วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย (ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์)


เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง เอาเสียเลย จากจุดอ่อนทั้งหมดของมัน จุดที่อภัยให้ไม่ได้ที่สุดคือการบิดเบือนประวัติศาสตร์ โดยการตัดต่อความจริงเพื่อนำมาสร้างเป็นภาพเพื่อรองรับสานส์ที่ผู้กำกับต้องการสื่อ กระนั้นก็ตาม นี่อาจจะเป็นจุดอ่อนที่น่าสนใจที่สุดของ โหมโรง เลยก็ได้ แทนที่มันจะนำเสนอสังคมไทยช่วงปี 2495-2500 มันกลับเอาสังคมไทยในปัจจุบัน (คือปี 2547) มาครอบใส่ฉากปี 2497 อย่างแนบเนียน

พงพัฒน์เล่นเป็นนายพลหัวนอก ชอบฟังบาค และคุกคามดนตรีไทยเป็นงานอดิเรก ซึ่งเราคงไม่ปฏิเสธหรอกว่าคนแบบนี้ไม่เคยมีอยู่จริง ช่วงหลังสงครามโลกที่เมืองไทยต้องปฏิรูปตัวเอง เปิดรับ กลั่นกรองวัฒนธรรมต่างชาติ และสร้างความเป็นอารยประเทศและพันธมิตรกับชาติตะวันตก ท่ามกลางความสับสนของเผด็จการทหาร จะมีนายพลเพี้ยนๆ แบบนี้บ้างก็คงไม่น่าแปลกใจ

แต่อย่างน้อยนี่ก็ไม่ใช่ภาพสังคมไทยที่อาจารย์ภัทรวดี นำเสนอใน วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมความบันเทิงช่วงพ.ศ. 2491 – 2500 อาจารย์ภัทรวดีเผยให้เราได้เห็นบทบาทของรัฐบาลทหาร ในการอนุรักษ์และผสานวัฒนธรรมไทยให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก (อย่าลืมว่าสุนทราภรณ์ไม่ใช่วงอินดี้ แต่เป็นวงที่อยู่ใต้กระทรวงโฆษณาการ อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นกลุ่มข้าราชการที่รับใช้เผด็จการทหารนั่นแหละ!) คนไทยในยุคนั้นยังไม่มีอาการ “หลงเงาตัวเอง” เหมือนคนไทยในปี 2547 บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ใช่บทบาทเชิงรับ คอยนั่งเซนเซอร์นู่น เซนเซอร์นี่ แต่เป็นบทบาทเชิงรุก มีหน้าที่คิดใคร่ครวญว่าทำอย่างไรจึงจะให้ดนตรีไทยทันสมัยและถูกจริตผู้เสพย์ ผู้บริโภค

เราชอบคำกล่าวของพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมาก (ท่านมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาของผู้อำนวยการสร้าง โหมโรง) ท่านบอกว่าของเก่าของดีมีคุณค่า เราก็ต้องอนุรักษ์เอาไว้ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวัฒนธรรมตะวันตกมีอำนาจดึงดูด และตรงจริต รสนิยมคนรุ่นใหม่มากกว่า “ส่วนนาฏศิลป์และดุริยางคศิลปสากลนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ศิลปะประจำชาติของเราก็จริง แต่ก็เปนสิ่งจำเป็นที่จะต้องปลูกฝัง และทนุบำรุง ทั้งนี้ก็เพราะ…นอกจากเปนการบรรเทิงแล้ว ยังเปนการทำให้ความรู้ของเรากว้างขวางออกไปอาจนำความรู้นั้นมาส่งเสริมศิลปะของไทยเราได้”

โจทย์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้นจึงไม่ใช่การสร้างหนังเพื่อหลอกให้คนดูเชื่อว่าพวกนายพลบ้าอำนาจเป็นพวกหัวนอกและชอบฟังดนตรีคลาสสิค แต่ทำอย่างไรจึงจะ “ทนุบำรุง” และนำเอาดนตรีคลาสสิคมา “ส่งเสริมศิลปะของไทยเรา” ต่างหาก

ภาพสังคมไทยกึ่งอุดมคติที่อาจารย์ภัทรวดีนำเสนออาจไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่การไม่ด่วนสรุปอดีตเพื่อเอามารับใช้อุดมการณ์หรือทฤษฏีในปัจจุบัน คือข้อพึงปฏิบัติของผู้ที่ต้องการศึกษาและนำเสนอประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง

An Inconvenient Truth


เพราะเป็นคนขวางโลกโดยสันดาน อะไรที่เขาบอกว่า “ใช่ ๆ ๆ ” เราก็จะคิดไว้ก่อนว่า “คงไม่หรอกน่า” อย่างตอนนี้ประโยคหนึ่งซึ่งกลายมาเป็น catch phrase ในแทบทุกบทความของนักวิชาการคือ “เมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว…เราอยู่ในยุคส่งผ่าน…ต่อแต่นี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม…” จริงอยู่ว่าในบางแง่มุม รายละเอียดของปรากฏการณ์เสื้อแดงแตกต่างจากการเดินขบวนที่ผ่านๆ มา แต่ตราบใดที่สังคม ผู้เข้าร่วมประท้วง และนักวิชาการยืนยันที่จะมองสิ่งนี้ว่าเป็น “สงครามระหว่างชนชั้น” การ “เปลี่ยนผ่าน” ที่เรา (อาจจะ) ต้องการนั้นก็จะไม่มีวันมาถึงได้

แม้ไม่เห็นด้วยกับบทความล่าสุดของอาจารย์ศรีศักร (google หากันเอาเองนะจ๊ะ) แต่มีประโยคหนึ่งโดนใจเรา นั่นก็คือสงครามชนชั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นข้ออ้างที่อ้างกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว คุณทักษิณเองก็มีความเป็นอำมาตย์ คืออำมาตย์นายทุน พอๆ กับกลุ่มคนที่เขาต่อต้าน (เหมือนเอาคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งที่สนทนากับพระไพศาลทางช่อง 11 มากลับหัวกลับหางว่า “อำมาตย์เองก็เป็นนายทุน สมัยนี้ใครๆ เขาก็เป็นนายทุนกันหมดแล้ว”)

ย้อนกลับไปสี่ห้าปีที่แล้ว สมัยพันธมิตรรวมพลังกับเหล่านักวิชาการตีโต้ปราการของคุณทักษิณ ประเด็นทุนนิยมถูกยกมาอ้างอิงบ่อยมาก ราวกับคุณทักษิณเป็นผู้นำลัทธิมารมาเผยแพร่ ทำให้คนไทยลุ่มหลงทุนนิยมอย่างบ้าคลั่ง รังแต่จะขยายช่องว่างระหว่างชนชั้นมากขึ้นเท่านั้น (ประเด็นเรื่องทุนนิยมสำคัญแค่ไหนน่ะหรือ เอาง่ายๆ แล้วกันว่า พอจบรัฐประหาร ถึงกับมีอาจารย์รัฐศาสตร์ท่านหนึ่งออกมาพูดเลยว่า การที่ทหารยึดอำนาจคราวนี้เห็นชอบด้วยได้เพราะเป็นการ “ตัดอำนาจทุน”) สรุปคือข้ออ้างที่ว่าทำเพื่อชนชั้นล่าง และใส่ร้ายชนชั้นกลางว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์จากอำนาจมืด นี่มันอ้าง มันใส่กันมาตั้งแต่กลุ่มเสื้อเหลืองแล้วล่ะ

ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับบทความของอาจารย์ศรีศักรคือ ท้ายที่สุดอาจารย์เองก็ยังไม่ยอมรับ An Inconvenient Truth คำถามที่นักวิชาการสาย NGO รังเกียจที่จะถามตัวเองคือ “จากปรากฏการณ์คนเสื้อแดง ทำไมคนยากคนจนถึงได้รักใคร่ ใยดีมหาเศรษฐีขี้ฉ้อนามทักษิณนัก”

คำถามนี้ยาก และถ้าจะตอบ คงตอบได้สองแนวทาง แนวทางแรกคือประเด็นการเมือง คร่าวๆ คือคนยากคนจน โดนหลอก/ตระหนัก ว่าเสียงของตัวเองกี่เสียงๆ ก็ถูกคนกลุ่มหนึ่งกวาดเอาไปทิ้งเสียให้เหี้ยนด้วยกรรมวิธีต่างๆ จนเกิดเป็นความหมั่นไส้ขึ้นมา แนวทางนี้พูดถึงบ่อยแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจและไม่ค่อยมีใคร “กล้า” พูดถึงนั่นก็คือ หรือว่าเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่ง “รังแต่จะขยายช่องว่างระหว่างชนชั้นมากขึ้นเท่านั้น” อาจกำลังสร้างความร่ำรวยให้แก่คนชนบทจริงๆ ก็ได้ (บอกแล้วว่ามันคือ An Inconvenient Truth)

จริงไหม ไม่รู้ เพราะไม่เคยมีนักวิชาการคนไหนกล้าออกมาวิเคราะห์คำถามนี้ (เรากำลังคาดหวังว่า ทุนนิยมที่มีหัวใจ ของพี่สฤณีจะช่วยตอบเราในบางคำถามได้) ที่ใกล้เคียงสุดคือผลงานของอาจารย์สุนัย จุลพงศธร ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน ซึ่งเคยพูดถึงไปแล้ว

ไหนๆ ก็ตั้งชื่อหัวข้อว่า An Inconvenient Truth มาพูดถึงปรากฏการณ์โลกร้อนหน่อยดีกว่า คล้ายๆ กับการวิเคราะห์โรงสีชุมชนของอาจารย์สุนัยว่าไม่จำเป็นจะต้อง “พอเพียง” กว่าโรงสีของเจ้าสัวนายทุนเสมอไป (เพราะเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ดีกว่า ย่อมช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงกว่า สามารถสีข้าวปริมาณเท่ากันได้ในราคาที่ถูกลง) ในบริบทของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยิ่งโรงสีใช้เครื่องจักรชั้นดีเท่าไหร่ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกย่อมน้อยลงไปด้วยเท่านั้น เผลอๆ การตั้งโรงสีแบบพอเพียงไว้ทุกหัวมุมประเทศ อาจจะสร้างมลพิษมากกว่าโรงสีไม่กี่แห่งของนายทุนก็ได้ (แต่นี่ยังไม่ได้คิดปริมาณก๊าซที่เกิดจากภาคการขนส่ง หากถัวรวมกัน สุดท้ายโรงสีแบบพอเพียงอาจจะสะอาดกว่าก็เป็นได้)

หากเรามองสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ เหมือนที่แกนนำเสื้อแดงและคุณทักษิณอยากให้เรามอง คือเป็นเรื่องของชนชั้น เป็นการ “เอาคืน” จากคนต่างจังหวัด เราก็จะพลาดบทเรียนสำคัญที่สุดไป นั่นคือทุกรัฐบาลต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาชนชั้นและความยากจนกันทั้งนั้น (นโยบายประชานิยมแบบคุณทักษิณที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ประกาศโครมๆ ตอนขึ้นรับตำแหน่งใหม่ๆ ก็คือข้อพิสูจน์ตรงนี้) แต่นักวิชาการเองต่างหากที่เมื่อไหร่จะหันมากลืนยาขม ตั้งคำถามกับ An Inconvenient Truth หากจะสรุปกันง่ายๆ ว่า "ทุนนิยมดีกว่าเศรษฐกิจพอเพียง" ก็จะเป็นการตกกับดับความคิดสุดโต่งอีกทางหนึ่ง แต่อย่างน้อยในวันนี้ ลองเริ่มตั้งคำถามกันก่อนดีไหม

...เพราะโจทย์เขาออกมาแดงโร่กันเต็มท้องถนนแล้ว

M. D. Russel's "The Sparrow"


ฝรั่งมีคำพังเพยตลกๆ ว่า "หากคุณขับรถไปตามท้องถนนแล้วเห็นเต่าตัวหนึ่งขึ้นไปดอกแดกอยู่บนเสารั้ว คุณมั่นใจได้เลยว่าเต่าตัวนี้ไม่ได้ปีนขึ้นไปเองแน่ๆ " ซึ่งบริบทที่ใช้ก็แตกต่างกันออกไป พวกรีพับลิกันบางคนเปรียบเทียบโอบามาว่าเป็นเต่าบนรั้ว คือถูกจับยัดลงสถานที่และตำแหน่งซึ่งไม่เหมาะสมกับตัวเอง จากบริบทที่รัสเซลใช้นิยาย The Sparrow "เต่าบนรั้ว" หมายถึงเหตุการณ์ที่เหมือนจะเกิดโดยบังเอิญอย่างน่ามหัศจรรย์ จริงๆ แล้วไม่ใช่ความบังเอิญหรอก แต่พระผู้เป็นเจ้าต่างหากทรงใช้หัตถ์ที่มองไม่เห็นหยิบจับขยับเคลื่อนไหวให้มันเป็นเช่นนั้น

โดยผิวเผิน The Sparrow เหมือนจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แต่รัสเซลเน้นนัยยะทางคริสตศาสนาออกมาอย่างเด่นชัดมาก เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบอารยธรรมบนดาวเคราะห์ราแคทที่อยู่ใกล้ๆ ระบบสุริยะ ขณะรัฐบาลและองค์กรใหญ่ๆ กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าควรทำเช่นไร โบสถ์เจซุส (ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งในศาสนาคริสต์) ก็ส่งนักบวชของนิกายตัวเองรวมถึงนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเพื่อทำการติดต่อกับสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้น

นิยายเปิดฉากภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจนั้น ทุกคนตายหมด เหลือนักบวชเพียงรูปเดียวกลับมาในสภาพย่ำแย่ ร่างกายบาดเจ็บ สติฟั่นเฟือนเพราะเหตุการณ์เลวร้ายที่ตัวเขาประสบมา (บนดาวราแคทเอง ก็เกิดสงครามกลางเมืองอันเนื่องมาจากผู้มาเยือน) คำถามซึ่งทุกคนบนโลกสงสัย (รวมถึงคนอ่านด้วย) คือ “มันเกิดอะไรกับคณะสำรวจกันแน่” แต่นั่นไม่ใช่คำถามของรัสเซล ประโยคหนึ่งจากนิยายเล่มนี้คือ “วิทยาศาสตร์จะถามว่าอะไร แต่ศาสนาถามว่าทำไม” (วินเซนต์ ไพรซ์เคยเล่นเป็นผู้ร้ายเจม บอนด์ เจ้าพ่อสื่อสิ่งพิมพ์พูดอะไรทำนองนี้ว่า “หน้าที่ของหนังสือพิมพ์คือบอกคนอ่านว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่จริงๆ คนอ่านอยากรู้ต่างหากว่าทำไมจึงเกิดขึ้น”) สิ่งที่เกิดกับมนุษย์บนดาวราแคทนั้นไม่น่าสนใจเท่า “ทำไม” และไม่ใช่แค่ “ทำไม” แต่เป็น “ทำไมพระผู้เป็นเจ้าซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด ตั้งแต่การค้นพบอารยธรรมบนดาวราแคท การส่งนักบินอวกาศไปยังสถานที่แห่งนั้น ถึงได้ปล่อยให้มีโศกนาฏกรรมเช่นนี้” (นกกระจอกในชื่อเรื่องมาจากคัมภีร์ไบเบิลบทหนึ่งที่บอกว่า “พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้มองข้ามแม้กระทั่งนกกระจอกตัวเดียวซึ่งร่วงหล่นลงมาจากกลางอากาศ”)

ซึ่งพูดกันตรงๆ นี่เป็นคำถามที่ชาวพุทธอย่างเรา “ช่างแม่ง” ไปตั้งแต่แรกแล้ว ฝรั่งเอ๋ย ไม่รู้จึกปฏิจสมุปบาทหรืออย่างไร

ค่อนข้างผิดหวังกับนิยายเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะตั้งความหวังเอาไว้มาก (The Sparrow ถูกจัดว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ระดับคลาสสิค) รัสเซลให้รายละเอียดตัวละครนักสำรวจไว้เยอะ ชนิดที่กว่าจะไปถึงดาวราแคทก็ปาเข้าไปครึ่งเล่มแล้ว และถามว่ารายละเอียดเหล่านี้จำเป็นไหม ตอบเลยว่าไม่ ตอนแรกนึกว่าเธอจะเล่นกับความสัมพันธ์ของผู้คนที่ถูกจำกัดให้อยู่ด้วยกันนานๆ (เพราะแอบมีหยอดประเด็นชู้สาวเข้ามาเป็นระยะ) แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่เกี่ยวกันเลย โศกนาฏกรรมบนดาวราแคทต่อให้เป็นนักสำรวจนิรนามเจ็ดแปดคนก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ นี่เป็นนิยายที่เยิ่นเย้อในตอนต้น และมาขมวดปมอย่างเร่งรีบในตอนท้าย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีเล่มสองออกมา

บางที Children of God อาจจะตอบบางคำถามที่ค้างคา แต่เราขอผ่านดีกว่า

ก้ำกึ่งอีกแล้ว


มีปรากฏการณ์เล็กๆ บนเวปไซต์มติชนที่เราว่าน่าสนใจมากๆ เมื่อเช้าตรู่วันนี้บทความ ความอดกลั้นของคนกรุงเทพ โดยอาจารย์สมชัยถูกอัพขึ้นหน้าคอลัมน์เด่น บทความนี้ต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และเมื่อผ่านไปยังไม่ถึงครึ่งวันดี หน้าคอลัมน์เด่นก็มีอีกบทความขึ้นมาเทียบเคียงกันนั่นก็คือ ปฏิกิริยาในเฟซบุ๊คต่อบทความ “ความอดกลั้นของคนกรุงเทพ” ซึ่งก็สมดังชื่อนั่นแหละ คือข้อคิดความเห็นจากเวปไซต์เฟซบุ๊คที่มีต่อบทความนี้ ก็ไม่รู้ว่ากองบก. มติชนเอาความคิดเห็นเหล่านี้มาจากไหน แต่ทุกความเห็นต่อต้าน (และก่นด่า) บทความของอาจารย์สมชัยล้วนๆ

ความน่าสนใจของปรากฏการณ์นี้คือมันช่วยให้เราได้เห็น “จริต” ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเป็นกลาง เมื่อรู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังนำเสนอข่าวหรือคอลัมน์ซึ่งเอียงไปทางสีใดสีหนึ่งมากเกินไป ก็จะต้องลงคอลัมน์ที่เอียงไปอีกข้างให้สมดุลกัน (ถ้าเป็นสมัยที่ยังมีกระแสทรรศน์ เราก็จะเห็นปรากฏการณ์ตลกๆ เมื่อชื่ออาจารย์บุญเลิศ ช้างใหญ่อยู่ข้างคุณนงนุช สิงหะเดชะ) ซึ่งถ้าหาไม่ได้ เขียนใหม่ไม่ทัน ก็เอามาจากหน้าเฟซบุ๊คนี่แหละ (วะ)

ในแง่หนึ่งมันเป็น “จริต” ที่น่าชื่นชม ในยุคที่สื่อเอียงกะเทเร่และส่งผลให้ทั้งสังคมเอียงตามจนแทบล้มคะมำหัวคว่ำ แต่อีกแง่หนึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าการนำเสนอคอลัมน์แบบแดงเหลือง 50/50 นี่มันกลางจริงหรือเปล่า

เรานึกถึงคำพูดของอัล กอร์ กอร์บอกว่าสื่อมวลชนอเมริกาคุ้นชินกับการนำเสนอข่าวสองด้าน ในเมื่อเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในปรากฏการณ์โลกร้อนแล้ว ก็ต้องเปิดพื้นที่อีกส่วนเท่าๆ กันให้กับพวกที่ไม่เชื่อด้วย ทั้งที่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ กลุ่มหลังอาจมีไม่ถึง 10% เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นการนำเสนอความจริงสองด้านในกรณีนี้อาจเป็นการบิดเบือนข่าวสารมากกว่าจะเป็นกลาง

ไล่ๆ กันนี้ก็มีผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ออกมาพูดว่า “ความเป็นกลางของสื่อไม่ใช่การลอยตัวอยู่เหนือดีหรือชั่วแบบไม่รู้ไม่ชี้ ความเป็นกลางของสื่อจะต้องสะท้อนดีชั่วชัดเจนและสามารถชี้ผิดชี้ถูกอย่างเที่ยงธรรมได้ด้วย" แน่นอนแหละว่า ใครที่ติดตามรักชวนหัวมานาน คงรู้ดีว่ารักชวนหัวรังเกียจความคิดประเภทเอาอัตถวิสัยอย่างศีลธรรมเป็นเอกเหนือภาวะวิสัยแค่ไหน แต่สำหรับวันนี้ คำพูดของผู้ยิ่งใหญ่ท่านนั้นก็น่าขบคิดไม่น้อย เช่น สมมติว่าแนวทางของเสื้อแดงมันห่วยแตกจัญไร จำเป็นต้องแบ่งพื้นที่สื่อให้มันครึ่งหนึ่งด้วยหรือ อะไรคือความเป็นกลางของสื่อ และเราจะไปถึงตรงจุดนั้นได้อย่างไร

คำถามยากนะครับ และคนตั้งก็ไม่มีคำตอบเสียด้วย

ใกล้เคียงสุดเท่าที่จะนึกออกตอนนี้ก็คือ เราสามารถตัดสินคุณภาพของแต่ละบทความได้ด้วยตรรกะภายในที่ประกอบกันขึ้นมา โดยไม่จำเป็นว่าบทสรุปจะโน้มเอียงไปทางสีใด ส่วนตัวแล้วเราไม่ได้รังเกียจบทความของอาจารย์สมชัยขนาดนั้น มันเถียงได้ มันมีข้อบกพร่อง แต่อย่างน้อยมันก็ก้าวพ้นกับดักความคิดหลายๆ อย่าง (จุดผิดพลาดคืออาจารย์สมชัยสับสนระหว่างการเอาเลือดไปสาดหน้าจุดยุทธศาสตร์บางแห่ง และการเอาเลือดไปชโลมทาท้องถนนของกรุงเทพมหานคร) ที่สำคัญคืออาจารย์สมชัยมีความรับผิดชอบทางวิชาการพอที่จะเปิดเผยตัวเอง ดีกว่าบทความเขียนผ่านนามปากกาแปลกๆ ซึ่งมติชนต้องเอามาลงให้ครบๆ โควตาสมดุลโทนร้อน

(รักชวนหัวก็เป็นนามปากกาเหมือนกัน แต่อย่างน้อยเราก็มีตัวตนของเรา ในพื้นที่ของเราตรงนี้ พื้นที่ที่ใครๆ ก็สามารถแวะมาวิจารณ์ ถกเถียงกับเราได้เสมอ)

ความรัก ความรู้ ความตาย (ธเนศ วงศ์ยานนาวา)


มีประเด็นหนึ่งจาก Freedom Evolves ที่ยังไม่ได้พูดถึงคือ ความรู้ใดๆ ก็เฉกเช่นเดียวกับความคิดที่แล่นอยู่ในหัว เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนตัวไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ดังนั้นตำราปรัชญาย่อมต้องรักษาความเป็นพลวัตรของความรู้เอาไว้ ไม่อาจสรุปย่อยให้คนอ่านเป็นข้อๆ ได้ ผลก็คือมันเลยเป็นหนังสือที่อ่านยาก ส่วนที่อ่านเข้าใจง่ายก็พาลอ่านแล้วไม่ค่อยเป็นปรัชญาไปเสียฉิบ

ในความอ่านยากนั้น ก็ต้องนับว่า ความรัก ความรู้ ความตาย สอบผ่าน หากไม่ใช่สักแต่ว่ายาก มีหนึ่ง เขียนยังไงให้คนเขาคิดว่าเราพูดสิบ เวลาอ่านหนังสือประเภทนี้ก็เหมือนได้ออกกำลังความคิด ทำแบบฝึกหัดทางปัญญาไปด้วยในตัว เรื่องหวังให้ได้ชุดความรู้เป็นข้อๆ ไปประดับสมองนั้นอาจจะลำบาก แต่เชื่อว่าหนังสือแบบนี้แหละที่ฝึกให้คนอ่านได้คิดได้พิจารณาอย่างถ่องแท้

กระนั้นก็มีความยากบางจุดเหมือนกันที่เรารู้สึกว่าเป็นข้อผิดพลาด เช่น ความพยายามของอาจารย์ธเนศให้หนังสือเล่มนี้ออกมา “ป๊อป” ก็เลยยกตัวอย่างจากภาพยนตร์ดังๆ เช่น The Matrix, Terminator หรือ Avatar ซึ่งบางตัวอย่างก็ดูผิดบริบทไม่เข้ากับเนื้อหา และพอพูดถึงต้นกำเนิดความรักของอริสโตเฟนกลับไม่มีการกล่าวถึง Hedwig and the Angry Inch ไปเสียฉิบ ความพยายามประสานหลายสิ่งหลายอย่างเข้าด้วยกันนี้เอง (ซึ่งโดยแท้แล้วประเสริฐ เพราะในตำราปรัชญาคลาสสิค ไม่ค่อยมีหรอกที่เอาตัวอย่างมาจากวัฒนธรรมตะวันออกหรือศาสนาพุทธ) ส่งผลให้บางบทความค่อนข้างสับสน อ่านยากเกินความจำเป็น

บทความที่เราชอบที่สุดคือบทความที่สาม จักรญาณนิยม (ดูภาพประกอบข้างบน) คำคำนี้เข้าใจว่าอาจารย์ธเนศเป็นผู้บัญญัติเอง เป็นศัพท์ที่น่าสนใจมาก “จักร” มาจากอาวุธ หมายถึงการขยายขอบเขต (เช่น จักรวรรดินิยม) ส่วน “ญาณ” ก็แปลว่าวิชาความรู้ รวมกันหมายถึงสภาพความต้องการขยายขอบเขตของวิชาความรู้ อาจารย์ธเนศยกคำนี้มาใช้ในสองบริบท กล่าวคือ ศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างเป็นจักรญาณนิยม คือพยายามขยายขอบเขตวิชาของตัวเองเพื่อส่งเสริมและหักล้างอีกฝ่าย ขณะเดียวกันความปรารถนาที่จะรู้อะไรมากขึ้นไปเรื่อยๆ ของผู้ศึกษาก็จัดเป็นจักรญาณได้ด้วย

เราสนใจบทความนี้มาก อาจเพราะนี่เป็นประเด็นที่เราวิวาทะกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ศาสนาเหมือนหรือแตกต่างจากวิทยาศาสตร์อย่างไร แน่นอนว่าอาจารย์ธเนศไม่ได้ให้ข้อสรุปไปทางใดทางหนึ่ง แกวิเคราะห์และชี้ให้เห็นทั้งความเหมือนและความต่าง ใครที่สนใจประเด็นนี้ไม่ควรพลาด

อาจารย์ธเนศกล่าวประโยคหนึ่งซึ่งเราว่าน่าขบคิดดี นั่นก็คือคำพูดประเภทศาสนาเหมือนกับวิทยาศาสตร์นั้น ดูจะมาจากฝ่ายแรกมากกว่าฝ่ายหลัง ซึ่งก็ชวนให้ไตร่ตรองว่าอาจเป็นด้วยแง่มุมทางการเมือง อย่างความต้องการของฝ่ายศาสนาที่จะจักรญาณไปชิงบางพื้นที่ของฝ่ายวิทยาศาสตร์ (โดยทางวิทยาศาสตร์เองก็พยายามจักรญาณเหมือนกัน แต่ด้วยกลวิธีที่แตกต่างออกไป) ถ้าถามเราในฐานะตัวแทนของฝ่ายวิทยาศาสตร์ เราเชื่อว่าสองสิ่งนี้เหมือนกัน เพียงแต่อาจไม่ใช่ความเหมือนแบบมักง่ายที่เราเห็นกันตามหน้านิตยสารเท่านั้นเอง (ตัวอย่างความมักง่าย เช่น กฏข้อสามของนิวตัน แรงกิริยาเท่ากับแรงปฏิกิริยานั้นพ้องไปกับกฏแห่งกรรมในศาสนาพุทธ)

ซึ่งจริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจ เมื่อสองสิ่งนี้ถูกกอปรขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ จำกัดความ และจำกัดความรู้ ถ้ามันต่างและไม่เหมือนกันเลยนี่สิ คงจะน่าแปลกใจยิ่งกว่า

C. E. Gadda's "That Awful Mess on the Via Merulana"


พี่พิสิฐ ภูศรีเคยพูดไว้น่าฟังมากๆ ว่า วรรณกรรมนั้น ต่อให้สร้างมากี่ชั้นๆ ถ้ามันล้มเหลวเสียตั้งแต่ชั้นแรก ไอ้สิบชั้นที่เหลือก็ไม่ต้องพูดถึง คำว่าชั้นแรกของพี่พิสิฐนั้นคือ “ความสนุกสนาน” ถึงแม้เราอาจไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าความสนุกจำเป็นขนาดนั้น แต่สิ่งที่พี่พิสิฐพูดมาก็น่าคิด หนังไม่เหมือนภาพยนตร์ ซึ่งต่อให้ไม่สนุก แต่ถ้ามีอะไรดีๆ ก็ชวนให้คนดูค้นหาต่อไปเรื่อยๆ แต่หนังสือ หากอ่านยาก “วางแล้วหยิบไม่ขึ้น” เสียอย่าง จะมาร้องแรกแหกกระเชอให้คนอ่านค้นหาอะไรดีๆ จากหนังสือเล่มนั้น ก็ดูจะเป็นความเอาแต่ใจตัวเองของนักเขียนมากเกินไป

ด้วยเหตุนี้ เราถึงอยากบอกว่า The Awful Mess on the Via Meraluna นิยายอิตาลีเล่มโปรดของคาลวิโน พาโซลินี และโมราเวียเป็นนิยายที่ล้มเหลว ในระดับหนึ่งเราเข้าใจว่าแกดดาพยายามทำอะไร (แต่ก็เข้าใจจากคำนำที่คาลวิโนเขียนล่ะนะ) ปรัชญาหลักของนิยายเล่มนี้คือ ไม่มีเหตุการณ์เดี่ยวเหตุการณ์ใดเป็นต้นเหตุของผลลัพท์หนึ่งๆ นานาประการล้วนแล้วแต่มาจากการกอปรเข้าด้วยกันของสาเหตุอันนับไม่ถ้วน

ในนิยายนักสืบเล่มนี้ แกดดาก็เลยอัดทุกรายละเอียดเท่าที่คนเขียนจะคิด จะแถออกมาได้ เช่น มองศพผู้หญิงถูกปาดคออยู่ดีๆ ก็ไพล่ไปพูดถึงกางเกงใน สอบปากคำผู้ต้องสงสัยอยู่ดีๆ ก็เฉไฉไปหาอาหารอิตาลี หรือกระทั่งการเฉลยฆาตกร ก็กลายเป็นส่วนประกอบของคำบรรยายกองขี้ไก่ที่ตั้งอยู่แถวๆ นั้น สรุปก็คือ The Awful Mess on the Via Meraluna เป็นผลงานทดลองแนวเจมส์ จอยซ์มากกว่านิยายนักสืบ

เราถกเถียงกับตัวเองว่าถ้าแกดดามีชื่อเสียงพอๆ กับจอยซ์ เราจะสะกดจิตตัวเองให้ชอบนิยายเล่มนี้มากขึ้นหรือเปล่า Ulysses เองก็หาใช่นิยายที่เพลิดเพลินอ่านพลิกๆ แต่ความผิดพลาดของแกดดาคือการใช้วรรณกรรมสืบสวนสอบสวนมาเป็นกรอบ โดยที่ตัวแกยังขาดความเข้าใจนิยายประเภทนี้อยู่มาก สังเกตว่าในหมู่ศิลปินชาวอิตาลีที่ชื่นชอบนิยายเล่มนี้ ไม่มีชื่อของอีโคอยู่เลย สำหรับผู้เขียนสุดยอดนิยายนักสืบอย่าง The Name of the Rose อย่างไรเสียก็คงเพิกเฉยต่อจุดอ่อนของ The Awful Mess on the Via Meraluna ไปไม่ได้

นิยายนักสืบสิบสตางค์ไม่จำเป็นว่าต้องอ่านทิ้งอ่านขว้างเสมอไป นักเขียนอย่างอีโค ซิเมนองได้พิสูจน์แล้วว่านิยายนักสืบสามารถผนวกกับปรัชญา จิตวิทยา และการสังเกตสังกาความเป็นมนุษย์ การจะอ้างว่า นี่คือนิยายปรัชญา ไม่ใช่นิยายนักสืบ จึงไม่จำเป็นต้องสนุกนั้นไม่ใช่ข้อแก้ตัว น่าจะถือว่าเป็นความล้มเหลวในการเลือกสื่อและสานส์เสียมากกว่า

คุณเองก็เป็นผู้นำมวลชนได้!


ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองอันร้อนฉ่า จู่ๆ เราก็นึกถึงเรื่องสั้นเสียดสี สำนักบริหารม็อบแห่งชาติ ของคุณสนั่น ชูสกุล เมื่อรัฐบาลหัวเสจัดตั้งกระทรวงม็อบ เพื่อจัดแผนก ลงทะเบียน สร้างสถานที่ให้ม็อบมาร่วมชุมนุม แต่สุดท้ายก็มีแต่ม็อบหน้าม้าของรัฐบาลที่เข้ามาอยู่ในระบบ ส่วนม็อบที่ต่อต้านรัฐบาลก็ยังออกไปเย้วๆ กันข้างนอกเหมือนเดิม

เรื่องสั้นเรื่องนี้ตั้งอยู่บนมายาคติที่ว่าม็อบคือการรวมตัวกันของผู้มีอุดมการณ์ ขอแค่นี้และมีใจขบถต่อรัฐบาล ที่เหลือไม่จำเป็น และจะทำให้ม็อบสูญเสียความเป็นม็อบไปเปล่าๆ

ซึ่งเป็นมายาคติที่ ผิด! มิหนำซ้ำมันยังผลิตมายาคติอันตรายขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง นั่นคือม็อบตัดสินกันได้ด้วยอุดมการณ์ ม็อบที่ดีคือม็อบที่ผู้มาร่วมมาด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ได้ถูกจ้างวานมา และม็อบที่ดีทำอะไรก็ไม่ผิด ไม่ว่าจะยึดสนามบิน ปิดถนน ระเบิดภูเขา หรือเผากระท่อม

ในอดีตม็อบอาจเป็นเพียงการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ตรงกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สุดท้ายก็ผนึกกำลังออกไปเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้บุคคลอื่นพิจารณาแนวทางของพวกเขา จุดประสงค์ของม็อบในลักษณะนี้ล้าสมัยไปเสียแล้ว ตั้งแต่อินเตอร์เนตสร้างพื้นที่สาธารณะความไวแสง ในศตวรรษที่ 21 จุดประสงค์รองๆ ของม็อบ เช่น การกดดันผู้มีอำนาจ เรียกร้องสิทธิ จึงถูกยกขึ้นมาแทนจุดประสงค์หลัก ม็อบยุคหลังสมัยใหม่นี้จึงอาศัยมากกว่าแค่อุดมการณ์ แต่รวมไปถึงยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการด้วย

นักหนังสือพิมพ์หลายคนพูดกันว่ากลุ่มเสื้อแดงมาคราวนี้แตกต่างจากเมษายนปีที่แล้ว มีการจัดกระบวนทัพที่เป็นระบบกว่าก่อน ผลของการจัดการนี้ ส่วนหนึ่งก็คือเสาร์อาทิตย์ที่สิบสาม สิบสี่มีนาคม ซึ่งคนกรุงเทพใช้ชีวิตกันอย่างแทบกลั้นหายใจ ก็ผ่านไปอย่างสงบสันติในระดับหนึ่ง คนกลุ่มเดียวกัน อุดมการณ์แบบเดียวกัน สามารถเป็นได้ทั้งม็อบอันธพาล และม็อบที่ไม่ขู่ให้ตลาดหุ้นผวา

ม็อบในอดีต ตั้งแต่ยุคตุลาฯ พฤษภาฯ มักจะมาและไปแบบแปล๊บๆ ขณะที่ม็อบในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปักหลักอยู่โยง “เปลวสีเงิน” ซึ่งเหลืองอร่ามมาแต่ไกล เคยวิจารณ์ม็อบพันธมิตรว่าเป็น “น้ำบ่อเน่า” คือขังอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ระบายออกไปไหน แต่สำหรับเรา ซึ่งเคยไปทัศนาจรม็อบพันธมิตร ยอมรับว่าระบบการจัดการของเขานั้นดีจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค การจราจร สื่อวีดีทัศน์ หรือกระทั่งการขายสินค้ายี่ห้อพันธมิตร ซึ่งแน่นอนว่าจะจัดการม็อบระดับนี้ได้ ไม่ใช่ด้วยอุดมการณ์ล้วนๆ หนึ่งคือต้องเงินถึง (เอาง่ายๆ คือรุ่นพี่เราที่ทำบริษัท Organizer จากเกือบล้มละลาย ตั้งตัวขึ้นมาใหม่ได้ด้วยม็อบพันธมิตร) สองคือต้องมีการวางแผนระดับเซียน

ซึ่งจุดนี้ม็อบพันธมิตรสอบผ่าน และ ถ้าม็อบคือสภาพความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ในสังคมไทย สมควรอย่างที่จะเป็นแบบอย่างให้ม็อบเสื้อแดง และม็อบอื่นๆ ในอนาคต (และช่วยให้เราทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับรุ่นพี่อีกคนว่า “ให้หาข้อดีของม็อบพันธมิตรมาพูด”)

ต้องเน้นวลี “ถ้าม็อบคือสภาพความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ในสังคมไทย” เพราะโดยส่วนตัว เราก็ยังไม่เชื่อว่านี่คือทางออก ขึ้นชื่อว่าเป็นม็อบ ไม่ว่าจะเสื้อสีอะไร สุดท้ายก็เป็นการเหยียบเส้นผิดถูก และสร้างบริเวณสุญญากาศทางกฏหมาย ที่ไหนมีม็อบ ที่นั่นมีมือมืด (เราชอบคำว่า “มือมืด” มากกว่า “มือที่สาม” เพราะเอาเข้าจริงๆ ก็ไอ้มือหนึ่งมือสองนี่แหละ มาทำเนียน) และรู้ๆ กันอยู่ว่าการก่อความวุ่นวายให้จับมือใครดมไม่ได้นั้นนั่นง่ายดายเพียงใดในประเทศเรา (ล่าสุดที่เขียนบลอคนี้ก็เริ่มมีการปาระบ่งระเบิดกันแล้ว)

ถ้าในท้องตลาดมีหนังสือฮาวทูสำหรับ CEO สักพันเล่ม บางทีประเทศไทยอาจต้องการหนังสือฮาวทูบริหารจัดการม็อบสักร้อยเท่าของจำนวนนั้นก็ได้

ทะเลน้ำนม (ชัชวาลย์ โคตรสงคราม)


พจนะอมตะของโกวเล้งจากนิยายชุด เซียวฮื้อยี้ (เจ้าลูกปลาน้อย) กล่าวไว้ว่า “ปลาอาจจะตายในน้ำได้ แต่ปลาไม่มีวันจมน้ำตาย” เราเองก็ไม่แน่ใจว่า “ทะเลน้ำนม” ของคุณชัชวาลย์เป็นสัญลักษณ์ของอะไร แต่ถ้าความเข้าใจของเราถูกต้อง “คนเราอาจจะตายในโลกทุนนิยมได้ แต่ทุนนิยมโดยตัวมันเองแล้วไม่เคยฆ่าใคร”

ใช่ไหม?

สิ่งที่เราชอบที่สุดใน ทะเลน้ำนม คือความย้อนแย้งระหว่างสานส์และสื่อ เราไม่รู้จักคุณชัชวาล์เป็นการส่วนตัว ไม่เคยแม้แต่จะอ่านสัมภาษณ์แก จึงไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วแกเป็นคนเช่นไร เหมือนกับจูมและนิภา ตัวเอกของนิยายหรือเปล่า ท่ามกลางคำผรุสวาทที่จูมมีต่อระบบทุนนิยม ทะเลน้ำนม เป็นนิยายที่เกิดไม่ได้เลยถ้าปราศจากไอ้ระบบที่ว่านี้

ถ้าไม่มีทุนนิยม คนไทยจะรู้จัก “สัจนิยมมหัศจรรย์” และ “หลังสมัยใหม่” หรือเปล่า จะมีอินเตอร์เนตพวยพุ่งออกมาเป็นสายน้ำพุไหม จะมีใครรู้จักมาโควัลโดบ้าง แล้วยังดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ จักรวาลวิทยา ดาราศาสตร์ สัมพันธภาพพิเศษ ทั่วไป และอีกมากมาย (ในส่วนหนึ่ง เรายอมรับว่ากำลังเหมารวม “ทุนนิยม” และ “โลกาภิวัฒน์” เข้าด้วยกัน แต่พนันได้เลยว่าจะมองสองสิ่งนี้แยกออกโดยสิ้นเชิง ยาก ยิ่งกว่าวิธีมองแบบเราเยอะ)

ทะเลน้ำนม เป็นนิยายที่พลุ่งพล่าน ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีการด่าทอเจ้าสัวอดีตรัฐมนตรี พอๆ กับอำมาตย์รัฐประหารผู้พร่ำเพ้อถึงเศรษฐกิจพอเพียง เป็นลีลาศหรรษาของความพินาศถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองหลังสมัยใหม่ การที่คุณชัชวาลย์ไม่ได้โอบกอดมายาคติหรือวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยมเต็มเหนี่ยว (ไม่เหมือนนิยายบางเล่มที่ชิงซีไรต์ในปีเดียวกัน) เลยช่วยให้สาระออกมายอกแย้งอย่างน่าสนใจ ท่ามกลางการว่ายทวนน้ำของจูม บางครั้งเราตอบไม่ได้ว่าคุณชัชวาลย์กำลังชี้ชวนให้เราหัวเราะเยาะหรือปรบมือให้กับตัวละครตัวนี้

ถ้าจะมีติก็ตรงความเป็นนิยายของมัน การอ่านหนังสือเล่มนี้ต้องใช้ความอดทนสูง เนื้อหาอ่านง่าย แต่อาจไม่ค่อย “สนุก ชวนติดตาม” เท่านั้นเอง เหมาะแก่การวางไว้หัวเตียง อ่านทีละบทๆ ก่อนนอน เพื่อให้ผู้อ่านเพลินเพลินไปกับความโกลาหลของ “สัจนิยมมหัศจรรย์ระดับพื้นผิว”

ตึงไป หย่อนไป


เพิ่งอ่านและผิดหวังกับนิยายเพื่อชีวิตเล่มหนึ่ง ท่ามกลางจุดเด่นและจุดด้อย ข้อเสียอย่างรุนแรงสุดของมันคือการปฏิเสธประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องปรกติสำหรับแวดวงวรรณกรรมไทย แต่ที่ความล้มเหลวนี้มัน spectacular เอามากๆ เพราะคนเขียนตั้งใจให้ผลงานชิ้นนี้เป็นปากเป็นเสียงให้กับประวัติศาสตร์ (มีการกล่าวโทษนักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ และคนรุ่นใหม่ที่บิดเบือนหรือไม่สนใจประวัติศาสตร์) จนเราอดคิดไม่ได้ หรือว่าบางที ภายใต้กรอบเพื่อชีวิต นิยายประวัติศาสตร์ดีๆ ไม่อาจถูกเขียนขึ้นมาได้

เป็นความไร้เดียงสามากๆ ถ้าเราเชื่อว่าการบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพียงแค่เกิดจากอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งออกมาพูดว่า "เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีผู้เสียชีวิตแค่คนเดียว" (และเมื่อพูดเสร็จก็โดนคนด่ากันทั้งเมือง) โดยไม่สนใจเลยว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวรรณกรรมเพื่อชีวิตมากี่ทศวรรษแล้ว

ทีแรกตั้งใจจะวิเคราะห์ประเด็นนี้ยาวๆ แต่ขี้เกียจ (เพราะเขียนถึงออกจะบ่อย) นักเขียนไทยชอบมองเหตุการณ์ดังกล่าวแยกเฉพาะบริบทของเมืองไทย ทั้งที่จริงๆ นี่คือปรากฏการณ์ระดับโลกซึ่งสัมพันธ์กันมายาวนานตั้งแต่ยุโรปสมัยศตวรรษที่ 18-19 ถ้ายังมองไม่เห็นภาพรวม ประวัติศาสตร์ของเราก็จะเป็นเพียงการบิดเบือนในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

ถ้ารักจะเขียนนิยายประวัติศาสตร์สักเล่ม ก่อนอื่นลองปลดรูปจิตร ภูมิศักดิ์บนหิ้งพระคุณลงมา ถุยน้ำลายรดสักรอบ (แล้วเช็ดฝุ่นให้สะอาด) บางทีอาจจะเห็นอะไรชัดเจนขึ้นก็ได้

D. C. Dennett's "Freedom Evolves"


ระหว่างที่พระวิกรมเสนพาดเวตาลขึ้นบ่า เจ้าค้างคาวก็เริ่มเล่านิทาน…กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีทหารสี่คน เหน่ง โหน่ง หนุ่ย และตี๋ ทั้งสามคนที่เหลือไม่มีใครชอบตี๋ เมื่อตี๋ต้องไปทำภารกิจกลางทะเลทราย คืนก่อนหน้านั้นเหน่งต้องการจะฆ่าตี๋ เลยแอบเอายาพิษไปใส่ในกระติกน้ำ โหน่งก็ต้องการจะฆ่าตี๋เหมือนกัน เลยแอบไปเทน้ำ (ซึ่งจริงๆ ผสมยาพิษ) ทิ้ง แล้วเอาทรายใส่ลงไปแทน หนุ่ยก็ต้องการฆ่าตี๋ เลยแอบเจาะรูที่กระติก หวังให้น้ำ (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นทราย) ค่อยๆ ซึมหายไป วันต่อมา ระหว่างตี๋โซซัดโซเซอยู่กลางทะเลทราย เขาหิวน้ำก็เลยคว้ากระติกออกมา ซึ่งข้างในนั้นไม่มีอะไรเลย ไม่มีกระทั่งทรายและน้ำผสมยาพิษ ในที่สุดตี๋ก็แห้งตายก็อยู่กลางทะเลทราย ต่อมาเรื่องราวทั้งหมดถูกเปิดโปง เหน่ง โหน่ง และหนุ่ยถูกจับขึ้นศาลทหาร ถามว่า ใครเป็นคนฆ่าตี๋

ไม่รู้พระวิกรมเสนจะตอบอะไร (หรือว่าตอบไม่ได้เลยทำเงียบๆ ) แต่ถ้ายากเกินไปสำหรับเราๆ ท่านๆ มีอีกคำถามหนึ่ง ต่อและแตงแข่งกันปาหิน ใครปาไปโดนขวดแตกเป็นผู้ชนะ ทั้งคู่ปาหินพร้อมกัน ปรากฏว่าหินของแตงโดนขวดก่อน ขวดแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ในอีกเสี้ยววินาทีถัดมา หินของต่อก็ไปโดนตรงที่ที่ขวดเคยตั้งอยู่พอดี ถามว่าหินของใครทำให้ขวดแตก

รุ่นน้องเราที่เป็นนักคณิตศาสตร์เคยพูดว่าคนไทยมีปัญหามากๆ เรื่องวิชาตรรกศาสตร์ ซึ่งเขาเชื่อว่ามันคงมีต้นเหตุบางอย่างอยู่ในรากฐานทางวัฒนธรรม เราเองก็เชื่อเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น ในทางภาษา ภาษาไทยไม่แยกความแตกต่างระหว่างเงื่อนไข “necessary” และ “essential” ถ้าการโดนหินกระแทก necessary สำหรับการที่ขวดจะแตก ก็หมายความว่า ในทุกๆ ความเป็นไปได้ ถ้าหินกระแทกขวด ขวดต้องแตกร้อยเปอร์เซ็นต์ (ไม่นับเหตุการณ์เพี้ยนๆ เช่น ขวดทำมาจากนุ่นหรือเสริมใยเหล็ก) ส่วนเงื่อนไข essential หมายถึง ในทุกๆ กรณีที่ขวดแตก เราสรุปได้เลยว่าก่อนหน้านั้น หินต้องมากระแทกขวดแน่นอน (อีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีสาเหตุอื่นใดแล้วที่ทำให้ขวดแตก ไม่นับเหตุการณ์เพี้ยนๆ อีกเช่นกัน) เข้าใจยากไหม ลองเอากรณีต่อ แตงมาพิจารณาดู หินของต่อและแตงไม่ใช่เงื่อนไข essential ของการที่ขวดแตก เพราะต่อให้แตงขว้างไม่โดน หินของต่อก็จะโดนอยู่ดี แต่เราอาจสรุปได้ว่าหินทั้งสองเป็นสาเหตุ necessary เพราะแต่ละก้อนต่างอัดขวดให้แตกได้ทั้งนั้น

เรื่องหิน เรื่องทะเลทรายนี่มันมีสาระตรงไหนน่ะหรือ อาจไม่มีก็ได้ เพราะมันเป็นแค่ส่วนเดียวจากหนังสือของแดเนียล เดนเนต Freedom Evolves เป้าหมายจริงๆ ของหนังสือเล่มนี้คือพิสูจน์ให้เห็นว่า “เจตจำนงค์อิสระ (freewill) นั้นมีจริง ต่อให้มนุษย์เราไม่มีวิญญาณ เป็นเพียงกายหยาบและหน่วยชีวภาพ” ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในหมู่นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตก ใครที่สนใจเรื่องเหล่านี้ พลาดไม่ได้

แต่สำหรับเรา ที่โดนใจสุดก็เรื่องเงื่อนไข necessary และ essential นี่แหละ ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยได้พิสูจน์สิ่งที่รุ่นน้องเราเคยพูดเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ GT 200 หรือเรื่องที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงออกมาปล่อยไก่ ด้วยคำพูดประมาณว่า “ถ้าเราบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาจากรัฐประหาร แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ว่ากันว่าดีนักหนา ไม่ได้มาจากรัฐประหาร 2534 หรืออย่างไร”

ตอบเลยว่าไม่! รัฐประหาร 2534 ไม่ใช่ทั้งเงื่อนไข necessary (คือไม่จำเป็นว่าถ้ามีรัฐประหาร 2534 แล้วจะต้องมีรัฐธรรมนูญ 2540 เสมอไป) และ essential (รัฐธรรมนูญ 2540 อาจเกิดมาได้หลากหลายสาเหตุ) เวลาหกปีที่แตกต่างกันนั้น ยาวนานเกินกว่าจะมาสรุปเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นเงื่อนไขของอีกเหตุการณ์ (พูดแบบนี้ก็เหมือนบอกว่า “ถ้าเราบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาจากรัฐประหาร แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ว่ากันว่าดีนักหนา ไม่ได้มาจากบรรพบุรุษลิงของเราปีนต้นไม้ลงมาอาศัยอยู่บนท้องทุ่งหรืออย่างไร”)

ผู้หลักผู้ใหญ่คนเดียวกันนั้นเปรียบเทียบรัฐประหาร 2550 กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งถ้าเราเอากรอบตัวเดียวกันนี้มาวิเคราะห์ เราอาจสรุปได้ว่า รัฐประหาร 2550 คือเงื่อนไข necessary ของการทำลายระบอบประชาธิปไตย เพราะเอารถถังออกมาแล่นบนถนนปุ๊บ ไปแน่ๆ ประชาธิปไตย (แต่ไม่ใช่เงื่อนไข essential) ส่วน การยึดอำนาจของคณะราษฎร์นั้น จัดเป็นเงื่อนไข necessary ได้ และเผลอๆ จะเป็นเงื่อนไข essential ของการเกิดระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

แต่ขณะเดียวกัน นักวิชาการอีกสีหนึ่งที่ออกมาประณามคนที่ยอมรับการยึดทรัพย์ของคุณทักษิณว่า “กินขี้” รัฐประหารก็หลงทิศพอๆ กันอีกนั่นแหละ รัฐประหารคือเงื่อนไข necessary ของการยึดทรัพย์หรือไม่ อาจเป็นได้ แต่เราว่ายากอยู่ ช่วงเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมา อะไรหลายอย่างก็เกิดขึ้นมากมาย แผนการสี่ขั้นอะไรนั่น ถ้าผิดพลาดไปสักขั้น การยึดทรัพย์จะเกิดขึ้นได้ไหม แต่ที่แน่ๆ รัฐประหารไม่ใช่เงื่อนไข essential ของการยึดทรัพย์ เพราะต่อให้ไม่มีรัฐประหาร การยึดทรัพย์ก็น่าจะเป็นกระบวนการธรรมชาติเมื่อคุณทักษิณพ้นอำนาจไปแล้ว (เราคงบอกได้เพียงว่ารัฐประหารคือเงื่อนไข necessary ของการที่คุณทักษิณพ้นอำนาจ)

ประเด็นหนึ่งที่เดนเนตเขียนใน Freedom Evolves ซึ่งเราว่าดีมากๆ คือ ต้องยอมรับว่าบางเหตุการณ์มันเกิดมาอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือว่ามันเกิดจากเงื่อนไขร้อยแปดประการทั้ง necessary และ essential มาผสมกัน จนถ้าเราไปยึดติดว่าอย่างใดอย่างหนึ่งในนั้นคือ “ต้นเหตุ” รังแต่จะหลงทิศกันไปเปล่าๆ

เอาล่ะ ขอจบกระบวนการสร้างศัตรูทั้งสองสีมา ณ ที่นี้