D. Adam's "Last Chance to See"


"If you think education is expensive, try ignorance"/"ถ้าคุณคิดว่าการศึกษามันแพงนัก ก็ลองโง่ดูสิ"

นี่คือวาจาอมตะของเดริค บอค นักการศึกษาชาวอเมริกัน ผู้กำกับเคยปริ๊นเอามาติดไว้หน้าโต๊ะทำงาน เราเองก็ชอบมากๆ เหมือนกัน ที่ยกมาไว้ตรงนี้เพราะคิดว่ามันสรุปหัวใจของหนังสือ Last Chance to See ได้ดียิ่งนัก นี่คือรวมบทความกึ่งสารคดีท่องเที่ยวของดักลาส อดัม ผู้โด่งดังจากนิยายชุด The Hitchhiker's Guide to the Galaxy ใน Last Chance to See อดัมและมาร์ค คาวาดีน นักสัตววิทยาออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเก็บข้อมูลของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ณ สถานที่ต่างๆ

มือระดับอดัมเขียนหนังสือนี่ เรื่องขำน่ะขำแน่ๆ นอกจากนี้ Last Chance to See ยังนำเสนออีกหลายประเด็นที่ลึกซึ้งมากๆ เฉกเช่นในคำพูดของเดริค บอค บางครั้งสิ่งที่เรารู้สึกเหมือนมันไม่มีคุณค่า ไม่มีราคาอะไร เช่นการศึกษาหรือการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ถ้าเรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ ราคาที่ต้องจ่ายอาจจะแพงเสียยิ่งกว่า ในตอนจบของหนังสือ อดัมยกนิทานปรัมปรามาเรื่องหนึ่ง ดีมากๆ ดีโคตรๆ อ่านแล้วทั้งน้ำตาซึม ทั้งหัวเราะไม่ออก อยากจะแปลมาไว้ตรงนี้ แต่กลัวเสียของ

จะว่าไปนี่คืออาการปรกติของเราในการอ่านหนังสือเล่มนี้ ทั้งขันก็ขัน ทั้งเศร้าก็เศร้า อย่างตอนที่อดัมพูดถึงคาคาโป นกแก้วยักษ์ที่บินไม่ได้ (รูปแปะข้างบน) อดัมอธิบายว่าสัตว์ประเภทนี้โชคร้ายเพราะมันไม่มีภาษาใช้สื่อสาร เมื่อคาคาโปตัวหนึ่งเผชิญหน้ากับสัตว์ล่าเหยื่อที่มาจากภายนอกระบบนิเวศ แม้มันจะหนีรอดมาได้ แต่ก็ไม่สามารถไปบอกกล่าวเล่าเตือนเพื่อนฝูง อดัมให้เราลองจินตนาการดูว่าถ้าคาคาโปเป็นมนุษย์ มันจะบอกเพื่อนๆ ของมันอย่างไร หลังจากหนีรอดจากการถูกแมวตะครุบ

แต่ขณะเดียวกัน อดัมสรุป มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีภาษา ก็โคตรจะไร้ซึ่งความสามารถในการเรียนรู้ข้อผิดพลาดระหว่างกันและกันเลย

อดัมเป็นคนที่ละเอียดลออกับความซับซ้อนของโลก เขาตระหนักดีว่าการที่ตัวเองเข้าไปสอดส่าย ไปยุ่งเกี่ยวกับนักอนุรักษ์นี่มันเป็นการดึงเวลาอันมีค่าจากพวกเขาเหล่านี้แค่ไหน แต่อีกทางหนึ่ง ในฐานะผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์บีบีซี การค้นคว้าและนำเสนอหนังสือเล่มนี้จะมีคุณค่าแก่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในระยะยาวยิ่งกว่า เฉกเช่นเดียวกับการท่องเที่ยว ถ้าจะมองว่ามันคืออีกรูปแบบหนึ่งของลัทธิล่าอาณานิคมก็มองได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุเดียวที่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างแรดยังมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะ “ในขณะนี้ แรดเป็นๆ มีราคามากกว่าแรดที่ตายแล้ว”

บทจะฮา Last Chance to See ก็ฮาได้ระเบิดระเบ้อ อย่างตอนที่อดัมและคาวาดีนพยายามหาซื้ออุปกรณ์สำรองในการอัดเสียงใต้แม่น้ำแยงซี หรือตอนที่เขาเล่าถึงนักศึกษาชาวเยอรมันที่เข้าป่าไปดูกอริลลาด้วยกัน ขนาดคนเส้นลึกอย่างเรา อ่านแล้วยังต้องกลั้นหัวเราะแทบแย่ (เพราะอ่านในร้านหนังสือ จะหัวเราะออกมาก็เกรงใจคนรอบข้าง)

พูดก็พูดเถอะ เป็นความผิดพลาดของเราจริงๆ ที่เลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เพราะช่วงนี้อยู่ระหว่างการเดินทางเลยอยากประหยัดเงินและประหยัดพื้นที่ แทนที่จะซื้อหนังสือมาเก็บไว้ ก็เลยว่าจะอ่านในร้านให้มันเสร็จๆ ไป แต่พออ่าน Last Chance to See จบ นั่งคิดอยู่นานเลย เพราะกับหนังสือดีๆ แบบนี้ ไม่ซื้อเก็บไว้ไม่ได้จริงๆ เอาไงดีหว่า

แต่ก็นะ ถ้าคิดว่าการศึกษามันแพงนัก ก็ลองโง่ดู…

A. Carter's "Shadow Dance"


ไม่รู้เคยบอกไปหรือยังแต่เราชอบมากเลย การได้อ่านนิยายเล่มแรกของนักเขียนคนโปรดเนี่ย ความรู้สึกเหมือนไม่ใช่กำลังอ่านหนังสือ เนื่องจากว่าในการอ่านหนังสือทั่วไป เราจะสมมติว่าผู้เขียนรู้อะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ และผู้อ่านมีหน้าที่รับฟังเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับกรณีหนังสือเล่มแรก เรารู้ว่าในอนาคตข้างหน้าผู้เขียนจะเขียนอะไรออกมา ยิ่งใหญ่และดีกว่าเล่มนี้สักแค่ไหน เรามองเห็นและเข้าใจบางแง่มุมได้ดีกว่าผู้เขียน (ในขณะนั้น) ด้วยซ้ำ การอ่านเลยเหมือนการสนทนากับผู้เขียนแทน สนทนาไปเราก็ยิ้มแบบพ่อมดเมอร์ลินไปด้วย (หมายถึงรอยยิ้มของคนที่รู้เห็นอนาคต)

Shadow Dance คือนิยายเล่มแรกของคาร์เตอร์ และเป็นเล่มแรกในไตรภาค "Swinging 60s" (เคยพูดถึง Love ซึ่งเป็นนิยายเล่มสุดท้ายในในไตรภาคเดียวกันนี้ไปแล้ว) ว่าด้วยชีวิตของผู้คนในช่วงทศวรรษ 60 อันเป็นยุคที่ชาวอังกฤษเริ่มทำตัวต่อต้านศีลธรรม ความเชื่อ หรืออำนาจของผู้ใหญ่สังคม เป็นยุคของวงดนตรีสี่เต่าทอง ลัทธิสตรีนิยม และเสรีภาพทางเพศ Shadow Dance และ Love มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย มีตัวละครเด่นเป็นชายหนุ่มเห็นแก่ตัว เพศสภาพไม่แน่นอน มีอำนาจชังจูงให้ผู้คนให้คล้อยตาม แต่ขณะเดียวกันก็ไขว่คว้าความสุขอันเลื่อนลอยไม่ต่างอะไรจากคนปรกติทั่วไป

เพราะต้องการปกป้องมอริซ เพื่อนรักที่ถูกผู้หญิงสำส่อนประจำเมืองตามรังควาน ฮันนี "สั่งสอน" กริซเลนด้วยการข่มขืนเธอและใช้มีดปาดใบหน้าเป็นแผลยาว Shadow Dance เปิดเรื่องด้วยการที่ฮันนีหนีไปอยู่ลอนดอน และกริซเลนออกจากโรงพยาบาลพร้อมทั้งแผลเป็นน่ารังเกียจ จากจุดนั้นชีวิตของมอริซก็ถูกดึงดูดเข้าไปในวังวนแห่งความทุกข์

เราชอบ Shadow Dance มากกว่า Love ขณะที่ Love กระโดดเข้าไปในยุคสมัยอย่างสุดโต่ง Shadow Dance ยังมีความบรรยะบรรยังอยู่ หลายคน (โดยเฉพาะ "นักเพศนิยม" และสตรีนิยมชาวไทย) ชอบมองว่า Swinging 60s คือยุคแห่งอิสระภาพ การปฏิวัติวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ แต่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ดีๆ จะพบว่านั่นก็เพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง วัยรุ่นที่เติบโตมาในยุค 60s พอผ่านช่วงนั้นก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ต่างไปจากพ่อแม่ที่ตัวเองพยายามขัดขืน ความหัวก้าวหน้า ความสุดโต่ง หรือความต้องการฉีกตัวเองจากขนบอาจเป็นเพียงภาพลวงตาในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตคนเรา ถ้าเทียบกับ Love แล้ว Shadow Dance ดูจะมองการไกลและเห็นสัจธรรมตรงนี้ได้ดีกว่า

ส่วนที่ชอบที่สุดคือตัวละครหญิงสามคน กริซเลน เอดนา และเอมิลี เป็นผู้หญิงสามแบบที่น่าสนใจแตกต่างกันไป กริซเลนคือผู้หญิงสุดโต่งแบบที่พบได้บ่อยๆ ในนิยายของคาร์เตอร์ เอมิลีเป็นผู้หญิงที่เย็นชาและเข้มแข็งแบบแปลกๆ ส่วนเอดนาคือ "นางร้าย" หัวอนุรักษนิยม เป็นตัวละครชัดเจน จนเราคิดว่าคาร์เตอร์ในยุคหลังๆ คงไม่เขียนอะไรแบบนี้ออกมาอีก ว่าไปแล้ว Shadow Dance ก็เป็นนิยายที่ "สะอาด" เกินไป ตอนจบมีการผูกปมให้ทุกอย่างมีคำตอบที่ชัดเจน ถือเป็นความน่ารักของนิยายเล่มแรกก็แล้วกัน

วีรกรรมเฒ่าทะเล (r.o.d.)


สารภาพคือระหว่างที่อ่านเรื่องสั้น วีรกรรมเฒ่าทะเล ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เหมือนเหตุการณ์อะไรต่อมิอะไรมันเกิดขึ้นเต็มไปหมด อย่างไม่ค่อยมีที่มาที่ไปเสียด้วย อ่านหลายอย่างที่ผู้เขียนบรรยายแล้วก็ไม่นึกภาพตามไม่ค่อยจะออก กระนั้นพออ่านถึงตอนจบ สะดุดใจว่าจบได้ดี และพอมาครุ่นคิดถึงองค์ประกอบอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ก็พอจะมองเห็นว่ามันเข้าท่าเข้าทางดีเหมือนกัน

โดยรวมแล้วต้องบอกว่าชอบครับ ขอตบมือให้กับความแปลกใหม่ของเรื่องสั้นสัจนิยมที่มีตัวเอกเป็นคนชรา แต่ไม่ได้ออกมาเหมือนคนชราในวรรณกรรมทั่วไป ไม่ใช่ไม้ใกล้ฝั่งจะตายวันตายพรุ่งแบบที่นักอ่านชาวไทยคุ้นเคย (แม่พิมพ์ของเรื่องทำนองนี้ที่โด่งดังสุดก็คงเป็น แมว ของอาจารย์ลาว คำหอม) ลุงเรืองใน วีรกรรมเฒ่าทะเล ไม่ใช่คนแก่ธรรมดา ถ้าจะใช้สำนวนไทยว่า "เตะปี๊บดัง" ยังน้อยไปด้วยซ้ำ ต้องบอกว่าลุงเรือง แกโดดถีบปี๊บขาคู่ได้อย่างสบายๆ เป็นยอดมนุษย์คนหนึ่งที่ "เมื่อมีพลังยิ่งใหญ่ ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่" ตามไปด้วย

แต่ในส่วนที่รู้สึกว่าเป็นข้อเสีย ก็ยังเป็นข้อเสียอยู่นะครับ เรื่องนี้มีเหตุการณ์เยอะมากๆ ตั้งแต่ตอนเช้า ลุงเรืองมีเรื่องกับทิดหมี ตอนกลางวันก็ไปช่วยผู้หญิงตกน้ำ ตอนเย็นแข่งขนของ และก็มีเรื่องกันอีกรอบในตอนค่ำ เรื่องที่มีเหตุการณ์เยอะๆ แต่ยาวแค่ไม่กี่หน้าแบบนี้ ทำให้รู้สึกว่าขาดรายละเอียดไปพอสมควร ผู้เขียนควรจะใจเย็นลง บรรยายและพรรณนาแต่ละเหตุการณ์ ว่าเกิดอะไรขึ้นและมีผลอย่างไรกับตัวละคร เท่าที่กะดู เรื่องนี้ควรยาวเพิ่มขึ้นสักสองเท่าถึงจะจับใจความทุกเหตุการณ์ได้อย่างละเอียด (อีกทางแก้หนึ่งคือประหยัดเหตุการณ์ ตัดมันออกไปบ้าง)

ผู้เขียนฝากบอกมาว่าชอบคุณประชาคม ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะงานชิ้นนี้ก็มีกลิ่นน้ำเค็มเฉกเช่นเดียวกับผลงานของคุณประชาคม แต่อีกสิ่งที่อยากเตือนคือ กับงานของคุณประชาคมนั้น ต่อให้ผู้อ่านไม่เคยไปเห็นท้องทะเล ไม่เคยขึ้นเรือหาปลา ก็ยังติดตามเรื่องราวได้อย่างสนุกสนาน แต่ปัญหาหลักของ วีรกรรมเฒ่าทะเล คือนึกภาพตามได้ยากมาก เช่นจับใจความได้ว่าลุงเรืองไม่ใช่กะลาสี ไม่ได้มีหน้าที่หาปลา และงานของแกน่าจะเกี่ยวข้องกับการแบกหามข้าวสารมากกว่า ถ้าอย่างนั้นจริงทำไมถึงต้องนั่งเรือออกไปกลางทะเลด้วย (ใช่ไหม) หรือเหตุการณ์คนตกน้ำนี่มันเกิดที่ไหนกัน ริมฝั่งหรือว่ากลางทะเล และผู้หญิงคนนั้นมาจากไหน ยืนอยู่บนเรืออีกลำหนึ่ง หรืออยู่บน "บันได" (ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะหรือเปล่า เพราะนึกภาพไม่ออกจริงๆ ) รายละเอียดทำนองนี้ ผู้เขียนจะต้องทำตัวเป็นมิตรกับคนอ่านให้มากกว่านี้

ชอบตอนจบของเรื่องนี้มาก เป็นการจบที่สะกิดใจยิ่งนัก แม้จะยังมีพื้นฐานหลายอย่างต้องปรับปรุง แต่เมื่อความคิดดีแล้ว สิ่งเหล่านี้ฝึกฝนกันได้ไม่ยากครับ

T. Wolfe's "The Right Stuff"


ใครที่ติดตามอ่านบลอคนี้คงได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งเกี่ยวกับรักชวนหัวนั่นคือ “เราชอบระบบทุนนิยม” ไม่ขอนิยามให้มากความแล้วกันว่าทุนนิยมเป็นอย่างไร ส่วนคำว่าชอบก็ไปตีความกันเอาเองว่าชอบในระดับไหน แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้ชอบลืมหูลืมตาขนาดมองไม่เห็นข้อเสียเลย ข้อเสียของทุนนิยมอันเป็นหอกหลาวทิ่มแทงใจเราก็คือ การที่สินค้าถูกประเมินราคาด้วยท้องตลาด โดยไม่จำเป็นเสมอไปว่าราคานั้นจะต้องสะท้อนคุณค่าที่แท้จริงของมัน ขยะหนึ่งชิ้นก็ขายได้ ถ้ามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดีๆ เรื่องแบบนี้ใครที่คุ้นเคยกับวงการบันเทิง และเฝ้ามองปรากฎการณ์กอล์ฟไมค์ย่อมเห็นพ้องต้องกัน

The Right Stuff เป็นนิยายที่กัดจิกทุนนิยมได้อย่างสาแก่ใจ และวูลฟ์ทำเช่นนั้นโดยไม่ต้องอ้างเรื่องความเท่าเทียม การกระจายรายได้ หรืออะไรทั้งสิ้น อาศัยการค้นคว้าอย่างละเอียด วูลฟ์ใช้กลวิธีกึ่งสารคดี เล่าเหตุการณ์ “ศึกชิงอวกาศ” ช่วงปลายทศวรรษ 50 ต้น 60 อันเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์และเคนเนดีแข่งขันกับโซเวียต ว่าใครจะส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้ก่อนกัน และชาติไหนจะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรก

เชื่อว่าแทบทุกคนคงรู้จักนีล อาร์มสตรอง (ชาวอเมริกันคนแรกที่ไปเยือนดวงจันทร์) ใครที่แม่นหน่อย น่าจะรู้จักยูริ เอ กาการีน (นักบินอวกาศคนแรกซึ่งเป็นชาวรัสเซีย) และคงต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้การสำรวจอวกาศจริงๆ ถึงจะเคยได้ยินชื่ออลัน เชพพาร์ด (มนุษย์อวกาศคนที่สอง เป็นชาวอเมริกา) หรือจอห์น เกลน (ชาวอเมริกันคนแรกที่นั่งยาวอวกาศโคจรรอบโลก) กระนั้นต่อให้เป็นแฟนพันธุ์แท้แค่ไหนก็คงไม่เคยได้ยินชื่อเยเกอร์ เยเกอร์ไม่ใช่นักบินอวกาศ เขาเป็นคนแรกที่ขับเครื่องบินเจ็ทด้วยความเร็วเกินหนึ่งมัค (ความเร็วของเสียง) ซึ่งสมัยก่อนเคยเชื่อกันว่าเป็นกำแพงทางวิศวกรรมที่มนุษย์เราไม่สามารถฝ่าได้ เอ้า! แล้วเครื่องบินเจ็ทเกี่ยวอะไรกับนักบินอวกาศด้วย ลองดูรูปที่เราแปะไว้ข้างบน จะเห็นว่าระดับความสูงที่เครื่องบินเหล่านี้พุ่งขึ้นไปได้นั้นไม่ธรรมดา กระทั่งเห็นความโค้งของโลกได้ รวมไปถึงชั้นบรรยากาศบางๆ สีฟ้า นี่มันยานอวกาศชัดๆ และคนอย่างเยเกอร์ต่างหากที่น่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลก

ที่โดนใจมากๆ ใน The Right Stuff คือความแตกต่างระหว่างคุณค่าที่แท้จริง และคุณค่าในโลกทุนนิยม ซึ่งถูกการประชาสัมพันธ์ตบแต่งขึ้น ภายหลังจากที่รัสเซียส่งดาวเทียมสปุตนิคขึ้นไปโคจรรอบโลกได้เป็นประเทศแรก อเมริกาตื่นตระหนกมาก และตัดสินใจว่าจะต้องส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศให้ได้โดยเร็วที่สุด ก็เลยเกิด “แผนสกปรก” เรียกว่าโครงการณ์เมอคิวรี จับมนุษย์ยัดเข้าไปในกระป๋อง ใช้ปืนใหญ่ยิงกระป๋องให้ลอยขึ้นไปถึงอวกาศ และใช้ร่มชูชีพชะลอการตกอีกทอดหนึ่ง วูลฟ์พยายามเน้นมากๆ ว่า “มนุษย์อวกาศ” ที่คนอเมริกาในยุคนั้นเข้าใจกัน แท้ที่จริงก็คือผู้โดยสาร แทบไม่ต่างอะไรจากลิงชิมแปนซีเลย (ตอนที่รับสมัครมนุษย์อวกาศหนแรกสุด ทางนาซาตั้งใจด้วยซ้ำว่าจะให้ “ใครก็ได้” มาสมัคร ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบิน)

ขณะที่คนอเมริกันและสื่อมวลชนเฝ้าติดตาม “มนุษย์กระป๋อง” นักบินจริงๆ เขาขับเครื่องบินเจ็ทลอยขึ้นไปถึงอวกาศ ไปไหนต่อไหนแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีสนใจพวกเขาเหล่านั้น

The Right Stuff เป็นนิยายที่ช่วยเปิดสายตาเรา ถึงจะเป็นเรื่องโง่ๆ ง่ายๆ แต่บางครั้งคนเราก็ต้องมีใครเตือนว่าคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราทำ บางทีอาจจะมีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะตัดสินได้ สังคม (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทุนนิยมเสมอไป ปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง) พร้อมที่จะสร้างรางวัล สร้างราคา สร้างคุณค่าในท้องตลาดด้วยการอัดประชาสัมพันธ์ คนที่เหมือนจะยืนอยู่บนจุดสุดยอด บางทีเขาก็อาจจะเป็นแค่ลิงอัดกระป๋องเท่านั้น

r.o.d. คืออะไร


คริสเองค่ะ เพื่อนๆ ที่เพิ่งติดตามบลอค "รักชวนหัว" อาจจะงงๆ ว่าเอ๊ะ! ทำไมช่วงนี้มีเรื่องสั้นชื่อไม่คุ้นเคยมาแปะบ่อยจัง แล้วไอ้ r.o.d. นี่มันคืออะไรกันหนอ คริสขอเป็นคนอธิบายนะคะ r.o.d. คือการรวบรวมบทวิจารณ์เรื่องสั้นของรักชวนหัว ซึ่งคุณๆ ทางบ้านส่งมาร่วมสนุกกันคะ เป็นโครงการณ์ซึ่งรักชวนหัวเริ่มต้นไว้ตั้งแต่ปีสองปีที่แล้ว ด๋อยบ้างเป็นพักๆ เนื่องจากไม่ค่อยมีคนส่งมา แต่ช่วงนี้เริ่มมีมาเรื่อยๆ แล้ว ก็จะทยอยๆ อ่านและแปะบทวิจารณ์นะคะ ใครที่สนใจอยากให้รักชวนหัวอ่านเรื่องสั้นของตัวเอง ส่งมาที่ laughable-loves@hotmail.com คะ จำง่ายดีเนอะ

รักชวนหัวฝากให้คริสขอบคุณเพื่อนๆ นักเขียนนักอ่านทุกท่านด้วยค่ะ ทั้งที่ส่งผลงานเข้ามาร่วมสนุก และที่เข้ามาอ่านบลอคเป็นประจำ ไว้เจอกันค่ะ อย่าลืมไปดูรถไฟฟ้าฯ นะ

อ้อ! เกือบลืมแน่ะ r.o.d. ย่อมาจาก read on demand หรือ "อ่านตามสั่ง" นะคะ

Rock (Matter that Matters) (r.o.d.)


ต้องบอกก่อนว่า ในอีเมลที่ผู้เขียนส่งต้นฉบับ Rock (Matter that Matters) มาให้อ่าน มีกำกับไว้ด้วยว่าอาจจะอ่านยากนิดหนึ่งเพราะมีการประดิษฐ์ภาษาไทยกันขึ้นมาดื้อๆ ซึ่งถ้านั่นเป็นสิ่งที่คุณ Lasiara ห่วงจริงๆ ก็เลิกห่วงได้เลยครับ เพราะภาษาคือจุดเด่นสุดของเรื่องสั้นนี้ การเล่นกับห้วงคำ ใช้ "..." คั่นระหว่างวลีแทนที่จะต่อเป็นประโยคเต็มๆ นั้น แม้จะต้องพยายามทำความเข้าใจอยู่บ้าง แต่อ่านเอาเรื่องไม่ยากเลย มิหนำซ้ำยังได้ความรู้สึกวนเวียนงามๆ เหมาะสมกับอารมณ์ของเรื่องสั้นนี้

จุดอ่อนที่สุดของ Rock (Matter that Matters) ไม่ได้อยู่ในภาษา แต่อยู่ที่เนื้อหา เรื่องสั้นชิ้นนี้มีธีมที่เป็นวัยรุ่นมากๆ (การประดิษฐ์ภาษาไทย ทำตัวเป็นขบถกับจารีตก็น่าจะถือเป็นการแสดงออก การสร้างสรรค์ของวัยรุ่นได้เหมือนกัน) เกี่ยวกับพ่อแม่ที่ไม่ใยดีลูก ไม่แม้กระทั่งตั้งชื่อให้ และสุดท้ายเด็กคนนั้นก็ต้องฟันฝ่าสร้างอัตลักษณ์ในโลกกว้างด้วยตัวของเขาเอง เนื้อหาดี แต่ตรรกะหรือวิธีนำเสนอของเรื่องนี้อิงอยู่กับ cliche (ขนบคร่ำครึ) มากเกินไป

คุณ Lasiara เปิดเรื่องให้พ่อแม่เป็นเศรษฐี โยนคำว่า "ทุน" "ทรัพย์สิน" "วัตถุ" เข้าใส่ผู้อ่าน เพื่อให้คนอ่าน "คิดไปก่อน" เลยว่าพ่อแม่แบบนี้จะต้องปล่อยปละละเลยลูกแน่ๆ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น โดยอย่างไม่มีเหตุผลเสียด้วย (เพราะส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเศรษฐีตระกูลดัง น่าจะต้องเลี้ยงลูกชายไว้สืบสกุลและให้ความสำคัญพอสมควร) เด็กที่โตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ สุดท้ายก็จะเสียคน กระโดดไปอีกบรรทัด อยู่ดีๆ นิรนามก็ลงเอยในโรงพยาบาลบ้าอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

เรามองว่าจุดนี้คือกับดักของความเป็นวัยรุ่น ยิ่งพยายามต่อสู้กับขนบจารีตไหร่ ก็ยิ่งสร้างอคติต่อสิ่งรอบตัวขึ้นมาได้ง่าย อคติต่อคนรวย อคติต่อคนมีการศึกษา อคติต่อผู้มีอำนาจ (เช่นหมอบางคนในเรื่อง หรือตำรวจที่พอจับลูกชายซึ่งงัดแงะบ้านตัวเอง คำถามแรกคือ "จนๆ แบบนี้คงไม่รู้ละสิว่านี่เป็นบ้านท่านเศรษฐี")

ภาษาและการประดิษฐ์คำของคุณ Lasiara น่าสนใจดีแล้ว และน่าจะนำมาใช้กับเรื่องสั้นได้หลากหลาย Rock (Matter that Matters) เป็นผลงานที่เกิดจากชั่วโมงบินที่ยังน้อยไปหน่อย ถ้าเขียนและปรับปรุงต่อไปเรื่อยๆ จะต้องสร้างผลงานชั้นเลิศได้อย่างแน่นอนครับ

J. Austen's "Pride and Prejudice"


สาบานเลยเอ้า ว่าเราคือหนึ่งในผู้ชายส่วนน้อยที่ไม่ได้ดูดมดูดีอะไรกับเคียรา ไนท์ลี แต่ที่เอารูปเธอมาแปะ เพราะต้องยอมรับว่าสมัยนี้คงหาเอลิซาเบธ เบนเนทที่ดูดีดูทันสมัยเท่าเธอไม่ได้แล้ว

ถึงจะเพิ่งเคยอ่าน Pride and Prejudice เป็นครั้งแรก แต่เรื่องราวอลม่านของครอบครัวเบนเนท ลิซ่าผู้เต็มไปด้วยอคติ และดาซีผู้เต็มไปด้วยความหยิ่งยะโส ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้น Bridget Jones's Diary ก็เคยดูมาแล้วสองสามรอบ ยังไม่นับภาคหนังเพลงอินเดีย Bride and Prejudice ก็แปลกดีเหมือนกันที่หนังสือของเจน ออสตินมักถูกเอามาดัดแปลงให้ทันสมัย เปลี่ยนฉากจากอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นฮอลลีวูด บอลลีวูด หรือว่าลอนดอนในศตวรรษที่ 20 (อย่าง Emma ก็ถูกดัดแปลงมาเป็น Clueless)

ยิ่งมาอ่านหนังสือ ก็ยิ่งแปลกใจ เพราะว่ากันจริงๆ Pride and Prejudice ไม่ได้มีความทันสมัยหรือมีแง่คิดที่เป็นอมตะเลย ในทางตรงกันข้าม เสน่ห์ของมันอาจจะอยู่ที่ความล้าหลังเลยด้วยซ้ำ Pride and Prejudice คือหนังสือที่เต็มไปด้วยตัวอย่างของการแต่งงานที่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นคู่สามีภรรยาเบนเนทเอง คุณนายเบนเนทที่คิดแต่จะแต่งลูกสาวจนน่ารำคาญ คู่สามีภรรยาคอลลินส์ ซึ่งผู้หญิงยอมแต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ได้ชอบ เพราะรู้สึกว่าหน้าตาเฉยๆ อย่างเธอ หาสามีมั่งคั่งระดับนี้ได้ก็ดีนักหนาแล้ว หรือคู่สามีภรรยาวิคแฮมส์ ซึ่งขนาดออสตินเองยังแย้มพรายว่าคงไม่ได้จบสุขสันต์แน่ๆ

ถ้าอ้างความเชื่อสตรีนิยมว่า "แม้นโลกนี้ไร้ชายใดที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า" Pride and Prejudice เป็นนิยายที่ปฏิเสธคำพูดนี้อย่างสิ้นเชิง นี่คือหนังสือที่ "เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร" ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ผิด ภายในกรอบบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในยุคเจน ออสติน นี่คือความเชื่อที่ถูกแบบแล้ว

ในแง่วรรณคดีศึกษา Pride and Prejudice เป็นตัวอย่างของวิธีดำเนินเรื่องด้วย "การตระหนักรู้" (aphorism) ออสตินให้ตัวละครเอกได้พบกับความรู้หรือข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา (ซึ่งมักจะมาในรูปแบบของจดหมาย) เพื่อให้เธอได้ใช้ข้อมูลตรงนั้น ทบทวนและใคร่ครวญสิ่งที่เกิดในอดีตด้วยมุมมองแบบใหม่ การที่ลิซาพร้อมจะตัดสินคนอื่นโดยไม่รู้จักอีกฝ่ายดีพอ ทำให้เธอเหมาะเจาะมากที่จะเป็นตัวเอกของนิยายเรื่องนี้ ขณะเดียวกันการปิดบังข้อมูล หรือการไม่ยอมให้ผู้อื่น "ตระหนักรู้" ก็ยังเป็นเงื่อนไขในการดำเนินเรื่องและการตัดสินใจของตัวละครด้วย

รู้สึกว่าตัวเองตั้งใจและต้องใช้สมาธิในการอ่าน Pride and Prejudice มากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก อ่านงานชิ้นนี้ของออสตินแล้วนึกถึงเฮนรี เจมส์ แม้ยุคสมัยจะต่างกันเกือบร้อยปี และใช้เทคนิกทางวรรณศิลป์ที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง แต่นิยายของทั้งคู่ว่าด้วยมารยาทในสังคมและการที่คนเราต้องขุดลึกลงไปกว่าเปลือกนอก ถึงจะตัดสินสิ่งที่มองเห็นด้วยตาได้

วัน เวลา และตุลา


ไม่ได้เขียนเรื่องการเมืองมาพักใหญ่แล้ว เอาเสียหน่อย บังเอิญไปเจอบทความน่าสนใจในเวปประชาไท เลยขออนุญาตแปะ "ลิ้งค์" นะครับ

พอช่วงเดือนตุลาทีไร ก็เหมือนในแวดวงการเมืองการหมึกจะคึกคักเป็นพิเศษ ทุกเวปต้องเอาบทความนู่นนี่มาแปะ จุดที่เราว่าน่าสนใจในบทความชิ้นนี้คือขอให้ทุกคนกรุณาดูบรรทัดหมายเหตุว่า ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อไหร่ "มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 10 มกราคม 2547 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1221" 2547 นี่มันก็เกือบหกปีมาแล้ว ครึ่งทศวรรษนี่ถือว่าไม่นานเท่าไหร่หรอก แต่ถ้ามองว่าช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับประเทศไทย ต้องถือว่านานเป็นชาติก็คงจะปานนั้นได้ เราคงต้องขอตั้งคำถามกับบทความนี้เฉกเช่นเดียวกับตอนที่พูดถึงหนังสือของอาจารย์ไชยรัตน์ว่า (และเราคงได้ย้ำคำถามนี้ต่อไปในอีกหลายโอกาส) "ถ้าเป็นปัจจุบัน อาจารย์ศิโรตม์ยังจะเขียนบทความนี้อยู่อีกหรือเปล่า"

เราไม่ได้โต้แย้งหรือปฏิเสธสิ่งที่อาจารย์ศิโรตม์เขียนขนาดนั้น และเราเชื่อว่าต่อให้อาจารย์เขียนบทความทำนองนี้อีก ช่วงหกปีที่ผ่านมาคงไม่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดหลายสิบปีของอาจารย์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่สิ่งที่เราอยากตั้งคำถามคือทุกวันนี้เรายังจะสามารถหันกลับไปมองเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ "การรวมตัวของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้" ด้วยสายตาแบบเมื่อปี 2547 ได้หรือเปล่า

มีคำพูดหนึ่งน่าสนใจดี เข้าใจว่าเป็นของอาจารย์ธงชัย ตอนอาจารย์ไปร่วมงานสัมนาช่วงประมาณปี 2550 ภายหลังรัฐประหาร (เข้าใจด้วยซ้ำว่าเป็นประชาไทนั่นแหละที่จัดงานนี้) โฆษกของงานแนะนำตัวอาจารย์ในฐานะหนึ่งในวีรชนเดือนตุลา ซึ่งไม่รู้ว่าคำพูดของโฆษกไปสะกิดต่อมอะไรในตัวอาจารย์หรือเปล่า แต่สิ่งแรกที่ท่านพูดหลังจากได้ไมค์คือ ทำนองว่า "บางครั้งผมคิดว่าเรื่องเดือนตุลานี่ แค่บรรจุไว้ในหนังสือเรียนก็พอแล้ว อย่าไปอ่านไปศึกษามันมากคงจะดีกว่า..." (หมายเหตุ: ถ้าเราจำผิด ไม่ใช่อาจารย์ธงชัยเป็นผู้พูด หรือเข้าใจและตีความคำพูดของอาจารย์ผิดด้วยอคติส่วนตัว ต้องขออภัยเป็นอย่างแรงครับ)

เราไม่ได้หมายความว่าคนไทยควรรีบๆ ลืมเหตุการณ์เดือนตุลา ความเชื่อของเราที่แตกต่างจากอาจารย์ศิโรตม์ในบทความนี้ก็คือ ด้วยวิสัยของคนไทยแล้ว เรากล้าเอาหัวเป็นประกันเลยว่าเหตุการณ์เดือนตุลาจะถูกนำกลับมาฉายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดก็ตาม แต่แค่ "จดจำ" เหตุการณ์โดยปราศจาก "ความเข้าใจ" มันแตกต่างอะไรเล่าจากการลืม หรือถ้าเอาคำพูดของอาจารย์ธงชัยมาดัดแปลง "หากคิดจะจดจำกันแค่นี้จริงๆ ลืมๆ ไปซะเลยอาจจะดีกว่า"

ซึ่งนี่ก็เป็นประเด็นหลักในบทความของอาจารย์ศิโรตม์เช่นกัน กล่าวคืออาจารย์บอกว่าแค่จดจำ 14 ตุลาในฐานะผลงานของ "ขบวนการ" มันไม่พอ แต่ต้องดูบริบททางสังคมด้วย 14 ตุลาไม่ได้เกิดมาจากขบวนการแต่มาจาก "ประชาชน" (แต่คำถามหนึ่งที่เราเชื่อว่าถามได้และกล้าถามก็คือ ประชาชนที่ต่อต้าน 14 ตุลาในยุคนั้น มีอยู่มากน้อยแค่ไหน) การมองแบบนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็อยากเสริมอีกแง่หนึ่งคือ เราไม่ควรมอง 14 ตุลาเฉพาะในแง่ของปรากฎการณ์ภายในประเทศเท่านั้น แต่มันมีส่วนเกี่ยวโยงไปยังการเมืองระหว่างประเทศด้วย มองในมุมกว้าง มองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการเมืองระดับโลกตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

มองให้ทะลุอีกสักนิด แล้วค่อยเริ่มจดจำกันคงยังไม่สายเกินไปหรอกครับ

W. Scott's "Ivanhoe"


อ่าน Ivanhoe แล้วนึกถึงวรรณคดีไทยเรื่องหนึ่ง เป็นมหากาพย์ว่าด้วยการต่อสู้ของวีรบุรุษชาวไทยกับข้าศึกชาวพม่า แต่งโดยมหากวีที่พูดชื่อปุ๊บทุกคนต้องร้องอ๋อ จุดหนึ่งที่เราสงสัยมาตลอดตั้งแต่ถูกบังคับให้อ่านเรื่องนี้สมัยเรียนคือ เป็นความจงใจของมหากวีหรือเปล่าที่แต่งให้วีรบุรุษชาวไทยแบนตะแลดแต๊ดแต๋ ส่วนขุนศึกชาวพม่าก็สุดแสนจะโรแมนติก ลึกซึ้ง เป็นสามมิติเสียอย่างนั้น หรือว่ามันเป็นธรรมเนียมของมหากาพย์ ที่พอพระเอกสุดเก่งสุดกล้าหาญ ก็เลยน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจเท่าผู้ร้ายที่พอจะมีข้อเสียอยู่บ้าง

คำถามต่อมาก็คือคนที่อ่านวรรณคดีเรื่องนี้ในสมัยนั้น คิดเหมือนเราหรือเปล่าว่าผู้ร้ายน่าติดตามกว่าพระเอก แล้วคนสมัยนี้คิดอย่างไร เราควรรู้สึกอย่างไรกับการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ ที่สำคัญคือ ครูควรสอนให้ลูกศิษย์คิดอย่างไร

สำหรับ Ivanhoe เราว่าสกอตรู้อยู่แต่แรกแล้วว่าตัวละครที่น่าสนใจที่สุดไม่ใช่อัศวิน ไอแวนโฮและคนรัก โรวีนา แต่เป็นเหล่าตัวประกอบบรรดามี ตั้งแต่อัศวินดำผู้ลึกลับ โรบินแห่งลอกซ์เลย์ นายธนูมือฉมัง (หรือโรบินฮูด ที่เรารู้จักกันดีนี่เอง) เซดริก บิดาของไอแวนโฮ เอเธสเธน อัศวินผู้กล้าหาญแต่ขี้เกียจ รวมไปถึงผู้ร้ายตัวเอ้ ดีบอยส์กิลเบิร์ด และนางรอง รีเบคกา โดยเฉพาะตัวละครคู่สุดท้ายนี่ขโมยซีนกระจัดกระจาย เอาง่ายๆ แล้วกันว่าปกหนังสือ Invanhoe ฉบับ Penguin Classics ก็ไม่ใช่ไอแวนโฮหรือโรวีนาขึ้นปก แต่เป็นภาพดีบอยส์กิลเบิร์ดลักพาตัวรีเบคกาจากปราสาทที่กำลังลุกเป็นไฟ

ไอแวนโฮ ตัวเอกของนิยายมีบทบาทน้อยมาก เราสามารถแบ่งเนื้อเรื่องของนิยายเล่มนี้ออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรกสุดคือการประลองยุทธที่จัดโดยเจ้าชายจอห์น ซึ่งแม้ไอแวนโฮจะได้แสดงฝีมือเน้นๆ แต่ก็แทบไม่มีบทพูดเลย แถมยังต้องซ่อนตัวอยู่ในชุดเกราะตลอดรายการ ส่วนที่สองคือการบุกโจมตีป้อมโดยอัศวินดำและโรบินฮูด ระหว่างที่ไอแวนโฮบาดเจ็บจากการประลองยุทธ เลยต้องนอนฟังรีเบคกา พยาบาลสาวชาวยิว เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดจากยอดหอคอย (ฉากนี้มหัศจรรย์มากๆ สกอตเขียนถึงการบุกทะลายป้อม กิจกรรมที่เต็มไปด้วยความเอิกเกริกวุ่นวายให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพตาม ผ่านปากคำของรีเบคกา มหัศจรรย์พอๆ กับฉากบุกโจมตีหมู่บ้านของคุโรซาวาใน Seven Samurai เลย) ช่วงสุดท้ายคือการประลองระหว่างไอแวนโฮและดีบอยส์กิลเบิร์ดเพื่อรักษาชีวิตของรีเบคกา ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ไอแวนโฮก็ไม่ทันได้แสดงฝีมืออะไร และเป็นช่วงนี้เองที่ผู้อ่านได้สังเกตความสัมพันธ์ด้านมืดอันแสนเศร้าระหว่างรีเบคกาและดีบอยส์กิลเบิร์ด

ดีบอยส์กิลเบิร์ดเป็นตัวละครที่ยอดเยี่ยมมากๆ รีเบคกาพูดถึงผู้ชายคนนี้ว่า “ใช่ว่าจิตใจของท่านจะไม่เคยมีอะไรดีๆ แผ้วผ่านมาเลย ถ้าเปรียบเป็นสวน มันก็เต็มไปด้วยวัชพืชอันชั่วร้าย เมล็ดพันธุ์อะไรที่หว่านลงไปก็เลยงอกงามไม่ได้” ดีบอยส์กิลเบิร์ดเป็นคนเช่นนั้นจริงๆ ด้วยความห้าวหาญและฝีมืออันกล้าแกร่ง แต่เพราะถูกคนรักหักหลัง เขาจึงหลงเข้าไปในโลกแห่งความสามานย์ สุดท้ายชะตากรรมของเขาจึงต้องต่อสู้ไม่ใช่เพื่อนางอันเป็นที่รัก แต่เพื่อปลิดชีวิตนางอันเป็นที่รัก นิยายเรื่องนี้จบด้วยฉากที่รีเบคกา ผู้แอบหลงรักไอแวนโฮ มาพบกับโรวีนาเพื่อฝากให้นางบอกลาสามี ก่อนที่เธอจะอพยพออกจากเกาะอังกฤษ จุดจบอันโดดเดี่ยวของรีเบคกาชวนให้เราคิดถึงคำสัญญาที่ดีบอยส์กิลเบิร์ดมอบให้เธอก่อนตาย

ชีวิตของสองคนนี้คือโศกนาฏกรรมที่ซุกซ่อนอยู่ในมหากาพย์อย่างแยบยล บางครั้งคนเราก็ถูกหน้าที่ ศีลธรรม หรืออำนาจที่มองไม่เห็นบังคับให้เราโยนความสุขทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ในกรณีของดีบอยส์กิลเบิร์ด ความชั่วช้าคือกำแพงกั้นกลางระหว่างตัวเขาและความสุข แต่ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นคือในกรณีของรีเบกกา กลับเป็นความดีงามต่างหากที่ขัดขวางไม่ให้เธอได้มีโอกาสพบความสุขความสมหวัง

กระทั่งตัวละครอย่างเซดริก ที่เหมือนจะถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเรียกเสียงหัวเราะและผ่อนคลายบรรยากาศ ก็ยังมีโศกนาฏกรรมเล็กๆ เป็นของตัวเอง โศกนาฏกรรมของความฝันอันล่มสลายของคนชรา ฉากของ Ivanhoe คืออังกฤษยุคหลังจากเผ่านอมันของฝรั่งเศสบุกเข้ามายึดครองเผ่าแซกซอน เซดริกเป็นขุนนางแซกซอนเลือดบริสุทธิ์ที่ต้องการฟื้นคืนเกียรติยศให้กับชาวแซกซอนที่ถูกพวกนอมันเหยียดหยาม แต่จนแล้วจนรอดความฝันนั้นก็ไม่มีวันเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะคนหนุ่มคนสาวอย่างโรวีนา ไอแวนโฮ หรือเอเธสเธนไม่ได้ให้ความสำคัญกับอุดมคติตกยุคสมัยนี้ พอนึกภาพออกเลยว่าถ้าเราอายุมากกว่านี้สักยี่สิบสามสิบปี มาอ่าน Ivanhoe คงจะอินกับตัวละครเซดริกเอามากๆ

ต้องยอมรับว่า Ivanhoe เป็นมหากาพย์อันลึกซึ้ง สมแล้วกับที่มันได้รับการเชิดชูมากว่าสองศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของตัวละครดังที่กล่าวไปแล้ว หรือประเด็นการเหยียดผิวเหยียดเผ่าพันธุ์ ซึ่งถือเป็นแก่นหลักของนิยาย สกอตผสานมันอย่างแนบเนียนเข้ากับประวัติศาสตร์ การผจญภัย และศึกสงคราม อ่านสนุก อ่านไปก็มีอะไรให้ขบคิดไปด้วย

เฮือด (r.o.d.)


ไม่ง่ายเลยกับการวิจารณ์ เฮือด ถามว่ามันดีไหม แน่นอนละว่ามันดี และอาจเป็นเรื่องสั้นดีที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยมีคนส่งมาร่วมโครงการณ์ r.o.d. เลยก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน ถามว่ามันมีจุดไหนให้แก้ไขไหม เราก็รู้สึกว่ามันมีอยู่ไม่น้อย เหมือนจะเป็นด้วยว่าจุดเด่นสุดของ เฮือด ก็คือจุดด้อยสุดของมันเช่นกัน

เฮือด เล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงและภาษาท้องถิ่น โดยผู้เล่าเรื่องเป็นครู เล่าไปก็มีกรอกเหล้าเมามายเป็นระยะ บางทีก็สลับเอาคนอื่นหรือตัวละครในเรื่องที่เขาเล่ามาพูดคุยกับคนอ่าน อ่านไปก็ได้อารมณ์เหมือนนั่งอยู่ในร้านเหล้า ฟังขี้เมาหลายๆ คนพลัดกันเล่าเรื่อง ส่วนเรื่องที่พวกเขาเล่าว่าด้วยยิ้ม มหาเศรษฐีท้องถิ่น และการเผชิญหน้าของเขากับคู่ปรับคู่แค้นสองรายคือเฮือดแม่ไก่และข้าว แอบสงสัยว่ายิ้มคือสัญลักษณ์ของ “อะไร” หรือ “ใคร” หรือเปล่า แต่ทิ้งไว้ให้คนอ่านสงสัยแบบนี้แหละดีมากแล้ว

อย่างที่บอกว่าจุดเด่นสุดของเรื่องสั้นนี้ก็คือจุดด้อยสุดของมันด้วย ความสะเปะสะปะของการเล่าที่กว่าจะเข้าเรื่องได้ก็ปาเข้าไปสามสี่หน้า จริงๆ แล้วเราชอบตรงนี้นะ น้ำเสียงที่ทำให้ผู้ "อ่าน" กลายเป็นผู้ "ฟัง" และการใช้ภาษาพูดแทนที่ภาษาเขียนถือเป็นเสน่ห์ของ เฮือด ที่อยากแนะนำคือทันทีที่เข้าเรื่องแล้ว ความสะเปะสะปะควรลดน้อยลงกว่านี้ไหม ถ้าลำดับเหตุการณ์เสียใหม่น่าจะช่วยให้ความขัดแย้งในเรื่องสั้นนี้ชัดเจนขึ้น คนเขียนเกริ่นเรื่องเฮือดแม่ไก่ไว้ในตอนต้น ก่อนจะวกมาเรื่องข้าว และกลับไปหาเฮือดอีกทีในตอนท้าย เทคนิกการเล่าแบบนี้น่าจะเหมาะกับนิยายหรือเรื่องที่มีขนาดยาวมากกว่า

เราชอบปมความขัดแย้งระหว่างยิ้มและข้าวมากๆ เป็นนิทานชวนฝันที่หยอกล้อและเสียดสีพฤติกรรมมนุษย์อย่างคมคาย (ไม่นับว่ามันอาจมีแง่มุมหรือสัญลักษณ์ทางการเมืองแฝงนัยอยู่ด้วย) นี่คือตัวอย่างของเรื่องสั้นไทยสัจนิยมมายา (magical realism) ที่ชัดเจนและดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน มันเลยข่มปมเฮือดแม่ไก่ให้อ่อนลง (ทั้งที่เป็นชื่อเรื่องแท้ๆ ) รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของยิ้ม จากเศรษฐีอิ่มบุญกลายมาเป็นคนบ้าคลั่งก็ยังไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอยู่ เหล่าเพื่อนทหารของยิ้มก็ดูจะเป็นตัวละครเกินๆ เคอะเขินอย่างไรมิทราบ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเรื่องนี้ขาดความสะเปะสะปะ อ่านแล้วจะได้อารมณ์คึกคักแบบนี้หรือเปล่า ผู้เขียนคงต้องไปชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียเอาเอง

S. Ozment's "A Mighty Fortress"


ช่วงศตวรรษที่ 20 ต้น 21 นี้ ถ้าพูดถึงประเทศเยอรมัน สิ่งแรกที่หนีจากห้วงความคิดของคนส่วนใหญ่ไปไม่พ้นคือ “สงครามโลกครั้งที่ 2” และ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” ถึงขนาดว่าเยอรมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ถ้าย้อนอดีตไปสักร้อยปี จะไม่ใช่เยอรมันหรอกที่ติดปากคนส่วนใหญ่ในฐานะชนเผ่าแห่งความพินาศ แต่เป็นฝรั่งเศสต่างหาก “ปฏิวัติฝรั่งเศส” และ “นโปเลียน” คือสัญลักษณ์แห่งความบ้าคลั่งที่หลอกหลอนชาวยุโรปเป็นเวลาร้อยกว่าปี (สองสิ่งนี้เป็นอย่างเดียวกันหรือเป็นพลังที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ก็ยังเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันจวบจนทุกวันนี้)

คงฟังดูกระแดะมาก ถ้าจะบอกว่าสาเหตุหนึ่งที่เราอ่าน A Mighty Fortress ประวัติศาสตร์เยอรมันฉบับย่นย่อก็เพราะอยากเข้าใจตัวเอง อยากรู้ว่าทำไมเราถึงได้ชอบวรรณกรรมและปรัชญาเยอรมันนัก ขณะเดียวกันก็ต่อต้านอะไรที่มันเป็นฝรั่งเศสไปเสียหมด ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลย A Might Fortress ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ ที่เราต้องการรู้

ปรัชญาเยอรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ตั้งแต่คานท์ เฮเกล นิทเช่ จวบจนไปถึงฟรอยด์ เป็นปรัชญาที่ถูกเขียนโดยนักคิดผู้เฝ้าสังเกตและจับตามองความบ้าคลั่งในฝรั่งเศสระหว่างศตวรรษที่ 18 และ 19 ชนิดหายใจรดต้นคอ ถ้าปรัชญาของโวลแตร์และรุสโซคือต้นกำเนิดแห่งความบ้าคลั่งนั้น คานท์และเฮเกลก็คือผู้รับและดัดแปลงความคิดของลูเธอร์ มาสร้างปรัชญายุคใหม่ที่ผสานขั้วตรงข้ามเอาไว้ด้วยกัน

เท่าที่สังเกตมา คนฝรั่งเศสหมกมุ่นกับความขัดแย้งเอามากๆ เมื่อใดที่มีพลังสองอย่างหักล้างและขับเคี่ยวกันเองอยู่ในชาวหรือสังคมฝรั่งเศส ดูจะเป็นเรื่องที่พวกเขาทนทุกข์ทรมาน และต้องพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งตรงนี้ให้ได้ (ไม่ว่าจะด้วยการฆ่าตัวตายหรือไปยิงคนอื่นเพราะ “แดดมันร้อน”) ขณะเดียวกันชาวเยอรมันเคยชินกับการผสมผสานและยอมรับความขัดแย้ง ช่วงศตวรรษที่ 18 ดนตรีของบาคและบทกวีของเกอเตแสดงออกถึงขั้วตรงข้าม ยิ่งในศตวรรษที่ 19 ประเทศเยอรมันยิ่งต้องรักษาสมดุลระหว่างแนวคิดใหม่ที่ระบาดมาจากประเทศเพื่อนบ้านและอำนาจของชนชั้นปกครอง ถ้าเฮเกลและวิภาษวิธีคือรูปธรรมของการผสมผสานความขัดแย้งในเชิงปรัชญา บิสมาร์คก็คงจะเป็นรูปธรรมของการคานอำนาจในเชิงการเมือง

แน่นอนคำถามที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ กับประเทศที่เหมือนจะเดินทางสายกลางได้แบบเยอรมัน มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถ้าพลังแห่งปัญญาคือสิ่งที่ประคับประคองพวกเขาให้รอดพ้นศตวรรษที่ 19 มาได้ แล้วพลังนั้นมันหายไปไหน ออสเมนท์ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เขาก็คงเหมือนกับเรา ในขณะที่คนปัจจุบันพร้อมจะสร้างลักษณะนิสัยบางอย่างให้กับชาวเยอรมัน เพื่อใช้อธิบายสาเหตุสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งเราและออสเมนท์อาจจะเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจเกินกว่าจะยอมรับคำอธิบายมักง่ายแบบนั้น

S. Pinker's "The Stuff of Thought"


ไม่บอกก็คงเดาได้กระมังว่าปกติรักชวนหัวไม่ติดตาม ASTV จะมียกเว้นอยู่หนเดียวคือวันที่ 19 เดือนก่อน เราทราบข่าวการจราจลหน้าเขาพระวิหารครั้งแรกจาก ASTV ระหว่างกำลังตัดผมอยู่กับช่างประจำตัวที่เป็นเหลืองตกขอบ ถือเป็นประสบการณ์น่าสนใจไม่น้อย ชอบมากๆ คือบทสนทนาโต้ตอบกันทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหน้าที่ในสถานีและผู้ถูกสัมภาษณ์ หนึ่งในแกนนำ โดยจรรยาบรรณ (และกฎหมาย) เจ้าหน้าที่ข่าวไม่สามารถโกหกได้ แต่ผู้ถูกสัมภาษณ์จะโกหกเท่าใดก็ได้ เราก็เลยได้ชม (ฟัง) กายกรรมพลิกแพลงระหว่างเจ้าหน้าที่ในห้องส่งและแกนนำ โดยฝ่ายหนึ่งถามชี้นำเพื่อเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายโกหก (หรือปิดบังความจริง) ทำอย่างไรที่จะให้สานส์ออกมาในรูปแบบที่พวกเขาต้องการ โดยบิดเบือนความจริงน้อยที่สุด

ไม่ใช่จะพูดเรื่องการเมืองหรอกนะ แต่ในฐานะที่เป็น “คนหนังสือ” คงไม่มีพวกเราคนไหนที่ไม่เชื่อว่า “ภาษาตบแต่งความคิด” ถ้าจำไม่ผิด คุณวาณิชกระมังที่เคยพูดทำนองว่า “นักเขียนไม่ได้เขียนหนังสือด้วยความคิด แต่เขียนหนังสือด้วยคำ” คนธรรมดาชอบเข้าใจว่าการเขียนหนังสือคือการ “สื่อสาร” ประเภทหนึ่ง โดยการนำความคิดในหัวเรา ไปใส่ในหัวอีกฝ่ายอย่างสมบูรณ์แบบและตกหล่นน้อยที่สุด แต่นักเขียนจะรู้ดีกว่านั้น ว่าความคิดเป็นรองภาษา ศิลปะการสื่อสารไม่ได้อยู่ที่ “สานส์” แต่อยู่ที่ “การสื่อ” ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นว่าทำอย่างไรคุณถึงจะชักจูงผู้ฟังให้เห็นตามที่คุณต้องการ โดยไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย

เกริ่นมาเวิ่นเว้อแบบนี้เพราะจะอธิบายว่าทำไมให้ตายเราและสตีเฟน พิงเกอร์ก็คงมองตาต่อตากันไม่เห็น (“เวิ่นเว้อ” นี่เป็นสำนวนวัยรุ่น ส่วน “มองตาต่อตากันไม่เห็น” นี่เป็นสำนวนฝรั่ง) The Stuff of Thought นี่จริงๆ แล้วเป็นหนังสือเล่มที่สองของพิงเกอร์ที่เราอ่าน แต่เล่มแรก The Language Instinct นั้นอ่านไม่จบเพราะมัวแต่ทะเลาะกับผู้เขียน (อันนี้เป็นการใช้คำอุปมาอุปมัย)

พิงเกอร์เรียกทฤษฎีภาษาศาสตร์ของตัวเองว่า “Conceptual Semantic” ซึ่งเป็นทางสายกลางระหว่างทฤษฎีสุดโต่งสองสายคือ “Nativism” ความเชื่อว่าคำและภาษาฝังอยู่ในหน่วยพันธุกรรม และมีมาแต่กำเนิด และ “Linguistic Determinism” ความเชื่อว่าภาษาเกิดจากการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และตัวภาษาก็ “ตบแต่งความคิด” ของผู้ใช้ในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าในเมื่อพิงเกอร์บอกว่าทฤษฎีของตัวเองเป็น “ทางสายกลาง” มันก็ย่อมฟังดูสมเหตุสมผลกว่าทฤษฎีคู่แข่งอีกสองสาย แต่การอ่าน The Stuff of Thought ระหว่างบรรทัดทำให้เราพอมองเห็นว่าพิงเกอร์คงจะเอนเอียงไปทาง Nativism มากกว่า Linguistic Determinism แกดูจะยกย่องบิดาแห่ง Nativism มากๆ (ทั้งที่สำหรับเราแล้ว มันเป็นความคิดสติแตกชัดๆ ) แต่จะล้อเลียน เล่นตลกกับนัก Linguistic Determinism นอกจากนี้ในบทที่พูดถึงอุปมาอุปมัย พิงเกอร์ก็ยังปฏิเสธวาทกรรมที่จะนำไปสู่ข้อสรุปว่า “ภาษาตบแต่งความคิด” อย่างหัวชนฝา

เราคิดว่าปัญหาก็คือพิงเกอร์พยายามศึกษาปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมอย่างภาษาโดยมองแต่จากแง่มุมทางด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น หนึ่งในแก๊กที่ดังสุดของแกคือการโต้ตัวอย่างของนัก Linguistic Determinism ว่าชาวเอสกิโมมีคำศัพท์ที่แปลว่า "หิมะ" มากกว่าภาษาอื่นๆ พวกเขาจึงสามารถมองและแจกแจงแยกแยะหิมะได้ดีกว่าคนทั่วไป พิงเกอร์บอกว่านั่นไม่ได้หมายความเลยว่าเราจะไม่สามารถจับเอาคนญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมันมาเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างหิมะตามแบบเอสกิโมได้ การโต้กลับแบบนี้แสดงว่าพิงเกอร์ได้หลงประเด็นแล้ว เพราะธรรมชาติของภาษาอยู่ในวัฒนธรรมและชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ห้องทดลองของนักภาษาศาสตร์ การที่โดย "ธรรมชาติ" ชาวเอสกิโมแยกแยะหิมะได้ดีกว่าชนชาติอื่น ก็น่าจะเป็นหลักฐานแล้วว่า Linguistic Determinism เป็นจริงมากกว่าที่แกยอมรับ

The Stuff of Thought เลยกลายเป็นหนังสือที่ไม่สนุกเท่าที่ควร ความเป็น Nativism ของพิงเกอร์ทำให้แกปฏิเสธ (หรืออย่างน้อยก็ตั้งใจมองข้าม) ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ประเด็นหนึ่งที่น่าขบคิดมากๆ ซึ่งแกแตะมาแต่ไม่สานต่อไปไหน คือความแตกต่างระหว่างคำนามนับได้และนับไม่ได้ในภาษาอังกฤษ โดยนามนับไม่ได้จะมีลักษณะของสิ่งที่ไม่อาจแบ่งสัดส่วน หาพื้นผิว หรือขีดจำกัดได้อย่างชัดเจน เช่นน้ำ ทราย หรือนามธรรม ขณะที่สุนัข แมว หนังสือนั้น เราสามารถบอกได้ถึงขอบเขตหรือจุดจบของพวกมัน แต่อย่างภาษาไทย ญี่ปุ่น และจีน ทุกอย่างถือเป็นนามนับไม่ได้หมด (ถึงต้องมีลักษณะนามกำกับการนับ) ซึ่งความแตกต่างตรงนี้มาจากไหน มีความหมายอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่พิงเกอร์มองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

บ่นมาแบบนี้ไม่ใช่ว่าหนังสือเล่มนี้ (รวมถึง The Language Instinct) ไม่ดีนะ แน่นอนว่าถึงจะ “ทะเลาะ” กัน แต่สุดท้ายเราจะเอาอะไรไปสู้ศาสตราจารย์ภาษาศาสตร์จาก MIT ได้ มีหลายอย่างน่าอ่านอยู่ใน The Stuff of Thought เช่นการพิสูจน์ความรู้ a priori ของคานท์ บทที่พูดเรื่องคำสบถ และอีกบทที่พูดถึงมารยาท แต่ในฐานะนักเขียนหรือผู้ที่มองภาษาจากอีกปลายหนึ่ง คงยากที่เราจะเห็นด้วย หรือสนุกไปกับหนังสือของพิงเกอร์ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์