O. Wilde's "The Picture of Dorian Gray"
คุณคงเคยได้ยินชื่อดอเรียน เกรย์ เขาเป็นหนุ่มสังคมอายุเกือบๆ สี่สิบแล้ว ชื่อเสียงไม่ค่อยดีนัก สุภาพบุรุษหลายคนไม่ยอมอยู่ร่วมห้องกับเขา สุภาพสตรีหลายคน แม้ต้องการใจจะขาด แต่เพื่อรักษาชื่อเสียงตัวเอง ไม่ยอมร่วมเดินทางในรถม้าคันเดียวกัน เดือนก่อนเพื่อนสนิทเขาเพิ่งฆ่าตัวตาย เมื่อต้นปี สุภาพสตรีผู้สนิทชิดเชื้อถูกขับไล่จากวงสังคม และต้องย้ายหนีไปอเมริกา
คุณอยู่ในงานเลี้ยง ทันทีที่เจ้าบ้านประกาศว่ามิสเตอร์เกรย์มาถึง คุณเตรียมตัวรังเกียจแขกผู้มาเยือน แต่เมื่อพบเขา คุณไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง เกรย์อายุเกือบๆ สีสิบ แต่ใบหน้าผุดผ่องไม่ต่างอะไรจากหนุ่มน้อยยี่สิบต้นๆ ใส บริสุทธิ์ราวกับเทพอะโดนิส เป็นไปไม่ได้ คุณบอกตัวเอง ถ้าเกรย์เป็นอย่างที่ข่าวลือบอกจริง อย่างน้อยร่องรอยความชั่วช้าต้องปรากฏบนใบหน้านั้นบ้าง
เกรย์มีความลับบางอย่างที่ไม่มีใครรู้...หมายถึงไม่มีใครที่ยังมีชีวิตอยู่รู้ ในห้องเก็บของใต้บันได ท่ามกลางหยากไย่ ฝุ่นสกปรก มีรูปวาดของเกรย์เก็บซ่อนไว้ แต่ละปีรูปนั้นค่อยๆ แก่ลงๆ ขณะที่ตัวชายหนุ่มคงความเยาวัย ไม่เพียงเท่านั้น ร่องรอยความเลวร้ายนานา ดวงตาหลอกลวง รอยยิ้มเหี้ยมโหด มือที่เปื้อนเลือดกัดกินรูปชายหนุ่มไม่ต่างอะไรไปจากหนอนชอนแทะซากศพ
นี่คือคำสาป และพรวิเศษของเกรย์
The Picture of Dorian Gray คือนิยายเล่มแรก และเล่มเดียวของออสการ์ ไวลด์ นักเขียนบทละครผู้โด่งดัง ไวลด์เป็นที่รู้จักดีด้วย wit ของเขา ความแหลมคมในการเลือกใช้คำพูด เช่น "She behaves as if she was beautiful. Most American women do. It is the secret of their charm." ถ้าเทียบกับสมัยนี้ ก็คงคล้ายๆ one-liner หรือท่อนเด็ดซึ่งปล่อยกันตามซิทคอมฝรั่ง The Picture of Dorian Gray มีความเป็นบทละครสูงมาก ตั้งแต่ท่อนเด็ดที่แทบจะโปรยมาบรรทัดเว้นบรรทัด (อย่างน้อยก็ในช่วงแรก) จนถึงความเป็น morality play ของมัน นั่นก็คือบทละคร หรือในกรณีนี้นิยาย ที่ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกว่าจะทำความดี หรือความเลว
ไม่รู้เหมือนกันว่าเกรย์โชคดี หรือโชคร้ายกว่าคนอื่น คนทั่วไปส่องกระจกเพื่อดูรูปกาย แต่เกรย์สามารถมองเห็นวิญญาณได้จากรูปวาดนั้น ชายหนุ่มมีทางเลือกในการรักษาวิญญาณตัวเองให้บริสุทธิ์งดงาม แต่เขาไม่ทำ หรือบางทีไวลด์อาจต้องการเสียดสีแวดวงสังคมอังกฤษที่ไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกเดินไปตามครรลองอันถูกต้อง (อีกหนึ่ง wit "anybody can be good in the country. There are no temptations there. That is the reason why people who live out of town are so absolutely uncivilized.") แต่ที่แน่ๆ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความอัปลักษณ์ทางกายเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มีคนชั่วคนไหนจะทนความอัปลักษณ์ในวิญญาณตัวเองได้ หากต้องเผชิญหน้ากับมันเต็มๆ ตา
ช่วงแรกดีมาก โดยเฉพาะปมความรักระหว่างเกรย์ และซีบิล นักแสดงสาว แต่พอถึงช่วงหลัง หนังสือเริ่มแตกเป็นท่อนๆ เหมือนกับไวลด์ไม่แน่ใจว่าจะให้เนื้อเรื่องดำเนินไปทางไหน อยู่ดีๆ ก็มีตัวละครที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โผล่เข้ามามีบทบาทสำคัญ มิหนำซ้ำบาปส่วนใหญ่ของเกรย์ ถูกนำเสนอด้วยวิธีเล่าผ่านๆ ย้อนหลัง ทั้งที่เราน่าจะได้เห็นพัฒนาการตัวละคร กระนั้นไวลด์ยังสามารถปล่อยหมัด ตัดจบได้เร้าใจ ถึงจะชอบบทละครของเขามากกว่า แต่ The Picture of Dorian Gray ก็มีความน่าสนใจชวนติดตามในแบบของมัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
3 comments:
นวนิยายเรื่องนี้น่าสนใจนะคะ น่าศึกษาแนวจิตวิทยา ไม่ทราบว่ามีแปลเป็นภาษาไทยรึยังคะ
บล็อกใหม่นี่ ตัวหนังสือเล็กจังเลยค่ะ สงสัยต้องพกแว่นขยายก่อนเข้าบล็อกนี้ซะแล้ว
แฮะๆ อ่านง่ายขึ้นหรือยังครับ
เห็นหนังสือเล่มนึง แนะนำหนังสือเล่มนี้ เลยเข้ามา google ดู จึงนำทางมาจนถึงที่แห่งนี้
อ่านบทย่อแล้ว อยากอ่านเต็มเล่มจัง...
Post a Comment