M. Amis's "The Information"
The Information ช่วยให้เราเข้าใจกฎฟิสิกส์ข้อที่ว่าด้วยความเฉื่อย กรณีที่แรงสองแรงกระทำต่อวัตถุในทิศตรงกันข้าม ไม่ว่าสองแรงนั้นจะมากมายแค่ไหน หากหักล้างกันพอดี วัตถุจะคงสภาพการเคลื่อนไหวเดิม ถ้าหยุดนิ่ง ก็จะอยู่กับที่ต่อไป ถ้าเคลื่อนไหว ก็จะมีความเร็วคงที่ กรณีหลังค่อนข้างน่าอัศจรรย์ เพราะคงไม่มีใครคิดว่าวัตถุสามารถเคลื่อนที่โดยปราศจากแรงรวมได้ ทั้งที่ทั้งนั้นเพราะในโลกแห่งความจริง สำหรับวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ สภาพไร้แรงรวมแทบไม่ปรากฏให้เห็น
พูดมายาวเหยียดเพราะจะบอกว่าเราเองระหว่างอ่าน The Information ก็คือวัตถุก้อนนั้น สองแรงกระทำโต้ตอบไปกลับ แรงชนิดแรกแทบฉุดหนังสือจากมือ เหวี่ยงทิ้ง ส่วนแรงชนิดหลัง พาให้เราอยากอ่านเร่งอ่านมากขึ้น และเร็วขึ้น สรุปคือสุดท้ายอ่านต่อไปได้เรื่อยๆ ด้วยความเฉื่อยนั่นเอง พูดถึงแรงอย่างหลังก่อนแล้วกัน The Information เป็นหนังสือที่น่าสนใจ ตั้งแต่หัวข้อเรื่องที่โดนใจมากๆ เสียดสีตีแผ่แวดวงวรรณกรรม เนื้อเรื่องก็จ๊าบสุดๆ ตัวเอกของเรื่องริชาร์ด ทัล เป็นนักเขียนผู้อิจฉาริษยาเพื่อนร่วมงานที่ประสบความสำเร็จกว่า สุดท้ายจึงวางแผนทำลายชีวิตอีกฝ่าย
อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพแปลกประหลาด เพราะงานเขียนคือศิลปะที่ตัดสินถูกผิดไม่ได้ บางครั้งอะไรที่โง่งมสุดๆ กลับได้รับการตอบรับจากตลาด และนักวิจารณ์เป็นอย่างดี ขณะที่ภาพยนตร์ ดนตรียังพอหาสูตรสำเร็จ แต่การจะเกิด หรือดับของหนังสือเป็นเรื่องไม่อาจคาดเดา มิหนำซ้ำนักเขียนคนดังยังมาพร้อมกับภาพพจน์ว่าต้องเป็นคนฉลาด (ทั้งที่จริงๆ นักเขียนหลายคนก็ไม่ได้มีการศึกษาสูงๆ หรือก็ไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจอะไรดีกว่าไปกว่าคนเดินถนน) เหล่านี้ทำให้นักเขียนเป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าขบขันที่สุดในโลก
เคยมีคนบอกว่าแค่ประสบความสำเร็จยังไม่พอ แต่ต้องให้คู่แข่งเราล้มเหลวด้วย ประโยคนี้ใช้อธิบายอาชีพนักเขียนได้ดีมากๆ เอมิสเข้าใจธรรมชาติ และอัตตาของคนในวงการเป็นอย่างดี พลอตตอนหนึ่งซึ่งได้ใจสุดๆ คือริชาร์ดส่งหนังสือพิมพ์หนาๆ ไปให้เพื่อนโดยบอกว่ามีข่าวเกี่ยวกับตัวเขา แต่ไม่ยอมบอกว่าหน้าไหน โดยหวังว่าอีกฝ่ายจะเสียเวลานั่งค้น โดยไม่เป็นอันทำงานทำการ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ตอนหลังปรากฏว่ามีข่าวเกี่ยวกับเพื่อนคนนั้นจริงๆ เลยกลายเป็นริชาร์ดต่างหากที่ต้องมานั่งเสียเวลาค้นเอง
พูดถึงแรงกระตุ้นให้อ่านไปแล้ว ส่วนแรงกระตุ้นที่อยากเขวี้ยงหนังสือทิ้งคือ สไตล์ของ The Information เป็นแบบ post modern ที่เราเกลียดสุดๆ ในแง่หนึ่ง พลอตหลักของนิยายก็เกี่ยวกับ "ข้อมูล" ตามชื่อเรื่องนั่นแหละ แต่ขณะเดียวกันเอมิสพยายามใช้ "ข้อมูล" มาสร้างความเท่ให้กับหนังสือ เช่นใส่รายละเอียดเกี่ยวกับดาราศาสตร์ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องลงไป การดำเนินเรื่องที่ดูมั่วๆ ไม่มีโครงสร้าง จริงๆ ของแบบนี้ถ้าสั้นไม่เกินสองร้อย สามร้อยหน้าก็คงพออ่านไหวหรอก ถามว่าขำไหม ก็ขำในระดับหนึ่ง (มีอยู่ฉากหนึ่งที่เล่นเอาเราหัวเราะออกมาดังๆ เลย) แต่พอมันปาเข้าไปสี่ร้อยหน้าก็อดคิดไม่ได้ว่ามันช่างไร้สาระ และไม่ชวนอ่านเสียนี่กระไร
ถึงจะชอบภาษาตรงนี้ตรงนี้ และคิดว่าคงติดตามผลงานเล่มอื่นของเอมิส แต่ยังยืนยันว่าหนังสือไม่ใช่ passive art ที่สามารถโยนนู่น โยนนี่เข้าใส่คนอ่านได้แบบภาพยนตร์ หนังสือคือ active art ที่ต้องอาศัยการร่วมมือของคนอ่านด้วย ดังนั้นถ้าผู้เขียนไม่ช่วย หรือไม่ทำให้คนอ่านอยากร่วมมือ ต่อให้แก่นความคิดดีแค่ไหน นี่ก็เป็นผลงานที่ล้มเหลว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment