A. Bester's "Virtual Unreality"


เดือนสองเดือนก่อน เขียนถึง "การ์ตูนจักรวาล" ของคาลวิโน ว่าเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด ไม่กี่วันถัดมา มีคนมาแย้งเราว่า หนังสือรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดคือ "ความเท็จเสมือน" ของอัลเฟรด เบสเตอร์ต่างหาก ว่าแล้วก็เลยต้องลองอ่านพิสูจน์ดู

พูดกันจริงๆ แล้ว จะเรียก "การ์ตูนจักรวาล" ว่ารวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ก็กระไรอยู่ ต้องยอมรับว่าไซไฟนั้นเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มมากๆ ชนิดนี้ว่ามีแค่นักเขียนคนนู้นคนนี้เท่านั้นที่แฟนๆ จัดว่าเป็นนักเขียนไซไฟ คนอื่นซึ่งนอกเหนือขึ้นไปต่อให้แต่งเรื่องแนววิทยาศาสตร์ ก็ไม่ใช่ว่าจะแฟนๆ จะยอมรับทันที เพราะมีกลุ่มคนอ่านเหนียวแน่นแบบนี้กระมัง พัฒนาการของเรื่องแต่งวิทยาศาสตร์เลยไม่ค่อยไปไหน มีนักเขียนแค่ไม่กี่คน อย่าง ฟิลิป เค ดิก หรือ ออร์สัน สกอต คลากซึ่งจัดว่าได้มาตรฐานหนังสือทั่วไป (ไม่ใช่แค่มาตรฐานแฟนๆ )

น่าเสียดายที่อัลเฟรด เบสเตอร์เองก็ยังไม่ถึงระดับนั้น

ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยสำหรับไซไฟคือในแง่ความคิด นี่ไม่ใช่รวมเรื่องสั้นซึ่งอ่านแล้วชวนฉุกคิด แนวทางของเบสเตอร์ชัดเจนมากๆ แกหมกมุ่นกับตัวละครซึ่งมีอำนาจประดุจพระเจ้า อย่างน้อยห้าเรื่องสั้นออกแนวนั้น บางครั้งเบสเตอร์ก็จับแก่นเรื่องตรงนี้มาผูกได้อย่างแนบเนียน (เช่น "ออดดี้ และอิด") แต่บางครั้งน้ำเน่าจนชวนให้ส่ายหน้า ("แสงดาว แสงสว่าง")

จริงๆ การเขียนเรื่องประเด็นเดิมๆ ไม่ใช่สิ่งเสียหาย ฟิลิป เค ดิกก็มีหัวข้อโปรดที่เขาชอบแวะเวียนไปหา ตรงนี้กระมังสาเหตุที่การเขียนหนังสือให้มีความลึกถึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้แก่นจะซ้ำเดิม แต่ถ้าเขียนได้ลึก เรื่องมีมิติอื่นให้ดิ้นได้ ปัญหาของ"ความเท็จเสมือน" คือเรื่องมันตื้นเกินไป

ติเสียเยอะ กระนั้นถ้า"ความเท็จเสมือน"เป็นหนังสือสุดทนจริงๆ คงโยนทิ้งตั้งแต่สาม สี่เรื่องแรกแล้ว (จริงๆ ก็เกือบทำแบบนั้นอยู่เหมือนกัน) มันอ่านสนุกไม่เลวเลยล่ะ ภาษาของเบสเตอร์ชวนให้นึกถึงคอลัมภ์ขำขันในนิวยอร์กเกอร์ เป็นภาษาหยอกล้อกิ๊กกั๊ก เนื้อเรื่องแล่นไปอย่างรวดเร็ว ชนิดไม่ข้องเกี่ยวความสมจริงสมจัง ในทางกลับกัน ถ้าจะบอกว่า "ความเท็จเสมือน" เป็นหนังสือชวนอ่าน โดยดูจากภาษาอย่างเดียวก็พูดได้ไม่ค่อยเต็มปาก หลายครั้งเหมือนเบสเตอร์เล่าเรื่อยเปื่อย เช่นว่าเปิดเรื่องที่ตัวละครตัวโน้น ต่อมาคนเขียนเปลี่ยนใจพาเหตุการณ์หักเหไปอีกทาง (อย่างใน "แจกันดอกไม้สายฟ้า" หรือ "ชีวิตไม่เหมือนเดิม" ชัดเจนว่าแกไม่ได้คิดอะไรล่วงหน้าเวลาเขียน) หลายครั้งก็เล่าซ้ำซากโดยไม่จำเป็น ("หายวับไปกับตา" และ "ฟาเรนไฮต์ที่รัก")

แต่หลายเรื่องก็พอเข้าทีมิหยอก เช่น "5,271,009" ซึ่งไม่ใช่เรื่องสั้นที่ดีนักหรอก แต่คนอ่านสามารถสนุกกับภาษาได้อย่างเต็มที่ "ฟาเรนไฮต์ที่รัก" ไม่ใช่แนวฮาๆ เหมือนเรื่องอื่นๆ แต่เบสเตอร์กลับเขียนได้ดีมาก (เลยไม่รู้ว่าทำไมแกเอาแต่เขียนเรื่องขำขัน) "ผู้ชายซึ่งสังหารโมฮัมมัด" จับประเด็นการย้อนเวลาได้อย่างน่าสนใจ ส่วน "แจกันดอกไม้สายฟ้า" สร้างโลกอนาคตได้แหวกแนวไม่เหมือนใครดี เมื่อสงครามทำล้ายล้างอารยธรรม มนุษย์ที่หลงเหลือจึงต้องสร้างโลกใหม่ โดยดูตัวอย่างจากภาพยนต์ฮอลลีวู้ดซึ่งหลงเหลืออยู่ กลายเป็นโลกแห่งความจริงซึ่งทุกคนทำตัวเลียนแบบภาพยนต์

No comments: