I. Calvino's "Numbers in the Dark"


ถ้าคะเนไม่ผิด รองจากเมอดอช ก็คงเป็นคาลวิโนนี่แหละ ที่รักชวนหัวเขียนถึงบ่อยสุด อะไรที่เคยชม ก็ได้ชมไปหมดไส้หมดพุงแล้ว กระทั่งติ ก็ยังเคย ไม่รู้เหมือนกันจะพูดอะไรดีเกี่ยวกับรวมเรื่องสั้น Numbers in the Dark คร่าวๆ คือนี่เป็นผลงานจับฉ่าย ต่างกาลต่างสมัย เผลอๆ รวบรวมหลังผู้เขียนเสียชีวิตแล้วด้วยซ้ำ มันมีกระทั่งเรื่องที่น่าจะอยู่ในภาคสามของ Cosmicomic โดยรวมต้องถือว่ามีเรื่องสั้นเจ๋งๆ อยู่เพียบ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้นมากๆ ชนิด หน้าสองหน้าจบ ทั้งเล่มเลยบรรจุไป 37 ชิ้น

จำได้ว่าประมาณสามปีที่แล้ว สมัยที่ เจ้าหงิญ ได้รางวัลซีไรต์ ปีนั้นต้องถือเป็นยุคทองของเรื่องสั้นแนวนิทาน เพราะนอกจาก เจ้าหงิญ อีกสองสามเล่มที่เข้าชิงปีเดียวกัน ก็มีลักษณะที่ว่า สารภาพว่าแทบไม่ได้อ่านรวมเรื่องสั้นจากปีนั้น ก็เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องสั้นแนวนิทานของคนไทยเป็นอย่างไร แต่กับคาลวิโนนี่ของเขาดีจริงๆ ถึงกับมีคนเรียกแกว่านอกจากจะเป็น novelist, short-storyist แล้วยังเป็น fabulist อีกด้วย จริงๆ เรื่องสั้นแนวนิทานก็น่าสนใจดี ยิ่งพอเห็นว่ามือชั้นครูสามารถเล่นอะไรกับมันได้บ้างแล้ว รู้สึกอยากสำรวจ ขยับขยายแนวทางนี้ คำถามหนึ่งซึ่งน่าขบคิดคือเรื่องสั้นนิทาน เหมือนหรือต่างอย่างไรกับแนวสัจนิยมมายา (ซึ่งฮิตมาก เมื่อสักสิบปีที่แล้ว แต่รักชวนหัวไม่ใช่แฟนเลย)

พล่ามมายาวเหยียด ยังไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับ Numbers in the Dark สักเท่าไหร่ เนื่องจากมันมีตั้ง 37 เรื่องเลยไม่รู้จะหยิบจับเรื่องไหนมาพูดดี หลายเรื่องสั้นในเล่มพูดถึงการเอาของ "แข็งกระด้าง" (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสงคราม และการทหาร) มาวางคู่กันกับของ "อ่อนละมุน" ใน The Lost Regiment ทหารหนึ่งกองพลได้รับคำสั่งให้สวนสนามเข้าไปในเมืองเงียบๆ เล็กๆ แต่ด้วยความเงียบ และเล็กของเมืองนี้เอง ทำให้ทหารทั้งกองพลเกิดความรู้สึก "เกรงอกเกรงใจ" แทนที่จะตบเท้าอย่างเข้มแข็ง เลยเหมือนย่องๆ ผ่านไปบนท้องถนนมากกว่า A General in the Library พูดถึงทหารทำสงครามกับหนังสือในห้องสมุด

ถ้าไม่ใช่สงคราม "ของแข็งกระด้าง" ก็จะเป็นอุตสหกรรม อย่างเรื่องขึ้นปก ว่าด้วยลูกชายพนักงานทำความสะอาด เดินท่องๆ ไปในสำนักงานยามราตรี แล้วพบพานตัวเลขลึกลับ The Workshop Hen และ The Queen's Necklace เป็นสองเรื่องที่ใช้ตัวละครชุดเดียวกัน เหตุการณ์เกิดในโรงงาน The Queen's Necklace เป็นเรื่องที่ยาว และไม่ดีที่สุดในเล่ม(ฮา)

ประเด็นหนึ่งที่อยากพูดถึงมาก แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับรวมเรื่องสั้นชุดนี้โดยตรงก็ตามคือ "ภูมิศาสตร์ทางภูมิปัญญาของชาวตะวันตก" แม้ว่าคาลวิโนจะเป็นชาวอิตาลี แต่ก็มีหลายเรื่องสั้นของเขาที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับความเป็นอิตาลี เช่น Becalmed in the Antilles พูดถึงสงครามเรือรบระหว่างอังกฤษ และสเปน Montezuma และ Henry Ford ว่าด้วยจักรพรรดิชาวอินคา และจักรพรรดิอุตสาหกรรมชาวอเมริกัน คาลวิโนสามารถเขียนเรื่องราวเหล่านี้ได้โดยไม่ถูกข้อหา "กระแดะ" หรือ "จงใจเล่นของนอก" เพราะการศึกษาของยุโรปเชื่อมโลกทั้งใบเข้าหากัน เฮนรี ฟอร์ดเป็นชาวอิตาลี พอๆ กับที่เขาเป็นชาวอเมริกัน

ลองคิดเล่นๆ ว่าคนไทยสามารถเขียนหนังสือเกี่ยวกับชาวญี่ปุ่น มลายู หรือจีน โดยไม่ถูกข้อหาดังกล่าวได้หรือไม่ หรือโดยผู้เขียนไม่พยายามใส่ความ "แปลกแยก" (exotic) เข้าไปในตัวละคร (คนไทยที่เขียนได้บรรจุดประสงค์นี้สุด ในสายตาเราคือคุณอนุสรณ์)

ก็เป็นประเด็นเล็กๆ ที่อยากฝากให้คิดกัน

1 comment:

Anonymous said...

ขยันเขียนจังเลยค่ะ ชื่นชม...ชื่นชม