H. Ellison's "I, Robot"


ไม่เคยอ่าน I, Robot ฉบับดั้งเดิมหรอก แต่ได้ยินมาว่าบทภาพยนตร์เรื่อง I, Robot ที่เอลลิสันเขียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรวมเรื่องสั้นของอาซิมอฟ เพียงแต่ในภายหลังเพื่อให้มันน่าสนใจขึ้น เอลลิสันเปลี่ยนชื่อบทภาพยนตร์ของตัวเองเป็น I, Robot ตามชื่อหนังสืออันโด่งดัง

ในทางกลับกันบทภาพยนตร์ของเอลลิสัน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภาพยนตร์ I, Robot อีกนั่นแหละ ภาพยนตร์ที่วิล สมิธแสดงนำเรื่องนั้น เป็นหนังที่ผู้คนไม่ใคร่จะนิยมเท่าไหร่ (ทั้งที่มันคือสุดยอดภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21!) ก็เลยเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าบทของเอลลิสันดีอย่างนู้นดีอย่างนี้ (underrated/overrated อีกแล้ว) เราอ่านจบก็ว่าดีจริงๆ นั่นแหละ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ครั้งหนึ่งผู้ผลิตภาพยนตร์เคยคิดจะเอามันมาดัดแปลงจริงหรือเปล่า (ใน imdb ชื่อของเอลลิสัน ไม่ปรากฎในรายชื่อ writer) แต่เราบอกได้ว่าเขาคิดถูกแล้วล่ะที่ไม่ทำ

I, Robot ฉบับเอลลิสันนั้นเป็นบทภาพยนตร์ที่ไม่สามารถนำมาทำเป็นภาพยนตร์ได้ มันเหมาะจะเป็นละครทีวีขนาดสั้นมากกว่า อาจเพราะต้องการรักษาโครงสร้างของรวมเรื่องสั้น I, Robot ฉบับดั้งเดิม บทภาพยนตร์เรื่องนี้เลยแยกเป็นส่วนๆ อย่างชัดเจน โดยแต่ละส่วน เมื่อรวมกันแล้วพูดถึงประวัติเบื้องลึกเบื้องหลังของซูซาน คาลวิน อัจฉริยะนักจิตวิทยาหุ่นยนต์ และโรเบิร์ด เบรธนาล ประธานาธิบดีแห่งจักรวาลคนแรก (นางเอกเรื่อง I, Robot ก็ใช้ชื่อซูซาน คาลวินเหมือนกัน และก็มีอาชีพอย่างเดียวกันด้วย)

ผู้กำกับหนังปฏิเสธที่จะดูภาพยนตร์เรื่อง I, Robot โดยเหตุผลที่เขาให้คือ กฎข้อที่ 3 ของหุ่นยนต์นั้น ที่กล่าวไว้ว่า หุ่นยนต์มีสิทธิป้องกันตัวเอง ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับกฎข้ออื่น ชัดเจนเกินไปว่า ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น "อุปกรณ์สร้างเรื่อง" (plot device) I, Robot ทั้งฉบับภาพยนตร์ และของเอลลิสันก็เล่นกับปริทรรศน์ของกฎสามข้อนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงข้อ 3 เท่านั้น แม้แต่ข้อหนึ่ง และข้อสองเอง ก็ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งต่างๆ

สาเหตุที่เราชอบภาพยนตร์เรื่อง I, Robot เพราะมันแสดงให้เห็นว่ามีแต่หุ่นยนต์ที่หลุดพ้นจากกฎสามข้อเท่านั้น จึงจะประพฤติตัวถูกต้องอย่างแท้จริง นี่คือสาเหตุว่าทำไมพระเจ้าถึงได้สร้างมนุษย์ให้มีความสามารถในการเลือก เลือกว่าจะทำความดี หรือความชั่ว ทั้งที่จริงๆ แล้ว พระเจ้าก็อยากให้มนุษย์เราทำความดีมากกว่า บทภาพยนตร์ของเอลลิสันไม่ได้เล่นประเด็นนี้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า แค่กฎสามข้อไม่ได้รับประกันเสมอไปว่าหุ่นยนต์จะไม่ทำร้ายมนุษย์

No comments: