G. Greene's "Monsignor Quixote"


Monsignor Quixote สนุกจังเลย นิยายแบบนี้ก็มีได้ด้วยวุ้ย ทั้งเล่มแทบไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย นอกจากสาธุคุณฆีโฮเต พระในนิกายโรมันคาทอลิก ถกเถียงกับซานโช สหายคู่ใจ อดีตผู้ว่าการเมืองเล็กๆ และนักสังคมนิยม

ที่จริงจะว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรเลยก็ไม่เชิง สมดังชื่อนิยาย Monsignor Quixote เป็นผลงานบูชาครูของเกรแฮม กรีน เขียนถึงมหาอมตะนิยายแห่งโลกตะวันตก Don Quixote สาธุคุณฆีโฮเตในเรื่องเป็นลูกหลานของท่านดอน ส่วนซานโชเป็นแค่คนชื่อเหมือน หลังจากสาธุคุณได้รับการแต่งตั้งเป็น "มองซิเออร์" ช่วงเวลาเดียวกับที่ซานโชเพิ่งแพ้การเลือกตั้งสมัยที่สอง ทั้งคู่ตัดสินใจออกเดินทางท่องสเปนโดยไร้จุดหมายบนรถอีแก่คู่ใจ โรซินันเต (แน่นอนว่านี่เป็นชื่อเดียวกับม้าของดอน) สุดท้ายสาธุคุณก็เจริญรอยตามบรรพบุรุษของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

อย่างที่บอก จะเกิดอะไรในนิยายเล่มนี้ สำหรับเรา มันเป็นแค่เรื่องรอง ที่สนุกจริงๆ คืออ่านนักบวชนิกายแคทอลิกกัดกับนักบวชนิกายมาร์กซิส กรีนตั้งใจสะท้อนให้เห็นความเหมือนและความต่างระหว่างสองปรัชญานี้ที่อยู่คู่โลกตะวันตกมาเกือบสองศตวรรษ ไอเดียแบบนี้ไม่น่าเขียนออกมาได้ยาว แต่กรีนสามารถลากให้เป็นนิยายทั้งเล่มได้ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น มันยังเป็นนิยายที่อ่านสนุกจนวางไม่ลง อ่านจบแล้วก็ได้อาหารสมองดีๆ ไปขบเคี้ยวต่อในภายหลัง

ประเด็นหลักในนิยายคือธรรมชาติของศรัทธา จำเป็นต้องมีความหวาดระแวงสงสัยปนอยู่ด้วย สาธุคุณฆีโฮเตเชื่อว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มันได้ผ่านการพิสูจน์อย่างสิ้นข้อสงสัยแล้วว่าพระผู้เป็นเจ้ามีตัวตนอยู่จริง เมื่อนั้นคือจุดสิ้นสุดของศาสนาคริสต์ เช่นเดียวกัน ถ้ายูโธเปียของมาร์กเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ คอมมิวนิสต์ก็จะสิ้นสุดลงในวันนั้น การมีข้อสงสัยต่างหากคือคุณค่าอันแท้จริงของศรัทธา เหมือนที่ซิเซคพูดไว้ ในโลกนี้อะไรก็ตามที่ไม่ "เลี้ยง" ความขัดแย้งอยู่ในตัวเลยจักสูญสลายไปในที่สุด

อ่าน Monsignor Quixote แล้วก็นึกถึงนิยายพระปะทะคอมมิวนิสต์แบบไทยๆ เรื่อง ไผ่แดง ซึ่งเล่มนั้นเราก็ชอบมาก ทั้งที่ว่ากันตามตรงแล้วสอง "ลัทธิ" นี้เป็นคู่แข่งกันเอง แต่บางทีระหว่างศาสนาและสังคมนิยม อาจมีจุดร่วมกันบางอย่างให้เรารู้สึกเพลิดเพลินกับการได้เห็นคนสองประเภทนี้หยอกเอิน กัดกันไป กัดกันมา

No comments: