I. Murdoch's "The Italian Girl"


ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว The Italian Girl อาจไม่ใช่นิยายที่ดีเด่นอะไรนัก แต่มีบางอย่างดึงดูดเรา และทำให้อ่านแล้วไม่ผิดหวัง (หลังจากอ่านนิยายของเมอดอชมายี่สิบกว่าเล่ม "ไม่ผิดหวัง" นี่ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมหาศาล) บางอย่างที่ว่านี้คือความ "เล็กน้อยถ่อมตน" ของมัน The Italian Girl ยาวแค่ 210 หน้า ถ้าจำไม่ผิด นี่อาจเป็นนิยายที่สั้นสุดของเมอดอชที่เราเคยอ่านก็ได้ ภายในจำนวนหน้าบางๆ มันบรรจุความเป็นเมอดอชเข้าไปอย่างครบถ้วน เหมือนภาพวาดของมอนเดรียน ที่ไม่ขาดไม่เกิน กำลังพอดี

แน่นอนว่าเมื่อมันเป็นนิยายแบบเมอดอช ก็แสดงว่าหนีไม่พ้นเรื่องชู้สาวผิดศีลธรรม ออตโต เป็นช่างปั้นขี้เหล้า ซ้อมภรรยา และมีสัมพันธ์สวาทกับเอลซา หญิงสาวสติไม่ดี น้องสาวของเดวิด ผู้เป็นลูกศิษย์ของออตโต ขณะเดียวกันฟลอรา ลูกสาวของออตโตต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดีกับเด็กในครรภ์ ภายหลังจากที่ลิเดีย แม่ของออตโตเสียชีวิต เอ็ดมุน น้องชายของออตโตเดินทางมาร่วมงานศพ เอ็ดมุนคนนี้แหละที่เป็น "ผม" หรือตัวเอก ผู้เล่าเรื่องในนิยาย อ๋อ...แล้วที่ขาดไม่ได้คือ "หญิงสาวชาวอิตาลี" หรือ มาเรีย คนรับใช้ และผู้ดูแลลิเดียในช่วงปั้นปลายชีวิต

ถึงโดยผิวเผิน The Italian Girl จะเป็นนิยายสูตรๆ ของเมอดอช แต่ตัวละครเอ็ดมุนช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีเอกลักษณ์ขึ้นมา The Italian Girl เริ่มเรื่องด้วยเอ็ดมุน มาถึงบ้านของออตโตกลางดึก เราไม่รู้อะไรทั้งนั้น ไม่รู้ว่า "ผม" คือใคร บ้านหลังนี้คือบ้านของใคร ตั้งอยู่ที่ไหน ตั้งแต่ต้นจนจบนิยาย เอ็ดมุนคือบุรุษปริศนา ปราศจากที่มาที่ไป เราพอรู้คร่าวๆ ว่าเขาเป็นนักลงรัก อาศัยอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนสาว หรือเพื่อนชาย ชีวิตของเอ็ดมุนตรงข้ามกับความยุ่งเหยิงในครอบครัวของออตโตอย่างสิ้นเชิง เอ็ดมุนเหมือนกับคนแปลกหน้าที่จู่ๆ ก็เดินเข้ามาในนิยายของเมอดอช ต้องมาเป็นสักขีพยานในละครน้ำเน่าของพี่ชาย พี่สะใภ้ และหลานสาว

ถ้าจะตินิยายเล่มนี้ก็คือตอนจบที่ลากยาวเกิน แต่จะมองว่านั่นเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมอดอชก็ได้ ปัญหาอื่นๆ เช่นอาการเอะอะโวยวายชนิดละครกันตนายังอาย (ใน The Italian Girl มีกระทั่งโมทีฟมรดกลึกลับ) และขนบที่ว่าต่อให้สัมพันธ์ระหว่างตัวละครพันตูยุ่งเหยิงแค่ไหน เมื่อได้มีการระเบิดอารมณ์ มีอุบัติเหตุ และโศกนาฏกรรม คนที่รอดชีวิตมาได้จะพบหนทางสว่างในการแก้ปัญหา ถ้านิยายเล่มนี้มีแต่เรื่องของครอบครัวออตโต มันก็คงเป็นนิยายสูตรๆ ของเมอดอช แต่เมื่อถูกเล่าผ่านสายตา "คนแปลกหน้า" มันกลายเป็นนิยายที่มีชั้นเชิงขึ้นมาในทันที

ถ้าแบ่งนิยายของเมอดอชเป็นสองประเภทคร่าวๆ คือ ที่เกิดในเมือง และเกิดในชนบท The Italian Girl จัดอยู่ในประเภทหลัง แต่มันต่างจากนิยายชนบทเล่มๆ อื่นของเมอดอชคือ ไม่ได้มีการเน้นฉากนัก ทั่วไปแล้วนิยายชนบทของเมอดอชจะเล่นกับเวทมนต์คาถาในธรรมชาติ โดยเฉพาะ The Unicorn ซึ่งเป็นเล่มก่อนหน้า The Italian Girl ด้วยซ้ำ แต่ในสองร้อยหน้าสั้นๆ ของ The Italian Girl มีการบรรยายฉากน้อยมาก ซึ่งเราชอบ

ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากเรียกมันว่านิยาย "เล็กน้อยถ่อมตน" สั้นๆ เล็กๆ กำลังพอดี นี่คือนิยายที่เรานึกภาพตัวเองเขียนได้เลย ใครจะไปรู้ บางทีมันอาจจะกลายเป็นหนังสือที่มีบทบาทกับอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้

No comments: