R. Banks's "The Book of Jamaica"


เราไม่เคยชอบหนังที่มีผู้เล่าเรื่องหลายคนเลย จำพวก Rashomon, Hero หรือ Courage Under Fire หนังพวกนี้ต้องการบอกคนดูว่าความจริงไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน ซึ่งไม่รู้ทำไมเหมือนกัน พอดูจบทีไร ข้อสรุปที่เราได้คือ "ความจริงก็มีแค่หนึ่งเดียวเท่านั้นแหละ แต่ตัวละครพวกนี้มันโกหกกันไป โกหกกันมาเท่านั้นเอง" ซึ่งไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นตอกย้ำสานส์ซึ่งตรงข้ามกับที่หนังเหล่านี้พยายามสื่อ

ใน The Book of Jamaica มีประโยคหนึ่งดีมาก ผู้เล่าเรื่องตั้งใจค้นหาความจริงเกี่ยวกับศพผู้หญิง ถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ซึ่งไปเกยฝั่งที่ชายหาด โดยเบื้องหลังคดีฆาตกรรมนี้ เกี่ยวโยงไปถึงดาราภาพยนตร์เออรอล ฟลินที่โด่งดังจากบทโจรสลัด และนักผจญภัย ผู้ไปใช้ชีวิตในบั้นปลายบนเกาะจาไมก้า (หรืออย่างน้อย ก็ที่แบงค์เขียนเล่าในนิยายละนะ) "ผม" บอกว่า "ภาพ" นั้นไม่เหมือนกับ "เรื่องเล่า" เพราะหลายภาพที่ขัดแย้งกันเองจะถูกจัดลำดับความสำคัญ ดังนั้นภาพจึงไม่อาจโกหกได้ ไม่เหมือนเรื่องเล่า ที่สามารถขัดแย้งกันเองไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีเรื่องไหนสักเรื่องที่เป็นความจริง

ถ้าเชื่อตามที่แบงส์บอก ก็อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมหนังอย่าง Rashomon, Hero หรือ Courage Under Fire ถึงไม่เคยโดนใจเราเลย เพราะสุดท้ายภาพยนตร์ก็คือ "ภาพ" ซึ่งไม่อาจจะโกหกซ้อนๆ กัน หรือนำเสนอความจริงอันลื่นไหลได้เหมือนตัวหนังสือ มิลาน กุนเดระ เจอของคำอมตะ "ปัญญาประสาน" (polyphonic wisdom ซึ่งกลายมาเป็นชื่อบลอคตายๆ ของเรา) ถึงได้พูดเสมอว่า จุดมุ่งหมายของเขาคือเขียนนิยายที่ไม่อาจนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ (ทั้งที่ตัวแกเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์แท้ๆ )

The Book of Jamaica นำเสนอความขัดแย้งทางการเมืองบนเกาะจาไมก้าในสองระดับ ระดับแรกคือระดับประเทศ เมื่อรัฐบาลใหม่ของจาไมก้าต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศตามแนวทางสังคมนิยม พวกเศรษฐีชาวอเมริกันที่มาตั้งรกราก เห็นตัวอย่างจากคิวบา จึงพยายามซุกซ่อน เอาทรัพย์สินออกนอกประเทศ "ผม" มองการกระทำดังกล่าวด้วยความรังเกียจ แต่ถ้าถามเรา ก็พูดยากเหมือนกัน คนเหล่านี้มีสิทธิจะมองว่าความเจริญของจาไมก้า ส่วนหนึ่งก็มาจากการลงทุน การตั้งรกรากของพวกเขา แล้วอยู่ดีๆ จะให้มายึกทรัพย์สินไปเฉยๆ ได้อย่างไร

ในอีกระดับหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ผม" โดยตรงกว่า คือความสัมพันธ์ระหว่างมารูนเผ่าต่างๆ มารูนคือชาวจาไมก้าดั้งเดิม ที่ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของพวกค้าทาส และชาวอังกฤษ จึงหนีเข้าป่า และอยู่อย่างคนเถื่อน ภายในชาวมารูนเองก็แตกแยกเป็นสี่เผ่าตามความเห็นทางการเมือง เนื้อเรื่องหลักของ The Book of Jamaica คือการที่ "ผม" พยายามประสานสามัคคีให้สองในสี่เผ่านี้

บนปกหลัง ทางสำนักพิมพ์เขียนว่าความพยายามที่จะรวบสองเผ่านี้ "จบลงที่หายนะ และผู้เล่าเรื่องต้องรับมือกับความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และล้มเหลว" ซึ่งเราเห็นด้วยกับประโยคหลังเท่านั้น ต้องพูดว่าความพยายามของ "ผม" สำเร็จยิ่งกว่าสำเร็จเสียอีก เขากลายเป็นเครื่องมือของผู้นำเผ่าทั้งสอง และเมื่อหมดประโยชน์ ก็ไม่ต่างอะไรจากคนแปลกหน้า เป็นเหมือนกับ "นักท่องเที่ยง" และคนขาวอีกหลายคนที่ตัวเขารังเกียจ ความซับซ้อนของนิยายเล่มนี้ น่าจะอยู่ตรงที่ว่า "คนขาว" ผู้ฝักใฝ่สันติต่างหากที่กลายเป็นหมากของ "คนดำ" และแม้ยังรักษาชีวิตตัวเองได้ แต่ก็จบลงที่ความ "แปลกแยก โดดเดี่ยว และล้มเหลว"

1 comment:

Boat said...

หนังไม่ได้มีแค่ภาพนะ หนังมีเสียงด้วย

แล้วเราเชื่อว่า หนังที่ถูกกล่าวถึง
ล้วนใช้เสียง เป็นเครื่องมือหลัก
ในการเล่า"ความจริง"ที่แตกต่างของแต่ละตัวละคร