O. Lange's "On the Economic Theory of Socialism"


เคยพูดไปแล้วว่า สองสามเดือนครั้ง เราจะหยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ซึ่งอ่านแล้วแน่ใจได้เลยว่าต้องหงุดหงิด ต้องไม่เห็นด้วยกับคนเขียน ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อเตือนตัวเอง ไม่ให้มองอะไรด้านเดียวมากเกินไป On the Economic Theory of Socialism ก็คือหนังสือที่ว่า ซึ่งเหมาะกับคนที่ "คลั่งไคล้" ทุนนิยมอย่างเรา ในบทความชิ้นนี้ แลงก์ถกกับนักเศรษฐศาสตร์สายทุนนิยมซึ่งชอบพูดว่าเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมนั้นปฏิบัติไม่ได้ในชีวิตจริง โดยแลงก์ให้เหตุผลว่านอกจากปฏิบัติได้แล้ว ยังมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าระบบทุนนิยมอีก รวมไปถึงให้ข้อเสนอแนะในตอนท้ายด้วยว่าการจะเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยม ไปเป็นสังคมนิยมนั้น ควรกระทำในรูปแบบไหน

พูดถึงข้อแรกที่บอกว่าเศรษฐกิจสังคมนิยมนั้นปฏิบัติได้จริง แลงก์ให้ความสนใจกับทฤษฎีราคา ซึ่งในระบบทุนนิยม อยู่ภายใต้กลไกตลาด ในระบบสังคมนิยมนั้น กลไกการ "ลองผิดลองถูก" จะเข้ามาควบคุมราคาสินค้า กำลังซื้อของผู้บริโภคแทน โดยประสิทธิภาพไม่แตกต่างไปจากกลไกตลาดมากนัก เพราะยังอิงอยู่บนสมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทาน ซึ่งคำถามต่อไปก็คือ ถ้ามันทำงานได้ไม่แตกต่างกันมากอย่างนี้ จะต้องเปลี่ยนไปเป็นสังคมนิยมให้เมื่อยตุ้มทำไม

ในข้อสอง แลงก์ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจสังคมนิยมดีกว่าทุนนิยมตรงที่ 1) จัดการกับการกระจายรายได้ และทรัพยากรได้ดีกว่า ซึ่งนี่คือจุดอ่อนของระบบทุนนิยมซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รู้ๆ กันอยู่ 2) มันสามารถเอาต้นทุนแฝงเข้าไปรวมอยู่ในราคาสินค้าได้ดีกว่า ข้อนี้อาจต้องอธิบายนิดหนึ่ง ในการผลิตอะไรก็ตาม มักจะมีต้นทุนแฝงซ่อนเร้นเสมอ เช่นค่าเจ็บป่วยของคนงานอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ในการแข่งขันเสรี นายทุนมีแนวโน้มจะไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ เพราะราคาสินค้าขึ้นอยู่กับตลาดมากกว่ากลไกการผลิต แลงก์บอกว่าถ้ารัฐบาลเข้ามาควบคุมการผลิตสินค้า สิ่งเหล่านี้ก็จะสามารถรวมอยู่ในราคาสินค้าได้ด้วย ซึ่งก็หมายถึง ผู้บริโภคก็จะเสียเงินแพงขึ้น เพื่อเอามาใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลให้กับคนงาน

ที่เราพูดมาทั้งหมดนี้ก็ครูพักลักจำเขามาแหละ ใครที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์คงเถียงคืนได้ บทความนี้ก็เขียนมาตั้งแต่ปี 1930 กว่าแล้ว จนถึงบัดนี้ ทฤษฎีพัฒนาไปไหนต่อไหน ดังนั้นเราไม่ขอให้ความเห็นก็แล้วกัน แต่ประเด็นที่เราเพิ่มเติมอยู่ตรงข้อสาม แลงก์บอกว่าการเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยม ไปเป็นสังคมนิยมนั้น ต้องทำแบบครึกโครม สงครามครั้งสุดท้าย เพราะถ้าวันนี้เปลี่ยนอุตสาหกรรมเหมืองแร่เข้ามาอยู่ในมือรัฐบาล แล้วบอกว่าอีกห้าปี จะเอาอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายมาอยู่ในมือรัฐบาลบ้าง นายทุนที่ดูแลอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายก็จะไม่เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงาน สุดท้ายอุตสาหกรรมก็จะล้มก่อนกำหนด ดังนั้นทางเดียวที่จะเปลี่ยนผ่านระบบ คือต้องทำแบบม้วนเดียวจบ ทุกอุตสาหกรรมพร้อมๆ กัน

สองประเด็นที่น่าสนใจคือ 1) ความคิดของแลงก์แทบไม่ต่างอะไรเลยกับนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมที่สนับสนุน "Shock Doctrine" คือการเปลี่ยนผ่านจากสังคมนิยม มาเป็นทุนนิยม โดยเปลี่ยนแปลงทั้งระบบครึกโครม ได้เคยพูดถึงไปแล้วใน Globalization and its Discontents ว่าทำแบบนั้นจะมีผลเสียมากกว่าผลดี และความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจรัสเซียในปัจจุบัน (ironic สุดๆ !) ก็เกิดมาจาก Shock Doctrine ที่ว่า 2) แม้แต่แลงก์เองก็ยอมรับว่าในระบบสังคมนิยม นายทุนผ้าฝ้ายจะไม่มีเหตุผลอะไรให้บริหารกิจการต่อไป ตรงนี้น่าจะบ่งบอกอะไรบางอย่างหรือเปล่าว่า ปัญหาหลักของระบบสังคมนิยมคือการขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ ยูโธเปียก็ยังคงเป็นแค่ความใฝ่ฝันต่อไป

(หมายเหตุ: การ์ตูนที่เอามาแปะข้างบน ฮาๆ มาก คลิกแล้วขยาย เชิญอ่านได้เลยครับ)

H. Hesse's "Peter Camenzind"


Peter Camenzind เป็นนิยายเล่มแรกของเฮสเส แต่เป็นเล่มสุดท้ายของเขาที่เราอ่าน ซึ่งก็เท่ากับว่าตอนนี้เราอ่านนิยายทุกเล่มของนักเขียนรางวัลโนเบลคนนี้จบหมดแล้ว (วู้ฮู! ตบมือให้ตัวเอง เก่งมาก เปาะแปะ!) ถ้าถามว่าชายหนุ่มอายุ 27 ที่เขียน Peter Camenzind จะสามารถเติบโตขึ้นมาเขียน Siddhartha Damian หรือว่า Magister Ludi ได้ไหม ตอบเลยว่าได้ ยิ่งกว่านั้น ถ้ามองว่านิยายเล่มแรกของนักเขียนส่วนใหญ่ จะแฝงความเป็นอัตชีวประวัติเอาไว้เสมอ คาเมนไซนด์ตัวเองของนิยายจะสามารถเขียน Siddhartha Damian และ Magister Ludi ได้ ได้ และได้แน่ๆ

Peter Camenzind คือนิยายที่เป็นนิยายเล่มแรกมากๆ มันมีโมทีฟทุกอย่างที่เราพบเจอในนิยายของเฮสเสเล่มอื่นๆ ตั้งแต่ความชื่นชอบในดนตรี เด็กที่ป่วยและเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กที่จากบ้านไปอยู่โรงเรียนประจำ รักที่ไม่สมปรารถนา สายลม ก้อนเมฆ ทะเลสาป และธรรมชาติของเทือกเขาแอลป์ ชายหนุ่มผู้เปล่าเปลี่ยว หลังจากอ่านนิยายทุกเล่มแล้ว ไม่เกินไปเลยถ้าจะบอกว่า อาชีพนักเขียนของเฮสเสสร้างมาจากการคัดลอก ดัดแปลง และเพิ่มเติมผลงานชิ้นแรกในชีวิตซ้ำไปซ้ำมานี่เอง เราไม่เคยรู้สึกว่าเฮสเสเป็นนักเขียนที่ "ฉลาด" (ไม่เหมือนโธมัส มานที่เป็นเพื่อนสนิทของเฮสเส ขานั้นฉลาดจริง) แต่เขามีความ "น่ารัก" บางอย่าง การที่เขาไม่กลัวที่จะลอกผลงานตัวเอง ก็ตอกย้ำความน่ารักตรงนี้

และ Peter Camenzind ก็เป็นนิยายที่น่ารักเอามากๆ เห้นความใสปิ๊งของเฮสเสในวัยหนุ่ม ก่อนที่เขาจะศึกษาพุทธศาสนา และเป็นนักตะวันออกนิยม ความเป็นอัตชีวประวัติของนิยายเล่มนี้ชัดเจนมาก คาเมนไซนด์ตัวเอกของเรื่องก็คงหนีไม่พ้นเฮสเสนั่นแหละ (ถ้าจะสงสัย ก็สงสัยว่าเฮสเสแข็งแรงพอๆ กับคาเมนไซนด์ที่ปีนเขาได้ด้วยมือเปล่าหรือไม่ เพราะเวลาดูรูปเฮสเสตอนแก่ทีไร ดูเป็นชายชราก๊องแก๊งเหมือนคานธีมากกว่า) Peter Camenzind ไม่มีเนื้อเรื่องชัดเจน นอกจากเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ต่อกัน พูดถึงชีวิตวัยเด็ก และวัยหนุ่มของคาเมนไซนด์ ผู้มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน/กวี และต้องรับมือกับความขัดแย้งในตัวเอง พูดถึงวัฒนธรรมอันตื้นเขินของพวกผู้ดี ผู้มีการศึกษาในเยอรมัน

ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ที่นิยายของเฮสเสเป็นที่นิยมมากในหมู่ชายหนุ่ม เพราะหนังสือของเขามักวนเวียนอยู่กับวัยรุ่น ปัญหาที่พวกเขาต้องพบเจอ การเผชิญหน้ากับโลกกว้างที่ไม่รู้จัก พบรัก ผิดหวังในรัก ค้นหามิตรภาพ นิยายของเฮสเสมักจะให้ความสำคัญกับมิตรภาพ มากกว่าความรักหนุ่มสาว ซึ่งก็มีอิทธิพลไม่น้อย แต่หนักไปในทางลบ หรือสร้างความผิดหวังเสียมากกว่า

สิ่งเดียวที่สร้างความแปลกแยกให้กับ Peter Camenzind คือนิยายเล่มนี้ไม่จบ นิยายของเฮสเสส่วนใหญ่มักจะจบลงที่ความตายของตัวเอก การสิ้นสุดสภาวะบางอย่าง แต่ Peter Camenzind เป็นเล่มเดียวเลยที่จบอย่างค้างคา ให้รู้ว่าเรื่องราวยังมีต่อ คาเมนไซนด์ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป และจะเขียนนิยายออกมาอีกมากมายให้พวกเราได้ติดตามกัน ถือเป็นตอนจบนิยายเล่มแรกของนักเขียนรางวัลโนเบลที่ "น่ารัก" มากๆ

R. Banks's "Continental Drift"


Continental Drift เป็นหนังสือสองเล่มที่เราเกลียดมากๆ มาอยู่ร่วมกันในปกเดียว หนังสือเล่มแรกว่าด้วยการสิ้นสูญความฝันแบบอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเรื่องทำนองนี้มักจะ "ตอแหลทั้งเพ" อีกเรื่องหนึ่งไม่ตอแหลเท่า ว่าด้วยความยากลำบากของผู้อพยพมาประเทศอเมริกา แต่ว่าแบงส์ไปไกลยิ่งกว่า The Jungle ของซินแคล์ก้าวหนึ่ง กล่าวคือผู้อพยพในนิยายเล่มนี้มาไม่ถึงประเทศอเมริกาด้วยซ้ำ นี่คือความยากลำบากของการอยากอพยพมาอเมริกา

ตัวเองของนิยายเรื่องแรกคือดูบอย เป็นผู้ชายอเมริกันอายุสามสิบกว่าๆ ทั่วไป ที่ชอบปรากฎตัวใน "วรรณกรรมอเมริกัน" แต่ไม่ค่อยพบเห็นเท่าไหร่ตามท้องถนนในชีวิตจริง เขาเป็นช่างประปาในเมืองเล็กๆ ของนิวแฮมเชีย ชีวิตมีความสุขพอใช้ แต่งงานแล้ว มีลูกสองคน มีเมียน้อยคนหนึ่ง แต่ดูบอยไม่พอใจกับชีวิตตัวเอง อย่างไร้เหตุผล จึงตัดสินใจโยนทุกสิ่งทุกอย่างทิ้ง แล้วย้ายไปอยู่กับพี่ชายที่ทำงานร้านขายเหล้าในฟลอริด้า ภรรยาก็ดีแสนดี บ้าจี้ตามไปด้วย โดยไม่คัดค้าน

สาเหตุที่เราเกลียดเรื่องทำนองนี้มากๆ เพราะมันเป็นเรื่องของตัวละครโง่เง่า ที่นอกจากจะหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมตัวเองถึงไม่พอใจชีวิตปัจจุบันของตัวเอง จะต้องหาเรื่องเดินมั่วซั่วเข้าไปหาชีวิตที่เฮงซวยยิ่งกว่าเก่า ชีวิตของดูบอยตั้งแต่งานช่างประปา เจ้าของร้านขายเหล้า เรือตกปลา และลงเอยที่เรือลับลอบนำตัวผู้อพยพจากไฮติ ประกอบไปด้วยการเลือกผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ทำให้ชีวิตของเขาเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ อย่างสาสม

เราสมเพช และรังเกียจตัวละครตัวนี้มากๆ โดยไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าแบงส์รู้สึกอย่างไร เขาต้องการให้ดูบอยเป็นตัวอย่างที่ผิด ที่ผู้อ่านควรจะหลีกเลี่ยงหรือเปล่า อาจจะใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้ แบงส์พูดในตอนจบว่าทั้งหมดนี่คือเรื่องราวของชายที่ "ใช้ได้" แต่ก็เป็นแค่คน "ธรรมดา" เราไม่คิดว่าดูบอยเป็นคนธรรมดา อย่างที่บอกไปแล้ว ดูบอยคือความหมกมุ่นของคนขาวที่ร่ำรวย ที่ต้องการสร้างดรามาบางอย่างในชีวิตตน ใครที่มีสติหน่อย มาอ่านหนังสือเล่มนี้ ก็น่าจะบอกได้ว่าจุดจบของชีวิตเช่นนี้จะเป็นอย่างไร

สิ่งที่ดูบอยต้องการไม่ใช่การ disillusion หรือการตื่นจากความฝันแบบอเมริกัน เขาต้องการพุทธศาสนา

นิยายอีกเรื่องหนึ่ง ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับเรื่องราวของดูบอย พูดถึงหญิงสาว เด็กทารก และเด็กชายชาวไฮติ ที่อยู่ดีๆ อย่างไร้เหตุผล ก็อยากอพยพมาอยู่ประเทศอเมริกา อาจจะเนื่องจากได้ยินข่าวลือมากมายว่าชีวิตบนผืนทวีปร่ำรวย มีความสุขแค่ไหน สิ่งที่คล้ายคลึงกับเรื่องแรก คือสุดท้ายคนเหล่านี้ก็ต้องจ่ายราคาความโง่เขลาของตัวเอง

พูดแบบนี้ไร้หัวใจไปหน่อยหรือเปล่า เราตอบว่าไม่ Continental Drift เช่นเดียวกับ The Jungle เป็นนิยายของผู้อพยพที่มีแต่คนขาวเท่านั้นจึงจะเขียนขึ้นมาได้ เขียนขึ้นมาเพราะต้องการ glamorize ความเจ็บปวด ความยากลำบากของชีวิตในอเมริกา โดยไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ถ้าชีวิตในอเมริกามันเลวร้ายขนาดนั้นจริง จะย้ายมาทำไมตั้งแต่แรก

T. Sturgeon's "More than Human"


นอกจากจะดีอย่างที่นิยายวิทยาศาสตร์สมควรจะดีแล้ว More than Human ยังมีโครงสร้างการเล่าเรื่องน่าสนใจ ชวนให้เรานึกถึงผลงานคลาสสิคอย่าง If on a Winter's Night a Traveler โดยในเล่มนั้น โจทย์ที่คาลวิโนตั้งไว้ให้กับตัวเองคือ ทำอย่างไรถึงจะเขียนนิยายสักเล่มให้อ่านแล้วได้อารมณ์ตื่นเต้น แปลกใหม่ ราวกับกำลังอ่านนิยายเล่มใหม่อยู่ตลอดเวลา More than Human คือนิยายอีกเล่มหนึ่งที่ตอบโจทย์ดังกล่าว โครงสร้างของมันลื่นไหล ไม่อาจเดาเรื่องได้ กระทั่งว่าใครเป็นพระเอก ผู้ร้าย คนดี คนชั่ว ยังเดาไม่ค่อยจะถูก จนกว่าจะถึงหน้าสุดท้าย ตัวละครที่ทำน่าเหมือนจะเป็นนางเอก พระเอกช่วงแรกของนิยาย พอถึงบทต่อไป อยู่ดีๆ ก็เดี้ยงไปเฉยๆ ส่วนตัวประกอบก็กลับกลายมาเป็นตัวเอกเสียได้

More than Human แบ่งเป็นสามบท โดยระหว่างบท มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นเมื่อเริ่มบทใหม่ คนอ่านจะรู้สึกเหมือนกำลังอ่านนิยายอีกเล่มหนึ่ง ประกอบกับตัวเอกของทั้งสามบทนี้แตกต่างกันไปด้วย ถ้าใครไม่ตั้งใจอ่าน อาจงงเอาง่ายๆ วิธีการนำเสนอเช่นนี้เหมือนกับบทภาพยนตร์ I, Robot หรือนิยาย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน หรือเปล่า เราว่าไม่ใช่ กรณีนั้น เหมือนเป็นเรื่องสั้นต่อๆ กันโดยใช้ตัวละครชุดเดียวเสียมากกว่า ความโดดเด่นของ More than Human อยู่ตรงการสร้างสมดุลระหว่างความโดดเดี่ยว และสัมพันธ์ระหว่างกันของแต่ละบท เป็นนิยายที่มีเสน่ห์ของรวมเรื่องสั้น แต่ก็ยังรักษาความเป็นนิยายเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

พูดถึงเนื้อเรื่องเสียหน่อย More than Human เป็นเรื่องราวของมนุษย์พันธุ์ใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีพลังจิตแล้ว ยังมีสมองที่สื่อสารระหว่างกันได้โดยอัตโนมัติ เชื่อมต่อ homo sapien ห้าหกคนเข้าเป็น homo gestalt คนเดียว ไอเดียนี้ก็เข้าท่าดีอยู่หรอก แต่เราอดรู้สึกไม่ได้ว่ามันพิกลๆ แค่เป็นมนุษย์พลังจิตอย่างเดียวก็เจ๋งไม่รู้จะเจ๋งอย่างไรแล้ว อย่างตัวเอกคนหนึ่ง เจอรี มีพลังอ่านจิตใจ ขโมยความทรงจำ และดัดแปลงความคิดของอีกฝ่าย ใครไม่ระวัง เผลอจ้องตาเจอรีแค่แวบเดียว อาจถูกขโมยความคิด และกลายเป็นบ้าได้ ถ้ามีความสามารถระดับนี้ (มหัศจรรย์ยิ่งกว่าศาสตราจารย์ซาเวียใน x-men อีก) เรื่องเชื่อมโยงอะไรนั่น ดูออกจะยิบย่อยไปหน่อยหรือเปล่า

คำถามหลักของ More than Human คือ สำหรับมนุษย์พันธุ์ใหม่ ควรใช้หลักศีลธรรมอะไรดี มาเป็นแนวทางกำหนดพฤติกรรม ในเมื่อหลักศีลธรรมต่างๆ ล้วนแต่ถูกเขียนมาโดยมนุษย์พันธ์เดิมทั้งสิ้น สเตอเจียนพยายามสร้างคำตอบง่ายๆ ฉลาดๆ ซึ่งถึงจะพอรับได้ แต่ออกจะตีหัวเกินไปหน่อย ความยอดเยี่ยมของนิยายเรื่องนี้จึงอยู่ที่โครงสร้างในการเล่าเรื่อง มากกว่าความเป็นไซไฟ หรือคำถามเชิงปรัชญาของมัน

K. M. Brown's "Mama Lola"


มีคนชอบหาว่านักวิทยาศาสตร์สื่อสารกับคนธรรมดาไม่รู้เรื่อง ถึงกับต้องมีอาชีพ "ผู้สื่อข่าวตัวกลาง" สำหรับเขียน และอธิบายสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พูด ให้คนธรรมดาฟังอีกทอดหนึ่ง ในฐานะที่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ไม่รู้หรอกว่าข้อกล่าวหานี้จริงหรือเปล่า แต่คิดว่า อีกอาชีพที่สื่อสารกับคนธรรมดาไม่ค่อยรู้เรื่อง คือพวกอาชีพเวทมนตร์ คาถา พ่อมดหมอผีนี่แหละ เคยมีนิยายไทยเรื่องหนึ่งซึ่งเขียนเกี่ยวกับนาฏศิลป์คนทรงเจ้า อ่านดูก็รู้ว่าคนเขียนใส่ใจ และรักหัวข้อเรื่องอย่างมาก อาจจะมากไปเสียด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายก็ได้แต่บอกว่าการรำชนิดนี้มันเลิศนะจ๊ะ ใครที่ศึกษา ที่มาทางนี้ ฉลาดปราดเปรื่อง เป็นปราชญ์ เป็นเมธี แต่ก็เท่านั้นเอง ไม่อาจสื่อสารความเลอเลิศเหล่านั้น ให้คนธรรมดาเข้าใจ หรือชื่นชมได้

อะไรที่มันเป็นเหตุเป็นผลมากๆ และไร้เหตุไร้ผลมากๆ ก็ยากทั้งนั้นแหละจะให้คนทั่วไปเข้าถึง

เมืองไทยจึงต้องการคนอย่างคาเรน แมคคาธี บราวน์ ผู้เขียน Mama Lola บราวน์เป็นคนขาวที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมวูดู ซึ่งเป็นกึ่งศาสนา กึ่งเวทมนต์คาถาของชาวเฮติ เธอเข้าไปคลุกคลีกับเอลัว นักบวชหญิงแห่งวูดู ที่อาศัยอยู่ในมหานครนิวยอร์ก บราวน์สามารถทำให้คนอ่านทั่วไป ที่ไม่เคยสัมผัสอะไรเกี่ยวกับวูดูเลย นอกจากภาพลบของมัน ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ได้เข้าใจที่มาที่ไปของวัฒนธรรมนี้ ได้เห็นทั้งข้อดี และข้อเสีย และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าวูดูคือมนต์ดำคำสาปหรือ "ศาสนาแห่งการอยู่รอด" กันแน่

บราวน์พูดได้น่าขบคิดมากว่ามีแต่ศาสนาของคนขาว หรือคนร่ำรวย อย่างศาสนาคริสต์เท่านั้น ที่พูดถึงเรื่องศีลธรรม วูดูซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างศาสนาคริสคาทอลิก และความเชื้อแอฟริกาดั้งเดิม ผสานกันอยู่ในประเทศที่ตัดตัวเองจากโลกภายนอกเป็นเวลาเกือบสามศตวรรษ ประเทศที่ยากจนที่สุดในซีกโลกตะวันตก เกิดเป็น "ศาสนาแห่งการอยู่รอด" ศาสนาที่สอนให้ผู้ศรัทธาต่อรอง เจรจาธุรกิจกับเทพเจ้า ศาสนาที่ไม่เชื่อในสถาบันครอบครัว พ่อ แม่ ลูก และศาสนาที่อนุญาตให้ผู้ศรัทธาพูดเท็จ หรือปกปิดความจริงได้ เพื่อการอยู่รอด

พิธีกรรมของวูดูจะเกี่ยวพันกับการเข้าทรงลงเจ้า ซึ่งคนทรงก็เรียกคล้ายๆ ของไทยว่า "ม้า" ผิดแต่คนที่มาลงไม่ใช่วิญญาณบรรพบุรุษ หากเป็น "เทพ" หรือพูดให้ถูกคือนักบุญตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ โดยแต่ละบทของ Mama Lola จะพูดถึงนักบุญแต่ละตนที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน บ้างก็เป็นเทพแห่งสงคราม แห่งการค้าขาย แห่งความอดทน แห่งเกษตรกรรม โดยแต่ละบุคคลจะมีเทพประจำตัว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเทพองค์อื่นเลย ไม่ว่าในการตัดสินใจอะไรก็ตาม เป็นน้ำเสียงของเทพทุกองค์ที่โต้แย้งถกเถียงไปมาจนกว่าจะได้ข้อสรุป ที่เป็นผู้ตัดสิน ปรัชญาวูดูลื่นไหล และใกล้เคียงกับจิตวิทยาในความเป็นจริงมาก เพราะคงไม่มีมนุษย์สามมิติคนใดที่แบนๆ มีนิสัยแค่ด้านเดียว

ประเทศไทยเรา ในปัจจุบัน รับเอาศาสนาพุทธเข้ามาอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ก็เลยไม่ค่อยมีเทพอะไรแบบนี้ให้มาเข้าทรง มีแต่วิญญาณคนตาย ซึ่งก็น่าคิดเหมือนกันว่าย้อนไปสักแปด เก้าร้อยปีก่อน วิญญาณที่มาเข้าทรงจะเป็นพระแม่โพสพ พระแม่คงคา พระพิรุณอะไรแบบนี้หรือเปล่า ถ้าใช่ ทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงได้สูญหายไปจากวัฒนธรรมไทย

บราวน์ยังเล่าชีวประวัติของครอบครัวของอาลัว ตั้งแต่รุ่นทวด จนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน บราวน์จงใจให้ครอบครัวนี้คือตัวแทนความยากลำบากของชีวิตชาวเฮติ และชาวเฮติที่อพยพมาในนิวยอร์ก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจศาสนาวูดูอย่างชัดเจนขึ้น บราวน์ใช้วิธีเล่าเรื่องสลับไปมา บางทีก็กระโดดข้ามฉากชีวิตของอาลัว จากจุดนี้ ไปยังจุดนั้น ซึ่งก็ทำให้ตามเรื่องยากอยู่เหมือนกัน การใช้ครอบครัวเดียวเป็นโลกขนาดเล็ก (microcosm) สะท้อนสิ่งที่ใหญ่กว่า ก็เป็นเทคนิกที่ดีในการทำให้คนอ่านเข้าใจเฮติ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ประเทศเฮติจริงๆ ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย (คุ้นๆ ว่ามันเลิกทาสก่อนประเทศอื่นใดในโลก) ถ้าบราวน์จะเปิดพื้นที่ตรงนี้ อธิบายประวัติศาสตร์เฮติ ก็คงช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

E. S. Bowen's "Return to Laughter"


"ธรรมชาติ" ของมนุษย์คือการหัวเราะเยาะคนที่เขาด้อยกว่า คนที่กำลังอับโชค หรือพานพบอุปสรรคบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลต้องการเย้ยหยัน หรือปลุกปลอบใจอีกฝ่ายก็ตาม แต่เพราะความ "ศิวิไลซ์" ทำให้นิสัยนี้กลายเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ในสังคม ต้องให้นักมนุษยวิทยาอย่างเลอรา โบฮานาน (ชื่อจริงของเอเลนอร์ สมิธ โบเวน) เดินทางไปสัมผัสกับชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ความจริงตรงนี้ถึงได้ประจักษ์ แต่ประจักษ์แล้วเป็นอย่างไร มันส่งอิทธิพลอย่างไรต่อมนุษย์ที่ "ศิวิไลซ์" แล้วอย่างโบฮานาน นั่นคือคำถามที่ต้องไปติดตามคำตอบกันเอาเองใน Return to Laughter

ช่วงแรกที่โบฮานานย้ายเข้ามาอยู่กับชนเผ่าพื้นเมือง เธอพูดภาษาท้องถิ่นไม่เป็นสักคำ ล่ามเลิ่มอะไรก็ไม่มี ทุกอย่างรอบตัวเธอเต็มไปด้วยอาการ "lost in translation" เราสนุกมากๆ กับความพยายามของเธอในการเรียนรู้ภาษา และปฏิกริยาของชาวเผ่าซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างมองเธอเป็นเด็กๆ และชื่นชมเธอในฐานะที่เป็นคนขาว เนื่องจากยาของคนขาวมักจะมีประสิทธิภาพดีกว่ายาท้องถิ่น

เมื่อผ่านช่วง "lost in translation" ไปได้ โบฮานานเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเผ่า เราก็ได้เห็นประเด็นน่าขบคิดมากมาย ชนเผ่าพื้นเมืองของโบฮานานเป็นพวก "ผัวมากหลากเมีย" (polygamy) ซึ่งคนที่ศิวิไลซ์แล้วอย่างโบฮานาน (และผู้อ่าน) จะเข้าใจสถาบันครอบครัว และวัฒนธรรมการแต่งงานของพวกเขาได้ ถึงขั้นต้องรื้นสร้างคำศัพท์ และความเข้าใจทุกอย่างที่เรามีเกี่ยวกับสถาบันเหล่านี้กันเลยทีเดียว กลับเป็นผู้หญิงเสียอีกที่คอยหาภรรยาน้อยมาให้ผู้ชาย เพื่อจะได้มีผู้หญิงมาช่วยทำงานบ้าน กดดันสามี และให้แน่ใจว่าสามีจะมีทายาทสืบสกุล ภรรยาน้อยที่ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน ก็จะกลายเป็น "ภรรยา" ของภรรยาหลวงอีกที ผู้หญิงเหล่านี้เชื่อว่าถ้าปล่อยผู้ชายไว้เฉยๆ พวกเขาจะขี้เกียจสันหลังยาว และพอใจกับการมี และให้ภรรยาคนเดียวคอยปรนนิบัติรับใช้ อ่านแค่นี้ เราถึงกับอึ้งรับประทานไปเลย

เลยอดคิดไม่ได้ว่า สังคมไทยโบราณก็มีลักษณะ "ผัวมากหลากเมีย" เช่นเดียวกัน แต่เมื่อลัทธิล่าอาณานิคมเข้ามา เราต้องพยายามให้ฝรั่งเห็นว่าบ้านเมืองเราทันสมัย เหมือนกับพวกเขา ก็เลยประณามยามเหยียดพฤติกรรมดังกล่าว ผู้ชายที่มีเมียหลายคนพบเห็นได้บ่อยๆ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ วรรณคดี และส่วนใหญ่ ผู้เล่าเรื่อง (ครู คนเล่าเรื่อง ผู้กำกับ หรือกบว.) ก็มักจะสอดแทรกข้อคิดต่อต้านลักษณะนิสัยเยี่ยงนี้เสมอ พร้อมกับที่มี "ผู้หลักผู้ใหญ่" ออกมาแก้ตัวเป็นระยะๆ ว่านี่คือเรื่องปรกติของสังคมไทยในสมัยนั้น ทำให้เกิดคำถามว่าเรามีทางเลือกแค่สองทางเท่านั้นหรือคือต่อต้าน หรือสนับสนุน ทั้งที่จริงๆ ถ้าเราศึกษา และพยายามทำความเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง เฉกเช่นเดียวกับที่โบฮานานทำความเข้าใจชนเผ่าในแอฟริกา เราอาจได้เห็นตัวตน และวัฒนธรรมไทยอย่างชัดเจนขึ้นก็ได้

นอกจากเรื่องผัวมากหลากเมีย เวทมนต์คาถา และศาสนาพื้นเมือง ก็เป็นอีกสิ่งที่โบฮานานศึกษา แม้ว่าในความเป็นคนขาว เธอจะไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่เธอก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำสาป และพ่อมด ไม่ใช่แค่อะไรบางอย่างลอยๆ ที่นึกจะเรียกใช้ หรือนึกจะเชื่อก็เชื่อได้ นึกจะไม่เชื่อก็ไม่เชื่อ แต่มันคือส่วนหนึ่งของสถาบันในสังคม ดังนั้นกิจการ กฎหมาย และการเมืองของชาวพื้นเมืองจึงอิงอยู่บนศรัทธาไสยศาสตร์ ซึ่งก็คล้ายๆ กับสังคมไทย ที่ไม่ว่าเราจะพยายามปกปิด หรือดูแคลนสิ่งเหนือธรรมชาติสักเพียงใด เราก็ไม่อาจปฏิเสธมันได้ และน่าจะดีกว่าถ้าเราพยายามทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้

ช่วงท้ายๆ ของนิยายเล่มนี้สนุกมาก เมื่อโบฮานานตัดสินใจว่าพอกันที กับการเป็น "เบี้ยหมาก" ในเกมการเมืองระหว่างผู้อาวุโสสองคน (อีกจุดหนึ่งที่ชอบมากคือการแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในชนเผ่าพื้นเมือง การเมือง การต่อรอง และการต่อสู้เพื่อชิงอำนาจก็มีให้เห็นเป็นปรกติ) การตัดสินใจตรงนี้ เกิดขึ้นในวันที่เธอพบเห็นเด็ก และชายหนุ่มในเผ่าที่เป็นเพื่อนสนิทของเธอ กลั่นแกล้งคนตาบอด เสร็จแล้วก็หัวเราะเยาะสะใจกับการกระทำของตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในโลกที่ศิวิไลซ์แล้ว โบฮานานเรียกเพื่อนของเธอว่า "คนป่าเถื่อน" และตัดสินใจว่าเธอจะกลายเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างแท้จริง แต่กลายเป็นว่าสิ่งแรกที่เธอทำก็คือกระโดดลงไปเล่นเกมการเมืองกับผู้อาวุโส เธอต่อสู้ เจรจาต้าฮ้วยกับทั้งสองด้วยตัวของเธอเอง จนได้มาซึ่งสถานภาพผู้สังเกตการณ์ เป็นปมยอกแย้งบางอย่าง ซึ่งเราก็ยังขบคิดไม่ออกเหมือนกันว่าโบฮานานต้องการบอกอะไรกันแน่

ช้าง งู และเลือด


ในที่สุดก็ได้อ่านบทวิจารณ์ ฟ้าบ่กั้น ของอาจารย์ชูศักดิ์ในนิตยสาร อ่าน เล่ม 3 ดีใจจนเนื้อตัวเต้นตอนที่รู้ว่าอาจารย์ชูศักดิ์จะหยิบงานชิ้นนี้มาพูดถึง และยิ่งบังเอิญเหลือเกินว่าล่าสุดก็เพิ่งเขียนถึงอาจารย์คำสิงห์ไป (ส่วน "โจทย์" ที่คุณขอมา ไม่ลืมนะครับ แต่ขอเวลาไปรวบรวม ตกผลึกความคิดสักพัก)

เราชอบรวมเรื่องสั้นของอาจารย์คำสิงห์เล่มนี้ ไม่ได้ชอบที่ตัวเรื่องนะ แต่ชอบคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์วรรณกรรมของมัน นี่คือตัวอย่างเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ "บริสุทธิ์" ที่สุด ถ้าบรรณาธิการสุชาติต้องการปฏิวัติ และดึงเรื่องสั้นไทยออกจาก "หล่มเพื่อชีวิต" เราเห็นว่าสิ่งแรกที่ควรทำคือนำ ฟ้าบ่กั้น มาศึกษา และรื้อสร้างอย่างละเอียด ต้องบอกไว้ก่อนว่า พูดแบบนี้ไม่ใช่การชมเพื่อหลอกติแต่อย่างใด ในแวดวงเพื่อชีวิต ฟ้าบ่กั้น น่าจะจัดว่าเป็นบรมครูของงานแนวนี้ได้ เราชื่นชมอาจารย์คำสิงห์ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว แต่ถ้าในปัจจุบัน ใครริเขียนหนังสือแบบนี้ออกมาอีก ไม่ว่าจะด้วยเพราะเคย หรือไม่เคยอ่าน ฟ้าบ่กั้น ก็สมควรแล้วที่จะฝังตัวเองอยู่ในหล่ม

ในทีนี้จะขออนุญาตตั้งเป้าไปยังเรื่องสั้น ไพร่ฟ้า เพราะในฉบับที่เราอ่าน มันเป็นเรื่องเปิดเล่ม จึงเป็นเรื่องที่เราจดจำได้แม่นยำสุด และขอเหมาด้วยว่ามันต้องมีดี มีเด่นอะไรบางอย่าง ถึงออกมายืนต้อนรับผู้อ่านอยู่ตรงนั้นได้ (แม้ว่าถ้าเอาตามประวัติหนังสือ มันอาจจะเป็น "ส่วนเกิน" อยู่เรื่องเดียวก็ได้) และความน่าสนใจของ ไพร่ฟ้า คือเนื้อเรื่องมันดั๊นไปพ้องกับ พลายทองคำ ของอาจารย์มนัส ชนิดยังกับแกะ โดยงานเขียนของอาจารย์มนัสต่างยุคต่างสมัยกับของอาจารย์คำสิงห์ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบเคียงกัน จะยิ่งเห็นกลไก ตะปู นอต และเฟืองซึ่งประกอบกันเป็นเรื่องสั้นสัจนิยม และสัจนิยมสังคมนิยม (เพื่อชีวิต)

ทั้ง พลายทองคำ และไพร่ฟ้า พูดถึงหนุ่มชาวบ้าน ควาญช้าง ซึ่งถูกผู้ดีชาวกรุง/เศรษฐีท้องถิ่นลักเอาหญิงที่ตนหมายปองไป หนุ่มควาญช้างถูกฆ่าตาย และในตอนจบก็เป็นช้างของเจ้าหนุ่มนั่นแหละ มาแก้แค้นให้เจ้านาย (ถ้าจำไม่ผิด เหมือนจะเป็นฉากงานแต่งงานระหว่างสาวเจ้า และเศรษฐี ในทั้งสองเรื่องนี้เสียด้วย) การที่มันมีเค้าโครงเรื่องเหมือนกันนั้น ไม่ได้หมายความว่าใครลอกใครมา แต่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจจากนิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องเล่าท้องถิ่นด้วยกันทั้งคู่เสียมากกว่า

อาจารย์คำสิงห์เขียน ไพร่ฟ้า ในขนบของสัจนิยมสังคมนิยม (socialist realism) ซึ่งน่าจะใกล้เคียงสุดกับสิ่งที่คนไทยเรียกว่า "เพื่อชีวิต" เราจะเห็นว่าทุกอย่างถูกแบ่งเป็นสองขั้ว ผู้อยู่ใต้อำนาจ/ผู้มีอำนาจ หญิง/ชาย เถื่อน/กรุง ยากจน/มั่งมี โดยแต่ละคู่ขั้วแฝงความนัยไว้เสมอว่าสิ่งหนึ่ง "เหนือ" กว่าอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกการตีความต้องลงความเห็นเหมือนกันหมด ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งน้ำเสียงของอาจารย์คำสิงห์เหมือนจะกล่าวว่า "กรุง" ดีกว่า "เถื่อน" แต่แท้ที่จริง นั่นคือการกล่าวแบบประชดประชัน เพื่อยั่วล้อความคิดของชนชั้นสูงในสมัยนั้น แน่นอนว่าการอ่านในแต่ละยุค ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ย่อมนำไปสู่การประเมิณคู่ขั้วที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่มันเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแล้ว การตีความยังถูกจำกัดด้วยคู่ขั้วดังกล่าว พูดกันขำๆ ตามหลักคณิตศาสตร์คือ มีวิธีอ่าน ไพร่ฟ้า แค่ 2 ยกกำลัง n วิธี โดย n คือจำนวนคู่ขั้วทั้งหมด ไม่นับว่าคู่ขั้วล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กัน เช่นถ้าตี เถื่อน > กรุง ก็ต้องต่อด้วยว่า ผู้อยู่ใต้อำนาจ > ผู้มีอำนาจ

หันกลับมาดู พลายทองคำ บ้าง อาจารย์มนัสเขียนเรื่องสั้นชิ้นนี้ เผลอๆ ในสมัยที่คนไทยยังไม่รู้จักคำว่า "สังคมนิยม" ด้วยซ้ำ นี่คืองานเขียนแนวสัจนิยม ที่นำเสนอภาพชีวิตในชนบท โดยปราศจากมายาคติแบบคู่ขั้วใดๆ ทั้งนั้น เศรษฐีท้องถิ่นไม่ได้แตกต่างจากหนุ่มควาญช้าง เป็นลูกผู้ชายสองคน ที่แม้ฐานะวัตถุเหลื่อมล้ำ แต่มีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน และวิธีการที่เศรษฐีใช้กำจัดศัตรูคู่แข่งก็เป็น "วิถีลูกผู้ชาย" แบบหนึ่ง (ซึ่งตรงนี้เป็นธีมในผลงานหลายชิ้นของอาจารย์มนัส) ซึ่งถ้าเรายึดว่า "ทุกอย่างยุติธรรมหมดในการสงคราม และความรัก" ก็ไม่อาจเอาไปตัดสินได้ว่าใครดี หรือเลวกว่าใคร

เรื่องช้างๆ ๆ นี้ของใครโดนใจกว่ากัน ก็ขึ้นกับรสนิยมส่วนตัว สัจนิยมสังคมนิยมแบบของอาจารย์คำสิงห์เปิดโอกาสให้แทรกข้อคิดทางการเมืองได้ง่ายกว่า ส่วนสัจนิยมของอาจารย์มนัสเปิดกว้างต่อการตีความได้หลากหลายกว่า

มี "นิยาย" อีกสองเรื่องซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กัน และน่าจะเอามาเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจ "หล่มเพื่อชีวิต" ได้อย่างชัดเจนขึ้น เรื่องแรกคือ งู ของคุณวิมล ไทรนิ่มนวล และอีกเรื่องคือภาพยนตร์ There Will Be Blood (ซึ่งแม้จะสร้างจากนิยาย Oil แต่เราไม่เคยอ่านฉบับหนังสือ เลยไม่กล้าฟันธง) ทั้งสองเรื่องพูดถึงความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกันระหว่างทุนนิยม และศาสนา ซึ่งนำไปสู่การกดขี่ข่มเหงคนตัวเล็กตัวน้อย ขณะที่ งู นำเสนอออกมาในรูปแบบคู่ขั้ว คือเราจะบอกได้ทันทีว่าใครดี ใครเลว There Will Be Blood น่าสนใจกว่าตรงความลื่นไหลของการตีความ กระทั่งถึงตอนจบ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าควรรู้สึกเช่นไรกับตัวละครตัวนั้นตัวนี้

ล่าลายเซ็น


ใน The Unbearable Lightness of Being มีฉากหนึ่งน่าสนใจ โทมัสเคยเขียนบทความต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งพอคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจ (ด้วยความช่วยเหลือจากรถถังรัสเซีย) เขาก็เลยถูกไล่ออกจากอาชีพหมอ ในฉบับหนังสือ โทมัสได้รับการติดต่อจากลูกชายของเขา ซึ่งตอนนี้ทำงานอยู่ในกลุ่มใต้ดินที่ต่อต้านรัฐบาล โดยลูกชายให้ข้อเสนอว่า ถ้าโทมัสยอมเซ็นชื่อในฐานะปากเสียงของปัญญาชนต่อต้านคอมมิวนิสต์ (ซึ่งเขาก็เป็นจริงๆ นั่นแหละ) เขาสามารถจัดการใช้เส้นสายให้พ่อได้งานเก่าคืนมา ที่ตลกคือในฉบับภาพยนตร์ แทนที่จะเป็นลูกชายของโทมัสมายื่นข้อเสนอนี้ กลับเป็นตัวแทนจากรัฐบาล ผู้มีอำนาจ เจ้าของรถถัง ซึ่งวันดีคืนดี ก็มาบอกกับโทมัสว่า ถ้าคุณยอมเซ็นชื่อในฐานะปากเสียงของปัญญาชนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ โทมัสจะได้งานเก่ากลับคืนมา ในฉบับหนังสือ "สุ่มเสียงที่ยั่วเย้า" โทมัสมาจากกลุ่มผู้ต่อต้าน แต่ในฉบับภาพยนตร์ เป็นผู้มีอำนาจเองที่ยื่นข้อเสนอดังกล่าว

จริงๆ ความแตกต่างตรงนี้น่าสนใจมาก รวมไปถึงการตัดสินใจของโทมัสด้วย แต่ไม่ใช่ที่อยากพูดถึงในวันนี้ ที่อยากพูดถึงในวันนี้ คือวาระเรื่องการเมือง และลายเซ็นของนักเขียน ล่าสุดนักเขียนกลุ่มหนึ่งนำทีมโดยอาจารย์ลาว คำหอม ศิลปินแห่งชาติ และคุณวัฒน์ วรรลยางกูร มาขึ้นเวทีเสื้อแดง พร้อมทั้งยื่นแถลงการณ์หนุนชุมนุมกดดันรัฐบาล น่าตื่นเต้นไม่น้อย เพราะทางฝ่ายเสื้อเหลืองเองก็มีนักเขียน "อยู่ในกระเป๋า" แม้ไม่อยากออกชื่อเท่าไหร่ แต่ขอคนหนึ่งที่แน่ๆ คืออาจารย์เนาวรัตน์ มหากวีรัตนโกสินทร์นั่นเอง

เลยอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าถ้าคนตัวเล็กอย่างเรา ตอนนี้อยู่เมืองไทย แล้วดันไม่รอดพ้นสายตา "แมวมอง" มีมาขอให้เซ็นชื่อในแถลงการณ์คล้ายๆ กันนี้ ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า ถ้าแมวมองใส่เสื้อเหลือง คงได้สาดเกลือไล่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสื้อแดงเล่า เราจะเซ็นไหม

คำตอบคือ "ไม่"

ถามว่าทำไม ไม่นานมานี้เอง ที่บอร์ดไทยไรเตอร์ มีนักเขียนท่านหนึ่งซึ่งเราชื่นชอบเสียด้วย มาแปะกึ่งจดหมาย กึ่งบทความสนับสนุนเสื้อเหลือง โดยมีหลายคนทั้งเห็นด้วย และโต้ตอบกัน จนบอร์ดลุกเป็นไฟ ถึงขั้นเวบมาสเตอร์ต้องประกาศลาออกเลยทีเดียว ประเด็นหนึ่งที่จับใจเราจากเหตุการณ์ครั้งนั้นคือคำพูดของนักเขียนท่านนั้น ที่ออกมา "แก้ตัว" ในภายหลัง ทำนองว่า "จริงๆ แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายพันธมิตรเสียทั้งหมด ถ้านับกันจริงๆ อาจจะมีที่ไม่เห็นด้วยมากกว่าก็ได้ แต่..." เราจำไม่ได้จริงๆ ว่าเหตุผลประเภทไหนกันที่อยู่หลังคำว่า "แต่..." สำหรับเราแล้ว เราอยากให้คำพูดตรงนี้เป็นข้อเตือนใจว่า ชีวิตนี้ไม่ขอยุ่งเกี่ยว หรือสนับสนุนกลุ่มบุคลใดๆ ก็ตามที่เราไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วยกับเขาเป็นอันขาด

ขณะนี้ความวินาศสันตะโรในประเทศไทยเกิดจากความคิดดังกล่าว "ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ๋ แต่..." ถ้ามีบางอย่างที่คนกลุ่มหนึ่งทำถูกใจเรา เช่นมีศัตรูคนเดียวกับเรา เราก็พร้อมจะสนับสนุน อุ้มชู ทั้งที่ "ส่วนใหญ่แล้วเราไม่เห็นด้วยกับเขา" ซึ่งไปๆ มาๆ ลายเซ็น และเสียงสนับสนุนของเราก็จะตกเป็นเครื่องมือให้คนเหล่านั้นเอาไปทำในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย

ดังนั้นถ้ามีแมวมองเสื้อแดง เอาแถลงการณ์มาให้เราเซ็นจริงๆ คงนั่งจับเข่า ดื่มน้ำชา แล้วคุยกันดีๆ ว่า ถึงจะมีหลายอย่างที่เราเห็นด้วย (โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดงคือความหวังใหญ่สุดของการทำลายระบอบพันธมิตร) แต่เรายังหวาดระแวงเขา ลายเซ็นของเราจะไปส่งเสริมอำนาจให้คุณทักษิณหรือเปล่า มันจะนำไปสู่การล้มล้างบางอย่างที่เรารู้สึกว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมไหม

เคยเขียนไว้ที่ไหนสักแห่งว่า ปัญหาของโลกนี้คือมีหลายสิ่งมากมายเกินไปที่เราต้องการต่อสู้ "กับ" แต่แทบไม่มีเลยที่เราต่อสู้ "เพื่อ" ได้ แต่นี้เป็นต้นไป เราจะไม่ขอต่อสู้ "กับ" อะไรแล้ว แต่จะต่อสู้ "เพื่อ" บางอย่าง ที่มันคุ้มค่าให้ปกป้องรักษา และเพื่อการนี้ "ความเห็นด้วยนิดๆ หน่อยๆ " ไม่อาจเพียงพออีกต่อไป

R. Banks's "The Book of Jamaica"


เราไม่เคยชอบหนังที่มีผู้เล่าเรื่องหลายคนเลย จำพวก Rashomon, Hero หรือ Courage Under Fire หนังพวกนี้ต้องการบอกคนดูว่าความจริงไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน ซึ่งไม่รู้ทำไมเหมือนกัน พอดูจบทีไร ข้อสรุปที่เราได้คือ "ความจริงก็มีแค่หนึ่งเดียวเท่านั้นแหละ แต่ตัวละครพวกนี้มันโกหกกันไป โกหกกันมาเท่านั้นเอง" ซึ่งไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นตอกย้ำสานส์ซึ่งตรงข้ามกับที่หนังเหล่านี้พยายามสื่อ

ใน The Book of Jamaica มีประโยคหนึ่งดีมาก ผู้เล่าเรื่องตั้งใจค้นหาความจริงเกี่ยวกับศพผู้หญิง ถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ซึ่งไปเกยฝั่งที่ชายหาด โดยเบื้องหลังคดีฆาตกรรมนี้ เกี่ยวโยงไปถึงดาราภาพยนตร์เออรอล ฟลินที่โด่งดังจากบทโจรสลัด และนักผจญภัย ผู้ไปใช้ชีวิตในบั้นปลายบนเกาะจาไมก้า (หรืออย่างน้อย ก็ที่แบงค์เขียนเล่าในนิยายละนะ) "ผม" บอกว่า "ภาพ" นั้นไม่เหมือนกับ "เรื่องเล่า" เพราะหลายภาพที่ขัดแย้งกันเองจะถูกจัดลำดับความสำคัญ ดังนั้นภาพจึงไม่อาจโกหกได้ ไม่เหมือนเรื่องเล่า ที่สามารถขัดแย้งกันเองไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีเรื่องไหนสักเรื่องที่เป็นความจริง

ถ้าเชื่อตามที่แบงส์บอก ก็อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมหนังอย่าง Rashomon, Hero หรือ Courage Under Fire ถึงไม่เคยโดนใจเราเลย เพราะสุดท้ายภาพยนตร์ก็คือ "ภาพ" ซึ่งไม่อาจจะโกหกซ้อนๆ กัน หรือนำเสนอความจริงอันลื่นไหลได้เหมือนตัวหนังสือ มิลาน กุนเดระ เจอของคำอมตะ "ปัญญาประสาน" (polyphonic wisdom ซึ่งกลายมาเป็นชื่อบลอคตายๆ ของเรา) ถึงได้พูดเสมอว่า จุดมุ่งหมายของเขาคือเขียนนิยายที่ไม่อาจนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ (ทั้งที่ตัวแกเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์แท้ๆ )

The Book of Jamaica นำเสนอความขัดแย้งทางการเมืองบนเกาะจาไมก้าในสองระดับ ระดับแรกคือระดับประเทศ เมื่อรัฐบาลใหม่ของจาไมก้าต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศตามแนวทางสังคมนิยม พวกเศรษฐีชาวอเมริกันที่มาตั้งรกราก เห็นตัวอย่างจากคิวบา จึงพยายามซุกซ่อน เอาทรัพย์สินออกนอกประเทศ "ผม" มองการกระทำดังกล่าวด้วยความรังเกียจ แต่ถ้าถามเรา ก็พูดยากเหมือนกัน คนเหล่านี้มีสิทธิจะมองว่าความเจริญของจาไมก้า ส่วนหนึ่งก็มาจากการลงทุน การตั้งรกรากของพวกเขา แล้วอยู่ดีๆ จะให้มายึกทรัพย์สินไปเฉยๆ ได้อย่างไร

ในอีกระดับหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ผม" โดยตรงกว่า คือความสัมพันธ์ระหว่างมารูนเผ่าต่างๆ มารูนคือชาวจาไมก้าดั้งเดิม ที่ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของพวกค้าทาส และชาวอังกฤษ จึงหนีเข้าป่า และอยู่อย่างคนเถื่อน ภายในชาวมารูนเองก็แตกแยกเป็นสี่เผ่าตามความเห็นทางการเมือง เนื้อเรื่องหลักของ The Book of Jamaica คือการที่ "ผม" พยายามประสานสามัคคีให้สองในสี่เผ่านี้

บนปกหลัง ทางสำนักพิมพ์เขียนว่าความพยายามที่จะรวบสองเผ่านี้ "จบลงที่หายนะ และผู้เล่าเรื่องต้องรับมือกับความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และล้มเหลว" ซึ่งเราเห็นด้วยกับประโยคหลังเท่านั้น ต้องพูดว่าความพยายามของ "ผม" สำเร็จยิ่งกว่าสำเร็จเสียอีก เขากลายเป็นเครื่องมือของผู้นำเผ่าทั้งสอง และเมื่อหมดประโยชน์ ก็ไม่ต่างอะไรจากคนแปลกหน้า เป็นเหมือนกับ "นักท่องเที่ยง" และคนขาวอีกหลายคนที่ตัวเขารังเกียจ ความซับซ้อนของนิยายเล่มนี้ น่าจะอยู่ตรงที่ว่า "คนขาว" ผู้ฝักใฝ่สันติต่างหากที่กลายเป็นหมากของ "คนดำ" และแม้ยังรักษาชีวิตตัวเองได้ แต่ก็จบลงที่ความ "แปลกแยก โดดเดี่ยว และล้มเหลว"