C. Bukowski's "Ham on Rye"


อยากอ้างถึงบทความนี้ เพราะรู้สึกว่าเข้ากันดี กับที่นิยายกึ่งอัตชีวประวัติของบูคอฟสกี บทความดังกล่าวว่าด้วยความสวยงามทางวรรณศิลป์ และศีลธรรม โดยผู้เขียนตั้งคำถามว่าเราจะตัดสินความงามของนิยายผิลศีลธรรมเช่นเงาสีขาว ได้อย่างไร ต้องออกปากก่อนว่าเราไม่เคยอ่านเงาสีขาว หรือผลงานเรื่องใดของแดนอรัญเลย ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังจะพูดต่อไปนี้ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับนักเขียนแมวเครา

นิยายผิดศีลธรรมไม่ใช่ปรากฎการณ์แปลกใหม่ เราอาจแบ่งนิยายผิดศีลธรรมได้เป็นสามประเภท เช่นนิยายเพื่อชีวิต หรือสัจนิยมสาธารณ์ (socialist realism) การผิดศีลธรรมของผู้ร้าย นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในชีวิตพระเอก และส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกหดหู่ หรือฮึกเหิมต่อต้าน ตัวอย่างเช่น งู ของคุณวิมล ไทรนิ่มนวล หรือรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของอาจารย์ลาว คำหอม ประเภทที่สอง คล้ายๆ กัน คือนำเสนอเรื่องราวผิดศีลธรรมเพื่อสะท้อนความจริงในสังคม เป็นแนวสัจนิยม

ไม่ว่าจะแนวสัจนิยม หรือเพื่อชีวิตนิยม เป้าหมายของการผิดศีลธรรมในเรื่อง ก็เพื่อผลักดันให้คนอ่านเปลี่ยนแปลงสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ใครต้องเผชิญชะตาชีวิตยากลำบาก และความอยุติธรรมเฉกเช่นเดียวกับตัวเอก แม้ว่าเรื่องจะผิดศีลธรรม แต่เป้าหมายก็ยังคงเป็นการสร้างศีลธรรมในสังคม

ซึ่งแตกต่างจากประเภทสุดท้าย เรื่องแนวผิดศีลธรรมซึ่งถูกเขียนในยุคหลังๆ ผู้เขียนต้องการสื่อว่า ผิดศีลธรรมเพราะมันเป็นธรรมชาติ ศิลปินแนวนี้ชอบประนามผู้มีอำนาจมือถือสากปากถือศีล ว่าปฏิเสธธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องกิน ขี้ ปี้ นอน พวกเขานำเสนอพฤติกรรมผิดศีลธรรมเพื่อให้สังคมยอมรับแรงขับตามธรรมชาติ โดยพยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ว่า มันต่ำ หรือสูง สมควรที่จะแก้ไข หรือปกปิดไหม

ส่วนตัวเราคิดว่ามีความทวิมาตรฐานบางอย่างในงานศิลปะแนวนี้ กล่าวคือ พฤติกรรมผิดศีลธรรมที่พวกเขาอ้างว่าเป็นของธรรมชาติ มักเกี่ยวพันกับเพศรส สุราเมรัย หรือการพนัน สรุปสั้นๆ คือบาปคนจนทั้งหลายแหล่ ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มไหนที่บอกว่านักการเมืองโกงชาติเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือคนรวยเอารัดเอาเปรียบคนจนได้ ในคำพิพากษา เราจะรู้สึกว่าครูใหญ่เลวแสนเลว ขณะที่ฟักเป็นเหยื่อผู้น่าสงสาร ทั้งที่จริงๆ ต่างฝ่ายต่างผิดศีลกันคนละข้อ (ครูใหญ่ลักทรัพย์ ส่วนฟักติดสุรา) เอาความดีเลวมาชั่ง จะต่างกันสักกี่มากน้อย

จะอย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องผิดศีลธรรมสามแนวที่เอ่ยมาข้างต้นนี้ ก็ยังผิดศีลธรรมในกรอบของศีลธรรม กล่าวคือ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าศีลธรรมมีอยู่จริง คนเราถึงผิดศีลธรรมได้

เกริ่นมายาวเหยียด เพราะจะบอกว่างานเขียนของบูคอฟสกีอยู่ "นอกศีลธรรม" ใน Ham on Rye เราไม่อาจบอกได้ว่าเฮนรี ชินาสกีคือตัวละครผิดศีลธรรม (ประเด็นพระเจ้าถูกนำมาเล่นใหม่ซ้ำไปซ้ำมา เพียงเพื่อให้ผู้อ่านรับรู้ว่าชินาสกีไม่เชื่อในพระเจ้า และพระเจ้าก็ไม่เชื่อในชินาสกีเช่นกัน) คนที่เข้าใจว่าบูคอฟสกี้จงใจแสดงความดิบเถื่อนในสันดานมนุษย์ (เฉกเช่นเดียวกับนิยายผิดศีลธรรมประเภทที่สาม) เป็นการอ่านที่ผิด

และชินาสกีใน Ham on Rye ก็ไม่ได้ชั่วช้าอะไรนักหนา ชินาสกีใน South of No Noth อาจข่มขืนผู้หญิง และต่อยผู้ชายจนเลือดกบปาก เก้าปีผ่านไป เมื่อบูคอฟสกีลงมือเขียนนิยายอัตชีวประวัติ เขาไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ชินาสกีเป็น "จินตนาการสมปรารถนา" (ชินาสกี้ในเล่มนี้ไม่เคยเปิดซิงตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย) Ham on Rye ไม่ใช่นิยายที่เรียกร้องให้ผู้คนยอมรับพฤติกรรมผิดศีลธรรม แต่มันบอกให้คนอ่านโยนกรอบศีลธรรมทิ้ง และใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด ทำให้คนที่เรารักภาคภูมิใจ และไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นนิยายหลังสมัยใหม่ (postmodern) อย่างแท้จริง

No comments: