J. W. Krutch's "Modernism in Modern Drama"


รุ่นน้องเราคนหนึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับ new wave ในวงการวรรณกรรมไทย เธอถามเราว่า new wave ของฝรั่งเป็นยังไง มีอะไรบ้าง เราฟังคำถามแล้วก็ทำตาปริบๆ ก่อนจะตอบว่า "ไม่มีว่ะ" ถ้าพูดถึง "คลื่นลูกใหม่" ก็จะนึกถึงวงการภาพยนตร์หรือศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจเพราะนักเขียนเป็นสิ่งมีชีวิตโดดเดี่ยว (ทั้งลักษณะนิสัย และวิธีการทำงาน) เรื่องรวมหัวกันสร้างกระแส "คลื่นลูกใหม่" แทบไม่เคยปรากฏให้เห็นในโลกตะวันตก (ใกล้เคียงสุดก็อาจเป็นกลุ่มนักเขียนของเวอจิเนียร์ วูล์ฟและสามี)

พูดแบบนี้ใช่ว่าวงการวรรณกรรมไทยจะไม่มีกระแสคลื่นลูกใหม่ ประเทศไทยนั้นเล็กพอที่นักเขียนจะรวมตัวกันสร้างกระแส (และเราก็รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ เสียด้วย) และถ้าจะเข้าใจคลื่นลูกใหม่น่าจะต้องลองกลับไปทบทวนนิยามของ "สมัยใหม่" กันดู

คำถามนี้จะว่าไปแล้วก็น่าเบื่อเอามากๆ ตกลงประเทศไทยมี "สมัยใหม่" หรือยัง แล้วไอ้ "สมัยใหม่" นี่มันมาหลัง "หลังสมัยใหม่" ได้ด้วยหรือ อันที่จริงในทางวรรณกรรม "หลังสมัยใหม่" ไม่จำเป็นต้องมาทีหลัง "สมัยใหม่" เสมอไป วูล์ฟเป็นนักเขียนในยุคเดียวกันกับจอยซ์ แต่หลายคนก็ถือว่าวูล์ฟเป็นสมัยใหม่ ส่วนจอยซ์เป็นหลังสมัยใหม่ (และถ้าเชื่อครัช เทนเนสซี วิลเลียม ซึ่งมาทีหลังทั้งวูล์ฟและจอยซ์ เป็นนักเขียนคลาสสิก หรือ "สมัยก่อน" ไปเลย)

เราชอบนิยามของสมัยใหม่ใน Modernism in Modern Drama มากๆ และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อรุ่นน้องเราในการนิยามคลื่นลูกใหม่ สมัยใหม่ในทางวรรณกรรมคือความเชื่อว่าสังคมไม่สามารถดำเนินต่อไป อย่างที่มันเป็นอยู่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ก็ต้องอาศัยอะไรใหม่ๆ จินตนาการถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และต้องใหม่ชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อุปมาคือไม่สามารถข้ามเหวด้วยวิธีสร้างสะพานได้ เพราะสะพานก็ยังต้องอาศัยแผ่นดินของฝั่งที่เรายืนอยู่เป็นตัวยึด แต่การข้ามหุบเหวแบบสมัยใหม่ต้องเป็นการกระโดดข้ามเท่านั้น

วรรณกรรมไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะ "สมัยก่อน" ได้ง่ายมากๆ ในแบบสุดโต่ง สมัยก่อนก็คือความต้องการกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรสยาม แต่ในอีกแง่หนึ่ง วรรณกรรมสะท้อนสังคม ที่พยายามชี้ให้เห็นข้อเสีย ข้อด้อยของสภาพปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นสมัยก่อนได้เหมือนกัน เพราะวรรณกรรมพวกนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า สังคมดีได้เพียงเรากำจัดเนื้อร้าย ที่อาจจะมาพร้อมความทันสมัย หรือกระทั่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมก็ตาม (ด้วยเหตุนี้เรื่องสั้นสตรีนิยม หม้อที่ขูดไม่ออก ของอัญชัญก็ยังไม่อาจถือว่าเป็นสมัยใหม่ตามนิยามของครัชได้)

ยอมรับอย่างหนึ่งว่าไม่ใช่ง่ายๆ เลย ถ้ายึดตามครัช ที่จะจำแนกอะไรเป็นสมัยใหม่ ง่ายกว่าเยอะคือดูว่าอะไรไม่ใช่ เช่น แม้คุณวินทร์จะทดลองกับรูปแบบสักแค่ไหน ที่สุดของที่สุดศีลธรรมในผลงานของวินทร์ เลียววาริณก็ยังเป็นสิ่งที่พูดถึงและยอมรับกันได้ในสังคม รวมไปถึงผลงานหลายชิ้นของคุณปราบดา

ครัชยอมรับว่านิยามนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราอาจไม่สามารถแบ่งได้ว่าอะไรสมัยก่อน อะไรสมัยใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราอาจจะพอวัด "ความตั้งใจ" ของคนเขียนได้ว่าต้องการจะเป็นสมัยใหม่หรือสมัยก่อน (หรืออยากเป็นสมัยใหม่ แต่กลายเป็นสมัยก่อนโดยไม่รู้ตัว) เช่นเดียวกัน บางอย่างที่โคตรจะสมัยใหม่ในอดีต มาตอนนี้อาจจะเป็นสมัยก่อน ตามความนิยมของสังคมไปแล้วก็ได้ นอกจากนี้ วรรณกรรมบางชิ้นก็ไม่ได้ตั้งใจจะกระโดดข้ามหุบเหวไปอีกฝั่งหนึ่ง แต่เป็นการกระโดดลงเหว "อย่างสง่างาม" มากกว่า

คำแนะนำจากพี่ถึงน้องรัก ถ้าเธอว์ได้เข้ามาอ่านบลอคนี้ อย่ามองว่านี่คือ "คำตอบ" ของคำถามที่เธอว์กำลังขบคิดอยู่ ให้มองว่านี่คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยเธอว์ไปสู่คำตอบนั้นได้​ก็แล้วกัน

2 comments:

ตอง said...

บลอคนี้ทำให้ผมได้รู้ว่า มีหนังสือที่น่าอ่านมากมายเหลือเกิน ^_^

Niam Mawornkanong said...

ภาพประกอบบล็อกหน้านี้เอามาจากไหนครับ

อ่านบล็อกคุณ เห็นภาพประกอบหลายอันน่าสนใจ บางอันเป็นภาพวาด ถ้าระบุรายละเอียดภาพไว้บ้างก็ดีครับ จะได้ไปหาต่อ^^