J. Bowles's "Two Serious Ladies"
มีไม่กี่คนกระมังรู้จักชื่อเจน โบลเลส ที่แน่ๆ ในโลกนี้มีสามที่ยกย่องเธอว่าเป็นนักเขียนภาษาอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เทนเนสซี วิลเลียมส์ จอห์น วอลเตอร์ และก็ ทรูแมน คาโปต
สาเหตุที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่อเธอ เพราะโบลเลสเขียนนิยายออกมาแค่เล่มเดียวคือ Two Serious Ladies นอกนั้นมีบทละครอีกหนึ่ง แล้วก็เรื่องสั้นกระจัดกระจาย พอเอามารวมได้เล่มกว่าๆ อีกสาเหตุความไม่ดังเพราะเธอมีสามีที่เป็นนักเขียนเช่นกัน นั่นคือพอล โบลเลส เจ้าของผลงาน The Sheltering Sky
ไม่ว่าอะไรก็ตามจะเป็นสาเหตุ ที่แน่ๆ ไม่ใช่เรื่องฝีมือ เพราะ Two Serious Ladies เป็นนิยายที่งดงามหาคำบรรยายเปรียบยาก ตามชื่อนั่นแหละ นี่เป็นเรื่องของสุภาพสตรีสองคน โดยทั้งสองเรื่องนี้แทบไม่มีความคาบเกี่ยวซึ่งกัน และสุภาพสตรีที่ "เอาจริงเอาจัง" ทั้งคู่นั้นก็แทบไม่ได้สนทนา หรือปรากฏตัวในฉากเดียวกันด้วยซ้ำ
สุภาพสตรีคนแรกคือนางคอปเปอฟิลว์ ตามสามีไปเที่ยวอเมริกากลาง ช่วงนี้คล้ายๆ กับ The Sheltering Sky ของพอล โบลเลส คือพูดถึงความขัดแย้งระหว่างคู่แต่งงาน สภาพต่างถิ่น ต่างภาษา (ถ้าไม่เคยอ่าน The Sheltering Sky นึกถึง Lost in Translation ก็พอกล้อมแกล้มได้) นางคอปเปอร์ฟิลว์ผูกมิตรกับหญิงชาวปานามาสองคน คนแรงคือนางควิล และแปซิฟิก้า นางคอปเปอร์ฟิลว์นำตัวแปซิฟิก้ากลับมายังประเทศอเมริกาด้วย ซึ่งทั้งคู่จะมีบทบาทเล็กๆ ในตอนท้ายเรื่องสุภาพสตรีคนที่สอง
ยอมรับว่าช่วงแรกนี่ยังเฉยๆ ภาษาน่าสนใจดี โบลเลสแทบไม่บรรยายฉาก ขนาดว่าตัวละครไปเที่ยวต่างทวีป ต่างเมืองแท้ๆ เรื่องราวถูกเล่าผ่านบทสนทนาล้วนๆ ซึ่งแม้คนอ่านจะไม่เห็นภาพ แต่ก็ช่วยให้อ่านง่าย และอ่านเพลิน คาโปตพูดถึงบทสนทนาของโบลเลสว่า ประหนึ่งแปลมาจากภาษาต่างประเทศสักภาษาที่ไม่มีใครรู้จัก (เจน โบลเลสพูดได้สี่ภาษา โดยเธอครูพักลักจำระหว่างการเดินทางกับสามี)
ครึ่งหลังเล่าเรื่องสุภาพสตรีคนที่สอง นางสาวกอริ่ง จุดนี้เองที่เป็นความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าอะไรคือเคล็ดลับความมหัศจรรย์ที่ว่า ในแง่หนึ่งสไตล์ของโบลเลสชวนให้นึกถึงเวอจิเนียร์ วูลฟ์ตรงที่เหตุการณ์ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีโครงสร้างการเล่าเรื่องชัดเจน แต่ถ้าถามว่าประสบการณ์การอ่านนิยายเล่มนี้ใกล้เคียงกับอะไรที่สุด ขอตอบว่าเหมือนดูการ์ตูนในฝันของมิยาซากิ เป็นความรู้สึกที่ประหลาด เพราะนางสาวกอริ่งไม่มีอะไรเหมือนนางเอกมิยาซากิแม้แต่น้อย
ครึ่งหลังของ Two Serious Ladies ว่าด้วยเรื่องของนางสาวกอริ่ง และคนรอบข้าง ซึ่งประกอบด้วยแขกรับ และไม่ได้รับเชิญในบ้านสามคน นางกาเมลอน จอมขี้บ่น อาร์โนล ผู้ชายที่มาสารภาพรักกับนางสาวกอริ่ง แต่จนแล้วจนรอด ก็เอาแต่นอนขี้เกียจ และพ่อของอาร์โนล ชายแก่ที่ตอนแรกเหมือนจะเป็นนักธุรกิจเลือดเย็น แต่พอมาพบรักนางสาวกอริ่ง ก็พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นกวี
นิยายที่เต็มไปด้วยตัวละครประหลาดๆ จริงๆ แล้วมีให้เห็นดาษดื่น แต่ความพิเศษอยู่ตรงโบลเลสไม่ได้พยายามขับเน้นความแปลกประหลาดเหล่านี้ คนอ่านไม่ได้รู้สึกว่าตัวละครเป็นนักแสดงตลก หรือปาหี่ ตรงกันข้ามพวกเขาเสมือนเมฆรูปร่างผิดธรรมดาสักก้อนซึ่งล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า ความล่องลอยตรงนี้กระมังคือคุณสมบัติอันโดดเด่นของ Two Serious Ladies ทั้งในบทของนางคอปเปอร์ฟิลว์ และนางสาวกอริ่ง ประเด็นเรื่องบ้าน ที่อยู่อาศัย และความไร้บ้านถูกนำมาเล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเงียบๆ
จากตัวละครทั้งหมด ที่น่าจดจำสุดคงหนีไม่พ้นแอนดี้ คนจรจัดที่พยายามปรับปรุงตัวเอง เพื่อพิชิตหัวใจของนางสาวกอริ่ง พูดแบบนี้แล้วเหมือนนิยายน้ำเน่า แต่ที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก็เบาหวิวๆ เฉกเช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของหนังสือ
อ่าน Two Serious Ladies จบ แล้วรู้สึกเศร้าๆ ยังไงชอบกล เหมือนเวลาตื่นขึ้นมา ขอบตารื้นๆ แต่จำไม่ได้แล้วว่าฝันถึงอะไร
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment