R. Carver's "Cathedral"
อ่านรวมเรื่องสั้น Cathedral แล้วก็อดสงสัยไม่ได้จริงๆ ว่า short-storyist ฝรั่งอย่างคาร์เวอร์มีหลักเกณฑ์ในการรวมเรื่องสั้นอย่างไร เหมือนคนไทยหรือเปล่าที่พอเขียนครบ "กติกา" ก็ตัดเอารวมเล่มทีหนึ่ง (เท่าที่นึกออกมีแต่คุณวินทร์กระมังที่พยายามสร้างธีมให้กับหนังสือของตัวเอง) ที่สงสัยอย่างนี้ไม่ใช่อะไรหรอก แต่ตอนที่คาร์เวอร์เลือกเรื่องสั้นมาลง Cathedral แกจงใจโละทิ้งเรื่องที่อ่อนสุดของแกหรือเปล่า อ่านรวมเรื่องสั้นมาสามเล่มแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเล่มนี้แพ้อีกสองเล่มกระจัดกระจาย
สำหรับนักเขียนที่เราชื่นชอบ การได้อ่านรวมเรื่องสั้นซึ่งด้อยกว่าปรกติของเขา ชวนให้ฉงน และน่าคิดว่าอะไรกันแน่เป็นสาเหตุให้คุณภาพตก ตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าแต่ละเรื่องสั้นใน Cathedral ยาวๆ ทั้งนั้น เคยพูดไปแล้ว จุดเด่นของคาร์เวอร์คือการใช้สัญลักษณ์ ภาษาสื่อสารกับคนอ่านพร้อมๆ กันหลายระดับ หลายใจความ แต่พอมาเป็นเรื่องยาวๆ เลยเหมือนกับคราวนี้แกอาศัยกระแสการเล่าเรื่อง (narrative flow) มากเกินไป ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคาร์เวอร์ไม่ใช่นักแต่งเรื่อง
อีกปัญหาคือพอเรื่องสั้นมันไม่ปึก ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อนอื่นๆ เช่น ความซ้ำซากของประเด็น ตัวละคร และสถานการณ์ มีนักวิจารณ์อเมริกันบอกว่าเรื่องสั้นคาร์เวอร์เกี่ยวกับความฝันสิ้นสลาย ซึ่งก็จริงเพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องของครอบครัวแตกแยก สามี ภรรยาทะเลาะเบาะแว้งหรือแยกทาง พ่อ แม่ ทะเลาะกับลูก ตั้งแต่อ่านคาร์เวอร์มาเป็นสิบๆ เรื่อง ยังไม่เจอเรื่องไหนเลยที่ไม่มีฉากในบ้าน และมีแต่ตัวละครที่เป็นโสด
(นอกเรื่องนิดหนึ่ง คนที่เขียนเรื่องสั้นสไตล์คาร์เวอร์ และสามารถเขียนได้ยาวคือ Jane Bowles ลองกลับไปอ่านบลอคเก่าๆ ดู โบลเลสสามารถไหลตัวเองไปกับกระแสของการเล่าเรื่อง พร้อมๆ กับใส่อิมเมจต่างๆ เข้ามาให้หัวผู้อ่านได้ The Compartment คือเรื่องสั้นใน Cathedral ที่ได้กลิ่นโบลเลสมากๆ )
จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดีทุกเรื่อง อย่าง Cathedral เรื่องเอกของหนังสือก็ต้องยอมรับแหละว่าเจ๋ง เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่เราอ่าน จำไม่ได้แล้วว่าอาจารย์วิชาอะไรแยกออกมา Chef's House และ Careful ก็ไม่เลว โดยเฉพาะเรื่องหลัง เล่นกับความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ เมื่อมีวัตถุแหลมๆ แหย่เข้าไปในรูหู เรื่องสั้นคาร์เวอร์ก็ยังดีแบบคาร์เวอร์คือใช้แง่มุมภาษา เล่ห์กลจิตวิทยา แม้ความยาว และส่วนเกินของมันจะทำให้แต่ละเรื่องดูเกะกะก็ตาม
ที่น่าสนใจคือ A Small, Good Thing ไม่ใช่ว่ามันดีหรอกนะ แต่ครึ่งแรกเหมือนกันเปี๊ยบกับอีกเรื่อง (ขออนุญาตขี้เกียจค้นชื่อแล้วกันนะครับ) เรื่องของพ่อและแม่ที่ลูกชายถูกรถชน อยากรู้มากว่าคาร์เวอร์คิดยังไง แกไม่พอใจกับเรื่องใด เรื่องหนึ่ง เลยเขียนอีกเรื่องขึ้นมา (เรื่องไหน?) แกลืมไปแล้ว เลยเผลอเขียนซ้ำ (อันนี้คงยาก) หรือว่าจงใจเล่นกันง่ายๆ เอาเรื่องเก่ามาดัดแปลง อย่างไรก็ดี ชอบอีกเรื่องหนึ่งที่ตอนนี้จำชื่อไม่ได้มาก ได้อ่าน A Small, Good Thing ก็เหมือนได้เห็นอีกแง่มุมของเรื่องนั้น ช่วยให้เราเข้าใจตอนจบมากขึ้น
ถึงโดยรวมจะผิดหวัง แต่ Cathedral เป็นผลงานที่เหมาะสมสำหรับให้ใครที่ไม่เคยอ่านคาร์เวอร์ได้ลองมาสัมผัสดู พอเน้นการเล่าเรื่องก็เข้าถึงคนอ่านกลุ่มใหญ่ได้ง่ายกว่า
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
3 comments:
คิดถึงเธอทุกครั้งเวลาเหงาๆ
คิดถึงกันบ้างหรือเปล่าจ้ะ
อยากถกเรื่องหนัง อยากคุยเรื่องหนังสือ
อยากเมาท์เรื่องคน อยากเจอ....
/ คนที่เธอก็รู้ว่าใคร
เออเนี่ยะ ไม่ได้คุยแล้วรู้สึกตัวเองโง่ลงอ่ะ
คนที่เธอก็รู้ว่าใคร ใส่ชื่อเถอะ เดี๋ยวคนอ่านบลอคเราจะเข้าใจผิดหมด :P
ให้เขาเข้าใจผิดไปสิ
เธอแคร์ด้วยเหรอ
เห๊อะ....
/ คนที่เขาไม่รู้ว่ารู้หรือเปล่าว่าใคร
Post a Comment