K. Ishiguro's "The Remains of the Day"
ไปอ่านบลอคเก่าๆ ดู จำได้ว่าเคยเขียนถึง Interpreter of Maladies ของจุมปา ลาฮาลีว่า "เหมือนเรื่องสั้นที่ยังตีกำแพงวัฒนธรรมไม่แตก ตัวละครก็เลยติดอยู่ที่ความเป็นอินเดีย ไม่ได้กลายเป็นมนุษย์จริงๆ " ตอนนี้พอมาอ่าน The Remains of the Days ก็ต้องทึ่งว่านี่แหละคือนิยายอังกฤษซึ่งเขียนโดยคนญี่ปุ่น แต่ไม่มีตรงไหนของมันเลยที่หลงเหลือคราบคราความเป็นโอเรียล มิหนำซ้ำอิชิกุโรยังจงใจเขียนเรื่องที่เป็นอังกฤ๊ษอังกฤษ
ขอกลับคำพูดตัวเองนิดหนึ่งดีกว่า จะว่าไม่มีความเป็นญี่ปุ่นเลยก็ไม่เชิง นี่คือนิยายที่ซ่อนความเป็นญี่ปุ่นไว้อย่างมิดชิด "ผม" ในเรื่องคือสตีเฟนส์ คนรับใช้ในคฤหาสน์ของลอร์ดดาลิงตัน สตีเฟนส์เล่าเหตุการณ์สำคัญตลอดชั่วชีวิตเขา สิ่งหนึ่งที่ตัวละครตัวนี้ยึดถือมากๆ คือความภาคภูมิใจในฐานะคนรับใช้ สือทอดประเพณีเก่าแก่ กระทั่งพ่อของสตีเฟนส์เองก็ถือเป็นคนรับใช้ชั้นหนึ่งตราบชั่วลมหายใจสุดท้าย
ต้องเข้าใจนิดหนึ่งว่าอาชีพคนรับใช้ หรือ butler นี่ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ต้องผ่านการฝึกฝนนานา มีกระทั่งมหาวิทยาลัยสำหรับสอนการเป็น butler โดยเฉพาะ ในคฤหาสน์ใหญ่ๆ ของขุนนางชาวอังกฤษ มีหน้าที่ต่างๆ ให้กระทำมากมาย ตั้งแต่งานครัว ทำความสะอาด ดูแลสวน ยานพาหนะ หัวหน้าคนรับใช้ก็เหมือนนายพลที่ต้องคอยควบคุมให้งานการทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ยิ่งเจ้านายของสตีเฟนส์เป็นถึงท่านลอร์ด หลายครั้งเชิญแขกต่างชาติ มาสนทนา ประชุม ถกเถียงเรื่องที่อาจชี้เป็นชี้ตาย กำหนดแนวทางยุโรปทั้งผืนทวีป
ตรงนี้เองที่เราบอกว่าอิชิกุโรผสานความเป็นญี่ปุ่นลงไป แม้ว่า "ผม" ในเรื่องจะยืนยัน ไม่มีชาติไหนอีกแล้วจะผลิต butler ได้เหมือนสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้ามีชาติหนึ่งที่ใกล้เคียง สูสี หรือแม้กระทั่งเหนือกว่าในเรื่องมารยาทก็คงเป็นญี่ปุ่นนี่เอง The Remains of the Day จึงเป็นหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมอังกฤษ ที่คนญี่ปุ่นแอบเนียนเขียนได้อย่างไม่มีที่ติ
อ่านจบแล้วก็ทึ่งว่าทำไมนิยายบ๊างบาง 240-250 หน้าถึงได้บรรจุอะไรต่อมิอะไรลงไปได้ขนาดนี้ ตั้งแต่ประเด็นรักแสนเศร้าของสตีเฟนส์ ความขัดแย้งระหว่างโลกเก่า โลกใหม่ ที่นับวันคุณค่าและบรรทัดฐานซึ่งสตีเฟนส์ และลอร์ดดาลิงตันยึดถือจะกลายเป็นของล้าสมัยลงไปทุกที อิชิกุโรตั้งคำถามว่าประชาชนควรมีบทบาทแค่ไหนในการตัดสินใจสำคัญๆ ขนาดในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ คนส่วนใหญ่ก็ยังไร้การศึกษา ในสภาวะคับขัน ควรหรือไม่ควรที่นักการเมืองผู้มีอำนาจ ปราดเปรื่องจะกุมบังเหียนประเทศ แนวคิดนี้สอดคล้องเป็นอย่างดีกับวิธีชีวิตคนรับใช้ สตีเฟนส์เชื่อว่ามืออาชีพไม่ควรตั้งคำถามเจ้านายตัวเอง เมื่อสั่งอะไรมา ก็ปฏิบัติไปตามนั้น คนต่างระดับชั้นกระทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถคือกุญแจสู่ความสงบสุข ถึงจะฟังดูสวยงาม แต่ลึกๆ นี่แหละคือพื้นฐานแนวคิดของเผด็จการฟาสซิสต์อย่างนาซี และท้ายที่สุด สตีเฟนส์ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าที่ผ่านมา ชีวิตตัวเองมีคุณค่า หรือว่างเปล่าเพียงใด
ถ้าจะติหนังสือเล่มนี้ ก็คงเป็นว่าตัวละครลอร์ดดาลิงตันยัง "ร้าย" ไม่พอ ตอนแรกจำผิดนึกว่าแกเป็นลอร์ดจริงๆ ในประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ซึ่งถ้าแบบนั้นจะยิ่งขับเน้นความขัดแย้งในใจตัวเอก (ลองคิดดูว่าถ้ามีคนไทยสักคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับคนรับใช้ในบ้านจอมพลป. หรือจอมพลสฤษณ์ หนังสือเล่มนั้นจะโคตรน่าอ่านสักเพียงใด) เอาเข้าจริงๆ ดาลิงตันก็แค่นักการเมืองอีกคนที่ถูกฮิตเลอร์ปั่นหัว หลอกล่อ
ชอบตัว "ผม" โดยเฉพาะวิธีที่อิชิกุโรเล่าเรื่องผ่านตัวละครตัวนี้ สตีเฟนส์เชื่อว่ามืออาชีพต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวและงาน ไม่เอาอารมณ์มาปะปนกิจกรรม หน้าที่ แม้เราจะไม่เคยได้อ่านว่าเขารู้สึกอย่างไร แต่บางครั้งก็สัมผัสได้ถึงหัวใจที่แตกสลาย อยู่ดีๆ ก็ร้องไห้ขึ้นมา พอคนรอบข้างถาม ก็ได้แต่พูดว่าไม่เป็นไรๆ ผู้เขียนเก่งมากที่สามารถสื่ออารมณ์ผ่านตัวละครผู้เสมือนใส่หน้ากากตลอดเวลาตัวนี้ได้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
"Interpreter of Maladies เหมือนเรื่องสั้นที่ยังตีกำแพงวัฒนธรรมไม่แตก ตัวละครก็เลยติดอยู่ที่ความเป็นอินเดีย ไม่ได้กลายเป็นมนุษย์จริงๆ" ถ้าไม่มีกลิ่นอายอินเดีย ลาหาริเขียนแบบไม่เข้าใจมากกว่าครับตามความคิดผม เพราะไม่ใช่ว่าการแสดงความเป็นมนุษย์ต้องลืมวัฒนธรรมตนเอง มันคนละส่วนกันอ่ะคับ
อีกอย่างเอา Interpreter of Maladies มาเปรียบกับ The Remains of the Days ไม่ได้หรอกครับ ทั้งพล็อตเรื่องและตัวละคร ตัวละครหลังเป็นบัทเลอร์ที่เป็นคนอังกฤษเติบโตในอังกฤษด้วยสิ่งแวดล้อมแบบอังกฤษ ดังนั้นไม่แปลกถ้าอิชิกุโรจะไม่แฝงความนึกคิดแบบตะวันออกลงไป แต่ตัวละครใน Interpreter of Maladies เป็นคนอินเดียรุ่นใหม่ที่เติบโตในอเมริกาท่ามกลางวัฒนธรรมผสม หากคุณได้อ่านอิชิกุโรเรื่องที่ตัวละครเป็นญี่ปุ่น บางทีจะได้แนวคิดตะวันออกในงานได้ครับ เช่น An Artist of the Floating World แต่ถ้าถามว่าทำไมหลายพล็อตเรื่องของอิชิกุโรหลายเล่มถึงออกจากความเป็นญี่ปุ่นได้มาก คงเพราะเขาเติบโตในอังกฤษตั้งแต่ห้าขวบ ความฝังใจในวัฒนธรรมเลยมีน้อยกว่าชาวบ้านเขา ผมว่านักเขียนถ้าไม่เขียนวัฒนธรรมที่ตัวเองรู้จักดีลงไป แต่เขียนอะไรที่กลางๆเพราะเชื่อว่ามันสากล หรือที่พยายามเขียนแบบมูราคามิหมดนี่ มันน่าเบื่อนะ
เป็นความเข้าใจผิดคับ หนังสือคนอินเดียญี่ปุ่นจีนละตินหรือชาติอื่นๆ ที่ชาวโลกเขายกย่องเพราะความมีวัฒนธรรมนั่นล่ะครับ
ประเด็นดีครับ ขอตั้งใจตอบแล้วกัน
ก่อนอื่นเท่าที่ค้นจากประวัติลาฮิลีในเนท เธอเป็นเด็กอินเดียซึ่งเติบโตในอเมริกา ไม่ต่างอะไรจากอิชิกุโร ดังนั้น ผมคิดว่าจะถ้าเอางานของสองคนนี้มาเปรียบเทียบกันคงไม่ไกลเกินเอื้อมไปนัก
เมื่ออ่านงานของทั้งคู่ ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเพียงเพราะผู้เขียนมีเชื้ออินเดียหรือญี่ปุ่น ถึงได้ต้องเขียนเรื่องอะไรที่มันแสดงวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเองขนาดนั้นเชียวหรือ โดยเฉพาะ Interpreter of Maladies ในสายตาผม ชัดเจนมากๆ ว่าลาฮิลีจงใจขายความ exotic หรือความเป็นอินเดียออกมา(อย่างหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้วัฒนธรรมอินเดียกำลังมาแรง ดังนั้นผลงานลักษณะนี้จะได้เสียงตอบรับที่ดีกว่าทั้งจากตลาด และนักวิจารณ์)
อันนี้อาจเป็นความรู้สึกส่วนตัวก็ได้ แต่ผมไม่ค่อยถูกใจผลงานที่จงใจขายความ exotic เท่าไหร่ครับ อ่านแล้วชวนให้นึกถึงหนังสือยุคล่าอาณานิคม ที่ชาวยุโรปเข้าไปผจญภัยในต่างแดน แล้วเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวซึ่งเขาพบเห็น แน่นอนว่านิยายที่เขียนโดยคนต่างชาติ เกี่ยวกับวัฒนธรรมของตัวเองย่อมต่างจากผลงานอย่าง The Jungle Book หรือ The Good Earth แต่ลึกๆ ผมก็ยังอดคิดไม่ได้ว่านิยายทั้งสองประเภทนี้ โดยพื้นฐาน มาจากการมองคนต่างชาติต่างศาสนาด้วยสายตาเป็นอื่น
อีกสาเหตุหนึ่งที่ตัวเองไม่ชอบผลงานขาย "วัฒนธรรม" เพราะ มันชวนให้นึกถึงวรรณกรรมไทยยุคหนึ่งซึ่งผู้เขียนชอบเล่าเรื่องราวชนบท เอาประเพณีพื้นบ้านที่คนกรุงไม่ค่อยเคยเห็นเข้ามาเป็นจุดขาย โดยลืมไปว่าถ้าไม่อิงสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์เหล่านี้ให้เข้ากับความเป็นมนุษย์ "วัฒนธรรม" ไม่ว่าจะงดงามแค่ไหน ก็ไร้ความหมาย
ผมคิดว่างานอย่าง "ด้วยรักและหวัง" ของคุณวัฒน์ ไม่ได้ดีเพียงเพราะมันกล่าวถึงหนังตะลุง แต่ดีเพราะคุณวัฒน์ประสานการละเล่นพื้นบ้านตรงนี้ เข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างตาและหลานคู่หนึ่ง ในทางตรงกันข้าม มีผลงาน "ขายวัฒธรรม" ชิ้นหนึ่ง ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปีที่แล้ว อ่านดูก็รู้ว่าผู้เขียนหลงใหลการละเล่นชนิดหนึ่งมาก เรียกว่าเขียนไปประโยคหนึ่ง ก็กล่าวชื่นชม เทิดทูนเสียอีกย่อหน้า แต่เมื่อขาดตัวละครที่เป็นมนุษย์ ขาดเรื่องราวที่น่าติดตามของตัวละคร หนังสือเล่มนี้ก็ไม่อาจจัดได้ว่าเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จในสายตาผมครับ
พูดมาเสียยาว สรุปสั้นๆ ผมไม่ได้รังเกียจการขายวัฒนธรรม แต่ถ้านักเขียนเอาตรงนี้มาเป็นจุดขายมากๆ เข้า ผมรู้สึกว่าพวกเขาจะลืมความเป็นมนุษย์ไปครับ
Post a Comment