริ่มออกแววทรราช วางแผนร้ายชิงบัลลังก์ทิเบอเรียส พอขึ้นเป็นจักรพรรดิ ชายหนุ่มป่วยหนัก ไข้ขึ้นสมอง ถึงรอดชีวิตมาได้ แต่สติไม่สมประกอบ คาลิกูล่าเชื่อว่าตัวเองเป็นเทพเจ้า ถึงกับสั่งให้ทหารประดิษฐ์เครื่องยิงหิน ซึ่งเปล่งเสียงเหมือนสายฟ้า (ตามตำนานจูปิเตอร์ใช้สายฟ้าเป็นอาวุธ) โยนทำร้ายผู้บริสุทธิ์เป็นว่าเล่น คาลิกูล่าฆ่าคนไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่คำนึงผลได้ผลเสียใดๆ ระหว่างกินข้าวอยู่ดีๆ หัวเราะเฮฮาคนเดียว พอมีคนมาถามว่าเรื่องอะไรตลกนักหนา ชายหนุ่มกระซิบใส่หู "ไม่ปล่อยก๊ากได้ยังไง แค่ข้าผงกหัวหน่อยเดียว ศีรษะพวกเจ้าทุกคนก็หลุดจากบ่าแล้ว"


ถึงวิธีการเล่าจะเหมือนเรื่องขำขัน แต่ "ผมชื่อคลอดิอุส" แอบแฝงคติสอนใจ คลอดิอุสเกลียดลิเวีย (พระชายาของออกัสตัส) และทิเบอเรียสจับใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะผู้ปกครอง ทั้งสองทำงานได้ในระดับหนึ่ง มีแค่คนใกล้ชิดร้อยสองร้อยเท่านั้นที่เดือดร้อนจากการใส่ร้าย วางยาของทั้งคู่ ขณะที่ชาวโรมนับหมื่น แสนยังอยู่เย็นเป็นสุขได้ ตอนที่คาลิกูล่าครองบัลลังก์ใหม่ๆ ประชาชนแซ้ซ้องสรรเสริญเพราะเด็กหนุ่มเป็นลูกชายที่หลงเหลืออยู่ของเจอมันนิคัส วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ (พี่ชายคลอดิอุส) หารู้ไม่ว่าคาลิกูล่านี่แหละ ตัวแสบสุดๆ ไม่มีทรราชคนใดเทียบเท่า

ประเด็นหนึ่งซึ่งอยากพูดถึงคือวิธีการเล่าเรื่องของเกรฟส์นั้นน่าสนใจ ใช้โวหารแบบ "exposition" (ไม่มีเป็นภาษาไทย พจนานุกรมเปลื้อง ณ นครบอกว่า exposition คือการพรรณนา แต่ใช่ที่ไหนเล่า) exposition เหมือนการเล่านิทาน เล่าโต้งๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีการบรรยายฉาก ไม่มีการพรรณนาความรู้สึก ไม่มีอุปมาเปรียบเทียบ (กระทั่งเมื่อผู้เป็นที่รักตายจาก คลอดิอุสเล่าเหตุการณ์ผ่านๆ เหมือนนักประวัติศาสตร์จดบันทึกเหตุการณ์) โวหารลักษณะนี้อ่านง่าย แต่ถ้าอ่านไปเรื่อยๆ น่าจะเอียน ไม่ชวนติดตาม กระนั้น "ผมชื่อคลอดิอุส" หนา 400 กว่าหน้า สนุกสนานตื่นเต้น ชวนให้วางไม่ลงตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลัง ต้องยกผลประโยชน์ให้ความน่าสนใจในการผูกเรื่องของเกรฟส์จริงๆ (กระนั้นยังนับว่ามหัศจรรย์อยู่ดี เพราะเนื้อเรื่องเอาเข้าจริงๆ ก็ซ้ำซาก ฆ่ากันไป ใส่ร้ายกันมา)