L. Krasznahorkai's "The Melancholy of Resistance"
พูดกันอย่างขำๆ คือ ความรู้สึกแรกหลังจากอ่าน The Melancholy of Resistance จบ ไม่ได้นึกถึงหนังอาร์ต หนังยุโรป หากเป็นภาพยนตร์ฟอร์มโตของเจ.เจ. อับรัมเรื่อง Cloverfield ต่างหาก ซึ่งจริงๆ เราก็ยังไม่รู้หรอกว่ามันเกี่ยวกับอะไร แต่มีคนตั้งข้อสังเกตว่ามันน่าจะเป็นหนังสัตว์ประหลาดจากมุมมองของคนเดินถนนที่ติดอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายระหว่างกิ้งก่ายักษ์ถล่มเมือง ในแง่หนึ่ง The Melancholy of Resistance ก็คล้ายๆ แบบนั้น นี่คือสงครามกลางเมืองจากมุมมองของตัวละครเล็กๆ ที่แทบไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับทหาร หรือผู้อยู่เบื้องหลัง โดยกิ้งก่ายักษ์ในที่นี้คือ "เจ้าชาย" นักแสดงละครสัตว์ลึกลับ ผู้ไม่ว่าตัวเขาจะเดินทางไปแห่งหนใดสามารถดึงดูดผู้ติดตามซึ่งพร้อมยินยอมทำตามคำสั่งเขาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรุนแรงแค่ไหน
ที่เกริ่นตอนต้นว่ามันไม่เหมือนหนังยุโรป เพราะ The Melancholy of Resistance คือต้นแบบภาพยนตร์เรื่อง The Werckmeister Harmonies ของผู้กำกับเพื่อนร่วมชาติชาวฮังการี เบลลา ทาร์ ยังไม่ได้ดูหนังเหมือนกันแต่เท่าที่อ่านเรื่องย่อ คงแตกต่างจากหนังสือทีเดียวเพราะท่าทางบทบาทของ "เจ้าชาย" จะถูกขับเน้นขึ้น โดยตัวละครตัวนี้ไม่เคยปรากฎตัวในหนังสือด้วยซ้ำ
เราชอบชื่อหนังมากกว่าชื่อหนังสือนะ และคิดว่ามันสรุปธีมของเรื่องได้เป็นอย่างดี The Melancholy of Resistance คือนิยายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธี (dialectic) ระหว่างความยุ่งเหยิง และกฎระเบียบ โดยบางครั้งกฎระเบียบกำเนิดมาจากความยุ่งเหยิง แต่ขณะเดียวกันความยุ่งเหยิงก็งอกเงยมาจากกฎระเบียบได้เช่นกัน อย่างการจราจลบางครั้งก็ดูเหมือนอุปราการแห่งความเป็นระเบียบ เมื่อผู้คนทั้งหลายรวมตัวเป็นหนึ่งภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่ก็แฝงธาตุแห่งความยุ่งเหยิงเอาไว้ด้วย ตัวละครทั้งหลายในนิยายเรื่องนี้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นระเบียบ และความยุ่งเหยิง บ้างก็ค้นหากฎเกณฑ์ในโลกหลังสมัยใหม่ บ้างก็ยอมรับในความไร้แก่นสารของมัน บังเอิญจัง ที่เราได้อ่าน The Melancholy of Resistance หลัง Escape from Freedom พอดี เพราะแนวคิดหลายอย่างเกี่ยวกับความอึดอัดของปัจเจกส่งอิทธิพลอย่างมากต่อนิยายเรื่องนี้
สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือสไตล์การเขียนของ Krasznahorkai เพราะพี่แกเล่นไม่ใส่ย่อหน้า จริงๆ นี่ไม่ใช่เล่มแรกหรอกที่เราอ่านในสไตล์นี้ อย่างซารามานโก คาฟคา หรือนิทเช่ก็ชอบเขียนย่อหน้าใหญ่ๆ ขณะที่ Krasznahorkai จงใจเขียนนิยาย 300 หน้ากว่าๆ โดยใช้แค่ประมาณสิบย่อหน้า เวลาอ่านหนังสือพวกนี้ทีไร นึกถึงที่คุณปราบดาเคยบอกว่าย่อหน้าช่วยให้ผู้อ่านเสพย์ และย่อยสานส์ได้สะดวกขึ้น ขอเพิ่มเติมว่าย่อหน้าไม่ใช่ของประดับ แต่เหมือนคำหนึ่งในภาษา ลองคิดดูว่าถ้านักเขียนคนหนึ่งจงใจเขียนหนังสือทั้งเล่มโดยไม่ใช้คำว่า "กับ" เลยจะเป็นอย่างไร การจงใจไม่ย่อหน้าโดยไม่มีเหตุผลก็เป็นเพียงการใช้ภาษาอย่างเลวเท่านั้น เพราะเหตุนี้นักเขียนที่เจ๋งจริงไม่ต้องอาศัยลูกเล่นอย่างซารามานโก คาฟคาก็ยังต้องมีเว้นย่อหน้าบ้าง
แต่ก็ต้องให้เครดิต Krasznahorkai หน่อยละ ว่าอย่างน้อยระหว่างที่อ่าน The Melancholy of Resistance ไม่ได้รู้สึกอยากกด enter นัก วิธีการนำเสนอของผู้เขียนลื่นไหล ผนวกแต่ละประโยคเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งความคิด ถ้าลดอัตตา แล้วรู้จักผ่อนปรนบ้าง The Melancholy of Resistance จะเป็นผลงานที่เลอเลิศกว่านี้ (เท่าที่เปิด War and War ผ่านๆ ก็เหมือนไม่ได้เขียนในลักษณะนี้แล้ว)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
ยังไม่ได้อ่านหนังสือครับ
แต่ในWERCKMEISTER HARMONIES ตัว เจ้าชายก็ไม่ได้แสดงตัวเลยครับ
เราจะเห็นเขาเป็นเพียงเงามืด หรือร่างในความมืดเท่านั้นเองครับ
ดเนื่องจากภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงเลยได้แต่หวังวว่าจะมีคนแปลเป็นภาษษไทยในเร็ววัน 555
ปล. เคยอ่าน SATANTANGO ไหมครับ ชอบหนังเรื่องนั้นมากๆ
/FILMSICK
นี่เป็นหนังสือเล่มแรกที่อ่านเหมือนกันครับ อยากดูหนังทาร์มากๆ กะว่าจะให้เพื่อนส่งมาให้ดูอยู่เนี่ย ไปอ่าน wiki ก็เลยรู้ว่าทาร์กับ krasznahorkai เป็นนักเขียน ผู้กำกับคู่บุญกัน
Post a Comment