R. Davies's "What's Bred in the Bone"


หลังจากนิยายแปดเล่ม รวมเรื่องสั้นอีกหนึ่ง ในที่สุดเราก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าโรเบิร์ตสัน เดวีส์ "เป็นใคร" ตอนที่เขียนถึง World of Wonders เราบอกว่าเดวีส์เถียงตัวเองตลอดเวลาๆ จากนิยายเล่มหนึ่ง ไปยังนิยายอีกเล่ม ตอนนี้เราว่าเรารู้แล้ว อะไรคือจุดยืนที่แท้จริงของนักเขียนชาวแคนาดาผู้นี้

What's Bred in the Bone มาจากคำพังเพยฝรั่งเต็มๆ ว่า "สิ่งที่แฝงอยู่ในกระดูก สุดท้ายก็จะออกมาตามเนื้อตัว" หมายถึงนิสัยหรือสันดานที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในตัวคนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะปิดบังแค่ไหน สุดท้ายก็จะถูกเผยออกมาให้คนอื่นได้ยล นี่เป็นชื่อนิยายที่เหมาะมากสำหรับอธิบายตัวเอกของเรื่องฟรานซิส คอร์นิช แต่ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นชื่อนิยายที่เหมาะมากสำหรับการอธิบายปรัชญาของเดวีส์

ฟรานซิส คอร์นิชเป็นจิตรกรอัจฉริยะ ผู้ปฏิเสธที่จะเต้นไปตามจังหวะของยุคสมัย ขณะที่ยุโรปต้นศตวรรษกำลังต้องมนต์เสน่ห์ของปิกัสโซ ดาลี และดูชอง คอร์นิชกลับหลงใหลจิตรกรรมคลาสสิคจากศตวรรษที่ 15-18 ทางออกเดียวสำหรับอัจฉริยะเช่นเขาคือการปลอมแปลงรูป คอร์นิชวาดภาพด้วยฝีไม้ลายมือของปรมาจารย์ และพยายามขายรูปเหล่านั้นในราคาสูงราวกับว่ามันเป็นศิลปะโบราณ (ทำไมคอร์นิชถึงไม่ยอมเป็นจิตรกรจนๆ วาดอะไรที่อยากวาด ประเด็นนี้น่าตรึกตรองมากเพราะในนิยายของเดวีส์แทบทุกเล่ม ตัวเอกเป็นผู้มีอันจะกิน หรือไม่ก็ร่ำรวยไปเลย ไม่ค่อยมีเรื่องของคนจนๆ หาเลี้ยงปากท้องประทังชีพ)

เราจับเค้ามาตลอดว่าเดวีส์เป็นพวก "อนุรักษนิยม" เขาเหมือนจะรังเกียจความทันสมัย ความรู้แจ้ง และเหตุผลนิยมของศตวรรษที่ 20 แต่ความอนุรักษนิยมของเดวีส์มีรสชาติที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากนักเขียนหัวโบราณ (แบบที่เห็นได้บ่อยๆ ในเมืองไทย) เดวีส์ไม่ได้ชื่นชม "มรดกของบรรพบุรุษ" เขาย้อนอดีตไปไกลกว่านั้นอีก สิ่งที่เขาชื่นชมคือ "ตำนาน" หรือ "ความงมงาย" สำหรับเดวีส์ นั่นต่างหากคือ "สิ่งที่แฝงอยู่ในกระดูก" ของมนุษยชาติ (ใน Fifth Business เขาเคยเขียนว่า "ถ้าให้ผมเลือก คัมภีร์พันธสัญญาเดิมน่าอ่านกว่าพันธสัญญาใหม่เป็นไหนๆ ")

นิยายของเดวีส์จึงเหมือน "วิทยานิพนธ์" ที่พยายามให้เหตุผลเพื่อปกป้องความงมงาย "เหตุผลนิยม" หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มาพร้อมกับความทันสมัย แท้ที่จริงก็คือความงมงายในอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นความงมงายที่โง่งมเสียยิ่งกว่าเก่า เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาจากมนุษย์ที่พยายามหลอกตัวเองว่าฉันเป็นวิทยาศาสตร์แล้วนะ (ถ้าเดวีส์เป็นคนไทย ให้เราเดา เขาคงนิยมชาวบ้านที่ไปขอหวยกับเจลลดไข้ มากกว่าชาวเมืองที่ซื้อหนังสือ "ไอนสไตน์รักพระพุทธเจ้านะ จุ๊บๆ ")

ตำนานของชาวบ้านก็คือวิทยาศาสตร์ ในอดีตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมรอบตัว มันประกอบไปด้วยระบบ และความเป็นเหตุเป็นผลไม่ต่างอะไรจากวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน เดวีส์จึงมักชอบจับเอาตัวละครสมัยใหม่ เหตุผลนิยมจัดๆ เข้าไปอยู่ในโลกแห่งตำนาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำของคนพวกนี้ต่างหากที่งมงาย ไร้เหตุไร้ผลยิ่งกว่า

ธรรมดาเราเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือชีวประวัติเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำให้เราชอบ What's Bred in the Bone มากๆ คือความ "ปรุงแต่ง" ของมัน ทุกเหตุการณ์ถูกขมวดปมเข้าหากันอย่างสวยงาม ถ้ามองในแง่ความเป็นนิยายชีวประวัติ นี่อาจเป็นนิยายที่ล้มเหลว เพราะคงไม่มีใครที่ชีวิตเป็นระเบียบขนาดนี้ จริงๆ แล้วเดวีส์เขียนนิยายชีวประวัติไว้เยอะมาก ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขมวดปมสวยงามเท่านี้ ก็น่าคิดเหมือนกันเหตุใดเขาถึงเลือกวิธีนี้ในนิยายเล่มนี้

No comments: