D. Du Maurier's "Don't Look Now"
เราไม่เคยเจอผี หรือมีประสบการณ์เหนือธรรมชาติ แต่ก็แอบอยากรู้นิดๆ ว่าถ้าเจอจะรู้สึกอย่างไร เปล่าๆ ไม่ได้สงสัยว่าจะกลัวหรือไม่กลัวหรอก (เพราะถ้าเป็นผีตัวพ่อตัวแม่ เชื่อว่าก็คงขี้แตกขี้แตนเหมือนคนอื่นเขา) อยากรู้มากกว่าว่าเราจะใช้เวลานานไหมกว่าจะตระหนักว่าตัวเอง “เจอดี” เข้าแล้ว หรือจะเหมือนอย่างตัวเอกเรื่อง Split Second ที่ดักดานได้ตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่อง
มีกฏขำๆ ข้อหนึ่งในทางวรรณกรรมคือนอกจากเป็นเรื่องตลก ห้ามไม่ให้ตัวเอกโง่กว่าคนอ่าน หรือไม่ยอมรับรู้อะไรที่คนอ่านรู้ตั้งแต่ปีมะโว้ อย่างใน Split Second ซึ่งว่าด้วยหญิงวัยกลางคนที่จู่ๆ ก็กระโดดข้ามอนาคตไปอีกยี่สิบปี ความน่าหงุดหงิด (สำหรับคนอ่าน) อยู่ตรงตลอดห้าสิบกว่าหน้า แม่เล่นไม่รับรู้อะไรทั้งนั้นว่าตัวเองอยู่ในโลกอนาคต ยังคงยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทฤษฎีสมคบคิดของตำรวจ แพทย์ และคนใกล้ตัวเธอ นี่คือเรื่องสั้นน่ารำคาญที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เราเคยอ่าน เฉกเช่นเดียวกับ Blue Lenses ที่ตัวเอกไปผ่าตัดกระจกตามาแล้วพบว่าคนอื่นรอบตัวเธอกลายเป็นสัตว์ แทนที่จะตระหนักว่ามีอะไรผิดปรกติ เธอก็ยังคงเชื่อว่าทุกคนสวมหน้ากากเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง
หรือนี่อาจเป็นความตั้งใจของดูมอเรียก็ได้ รวมเรื่องสั้น Don’t Look Now เหมือนกับหลุดมาจากยุคสมัยประหลาดๆ ยุคหนึ่ง อังกฤษของดูมอเรียกำลังถูกคุกคามโดยภัยคอมมิวนิสต์ ดูมอเรียคงเป็นแม่บ้านอังกฤษ คล้ายๆ กับคริสตี ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ต่างแต่ว่า คอมมิวนิสต์สำหรับคริสตีคือนักปฏิบัติการคนเดียวซึ่งแฝงตัวเข้ามาเพื่อจุดหมายชั่วร้าย แต่สำหรับดูมอเรียคอมมิวนิสต์คือคนร้ายขโยงหนึ่งซึ่งสมคบคิดกันทำการใหญ่
พูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าดูมอเรียตื่นขึ้นมาแล้วพบว่ามนุษย์ต่างดาวกำลังถล่มโลก เธอก็คงจะยืนกรานว่าเป็นชาวรัสเซียสวมหน้ากาก มากกว่าจะเชื่อว่าเป็นมนุษย์ต่างดาวจริงๆ
สองเรื่องที่ดังสุดในเล่มนี้คือ The Birds และ Don’t Look Now สำหรับเรื่องแรกนั้นอ่านแล้วก็อดขำไม่ได้กับความจงใจของผู้เขียนที่ให้นกเป็นสัญลักษณ์แทนกรรมกรและผู้ใช้แรงงาน (ไซมอน เพคเคยทำคลิปล้อเลียนภาพยนต์เรื่อง The Birds โดยเปลี่ยนเป็น The Proletariats) นึกถึงนิยาย กาเหว่าที่บางเพลง ของหม่อมคึกฤทธิ์ ที่จงใจจนฮาโดยไม่ได้ตั้งใจ (เสียดายว่า กาเหว่าที่บางเพลง เขียนประมาณปลายๆ ปี 28-29 ซึ่งค่อนข้างพ้นสมัยไปเยอะแล้ว และไม่ค่อยจริงใจเท่า The Birds)
จริงๆ เรื่องที่เราชอบสุดในเล่มคือ Blue Lenses ถ้าตัดความน่ารำคาญของตัวเอกออกไปแล้ว ถือว่ามีแนวคิดที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใครดี และทฤษฎีสมคบคิดก็ไม่ได้ทำร้ายเรื่องนี้เท่าไหร่ด้วย เพราะมันดันไปตรงกับแก่นเรื่องเข้า แถมยังจบได้เปรี้ยวจี๊ดเข็ดฟัน
โดยรวมแล้วเฉยๆ กับดูมอเรีย เรื่องที่แย่ก็แย่ ส่วนเรื่องที่ดีก็แอบดีโดยคนเขียนไม่ได้ตั้งใจซะงั้น แต่ได้อ่านอะไรฮาๆ แปลกๆ ผิดบริบท ก็ถือว่าเพลิดเพลินอยู่เหมือนกัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment