ขโมยขะมุกขะมัว


เราชอบบอกใครต่อใครว่าเราเป็นศิษย์รักของอาจารย์นิธิ เปล่า รักในที่นี้ไม่ใช่อาจารย์รักเราหรอกนะ อาจารย์ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรามีตัวตนอยู่ แต่เป็นเรารักอาจารย์ต่างหาก ติดตามงานเขียนของอาจารย์เป็นประจำ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง และเปลี่ยนแปลงของสังคม อาจารย์คือสุ้มเสียงแห่งเหตุและผลที่สังคมไทยควรจะเปิดหูให้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราถึงรู้สึกว่าบทความล่าสุดของอาจารย์ในหนังสือพิมพ์มติชน "ขโมยและขมายในทรัพย์สินทางปัญญา" ออกอาการ "ปล่อยไก่" ไปนิดในสายตาของเรา จึงอยากขอใช้พื้นที่ตรงนี้ถกอาจารย์ด้วยความเคารพ เผื่อเป็นประโยชน์ของใครต่อใครที่แวะเวียนเข้ามาอ่าน

แนะนำก่อนอื่นเลย ให้เข้าไปอ่านบทความเต็มๆ มาฟังที่เราเล่าถึงคร่าวๆ แบบนี้ ก็อาจเล่าผิดได้ด้วยอคติส่วนตัว อาจารย์นิธิวิจารณ์ระบบกฎหมายที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจ อันไม่เป็นธรรม ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว บทความนี้ให้เหตุผลห้าข้อด้วยกัน อธิบายความไม่เป็นธรรมของกฎหมายพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา

ปัญหาของบทความนี้คือถ้าการตีความของเราไม่ผิดพลาด อาจารย์นิธิเข้าใจว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นแตกต่างจากทรัพย์สินชนิดอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ควรถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายในลักษณะเดียวกัน อาจจะต่อไปด้วยว่าในทางศีลธรรมแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่เหมือนกับ "ทรัพย์" ในศีลข้อสอง ที่เราท่องๆ กันมาว่า "ห้ามลักทรัพย์" ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้ "ลัก" กันได้ ถ้านั่นคือสิ่งที่อาจารย์ และหลายคนเชื่อจริงๆ เราก็คงต้องลงท้าย "ตกลงใจที่จะไม่ตกลงกัน" (agree to disagree)

ต้องยอมรับว่าเรื่องกรรมสิทธินั้นเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างสาย ต่างโรงเรียน ถกเถียงกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้วว่า การถือครองกรรมสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นรถยนตร์ บ้าน สิ่งประดิษฐ์ นั้นช่วยพัฒนา หรือเหนี่ยวรั้งสังคมกันแน่ อย่างน้อยๆ ในปัจจุบันเราก็ยอมรับกัน (ไปก่อนชั่วคราว) ว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ แต่แน่นอนใช่ว่าจะไม่มีข้อถกเถียงในทางตรงกันข้ามเสียทีเดียว ห้าข้อที่อาจารย์นิธิยกมาก็คือข้อถกเถียงหยิบๆ ย่อยๆ ดังกล่าว (ซึ่งได้ตีตกกันไปในระดับหนึ่ง ว่ามันมีน้ำหนักรวมสู้ข้อถกเถียงจากฝากตรงข้ามไม่ได้)

ขอยกตัวอย่าง ข้อแรกที่อาจารย์บอกว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะถูกพัฒนาไปไกลกว่านี้ โดยผู้ใช้แต่ละคนจะได้มีสิทธิ ทั้งใช้และพัฒนาโปรแกรมให้ดียิ่งขึ้น โดยตัวมันเอง นี่คือเหตุผลที่ตลก ราวกับจะบอกว่าถ้าคนอ่านทุกคนมีสิทธิแต่งเสริมเติมเขียน คำพิพากษา สุดท้ายนิยายเรื่องนี้จะดีกว่าตอนที่คุณชาติ ตีพิมพ์มันออกมาอีก จะว่าไป นี่คือข้อถกเถียงคลาสสิกระหว่างนักคิดสายทุนนิยม และสังคมนิยม ถ้าบ้านหลังหนึ่งซื้อรถมา คนอื่นๆ ในหมู่บ้านควรมีสิทธิหยิบยืมรถคันนั้น ในวันที่เจ้าของจอดไว้เฉยๆ โดยไม่บอกกล่าวหรือเปล่า ถ้าเป็นนักคิดสายสังคมนิยมก็คงตอบว่าใช่ เพราะรถจะได้อำนวยประโยชน์แก่คนโดยรวมมากกว่า แต่ถ้าเป็นนักคิดสายทุนนิยม ก็จะเถียงกลับว่าถ้าทำแบบนั้น สุดท้ายแล้ว จะไม่มีใครยอมซื้อรถเลย เพราะรอหยิบยืมฟรีๆ จากเพื่อนบ้านคุ้มกว่า

เป็นข้อถกเถียงคลาสสิกซึ่งคุยกันมาเยอะแล้ว ไม่ขอเอามาอ้างซ้ำในบทความนี้ก็แล้วกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ตลกมากๆ คือ ข้อสี่ ที่อาจารย์บอกว่าการพิทักษ์กฎหมายลิขสิทธิ์นั้น ลงเอยที่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานชนิดอื่น แทน เช่นความเป็นส่วนตัว โดยอาจารย์ยกตัวอย่างว่าที่สหรัฐอเมริกา ใครที่ใช้โปรแกรมผิดกฎหมาย ตำรวจมีสิทธิบุกเข้าไปในบ้าน แล้วยึดคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นได้ทันที อาจจะฟังดูรุนแรง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นรถเล่า เหมือนกับบอกว่า ถ้าตำรวจเจอรถคันหนึ่งซึ่งตรวจสอบป้ายทะเบียนแล้วพบว่าเป็นรถที่ขโมยมาจริง ตำรวจสมควรจะไปเคาะประตู บอกเจ้าของบ้านดีๆ ว่ารถคันนี้ขโมยมานะ แทนที่จะทำการจับกุม หรือดำเนินการตามกฎหมายทางใดทางหนึ่ง

จุดสำคัญที่ทำให้เราเกิดอาการคันเมื่อได้อ่านบทความนี้คือ การที่อาจารย์ตอกย้ำตลอดเวลาว่ากฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือของ "มหาอำนาจ" ซึ่งเป็นการใช้ภาษาสัญลักษณ์ โบ้ยให้หมดว่าใครที่อยู่ในอำนาจ จะต้องเป็นคนไม่ดี และใช้อำนาจเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ ความจริงก็คือ ถ้าคนไทยไม่สามารถสร้างทรัพย์สินทางปัญญา สู้กับ "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" ได้ เปล่าดายที่จะไปอ้างเหตุผลทำสิ่งผิดให้เป็นสิ่งถูก

J. Conrad's "The Secret Agent"


เคยอ่านคู่มือสอนเขียนนิยาย เขาบอกว่า แก่นเรื่องแท้ๆ ของ Hamlet คือผู้ชายที่กลายเป็นบ้าเพราะเชื่อว่าแม่ของตัวแต่งงานใหม่กับคนที่ฆ่าพ่อ ส่วนเรื่องที่ว่าแฮมเลตจะเจอผีพ่อหรือเปล่า ตอนจบฟันดาบกับพี่ชายของคนรักที่ฆ่าตัวตายไหม เป็นเพียงกระพี้เรื่องเท่านั้น จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ หรือจะแตกต่างไปจากนี้ก็ได้เช่นกัน ซึ่งตอนนั้นเรายอมรับว่าอ่านแล้วก็งงๆ แก่นเรื่องกับกระพี้เรื่องนี่มันต่างกันตรงไหน ถ้าเป็นผีพ่อมาบอกแฮตเลตว่าตัวเองถูกน้องชายฆ่า จะถือว่าตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระพี้ แต่ไม่ใช่แก่นเรื่องได้อย่างไร

ได้อ่าน The Secret Agent ก็เหมือนจะเข้าใจขึ้นมานิดหนึ่งแฮะ ว่าแก่นเรื่องมันแตกต่างจากกระพี้เรื่องตรงไหน เราชอบแก่นนิยายเล่มนี้ เวอลอคเป็นสายลับคอมมิวนิสต์ที่อาศัยอยู่ในลอนดอน เขาได้รับมอบหมายให้วางระเบิดหอดูดาวเพื่อก่อความวุ่นวาย เวอลอคสละชีวิตน้องชายของภรรยาที่เขาแต่งงานเพื่อเป็นหน้าฉาก และสุดท้ายก็ต้องรับผลกรรมที่ตัวเองก่อขึ้นมา แก่นเรื่องตรงนี้สนุกมาก แต่ไอ้กระพี้ ไอ้วิธีที่คอนราดใช้ในการเล่านี่สิ The Secret Agent เต็มไปด้วยฉากและตัวละครที่ไม่จำเป็น อยู่ดีๆ ตรงกลางเรื่องเวอลอคก็หายตัวไปเฉยๆ ผู้เขียนมุ่งเป้าไปที่ตัวประกอบย่อยๆ แทน หรือการเล่าเรื่องกลับไปกลับมา พูดถึงไคลแมก ก่อนจะย้อนไปหาส่วนที่ค่อยๆ สร้างไคลแมกนั้น ก็ทำให้เรื่องอ่อนลงอย่างน่าเสียดาย

ใช่ว่าเราจะไม่เข้าใจคอนราดเสียทีเดียว การที่มีตัวประกอบหลากหลาย ก็ช่วยให้เราได้เห็นปรัชญาคอมมิวนิสต์ การปฏิวัติ การก่อการร้าย และอนาธิปไตยในแบบต่างๆ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะคุ้นเคย และเคยได้ยินมาก่อนแล้วก็ตาม คนอ่านต้องตระหนักด้วยว่า The Secret Agent ถูกเขียนขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยนั้นยังไม่มีสหภาพโซเวียตเลยด้วยซ้ำ และถ้าไม่ฮาร์ดคอร์จริงๆ จะสักกี่คนที่เคยได้ยินชื่อมาร์ก ถ้าอ่านตามกาลของมันแล้วก็ต้องยอมรับว่า The Secret Agent มีความล้ำหน้า น่าสนใจอยู่เหมือนกัน อย่างตัวละคร "ศาสตราจารย์" เป็นนักสร้างระเบิด ที่ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน ก็จะเอานิ้วชี้ข้างหนึ่งแปะอยู่บนสลักกลไก เผื่อว่าตำรวจมุ่งเข้ามาจับตัวเขาเมื่อไหร่ จะได้ระเบิดตัวเองตายตามไปด้วย ตัวละครตัวนี้ดูท่าจะเป็น "ป๋า" ของนักวางระเบิดเท่ห์ๆ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายสิบเรื่องที่เราเคยเห็นๆ กัน

จุดหนึ่งซึ่งน่าขบคิดคือ การก่อการร้ายในนิยายเรื่องนี้จะมีเหยื่อโดยตรงแค่คนเดียว คือนักวางระเบิด ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เดินผ่านไปมา อย่างมากก็แค่หวาดผวา หรือตกใจ ซึ่งขี้ๆ เลยเมื่อเทียบกับการก่อการร้ายในปัจจุบัน แสดงให้เห็นเลยว่าโลกทุกวันนี้มันโหดร้ายกว่าเมื่อศตวรรษที่แล้วชนิดคนละขุม

นิยายที่โด่งดังสุดของคอนราด ยังไงเสียก็คือ Heart of Darkness ซึ่งไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี ก็ยังเป็นหนังสือมาตรฐานสำหรับการอ่าน วิเคราะห์ลัทธิล่าอาณานิคม ขนาดตัวลัทธิมันล้าสมัยไปแล้ว นิยายเล่มนี้ก็ยังทันสมัยอยู่เสมอ ด้วยการเอาไปประยุกต์ใช้กับบริบทอื่นๆ กับนักเขียนคนเดียวกัน เปรียบเทียบระหว่างนิยายที่โด่งดัง และผลงานที่แทบไม่มีใครรู้จัก เห็นได้ชัดเลยว่าของดีกว่ามันล้ำสมัย ไม่เคยเก่าเลยจริงๆ

E. Larson's "The Devil in the White City"


เกือบสิบปีได้แล้วมั้ง จากวันที่เรา และผู้กำกับอ่าน The Unbearable Lightness of Being เป็นครั้งแรก ตอนนั้นผู้กำกับพูดประโยคหนึ่งซึ่งโดนใจเราเด็ดๆ คือ กุนเดระถุยน้ำลายรดกฎการเขียนหนังสือข้อแรกคือ "show not tell" หรือจงแสดงให้เห็น อย่าบอกอะไรคนอ่านโต้งๆ แต่สไตล์การเขียนของกุนเดระคือ "tell and to hell with show" คือไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อม อยากบอกอะไรคนอ่าน อยากโพทนาปรัชญาอะไร ก็ทำไปได้เลยตามสะดวก ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่หนังสือทุกเล่ม หรือนักเขียนทุกคนจะทำแบบกุนเดระได้ แต่มันก็ปลูกฝังนิสัยบางอย่างให้กับเราคือ เราชอบอ่านปรัชญาโต้งๆ ในนิยาย (ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมเยอรมันถึงติดตรึงใจเรามากกว่าของฝรั่งเศส อเมริกา หรือชาติยุโรปอื่นๆ ยกเว้นอังกฤษ)

เพราะฉะนั้นเลยพูดต่อไปด้วยว่า The Devil in the White City เป็นหนังสือแบบที่ไม่เข้าทางเรามากๆ นี่ไม่ใช่นิยาย เป็นกึ่งสารคดี กึ่งประวัติศาสตร์ ว่าด้วย World's Fair ซึ่งจัดในชิคาโกช่วงรอยต่อศตวรรษที่แล้ว ลาร์สันเล่าถึงความพยายามของสถาปนิก และวิศวกรในการสร้าง "เมืองสีขาว" อันเป็นสถานที่จัด World's Fair รวมไปถึงชะตากรรม และจุดสิ้นสุดของงาน ขณะเดียวกันก็เอาเรื่องราวดังกล่าวไปสอดคล้องกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องน่าสยดสยองโดยโฮล์มส์ พ่อม่ายดำที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับเมืองสีขาว โฮล์มส์หลอกล่อผู้หญิงร่ำรวย เมื่อหมดประโยชน์ก็กำจัดพวกหล่อนทิ้งด้วยห้องแก๊สกลไกในโรงแรมของเขา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเพรนเดอกาส ผู้ชายสติไม่ดีที่สังหารนายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก ช่วงเวลาเดียวกับ World's Fair

The Devil in the White City เป็นหนังสือที่จริงๆ แล้วมีเรื่องให้ขบคิดมากมาย ตั้งแต่ความพยายามของเหล่าสถาปนิกในการบันดาลความฝัน (ประเด็นนี้ชวนให้นึกถึง The Fountainhead) วาทกรรมซึ่งอยู่เบื้องหลังการจัดงาน ความพยายามของประเทศอเมริกาในการเอาชนะ World's Fair ซึ่งจัดในฝรั่งเศสก่อนหน้านี้ สิ่งก่อสร้างศูนย์กลางของเมืองสีขาวคือชิงช้าสวรรค์ ซึ่งตั้งใจจะเอาไปชนกับหอไอเฟลโดยเฉพาะ ลาร์สันเล่าว่าสมัยนั้นชาวอเมริกันตื่นตาตื่นใจกับไอ้ชิงช้าสวรรค์นี้เป็นนักหนา เรามองย้อนกลับไปแล้วก็อดขำไม่ได้ เพราะเห็นๆ กันอยู่ว่าหอไอเฟลเจ๊งกว่า (และมีประโยชน์) ไอ้ชิงช้าสวรรค์อะไรนี่ตั้งเท่าไหร่

ก่อนสงครามโลก อเมริกายังไม่ใช่เจ้าโลก ความภาคภูมิใจในชิงช้าสวรรค์ ส่วนหนึ่งก็คงมาจากลัทธิชาตินิยมนั่นเอง โดยคนอเมริกาต้องแข่งขัน เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประเทศในยุโรปซึ่งเจริญกว่า พูดถึงตรงนี้ แล้วก็อดมองสังคมไทยไม่ได้ ระยะหลังนี้เหมือนคนไทย และสังคมไทยต้องปะทะกันทางค่านิยม และความคิดกับฝรั่ง และชาวต่างชาติ (ถ้าฟังสัมภาษณ์ น้องอุ้ม และคุณปรัชญากรณีเมืองคานส์ ก็จะได้ยินคาถานี้พูดซ้ำไปซ้ำมาว่าฝรั่งคิดไม่เหมือนคนไทย ฝรั่งมองไม่เหมือนคนไทย) เราจะเห็นอาการมือถือสากปากถือศีลบางอย่างของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา กล่าวคือใจหนึ่งกระเหี้ยนกระหือรืออยากได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่พอฝรั่งมาติติงอะไรหน่อย (กรณีบทความวิเคราะห์การเมืองในนิตยสารต่างชาติ) ก็จะโวยวายหาว่าฝรั่งไม่เข้าใจคนไทย ค่านิยมไทยนี่แหละเจ๋งที่สุดในโลกาแล้ว ไม่เห็นต้องไปฟังคนอื่นเลย

I. Murdoch's "The Philosopher's Pupil"


รู้สึกดีใจอย่างไรก็ไม่รู้ที่ได้อ่าน The Philosopher's Pupil แน่นอนว่าส่วนหนึ่งจะได้จบๆ ไปเสียทีกับนิยาย 26 เล่มของไอริช เมอดอช (เรากล้าท้าเลยว่าเราเป็นคนไทยคนแรกที่อ่านนิยายของเมอดอชครบทุกเล่ม) แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะนี่เป็นนิยายที่ห่วยมาก เราอ่านนิยายห่วยๆ ของเมอดอชมาก็ไม่น้อย ให้นับจริงๆ อาจจะสักสี่ ถึงห้าเล่มได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วความห่วยของนิยายเหล่านั้นเกิดจากการที่เดมเล่นอะไรแผลงๆ ทดลองอะไรแปลกๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เรียกแบบวิชาการหน่อยๆ ว่าความห่วยแบบ Active (คือห่วยเพราะทำอะไรบางอย่าง) The Philosopher's Pupil น่าสนใจตรงมันห่วยแบบ Passive คือเดมที่เขียนหนังสืออย่างที่แกเขียนมายี่สิบกว่าเล่มนั่นแหละ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง มันก็สามารถออกมาห่วยได้เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงถือว่าการมานั่งวิเคราะห์ The Philosopher's Pupil จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเรามากๆ

The Philosopher's Pupil ก็ยังคงเป็นนิยายตัวละครเยอะตามสูตร แต่เห็นเลยว่าขณะที่เรื่องอื่นๆ เมอดอชจับตัวละครมาผสมผสานกัน แล้วเกิดปฏิกิริยาปุ้งป้าง ใน The Philosopher's Pupil เห็นแต่ฟองฟู่ๆ ซ่าๆ ไม่เกิดแมวอะไรขึ้นมาเลยสักอย่าง ส่วนหนึ่งก็ต้องยกความผิดให้โรซานอฟไปเต็มๆ โรซานอฟคือนักปรัชญาในชื่อนิยาย เป็นตัวละครที่เมอดอชมากๆ ฉลาดกว่าคนอื่น มีนิสัยเพี้ยนๆ และเป็นศูนย์กลางที่ขับเรื่องให้เดินไปไหนต่อไหน แต่เทียบกับตัวละครประเภทนี้ในนิยายเล่มอื่นแล้ว โรซานอฟจืดมากๆ ไม่ได้มีเสน่ห์ หรืออำนาจดึงดูดตัวละคร และความสนใจผู้อ่านขนาดนั้น

ลูกศิษย์ในชื่อนิยายคือจอร์จ เปิดเรื่องมาจอร์จพยายามฆ่าเมียตัวเองด้วยการขับรถพุ่งออกนอกสะพาน แต่ไปๆ มาๆ อุบัติเหตุนี้ไม่ได้เดิน หรือขับเรื่องไปในทิศทางใด นอกจากให้คนอ่านรู้ว่าจอร์จดึงดูดสายตา และคำนินทาจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในเอนนิงตัน เรื่องมาเริ่มเอาจริงๆ ตอนที่โรซานอฟ ซึ่งมีพื้นเพเดิมเป็นชาวเอนนิงตัน กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี พร้อมทั้งนำหลานสาวมาด้วยอีกคน และตามสไตล์เมอดอชตัวละครตกหลุมรัก รังเกียจ วางแผน และหักหลังซึ่งกันและกัน

นอกจาดโรซานอฟ จอร์จเป็นตัวละครที่น่าผิดหวังอีกตัว ตัวละครนิสัยน่ารังเกียจ และมีอดีตแบบนี้ ก็เป็นปรกติอยู่แล้วในนิยายของเมอดอช เดมพยายามบิวด์ว่าโรซานอฟ และจอร์จมีอดีตบางอย่างร่วมกัน จนทำให้ทุกวันนี้จอร์จผู้ไม่เคยสนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร พยายามเข้าหาโรซานอฟ ซึ่งแสดงท่าทีรังเกียจอดีตลูกศิษย์คนนี้อย่างออกนอกหน้า และผิดธรรมชาติ แต่เนื่องจากเมอดอชไม่ยอมหงายไพ่ เผยอดีตตรงนี้ออกมาเสียที สักพักคนอ่านก็หมดความสนใจแล้ว

และนี่ก็นำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง แม้ว่าโดยทั่วไปนิยายของเมอดอชจะตัวละครเยอะ และตัวเอกก็เยอะ (คือเล่าเรื่องจากหลายมุมมอง) แต่ใน The Philosopher's Pupil นี้ ผู้เขียนเลือกมุมมองในการเล่าผิดมากๆ วนสับเปลี่ยนไปมาระหว่างจอร์จ และไบรอัน กับทอม พี่น้องอีกสองคน รวมไปถึงภรรยาของไบรอัน แม่ของสามพี่น้อง โรซานอฟ หลานสาวของโรซานอฟ เบอร์นาร์ด ผู้เป็นนักบวชประจำเมือง และตัวประกอบรายย่อยอีกสองสามตัว การที่มีมุมมองมากเกินไป และไม่อาจสร้างความเป็นหนึ่งเดียวขึ้นมาได้ ทำให้ The Philosopher's Pupil เป็นนิยายที่หลงทิศ สะเปะสะปะ

สักวันหนึ่งเมื่อเราเริ่มอ่านนิยายของเมอดอชเป็นรอบที่สอง เราคงหวนนึกถึง The Philosopher's Pupil บ่อยๆ ครั้ง นี่จะกลายเป็นมาตรฐานให้เราเปรียบเทียบว่า อะไรที่เมอดอชทำถูกในนิยายเล่มอื่น และทำผิดในนิยายเล่มนี้ บางครั้งเราก็เรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวได้มากเสียยิ่งกว่าความสำเร็จด้วยซ้ำ

M. Atwood's "The Blind Assassin"


โดยเนื้อแท้ของมันแล้ว The Blind Assassin เหมือนกับ Surfacing และ The Handmaid's Tale นิยายสองเล่มก่อนของแอตวูดที่เราเคยอ่านมาก ถึงแม้มันจะมีการเล่าเรื่องที่ทะเยอทะยานกว่า ยาวกว่า แต่สุดท้าย ก็ยังคงเป็นนิยายของผู้หญิงที่ถูกผู้ชายรังแก ไอริช และลอรา เป็นสองพี่น้อง ลูกสาวเจ้าของโรงงาน และธุรกิจขายกระดุม ระหว่างสงครามโลก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ พ่อของไอริช ทำสัญญายกลูกสาวให้กับริชาร์ด เจ้าของบริษัทคู่แข่ง ชีวิตของไอริช ลอรา ริชาร์ด และพี่สาว คือวินนิเฟรด พัวพันกัน เต็มไปด้วยการทำลายล้าง โกหก เจ็บปวด และแก้แค้น

ตัวละครสำคัญอีกตัวคืออเลก เป็นหนุ่มหัวก้าวหน้าที่รู้จักกับไอริช และลอรา ตั้งแต่ทั้งสองยังเป็นเด็ก เขาเข้าร่วมรบในสงครามปลดปล่อยสเปน และต่อมาก็สงครามโลกครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างอเลก และสองพี่น้องคลุมเครือตลอตทั้งนิยาย โดยความสัมพันธ์ตรงนี้ถูกนำเสนอผ่านนิยายเล่มหนึ่ง The Blind Assassin ที่ลอราเขียนขึ้นมา ว่าด้วยหญิงสาวนิรนามที่แอบไปลอบรักกับชายหนุ่มหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง ซึ่งดูไม่ค่อยแตกต่างจากอเลกสักเท่าใดนัก

อย่างที่บอกว่า The Blind Assassin (ของแอตวูด) เป็นนิยายที่เล่าเรื่องได้ทะเยอทะยานมากๆ โดย "มือสังหารตาบอด" ที่กลาวถึงในชื่อนิยาย มาจากนิยายที่ซ้อนอยู่ในนิยาย ซึ่งซ้อนอยู่ในนิยายอีกชั้น โดยชายหนุ่มใน The Blind Assassin (ของลอรา) นอกจากจะเป็นนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์แล้ว ยังหารายได้เสริมโดยเขียนนิยายวิทยาศาสตร์สิบสตางค์ เรื่องของมนุษย์กิ้งก่าทำลายล้างโลก วีรบุรุษนักรบ และหญิงสาวพรมจรรย์ เมื่ออยู่ด้วยกันสองต่อสองกับหญิงคนรัก เขาเล่านิยายในเธอฟัง เกี่ยวกับความรักระหว่างมือสังหารตาบอด และหญิงสาวที่ถูกตัดลิ้น ก่อนโดนจับส่งเข้าพิธีบูชายัญ

เป้าหมายของแอตวูด คือต้องการให้เรื่องราวของนักเขียนนิยายไซไฟ หญิงนิรนาม มือสังหารตาบอด และหญิงสาวใบ้ ผสานเข้ากับวังวนชีวิตของลอรา ไอริช อเลก ริชาร์ด และวินนิเฟรด โดยโครงใหญ่ที่เชื่อมต่อเรื่องเหล่านี้คือการเล่าย้อนหลังโดยไอริช เมื่อหล่อนเป็นหญิงชราอายุ 80 กว่า ซึ่งพอถึงตอนนั้นทั้งลอรา ริชาร์ด รวมถึงเอมี ลูกสาวของหล่อนก็เสียชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว โดยผิวเผิน The Blind Assassin เหมือนจะเป็นนิยายที่ไม่น่าจะอ่านรู้เรื่องได้ แต่เอาเข้าจริง กลับรู้เรื่องได้ไม่ยาก แถมพอใกล้ๆ จบแอตวูดก็มาเฉลยทุกอย่าง แทนที่จะปล่อยให้คนอ่านเก็บไปคิดเองบ้าง

แม้จะมีการเล่าเรื่องที่หวือหวา แต่ The Blind Assassin ไม่ใช่นิยายยุคหลังสมัยใหม่เหมือน The Inheritance of Loss ส่วนตัวเรารู้สึกว่านิยายเล่มนี้น่าจะเล่นกับความกำกวม อำนาจของภาษา เส้นบางๆ ระหว่างโลกของนิยาย และโลกแห่งความจริงได้มากกว่านี้ (ทั้งที่จากนิยายเล่มก่อนๆ ของแอตวูด ดูเธอชอบเล่นกับความกำกวมอยู่ไม่น้อย) อีกข้อติหนึ่งคือพอถึงตอนจบ เหมือนกับผู้เขียนผูกปมได้ไม่ดีเท่าที่ควร เอมีเป็นเหยื่อ เป็นตัวละครสำคัญที่ไม่ได้รับความสนใจนัก ทั้งแอตวูด และลอราให้พื้นที่มากมายกับตัวละครอย่างอเลก ในขณะที่ริชาร์ด ซึ่งมีความสำคัญกับเนื้อเรื่องกว่า ดูลอยๆ อยู่เบื้องหลังยังไงไม่รู้ (ทั้งแอตวูด และไอริชแก้ตัวเรื่องนี้แบบขำๆ )

ถ้าเทียบข้อติเล็กน้อยเหล่านี้กับความสำเร็จของมันแล้ว The Blind Assassin ก็สมกับคำชื่นชม และรางวัลอะไรต่อมิอะไรที่มันได้รับจริงๆ

A. Rand's "Return of the Primitive"


ตอนที่เขียนถึง Deep Water ได้กล่าวไปแล้วว่าเราไม่ชอบคนอย่างเมดตาเท่าไหร่ แต่ก็รู้สึกว่าหล่อนจำเป็นกับสังคม เป็นพลังแห่งความสุดโต่งที่จะคอยยั้งๆ สังคม ไม่ให้ไหลไปในทางเดียว ในแง่นี้แล้วแรนด์ก็คงเหมือนกัน แต่เป็นความสุดโต่งในอีกทาง ใจจริงเราชอบแรนด์มากกว่า เธอเป็นนักปรัชญาที่ออกมาปกป้องลัทธิทุนนิยมผู้เขียน Fountainhead เจ้าของปรัชญา Objectivism ซึ่งบอกว่า โลกเรามีอุดมคติซึ่งจรรโลกสังคมได้อยู่จริง โดยอุดมคติดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากเหตุและผล แต่ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ถ้าไม่ยึดติดกับอุดมคติที่ผิด (คือไม่มีเหตุไม่มีผล) ก็ปฏิเสธอุดมคติต่างๆ โดยสิ้นเชิง

เสียดายว่า Return of the Primitive ไม่ใช่หนังสือเล่มสำคัญของเธอ มันแค่รวบรวมบทความที่แรนด์เขียนไว้ต่างกรรมต่างวาระ เอามาจัดอยู่ภายใต้หัวข้อต่างๆ บทความสำคัญ ซึ่งสรุปรวบยอดแนวคิดทั้งหมดคือ The Age of Envy โดยเธอพูดถึงสภาพสังคมยุคใหม่ที่ผู้คนรังเกียจคนที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวย สวยงาม และชาญฉลาด ปัญหาของความอิจฉาไม่ใช่เพียงว่า มันไปขัดขวางปัจเจกบางคน ไม่ให้ก้าวต่อไปข้างหน้าเท่านั้น แต่มันยังเป็นการทำลายอุดมคติ และปรัชญาแห่งเหตุและผล เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมอิจฉาคนร่ำรวย เราก็เลยพลอยรังเกียจความร่ำรวยไปด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ความร่ำรวยเป็นอุดมคติที่สร้างอยู่บนหลักเหตุและผล

สุดโต่งไปไหม ขนาดเรายังว่าสุดโต่งไปเลย แรนด์เขียนบทความเหล่านี้ ช่วงปี 1960 ซึ่งเป็นยุคฮิปปี้ในอเมริกา หนุ่มสาวก่อกบฏ สร้างค่านิยมใหม่ๆ และปฏิเสธความเชื่อของผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันสงครามเย็นกับโซเวียตยังไม่จบสิ้น นักวิชาการอเมริกันหลายคนก็ยังพูดถึงข้อดีข้อเสียของระบบคอมมิวนิสต์ และสังคมนิยม ในสภาพดังกล่าว ก็น่าจะพอเข้าใจความสุดโต่งของแรนด์ได้ Objectivism เหมือนเกราะกันภัย จากความไร้เหตุผลที่คอยทะลวงทะลุสังคมอเมริกันอยู่ในขณะนั้น

หากให้แรนด์ร่างปรัชญา Objectivism ขึ้นมาใหม่ในตอนนี้ เธอจะมองมันต่างไปจากเดิมไหม เราเชื่อว่าต่างนะ ปัจจุบันทุนนิยมคือสัจธรรมทางสังคม เป็นสัจธรรมที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ และจุดด่างพร้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่อาจหนีมันพ้น เกราะกันภัยของแรนด์อาจกลายมาเป็นน้ำหนักหน่วงอันเทอะทะ สร้างความเกะกะ ทำให้เราไม่อาจอุดช่องโหว่เหล่านั้นได้

คนอย่างเมดตาเราคงไม่เสียเวลาไปถกเถียงด้วยหรอก ต้องเป็นคนที่่ยืนอยู่ฝั่งเดียวกันกับเราอย่างแรนด์เท่านั้น ถึงจะมองออกว่าความแตกต่างระหว่างเรา และเธอคือเรื่องไหนกันแน่ เราไม่เชื่อใน Objectivism บัลลังก์แห่งอุดมคติอันสวยหรู ต่อให้มันสร้างอยู่บนปราสาทของเหตุและผลก็ตาม เราเชื่อว่าอนาธิปไตยในปรัชญานำไปสู่สังคมที่สงบสุข แต่ปรัชญาซึ่งชี้ถูกผิดอย่างชัดแจ้งต่างหากนำไปสู่สังคมอนาธิปไตย

ถึงอย่างไร โลกนี้ก็ขาดคนอย่างเมดตา และโดยเฉพาะแรนด์ไปไม่ได้ มีคำถามหนึ่งซึ่งอยู่ใน The Age of Envy ที่เราชอบมากๆ ถ้าให้เลือกระหว่างสองระบบ ระบบแรกจ่ายเงินเดือนให้ทุกคนน้อยบ้าง มากบ้างต่างกันไป ขณะที่ระบบหลังจ่ายให้อย่างเท่าเทียม แต่เท่ากับเงินเดือนที่น้อยที่สุดของคนในระบบแรก เราจะเลือกอย่างไหน คำถามนี้บ่งบอกอะไรในสังคม (หรือตัวบุคคล) ที่เลือกอย่างแรก และเลือกอย่างหลัง

รัตนโกสินทร์ (ว. วินิจฉัยกุล)


รัตนโกสินทร์ เป็นนิยายที่อ่านได้มากกว่าหนึ่งแบบ และคงไม่ใช่แบบเดียวกันที่ถูกใจใครเขาทั้งเมือง ถ้าถามเรา การอ่านแบบที่เราชอบสุด คืออ่านแบบอ่านนิยายประวัติศาสตร์ ดูโครงสร้างทางสังคมในสมัยต้นรัตโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1 ถึง 3) ซึ่งเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และชนชั้นวรรณะ ฉากในนิยายเรื่องนี้ถือว่าประหลาดใช้ได้ ช่วงรัชกาลต้นๆ หลังสร้างกรุงดูสงบราบเรียบ ศัตรูเก่าอย่างพม่าก็มัวแต่ไปรบรากับศัตรูใหม่อย่างฝรั่ง ซึ่งก็ยังไม่มาบุกรุกบ้านเราอย่างเต็มตัว ตรงนี้ก็เลยดลให้ ฟัก ตัวเอกของนิยาย ไม่ใช่นักรบเหมือนในนิยายย้อนยุคเรื่องอื่นๆ ถึงจะพอมีฝีไม้ลายมือติดตัว และได้ออกรบกับเขา "ตั้ง" หนึ่งที แต่ก็ต้องถือว่าขุนนางฝ่ายบุ๋น มากกว่าบู๊

พูดมาแบบนี้ ใช่ว่า รัตนโกสินทร์ จะปราศจากความขัดแย้ง แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างค่านิยมยุคเก่าในสมัยของนิยาย และค่านิยมยุคใหม่ของ ว. วินิจฉัยกุล และผู้อ่าน สิ่งที่ท่านต้องการ "สอน" คือชาติกำเนิดและชาติตระกูลเป็นรองสองมือที่สร้างตัว ตรงนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะมันช่างขัดแย้งกับบรรยากาศโดยรวมของนิยาย ถ้าให้เทียบ รัตนโกสินทร์ กับ รากนครา ซึ่งเป็นนิยายไทยอิงประวัติศาสตร์เรื่องสุดท้ายที่เราอ่าน เรื่องหลังจะมีความเป็นโลกาภิวัฒน์สูงกว่า เนื่องจากเหตุการณ์เกิดในช่วงรัชกาลที่ 5 อันเป็นยุคที่ประเทศไทยพยายามก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ ในทางตรงกันข้าม รัตนโกสินทร์ เกิดในช่วงรัชกาลต้นๆ ซึ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงกว่า

ในเมื่อท่านปูทางไว้อย่างแน่นหนาถึงความสลักสำคัญของชนชั้น จึงเปิ่นแปลกอยู่ไม่น้อยที่อยู่ดีๆ จะมีตัวละครอย่างคู่พระคู่นาง (และคนรอบข้าง) ซึ่งทำอะไรหลุดกรอบประเพณี เช่นแต่งงานข้ามฐานันดรศักดิ์ ในทางกลับกัน ถ้าพระเอก นางเอกปล่อยให้ผู้ใหญ่คลุมถุงชน ก็คงไม่ใช่นิยายไทยกระมัง (ด้วยเหตุนี้แล้ว เราถึงชอบตัวละครอย่าง ช้อง ดูเธอจะเป็นผู้หญิงมักใหญ่ใฝ่สูงที่เข้ากับสภาพสังคมในสมัยนั้นได้) อีกประเด็นซึ่งผู้เขียนต้องการ "สอน" คือผู้ชายสมควรมีภรรยาคนเดียว ซึ่งก็ค่อนข้างหลุดจากขนบในสมัยนั้น และก็อีกเช่นกัน นิยายผู้หญิงประสาอะไรจะยอมให้พระเอกมีภรรยามากกว่าคนหนึ่งเล่า

แต่อาจจะเพราะความแหกคอกตรงนี้ก็ได้ นิยายเรื่องนี้ถึงได้อ่านสนุก ถ้าตัวละครไหลลื่นไปกับฉาก ไปกับคนรอบข้างเสียทั้งหมด จะมีอะไรให้ลุ้น จริงไหม

โดยรวมก็ถือว่าชอบ รัตนโกสินทร์ อยู่ไม่น้อย ชอบความเรื่อยๆ บรรยากาศเปื่อยๆ ในฐานะนิยายประวัติศาสตร์ ถ้าจะติก็ตรงที่มันไม่ค่อยจะมีฟันนัก ประเด็นพุทธศาสนานิกายใหม่ หรืออะไรจำพวกนี้ น่าจะเอามาเล่นได้อีกเยอะ ที่แอบติดตลกคือ ผู้ร้ายในนิยายไทยเป็นเหมือนแม่เหล็กที่มักดึงดูดเข้าหากัน ตัวร้ายที่ผ่านเข้าออกชีวิตตัวเอกต่างกรรมต่างวาระ สุดท้ายจะต้องมาบรรจบ รวมหัวเป็นพรรคเป็นพวกเดียวกันไปเสียหมด

F. S. Fitzgerald's "This Side of Paradise"


ว่ากันว่า ทุกคนมีสเป็กผู้หญิง ผู้ชายที่ชอบ แต่สำหรับใครที่เรารักจริงๆ เรื่องสเป็กนี้ลืมไปได้เลย ไม่รู้จริงหรือเปล่า เพราะเพื่อนเราบางคน เวลามีแฟนทีไร ส่วนใหญ่ก็จะไม่ไกลจากกันมาก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งแฟนแต่ละคน แทบจะหาคุณสมบัติคาบเกี่ยวกันไม่เจอเลย เราว่าเราจัดอยู่ในประเภทหลัง อามอรี เบลน ตัวเอกของ This Side of Paradise ก็คงเช่นเดียวกัน

ตลอดนิยายเล่มนี้อามอรีมีคนรักสี่คน คนแรกสุดคืออิซาเบล เป็นความรักที่พัพพีเลิฟสุดๆ และไม่ใช่พัพพีเลิฟธรรมดา เพราะฝ่ายชายเป็นถึงนักเรียนปีหนึ่ง มหาวิทยาลัยที่ "ไฮโซ" ที่สุดในอเมริกาอย่างพรินซ์ตัน และฝ่ายหญิงเป็นลูกสาวเศรษฐี ความรักระหว่างอิซาเบล และอามอรี เต็มไปด้วยความผิวเผิน และการแสดงออกตามมารยาท จนบางครั้งดูเหมือนต่างฝ่ายต่างเล่นบทบาท อย่างที่สังคมภายนอกคาดหวังให้พวกเขาเล่น ความรักแบบนี้คือตัวแทนยุคสมัยแห่งแจ๊ส

คนรักคนที่สองคือเซเลีย เป็นแม่ม่าย ลูกติดสองคน เซเลียเป็นผู้หญิงฉลาด ถึงจะไม่มีการศึกษาเป็นชิ้นเป็นอัน เช่นเดียวกับผู้หญิงส่วนใหญ่ในสมัยนั้น แต่ด้วยประสบการณ์ชีวิต ขนาดนักเรียนพรินซ์ตันปีสี่ยังอดไม่ได้จะหลงเธอหัวปักหัวปำ เซเลียคือสัญลักษณ์ของการเติบโต ณ ช่วงหนึ่งของชีวิตชายหนุ่ม จะถูกดึงดูดด้วยสติปัญญา ด้วยผู้หญิงที่อายุมากกว่า อามอรีขอหล่อนแต่งงาน และถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่เขาไม่เข้าใจ เซเลียเป็นตัวแทนโลกของผู้ใหญ่ ที่อยู่ไกลเกินความเข้าใจของนักเรียนปีสี่พรินซ์ตัน

คนรักคนที่สามคือโรซาลิน เป็นรักแท้ที่สร้างบาดแผลชั่วนิรันดรให้กับอามอรี โรซาลินเป็นผู้หญิงเห็นแก่ตัว ที่ชอบหลอกใช้ผู้ชาย แต่สุดท้ายก็มาตกหลุมรักอามอรี ซึ่งอามอรีเองก็รักเธอเช่นกัน แต่เนื่องมาจากตอนนั้นสถานภาพการเงินของเขาไม่ดีเช่นแต่ก่อน สุดท้าย โรซาลินก็ต้องไปแต่งงานกับเศรษฐีที่มาพัวพันด้วย ชายหนุ่มทุกคนจะต้องมีความรักแบบนี้ รักที่มีเพื่อให้ชีวิตได้เรียนรู้ความเจ็บปวด ชอบประโยคหนึ่งที่เธอพูดมากๆ คือเธอเชื่อว่า "คนเห็นแก่ตัวจะมีความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าคนทั่วไป"

ฟิทซ์เจอราล์ดใช้เทคนิกการเล่าเรื่องแบบบทละคร ในช่วงของโรซาลิน ซึ่งประหลาดมาก ไม่ค่อยจะเคยเห็นฟิทซ์เจอราล์ดเล่นเทคนิกอะไรเท่าไหร่ในนิยาย แถมการเล่าแบบนี้ทำให้เรื่องดูตื้นเขินชอบกล ไม่เห็นจะเหมาะกับความรักยืนยงตรงไหนเลย ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ เจ้าตัวยังเจ็บปวดกับเรื่องราวในอดีต จนไม่กล้าเขียนออกมาตรงๆ หรือเปล่า (อามอรีก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลหรอก ก็ตัวฟิทซ์เจอราล์ดเองนั่นแหละ)

เราชอบคนที่สี่สุด เอเลนอร์ เธอเป็นผู้หญิงช่างฝัน เป็นศิลปินเช่นเดียวกับอามอรี และป็นผู้หญิงคนเดียวที่รักเขา มากกว่าเขารักเธอ บทสนทนาระหว่างเอเลนอร์ และอามอรี หวาน ชวนฝัน และก็เวอร์มากๆ เช่น "ความรักในฤดูร้อนไม่มีจริง ฤดูร้อนคือความฝันที่ไม่อาจเติมเต็มได้ของฤดูใบไม้ผลิ"

This Side of Paradise เป็นนิยายเล่มแรกของฟิทซ์เจอราล์ด และเป็นนิยายที่เขียนดีมากๆ สัมผัสได้ถึงวัยเยาว์อันสวยงาม สวยงามจนคนอ่านรู้สึกได้ทันทีว่าสิ่งที่สวยงามขนาดนี้ไม่มีทางยั่งยืนแน่ๆ

เฮ้อ! โลกนี้ นี่มันเศร้าจริงๆ