N. West's "The Day of the Locust"


สงสัยมานานว่าเหตุใดเราถึงไม่ค่อยชอบนักเขียนอเมริกันเท่าไหร่ การได้อ่าน The Day of the Locust เหมือนจะช่วยตอบคำถามเรา ว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างนิยายสองฟากฝั่งแอตแลนติก ขณะที่วรรณกรรมยุโรปคือนิยายแห่งการค้นหา ไม่ว่าจะเป็นแนวทาง หรือความหมายแห่งชีวิต ไม่ว่าพื้นที่ในการค้นหานั้นจะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม แต่เวลาอ่านนิยายอเมริกัน อดรู้สึกไม่ได้ว่าเหมือนผู้เขียนกำลังบอกเรากลายๆ การค้นหาสมควรสิ้นสุดลงได้แล้ว ชีวิตเต็มไปด้วยความไร้สาระ มาสนุกให้สุดเหวี่ยงกันดีกว่า

พูดสั้นๆ นี่แหละที่เขาเรียกจิตวิญญาณแห่ง post-modernism คงไม่มีประเทศไหนอีกแล้วเหมาะสมจะให้กำเนิดมันมากไปกว่าดินแดนที่ไร้ซึ่งประวัติศาสตร์ และปรัชญา และคงไม่มีเมืองใดเหมาะจะเป็นเมืองแห่ง post-modernism เท่ากับแอลเอ มหานครภาพลวงตาแห่งนี้

เปิดมาแบบนี้ไม่ใช่เตรียมจะสับ The Day of the Locust หรอกนะ ตรงกันข้าม ถ้ามีนิยายสักเล่มที่โอบกอดความเป็น post-modernism ได้อย่างเหมาะสม ก็คงเป็นเล่มนี้แหละ เวสเดินเรื่องด้วยตัวละคร ทอด จิตรกรที่มาทำงานเป็นนักออกแบบฉากในฮอลลีวูด ทอดพยายามจีบเฟย์ ผู้หญิงที่ใฝ่ฝันอยากเป็นดารา ครั้งหนึ่งทอด ผู้มีการศึกษา จบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ วิจารณ์เฟย์ว่าเธอเหมือนละครเด็กประถม ถ้าดูจากภายนอก จะรู้สึกว่ามันช่างตื้นเขิน แต่ถ้าลองได้มีโอกาสไปเดินเล่นหลังฉาก เห็นความปลอมแปลงของมัน จะรู้สึกว่าความตื้นเขินนั้นอภัยให้ได้

เฟย์ และทอดคือตัวแทนความไร้สาระในสังคมยุคใหม่ ทอดไม่ใช่ผู้ชายแสนดี ลึกๆ แล้วเขาดูถูกเฟย์ แต่ยิ่งรังเกียจเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวมากเท่านั้น ฉากที่เราชอบมากๆ คือระหว่างทั้งคู่เต้นรำ ทอดพยายามขอร้องเฟย์ต่างๆ นานาให้นอนกับเขา โดยสัญญาว่าแค่คืนเดียว แล้วเขาจะหนีออกจากเมือง ไม่ยอมโผล่หน้ามาให้เธอเจออีกเป็นหนที่สอง

เฟย์เองก็ร้ายใช่ย่อย เธอพยายามหลอกล่อผู้ชายร่ำรวยให้หลงไหล เพื่อปูหนทางไปสู่ถนนดารา ขณะที่ตัวเองกลับมีแฟนเป็นคาวบอยโง่เง่า เธอทนคบเขาเพียงเพราะหน้าตา ทั้งยังแอบนอกใจไปหาเศษหาเลยกับเพื่อนสนิทแฟน คนเดียวเลยในเรื่องที่เหมือนจะเป็นคนดีคือโฮเมอร์ ผู้ชายที่หลงรักเฟย์อย่างจริงจัง และอดทนกับความเห็นแก่ตัวนานาของหญิงสาวสารพัด และแน่นอนว่าในนิยายขนบแบบนี้ ผู้ชายดีๆ นี่แหละที่จะมีจุดจบแสนเศร้า

เศร้าไหม? จริงๆ ก็ไม่เศร้ามาก เพราะรู้สึกอยู่แล้วว่านี่คือนิยายแห่งความตื้นเขิน และปลอมแปลง ในแอลเอ นครแห่งภาพยนต์ผู้คนใช้ชีวิตประหนึ่งสวมบทบาท ไอ้เรื่องไม่มีความจริงใจต่อกันยังไม่เท่าไหร่ แต่พวกเขาคงลืมวิธีจริงใจกับตัวเองไปแล้วด้วยซ้ำ

ความเป็น post-modernism ไม่จำเป็นต้องอ่านไม่รู้เรื่องเสมอไป เห็นพักหนึ่งที่เมืองไทยเอะอะอะไรก็ post-modern อยากให้ลองมาอ่านนิยายเรื่องนี้ดู แล้วจะเข้าใจกระแสความคิดตัวนี้ชัดขึ้น

No comments: