แมวดำ (กิตติกร รุ่งเรือง) - R.O.D.


หมายเหตุ: เล่่มนี้ขอวิจารณ์แบบเปิดเผยชื่อแล้วกัน ไหนๆ คนเขียนก็อุตส่าห์ให้เกียรติส่งต้นฉบับมาร่วมสนุกด้วยแล้ว

ความไม่พยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น อ่านไม่ผิดหรอก บางครั้งความชิลต่างหาก คือหนทางสู่ความสำเร็จที่แท้จริง

เราแบ่งรวมเรื่องสั้น แมวดำ ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องสั้น "ไม่พยายาม" เหมือนคนแต่งเขียนเอามัน เอาสนุก ซึ่งก็สนุกจริงๆ มีทั้งจอมยุทธ (สำหรับแฟนนิยายกำลังภายในอย่างรักชวนหัว แค่นี้ก็ได้ใจไปเต็มๆ แล้ว) มือปืน เรื่องสั้นหักมุม แม้ไอเดียการหักจะยังเชยๆ แต่เรานิยมเรื่องสั้นลักษณะนี้ ตัวละครชวนให้รู้จักมักคุ้น ตัวเรื่องก็แฝงความน่ารักเอาไว้ มีการสะท้อนภาพสังคมนิดๆ อย่างพอเหมาะพอเจาะ สำหรับเรื่องที่ชอบที่สุดในเล่มคือ หญิงสาวในลานสวรรค์ หักมุมโดยการไม่หักมุม เร้าอารมณ์ขึ้นมาทีละนิดๆ และจบไปอย่างเรียบๆ แต่น่าปรบมือให้

แต่พอครึ่งหลัง ความชิลถูกแทนที่ด้วยความพยายาม ตั้งแต่เรื่องสั้นโปรยปก แมวดำ ซึ่งพยายามวิพากษ์วิจารณ์วิถีมนุษย์ (แต่เนื้อหาในการวิจารณ์ไม่ได้แปลกใหม่อะไร) หยดน้ำตาที่หายไป เรื่องสั้นที่ยาวที่สุดในเล่ม น่าติดตามอยู่เหมือนกัน แต่ความประทับใจที่ได้ ไม่คุ้มค่ากับความยาว และปิดท้ายด้วย นอกคอก เรื่องสั้นที่เราต้องขอตำหนิ เพราะเป็นการใช้โศกนาฏกรรมที่ยังไม่นิ่ง มาเป็นพื้นหลังให้กับพลอตแนวจารกรรมแอคชั่น (แม้ตอนจบผู้เขียนจะพยายามเสริมให้มันมีอะไรมากไปกว่านั้น แต่มันก็หลุดกับดักของตัวเองไปไม่พ้น)

ไม่รู้ว่าแต่ละเรื่องเขียนตอนไหน เรื่องใดเขียนก่อนเขียนหลัง ผู้เขียนอาจจะกำลังค้นหาแนวทางของตัวเอง ขอเป็นอีกเสียงหนึ่งที่สนับสนุนให้คุณกิตติกร "สนุก" กับการเขียน มากกว่า "พยายาม" ตอบโจทย์หรือสะท้อนสังคม

รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (21~30)

21. น่าจะเป็นเล่มที่ชอบน้อยที่สุด ไม่ถูกจริตตั้งแต่น้ำเสียง ที่เหมือนผู้เขียนตั้งตนเป็นศาสดา ว่าด้วยลัทธิใหม่ ยกย่องให้ศิลปะ (หมายถึงศิลปะทุกแขนงวรรณกรรม ดนตรี จิตรกรรม ภาพยนตร์) เป็นสิ่งเลอเลิศทั่วพิภพจบแดนดิน ศิลปะปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระ ศิลปะคือยารักษาโรคร้ายที่มาพร้อมกับอารยธรรมตะวันตก บางทีก็รู้สึกว่านักเขียนที่ชอบเทศนาอะไรแบบนี้ ไปหัดสร้างงานศิลปะให้เป็นชิ้นเป็นอันก่อนดีกว่าไหม

22. ดีไหม ไม่ดีหรอก แต่แปลกที่เราอดเชียร์นิดๆ ไม่ได้ อาจเพราะเมื่อเทียบกับอีกเล่มที่มาจากสำนักพิมพ์เดียวกัน เราเห็นความพยายามของคนเขียนที่จะตอบโจทย์ภาวะสังคม คนเขียนกล้าสบตากับเมดูซ่า แม้ว่าสบแล้วจะไปไม่รอด การวิเคราะห์ออกแนวลักลั่น รวมไปถึงฝีไม้ลายมือทางวรรณกรรมที่ลักลั่นพอกัน แต่ก็ยังน่าเอ็นดูในความพยายาม สรุปคือมาถูกทางแล้ว หากต้องพยายามต่อไปอีก ขอเป็นกำลังใจให้

23. รวมเรื่องสั้นที่กลมกล่อมด้วยกลิ่นเมืองและชนบท เรื่องแปะปกดีมาก เล่นกับจิตวิทยาของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง น่าเสียดายที่เรื่องอื่นๆ มาไม่ถึงจุดนี้ ผู้เขียนพาคนอ่านเข้าไปหมกมุ่นอยู่กับตัวละคร ทุกองค์ประกอบนำไปสู่จุดไคลแม็ก แต่หมัดพิชิตชัยยังไม่หลักแหลมพอ จึงออกอาการวืดลมเสียมากกว่า (บางเรื่องต้องอ่านตอนจบซ้ำไปซ้ำมา พยายามนึกว่ามัน "โดน" ตรงไหน) นอกจากนี้การจับตัวละครหรือสัญญะในคลังพัสดุ (stock character) มาใช้สอยยิ่งลดความหนักแน่นและสมจริงสมจังของเรื่องลง

24. อ่านเพลิน เหมือนนั่งเคี้ยว M&M ไปเรื่อยๆ กินได้ไม่หยุดไม่หย่อน แต่ไม่ค่อยได้น้ำได้เนื้อ เรื่องสั้นสไตล์นิทานแบบนี้ เขียนให้สนุกได้ง่าย เพราะแค่มีจุดเริ่มต้น ไอเดียดีๆ พอให้คนอ่านรู้แล้วอยากติดตามต่อจนจบ แต่ถ้าคนเขียนมือไม่ถึง เรื่องก็จะพลิกจบไปแบบอะไรก็ได้ หรือไม่มีอะไรในกอไผ่ ชวนให้น่าผิดหวังอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยอมรับในลูกล่อลูกชนของคนเขียน ภาษาสนุก หลอกให้เราอ่านจบแบบยิ้มๆ

25. ถ้าพูดในแง่ร้ายคือ มันช่างไม่มีความทะเยอทะยานทางวรรณกรรมเอาเสียเลย คนเขียนกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ช่วงอายุวัยหนึ่ง (ซึ่งเราพ้นตรงนั้นมาตั้งนานแล้ว) ที่ต้องการอ่านเรื่องแบบหนึ่ง แล้วก็ตอบโจทย์ได้ตรงเป้าเผงๆ จนมันกีดกันคนอ่านทั่วไปออกมา ในอีกแง่หนึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายกระมัง เหมือนคนที่ซื้อรวมเรื่องผี ผจญภัย หรือนักสืบมาอ่าน ก็เพราะรู้แต่แรกแล้วว่าตัวเองต้องการอะไร และก็คาดหวังให้คนเขียนมอบสิ่งนั้น

26. แปลกจัง ว่ากันตรงๆ เล่่มนี้ก็ไม่ค่อยแตกต่างจากเล่มที่แล้วนัก ว่าด้วยความรักระหว่างหนุ่มสาว (ถึงแม้จะแทรกประเด็นทางสังคมไว้มากกว่า) วนเวียนเช่นนี้อยู่เกือบทั้งเล่ม แต่เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจ รักจริง เจ็บจริง ไม่มีสลิง ไม่มีสตั๊น คนเขียนเก่งมากในการสำรวจหัวจิตหัวใจตัวเอง และสื่อเอาความเจ็บปวดข้างในออกมา ถ้าจะติก็คือปัญหาเรื่องความซ้ำซาก ได้อ่านเรื่องที่ดีที่สุดในเล่ม ก็เหมือนอ่านทั้งเล่มจนจบ

27. ...สาธุ

28. เล่มนี้ก็...สาธุ (อย่าหาว่าอู้งานเลยนะ แต่หนังสือบางเล่ม อ่านจบแล้ว ก็คิดว่าคนเขียนคงไม่ได้คาดหวังปฏิกริยาอะไรนอกเหนือไปจากนี้แล้วล่ะ ถ้าจะให้พูดจริงๆ เล่มที่แล้วดีกว่ามาก อย่างน้อยก็เห็นกล้ามเนื้อทางวรรณกรรมของคนเขียน)

29. เสียดายนิดๆ กับเล่มนี้ของนักเขียนคนโปรด ถึงหลายคนจะหาว่าเชย ออกทะเล หรือวนเวียนล้าสมัย แต่เราก็ยังสนุกของเรากับเรื่องสั้นแบบนี้ นักเขียนบางคน เอาเรื่องจริงมาเล่าแล้วนึกว่าเรื่องแต่ง ส่วนพวกมือชั้น หยิบจับอะไร ก็แตะต้องได้เป็นจริงเป็นจังไปหมด เสียดายที่ครึ่งหลัง ดันเป็นมหากาพย์แห่งการประกอบสร้างระดับมโหระทึก อ่านแล้วใจเต้นตึกตักว่าจะไปรอดหรือ เจตนาดี บางทีก็ไปกันไม่ได้กับลีลา

30. เช๊ย เชย เชย เชยจริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่ดีไปทั้งหมด อย่างเรื่องโปรยปกนี่ก็ถือว่าชั้นหนึ่งอยู่เหมือนกัน และอีกสองสามเรื่องท้ายๆ เล่ม แต่หลายเรื่องที่มา "รับแขก" ต้นเล่มนี่หาความแปลกใหม่เอาเสียไม่ได้ ชื่นชมภาษาและวิธีการเล่าเรื่องที่จัดอยู่ในระดับมืออาชีพ แต่บางทีความเนี๊ยบที่ปราศจากลายเซ็นของตัวเอง บวกกับแนวเรื่องสะท้อนสังคม กลับยิ่งขับความเชยให้เด่นชัดเข้าไปใหญ่

I. Kant's "Critique of Pure Reason" (part II)


ถึงแม้โสเครติสและเฮเกลจะเป็นนักปรัชญาที่ได้รับเกียรติให้เป็นบิดาแห่งวิภาษวิธี (ทั้งที่จริงๆ วิภาษวิธีของสองคนนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง) คานท์เองก็มีวิภาษวิธีเหมือนกัน (และน่าจะส่งอิทธิพลทางความคิดไปยังเฮเกลโดยตรง) ในครึ่งหลังของ Critique of Pure Reason ว่ากันด้วยวิภาษวิธีล้วนๆ

คานท์แบ่งวิภาษวิธีออกเป็นสามประเภท (ขี้เกียจจะจำชื่อแล้ว ในหนังสือเล่มนี้คานท์ตั้งชื่อให้คอนเซปสักห้าร้อยคอนเซปได้เป็นอย่างต่ำ) หนึ่งคือวิภาษวิธีที่ว่าด้วยการผสมผสานระหว่างผู้สังเกตและโลกภายนอก ซึ่งกล่าวถึงไปแล้วในครึ่งแรก สองคือวิภาษวิธีที่ว่าด้วยการผสมผสานระหว่างขั้วตรงกันข้าม (ตัวบทและบทแย้ง) สุดท้ายคือวิภาษวิธีที่ว่าด้วยการผสมผสานทุกสิ่งอันในโลกหล้า ก่อกำเนิดเป็นพระเจ้า คานท์ใช้วิภาษวิธีแบบที่สองเพื่อพิเคราะห์ปริทรรศน์สี่ประการ โลกนี้มีที่สิ้นสุดหรือไม่ วัตถุสามารถแบ่งไปเรื่อยโดยไม่มีที่สิ้นสุดได้หรือไม่ (คานท์เรียกปริทรรศน์สองตัวนี้ว่าปัญหาทางคณิตศาสตร์) เจตจำนงค์อิสระมีจริงหรือเปล่า และสุดท้ายพระเจ้ามีตัวตนไหม (ซึ่งคำถามสุดท้ายนี้ ตอบได้ด้วยวิภาษวิธีแบบที่สาม)

คำถามที่เราว่าเจ๋งมากๆ คือคำถามที่สอง บทสรุปของมันคือ วัตถุใดๆ สามารถถูกแบ่งแยกย่อยไปได้ไม่มีสิ้นสุด แต่ไม่อาจประกอบจากชิ้นส่วนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ ฟังดูเหมือนจะขัดแย้งในตัวเอง แต่คานท์อธิบายว่า เราสามารถนึกถึงวัตถุชิ้นหนึ่ง และจินตนาการการแบ่งแยกย่อยไปเรื่อยๆ ได้ แต่เราไม่สามารถจินตนาการถึงวัตถุที่เล็กเสียจนต้องหยิบมาอนันต์ชิ้น ถึงจะประกอบเป็นวัตถุชิ้นใหญ่เต็มๆ ได้ อีกนัยหนึ่งก็คือ วัตถุชิ้นเล็กไม่มีคุณสมบัติเป็นของตัวเอง นอกจากเศษส่วนที่แตกจากชิ้นใหญ่

อีกตัวที่น่าสนใจคือตัวที่สาม เพราะมันพูดถึงเหตุและผล ถ้าเราพิจารณาปรากฏการณ์จากประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ข้อสรุปที่เราจะได้คือ สิ่งใดเกิดก่อน สิ่งนั้นย่อมเป็นเหตุ (และเอาเข้าจริง ก่อนและหลังก็มาจากอคติส่วนตัวของเราล้วนๆ ) ดังนั้นประสบการณ์จึงเชื่อถือไม่ได้ คานท์เสนอให้ใช้สติปัญญา เพื่อพิเคราะห์ต้นเหตุของสรรพสิ่ง ต้นเหตุที่แท้จริงคือกระแสธารที่ไหลซึมลึกอยู่ในห่วงโซ่ของเหตุและผล ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีสิ้นสุด

สารภาพว่าอ่าน Critique of Pure Reason ไม่สนุกเท่า The Phenomenology of Spirit (แม้จะเข้าใจได้ง่ายกว่าเล็กน้อย) ถ้าพอมีพื้นฐานวิภาษวิถีมาบ้างแล้ว เสนอแนะให้ข้ามไปอ่านเฮเกลเลย ถ้าไม่พอพื้นฐานเลย ให้ตายยังไงก็อ่านเล่มนี้ไม่รู้เรื่องหรอก สรุปคือ ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร

P. L. Knox's "Cities and Design"


หมายเหตุ: ขอพักจากความสนุกสนานของการอ่านและวิจารณ์เรื่องสั้น กลับมาพูดถึงหนังสือฝรั่งดูบ้าง

Cities and Design ประกาศตัวเองว่าเป็นบทนำสู่ศาสตร์แห่งการวางผัง รู้จัก และเข้าใจเมือง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ทำหน้าที่นั้นได้ดีในระดับหนึ่ง มันพูดถึงประวัติศาสตร์ของการวางผังเมือง ตั้งแต่อดีตกาล ห้าหกร้อยปีที่แล้ว ผ่านยุคเรอเนซองค์ เข้าสู่กลางศตวรรษที่ 19 ช่วงสงครามโลก จวบจนปัจจุบัน นอกจากนี้นอคยังไม่ละเลยที่จะพูดถึงแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับความเชื่อของการวางผังเมืองในแต่ละยุคสมัย (เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเมืองคือ "สิ่งมีชีวิตทางเศรษฐศาสตร์" ที่เติบโตขึ้นมาเพื่อรับมือ ตอบสนอง ความต้องการทางเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์)

ประเด็นข้างบนไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่นอคใช้คำๆ หนึ่งที่เราว่าน่าสนใจดี นั่นคือ "ระบบนิเวศน์วิทยาของเมือง" คำว่านิเวศน์วิทยาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต แต่หมายถึงอาชีพ การงาน เมืองที่ดีคือเมืองที่นำเอาคนจากหลากอาชีพ มาอยู่ใกล้กัน เพื่อสร้างการเชื่อมต่อระหว่างบริษัท นอคอธิบายว่าบริษัททุกวันนี้หวังพึ่งพิงตัวแปรชนิดใหม่ นั่นคือเส้นสายอันเกิดจากการพบปะสังสรรค์แบบไม่เป็นทางการระหว่างคนในสัมมาอาชีพใกล้เคียงกัน ความสัมพันธ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะในเมือง ที่ที่ผู้คนมากมายมาอยู่รวมกันในอาณาบริเวณแคบๆ อย่างแน่นหนา

จริงๆ แล้วแทบทุกอาชีพจะได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศน์วิทยาทั้งนั้น แต่วงการที่นอคให้ความสำคัญสุดคือแฟชั่นและการออกแบบ (เป็นที่มาของชื่อหนังสือ) อาชีพเกี่ยวกับการออกแบบนั้น เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผลงานของเราจะมีเสียงตอบรับอย่างไร การจับทิศทางของแฟชั่น การที่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภคได้มาวนเวียนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงคือศูนย์กลางแห่งแฟชั่นและการออกแบบ (ขณะเดียวกันนอคก็พูดถึงอิทธิพลของการออกแบบต่อความเปลี่ยนแปลงของเมืองด้วย โดยเน้นหนักไปที่การออกแบบทางสถาปัตยกรรม)

รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (11~20)

11. ว้าว ต้องให้มันได้อย่างนี้สิ! สารภาพว่าแรกสุดไม่ได้คาดหวังอะไรนักกับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ พออ่านจบแล้วก็อดชื่นชมผู้เขียนไม่ได้ มันไม่ได้หมกมุ่นกับตัวตนจนน่าหมั่นไส้ ไม่ได้พยายามซึนๆ มุราคามิ เพื่อชีวิต หรือสะท้อนสังคม มันจึงโลดแล่นอยู่ในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างอิสระ เป็นเรื่องสั้นไม่กี่เรื่องที่เราเดาทิศทางเรื่องไม่ออก แน่นอนว่าถ้าพูดถึงสาระ อาจจะเบาโหวงจนเกือบไม่มี แต่ถ้าสนุกขนาดนี้ ก็ไม่มีอะไรให้บ่นแล้ว

12. ว่ากันว่าซามูไรที่ผ่านสมรภูมิมาอย่างโชกโชน แม้ไม่ต้องพกปืนผาหน้าไม้ เดินเข้าดงคนพาล ก็สามารถแผ่รังสีอำมหิตให้เป็นที่ยำเกรงของหลายคน ในทางตรงกันข้าม หนุ่มเจ้าสำอางไปเดินเกรียนๆ อยู่ในตรอกในซอย อาจถูกฟันหัวแบะได้ง่ายๆ ...ผู้เขียนคงอยากให้เราเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้เป็นซามูไรเมพมากกว่าหนุ่มซึน แต่อาจด้วยความอ่อนด้อยของตัวผู้อ่านเอง เราพยายามมองยังไง ก็ไม่เห็นอะไรอยู่เบื้องหลังความไม่มีอะไรนอกจากความไม่มีอะไรของมัน

13. นี่ไม่ใช่เรื่องสั้น ไม่เกี่ยวว่ามันดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่ไม่ใช่ ยังไงก็ไม่ใช่ แปลกที่คนเขียนและสำนักพิมพ์เลือกจะนำเสนอมันในรูปแบบของเรื่องสั้น ทั้งที่จริงๆ ข้อเขียนกึ่งปกิณกะ กึ่งท่องเที่ยวแบบนี้น่าจะหาตลาดได้กว้างกว่า โดยตัวเรื่องล้วนๆ เราอ่านมันได้เพลิดเพลิน แต่แมวที่สวยขนาดไหน ก็ไม่ใช่เสือชีต้า หรือม้าแคระ

14. นี่คือรวมเรื่องสั้นที่เหมาะกับวิชาภาษาไทย ผู้เขียนเอาประเด็นที่ตายแล้ว (หมายถึงมันถูกชี้ชัดดำขาว ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนจะมานั่งถกเถียงประเด็นเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว) มาจับกับสัญญะง่ายๆ ด้วยภาษาและเทคนิคการเล่าเรื่องอันปราณีต สำหรับผู้มีวุฒิการอ่าน เรื่องสั้นในเล่มนี้ไม่ก่อให้เกิดคำถามชวนคิดต่อ แต่มันเหมาะจะเป็นแบบฝึกหัดสำหรับให้เด็ก (มัธยมปลายถึงมหาวิทยาลัยตอนต้น)​ ตีความ

15. จะกวนตีนไปไหมถ้าบอกว่า จุดเด่นที่สุดของเล่มนี้คือเรื่องเด่น และจุดด้อยที่สุดคือเรื่องด้อย เรื่องที่ดีของเล่มนี้ดีมากๆ (โดยเฉพาะเรื่องชื่อเล่ม) แต่เมื่อนำมารวมๆ กัน ตัวเล่มยังขาดเอกภาพ ทำให้ความแข็งแรงของเรื่องที่ดีไม่สามารถไปพยุงเรื่องที่อ่อนลงมาได้ (แม้เรื่องเหล่านั้น จะไม่ได้อ่อนอะไรมากมายก็ตาม) จุดเด่นอีกอย่างคือการที่คนเขียนหันหน้าเผชิญกับปัญหาสังคมและการเมืองด้วยแนวคิดอันคมคาย


16. ส่วนเล่มนี้ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ข้อเสียคือไม่มีเรื่องไหนโดดเด่น แต่ความเป็นเอกภาพ (อย่างมาก) ช่วยให้แต่ละเรื่องส่งเสริม พยุงกันขึ้นมาได้ ผู้เขียนรักษาความเป็นกลางทางการเมือง แต่ไม่ได้อยู่เหนือการเมือง เขากระโดดเข้าไปในวังวนแห่งความขัดแย้ง ด้วยท่าทีอันอ่อนน้อม ไม่ชี้นิ้วโทษฝ่ายไหน ไม่ลากใครออกมายิงเป้า แต่พยายามนำเสนอภาพความสูญเสีย ควบคู่ไปกับการชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องปรับตัว

17.
เสียดายกับเล่มนี้ เหมือนผู้เขียนจะสร้าง High Concept บางอย่าง (ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าสร้างตั้งแต่แรก หรือค่อยๆ ผูกมันขึ้นมาทีหลังจากความบังเอิญ) และพยายามมากไปนิดที่จะตอบโจทย์ของตัวเอง ผลก็คือคุณภาพของเรื่องสั้นค่อนข้างแกว่ง มีเรื่องที่ดีจริงๆ และเรื่องที่เหมือนเขียนเสริมๆ เพื่อถมให้เต็ม และยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปใหญ่เมื่อเรื่องที่ด้อยกว่ากระจุกตัวอยู่ต้นๆ เล่ม กว่าคนอ่านจะถึงเรื่องที่ดีมากๆ (อย่างเรื่องชื่อเล่ม) พลังก็หมดเสียแล้ว

18. ในยุคที่เวทีหลักของนักเขียนไทยคือนิตยสารรวมเรื่องสั้น เรื่องสั้นที่สามารถขับเคี่ยวกับเรื่องอื่นๆ เพื่อให้ถูกคัดเลือกไปบรรจุอยู่ในเล่มได้ ต้องดีได้มาตรฐาน และจับประเด็นใหม่ๆ ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นักเขียนมือรางวัลที่จับทางตรงนี้ถูกเขียนกี่เรื่องก็น้อยนักที่จะพลาดเป้า กระนั้นก็ตาม เมื่อเอาเรื่องสั้นเหล่านั้นมารวมกันอยู่ในเล่มเดียว เหมือนอาหารจานหลักที่มีแต่เครื่องเคียง ต้นหอม แตงกวา มะเขือเทศ สดสะอาดจากไร่ สีสันน่ากินก็จริง แต่เนื้อเล่าหายไปไหน

19. เสน่ห์ของชีวิตในเมืองใหญ่ เรื่องราวธรรมดาที่ถูกนำมาเล่าอย่างลงตัวและหลักแหลม น้ำเสียงเรียบๆ ไม่ได้พยายามเทศนาหรือสั่งสอนผู้อ่าน วิธีจบแบบอับเปอร์คัทหมัดเดียวจอด เล่มนี้แหละลงตัวสุด ทั้งอัตราส่วนเรื่องที่ดีและความเป็นเอกภาพที่ช่วยพยุงทั้งเล่มเอาไว้ ถ้าจะหาที่ติจริงๆ อาจติว่า หนังสือบางเกินไป เพราะมันเอาความเรียบง่ายมาเป็นจุดขายอยู่แล้ว ความบางเลยอาจทำให้มันไม่โดดเด่นหรือหลอกหลอนอยู่ในความทรงจำของคนอ่านได้นานนัก

20. อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน บางเรื่องชวนฝัน บางเรื่องแสนบีบหัวใจ ผู้เขียนมีเอกลักษณ์ในการประดิษฐ์ชิ้นส่วนของเรื่องสั้นมาทำให้เป็นชิ้นงานสมบูรณ์แบบ อยากให้คะแนนสูงๆ แต่ปัญหาคือ เรื่องที่เล่นกับความเบาหวิว และคล้ายคลึงบทกวีแบบนี้ น่าจะพูดน้อยต่อยหนัก ประหยัดถ้อยคำหรือเปล่า แต่นี่คนเขียนกลับฟุ่มเฟือยตัวอักษร มิหนำซ้ำหลายครั้งก็เต็มไปด้วยคำเทศนา (ในเรื่องที่อ่านแล้ว ไม่เห็นจะฉลาดหลักแหลมสักเท่าไหร่)

รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (1~10)

รายชื่อหนังสือส่งประกวดซีไรต์ปี 2554 ออกมาแล้ว มีรวมเรื่องสั้นทั้งหมด 83 เล่ม ไหนๆ ปีนี้ก็เป็นปีแรกที่อยู่เมืองไทย จะลองพยายามอ่านทั้งหมดเท่าที่หาได้ และแปะคำวิจารณ์สั้นๆ นะครับ (ต้องอยู่กันไปอีกนานในวงการนี้ ดังนั้นเราจะไม่เอ่ยชื่อหนังสือที่วิจารณ์ แต่จะใช้วิธีแปะรูปบอกใบ้แทน ถ้าอยากรู้เล่มไหนเป็นเล่มไหน หลังไมค์มาถามกันเองนะ)

1. จุดเด่นของเล่มนี้คือผู้เขียนรู้จักตัวเองเข้าใจจุดด้อยจุดเด่น และจับทางตัวเองถูก เป็นงานเขียนแนววัยรุ่นที่เขียนออกมาได้เต็มเหนี่ยวจริงๆ ไม่วอกแวกไปไหนเลย (ไม่มีการจับปัญหาสังคม ไม่พูดถึงชนบท ไม่ "เพื่อชีวิต") ซึ่งก็น่าชื่นชม แต่ข้อเสียก็เหมือนที่ "ผู้ใหญ่หัวโบราณ" มักวิจารณ์งานแนวนี้ว่า "ไปไม่ไกลกว่าปลายจมูกตัวเอง" จริงๆ นี่ไม่ใช่ปัญหาทางด้านศิลปะ เว้นแต่พอต้องมาอ่านต่อๆ กันในเล่มเดียว ความที่ผู้เขียนหมกมุ่นกับปัจเจก กับตัวตนมากๆ ทุกเรื่องจึงออกมาซ้ำๆ กันไปหมด

2. ผู้เขียนมีแนวทางที่ชัดเจน แปลกแหวกแนว อ่านแรกๆ จะไม่เข้าใจ อาจถึงขั้นหงุดหงิดทำลายหนังสือทิ้งได้ แต่เมื่ออ่านจนจบ เริ่มจับตรรกะและสุนทรียะได้เมื่อไหร่ นี่คือรวมเรื่องสั้นที่น่าจับตามองอีกเล่ม แต่จะมีนักอ่านสักกี่คนที่ให้อภัยและเชื่อมั่นในตัวผู้เขียนมากพอจะไปถึงจุดนั้น และถ้าต้องประเมินแต่ละเรื่องๆ ออกมา เรื่องที่สอบผ่านด้วยตัวของมันเอง อาจจะมีไม่สักกี่เรื่อง

3. จุดเด่นคือการผสมผสานระหว่างนิทานและเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิต ผู้เขียนสร้างสมดุลระหว่างการสะท้อนปัญหาสังคมและภาวะปัจเจกของตัวละครได้อย่างลงตัว คุณภาพเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนไปทางดี แต่ข้อเสียคือไม่มีเรื่องไหนโดดเด่น แม้แต่เรื่องชื่อเล่ม ก็พ้นสมัยไปอย่างน่าใจหาย ชื่นชมคนเขียนตรง เป็นหน้าใหม่แท้ๆ แต่ไม่มีตัวละครตัวไหนเลยที่เป็นนักเขียน (เป็นการผิดวิสัยซึ่งดีมากๆ )

4. ตัวอย่างผลงานของนักเขียนแนวปัจเจกที่อยากนำเสนอสะท้อนภาพสังคม และก็ทำออกมาได้อย่างตื้นเขิน ทางหนึ่งก็เหมือนจะใช้ปากกาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ในอีกทางก็วนเวียนอยู่แต่กับจริตของตัวเอง อ่านนานแล้วแต่จำได้ว่าไม่มีเรื่องไหนเลยที่ผ่านเกณฑ์ ชอบอย่างเดียวคือปกและรูปประกอบ

5. ผู้เขียนอาจมีความตั้งใจดี และมีความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชน แต่ผู้เขียนก็มีปัญหาในการเล่าเรื่องเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ตัวละคร ก็เหตุการณ์เยอะเกินความจำเป็น ขาดความเป็นเอกภาพ เหมือนคนเขียนแยกแยะไม่ถูกว่าเรื่องสั้นไม่ใช่แค่นิยายที่มีขนาดย่นย่อ ปัญหานี้ปรากฏชัดตั้งแต่ในเรื่องชื่อเล่ม ซึ่งอย่างน้อย สมควรจะดีในระดับหนึ่ง

6. มองเห็นใบไม้แต่ไม่เห็นป่า...ใช้ความอยุติธรรมเป็นสะพานก้าวไปสู่ความสามัคคี...ในเมื่อพวกคุณ (หรือคนที่มีวิธีคิดแบบคุณ) เป็นผู้ก่อปัญหา แล้วคุณยังมาทำซึนๆ มึนๆ วิเคราะห์และเสนอทางแก้อีก...นึกถึงตรรกะของดิก เชนนี ทำไมชาวอเมริกันต้องเลือกพรรคริพับลิกันเข้าไปแก้ปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลาง "เพราะพวกเราคือผู้สร้างปัญหา จึงมีแต่พวกเราเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้ หรือใครว่าไม่จริง" ผายลม!

7. เลอเลิศที่สุดในสามโลก! ยิ่งได้อ่านรวดเดียวจบในรถไฟใต้ดินจากปลายทางสถานีหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่ง ยิ่งได้อารมณ์ และเหมือนจะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ จากเล่มแรก ผู้เขียนรักษาคุณภาพและสุนทรียะของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ถ้าจะมีที่ติคือ ผลงานลักษณะนี้อ่านรวมๆ กันดีกว่าอ่านแยก พออ่านจบแล้ว นอกจากเรื่องชื่อเล่ม จึงไม่มีเรื่องไหนเด้งออกมา (ซึ่งก็อาจจะเป็นความตั้งใจของผู้เขียนก็ได้)

8. ไม่มีใครชอบเสียงดัง เสียงดังก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ในเพลงคลาสสิค บางทีก็มีการเพิ่มความดังเพื่อกระแทกกระทั้นอารมณ์ เล่มนี้อ่านแล้วเหมือนวาทยากรกำลังบอกผู้่ฟังว่า จุดประสงค์ของเพลงนี้คือเพื่อให้คุณรำคาญจนต้องปิดหูนะ ระหว่างที่เล่น ก็เร่งเสียงกลอง เสียงแตร จนคนฟังต้องปิดหูไปฟังไปจริงๆ ...ดูเหมือนคนเขียนไม่รู้ว่าอะไรคือความดังอย่างมีศิลปะ และเสียงดังที่ก่อให้เกิดความรำคาญ

9. อ่านจบด้วยความเสียดาย หลายคนคงรู้สึกว่าเรื่องสั้นแบบนี้เชยไปแล้ว สมัยก่อนเคยมี "กูรู" เขียนเรื่องทำนองนี้ได้ดีมาก จนเมื่อคนรุ่นหลังจะมาเขียนตามอย่าง ก็อดไม่ได้ที่ผู้อ่านจะเอาไปเปรียบเทียบ กระนั้นก็ตาม ด้วยตัวมันเองแล้ว เราก็ยังชอบเล่มนี้นะ แต่ที่เสียดายคือ ภาษา การเล่าเรื่อง การพรรณายังสะเปะสะปะอยู่ ไม่โทษนักเขียน แต่โทษบรรณาธิการ น่าจะ "หนักมือ" กว่านี้หน่อย

10. ช่างเป็นรวมเรื่องสั้นที่แสนจะหมกมุ่นกับตัวเอง ขัดแย้งกับชื่อหนังสือยังไงพิกล อ่านจบแล้วอยากเข้าไปตบบ่าคนเขียน บอกว่าเขียนถึงคนอื่นบ้างอะไรบ้าง อย่าสร้างตัวละครขึ้นมาแต่ตั้งชื่อ ใส่ชีวิตจิตใจและเรื่องราวให้พวกเขาด้วย อย่ามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับ "ผม" เดี๋ยวคนอ่านเขารู้แกวหมด