N. Hawthorne's "The Scarlet Letter"


ทิ้งช่วงนานพอดูระหว่าง The Scarlet Letter และ The Blithedale Romance นิยายเล่มแรกของฮอว์ธอร์นที่เราอ่าน ซึ่งแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริงเราชอบ The Blithedale Romance มากๆ น่าจะหานิยายเล่มอื่นๆ ของฮอว์ธอร์นมาอ่านได้ตั้งนานแล้ว

ฮอว์ธอร์นเขียน The Scarlet Letter สองปีก่อน The Blithedale Romance จริงๆ แล้วนิยายสองเล่มนี้เหมือนกันมาก ตั้งแต่ฉาก หมู่บ้านเล็กๆ ในทวีปอเมริกา สมัยตั้งรกราก โดยเรื่องแรกฮอว์ธอร์นเน้นว่าเป็นหมู่บ้านพูริแทน (หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดมั่นในศาสนา) ส่วนเรืองหลังเป็นหมู่บ้านยูโธเปียทดลอง (คือกลุ่มคนที่มาอยู่รวมกันเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีทางสังคม) ถึงโดยผิวเผินแล้ว ในสายตาคนนอกอย่างเรา ฉากในนิยายสองเล่มนี้ไม่แตกต่างกันมาก แต่ปรัชญาที่ประกอบกันเป็นหมู่บ้านพูริแทน ก็แตกต่างจากหมู่บ้านยูโธเปีย ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

อีกอย่างที่เหมือนกันระหว่างนิยายสองเล่มนี้คือตัวแสดงหลัก อันประกอบไปด้วยสองชาย สองหญิง มองว่าถ้าเป็นหนัง แล้วฮอว์ธอร์นเป็นผู้กำกับ กรณีนี้ก็ใช้นักแสดงชุดเดียวกันเล่นได้สบายๆ โดยผู้หญิงคนหนึ่งอายุแก่กว่าอีกคน ใน The Blithedale Romance นั้น ทั้งเซโนเบีย และพริสซิลา อายุไม่ต่างกันมาก พอจะเป็นคู่แข่งทางความรักกันได้ ขณะเดียวกัน เซโนเปียก็คอยดูแล และปกป้องคุ้มครองพริสซิลาอยู่ในที ส่วนใน The Scarlet Letter ปรินน์ และเพิร์ลเป็นแม่ลูกกันเลย

สำหรับตัวละครชายของนิยายสองเล่มนี้อย่าให้เปรียบเทียบกันเลยดีกว่า เพราะวิเคราะห์ได้ยาวแน่ๆ เราชอบตัวละครชิลลิงเวิร์ธใน The Scarlet Letter มาก เสน่ห์อย่างหนึ่งในนิยายของฮอว์ธอร์น ที่ไม่ค่อยจะพบเห็นในวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 คือ ผู้ร้ายที่มีสีสันขนาดนี้ ฮอว์ธอร์นอาจจะเป็นนักเขียนคนแรกๆ ก็ได้ที่เอาความชั่วร้าย และความเจ็บปวดมาผสมปนเปกันจนแยกไม่ค่อยออก เช่นเดียวกับโฮลิงส์เวิร์ดใน The Blithedale Romance ผู้ร้ายของฮอว์ธอร์นมักน่าเห็นใจอย่างประหลาด

ทั้ง The Scarlet Letter และ The Blithedale Romance มีองค์ประกอบที่เหนือธรรมชาติด้วยกันทั้งคู่ รวมไปถึงการใช้ภาพหลอนมาเป็นเครื่องมือทางวรรณกรรม เพื่อสื่อให้เห็นสภาพจิตใจของตัวละคร The Scarlet Letter นั้นชัดเปรี้ยงๆ เลยว่าเหนือธรรมชาติแน่ (เพราะฉากเป็นหมู่บ้านพูริตัน ก็เลยเปิดโอกาสให้ฮอว์ธอร์นเล่นกับประเด็นแม่มดด้วย) ส่วนความเหนือธรรมชาติใน The Blithedale Romance อยู่ที่ตัวละครพริสซิลา อันที่จริงเพิร์ลใน The Scarlet Letter ถึงแม้จะเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดา แต่หลายคนในนิยายเรียกเธอว่า "เด็กภูต" และตัวเธอเองก็เหมือนมีอำนาจประหลาดบางอย่าง (ในตอนจบของนิยาย อยู่ดีๆ ก็มีโชคก้อนใหญ่ลอยมาหาเธอ) ถึงนิสัยจะแตกต่างกัน แต่เห็นได้ว่าตัวละครพริสซิลา คงได้รับอิทธิพลมาจากเพิร์ลอยู่ไม่น้อย

หรือแม้กระทั่งฉากจบของนิยายทั้งสองเล่ม ก็เป็นงานเฉลิมฉลองด้วยกันทั้งคู่ อาจมองได้ว่าพฤติการณ์ของดิมเมอร์สเดล และโฮลิงส์เวิร์ดในตอนจบมีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ เป็นการเปิดเผยตัวเองต่อหน้าสาธารณชน และเพื่อหญิงที่ตนรัก แม้ว่าจะด้วยแรงดลใจ เป้าประสงค์ และผลลัพท์ที่แตกต่างกันก็ตาม น่าขบคิดว่าระหว่าง The Scarlet Letter และ The Blithedale Romance เอามาเปรียบเทียบกันจริงๆ จะว่าเหมือนก็เหมือน จะว่าต่างก็ต่าง

นิยายอีกเล่มที่น่าหยิบมาอ่านคู่กับ The Scarlet Letter คือ The Picture of Dorian Gray ของออสการ์ ไวลด์ ซึ่งเขียนขึ้นเกือบสี่สิบปีหลังจาก The Scarlet Letter (เคยเขียนถึงนิยายเล่มนี้ไปแล้ว หาอ่านได้ในบลอคเก่า) ทั้งสองเรื่องเกี่ยวกับการที่วิญญาณของบุคคล หรือนามธรรมบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ถูกโยกย้ายไปอยู่ในสิงประดิษฐ์ หรืองานศิลปะสักชิ้น ซึ่งสิ่งที่อยู่ภายในตัวละคร และสะท้อนออกมาให้ตาเห็น ก็คือบาป หรือความรู้สึกผิดนั่นเอง

2 comments:

Anonymous said...

read the article Ysl replica handbags click here for more Ysl replica helpful hints browse around here

mcneslee said...

explanation Valentino Dolabuy see this website Dolabuy Gucci informative post Louis Vuitton fake Bags