B. Friedman's "The Moral Consequences of Economic Growth"


The Moral Consequence คือหนังสือซึ่งคนไทยทุกคนควรอ่าน เพราะมันเสนอมุมมองซึ่งขัดแย้งความคิดมาตรฐานในสังคมเรา โดยเฉพาะในสภาพความผันผวนทั้งทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจเช่นนี้ ฟรายด์มาน อดีตหัวหน้าภาคคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นเวทีถกเถียงว่า ผลกระทบจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ประชาชนรวยขึ้น หรือวิถีความเป็นอยู่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญสุดคือประชาชนก็จะมีศีลธรรมขึ้นด้วย

ความคิดที่ว่าพัฒนาการของมนุษย์ทั้งทางด้านสติปัญญา เศรษฐกิจ และศีลธรรม มักจะไปทางเดียวกันนั้นไม่ใช่ของใหม่ ฟรายด์มานบอกว่าคำสั่งสอนของศาสนาคริสต์บางยุคบางสมัยก็บอกว่า หน้าที่ของชาวคริสต์ไม่ใช่เพียงเข้าวัดเข้าวา แต่รวมไปถึงการขยันหมั่นเพียร ทำงานเพื่อยกระดับสถานภาพในสังคม ปรัชญาซึ่งสนับสนุนความคิดของฟรายด์มานเริ่มมาจากยุค enlightment ประมาณศตวรรษที่ 17-18 เมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในยุโรป ผู้คนรู้จักใช้เหตุใช้ผลมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ทั้งทางด้านศีลธรรม และความอยู่ดีกินดี ปรัชญา enlightment ก่อกำเนิดนักคิดอย่าง adam smith ผู้เป็นบิดาแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และลัทธิทุนนิยม แน่นอนว่าลัทธิต่อต้านทุนนิยมเองก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานไม่แพ้กัน โดยบิดาของมันคือรุสโซแห่งศตวรรษที่ 18 และคาร์ล มาร์กแห่งศตวรรษที่ 19 จนมาถึงเลนินในศตวรรษที่ 20 ในอนาคตข้างหน้าจะจารึกชื่อคณะคมช. ด้วยหรือเปล่า ยังต้องดูกันต่อไป

ประเด็นหลักของฟรายด์มานคือความสุขสบายของประชาชนถูกวัดได้สองแนวทาง หนึ่งคือการเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน สองคือการเปรียบเทียบกับอดีต ถ้าประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสม่ำเสมอ แม้กระทั่งคนจนก็จะรู้สึกว่าตัวเองรวยขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อคนส่วนใหญ่พอใจกับความเป็นอยู่ของตัวเอง การแก่งแย่งชิงดี สู้รบปรบมือทางเศรษฐกิจก็จะลดต่ำลง ประชาชนก็สามารถเอาเวลามาใช้กับกิจกรรมจรรโลงใจอื่นๆ เช่นศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงการทำเพื่อสาธารณประโยชน์ ในทางกลับกันถ้าประเทศไม่มีการขยายตัวเลย ประชาชนก็จะหันมาเปรียบเทียบกันเองในสังคม ซึ่งผู้คนก็จะไม่พอใจกับความเป็นอยู่ของตัวเองเพราะเห็นว่าคนอื่นนั้นรวยกว่า สังคมเช่นนี้จึงลงเอยที่สภาพชิงดีชิงเด่น กีดกัน ซึ่งใน The Moral Consequence ฟรายด์มานหยิกยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประเทศอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศษ จนถึงเยอรมัน

มุมมองของฟรายด์มานนั้นเรียกว่าเป็น development economist สุดโต่ง คือให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ โดยเชื่อว่าการก้าวไปข้างหน้าของทุกระดับชั้นในสังคม สำคัญกว่าการก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียม จริงๆ แล้วยังมีแนวคิดอีกประเภทหนึ่งของ public economist ซึ่งเชื่อว่า คนที่อยู่ข้างจำเป็นต้องช่วยเหลือ ช่วยจูงคนที่อยู่ข้างหลังด้วย แม้ว่าโดยรวมหมู่คณะไม่อาจก้าวไปไกลเท่าวิธีแรก (หรือบางครั้ง อาจจะหยุดนิ่งกับที่ด้วยซ้ำ) ซึ่งตัวฟรายด์มานเองก็ยอมรับในข้อขัดแย้งตรงนี้ เขาบอกว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ต้องแก้โจทย์ให้ว่าจะสร้างสมดุลระหว่างสองแนวคิดนี้อย่างไร ถ้าจะให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ก็ต้องยอมรับว่าไม่อาจกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม เช่นอังกฤษ หรืออเมริกา ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็ประสบปัญหาตรงนี้ (จนถึงปัจจุบัน อเมริกาก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่คนรวยมีเงินมากกว่าคนจนที่สุดในโลก) แต่พอผ่านไปสักระยะ ช่องห่างของรายได้จะค่อยๆ ลดทอนลงมาเอง ขณะเดียวกัน สังคมซึ่งมีช่องห่างรายได้มากๆ ก็ไม่อาจอยู่ยั้งยืนยง เพราะสภาพเช่นนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหาการเมืองต่างๆ นานา

คงเป็นโจทย์ที่ต้องแก้กันต่อไปสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ เอาเป็นว่า บทเรียนตรงนี้ที่อยากฝากให้เก็บไปคิดกันคือ "อย่าดูถูกเงินตรา" แค่นี้แหละ

รากนครา (ปิยะพร ศักดิ์เกษม)


ตกลงกันก่อน เราจะขอเรียกหนังสืออย่าง "รากนครา" ว่าโรมานซ์ก็แล้วกัน เพราะไม่ว่าคำไทยคำใดซึ่งถูกใช้เรียกนิยายจำพวกนี้ เช่น "นิยายผู้หญิง" "นิยายประโลมโลก" "นิยายน้ำเน่า" หรือ "เรื่องรักๆ ใคร่ๆ " ก็ออกจะแฝงน้ำเสียงเหน็บแนมดูถูกไว้กลายๆ จริงๆ ก็เรื่องนี้แหละ ที่อยากพูดถึง "รากนครา" เป็นหนึ่งในโรมานซ์ห้า หกเล่มซึ่งเคยได้เข้าชิงซีไรต์ จำไม่ได้แล้วว่าเล่มอื่นมีอะไรบ้าง ที่แน่ๆ มี "รัตนโกสินทร์" ของ ว. วินิจฉัยกุล อะไรสักเล่มของสีฟ้า และประภัสสร ส่วนโรมานซ์เล่มเดียวที่เคยได้รางวัลคือ "ปูนปิดทอง" ของกฤษณา แน่นอนว่าซีไรต์ไม่ใช่ตัวตัดสินหรอกว่าหนังสือเล่มไหนดี ไม่ดี แล้วก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ข้อไหนกีดกันโรมานซ์จากการได้ชิง แต่ก็เป็นที่รู้กันอีกนั่นแหละ ว่ายากนักหนาจะได้เห็นโรมานซ์สักเล่มผ่านเข้ารอบสุดท้าย จนเหมือนจะกลายเป็นความจริงโดยไม่ต้องบอกแล้วว่าโรมานซ์นั้นเทียบไม่ได้กับ "วรรณกรรมผู้ชาย" อย่าง "คำพิพากษา" หรือ "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน"

ยอมรับว่าตัวเองอ่านโรมานซ์น้อย จริงๆ "รากนครา" แทบจะอยู่ในโรมานซ์ไม่ถึงสิบเล่มที่เคยได้อ่านด้วยซ้ำไปกระมัง ถ้าจะเอานิยายเล่มนี้เป็นมาตรฐาน ก็ยอมรับว่ามันสู้ "คำพิพากษา" ไม่ได้หรอก แต่ที่แน่ๆ มันดีกว่า "วรรณกรรมผู้ชาย" ที่เคยอ่านหลายสิบเล่ม กระทั่งมองว่ามันเป็นนิยายการเมือง ประเด็นการเมืองของมันก็อ่านแล้ว ดูมีสติปัญญากว่าวรรณกรรมการเมืองผู้ชายหลายเล่มที่เคยสัมผัส

"รากนครา" เปิดเรื่องในแผ่นดินสยามยุคต่อรัชกาลที่ 4 และ 5 เมื่อกุลาขาว หรือฝรั่งแผ่อิทธิพลเข้ามาในแหลมอินโดจีน ตัวเอกคือศุขวงศ์ หนึ่งในเจ้านครล้านนาผู้พยายามพาเมืองของตนให้พ้นจากเงื้อมมือฝรั่ง โดยหันไปผูกไมตรีกับสยาม ซึ่งในขณะนั้น ด้วยท่าทีโอนอ่อนผ่อนตาม และพระปรีชาสามารถของกษัตริย์ไทย น่าจะเป็นแผ่นดินเดียวซึ่งรอดพ้นการตกเป็นเมืองขึ้น

ธีมหลักของ "รากนครา" คือบางทีการที่เราจะรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ ก็ต้องผ่อนปรน ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพยายามเข้ามาดูแลผลประโยชน์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนั้นให้มากที่สุด แทนที่จะขวางลำน้ำเชี่ยว ยึดติดค่านิยมเดิมๆ แค่ธีมตรงนี้ ก็เหนือชั้นกว่าประเด็น(พยายาม)การเมืองในนิยายผู้ชายหลายเล่มแล้ว

ไม่ได้ชื่นชอบทุกอย่างของนิยายเล่มนี้หรอกนะ มีปัญหาหลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรอบ genre ของมัน ยกตัวอย่างเช่นความเยิ่นเย้อ นี่คือนิยาย 540 หน้า ที่เสียเวลาไปกับการบรรยายฉาก สร้างบรรยากาศโดยไม่จำเป็น (ที่ตลกคือ พอถึงฉากเมืองพม่า คุณปิยะพรเล่าผ่านๆ แวบๆ ซึ่งชัดเจนว่าแกคงไม่ได้ค้นเรื่องพม่า มามากเท่ากับล้านนา) แต่ขณะเดียวกัน ได้คุยกับเพื่อนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโรมานซ์ เธอก็บอกว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากซื้อโรมานซ์ที่สั้นกว่า 300 หน้าหรอก เพราะรู้สึกว่าไม่คุ้ม บางทีอาจเป็นความชอบของแฟนๆ ก็ได้ที่อยากถือหนังสือหนาๆ ในมือ เอาเป็นว่า ถ้าช่วงไหน ขี้เกียจนึกบรรยากาศตาม ก็อ่านผ่านสายตาข้ามๆ ไปก็แล้วกัน

แต่ปัญหาหลักของมันคือประเด็นอื่นนอกเหนือการเมือง เรื่องรักใคร่สามเส้าระหว่างศุขวงศ์ และเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์แห่งเชียงเงิน ขนบนิยายประเภทนี้ก็คือให้พระเอก หรือนางเอกซึ่งถูกบรรยายตั้งแต่หน้าแรกว่าแสนฉลาด โง่ในเวลาที่พอเหมาะพอควรกับการดำเนินเรื่อง ความเข้าใจผิดประเภทให้สองคนที่รักกันจะเป็นจะตายได้มาร่วมเรียงเคียงหมอนโดยไม่รู้ตัวว่าอีกฝ่ายก็มีใจ ถ้าเคยชิน หรือไม่รู้สึกจักกะจี้กับเรื่องลักษณะนี้มาก ก็คงอ่านโรมานซ์เล่มนี้ได้เพลินๆ

จริงๆ ประเด็นเรื่องที่ทางของโรมานซ์ในแวดวงวรรณกรรมไทยเป็นเรื่องน่าสนใจ ไว้วันหลังจะกลับมาพูดถึงใหม่ก็แล้วกัน

G. Grass's "The Gunter Grass Reader"


ได้หนังสือ "The Gunter Grass Reader" มาด้วยความงงๆ กล่าวคือเดินผ่านหน้าสหกรณ์ในโรงเรียน แล้วเห็นกะบะขายของลดราคา เจอหนังสือนักเขียนรางวัลโนเบลปี 1999 ในราคาเหรียญกว่าๆ คว้าทันที (ซื้อมาพร้อมบทความของเวอจิเนียร์ วูลฟ์ซึ่งคงได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป) "The Gunter Grass Reader" รวมรวบเรื่องสั้น บทกวี บทความ ปาฐกถา และบทคัดลอกจากนิยายมาให้อ่านกัน แอบสงสัยนิดๆ ว่าไอ้รายการสุดท้าย จะเอามาให้อ่านทำแปะอะไร ทำยังกะเป็น preview หนังอย่างนั้นแหละ

จริงๆ หนังสือประเภท Reader ของนักเขียนคนดังก็เคยเห็นอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เคยอุดหนุนสักที หลังจากได้ลองอ่านเล่มนี้ด้วยความงงๆ อ่านจบก็ยังคงไม่เข้าใจว่าหานิยายเต็มๆ มาอ่านไม่ดีกว่าเหรอ จะเข้าใจอยู่บ้างก็ถ้านักเขียนคนนั้นไม่ได้มีเรื่องสั้นมากพอจะทำเป็นเล่ม ก็เอามารวบรวมไว้ในนี้ กราสมีสไตล์เรื่องสั้นที่น่าสนใจ จับจุดเล็กๆ น้อยๆ เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน มาใส่อารมณ์ ความขัดแย้ง ประเด็นการเมืองลงไป ทำให้เรื่องธรรมดาอย่างเดินขึ้นบันไดเลื่อนกลายมาเป็นปรัชญาได้

ส่วนปาฐกถาก็น่าสนใจดีเหมือนกัน ในเล่มมีปาฐกถาอยู่ประมาณหก เจ็ดบท ที่ยาวสุดก็คือตอนที่กราสได้รับรางวัลโนเบล จริงๆ ปาฐกถาส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับประเด็นเดิมๆ สองสามประเด็น ได้แก่บาปของเยอรมันอันเนื่องมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งตรงนี้กราสจับมาทำเป็นนิยายเล่มใหญ่เต็มๆ แล้วใน Crapwalk (อ่านได้จากบลอคเก่า) แล้วก็เรื่องรัฐบาลโลก ซึ่งกราสเชื่อว่าสันติภาพจะมาได้จากการก่อตั้งรัฐบาลโลก ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมหาอำนาจอย่างอเมริกา หรือรัสเซีย และรัฐบาลโลกในที่นี้ควรจะมีกองกำลังเป็นของตัวเองด้วย กราสเชื่อว่าสันติภาพไม่อาจเกิดได้โดยปราศจากอาวุธ (ประเด็นเกี่ยวกับรัฐบาล และกองทัพโลกนี้ เป็นแก่นเรื่องของการ์ตูน "ยุทธการใต้สมุทร" ด้วย)

อีกประเด็นหนึ่งที่กราสพูดถึงบ่อยๆ ในปาฐกถาคือความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรม และการเมือง กราสสมเป็นนักเขียนจริงๆ ฟัง (อ่าน) ที่แกพูด รู้สึกได้เลยว่าคนคนนี้ช่างหลงใหลในวรรณกรรมเสียนี่กระไร แกเชื่อมั่นในอำนาจการเปลี่ยนแปลงโลกของวรรณกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างเสียงหัวเราะ และเสียดสีอยุติธรรมในโลก เฉกเช่นเดียวกับที่ผู้อ่านดอน คิโฮเต้หัวเราะให้กับความไร้แก่นสารของชีวิตตั้งแต่สี่ร้อยปีก่อน แกถึงกับพูดเลยว่าทุกอย่างในโลกนี้เปลี่ยนแปลง มีวันดับสูญ ยกเว้นก็แต่หนังสือคลาสสิกเท่านั้น ที่เมื่อผ่านการทดสอบของเวลาไปได้แล้ว จะอยู่ยงเป็นอมตะชั่วนิรันดร

สำหรับนักเขียนโนเบลปี 1999 ผู้นี้ วรรณกรรมอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากการเมือง ซึ่งเป็นทั้งเครื่องมือและจุดมุ่งหมายของวรรณกรรม ในชีวประวัติย่อๆ กราสบอกว่าตัวเองสนใจงานเขียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง และภาวะผันผวนทางการเมืองต่างหาก แกถึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากนักเขียน นักเขียนจะเผิกเชยเรื่องการเมืองไม่ได้ เป็นคำประกาศก้องที่อยากให้นักเขียนไทยหลายคนได้ฟังชะมัด

N. Frye's "The Secular Scripture"


ในชีวิตคนหนังสืออย่างเราแล้ว มีคำถามหนึ่งซึ่งชวนให้พิศวงเสมอมา และจนบัดนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ คำถามข้อนี้เริ่มมาจากประสบการณ์แวะเยี่ยมเยียนเวปบอร์ดวรรณกรรม ได้พบปะนัก(อยาก)เขียนหน้าใหม่ ซึ่งในหมู่หน้าใหม่นี้ ก็มีพันธุ์ใหม่รวมอยู่ด้วย พวกพันธุ์ใหม่ประกาศเจตนาว่าข้าอ่านน้อย และไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ชอบเขียนหนังสือ ซ้ำยังเชื่อว่าการอ่านเยอะเป็นพิษเป็นภัย เพราะทำให้งานขาดความเป็นดั้งเดิม

ที่น่าสนใจคืองานของพวกพันธุ์ใหม่นี้ เป็นงานที่ซ้ำซากอย่างน่าเหลือเชื่อ ประมาณเรื่องผู้ชายเบื่องานประจำกินเงินเดือน วันหนึ่งก็เลยตัดสินใจลาออก หลังจากนั้นก็ปล่อยนกเลี้ยงในกรง ซึ่งทันทีที่เจ้านกมีอิสระเสรี โผผินขึ้นฟ้าก็ถูกแมวกระโดดเขมือบ ให้ตายสิ โรบิน เชยกว่านี้มีอีกไหม แน่นอนว่าคนอ่านน้อย รู้น้อยก็ย่อมต้องเขียนหนังสือไม่ดีเป็นธรรมดา แต่ไม่ดีแล้วยังเชยได้เท่านี้ นี่ไม่ใช่เล่นๆ แล้ว

คำถามก็คือเหตุใดคนที่ประกาศก้องว่าตัวเองไม่ยอมอ่านหนังสือ เพราะไม่ต้องการอิทธิพลจากงานเขียนผู้อื่น กลับเขียนหนังสือได้จำเจขนาดนี้

"The Secular Scripture" ของฟรายคล้ายจะไขปริศนาข้อนี้อยู่กลายๆ เหมือนกัน ฟรายเป็นนักโครงสร้างนิยม เขาเชื่อว่ามีโครงสร้าง สูตรลับบางอย่างซึ่งครอบคลุมวรรณกรรมทุกประเภท (อ่านเกี่ยวกับโครงสร้างนิยมได้จากบลอคเก่า) ในหนังสือเล่มนี้ฟรายพูดถึงโครงสร้างของโรมานซ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่เป็นวรรณกรรมกึ่งๆ เทพนิยาย เรื่องเล่าเหนือจริง ซึ่งคล้ายๆ สิ่งที่เราเรียกว่าวรรณคดี

ฟรายบอกว่าองค์ประกอบของนิยายทุกประเภทมีสองส่วน ภาชนะ หรือว่ารูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้บรรจุ และสานส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุ สานส์ในที่นี้คือธรรมชาติซึ่งผู้เขียนต้องการหยิบจับมาพูดถึง อธิบายแบบเชยๆ ก็ได้ว่าบทเรียน หรือสิ่งที่ถูกสะท้อนจากเรื่อง ซึ่งสานส์ต้องอิงอยู่บนความเป็นจริงในโลก ส่วนภาชนะ หรือรูปแบบต่างหากที่มาจากจินตนาการของนักเขียนล้วนๆ ส่วนนี้คือเรื่องเล่า ประกอบด้วยตัวละคร พระเอก นางเอก ผู้ร้าย ธีม นำเรื่อง การผจญภัย และบทสรุป เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสานส์จากผู้เขียนไปยังผู้อ่าน ฟรายเชื่อว่าแท้จริงแล้ว ภาชนะ หรือรูปแบบนั้นไม่ได้มาจากจินตนาการหรอก หากแต่เป็นสูตร หรือโครงสร้างซึ่งเราหยิบจับมาใช้โดยไม่รู้ตัวต่างหาก "The Secular Scripture" คือความพยายามพิสูจน์โครงสร้างตรงนี้ โดยโยงใยวรรณคดีชาติต่างๆ เข้าหากัน

น่าเสียดายที่ฟรายไม่ได้ลงละเอียดว่าอะไรคือที่มาของโครงสร้างเหล่านี้ (จะมองก็ได้ว่าฟรายเป็นนักโครงสร้างนิยมถึงแก่นแล้ว คือสิ้นสงสัยไปนานแล้วว่าโครงสร้างนั้นมาจากไหน) แกพูดถึงกลายๆ อยู่เหมือนกันว่า อาจจะมาจากจิตวิทยาในตัวมนุษย์ โดยฟรายอ้างทฤษฎีฟรอย บอกว่าสิ่งที่น่ารังเกียจที่สุดคือการมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว "ภัยพิบัติ" ซึ่งตัวละครในวรรณคดีจะต้องเจอ มักจะเกี่ยวพันทางใดทางหนึ่งกับเพศสัมพันธ์ในครอบครัว ตรงนี้เยี่ยมเพราะปรับเอามาใช้กับรามเกียรติได้ จริงๆ แล้วโครงสร้างซึ่งฟรายเสนอมาใน "The Secular Scripture" ปรับมาใช้กับวรรณคดีไทยได้ไม่ยากเลย พูดถึงตรงนี้แล้วก็อดติหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เหมือนกัน ที่ฟรายยกตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นวรรณคดียุโรปแทบจะทั้งนั้น (แต่มีพูดถึง ศกุณตาลา ด้วย)ซึ่งถ้าหลักโครงสร้างนิยมจะเป็นจริง ก็น่าจะเอามาใช้กับวรรณคดีทวีปอื่น

ถ้าทฤษฎีของฟรายเป็นจริง ก็ไม่น่าแปลกใจที่คนอ่านน้อยจะเขียนหนังสือเชยแหลกออกมา สำหรับนักเขียนแล้ว บางทีคำถามหลักไม่ใช่ว่าต้องเขียนอะไรต่อหรอก แต่เป็นอะไรเล่าซึ่งเขียนไม่ได้ เพราะมันตรงสูตรเกินไปต่างหากที่พวกเขาขบคิดกัน

P. Coelho's "The Valkyries"


ใน "The Valkyries" โคเฮลโลกระทำเรื่องผิดพลาดขนานใหญ่ ตอนจบของหนังสือ แกเขียนทิ้งท้ายไว้ว่า ทุกเรื่องราวซึ่งเราเพิ่งอ่านผ่านสายตาไปนั้นเป็นเหตุการณ์จริงแทบทั้งหมด โดยมีโคเฮลโล และภรรยาเล่นเป็นตัวเอกในหนังสือ เข้าใจว่า "The Valkyries" คงเป็นนิยายที่มีความหมายกับผู้เขียนมาก เพราะเป็นการตีแผ่ตัวตน รวมไปถึงปัญหาในชีวิตแต่งงาน กระนั้นสำหรับคนอ่าน บอกได้คำเดียวเลยว่า "ใครสนใจ(วะ)"

นักเขียนทั้งหลายพึงจำไว้ การเอาประสบการณ์ตรงของตัวเองมาแต่งเป็นนิยาย โดยไม่ดัดแปลงอะไรเลย คือการฆ่าตัวตายทางวรรณศิลป์ชัดๆ เพราะไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะวิเศษขนาดไหน แต่สุดท้ายแล้วมันก็มีความหมายแค่เฉพาะกับเราคนเดียว ถ้าอยากสื่อหัวใจของประสบการณ์นั้นผ่านตัวอักษร ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะผสมลูกเล่นทางวรรณกรรมเข้าไปด้วย

"The Valkyries" คือเรื่องของโคเฮลโล และภรรยา เดินทางเข้าไปในทะเลทรายเพื่อพบกับวัลไครี เทพสงครามในตำนานไวกิ้ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียนรู้วิธีสนทนากับเทวดา วัลโครีในที่นี้คือผู้หญิงบ้าศาสนา ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเยี่ยมเยียนเมืองต่างๆ เพื่อสอนสั่งผู้คนให้บูชาความรัก ผู้เขียนเล่าว่าตัวเองศึกษา "วิธีแห่งเวทมนต์" มาจากชายชื่อ J. (เป็นคนที่เขาอุทิศนิยาย "The Alchemist" ให้) โดยตัวเขามีความสนใจในอำนาจเหนือธรรมชาติมาตั้งแต่แรก ซึ่งที่สุดแห่งความสนใจนั้นลงเอยที่การตามหาเทวดา

ฟังเรื่องย่อแค่นี้ก็เป็นปัญหาแล้ว โคเฮลโลเล่าสิ่งเหล่านี้ให้คนอ่านฟัง โดยไม่ตระหนักแม้แต่น้อยว่าเราจะอ่านไป ยักคิ้วไป สงสัยไปว่า "หมอนี่แกล้งเพี้ยน หรือเพี้ยนจริง" นิยายที่เกี่ยวกับพลังเหนือธรรมชาติไม่ใช่สิ่งผิด อย่างแก่นของ "The Alchemist" ก็เป็นเรื่องของการตามหาชะตากรรมตัวเอง เพียงแต่ "The Alchemist" ถูกเล่าผ่านจริตความเป็นนิทาน ดังนั้นถึงจะมีเหตุการณ์พิสดาร หรือประเด็นทางเทววิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องก็ดูไม่ขัดเขินมาก

ไม่ได้หมายความเรื่องพรรณนี้ต้องเล่าให้เป็นนิทานเท่านั้น แต่อย่างน้อยโคเฮลโลก็ควรจะบอกกล่าวให้คนอ่านฟัง ทำให้เราเข้าใจภารกิจนี้ แกคงหมกมุ่นกับประสบการณ์ตรงมากเกินไป จนลืมไปว่าไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อเรื่องเทวดา พระเจ้า จิตวิญญาณ และเวทมนต์ เราคนหนึ่งพร้อมจะเชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่อย่างน้อยเราอยากถูกทำให้เชื่อ ไม่ใช่คนเขียนจะมานั่งทึกทักเอาตั้งแต่แรกว่าคนอ่านจะต้องคิดเหมือนแกไปหมด

ตอนที่โคเฮลโล และภรรยา เดินทางเข้าไปในทะเลทรายเพื่อตามหาวัลไครี แกไม่ได้ทิ้งโลกศิวิไลซ์ไว้เบื้องหลังเท่านั้น แม้แต่คนอ่านอย่างเราก็ถูกทิ้งเอาไว้ด้วย ในฐานะเรื่องเล่าประสบการณ์ นี่อาจจะเป็นหนังสือที่คุณค่า แต่ในฐานะนิยาย นี่คือความล้มเหลว

N. Mahfouz's "Thebes at War"


มีเรื่องตลกจะเล่าให้ฟัง ปีกว่ามาแล้วเห็นผู้หญิงคนหนึ่งบนรถเมล์ กำลังอ่าน "โคตรไคโร" ของมาฟาวซ์อยู่ เลยถามว่าเป็นยังไง เธอตอบว่าดีนะแต่ "flowery" ไปหน่อย มาตอนนี้ได้อ่าน "Thebes at War" เป็นหนังสือเล่มแรกของมาฟาวซ์ที่เราอ่าน ก็อดไม่ได้จะเห็นด้วยว่า เออ มัน "flowery" จริงๆ นั่นแหละ

"flowery" นี่แปลเป็นไทยก็คงประมาณ "ลิเก" หมายถึงบรรยายฉาก หรือตัวละครเสียครึ่ง หรือหนึ่งหน้า โดยที่ฉาก หรือตัวละครนั้นๆ อาจไม่ได้กลับมาเยือนคนอ่านอีกเป็นหนสอง มาฟาวซ์เป็นนักเขียนที่ลิเกที่สุดคนหนึ่งที่เคยหยิบหนังสือเขาขึ้นมาอ่าน ชนิดที่ว่าทมยันตี ว. วินิจฉัยกุล หรือนักเขียนนิยายประโลมเมืองไทยยังชิดซ้ายเลย

แต่ในแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการเขียนลิเกๆ แบบนี้ ก็เข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยเลยกับเนื้อเรื่อง "Thebes at War" ซึ่งว่าด้วยสงครามปลดปล่อยอียิปต์จากเผ่าเอิร์ตแมน โดยตัวเองของเรื่องคือกษัตริย์อียิปต์พระนามว่าเอมอส เนื้อเรื่องส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ระหว่างราชวงศ์ ทั้งของเอิร์ตแมนเอง และของอียิปต์ ฉากก็เน้นปราสาทราชวังเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นที่นิยายจะเขียนให้ลิเกแบบนี้แหละถูกต้องแล้ว (ในทางกลับกันไม่รู้ว่าภาษาลิเกๆ แบบนี้จะเข้ากันได้ดีแค่ไหน กับเรื่องสมัยใหญ่อย่าง "โคตรไคโร" เป็นคำถามที่ต้องดูกันต่อไป)

อ่าน "Thebes at War" แล้วก็นึกถึงที่ Eco เคยพูดไว้เรื่อง reading time สำคัญเหมือนกันที่คนเขียนจะเอาการบรรยายฉากมาเป็นอุปสรรค ขัดขวางไม่ให้นักอ่านอ่านเร็วเกินไป โดยอุปสรรคเหล่านี้ บางครั้งต่อให้คนอ่านกระโดดข้ามเป็นย่อหน้าๆ ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะสารภาพว่าตัวเองอ่าน "Thebes at War" ชนิดข้ามไปทีละครึ่งหน้าเหมือนกัน

ตะกี้พูดถึงนิยายประโลมเมืองไทยค้างไว้ อยากกลับไปพูดต่อ เพราะเอาเข้าจริง "Thebes at War" นี่ก็จัดว่าเป็นนิยายประโลมโลกได้เช่นกัน นี่คือหนังสือประเภทฝ่ายพระเอกดีแสนดีทุกคน ผู้ร้ายก็แสนจะชั่วช้า พระเอกต้องไปหลงรักลูกสาวผู้ร้ายซึ่งเป็นเจ้าหญิงของชนเผ่าซึ่งตัวเขาต้องการขับไล่ออกจากดินแดนบ้านเกิด ส่วนนางเองก็สุดหยิ่งผยอง แทบทุกฉาก ทุกเหตุการณ์ใน "Thebes at War" เดาได้ล่วงหน้าเป็นบทๆ ซึ่งถามว่าเป็นข้อเสียหรือเปล่า ก็ไม่เชิงเสียทีเดียวนะ นี่คือนิยายแบบที่คุณชมัยภรคงเรียกว่า "เชยฉ่ำ" บางครั้งการอ่านอะไรเชยๆ ก็เหมือนเดินชมสวนดอกไม้ เพลินดี

ปัญหาที่มากับความเชยคือความตื้นเขิน "Thebes at War" เป็นนิยายที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เพราะมันปูไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าเอิร์ตแมนเป็นผู้ร้าย ส่วนอียิปต์เป็นพระเอก ทุกอย่างซื่อๆ ตรงไปตรงมา เด็กประถมมาอ่านก็ตัดสินใจแทนพระเอกได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งก็เข้ากับความเป็นนิยายประวัติศาสตร์ของมันดี แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าเล่มอื่นๆ มาฟาวซ์เขียนได้ตื้นเขินแบบนี้ก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

อ่านจบแล้วก็อดคิดขำไม่ได้ว่าเผลอๆ ใครจะไปรู้ นักเขียนไทยที่เข้าใกล้รางวัลโนเบลที่สุดอาจไม่ใช่คุณชาติ คุณวินทร์ หรือคุณแดนอรัญ แต่เผลอๆ อาจเป็นปิยะศักดิ์ กิ่งฉัตร แก้วเก้า ก็ได้ ใครจะไปรู้

ซ่อมแซมชั่วคราว


เปล่าๆ ไม่ใช่จะปิด หรือซ่อมบลอค หรืออะไรหรอก แต่ช่วงนี้ด้วยธุระปะปัง อาจไม่ได้อ่านหนังสือ หรือมีเวลามาเขียนวิจารณ์มากนัก แต่รับรองว่าไม่ห่างหายไปไหน แล้วจะมาอัพเดทอย่างช้าๆ ให้อ่านกันต่อไปครับ

F. Dostoevsky's "Demons"


"Demons" เป็นหนังสือเล่มที่สามของดอสโตเยฟสกี้ที่เราอ่าน ชอบน้อยกว่าทั้ง "Crime and Punishment" และ "The Idiot" แต่ก็ยังถือว่าเป็นสุดยอดนิยายอีกเล่มจากปลายปากกาโคตรนักเขียนรัสเซีย ชื่อหนังสือมาจากเรื่องเล่าในคัมภีร์ไบเบิ้ล เมื่อพระเยซูขับไล่ปีศาจออกจากร่างชายคนหนึ่ง ผีร้ายหนีเข้าไปสิงสู่ฝูงสุกร จนพวกมันบ้าคลั่งวิ่งลงทะเล จมน้ำตายหมู่ ปีศาจที่ดอสโตเยฟสกี้กล่าวถึงใน "Demons" คือความเชื่อ หรือลัทธิการเมือง ซึ่งเมื่อสิงสู่ตัวผู้ใด สามารถดลบันดาลให้คนธรรมดาก่อเรื่องเลวร้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ (แต่ก่อนชื่อภาษาอังกฤษของ "Demons" คือ "The Possessed" หรือ "ผู้ถูกสิงสู่")

เรื่องประเภทชายผู้ถูกครอบคิดโดยความคิดนั้นไม่ใช่ของใหม่สำหรับดอสโตเยฟสกี้ อย่างแก่นเรื่องของ "Crime and Punishment" ก็คล้ายๆ แบบนี้ จะต่างก็คือความเชื่อซึ่งสิงสู่ใน "Demons" ไม่ใช่อัตถิภาวนิยม แต่เป็นปรัชญาวัตถุนิยมแบบคอมมิวนิสต์ซึ่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในรัสเซียยุคนั้น และผู้ถูกสิงในที่นี้ไม่ใช่แค่ตัวเอกของเรื่องคนเดียว แต่เป็นคนทั้งหมู่บ้าน "Demons" ต่างจากนิยายอีกสองเรื่องตรงเหตุการณ์ไม่ได้เกิดในเมืองใหญ่อย่างเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนรัสเซียประเทศ

เช่นเดียวกับผลงานชิ้นอื่นๆ "Demons" อุดมไปด้วยตัวละครน่าสนใจมากหน้าหลายตา การแบ่งสันปันส่วนบทบาทไปให้ตัวหลัก ตัวรองนี้ถือเป็นความสามารถอันโดดเด่นของดอสโตเยฟสกี้ ตัวประกอบที่ตอนแรกเหมือนจะโผล่ขึ้นมาลอยๆ สุดท้ายกลับมีบทบาทสำคัญจับใจผู้อ่าน "Demons" เล่าเรื่องคนสี่คน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเข้าร่วมองค์กรลับทางการเมือง (ดอสโตเยฟสกี้ไม่ได้เจาะจงธรรมชาติขององค์กรให้ชัดเจน) บัดนี้พวกเขากลับมาบ้านเกิดของตัวเองด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน ทั้งสี่ได้แก่คิริลอฟ ชายผู้เชื่อว่าการฆ่าตัวตายจะช่วยให้เขากลายเป็นพระเจ้า นิโคลัส ลูกชายเศรษฐีนีที่ดินรายใหญ่ในหมู่บ้าน ชาตอฟเจ้าของอดีตอันเจ็บช้ำ ปัจจุบันพยายามหลีกหนีจากองค์กร และเปตูชา ผู้นิยมการปั่นหัวหลอกใช้ผู้อื่น

คิริลอฟคล้ายรอดยา ตัวเอกจากเรื่อง "Crime and Punishment" ทั้งคู่ต่างเป็นนักทฤษฎีผู้มีความคิดพิสดาร และกล้าทำเรื่องผิดมนุษย์มนาเพียงเพื่อจะพิสูจน์ความเชื่อตัวเอง คิริลอฟให้สัญญากับเปตูชาว่าเมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายต้องการ เขาพร้อมจะฆ่าตัวตายเป็นแพะรับบาปให้กับองค์กร นิโคลัสเองก็ชวนให้นึกถึงมิชกินหรือ "The Idiot" ทั้งคู่ล้วนถูกคนรอบข้างมองว่าสติไม่ดี แต่กลับมีท่าทีบางอย่างทำให้ใครๆ เคารพนบนอบ เกรงอกเกรงใจ ต่างตรงมิชกินคือ "ผู้งดงามไร้ที่ติ" ส่วนนิโคลัสติดอยู่ระหว่างความอยากเป็นคนดี และกิเลสเบื้องต่ำ ยอมรับว่าเป็นตัวละครที่เราเข้าใจเขาน้อยที่สุด ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าความไม่เข้าใจตัวเองตรงนี้คือลักษณะพิเศษ หรือแม้แต่ดอสโตเยฟสกี้เองก็ยังตัดสินใจไม่ถูกจะให้เขาเป็นอะไร

ตัวละครที่ชอบที่สุดในเรื่องคือเปตูชา เข้าใจว่าแอน รายคงใช้หมอนี่เป็นต้นแบบให้ทูฮี อัจฉริยะจอมวายร้ายใน "Fountainhead" เปตูชาปรากฏตัวในฐานะผู้แทนองค์กร แต่จนแล้วจนรอดไม่มีใครรู้ว่าหมอมีหน้าที่ ตำแหน่ง หรือความรับผิดชอบใด เปตูชาจัดตั้งสาขาองค์กรในหมู่บ้าน โดยรวบรวมเหล่าวายร้าย ขโมยขโจรเพื่อเป็นแขนขาให้กับตัวเอง มิหนำซ้ำยังหลอกใช้ยูเลีย ภรรยานายอำเภอ เศรษฐีนีใหม่แห่งหมู่บ้าน ความน่ากลัวของเปตูชาคือรู้จักใช้จุดอ่อนแต่ละคน และเข้าใจอำนาจแห่งความเชื่อ ว่าสามารถปั่นหัวคนให้เมามายได้ไม่ต่างอะไรจากสุรา

"Demons" ถือเป็นนิยายที่ค่อนข้างแปลกในแง่มุมมองตัวละคร ผู้เล่าเรื่องหรือ "ผม" เป็นตัวประกอบซึ่งแทบปราศจากบทบาท และเป็นไปไม่ได้แน่ๆ ที่เขาจะปรากฏตัวตรงนู้น ตรงนี้ติดตามการเคลื่อนไหวตัวละครแต่ละตัว ถ้าจำไม่ผิด "Crime and Punishment" ก็เล่าเรื่องผ่านสายตารอดยาเหมือนกัน แต่เนื่องจากรอดยาเป็นตัวเอก จุดสนใจในนิยายจึงค่อนข้างชัดเจน ถึงจะส่ายไปสายมาบ้าง แต่ก็ยังวดเวียนอยู่กับประเด็นหลัก ขณะที่ "Demons" เปิดฉากที่สเตฟาน พ่อของเปตูชา และวาวารา แม่ของนิโคลัส ช่วงแรกของนิยายเป็นเรื่องรักหักสวาทระหว่างคนทั้งสอง ช่วงกลางๆ เล่มจุดสนใจย้ายไปที่นิโคลัส เปตูชา ชาตอฟ ก่อนจะกลับไปยังสเตฟานอีกครั้ง เป็นเหตุให้การเล่าเรื่องไม่หนักแน่นเหมือนเล่มก่อนๆ