F. de Saussure's "Course in General Linguistics"
ถ้าให้จัดอันดับสิบหนังสือยอดเยี่ยมที่เราอ่านประจำปีนี้ แน่นอนว่าต้องมี Course in General Linguistics แน่ๆ ไม่บ่อยนักจะได้อ่านหนังสือสักเล่มซึ่งซับซ้อน ลุ่มลึก แต่ก็อ่านง่าย และสวยงามในขณะเดียวกัน
Course in General Linguistics น่าจะเป็นต้นกำเนิดของวิชาสัญศาสตร์ (semiotics) ที่มีอุมเบโต เอโคเป็นนักวิชาการหัวหอก ใน Course in General Linguistics เซอซัวสร้างวิชาการแขนงใหม่นี้ขึ้นมา โดยแยกสัญศาสตร์ออกจากภาษาศาสตร์ และปรัชญาการสื่อสารแขนงอื่นๆ เช่นนิรุกติศาสตร์ (Philology) หรือการศึกษาประวัติศาสตร์ภาษาผ่านศิลาจารึก และบันทึกชนเผ่า (นักนิรุกติศาสตร์ที่โด่งดังของไทยได้แก่จิต ภูมิศักดิ์) โดยให้เหตุผลว่าภาษาเขียนเป็นแค่รูปเงาของ "ภาษา" หรือการจับ "ภาษา" มาแช่แข็งให้หยุดนิ่งคงที่ผ่านวันเวลา "ภาษา" ของเซอซัวหมายถึงระบบโครงสร้างระหว่างสัญลักษณ์ และความหมาย
ใครอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะพบว่า "ภาษา" เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากๆ เพราะมันมีทั้งความสุ่มมั่ว (random) และความหยุดนิ่ง (static) ได้พร้อมกัน ไม่มีเหตุผลใดที่การผสมกันระหว่างพยัญชนะ ต เต่า และ สระอา หรือ "ตา" จะหมายถึงอวัยวะที่ใช้มองเห็น แต่ขณะเดียวกัน อยู่ดีๆ เราไม่อาจลุกขึ้นมาประกาศว่าตั้งแต่บัดนี้อวัยวะที่ใช้มองเห็นคือ "ตู" น่าทึ่งไปกว่านั้น คือภาษาหยุดนิ่งได้ เพราะมันสุ่มมั่ว ไม่มีใครสามารถยืนยันว่า "ตา" ไม่เหมาะจะเป็นอวัยวะที่ใช้มอง เพราะถ้าเราทำแบบนั้น ก็อาจมีคนตั้งคำถามว่า ทำไม "หู" ถึงเหมาะจะเป็นอวัยวะที่ใช้ฟังเสียง เมื่อนั้นก็หมายถึงการพังทลายของภาษา
ความสุ่มมั่วคือความยุติธรรมของสังคม คนเราไม่อาจถกเถียงกับความสุ่มมั่วได้ (แม้ว่านักสังคมนิยมเช่นจิตร ภูมิศักดิ์จะพยายามทำเช่นนั้นมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้วก็ตาม)
จริงๆ คงมีคนตระหนักมาตั้งนานแล้วว่า "ภาษา" คือความสัมพันธ์ระหว่างสัญลักษณ์ และความหมาย แต่ที่แปลกใหม่ในระบบความคิดของเซอซัวคือการจับโครงสร้างนิยาม (Structuralism) มาอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น "มานีมีตา" เวลาเราอ่านประโยคนี้ เราไม่ได้คิดว่า สัญลักษณ์ "มานี" เป็นประธานหมายถึงเด็กผู้หญิงชื่อมานี กระทำกิริยา "มี" และสิ่งที่เธอมีนั้นคือ "ตา"
การคิดแบบข้างบนคือการแยกแต่ละคำออกมาเป็นหน่วยย่อยของภาษา แต่เซอซัวเชื่อว่าภาษาคือสิ่งที่ไม่อาจแตกย่อย กล่าวคือเวลาเราอ่านประโยค "มานีมีตา" ความหมายของ "มี" และ "ตา" ได้แทรกอยู่ใน "มานี" ตั้งแต่ต้น เมื่อเราเจอสัญลักษณ์ "มานี" เราจะคิดในใจทันทีว่าประธานตัวนี้ต้องการกริยา อาจจะเป็น "มี" "บิน" "ถีบ" หรือว่า "วิ่ง" ซึ่งถ้าเป็น "มี" หรือ "ถีบ" ก็ต้องมีกรรมแทรกอยู่ในความหมายของ "มานี" ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความหมายของคำสามคำ "มานี" "มี" และ "ตา" แทรกสอด และหลั่งไหลเข้าไปยังคำอื่นๆ ที่อยู่ในประโยคเดียวกัน
ความคิดนี้เจ๋งโคตรๆ และเราเชื่อว่าจริงมากๆ ลองเปรียบเทียบสี่ประโยคนี้ดู
มานีมีตา
Manee has eyes.
Manee hat Augen.
Maneesan wa, me ka imasu.
ยิ่งภาษาที่เราอ่านไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ การหลั่งไหลของความหมายไปยังคำที่อยู่ใกล้เคียงก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น คนที่พอรู้ญี่ปุ่นงูๆ ปลาๆ อย่างเรา พอเจอประโยคที่สี่ ต้องมาค่อยๆ ตีสัญลักษณ์ทีละตัว ก่อนนำความหมายมาประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจากการอ่านสองประโยคแรกอย่างชัดเจน
นอกจากความคิดจะสุดยอดแล้ว เซอซัวยังอธิบายมันได้อย่างเรียบง่าย และสง่างาม ใครที่อ่านบลอคนี้ไม่เข้าใจ แต่สนใจสัญศาสตร์ ขอให้รีบไปหา Course in General Linguistics มาอ่านโดยด่วน เพราะนอกจากเข้าใจง่ายแล้ว ยังมีรูปประกอบชัดเจน และสวยงามอีกด้วย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
4 comments:
เจ๋งดีจัง อยากให้มีแปลเป็นไทยจัง อ.นพพร ประชากุลก็พูดถึงเรื่องนี้น่ะ ชอบสัญวิทยา
ดีครับ แต่ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับ post Modern ลดลง จึงไม่ค่อยสนใจโซซูร์
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมพึ่งเข้าใจความสำคัญที่แท้จริงของ PM ซึ่งผมจะต้องนำไปใช้อย่างแน่นอน
ผมคิดว่าพวก PM คลำถูกทางแล้ว แต่วิธีการสื่อสารยังไม่ดี
หากพูดถึงภาษาที่ค่อนข้างไปในแนวปรัชญา ผมสนใจงานของ Ludwig Wittgenstein มากกว่า Philosophy of language
สำหรับอาจารย์นพพร ประชากุลนั้น ผมก็ยังเศร้าอยู่จนบัดนี้ ที่ไม่ได้ไปเยือนท่าน มัวแต่รีรอลังเล จนตอนนี้สายไป เพราะท่านได้ไปสวรรค์แล้ว
ผมไม่ได้ไปเพื่อสอบถามเรื่่องโพสต์โมเดิร์น สัญญวิทยา ฯลฯ ที่ปัญญาชนยกย่องและจัดให้ท่านเป็น
ผมคิดว่าสิ่งที่ท่านรักและเชี่ยวชาญที่สุดคือ Proust ผมอยากไปคุยกับท่านเรื่อง Proust
ยังไงก็ต้องชื่นชมเจ้าของเว็บ เป็นปัญญาชน หรือผู้ใฝ่รู้ตัวจริง
จริงๆ แล้วการอ่าน Course in General Linguistics สำหรับผมก็คือหนึ่งในการ "ปีนบันได" เพื่อที่จะได้อ่าน grammatology ของเดริดารู้เรื่อง แต่กลับกลายเป็นว่าในตัวมันเองแล้ว ผมชอบ course in general linguistics มากๆ
เชื่อว่าอีกไม่นาน คงได้อ่านวิคเกนสไตน์ครับ หลังจากจบ grammatology แล้ว
เพิ่งจะพบบล็อคนี้ผ่าน คาลวิโน ในกูเกิ้ล ขอบคุณมากที่โพส
เรื่องราวดีดีที่น่าสนใจให้อ่านนะครับ
สำหรับเรื่อง Course in General Linguistics ผมเข้่าใจว่า
เป็นการรวบรวม lecture ในชั้นเรียนที่บรรดาลูกศิษย์จดไว้
มาเรียบเรียงเป็นหนังสือ ตัวของโซซูร์ (หรือ เซอซัว) เองไม่ได้เขียนเพื่อเป็นหนังสือให้อ่านโดยเฉพาะเจาะจง
โซซูร์เองต้องการจะพัฒนาสัญศาสตร์ขึ้นมาจริงอย่างเป็นระบบหรือแค่ต้องการเสนอไอเดียบางอย่างทางภาษาศาสตร์แค่นั้นครับ
Post a Comment