W. Gombrowitz's "Ferdydurke"


หนังสือที่มักจะทำให้เราจนด้วยคำพูดคือแนว ไร้สาระ/เหนือจริง (absurd/surreal) อย่าง The Trial ของคาฟคา หรือ Ferdydurke เล่มนี้ ตั้งแต่ชื่อหนังสือเลย "เฟอดิดุค" ไม่ได้เป็นทั้งตัวละคร และไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับเหตุการณ์ในเล่ม กอมโบวิชแบ่งนิยายเป็นสามส่วน โดยระหว่างส่วนมีทั้งเรื่องสั้น และคำนำเรื่องสั้นคั่นกลาง โดยในคำนำของเรื่องสั้นเรื่องแรก The Child Runs Deep in Filidor ร่ำร้องว่า เหตุไฉนนักเขียนจะไม่สามารถเอาเรื่องสั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์หลักในนิยายมาแทรกกลางเล่มได้ ทำไมต้องยึดติดกับหลักการเขียนคร่ำครึ กระนั้นในคำนำเรื่องสั้นเรื่องหลัง The Child Runs Deep in Filibert กอมโบวิชพูดว่าตัวเขาถูกหลักแห่งสมมาตรบังคับว่า ถ้าช่วงแรกมีเรื่องสั้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ช่วงหลังจะมีเรื่องสั้นเช่นกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า The Child Runs Deep in Filibert จงใจเขียนส่งๆ เพื่อรับใช้หลักความสมมาตรเท่านั้น...ฮ่า...ฮ่า...

นี่คือมุขตลก ไร้สาระ/เหนือจริง ซึ่งเป็นสไตล์ของ Ferdydurke ถ้าชอบก็แล้วกันไป ถ้าไม่เก็ต ก็อย่าอ่านแต่แรกเลยดีกว่า

ที่บอกว่า "จนด้วยคำพูด" หมายถึง "ไม่รู้จะวิเคราะห์ ประเมินค่า" นิยายเล่มนี้อย่างไร นเมื่อจุดประสงค์ของกอมโบวิชคือ "ตบหน้าผู้อ่าน" (โดยการนำเสนอเหตุการณ์ไม่สมเหตุสมผล เหตุการณ์แล้ว เหตุการณ์เล่า) อะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้นนั้นในงานเขียนลักษณะนี้ กระนั้นก็ต้องยอมรับว่ากอมโบวิชตบหน้าเราอย่างมีศิลปะ ในความไร้สาระ/เหนือจริงของมัน ก็ใช่ว่าจะจับความคิด ธีมอะไรไม่ได้เลย ทั้งสามส่วนของนิยาย พูดถึงความคิด ความเชื่อสองประการซึ่งตรงกันข้าม ขัดแย้งกัน ความใสซื่อ/ความเจนจัด ความทันสมัย/ความล้าหลัง และ บ่าว/นาย เป้าหมายของผู้เขียนไม่ใช่เลือกข้าง แล้วถกเถียง ให้น้ำหนักกับฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แต่แสดงให้เห็นความไร้สาระ ของการต่อสู้ระหว่างสองความคิดนี้

ช่วงแรก นักเรียนในโรงเรียนแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งสุดท้ายลงเอยใน "สงครามปั้นหน้า" โดยมีนักการศึกษาคอยดูอยู่ข้างๆ ในช่วงสอง พระเอกของเรื่อง โจอี หลงรักสาวน้อยนักเรียนทันสมัย ผู้เติบโตในครอบครัวทันสมัย ทุกคนในบ้านหลังนี้มองเขาเป็นคนล้าหลัง และทรมานเขาทางจิตใจด้วยวิธีต่างๆ นานา ช่วงสุดท้าย โจอี และเพื่อนนักเรียน นีดัส ไปเยี่ยมครอบครัวของโจอี้ และได้พบนาย และบ่าว และสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติต่อกันในคฤหาสน์หลังนี้

ยอมรับเลยว่า Ferdydurke เป็นงานเขียนแนวนี้ที่มีเสน่ห์ อ่านสนุกเพลินๆ ด้วยอารมณ์ขันแปลกๆ ถึงแม้เราจะไม่ใช่แฟนนิยายแนวนี้ แต่ก็ยังติดตามจนจบ เผลอๆ อาจจะชอบมากกว่าผลงานของคาฟคาด้วยซ้ำ