S. Bellow's "The Adventures of Augie March"


ตั้งใจไว้ว่าในแต่ละปีจะต้องอ่านหนังสือ "ปราบเซียน" ให้ได้ อย่างน้อยหนึ่งเล่ม ปราบเซียนในที่นี้คือยาว หรือยากชนิดที่ว่า พออ่านจบรู้สึกเหมือนตัวเองก้าวข้ามอุปสรรค ยกระดับความสามารถในการอ่านขึ้นไปอีกขั้น หนังสือที่ว่าอย่างเช่น Docter Faustus ของมานน์ The Idiot ของดอสโตเยฟสกี้ หรือ Anna Karenina ของตอสตอย

สำหรับปีนี้หนังสือปราบเซียนดังกล่าวคือ The Adventures of Augie March ซึ่งไม่ใช่ปราบเซียนระดับธรรมดา สังเกตว่าเล่มอื่นที่กล่าวมา ต้นฉบับไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ที่เราอ่านเป็นเวอชั่นแปล ในระดับหนึ่งสำนวนภาษาถูกดัดแปลงให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ The Adventures of Augie March เป็นหนังสือปราบเซียนเล่มแรกซึ่งไอ้ที่ยัดเข้าหัวเราไปคือภาษาของผู้เขียนเองล้วนๆ ก่อนหน้านั้นเคยพยายามอ่านมันไปแล้วสองรอบ และก็ล้มเหลวทั้งสองครั้ง The Adventures of Augie March จึงเสมือนขุนเขาที่ตั้งอยู่บนชั้นหนังสือเรา

เพราะฉะนั้นขณะนี้รู้สึกดีใจมากที่พิชิตมันสำเร็จ!

ความไม่ธรรมดาอีกประการได้แก่ เบลโล ในฐานะนักเขียนรางวัลโนเบลคือตัวแทนวรรณกรรมของชาวอเมริกัน ถ้าติดตามรักชวนหัวมาตลอด จะรู้ว่ารสนิยมเราหนักไปทางยุโรป ดังนั้นการที่อ่าน The Adventures of Augie March ได้จนจบ ก็เสมือนยกทัพขึ้นนิวยอร์ก สามารถวิจารณ์ และพูดถึงวรรณกรรมฝากฝั่งทวีปใหม่ได้อย่างมีดีกรีมากขึ้น

ในตอนจบของหนังสือ เบลโลเปรียบออกี้ มาร์ชพระเอกของเขาว่าเป็นโคลัมบัสยุคใหม่ ในที่นี้หมายถึงผู้ค้นหาหัวใจความเป็นอเมริกา ฉากในเรื่องคือชิคาโกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่าง the great depression หรือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันเผชิญหน้าวิกฤตเอกลักษณ์อย่างรุนแรง ออกี้ มาร์ชคือตัวอย่างสุดโต่งในยุคนั้น ชีวิตไร้แก่นสาร เปลี่ยนงานประจำแทบทุกปี ทำอะไรก็ได้ขอให้มีเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง รวมไปถึงเรื่องผิดกฎหมาย เข้าร่วมพรรคสังคมนิยมโดยมีเป้าหมายเลื่อนลอยที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และท้ายสุดก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าตัวเองเป็นใคร และต้องการอะไร

ชีวิตออกี้ มาร์ชแบ่งได้เป็นห้าช่วงง่ายๆ วัยเด็กจนถึงตอนที่น้องชาย และคุณย่าถูกส่งเข้าสถานเลี้ยงดูคนปัญญาอ่อน และคนชรา วัยรุ่นจนถึงตอนเขาโบกรถข้ามประเทศหลังเกือบถูกตำรวจจับ โทษฐานขับรถที่ขโมยมา วัยหนุ่มจนถึงตอนทะเลาะกับพี่ชาย ผู้แต่งงานกับลูกสาวมหาเศรษฐีเพื่อหวังเงินตรา ไซมอนต้องการตัดสัมพันธ์กับออกี้ เพราะมีคนในครอบครัวภรรยาเห็นเด็กหนุ่มเดินออกมาจากคลินิกทำแท้งค์พร้อมหญิงสาวคนหนึ่ง ช่วงมีความความรัก หรือการผจญภัยในแมกซิโก และช่วงสุดท้าย เรียกว่าช่วง(พยายาม)ตรัสรู้ก็ได้


หนังสืออย่าง The Adventures of Augie March คล้ายกับ Of Human Bondage ของมอฮแกม หรือ Midnight Children ของรัชดี คือเป็นการติดตามชีวิตใครคนหนึ่งผ่านเรื่องราวมากมาย ซึ่งแต่ละเรื่องราวผูกรวมกันไว้ด้วยธีม ในกรณี Of Human Bondage ธีมนั้นคือคำถามที่ว่าทำยังไงเราถึงจะปลดปล่อยความรัก อันภาระที่หนักหน่วงสุดของมนุษย์ ส่วน The Adventures of Augie March พูดถึงความแตกต่างและความยากลำบากในการอยู่ร่วมกันของหลายร้อยชีวิตในสังคม

สรุปสั้นๆ แก่นของ The Adventures of Augie March คือ modernity หรือยุคใหม่ได้ทำลายล้างกฏเกณฑ์ร่วมกันของมนุษย์ แต่ละปัจเจคล้วนแล้วแต่มีหลักการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าตัวเองกำลังทำถูกหรือทำผิด แต่ละฝ่ายถึงต้องพยายามสะท้อนภาพตัวเองไปยังคนรอบข้าง คัดเอาคนอื่นมาเป็นตัวประกอบในละครชีวิตที่เราทุกคนเป็นตัวเอก

ออกี้คือสุดยอดตัวประกอบ การที่เขาเปลี่ยนงาน หรือย้ายจากสถานภาพหนึ่งไปยังอีกหนึ่งสถานภาพไม่ใช่เกิดจากความหยิบโหย่ง หรือล้มเหลว แต่เพราะเขาถูกดึงตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนรอบข้างอย่างง่ายดาย ตั้งแต่คุณย่า ไซมอน เทีย หญิงคนรัก ไอฮอน นักธุรกิจซึ่งเป็นนายจ้างของออกี้ จนถึง พาดิลล่า โจรขโมยหนังสือ และนักศึกษา คุณสมบัติตรงนี้ทำให้ชีวิตออกี้ไม่เคยได้อยู่นิ่ง แตกต่างจาก Of Human Bondage หรือหนังสือแนวนี้เล่มอื่น The Adventures of Augie March คือเรื่องราวละครชีวิตของออกี้ ที่ตัวออกี้มีบทบาทน้อยมาก (ประมาณร้อยห้าสิบหน้าแรก ผู้เขียนแทบไม่เล่าเลยว่าเกิดอะไรกับ title character ผู้นี้)

จุดเด่นสุดของหนังสือเล่มนี้น่าจะอยู่ในช่วงสี่ หรือการผจญภัยในแมคซิโก ระหว่างออกี้ และเทีย เทียใฝ่ฝันจะทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการจับงู จับตะกวด ทั้งคู่เดินทางเข้าไปในทะเลทรายแห้งแล้ง ซื้อนกอินทรีมาตัวหนึ่ง ตั้งชื่อว่าคาลิกูล่า (จักพรรดิโรมันสติไม่ดี) และฝึกสอนมันให้ล่าเหยื่อ ตลอดชีวิตออกี้ เทียคือผู้หญิงที่เขาหลงรักอย่างแท้จริง ครั้งสุดท้ายที่ทั้งคู่ทะเลาะกัน ออกี้พยายามชี้ให้อีกฝ่ายเห็นว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นี้ ใช้ชีวิตกลางทะเลทราย จับงู จัดตะกวดด้วยนกอินทรี มันผิดปรกติแค่ไหน ซึ่งเทียย้อนกลับมา "บางทีสำหรับเธอความรักอาจเป็นเรื่องผิดปกติก็ได้ ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม" ความล้มเหลวในความสัมพันธ์คือโศกนาฏกรรมซึ่งส่งผลกระทบรุนแรง จนชายหนุ่มต้องมาทบทวนชีวิตที่ผ่านมา เฝ้าถามตัวเองว่าเขาผิดปรกติตรงไหน นำไปสู่ช่วง (พยายาม) ตรัสรู้ในตอนท้าย

ข้อเสียประการหนึ่งของหนังสือแนวนี้คือแต่ละเหตุการณ์สัมพันธ์ และเกี่ยวเนื่องยังอีกเหตุการณ์อย่างหลวมๆ เชื้อเชิญให้เราอ่านข้ามๆ ยิ่งบวกกับความยาวมหากาฬ ทำให้ขณะอ่านต้องใจเย็นไม่น้อย โดยเฉพาะพอถึงห้าสิบหน้าสุดท้าย เราเริ่มรู้แล้วว่าอะไรๆ ที่เบลโลเล่ามากำลังจะไม่ได้ใช้ เลยเผลออ่านผ่านอยู่เหมือนกัน ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับ Of Human Bondage ด้วย ถึงอย่างไรก็ตาม ดีใจมากๆ ที่ได้พิชิตนิยายเล่มนี้ลงเสียที

No comments: