I. Murdoch's "The Message to the Planet"


เราก็เหมือนนักอ่านทั่วไป ชอบซื้อหนังสือมาดองจนเหม็นเปรี้ยว ค่อยหยิบจากชั้นลงมาบริโภค หนังสือส่วนใหญ่ก็ค้างอยู่ระหว่างหกเดือน ถึงสองปี นานสุดคือ The Message to the Planet ซื้อมันมาจากร้านหนังสือมือสองเมื่อสีปีที่แล้ว ถามว่าทำไมถึงต้องดองนานขนาดนี้ เพราะตอนนั้นคุยกับเพื่อนซึ่งเคยอ่านเมอดอชมาแค่เล่มเดียวคือเล่มนี้แหละ และเขา "เกลียดมันโคตรๆ " ประกอบกับ ถ้าดูจากประวัติงานเขียน The Message to the Planet ถูกขนาบข้างด้วย The Book and the Brotherhood และ The Green Knight เล่มแรกน่ะโอเค แต่เล่มหลังเป็นนิยายของเมอดอชซึ่งเราไม่ชอบ

ในที่สุดก็ได้อ่านเสียที The Message to the Planet ถามว่า "เกลียดมันโคตรๆ " หรือเปล่า ตอบได้เลยว่าไม่ แต่ก็เข้าใจถ้าใครคนหนึ่งจะรู้สึกเช่นนั้น เหมือนกับผลงานส่วนใหญ่ ปัญหาของนิยายเล่มนี้คือความหนาไร้สาระของมัน เริ่มทำใจแล้วล่ะ ว่าเมอดอชยุคหลังคงเขียนหนังสือสั้นๆ ไม่เป็นอีกแล้ว The Message to the Planet อาจไม่ใช่นิยายที่ยาวที่สุดของเดม แต่ความเยิ่นเย้อก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเช่นนั้นได้ ตั้งแต่หน้า 400 เป็นต้นไป พลอตหยุดนิ่งสนิท ประมาณหน้า 420-450 ปมทุกอย่างคลี่คลาย ส่วนไอ้ที่ไม่คลี่คลาย ก็เดาได้ตั้งแต่ปีมะโว้ coda ไม่มีสิ้นสุดเช่นนี้คือจุดด้อยตามปรกติที่แฟนๆ ต้องทำใจ ว่ากันจริงๆ ความหนาของ The Message to the Planet ก็ไม่ใช่ความหนาแบบน้ำท่วมทุ่งเสียทีเดียว แต่ที่หนาเพราะเรื่องราวมันเยอะจริงๆ

The Message to the Planet เหมือนกับนิยายอย่างต่ำสองเรื่องในเล่มเดียว ซึ่งทั้งสองเรื่องก็เป็นนิยายเมอดอชมากๆ เรื่องแรกคือรักสามเส้าระหว่างแจค แอลิสัน และฟรานก้า ซึ่งเฉพาะที่นำมาเล่าในบลอคนี้ ก็ปาเข้าไปเรื่องที่สามแล้ว ส่วนอีกเรื่องพูดถึงความหลงใหลใน "ผู้วิเศษ" ลูเดนเชื่อว่ามาคัส นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะกุมความลับทางปรัชญาบางอย่าง หรืออย่างน้อยก็มีศักยภาพพอจะค้นหาความจริงข้อนี้ และปลดปล่อยมนุษยชาติจากความงมงาย ขณะที่แทบทุกคนรอบข้างลงความเห็นว่ามาคัสสติไม่สมประกอบ รวมไปถึงตัวลูกสาว และคนรักของลูเดน อิรินาด้วย อีกปัญหาใหญ่ของ The Message to the Planet คือคนอ่านเองก็คงเห็นด้วยกับอิรินานั่นแหละ ว่ามาคัสนี่มันคนบ้าดีๆ นี่เอง ดังนั้นความอุทิศตน คลั่งไคล้ในตัวมาคัสของลูเดน พอผ่านไปสักสามร้อยกว่าหน้า ก็ซ้ำซากเต็มที


อย่างไรก็ตาม ยังอยากชม The Message to the Planet อย่างแรกคือความเป็น formalist ของเมอดอช โครงสร้างนิยายเรื่องนี้สวยมาก สัมพันธ์สามเส้าสะท้อนกลับไปมาระหว่างตัวละครสองชุด แจค-แอลิสัน-ฟรานก้า และ ลูเดน-อิรินา-มาคัส มุมมองแบบบุรุษที่สามผ่านลูเดน และฟรานก้า ซึ่งภายนอกเหมือนเป็นคนธรรมดาแต่ถ้ายิ่งล้วงลึก ยิ่งรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ มาคัส และแจคเป็นผู้วิเศษ จุดหมุนของสามเหลี่ยม เหตุการณ์ต่างๆ เกิดรอบตัวละครทั้งสอง ส่วน อิรินา และแอลิสันคือตัวแทน "หญิงสาว" ความเยาวัย ภายนอกแข็งแกร่ง ภายในเปราะบาง

จุดเด่นของ The Message to the Planet ซึ่งไม่เคยมีมาในนิยายเล่มใดคือประเด็นศาสนา ก่อนหน้าที่มาคัสจะถูกจับส่งโรงพยาบาล เขาได้ช่วยชีวิตเพื่อนเก่าให้ฟื้นจากความตาย เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดไป มีผู้คนมากมายตามมาแห่แหนบูชา ในจำนวนนั้นคือเหล่า "ผู้ศรัทธาหิน" ซึ่งทุกปีต้องมารวมกัน ณ สโตนเฮจเพื่อทำพิธีกรรม มาคัสเองก็เหมือนจะชอบเล่นบทบาทพระผู้ปลดปล่อย มีแต่ลูเดนเท่านั้นที่มองสิ่งนี้เป็นอุปสรรค ขัดขวางไม่ให้อีกฝ่ายอุทิศตนศึกษาปรัชญาอย่างเต็มที่ เกิดเป็นคำถามว่าถ้าศาสดาทั้งหลายมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ เขาจะเป็นคนสติไม่สมประกอบ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ หรือนักโน้มน้าวจิตใจกันแน่

ให้ติดสินรวมๆ ก็คงบอกว่าชอบนะกับ The Message to the Planet มันช่างเต็มไปด้วย motive แบบเมอดอช เช่นตัวละครกระทำความดีงามจากแรงจูงใจใฝ่ต่ำ แล้วก็เวทมนต์ยุคใหม่ เราคงอ่านหนังสือเดมมามากพอจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่หนังสืออีกต่อไปแล้ว แต่เป็นภาพเขียน ถ้ามุมไหน ส่วนใดไม่พึงพอใจ ก็มองข้ามๆ ไป รับเอาแต่สิ่งดี สิ่งสวยงาม แฟนอย่างเราจับทางผู้เขียนออก ว่าตรงไหนควรอ่าน ตรงไหนไม่ต้องเสียเวลา และท่ามกลางความเยิ่นเย้อไร้สาระ The Message to the Planet ก็เต็มไปด้วยคุณลักษณะที่น่าชื่นชมจริงๆ นี่นา

No comments: