T. Williams's "The Glass Menagerie"/"A Streetcar Named Desire"


สมัยเด็กๆ เคยมีคนมาอำผมว่า "สวนสัตว์แก้ว" เป็นภาคสองของ "รถรางสายปรารถนา" โดย "สวนสัตว์แก้ว" คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแบลงช์ หลังตอนจบของ "รถรางสายปรารถนา"

ไม่ใช่นะครับ อย่าไปเผลอปล่อยไก่เป็นอันขาด ถ้าจะมีอะไรเป็นภาคต่อจริงๆ "รถรางสายปรารถนา" ต่างหากที่น่าจะเป็นภาคสองของ "สวนสัตว์แก้ว" เพราะรถรางฯ เขียนปี 1947 ส่วนสวนสัตว์แก้วปี 1945 เป็นบทละครสร้างชื่อให้กับนักเขียนมือใหม่อย่างเทนเนสซี วิลเลียมส์ (ผลงานก่อนหน้านั้นคือ "Battle of Angels" ซึ่งไม่รู้ว่าวิลเลียมส์ไม่พอใจกับมันหรืออย่างไร เพราะในกาลต่อมาแกอัพเดทเรื่องนี้ใหม่เป็น "Orpheus Descending")

ในแง่ตัวละคร ผมพยายามนึกว่าแม่ในสวนสัตว์แก้วจะเป็นแบลงช์ได้หรือเปล่า จะว่าคล้ายก็คล้ายตรงทั้งคู่มีชีวิตอยู่ในความฝัน กรณีอแมนดา เธอเป็นผู้หญิงวัยกลางคน ผู้จมจ่อมกับความรุ่งเรืองในอดีต ส่วนแบลงช์ใช้ชีวิตหลอกตัวเอง และคนรอบข้างไปวันๆ ทั้งสองยังเป็นผู้หญิงรอบจัดเรื่องผู้ชาย แม้กรณีแบลงช์จะชัดเจนกว่าก็ตาม กระนั้นถ้าพูดถึงความต่างแล้ว ทั้งคู่น่าจะต่างกันมากกว่าเหมือน ขณะอแมนดาแม้จมปลักในอดีตสักแค่ไหน ยังต้องการ และพยายามยัดเยียดสิ่งดีๆ ให้ลูกสาว ส่วนแบลงช์ปราชัยกับชีวิต ถึงขั้นไขว่คว้าฟางเส้นสุดท้ายอย่างเสียไม่ได้


แต่ถ้าจะมองในแง่ธีมล่ะก็ ละครสองเรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่ต่างกันนัก เพราะเป็นละครความสิ้นหวังของผู้หญิงทั้งคู่ ตัวเอกของเรื่องสวนสัตว์แก้วคือลอร่า งานอดิเรกของเธอคือสะสมตุ๊กตาแก้วรูปสัตว์ต่างๆ โดยเจ้าตัวโปรดของเธอคือม้ายูนิคอร์นแก้ว ถ้าจะบอกว่าสวนสัตว์แก้วคือละครแห่งสัญลักษณ์ และอุปมาก็คงไม่ผิดนัก ตุ๊กตาแก้วแทนความเปราะบางของหญิงสาว และการที่ลอร่าชอบสัตว์ในเทพนิยาย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความแปลกแยกระหว่างเธอและคนรอบข้าง รวมไปถึงชื่อเล่นของเธอ "กุหลายฟ้า" ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ

ในสวนสัตว์แก้ว อแมนดา แม่ของลอร่าพยายามจับคู่เธอกับจิม เพื่อนที่ทำงานของลูกชาย อแมนด้ามองว่าจิมคือโอกาสสุดท้ายแล้วของลูกสาว (ซึ่งก็คล้ายๆ สัมพันธ์ระหว่างมิช และแบลงช์) ฉากที่จิม และลอร่าอยู่ด้วยกันตอนท้ายละคร ใครอ่าน (หรือชม) แล้วไม่ร้องไห้ แสดงว่าไม่มีหัวใจ! ขณะที่มิช และแบลงช์แตกหักกันอย่างรุนแรงด้วยเงื้อมมือของแสตนลี บทสรุประหว่างจิม และลอร่าราบเรียบจนน่าใจหาย แต่ในความไม่มีอะไรนี่แหละที่แสนเศร้าเป็นที่สุด

ถ้าเทียบสวนสัตว์แก้ว กับบทละครเรื่องอื่นๆ ของวิลเลียมส์ ถือว่าเรื่องนี้ค่อนข้างสั้น และไม่ซับซ้อนเท่า ตัวละครก็แสนจะน้อย แค่สี่ตัว แถมจิมก็เพิ่งมีบทบาทสองฉากสุดท้าย พูดถึงความยาวก็แค่ครึ่งหนึ่งของรถรางฯ เท่านั้น เหมือนๆ กับว่าสวนสัตว์แก้ว จะเป็นอีกหนึ่งบทละครสั้นของวิลเลียมส์ที่บังเอิญยาวผิดปรกติมากกว่า (วิลเลียมส์เขียนบทละครสั้นไว้เยอะมาก) กระนั้นขอยืนยันว่าความราบเรียบนี่เองที่งดงามไม่มีอะไรเปรียบ


พูดถึง "รถรางสายปรารถนา" ต้องนึกถึงมาลอน แบรนโดก่อนเป็นอันดับแรก ตั้งแต่สมัยเป็นละคร แบรนโดรับบทแสตนลี แถมผู้กำกับก็ยังเป็นเอเลีย คาซาน คนที่กำกับดาราหนุ่มในฉบับภาพยนต์อีก (แต่แบลงช์คนแรกจริงๆ คือเจสสิก้า แทนดี้ไม่ใช่วิเวียน ลีห์) ซึ่งแบรนโดนั้นเหมาะกับบทแสตนลีโคตรๆ จนบัดนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าหากมีคนคิดรีเมกรถรางฯ จริงๆ จะเอาดารารุ่นใหม่คนไหนมาเล่น ผมนึกถึงจอร์จ คลูนี แต่คลูนีก็ดู "มีการศึกษา" เกินไปสำหรับแสตนลี ผู้ชายที่ (ใช้คำพูดของแบลงช์) "ลืมวิวัฒนาการจากลิง มาเป็นคน" กระนั้นความดิบเถื่อนนี่เองคือเสน่ห์ของแสตนลี ถ้าว่ากันตามบทบาท เขาเป็นผู้ร้าย เพราะมีส่วนรับผิดชอบเต็มๆ ในโศกนาฏกรรมของแบลงช์ กระนั้นหลายคนเวลานึกถึงรถรางฯ ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าแบรนโดนั้นเล่นเป็นตัวโกง

ถึงรถรางฯ ดูเหมือนเป็นละครซับซ้อน ผู้แสดงมากหลาย ฉากก็เยอะแยะนับได้ตั้งสิบเอ็ดซีน แต่ก็ยังคงความเป็นบทละครรุ่นแรกๆ ของวิลเลียมส์เอาไว้ คือแก่นเรื่องน้อย นอกจากแบลงช์ แสตนลี สเตลล่า แล้วก็มิช ที่เหลือก็ตัวประกอบล้วนๆ เนื้อเรื่องจริงๆ แทบไม่มีอะไร นอกจากการปะทะกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างแบลงช์ และแสตนลี ก่อนลงเอยที่ชีวิตรันทดของหญิงสาวทั้งในอดีต และปัจจุบัน ตรงนี้ค่อนข้างแตกต่างกับบทละครรุ่นหลังๆ ไม่ว่าจะเป็น "แมวบนหลังคาสังกะสี" หรือโดยเฉพาะ "นางนวล" ซึ่งวิลเลียมส์ได้รับอิทธิพลของเชคอฟมาเต็มๆ

จริงๆ อยากพูดถึงนักเขียนบทละครอเมริกันคนอื่นๆ เปรียบเทียบระหว่างวิลเลียมส์ มิลเลอร์ และโอนิล แต่ไว้โอกาสหน้าแล้วกัน

1 comment:

Anonymous said...

click here to find out more Hermes Dolabuy try this site Gucci Dolabuy Click Here cheap designer bags replica